Skip to main content
sharethis

GDRI จัดเวทีพูดคุยออนไลน์เรื่องการแก้ไขการจัดสรรงบประมาณ ด้วยการใช้กลยุทธบนกระดานหมากรุกมา “แก้เกม” ให้ประชาชนพ้นวิกฤติ “รุกฆาต” โดยมี ธัญวัจน์ กมลวงศ์วัฒน์ และกมลศักดิ์ ลีวาเมาะ ตัวแทน ส.ส.พรรคฝ่ายค้าน และสุนี ไชยรส ตัวแทนภาคประชาสังคม ร่วมเสวนาแลกเปลี่ยน

20 มิ.ย. 2564 วานนี้ (19 มิ.ย. 2564) สถาบันวิจัยบทบาทหญิงชายและการพัฒนา (GDRI) จัดงานเสวนาออนไลน์ Gender Talk ผ่านซูมและเฟซบุ๊กไลฟ์ในหัวข้อ “เดินหมาก ‘งบประมาณ’ กันอย่างไร...ในยามคนไทยโดนรุกฆาต” โดยมี สุนี ไชยรส จากกลุ่มขบวนผู้หญิงปฏิรูปประเทศไทย, ธัญวัจน์ กมลวงศ์วัฒน์ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล และกมลศักดิ์ ลีวาเมาะ สส. จ.นราธิวาส จากพรรคประชาชาติ เป็นผู้ร่วมเสวนาหลัก ดำเนินรายการโดย เรืองรวี พิชัยกุล จากสถาบัน GDRI

ประเด็นหลักในการเสวนาครั้งนี้ คือ การเสนอแนะแนวทางการแก้ไขการจัดสรรงบประมาณแผ่นดิน ตาม พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2565 ซึ่งอยู่ระหว่างการพิจารณาในวาระ 2 หรือการปรับแก้ในชั้นกรรมาธิการ ด้วยการนำกลยุทธการเล่น ‘หมากรุก’ มาใช้ ‘แก้เกม’ การจัดสรรงบประมาณ

เรืองรวี ผู้ดำเนินรายการ กล่าเปิดการเสวนาว่า ขณะนี้ คนไทยเหมือนถูก ‘รุกฆาต’ จาก พ.ร.บ.งบประมาณฯ ของรัฐบาล ที่ให้ความสำคัญเรื่องความมั่นคงมากกว่าสุขภาพและปากท้องของประชาชน อีกทั้งงบประมาณในส่วนของเศรษฐกิจและการจัดการโควิด-19 ที่รัฐบาลเสนอมายังมีการจัดสรรงบให้หน่วยงานต่างๆ อย่างไม่สมเหตุสมผล เช่น การปรับลดงบของกระทรวงสาธารณสุขทั้งๆ ที่หน่วยงานของกระทรวงสาธารณสุขควรจะได้รับงบประมาณเพื่อแก้ไขสถานการณ์การระบาดของโรคโควิด-19 ซึ่งคาดว่าจะยังระบาดต่อเนื่องไปจนถึงปี 2565 หรือการสอดไส้ พ.ร.ก.กู้เงิน มาในแผนการใช้จ่ายงบประมาณ ซึ่งประชาชนก็ยังไม่ทราบว่าแผนการใช้จ่ายรวมถึงการใช้หนี้สาธารณะในอนาคตจะเป็นอย่างไร

เรืองรวี กล่าวต่อว่าจากสถานการณ์ดังกล่าว ที่ทำให้คนไทยเหมือนถูกรุกฆาตในเกมหมากรุกและไม่มีทางออกจนต้องยอม ‘ตายคากระดาน’ แต่จริงๆ แล้ว “การโดนรุกฆาตมีทางออกเสมอ” หากฝ่ายที่โดนรุกฆาตรู้จักกลยุทธในการพลิกกระดาน ก็สามารถกลับมาเป็นผู้ชนะในเกมได้

