Skip to main content
sharethis

เวียดนามออกกฎสำหรับผู้ใช้โซเชียลมีเดียทั่วประเทศ ให้ประชาชนโพสต์เนื้อหาเชิงบวกเกี่ยวกับเวียดนาม และแชร์ข้อมูลจาก “แหล่งข้อมูลของทางการและแหล่งข้อมูลที่น่าเชื่อถือ” แม้ทางการระบุว่าเป็นเพียงการ “เสนอแนะ” แต่หากไม่ปฏิบัติตา​มอาจถูกดำเนินคดีตามกฎหมาย

18 มิ.ย. 2564 สื่อท้องถิ่นเวียดนามรายงาน กระทรวงข้อมูลและการสื่อสารของเวียดนามออกระเบียบกำหนดแนวทางพฤติกรรมสำหรับผู้ใช้โซเชียลมีเดียทั่วประเทศ ที่จัดทำขึ้นเพื่อ “ส่งเสริม” ให้ประชาชนโพสต์เนื้อหาเชิงบวกเกี่ยวกับเวียดนาม และแชร์ข้อ​มูลจาก​ "แหล่งข้อมูลของทางการและแหล่งข้อมูลที่น่าเชื่อถือ” ทางการระบุว่าเป็นเพียงการ “เสนอแนะ” แต่หากไม่ปฏิบัติตามอาจถูกดำเนินคดีตามกฎหมาย

แนวทางระดับชาติว่าด้วยพฤติกรรมการใช้โซเชียลมีเดียฉบับนี้ถูกบรรจุเข้าเป็นมติของกระทรวงข้อมูลข่าวสารเมื่อวันที่ 17 มิ.ย. ที่ผ่านมา โด๋กวี้หวู รองผู้อำนวยการสถาบันยุทธศาสตร์ข้อมูลและการสื่อสารของเวียดนามให้สัมภาษณ์กับ Vietnam News Agency (VNA) ในวันเดียวกันว่านี่เป็นเพียงการให้คำแนะนำเท่านั้น ส่วนบทลงโทษหากไม่ปฏิบัติตามมีกำหนดอยู่ในตัวบทกฎหมายเดิมของเวียดนามอยู่แล้ว

แนวทางที่ว่านี้มุ่งบังคับใช้กับเป้าหมาย 3 กลุ่มด้วยกัน ได้แก่ (1.) องค์กรของรัฐและปัจเจกบุคคลที่ใช้เครือข่ายโซเชียล (2.) องค์กรอื่น ๆ และปัจเจกบุคคลที่ใช้โซเชียล และ (3.) ผู้ให้บริการเครือข่ายโซเชียลในเวียดนาม ระเบียบฉบับใหม่ที่ออกมามีรายละเอียดเกี่ยวกับการส่งเสริมให้แชร์เนื้อหาจากแหล่งข้อมูลของทางการหรือแหล่งข้อมูลที่น่าเชื่อถือ และปฏิบัติตนให้สอดคล้องกับขนบศีลธรรมและคุณค่าวัฒนธรรมของเวียดนาม รวมทั้งสั่งห้ามมิให้ใช้คำที่สร้างความเกลียดชัง ก่อให้เกิดความรุนแรง หรือละเมิดข้อกฎหมาย

นอกจากนี้ ระเบียบดังกล่าวยัง “เสนอแนะ” ให้ประชาชนใช้ชื่อจริงในการสมัครบัญชีบนโซเชียลและลงทะเบียนกับผู้ให้บริการเพื่อยืนยันชื่อ ที่อยู่เว็บไซต์ และข้อมูลติดต่อ รวมถึง “ส่งเสริม” ให้ผู้ใช้โซเชียลประชาสัมพันธ์ “ภาพภูมิทัศน์ ประชาชน และวัฒนธรรม” อันดีงามของเวียดนาม​ รวมถึง “ให้การศึกษาและคุ้มครองเด็กและวัยรุ่นในโลกออนไลน์” และ “ส่งเสริมให้ปฏิบัติตามระเบียบนี้อย่างเคร่งครัด และประชาสัมพันธ์ระเบียบนี้กับผู้อื่น”

สำนักข่าวในโลกตะวันตกรายงานเพิ่มเติมว่า ระเบียบฉบับนี้มีการกำหนดให้เจ้าหน้าที่รัฐรายงาน "ข้อมูลที่ขัดแย้ง" กับเนื้อหาเชิงบวกต่อผู้บังคับบัญชา และไม่อนุญาตให้เผยแพร่เนื้อหาที่ละเมิดกฎหมายและ "ส่งผลกระทบต่อผลประโยชน์แห่งชาติ" ลงบนโซเชียลมีเดีย

