COVID-19: 20 มิ.ย. ไทยติดเชื้อเพิ่ม 3,682 ราย - แพทย์แนะจัดระบบสาธารณสุขก่อนเปิดประเทศ

20 มิ.ย. 2564 ไทยติอเชื้อ COVID-19 เพิ่มขึ้น 3,682 ราย คลัสเตอร์เรือนจำ 578 ราย เสียชีวิตเพิ่ม 20 คน ผู้ป่วยยืนยันสะสมระลอกเมษายน 189,268 ราย ยอดสะสมตั้งแต่เริ่มระบาด 218,131 ราย เสียชีวิตรวม 1,629 คน - แพทย์ศิริราชห่วงเชื้อกลายพันธุ์ แนะจัดระบบสาธารณสุขก่อนเปิดประเทศ

20 มิ.ย. 2564 ศูนย์ข้อมูลโควิด-19 รายงานตัวเลขผู้ติดเชื้อโควิด-19 สะสมของประเทศไทย ประจำวันที่ 20 มิถุนายน 2564 ดังนี้

พบจํานวนผู้ติดเชื้อโควิด-19 รายใหม่เพิ่มขึ้น 3,682 ราย แบ่งออกเป็นติดเชื้อใหม่ 3,104 ราย จากเรือนจำ-ที่ต้องขัง 578 ราย มีผู้เสียชีวิตเพิ่ม 20 คน ทำให้จำนวนผู้ติดเชื้อสะสมในช่วงการระบาดระลอกใหม่ตั้งแต่เดือนเมษายน 2564 ตั้งแต่ 1 เมษายน - 19 มิถุนายน 2564  มีจำนวน 189,268 ราย เสียชีวิตสะสม 1,535 คน

ส่วนผู้ติดเชื้อสะสมนับตั้งแต่เริ่มมีการระบาดเมื่อต้นปี 2563 มีจำนวน 218,131 ราย ยอดผู้เสียชีวิตสะสม 1,629 คน ทำให้ประเทศไทยมีจำนวนผู้ติดเชื้อยืนยันสะสมอยู่ในอันดับที่ 78 ของโลก

ศูนย์ข้อมูลโควิด-19 รายงานเพิ่มเติมว่า ยอดผู้หายป่วยจากโควิด-19 ในประเทศ ผู้หายป่วยรายใหม่วันนี้ 2,401 ราย ผู้หายป่วยสะสม 156,333 ราย (ตั้งแต่ 1 เม.ย. - 20 มิ.ย. 2564)

แพทย์ห่วงเชื้อกลายพันธุ์ แนะจัดระบบสาธารณสุขก่อนเปิดประเทศ

รศ.นพ.นิธิพัฒน์ เจียรกุล หัวหน้าสาขาวิชาโรคระบบการหายใจและวัณโรค ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวถึงกรณีโรดแมปเปิดประเทศใน 120 วัน โดยระบุว่า ต้องเกิดความสมดุลทั้งระบบสาธารณสุข เศรษฐกิจ และความมั่นคง หากสถานการณ์ COVID-19 ในประเทศยังไม่บรรเทา ยังพบจำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่ไม่ต่ำกว่าวันละ 3,000 คน จำนวนผู้ป่วยที่ต้องใช้เครื่องช่วยหายใจมากถึงกว่า 300 คน และมีผู้เสียชีวิตหลักสิบเกือบทุกวัน ก็ยังไม่ควรเปิดประเทศ เพราะจะซ้ำเติมระบบสาธารณสุข

ส่วนการฉีดวัคซีนเข็มแรกให้ประชากรอย่างน้อย 50 ล้านคน โดยเชื่อว่าจะสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ได้ในระดับที่ปลอดภัย รศ.นพ.นิธิพัฒน์ บอกว่า ไม่ใช่คำตอบเดียว เป็นเพียงต้นทุนชั้นต้นที่ทำให้ผ่อนคลายประเทศได้เท่านั้น ต้องประเมินควบคู่กับการควบคุมโรคว่าทำได้ดีแล้วในระดับหนึ่ง รวมทั้งมีระบบที่ทำให้มั่นใจได้ว่าจะไม่รับเชื้อสายพันธุ์ใหม่เข้ามาซ้ำเติมปัญหา COVID-19 ในประเทศ