เรืองรวี อธิบายวิธีการพลิกเกมกลับในการเล่นหมากรุกให้ฟังว่า หากเราโดนรุกฆาตในช่วงแรกๆ ของเกม ซึ่งเรายังมีหมากตัวอื่นๆ เหลืออยู่บนกระดาน การพลิกเกมเพื่อหนีการรุกฆาตนั้นถือว่าไม่ยาก แต่หากเราถูกรุกฆาตในช่วงท้ายที่เราเหลือ ‘ขุน’ เพียงตัวเดียว เราต้องดูว่าฝ่ายตรงข้ามเหลือหมากอยู่กี่ตัวและประเมินว่าเราจะสามารถเดิน ‘ขุน’ ตัวสุดท้ายของเราได้อีกกี่ตา ซึ่งเธอบอกว่าหากเดินหมากตัวสุดท้ายอย่างชาญฉลาด ก็สามารถเดินจนอับ (การอับ หมายถึง การที่ขุนไม่สามารถเดินได้หรือไม่มีตาเดินโดยไม่ถูกรุก ซึ่งจะส่งผลให้เกมนั้นถือว่าเสมอ ไม่มีผู้แพ้หรือชนะ) และพลิกกลับมาเสมอกับฝ่ายตรงข้ามได้ หรือถ้าเป็นผู้เล่นมือฉมังจริงๆ ก็อาจจะพลิกเกมมาชนะได้ด้วยขุนเพียงตัวเดียว

‘ความกังวล’ ของผู้ร่วมเสวนาต่อปัญหาในประเทศไทย

กมลศักดิ์ กล่าวว่า ความกังวลอันดับแรกของตนคือเรื่องปากท้องของพี่น้องประชาชน โดยเฉพาะคนใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ที่มักถูกหลงลืมในการจัดสรรงบประมาณมาโดยตลอด และถ้าดูดัชนีความจนทั้ง 77 จังหวัดทั่วประเทศ จะพบว่าประชาชนใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ยากจนลงเรื่อยๆ นอกจากนี้ ในช่วงนี้ยังมีปัญหาเรื่องแรงงาน เพราะมีประชาชนใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้จำนวนไม่น้อยที่ข้ามไปทำงานในฝั่งประเทศมาเลเซีย แต่เมื่อโควิด-19 ระบาดหนัก รัฐบาลมาเลเซียสั่งล็อกดาวน์ปิดประเทศ ทำให้ประชาชนที่เคยมีงานทำ มีรายได้ ต้องกลายเป็นคนตกงาน กลับมาค้าขายหรือประกอบอาชีพอื่นๆ ที่บ้านก็ไม่ได้ เพราะเศรษฐกิจในพื้นที่ไม่ดี ค้าขายไม่ได้ ราคายางตกต่ำ ซ้ำร้าย พ.ร.บ.ยาเสพติดฉบับใหม่ที่กำหนดให้กระท่อมเป็นพืชถูกกฎหมาย อาจส่งผลต่อปัญหายาเสพติดในพื้นที่ โดยเฉพาะกับเยาวชน ส่วนความกังวลสุดท้าย คือ เรื่องความไม่สงบในพื้นที่ ซึ่งกมลศักดิ์กล่าวว่าเสียงปืน เสียงระเบิดในพื้นที่ภาคใต้เงียบจริงในช่วงนี้ แต่เงื่อนไขที่ทำให้เกิดเสียงดังยังคงอยู่ เพราะการระบาดของโควิด-19 กลบข่าวเสียงปืนเสียงระเบิดในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ไปหมด พร้อมระบุว่าแม้เสียงปืนจะลดลง แต่คนในพื้นที่ยังถูกละเมิดสิทธิมนุษยชนจากการประกาศใช้กฎอัยการศึกมานาน แม้จะมีรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งแล้ว มีผู้แทนในพื้นที่แล้ว แต่กระบวนการเจรจาสันติภาพยังไม่เข้าสู่ระบบรัฐสภา

ด้าน ธัญวัจน์ บอกว่าสิ่งที่ตนกังวลมากที่สุด คือ เรื่องงาน ซึ่งตนมองต่อยอดไปอีกว่า ภายหลังการเยียวยาประชาชนและภาคธุรกิจในช่วงโควิด-19 แล้ว หลังจากนี้จะต้องมีการสร้างงาน เพราะหากประชาชนมีงานก็จะทำให้มีเงินมาหมุนเวียนภาคธุรกิจในระดับที่ใหญ่ขึ้นต่อไป และเศรษฐกิจของประเทศก็จะดีขึ้นเอง