ทางการเวียดนามอ้างว่าระเบียบฉบับนี้ถูกออกแบบมาเพื่อส่งเสริมให้ผู้ใช้โซเชียลมีพฤติกรรมที่ดี และทำให้พื้นที่ออนไลน์ “ถูกสุขภาวะ” “ปลอดภัย” รวมถึงเพื่อให้มั่นใจว่าจะไม่มี “การเลือกปฏิบัติระหว่างผู้ให้บริการภายในประเทศและผู้ให้บริการต่างประเทศ” โดยระเบียบฉบับนี้ ทางการเวียดนามอ้างว่าเป็นไปตามหลักสากลและสนธิสัญญาต่าง ๆ ที่เวียดนามเป็นภาคีอยู่

แม้ทางการเวียดนามออกมาระบุว่าจะดำเนินการตามกฎหมายที่มีอยู่ แต่ปัจจุบันยังไม่มีความชัดเจนว่าระเบียบใหม่ฉบับนี้นำไปสู่การบังคับใช้เป็นกฎหมายมากน้อยเพียงใด ก่อนหน้านี้ รัฐบาลเวียดนามเคยพูดคุยกับการเขียนระเบียบฉบับนี้แล้วในปี พ.ศ. 2561 นอกจากนี้ รัฐบาลเวียดนามยังเคยข่มขู่ว่าจะปิดกั้นการเข้าถึงโซเชียลมีเดียเฟซบุ๊กสองครั้งในรอบ 10 ปี ซึ่งหากเกิดขึ้นจริงจะส่งผลกระทบต่อผู้ใช้เฟสบุ๊คในเวียดนามที่มีกว่า 72 ล้านคน

รัฐบาลเวียดนามปราบคนเห็นต่างอย่างไร

หลายปีที่ผ่านมานักเขียนและนักกิจกรรมทางการเมืองหลายคนถูกจับกุมและดำเนินคดีเนื่องจากมีส่วนร่วมการรณรงค์เพื่อประชาธิปไตยในเวียดนาม จากข้อมูลของ Human Rights Watch พบว่าที่ผ่านมารัฐบาลเวียดนามจับกุมผู้เห็นต่างไปแล้วหลายร้อยคน และขณะนี้มีนักโทษการเมืองถูกศาลสั่งจำคุกกว่า 137 คนในคดีอาญาจากการรณรงค์ที่เกี่ยวข้องสิทธิมนุษยชนและการวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาล

ช่วง 4 เดือนแรกของ พ.ศ. 2564 เจ้าหน้าที่ได้ทำการจับกุมนักกิจกรรมทางการเมืองเพิ่มเติมอีก 10 คน นอกจากนี้ ในช่วงเดียวกันยังมีประชาชนถูกศาลตัดสินว่ามีความผิดในคดีการเมืองอย่างน้อยอีก 12 คน โดยมีโทษจำคุกเป็นระยะเวลาตั้งแต่ 2 ปีจนถึง 15 ปี

เม.ย. 2564 เหวียน ทวี้ แห่งญ์ นักกิจกรรมทางการเมืองที่มีชื่อเสียงของเวียดนาม ถูกจับกุมในข้อหา “จัดทำ จัดเก็บ แจกจ่าย หรือเผยแพร่ข้อมูล เอกสาร และสิ่งของที่เป็นปฏิปักษ์ต่อสาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม” ตามมาตรา 117 ของประมวลกฎหมายอาญาเวียดนาม

ก่อนหน้านี้ เหวียน​ ทวี้ แห่งญ์​ เคยโดนระงับบัญขีเงินฝากใน พ.ศ. 2563 เนื่องจากทำการระดมทุนเพื่อช่วยเหลือครอบครัวนักโทษการเมืองและผู้เสียชีวิตจากการรณรงค์ต่อสู้ทางการเมือง นอกจากนี้ เธอยังเคยถูกกักขังหน่วงเหนี่ยวอยู่ในที่พักเนื่องจากพยายามลงสมัครรับเลือกตั้งในปี พ.ศ. 2559

มิ.ย. 2563 เกิ๊น ถิ เทว (อายุ 59 ปี) และลูกชายของเธอ 2 คน จิ่งญ์ บ๊า ตือ (อายุ 32 ปี) และจิ่งญ์ บ๊า เฟือง (อายุ 36 ปี) ถูกจับกุมในข้อหาตามมาตรา 117 ของเวียดนามเช่นกัน หลังต่อสู้เพื่อสิทธิที่ดินของหมู่บ้าน เซือง โหน่ย ซึ่งตั้งอยู่นอกเมืองฮานอยและถูกรัฐบาลบังคับเวนคืนในช่วงปลายปี พ.ศ. 2550 (ค.ศ. 2007)

