'เพื่อไทย' เดินหน้าแก้ รธน. ควบคู่ทั้งตั้ง สสร. ทำฉบับใหม่-รายมาตรา 'พปชร.' ย้ำแก้ 5 ประเด็น 13 มาตรา

'เพื่อไทย' ยืนยันเดินหน้าทุกทางแก้ รธน. 2560 ควบคู่ทั้ง 'ตั้ง สสร. ทำฉบับใหม่-รายมาตรา' ตัดอำนาจ ส.ว. ปลดล็อกที่มานายกฯ ชี้ 'บัตรเลือกตั้งสองใบ' สะท้อนเจตจำนงประชาชน เอื้อให้มีรัฐบาลเข้มแข็ง สร้างประสิทธิภาพแก้ปัญหา -  'พปชร.' ย้ำแก้ 5 ประเด็น 13 มาตรา - 'ประชาธิปัตย์' นัดประชุม ส.ส. เตรียมพร้อมการประชุมร่วมแก้ รธน. 'ก้าวไกล' พร้อมอภิปรายร่างแก้ไขเพิ่มเติมทั้ง 13 ฉบับ 

'เพื่อไทย' เดินหน้าแก้ รธน. ควบคู่ทั้งตั้ง สสร. ทำฉบับใหม่-รายมาตรา 'พปชร.' ย้ำแก้ 5 ประเด็น 13 มาตรา

20 พ.ค. 2564 เว็บไซต์พรรคเพื่อไทย รายงานว่านายนพดล ปัทมะ ประธานคณะกรรมการนโยบายและวิชาการพรรคเพื่อไทย และอดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ กล่าวถึงกรณีที่พรรคเพื่อไทยเสนอญัตติแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 256 เพื่อเปิดทางให้มีการตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) มาจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ โดยไม่แก้ไขและไม่แตะหมวด 1 และหมวด 2 ของรัฐธรรมนูญปี 60 พร้อมกับเสนอให้แก้ไขรัฐธรรมนูญแบบรายมาตราว่า พรรคเพื่อไทยและพรรคร่วมฝ่ายค้าน รวมทั้งอีกหลายภาคส่วนเห็นตรงกันว่าหลายประเด็นในรัฐธรรมนูญ 2560 เป็นปัญหา โดยเฉพาะในการแก้ไขปัญหาให้พี่น้องประชาชน จึงได้เสนอให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ซึ่งหัวใจหลักก็คือจะต้องทำให้มีกติกาเป็นธรรม เป็นประชาธิปไตยเพื่อประสิทธิภาพในการแก้ไขปัญหาให้พี่น้องประชาชน

นายนพดล กล่าวว่าพรรคเพื่อไทยมีหลักคิดในการดำเนินการแก้ไขรัฐธรรมนูญครั้งนี้ ดังนี้

1. พรรคขอย้ำจุดยืนที่มั่นคงในเรื่องประชาธิปไตย และรัฐธรรมนูญฉบับนี้จะต้องแก้ไขให้เป็นประชาธิปไตยมากขึ้น

2. พรรคเพื่อไทย ยื่นแก้ไขรัฐธรรมนูญตามมาตรา 256 เพื่อเปิดทางให้มี ส.ส.ร.จากการเลือกตั้งโดยประชาชน เป็นผู้จัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ แต่ไม่แก้ไขและไม่แตะหมวด 1 และหมวด 2 ของรัฐธรรมนูญปี 60 และเสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญรายมาตราบางประเด็น เช่น การเพิ่มสิทธิและเสรีภาพประชาชน ระบบเลือกตั้ง การตัดอำนาจ ส.ว. ในการให้ความเห็นชอบผู้ที่เป็นนายกฯ ซึ่งประเด็นรายมาตรานี้พรรคเพื่อไทยและพรรคร่วมฝ่ายค้านอื่นๆ เคยร่วมกันเสนอให้แก้ไขมาแล้วเมื่อปี 2563 จึงไม่ได้เป็นการยื่นแก้ไขครั้งแรกหรือยื่นตามร่างที่พรรคพลังประชารัฐได้ยื่นแก้ไขไปก่อนหน้า

3. การเสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อตั้ง ส.ส.ร. มาจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ยกเว้นหมวด 1 และหมวด 2 ควบคู่กันไปกับการแก้ไขรายมาตราข้างต้นเนื่องจากมองว่า การจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ จะต้องมีการทำประชามติและอาจต้องใช้เวลา กว่าจะผ่านการพิจารณาของสภา ไปจนเลือก ส.ส.ร. และ ส.ส.ร.มาดำเนินการยกร่างใหม่ก็อาจต้องใช้เวลา 6-8 เดือน กว่าจะนำกลับมาลงประชามติอีกครั้ง อาจใช้เวลานานเกิน 1-2 ปี ระหว่างนี้หากเกิดการยุบสภาและต้องมีการเลือกตั้งใหม่ก่อนมีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ จึงเห็นว่าต้องแก้ไขกติกาให้เป็นประชาธิปไตยในบางประเด็นไปก่อนด้วย ซึ่งประเด็นที่สำคัญที่สุด คือ การตัดอำนาจ ส.ว.ไปก่อนแล้วให้ ส.ส.เป็นผู้ให้ความเห็นชอบในตัวนายกฯ และแก้ระบบเลือกตั้ง

4. ประเด็นที่ถกเถียงกันมาก คือ การแก้ไขระบบเลือกตั้ง ซึ่งพรรคเพื่อไทย เสนอให้ใช้บัตรเลือกตั้งสองใบ ที่เคยใช้มาแล้วในรัฐธรรมนูญ 40 และ 50 ซึ่งประเด็นนี้เมื่อปี 2563 พรรคร่วมฝ่ายค้านก็ได้ร่วมลงนามเสนอญัตติแก้ไขรัฐธรรมนูญร่วมกับพรรคเพื่อไทยมาแล้ว

5. การยื่นแก้ไขรัฐธรรมนูญของพรรคเพื่อไทยในครั้งนี้ไม่ได้ทำเพื่อประโยชน์ของพรรคใดพรรคหนึ่ง แต่เป็นไปเพื่อประโยชน์ประชาชน เพื่อให้มีกติกาที่ชัดเจน เป็นธรรม และเป็นประชาธิปไตยมากขึ้น

การพาดพิงว่า พรรคเพื่อไทย ยื่นแก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อให้ตัวเองชนะการเลือกตั้งแบบแลนด์สไลด์นั้น ขอให้คำนึงด้วยว่าการที่พรรคหนึ่งพรรคใดจะชนะเลือกตั้งแบบแลนด์สไลด์หรือไม่นั้นจะต้องเคารพเสียงของประชาชน ซึ่งไม่มีใครรู้ล่วงหน้าได้ว่าพรรคใดจะชนะการเลือกตั้งได้คะแนนเสียงเท่าไร การเสนอให้ใช้ระบบเลือกตั้งแบบบัตรเลือกตั้งสองใบนั้นเนื่องจากมองว่าสามารถสะท้อนเจตจำนงของประชาชนได้มากที่สุด โดย ส.ส.ร.40 เป็นผู้ออกแบบให้ ส.ส.มาจาก 2 ส่วนคือ ‘ส.ส.เขต’ เขตละคน เพื่อให้ใกล้ชิดกับประชาชน คล้ายระบบของอังกฤษ และ ‘ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์’ ซึ่งสองแบบจะแยกจากกันชัดเจน ไม่ได้มาจากคะแนนเลือกตั้งเดียวกัน ซึ่งจะมีความชัดเจนในการคำนวณคะแนน

ถามว่าระบบเลือกตั้งแบบบัตรเลือกตั้งสองใบ ตามรัฐธรรมนูญ 40 ก่อให้เกิดความได้เปรียบเสียเปรียบทางการเมืองหรือกีดกันพรรคหนึ่งพรรคใดหรือไม่นั้น ตอบว่า ทุกพรรคการเมืองมีสิทธิส่งผู้สมัคร ส.ส. ในทุกระบบอย่างเท่าเทียมกัน กติกานี้ไม่ได้มีจุดประสงค์เพื่อเอื้อประโยชน์ให้พรรคใด อีกทั้งระบบเลือกตั้งแบบบัตรเลือกตั้งสองใบนี้เคยใช้มานานแล้ว พรรคเพื่อไทยไม่ได้เป็นผู้คิดค้นระบบนี้ รวมทั้งการยื่นญัตติแก้ไขรัฐธรรมนูญประเด็นนี้ก็เคยยื่นมาแล้วเมื่อปี 2563

จุดสำคัญที่พรรคเพื่อไทยเสนอในการแก้ไขรัฐธรรมนูญในประเด็นนี้คือ ต้องการให้มีรัฐบาลที่เข้มแข็ง มีเสถียรภาพ มีฝ่ายบริหารที่สามารถแก้ไขปัญหาให้พี่น้องประชาชนได้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งไม่เพียงพรรคเพื่อไทยเท่านั้นที่เห็นเช่นนี้ แม้แต่พรรคร่วมรัฐบาลเอง หลายพรรค เช่นพรรคประชาธิปัตย์ ก็เสนอแก้ไข ตนไม่เชื่อว่า พรรครัฐบาล มายื่นแก้ไขรัฐธรรมนูญในประเด็นระบบเลือกตั้ง เพื่อให้พรรคเพื่อไทยชนะเลือกตั้งแบบแลนด์สไลด์

จึงขอสรุปว่าระบบเลือกตั้งแบบบัตรเลือกตั้งสองใบ เป็นสิ่งที่เคยใช้มาแล้วและประชาชนมีความคุ้นเคย ขอยืนยันว่าพรรคเพื่อไทยไม่ได้คิดเพื่อตัวเอง แต่เป็นการคิดว่าจะทำอย่างไรที่จะทำให้เกิดความชัดเจนในเรื่องของกติกา ในการเข้าสู่อำนาจและได้รัฐบาลที่มีเสถียรภาพและประสิทธิภาพในการแก้ปัญหาให้ประชาชนในท้ายที่สุด

'พปชร.' ย้ำแก้ 5 ประเด็น 13 มาตรา

เว็บไซต์แนวหน้า รายงานว่า น.ส.พัชรินทร์ ซำศิริพงษ์ ส.ส.กทม.เขต 2 ในฐานะโฆษกพรรคพลังประชารัฐ เปิดเผยว่าในวันพรุ่งนี้ (21 มิ.ย.) จะมีการประชุมส.ส.พรรค ณ ที่ทำการพรรค ถนนรัชดาฯ เพื่อเตรียมความพร้อม สำหรับการประชุมร่วมรัฐสภา ในวันที่ 22 - 24 มิถุนายนนี้  เพื่อพิจารณาญัตติขอแก้ไขรัฐธรรมนูญรายมาตรา ในวาระแรกขั้นรับหลักการ พร้อมยืนยันแนวทางของพรรคพลังประชารัฐ ยึดตามร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญรายมาตราของพรรคพลังประชารัฐ ที่ได้เสนอไป รวม 5 ประเด็น 13 มาตรา ดังนี้

1. เพิ่มสิทธิเสรีภาพให้กับประชาชน ที่อยู่ในรัฐธรรมนูญมาตรา 29 มาตรา 41 และมาตรา 45  เช่น สิทธิการให้ประกันตัว สิทธิของชุมชนในการได้รับการช่วยเหลืออย่างเหมาะสมจากรัฐ

2. แก้ไขระบบการเลือกตั้ง ส.ส. ให้ใช้บัตรเลือกตั้งสองใบ โดยกลับไปใช้แบบรัฐธรรมนูญปี 2540 ที่แบ่งเขตเลือกตั้งออกเป็น 400 เขต และ ส.ส.บัญชีรายชื่อ 100 คน