ขณะที่ สุนี ระบุว่าตนเห็นด้วยกับผู้ร่วมเสวนาทั้ง 2 คนว่าเรื่องเศรษฐกิจและปากท้องของประชาชนเป็นเรื่องที่น่ากังวลที่สุด อีกทั้งปัญหาเหล่านี้ยังรุนแรงมากขึ้นเมื่อเจอการระบาดในระลอกที่ 3 ซึ่งรัฐบาลแก้ปัญหาไม่ถูกจุด นอกจากนี้ ผู้เข้าร่วมรับฟังการเสวนาคนอื่นๆ ยังได้แสดงความคิดเห็นเพิ่มเติมถึงความกังวลต่อสถานการณ์บ้านเมือง เช่น คุณภาพชีวิตของเด็กและเยาวชนที่ไม่ได้รับความสำคัญในแผนงบประมาณของรัฐบาล ยิ่งในวิกฤตโควิด-19 คุณภาพชีวิตของเด็กและเยาวชนยิ่งย่ำแย่ ทั้งขาดการศึกษา รวมถึงขาดโภชนาการที่สมวัย ซึ่งประชากรกลุ่มนี้คือวัยแรงงานในอนาคตที่ต้องรับผิดชอบการใช้หนี้ที่รัฐบาลกู้ยืมมา แต่กลับถูกละเลยมาอย่างต่อเนื่อง

วิธี ‘เดินหมาก’ แก้เกมการจัดสรรงบประมาณ

ธัญวัจน์ กล่าวว่า กฎหมายงบประมาณตามรัฐธรรมนูญปี 2560 กำหนดว่าการเสนอร่าง พ.ร.บ.งบประมาณฯ ในวาระ 1 เป็นการเสนอ “แนวคิดการใช้เงิน” เพื่อแก้ไขปัญหาต่างๆ แต่เมื่อผ่านเข้าไปในวาระ 2 กฎหมายกำหนดให้กรรมาธิการทำได้แค่ “ตัด” ไม่สามารถเสนอ เพิ่ม หรือโยกงบได้ สุดท้ายเมื่อตัดงบทุกอย่างแล้ว คณะกรรมาธิการก็จะตกลงกันว่าจะเอางบก้อนนั้นไปไว้ที่ไหนซึ่งเป็นปัญหาของการพิจารณางบประมาณแผ่นดิน

ธัญวัจน์ ระบุว่า หากตนต้องเดินหมากแก้เกมงบประมาณ ตนจะผลักดันแผนการสร้างงานให้ประชาชน โดยเฉพาะงานที่เน้น ‘คนดูแลคน’ และหุ่นยนต์ทำแทนไม่ได้ (Care Economy) เช่น การพัฒนาสถานรับเลี้ยงเด็ก ซึ่งสามารถสร้างงานกว่า 200,000 ตำแหน่งให้แก่ประชากรเพศหญิงได้ หรืองานดูแลผู้สูงอายุ รวมถึงการส่งเสริมให้ผู้สูงอายุที่สุขภาพแข็งแรงออกมาทำงานพิเศษ เช่น เป็นผู้สอนหนังสือหรือเล่านิทานให้แก่เด็ก เพื่อเป็นการสสร้างรายได้และช่วยเชื่อมสัมพันธ์ระหว่างคน 2 วัยได้อีกด้วย

นอกจากนี้ ธัญวัจน์ยังระบุว่างานประเภทสันทนาการ เช่น วงดนตรี ก็ช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจได้ และสมควรได้รับการเยียวยาในช่วงที่โควิด-19 ระบาด เพราะอาชีพเหล่านี้ได้รับผลกระทบจากนโยบายป้องกันโรคของรัฐบาลจนขาดรายได้ แต่กลับเป็นกลุ่มท้ายๆ ที่ได้รับการดูแล ธัญวัจน์ยกตัวอย่างเปรียบเทียบกับวงดุริยางค์ทหารที่เป็นผู้สร้างเศรษฐกิจสันทนาการในรั้วกองทัพ แม้ไม่มีงานแสดงในช่วงโควิด-19 แต่ก็ยังได้รับเงินเดือน ยังมีที่ฝึกซ้อม แล้วเหตุใดรัฐบาลจึงไม่สนับสนุนงบประมาณให้กับนักดนตรีชุมชน ซึ่งสามารถสร้างตำแหน่งได้อย่างน้อย 50,000-60,000 ตำแหน่ง โดยใช้งบอุดหนุนไม่ถึง 1,000 ล้านบาท

ธัญวัจน์ กล่าวว่า รัฐบาลต้องให้ความสำคัญกับงบประมาณของมนุษย์มากกว่าอาวุธรยุทโธปกรณ์ รวมถึงต้องไม่ ‘ตาบอดเพศ’ (Gender blindness) ต้องเน้นจัดทำงบประมาณที่ตระหนักถึงปัญหา และอุปสรรคอันเนื่องมาจากบทบาท โอกาส และการเข้าถึงทรัพยากรระหว่างหญิง ชาย และผู้มีความหลากหลายทางเพศ ที่ต่างกันในแต่ละสังคม หรือที่เรียกว่า Gender Responsive Budgeting (GRB) ซึ่งทั้งหมดนี้ล้วนเป็นการ “ปลูกมนุษย์” คือการดูแลคนในสังคมให้มีศักยภาพ มีอัตราการเกิด มีเศรษฐกิจที่พึ่งพากันอย่างเป็นระบบ

ด้าน สุนี กล่าวว่า รัฐบาลวางโครงสร้างยุทธศาสตร์งบประมาณที่ผิดพลาด ตั้งแต่การกระจายงบประมาณสูงสุด 5 อันดับแรกให้กระทรวงต่างๆ ไปจนถึงแผนบูรณาการการใช้งบให้เข้ากับยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ซึ่งส่วนใหญ่ไปลงที่การคมนาคมและการจัดการน้ำ ทั้งหมดนี้คิดเป็น 80% ของแผนการใช้งบ ส่วนงบพัฒนามนุษย์และแรงงานมีเพียง 16% เท่านั้น ซึ่งสวนทางกับความต้องการของประชาชนและสภาพความเป็นจริงในสังคม และการจัดสรรงบแบบนี้จะทำให้เกิดปัญหาตามมาหลายอย่าง

สุนี กล่าวว่า ตนเห็นแย้งกับ ธัญวัจน์เล็กน้อยในประเด็นการจ้างงาน โดยระบุว่าการสร้างงานให้ประชาชนเป็นสิ่งจำเป็น แต่ในสถานการณ์เฉพาะหน้าเช่นนี้ การเยียวยาประชาชนสำคัญเป็นอันดับแรก สุนีเห็นด้วยกับการที่รัฐให้เงินเยียวยาให้ประชาชนเป็นเงินก้อน 5,000 บาทในโครงการ ‘เราไม่ทิ้งกัน’ แต่ไม่เห็นด้วยกับการแจกเงินเยียวยาที่ไม่เป็นระบบและประชาชนนำไปใช้จ่ายอะไรไม่ได้ตามจุดประสงค์ เมื่อรัฐบาลสร้างภาระภาษี มีเงินกู้หลายแสนล้าน ต้องคิดถึงการเยียวยาประชาชนเป็นหลัก อย่าใช้เงินตามใจชอบ พร้อมระบุว่าควรตัดงบกระทรวงกลาโหมและงบส่วนอื่นที่ไม่จำเป็น เช่น งบสร้างเขื่อน สร้างถนน มาช่วยเหลือประชาชน รวมถึงต้องเยียวยาประชาชนทุกคนอย่างถ้วนหน้า

ขณะเดียวกัน กมลศักดิ์ บอกว่าตนเห็นด้วยกับแนวทางการไขปัญหาการจัดสรรงบประมาณของสุนีและธัญวัจน์ แต่หากจะแก้ปัญหาที่ต้นตอจริงๆ ต้องไปแก้รัฐธรรมนูญ เพราะรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 ระบุไว้ว่าการจัดทำงบประมาณต้องสอดคล้องกับแผนยุทธศาสตร์ชาติ ซึ่งปัญหาคือยุทธศาสตร์ใครเป็นคนทำ ทำไว้เมื่อไร ตอนที่ทำมีโควิด-19 หรือไม่ ตนจึงมองว่ายุทธศาสตร์ชาติ 20 ปีคือสิ่งที่ขัดแย้งกับการทำงบประมาณประจำปี ซึ่งเป็นการมองไปยังอนาคตข้างหน้า

กมลศักดิ์ เสนอว่า หากต้องจัดทำงบประมาณตามแผนยุทธศาสตร์ชาติแบบนี้ ควรปรับลดงบประมาณด้านความมั่นคงแล้วนำงบมาให้ภาคการศึกษา ซึ่งเป็นหนึ่งในแผนยุทธศาสตร์ชาติเช่นเดียวกัน หรือนำมาอุดหนุนหน่วยงานท้องถิ่นของกระทรวงมหาดไทยที่มีความใกล้ชิดกับประชาชนมากกว่า ไม่ใช่นำงบไปลงที่กรมโยธาธิการ ซึ่งผู้ได้รับผลประโยชน์ส่วนนี้มีแต่บริษัทผู้รับเหมาก่อสร้างเท่านั้น