ทั้งนี้ รศ.นพ.นิธิพัฒน์ ประเมินสถานการณ์ COVID-19 ของประเทศ อยู่ในระดับทรงตัว ควบคู่กับการเฝ้าระวังสายพันธุ์เดลตาพลัส แต่จากการสุ่มตรวจในผู้ป่วยอาการรุนแรงในพื้นที่กรุงเทพมหานคร และปริมณฑล ยังพบว่า เป็นสายพันธุ์เดลตา และยังสามารถใช้แนวทางการรักษาเดิมได้อยู่

นอกจากนี้ อาจจำเป็นต้องให้ประชากรรับวัคซีนเข็ม 3 เพื่อรองรับสายพันธุ์ใหม่เพิ่มเติม เนื่องจากวัคซีนชนิดที่มีอยู่ อาจไม่ครอบคลุม เพราะเชื้อไวรัส COVID-19 ปรับตัวเร็วมาก ซึ่งขณะนี้ทั่วโลก รวมถึงไทยอยู่ระหว่างการศึกษาข้อมูล

นายกฯ ย้ำเป้าเปิดประเทศ 120 วัน ขอทุกหน่วยงานร่วมมือวิ่งให้ถึงเส้นชัย

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม โพสต์เฟซบุ๊กผ่านเพจ ประยุทธ์ จันทร์โอชา Prayut Chan-o-cha โดยระบุว่า เรื่องตั้งเป้าให้ประเทศไทยควรต้องพร้อมภายใน 120 วัน หรือประมาณเดือน ต.ค. ที่จะเปิดให้นักท่องเที่ยวเข้าประเทศได้โดยไม่มีเงื่อนไขที่สร้างความยุ่งยากจนเกินไป หลังจากที่มีการฉีดวัคซีนเข็มแรกให้คนไทยอย่างน้อย 50 ล้านคนแล้ว

“ผมขอตอกย้ำอีกครั้ง ให้ทุกหน่วยงานและทุกคนที่เกี่ยวข้อง ทำงานอย่างเต็มที่ ไม่อยากให้มีใครตั้งต้นด้วยข้อจำกัดที่คิดว่าเป้าหมายนี้จะทำไม่ได้ วันนี้ ประชาชนต้องต่อสู้เพื่อความอยู่รอด ทุกวัน ทุกสัปดาห์มีค่าสำหรับเขา”

พล.อ.ประยุทธ์ ยังได้ขอให้ร่วมมือกันทำงานอย่างเต็มที่ เพื่อวิ่งไปให้ถึงเส้นชัย คือเป้าหมาย 120 วันให้ได้ แม้อาจมีปัจจัยภายนอกที่มารบกวน ทั้งเรื่องการส่งมอบวัคซีน เรื่องสายพันธุ์ใหม่ ๆ หรือเรื่องอื่น ๆ แต่ขอทุกคนทำให้เต็มที่ เพื่อบรรลุเป้าหมายให้ได้

โพลเผยผลสำรวจความเห็น ปชช.ต่อการเปิดประเทศ

ขณะที่ สำนักวิจัยซูเปอร์โพล เผยผลสำรวจความเห็นประชาชนต่อการเปิดประเทศใน 120 วัน จำนวน 1,069 ตัวอย่าง พบว่า ร้อยละ 91.4 เห็นด้วยต่อการเปิดประเทศ ควบคู่ไปกับการควบคุมโรค หลังทุกคนได้วัคซีนเข็มแรก ขณะที่ร้อยละ 8.6 ไม่เห็นด้วย