3. แก้ไขบทบัญญัติเรื่องการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีฯ ที่อยู่ในรัฐธรรมนูญมาตรา 144  ห้าม ส.ส.และ ส.ว.เข้าไปยุ่งเกี่ยวกับการเสนอแปรญัตติงบประมาณ

4. แก้ไขมาตรา 185 เพิ่มอำนาจส.ส. ให้สามารถนำพาประชาชนไปติดต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อร่วมกันหารือในการแก้ปัญหาให้กับประชาชนได้ แต่ก็ยังคงไว้ในเรื่องไม่ให้ ส.ส.เข้าไปก้าวก่ายแทรกแซงเรื่องการแต่งตั้งโยกย้ายข้าราชการ

5.แก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 270 ในบทเฉพาะกาล ที่บัญญัติให้วุฒิสภาเพียงฝ่ายเดียวที่มีหน้าที่และอำนาจติดตาม เสนอแนะและเร่งรัดปฏิรูปประเทศ รวมถึงการติดตามการจัดทำแผนยุทธศาสตร์ชาติ  ให้แก้เป็นอำนาจของรัฐสภา

ทั้งนี้ ยืนยันว่าพรรคพลังประชารัฐ พร้อมเดินหน้าแก้ไขรัฐธรรมนูญ โดยคำนึงถึงผลประโยชน์ของพี่น้องประชาชน เพื่อให้ประเทศเดินหน้าต่อไป ซึ่งพร้อมนำร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ ของทุกฝ่าย มาร่วมพิจารณา เพื่อให้ได้รัฐธรรมนูญ ฉบับที่เหมาะสมที่สุด ในสถานการณ์นี้

'ประชาธิปัตย์' นัดประชุม ส.ส. เตรียมพร้อมการประชุมร่วมแก้ รธน.

ผู้จัดการออนไลน์ รายงานว่านายองอาจ คล้ามไพบูลย์ รองหัวหน้าพรรค และประธาน ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ เปิดเผยว่า ได้นัดหมายประชุม ส.ส. ของพรรคในวันจันทร์ที่ 21 มิถุนายน เวลา 13.30 น. เพื่อเตรียมความพร้อมการประชุมสภาพิจารณาแก้ไขรัฐธรรมนูญที่พรรคการเมืองต่างๆ เสนอเข้าสู่การพิจารณาของสภา ซึ่งในส่วนของพรรคประชาธิปัตย์ได้เสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญไป 6 ร่าง ประกอบด้วยเนื้อหาสาระสำคัญๆ 6 ประเด็น คือ แก้ไขรัฐธรรมนูญให้สิทธิประชาชน สิทธิชุมชน สิทธิผู้บริโภค สิทธิการถือครองที่ดินดีกว่าเดิม การกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่น ให้เกิดประโยชน์กับประชาชนมากกว่าที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน ให้การป้องกันการทุจริต สามารถทำได้จริง โดยเฉพาะการทุจริตขององค์กรอิสระอย่าง ป.ป.ช. ซึ่งรัฐธรรมนูญเปิดช่องให้อาจมีการสมยอมกันได้ ทำให้การแก้ไขรัฐธรรมนูญทำได้ง่ายกว่าที่เป็นอยู่ ถ้ายังใช้หลักเกณฑ์ในรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน แทบจะแก้รัฐธรรมนูญไม่ได้เลย

การสร้างกลไกที่ทำให้การเลือกนายกรัฐมนตรียึดโยงกับประชาชนมากยิ่งขึ้น แก้ไขระบบเลือกตั้งให้ใช้บัตรเลือกตั้ง 2 ใบ เพื่อให้ประชาชนได้ใช้สิทธิแสดงเจตนารมณ์ของการเลือกตั้งอย่างแท้จริง