กมลศักดิ์ ยกตัวอย่างการจัดสรรงบในกับหน่วยงานใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่รัฐนำเงินไปลงกับการสร้างคูน้ำและสร้างกำแพงกั้นแนวเขตแดนไทย-มาเลเซีย ซึ่งเป็นงบผูกพัน 3 ปี รวม 600 กว่าล้าน ในขณะที่งบของ ส.อบต. กลับถูกตัดลดลง

หนึ่งสตรี ตุ่ยไชย อดีตผู้ลงสมัครเลือกตั้ง ส.ส. จ.สมุทรปราการ เขต 3 พรรคอนาคตใหม่ หนึ่งในผู้ร่วมรับฟังการเสวนา เสนอความคิดเพิ่มเติมเรื่องการจัดการงบประมาณ โดยระบุว่ารัฐควรช่วยเหลือธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อยหรือ SME ให้มากกว่านี้ เพราะเป็นกลุ่มที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 อย่างหนักด้วยเช่นกัน แต่เมื่อพิจารณาการเบิกจ่ายงบแล้ว กลับไปลงที่โครงการโคกหนองนา ตามที่มีการอภิปรายงบประมาณไปแล้วก่อนหน้านี้ นอกจากนี้ หนึ่งสตรี ยังอยากให้รัฐช่วยเหลือการสร้างงานให้เด็กจบใหม่ ซึ่งจะเป็นกำลังสำคัญในอนาคตแก่เศรษฐกิจของประเทศ

ด้าน ระพีพันธ์ จอมมะเริง อาจารย์ประจำภาควิชาอนามัยชุมชน คณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ให้ความเห็นเพิ่มเติมว่าตามทฤษฎีแล้ว การจัดทำงบประมาณคือการตกแต่ง GDP หมายความว่าหากดูเฉพาะตัวเลขการเติบโตทางเศรษฐกิจที่รัฐแถลงจะพบว่ามีอัตราการเติบโตจริง แต่เมื่อไปพิจารณาในรายละเอียดที่งบประมาณแล้วจะเห็นว่าเงินเหล่านั้นไปกระจุกอยู่ที่คนเฉพาะกลุ่ม ได้ประโยชน์ในวงจำกัด และสร้างความเหลื่อมล้ำให้คนในสังคม เพราะการกระจายรายได้ไม่เป็นธรรม

ระพีพันธ์ กล่าวเพิ่มเติมว่าการสร้างศักยภาพให้บัณฑิตจบใหม่เป็นเรื่องสำคัญ เพราะในอนาคต จำนวนประชากรของไทยจะลดลงเหลือเพียงครึ่งหนึ่งของจำนวนประชากรในปัจจุบัน เหลือเพียง 30-40 ล้านคนเท่านั้น ซึ่งหมายความว่าศักยภาพของคนต้องมีมากขึ้น จะต้องเก่งกว่าวัยทำงานในปัจจุบันถึง 2 เท่าจึงจะมีกำลังในการใช้หนี้สาธารณะ แต่ตนคิดว่าการพัฒนาทักษะฝีมือแรงงานในปัจจุบันให้แก่บัณฑิตจบใหม่ยังไม่เข้มข้นมากพอ ทั้งกระบวนการคิดและการลงมือปฏิบัติงานจริง

ระพีพันธ์ เสนอแนวทางการแก้ไขปัญหาเพิ่มเติมว่ารัฐบาลต้องให้ความสำคัญกับการลงทุนทุกภาคส่วนเพื่อสร้างการขยายตัวของ GDP ไม่ใช่ดูแค่การใช้จ่ายในภาครัฐ แล้วบอกว่าเศรษฐกิจเติบโตขึ้น เพราะสุดท้ายแล้วก็ไม่สามารถแก้ปัญหาความเหลื่อล้ำ รวมถึงเศรษฐกิจในภาพรวม และไม่สามารถก้าวข้ามกับดักรายได้ปานกลางได้ พร้อมระบุว่าต้องจัดการปัญหาทุจริตอย่างจริงจัง เพราะมีผลการศึกษาว่าประเทศไทยสามารถนำเงินเหล่านั้นมาจัดทำรัฐสวัสดิการได้

ถ้า ‘เดินหมาก’ แก้เกมไม่ได้ ‘คว่ำกระดาน’ เลยดีไหม

สุนี ให้ความเห็นว่าการคว่ำกระดานหรือการพยายามคว่ำร่างงบประมาณอาจไม่ส่งผลดีในสถานการณ์เช่นนี้ จึงเสนอว่าควรมีเวทีอภิปรายงบทั้งในและนอกสภา และสนับสนุนให้มีการพูดถึงเรื่องงบประมาณแผ่นดินในวงกว้าง และทำอย่างต่อเนื่อง ไม่ใช่เปิดรับฟังความคิดเห็นเพียง 7-10 วันผ่านเว็บไซต์ สื่อมวลชนและภาคประชาชนต้องร่วมมือกันอย่างจริจังในเรื่องนี้

ธัญวัจน์ กล่าวว่า ต้องยอมรับว่าเสียงในสภาของฝ่ายค้านไม่พอที่จะคัดค้านหรือคว่ำกระดาน แต่ในฐานะ ส.ส. ตนยินดีให้ความช่วยเหลือในการติดต่อประสานงานระหว่างสภากับกับประชาชน และคิดว่าจะเป็นการดีมาก ถ้าพรรคฝ่ายค้านและภาคประชาชนจะร่วมมือกันตั้งเวทีสาธารณะในการวิพากษ์วิจารณ์งบประมาณเป็นประจำทุกปีก่อนถึงฤดูกาลเสนอร่าง พ.ร.บ.งบประมาณฯ เพื่อเป็นการสร้างความตระหนักรู้ในเรื่องงบประมาณแผ่นดินให้กับประชาชน เช่นเดียวกับร่างกฎหมายอื่นๆ ที่คนให้ความสนใจ เช่น กฎหมายสมรสเท่าเทียม เป็นต้น ซึ่งธัญวัจน์มองว่าการทำงานในลักษณะนี้จะช่วยให้ความคิดของประชาชนเติบโตมากขึ้นในอนาคต

ขณะที่ กมลศักดิ์ เสนอว่าหากจะคว่ำกระดานอาจจะต้องไปแก้ไขกฎหมายเกี่ยวกับงบประมาณหรือกฎหมายอื่นๆ เช่น รัฐธรรมนูญมาตรา 77 ที่พูดถึงการทำประชาพิจารณ์ ว่าจะสามารถมีกฎหมายลูกที่กำหนดให้ประชาชนสามารถทำประชาพิจารณ์เฉพาะ พ.ร.บ.งบประมาณฯ ได้หรือไม่ เพื่อที่จะได้ตอบโจทย์ความต้องการของประชาชนจริงๆ และต้องมีกลไกตรวจสอบควบคุมการใช้งบประมาณให้สอดคล้องกับแผนการใช้เงินที่รัฐบาลเสนอมา

ด้าน ระพีพันธ์ให้ความเห็นทิ้งท้ายว่ารัฐต้องเปลี่ยนแนวคิดเรื่องการจัดทำงบประมาณประจำปีที่เป็นเหมือนการเปลี่ยนหน้าปกร่าง พ.ร.บ.งบประมาณฯ แต่เนื้อในมีความแตกต่างกันไม่มาก และต้องให้ประชาชนมีส่วนร่วมในร่าง พ.ร.บ.งบประมาณฯ ตั้งแต่ต้นทาง คือ รัฐบาลต้องเปิดเผยร่างงบประมาณตั้งแต่หน่วยงานย่อยซึ่งมีความใกล้ชิดกับประชาชนมากที่สุดทำการเสนองบใช้จ่ายเข้าไป เพราะเมื่อร่างงบประมาณเข้าสู่สภาแล้วไม่สามารถปรับเปลี่ยนอะไรไม่ได้ นอกจากนี้ รัฐต้องลดความเป็นรัฐราชการรวมศูนย์ด้วยการกระจายงบประมาณให้ภาคประชาสังคมนำไปจัดสรรดูแลกันเอง ทั้งยังต้องวางนโยบายการจัดเก็บภาษีระหว่างคนจนและคนรวยใหม่ จึงจะสามารถลดความเหลื่อมล้ำในระดับโครงสร้างได้

รับชมไลฟ์การเสวนาได้ที่:

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net