ในปี พ.ศ. 2557 (ค.ศ. 2014) เธอและสามีที่เป็นชาวนาเคยถูกจับกุมขณะพยายามบันทึกภาพการเวนคืนที่ดินโดยรัฐบาล เธอและสามีถูกตัดสินในข้อหา “ขัดขวางเจ้าพนักงานระหว่างปฏิบัติหน้าที่” ตามมาตรา 257 ของเวียดนาม เธอถูกศาลจำคุกเป็นเวลา 15 เดือน ส่วนสามีของเธอถูกจำคุกเป็นเวลา 14 เดือน หลังออกมาจากเรือนจำ เธอต่อสู้เพื่อสิทธิที่ดินต่อทันทีและถูกตัดสินจำคุกอีก 20 เดือนในปี พ.ศ. 2559 (ค.ศ. 2016)

เมื่อ 6 ต.ค. ของปีที่แล้ว (2563) ฝ่าม ดวาน จาง นักข่าวชื่อดังของเวียดนามถูกจับกุมในข้อหาตามมาตรา 117 หากมีความผิดเธออาจต้องจำคุกเป็นเวลาถึง 20 ปี วันที่ 7 เม.ย. 64 องค์กรผู้สื่อข่าวไร้พรมแดนเรียกร้องให้ปล่อยตัวเธออย่างไม่มีเงื่อนไขในทันที ขณะนี้ยังไม่มีสัญญาณจากภาครัฐว่าจะมีการปล่อยตัวหรือไม่ ทั้งนี้ เธอเป็นผู้ได้รับรางวัลเสรีภาพสื่อในสาขาการสร้างความเปลี่ยนแปลงในปี พ.ศ. 2562

ก่อนหน้านี้ ฝ่าม ดวาน จาง รวมถึง เกิ๊น ถิ เทว และลูกชายทั้ง 2 คนเป็นผู้ร่วมเขียน “รายงานด่งม์ เติม” (Dong Tam Report) ซึ่งเป็นเรื่องราวข้อพิพาทเกี่ยวกับที่ดินที่ใหญ่ที่สุดในโลกในช่วงเวลาที่ไม่มีสงคราม ในเดือนมกราคม พ.ศ. 2563 รัฐบาลเวียดนามได้ทำการบังคับเวนคืนที่ดินของหมู่บ้านด่งม์ เติม โดยสนธิกำลังเจ้าหน้าที่กว่า 3000 นายเพื่อปราบปรามชาวบ้านที่ออกมาประท้วงเรียกร้องสิทธิที่ดินของตัวเอง

จากเหตุการณ์ดังกล่าวส่งผลให้ เล ดิ่งญ์ กิ่งญ์ ผู้ใหญ่บ้านของด่งม์เติม อายุ 84 ปี ถูกยิงเสียชีวิต ทางการอ้างว่ามีเจ้าหน้าที่ตำรวจเสียชีวิต 3 ราย หลังเหตุการณ์ดังกล่าว ชาวบ้านถูกตัดสินว่ามีความผิดในข้อหาฆาตกรรมและขัดขวางการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ มีผู้ถูกตัดสินโทษประหารชีวิต 2 คน จำคุกตลอดชีวิต 1 คน บางคนถูกตัดสินจำคุกกว่า 80 ปี โดยชาวบ้าน 19 จาก 29 คนระบุว่าถูกทารุณกรรมเพื่อให้ยอมรับสารภาพ

ใน พ.ศ. 2564 Freedom House ซึ่งจัดทำรายงานเกี่ยวกับเสรีภาพของประเทศต่าง ๆ ทั่วโลกจัดให้เวียดนามเป็นประเทศ “ไม่เสรี” ได้คะแนนภาพรวมเพียง 19 จาก​ 100 ด้านสิทธิทางการเมืองได้ 3 จาก 40 คะแนน ส่วนด้านสิทธิพลเมืองได้ 16 จาก 60 ขณะที่ดัชนีเสรีภาพสื่อโลกประจำปี พ.ศ. 2563 ที่จัดทำโดยองค์กรผู้สื่อข่าวไร้พรมแดนระบุว่า เสรีภาพสื่อของเวียดนามอยู่อันดับที่ 175 จากทั้งหมด 180 ประเทศที่มีการประเมิน

 

เรียบเรียงจาก

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net