นายองอาจ กล่าวว่า การเสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญของพรรคประชาธิปัตย์ครั้งนี้คำนึงถึงหลักการสำคัญ 5 ประการ คือ ยึดประโยชน์ของประชาชนเป็นหลัก ทำให้ประชาชนได้ประโยชน์เพิ่มมากขึ้น ลดอำนาจรัฐ เพิ่มอำนาจประชาชน กระบวนการคัดกรองคนเข้าสู่อำนาจ การใช้อำนาจผ่านกระบวนการเลือกตั้งเป็นไปตามเจตนารมณ์ของประชาชนอย่างแท้จริงมากขึ้น ทำให้การป้องกันปราบปรามการทุจริตคอร์รัปชันก่อให้เกิดผลสัมฤทธิ์มากยิ่งขึ้น และมีความเป็นประชาธิปไตยโดยประชาชนเพื่อประชาชนมากขึ้น

ทั้งนี้ พรรคประชาธิปัตย์ เชื่อมั่นว่า ถ้าการแก้ไขรัฐธรรมนูญสามารถผ่านการพิจารณาของรัฐสภาไปได้ จะเป็นคุณูปการพื้นฐานอันสำคัญที่จะต่อยอดให้เกิดการเปลี่ยนแปลงไปสู่สิ่งที่ดีกว่า ทั้งทางเศรษฐกิจ สังคม และการเมือง ซึ่งจะมีส่วนช่วยให้ประเทศเดินหน้าไปได้ในที่สุด

'ก้าวไกล' พร้อมอภิปรายร่างแก้ไข รธน. เพิ่มเติมทั้ง 13 ฉบับ ในสัปดาห์หน้า

สำนักข่าวไทย รายงานว่านายพิจารณ์ เชาวพัฒนวงศ์ รองหัวหน้าพรรคก้าวไกล แถลงถึงกรณีที่สภาผู้แทนราษฎรไม่บรรจุญัตติร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 256 ที่เสนอโดยพรรคเพื่อไทย โดยระบุว่าแม้พรรคก้าวไกลจะไม่เห็นด้วยกับเนื้อหาการแก้ไข มาตรา 256 แต่พรรคเห็นว่ารัฐสภามีอำนาจที่จะพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมฉบับที่พรรคเพื่อไทยยื่นเสนอมา

ในส่วนที่นายชวน หลีกภัย ประธานสภาผู้แทนราษฎรไม่ได้บรรจุร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 256 ในระเบียบวาระการประชุมร่วมของรัฐสภาที่จะมีขึ้นในวันพุธที่ 23 มิ.ย. 2564 เป็นเรื่องที่ไม่เหมาะสม หากพิจารณาคำวินิจฉัยขอศาลรัฐธรรมนูญระบุว่า หากจะจัดทำรัฐธรรมนูญใหม่ต้องให้ประชาชนได้ลงประชามติเห็นชอบเสียก่อน แต่ไม่ได้ระบุว่าต้องทำในขั้นตอนใด และไม่ได้บอกว่ารัฐสภาไม่สามารถพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมเพื่อให้มี สสร.ได้ นอกจากนี้เห็นว่า การบรรจุหรือไม่บรรจุ วาระในครั้งนี้เป็นหลักการที่คล้ายคลึงกับเมื่อสมัยประชุมที่แล้ว ที่ประธานสภาได้บรรจุวาระการพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติม มาตรา 256 ในวาระที่ 3 หลังจากมีคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญแล้ว

“เป็นเรื่องไม่เหมาะสมที่ประธานรัฐสภาด่วนตีความเสียเอง ว่าร่างดังกล่าวไม่สามารถบรรจุเข้าระเบียบวาระการประชุมของรัฐสภาได้ ทั้งที่เป็นการเสนอญัตติที่ถูกต้องตามรัฐธรรมนูญแล้ว หากจะหาข้อยุติว่าต้องไปจัดทำประชามติก่อนจะพิจารณาวาระที่ 1 ได้ ก็ควรเป็นมติของที่ประชุมรัฐสภา ไม่ใช่ความเห็นของประธานรัฐสภาแต่เพียงผู้เดียว” นายพิจารณ์ กล่าว