เมื่อถามถึงความคิดเห็นต่อประเด็นการเปิดประเทศนั้น ร้อยละ 94.9 เชื่อว่าความสามารถของบุคลากรทางการแพทย์ยังส่งผลดีต่อการควบคุม COVID-19 รองลงมาร้อยละ 92.7 ระบุว่า ปิดเฉพาะพื้นที่พบการระบาด ไม่ใช่ปิดทั้งประเทศ

ร้อยละ 88.7 ระบุว่า ความตื่นตัวของประชาชนในพื้นที่ ช่วยสร้างความเชื่อมั่นต่อการเปิดประเทศได้ และร้อยละ 88.2 ระบุว่า ความพร้อมด้านระบบสาธารณสุขไทยส่งผลดีต่อการควบคุมโรค

นอกจากนี้ ร้อยละ 86.9 ระบุว่า นโยบายดีและมาตรการที่ชัดเจนของรัฐบาลจะช่วยให้เกิดความเชื่อมั่นในการเปิดประเทศได้ แต่ยังกังวลปัญหาลักลอบเข้าเมืองผิดกฎหมาย การมั่วสุมพนัน และสถานบันเทิงผิดกฎหมาย รวมทั้งกังวลต่อ COVID-19 สายพันธุ์ใหม่รุนแรงกว่าเดิม และสับสนในการสื่อสารของหน่วยงานรัฐที่ไม่ตรงกัน

วัคซีน “ซิโนฟาร์ม” ล็อตแรก 1 ล้านโดสถึงไทยแล้ว

เพจเฟซบุ๊ก โรงพยาบาลจุฬาภรณ์ ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ โพสต์ข้อความระบุว่า วันนี้ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์รับมอบวัคซีนตัวเลือกซิโนฟาร์มจำนวน 1,000,000 โดส ซึ่งขนส่งจากเมืองปักกิ่ง สาธารณรัฐประชาชนจีน โดยเที่ยวบิน TG8669 และ TG675 จำนวนเที่ยวบินละ 500,000 โดส เดินทางถึงประเทศไทยแล้ว

จากนั้นจะลำเลียงตู้ควบคุมอุณหภูมิบรรจุวัคซีนขึ้นรถขนส่งไปจัดเก็บยังคลังวัคซีน บริษัท ไบโอเจเนเทค จำกัด เพื่อเข้าสู่กระบวนการตรวจสอบคุณภาพ จากกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ในวันที่ 21-22 มิ.ย.

ก่อนจะกระจายจัดส่งสู่โรงพยาบาลที่องค์กรได้รับจัดสรรวัคซีนเลือกให้เป็นสถานที่บริการฉีดวัคซีนตัวเลือกซิโนฟาร์มทั่วประเทศ ในวันที่ 23-24 มิ.ย. เพื่อให้วันที่ 25 มิ.ย. สามารถเริ่มฉีดวัคซีนซิโนฟาร์มวันแรกพร้อมกันทั่วประเทศ

สำหรับการจัดสรรวัคซีนครั้งที่ 1 มี 5,199 องค์กร มีผู้รับวัคซีน 476,682 คน ภาคธุรกิจที่จะได้รับวัคซีนสูงสุด 4 อันดับแรก ได้แก่ ภาคธุรกิจบริการด้านอุปโภคและบริโภค 17.42%, ภาคอุตสาหกรรมและการผลิต 14.80%, ภาคธุรกิจการเงิน 11.58%, กลุ่มองค์กรด้านการแพทย์และการสาธารณสุข 10.82%

ภาคธุรกิจที่ยื่นขอรับวัคซีนสูงสุด 4 อันดับแรก ได้แก่ ภาคกลุ่มองค์กรด้านการศึกษา 100%, ภาคกลุ่มองค์กรการกุศล 100%, ภาควิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม 82%, ภาคองค์กรด้านการแพทย์และสาธารณสุข 81%

ที่มาเรียบเรียงจาก Thai PBS [1] [2] [3] | ผู้จัดการออนไลน์

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท