Skip to main content
sharethis

ศบค. รายงานไทยพบผู้ติดเชื้อใหม่ 3,667 ราย ติดเชื้อสะสม 214,449 ราย รักษาหายเพิ่ม 4,948 ราย รักษาหายสะสม 181,358 ราย ผู้เสียชีวิตเพิ่ม 32 ราย เสียชีวิตสะสม 1,609 ราย - สธ.เผยผลสำรวจพฤติกรรมสุขภาพประชาชาชน 25,265 ตัวอย่าง พบภาพรวมคนไทยยกการ์ดสูงเท่าการระบาดระลอกแรก

19 มิ.ย. 2564 ศบค.รายงานสถานการณ์ COVID-19 ภายในประเทศ ระลอกใหม่ ตั้งแต่วันที่ 1 เม.ย.-19 มิ.ย.2564 พบผู้ติดเชื้อรายใหม่ 3,667 คน แบ่งเป็นผู้ติดเชื้อในประเทศ 3,200 คน ผู้ติดเชื้อจากต่างประเทศ 32 คน และจากเรือนจำ/ที่ต้องขัง 435 คน เสียชีวิต 32 คน หายป่วยรายใหม่ 4,948 คน ผู้ป่วยยืนยันสะสม 185,586 คน หายป่วยแล้ว 153,932 คน เสียชีวิตสะสม 1,515 คน

ส่วนข้อมูลสะสมตั้งแต่ปี 2563 ผู้ป่วยยืนยันสะสม 214,449 คน หายป่วยแล้ว 181,358 คน เสียชีวิตสะสม 1,609 คน

สำหรับผู้เสียชีวิต 32 คน แบ่งเป็นชาย 15 คน หญิง 17 คน อายุตั้งแต่ 40-89 ปี มาจากกรุงเทพฯ 19 คน, นครปฐม และสมุทรปราการ จังหวัดละ 3 คน, เพชรบุรี และขอนแก่น จังหวัดละ 2 คน ส่วนสมุทรสาคร ชลบุรี และฉะเชิงเทรา จังหวัดละ 1 คน ส่วนปัจจัยเสี่ยงต่อการติดเชื้อมาจากคนในครอบครัว เพื่อนบ้าน เพื่อนร่วมงาน เข้าสถานที่แออัดพลุกพล่าน และประกอบอาชีพเสี่ยง

ส่วนติดเชื้อจากต่างประเทศมาจากเอธิโอเปีย 3 คน บาห์เรน 1 คน แอฟริกาใต้ 1 คน และกัมพูชา 27 คน ในจำนวนนี้มาจากช่องทางธรรมชาติ 18 คน

ขณะที่สถานการณ์ COVID-19 ทั่วโลก ประจำวันนี้ เวลา 10.00 น. ยอดผู้ติดเชื้อรวม 178,596,839 คน อาการรุนแรง 82,235 คน รักษาหายแล้ว 163,113,261 คน เสียชีวิต 3,866,862 คน

5 อันดับประเทศที่มีผู้ติดเชื้อสูงสุด ได้แก่ 1. สหรัฐอเมริกา 34,393,269 คน 2. อินเดีย 29,822,764 คน 3. บราซิล 17,802,176 คน 4. ฝรั่งเศส 5,752,872 คน 5. ตุรกี 5,359,728 คน ส่วนประเทศไทย อยู่ในอันดับที่ 78 จำนวน 214,449 คน

ส่วนการฉีดวัคซีน COVID-19 ระหว่างวันที่ 28 ก.พ. - 18 มิ.ย.2564 มีผู้รับวัคซีน สะสมทั้งหมด 7,483,083 โดส แบ่งเป็นเข็มแรก 5,434,119 คน และเข็มที่ 2 จำนวน 2,048,964 คน เฉพาะวันที่ 18 มิ.ย.2564 มีผู้รับการฉีดวัคซีน เข็มที่ 1 จำนวน 181,588 คน และเข็มที่ 2 จำนวน 81,827 คน

พบภาพรวมคนไทยยกการ์ดสูงเท่าการระบาดระลอกแรก

นพ.ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์ อธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ เปิดเผยผลสำรวจพฤติกรรมสุขภาพประชาชน และความต้องการวัคซีนในช่วงสถานการณ์โควิดว่า กระทรวงสาธารณสุขร่วมกับองค์การอนามัยโลก สํานักงานภูมิภาคเอเชียใต้และเอเชียตะวันออก คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล คณะแพทยศาสตร์รามาธิบดี สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ และสำนักงานสถิติแห่งชาติ ได้สำรวจพฤติกรรมการป้องกันตนเองของประชาชนทั่วประเทศ จำนวน 25,265 ตัวอย่าง ระหว่างวันที่ 16 - 31 พ.ค. 2564

ผลสำรวจพบว่าการระบาดของโรค COVID-19 ในระลอก 1 เม.ย. ที่มาจากคลัสเตอร์สถานบันเทิง ทำให้คนไทยส่วนใหญ่กลับมามีพฤติกรรมสุขภาพที่ดีขึ้น เท่ากับช่วงการแพร่ระบาดในระลอกแรกคือ ร้อยละ 85.4 ให้ความสำคัญกับการสวมหน้ากากอนามัยสูงถึง ร้อยละ 94.8 รองลงมาคือ การล้างมือบ่อย ๆ ด้วยสบู่หรือเจลแอลกอฮอล์ ร้อยละ 88.8 กินอาหารร้อนใช้ช้อนกลางส่วนตัว ร้อยละ 87.9 และระวังตนเองไม่อยู่ใกล้ชิดคนอื่น ร้อยละ 83 รวมถึงมีการรวมกลุ่มทางสังคมและเดินทางออกต่างจังหวัดลดลง

ในส่วนผลสำรวจเกี่ยวกับความต้องการฉีดวัคซีน COVID-19 พบว่า โดยเฉลี่ยคนไทยในกลุ่มอายุ 15-59 ปี และกลุ่ม 60 ปีขึ้นไป มีแนวโน้มความต้องการฉีดวัคซีนที่เพิ่มขึ้น อยู่ที่ประมาณร้อยละ 65 - 75 มีผู้ที่ตั้งใจอยากฉีดวัคซีน ร้อยละ 56 และเปลี่ยนใจจากเดิมไม่ต้องการฉีดเป็นต้องการฉีด ร้อยละ 21.7 ตั้งใจไม่ฉีดร้อยละ 13.6 และเปลี่ยนใจจากเดิมต้องการฉีดเป็นไม่ต้องการฉีดร้อยละ 8.7


ที่มาเรียบเรียงจาก Thai PBS [1] [2] 
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net