อย่างไรก็ตามพรรคก้าวไกล ยังขอให้สมาชิกรัฐสภาช่วยกันผลักดัน และเร่งพิจารณา ร่าง พ.ร.บ.ออกเสียงประชามติผ่านวาระ 2 และ 3 ให้แล้วเสร็จ ในวันอังคารที่ 22 มิถุนายนนี้ โดยในรายละเอียดขณะนี้ร่าง พ.ร.บ.ออกเสียงประชามติถูกพิจารณามาถึง มาตราที่ 55 แล้ว เหลือเพียง 12 มาตรา จากทั้งหมด 67 มาตรา ที่ยังต้องพิจารณาและลงมติในวาระที่ 2 เท่านั้น ซึ่งเห็นว่าที่ประชุมสภาสามารถดำเนินการให้แล้วเสร็จภายในวันเดียว และทันทีที่ พ.ร.บ.ประชามติประกาศใช้ พรรคก้าวไกลจะเสนอญัตติด่วนให้รัฐสภาพิจารณามีมติให้คณะรัฐมนตรีจัดทำประชามติถามประชาชน ว่าเห็นชอบหรือไม่ที่จะตั้ง สสร.เพื่อจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่แทนที่รัฐธรรมนูญ 2560 ซึ่งอยากรู้ว่า ส.ส. ฝ่ายรัฐบาลและ ส.ว. จะตีรวน เตะถ่วงการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ประชามติ ฉบับนี้อีกครั้งหรือไม่

นายพิจารณ์ ยังระบุว่าในการพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญเพิ่มเติมทั้ง 13 ฉบับ พรรคก้าวไกลได้รับการจัดสรรเวลาตามสัดส่วน 75 นาที เตรียมผู้อภิปรายไว้ 4-5 คน อยากให้ประชาชนเข้าใจถึงจุดยืนของพรรค ว่า สิ่งที่ควรแก้ไขกลับไม่ได้แก้ไข อย่างการยกเลิกมาตรา 272 ที่เป็นสิ่งไม่มีความยึดโยงกับประชาชนมากที่สุด และไม่มีความจำเป็นที่ ส.ว.ทั้ง 250 คน จะมีอภิสิทธิ์ในการเลือกนายกรัฐมนตรีเทียบเท่ากับ ส.ส. ทั้ง 500 คน ที่เป็นตัวแทนของประชาชนบวกกับสิ่งที่ไม่ควรแก้กลับไปแก้ไขอย่าง มาตรา 144 และมาตรา 185 ซึ่งจะเป็นการเปิดช่อง นำไปสู่การแก้ระบบการเลือกตั้ง

“แสดงให้ประชาชนและสังคม เห็นว่า การแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญฉบับพรรคพลังประชารัฐมิได้เอาผลประโยชน์ของประชาชนเป็นที่ตั้ง แต่กลับเป็นการปูทางเพื่อให้ พลเอกประยุทธ์ กลับมาเป็นนายกรัฐมนตรีอีกครั้ง ในส่วนของระบบการเลือกตั้งที่ผ่านมามีความพยายามโจมตีพรรคก้าวไกลว่าเป็นผู้เสียประโยชน์จากการเสนอแก้ไขระบบการเลือกตั้ง จนออกมาตีโพยตีพาย พรรคก้าวไกลยืนยันอีกครั้งว่า เรามุ่งหมายที่จะเป็นพรรคการเมืองของมวลชน เป็นสถาบันทางการเมือง เราจึงพร้อมกับทุกระบบการเลือกตั้งที่จะเกิดขึ้น หากการเลือกตั้งเป็นไปโดยบริสุทธิ์ ยุติธรรม” นายพิจารณ์ กล่าว

ACT ออกแถลงการณ์คัดค้านการแก้ไขรธน.ที่เปิดทางให้เกิดการคดโกงงบประมาณของประเทศ

ด้านองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน(ประเทศไทย) หรือ ACT ออกแถลงการณ์ เรื่อง เรื่อง คัดค้านการแก้ไขรัฐธรรมนูญที่เปิดทางให้เกิดการคดโกงงบประมาณของประเทศ  โดยเนื้อหาระบุ ดังนี้  

ตามที่พรรคพลังประชารัฐ ได้ยื่นขอแก้ไขรัฐธรรมนูญฯ ให้ตัดบทลงโทษ ส.ส. ส.ว. และกรรมาธิการที่แทรกแซง   การจัดทำงบประมาณประจำปี ตามมาตรา 144 และ ตัดข้อห้ามมิให้ ส.ส. และ ส.ว. แทรกแซงการปฏิบัติหน้าที่ของข้าราชการ ตามมาตรา 185 นั้น ทางองค์กรต่อต้านคอร์รัปชันฯ เห็นว่า การแก้ไขดังกล่าวจะทำให้การต่อต้านคอร์รัปชันของประเทศล้มเหลว เพราะการตัดบทลงโทษดังกล่าวเปิดโอกาสให้ฝ่ายนิติบัญญัติสามารถสอดแทรก-ก้าวก่ายการปฏิบัติหน้าที่ของข้าราชการที่เป็นฝ่ายบริหารได้โดยง่าย ซึ่งจากที่ผ่านมางบประมาณแผ่นดินได้ถูกจัดสรรอย่างไม่เป็นธรรม มีการคดโกงเกิดขึ้นอย่างมากมายจากการสอดแทรกใช้อำนาจหน้าที่อย่างไม่ถูกต้อง การแก้ไขรัฐธรรมนูญตามที่พรรคพลังประชารัฐได้ยื่นขอ นอกจากจะเปิดทางให้เกิดการคดโกงแล้วยังขัดต่อหลักธรรมาภิบาลและการมีผลประโยชน์ทับซ้อนตามอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการต่อต้านการทุจริต ค.ศ. 2003 ที่ไทยเป็นสมาชิกอยู่

การต่อสู้เอาชนะคอร์รัปชันต้องชัดเจนทั้งหลักการและวิธีการ การมีมาตรการที่ครอบคลุม ปฏิบัติได้จริงจังจึงจะพิสูจน์ความเป็น “รัฐธรรมนูญปราบโกง” และวาระแห่งชาติในการต่อต้านคอร์รัปชันได้ การลดทอนให้เหลือเพียงหลักการลอยๆ ไม่มีแนวปฏิบัติปราศจากบทลงโทษ แสดงให้เห็นถึงความไม่จริงใจเด็ดขาดในการปราบปรามคอร์รัปชัน ทำให้คนโกงย่ามใจ คนไทยทั้งชาติอยู่ในสภาวะของการ “จำยอมกับการโกงของผู้มีอำนาจ” อีกครั้งหนึ่ง

คนไทยต้องการเห็นการเมืองที่สูงด้วยจริยธรรม ต้องการรัฐธรรมนูญที่ศักดิ์สิทธิ์จริงใจ ต้องการเห็นประเทศชาติ มีการพัฒนาอย่างโปร่งใสเป็นธรรม และที่สำคัญ ต้องการหลุดพ้นจากวงเวียนการคดโกงของนักการเมือง ข้อเสนอให้แก้ไขรัฐธรรมนูญฯ ทั้งสองประการดังกล่าวจึงเป็นสิ่งที่ยอมรับไม่ได้ องค์กรต่อต้านคอร์รัปชันขอคัดค้านการเสนอแก้ไขรัฐธรรมทั้งสองมาตราดังกล่าวอย่างถึงที่สุด และขอเชิญชวนให้ประชาชน สื่อมวลชน และทุกภาคส่วนของสังคมร่วมผนึกกำลังในการต่อต้านครั้งนี้เพื่อสร้างภูมิคุ้มกันให้กับงบประมาณแผ่นดินและผลกระทบที่เลวร้ายที่จะเกิดขึ้นต่อไปในอนาคต

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท