Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

ผมพยายามมองหาว่าในวันผู้ลี้ภัยโลก UNHCR ประเทศไทยมีกิจกรรมอะไรที่มีเนื้อหาน่าสนใจและนำมาเขียนข่าวได้บ้าง โดยเฉพาะสถานการณ์ปัจจุบันที่ผู้หนีภัยจากพม่ากำลังทะลักสู่ประเทศไทย ทั้งประชาชนที่เห็นต่างจากรัฐบาลทหารพม่าและชาวบ้านกลุ่มชาติพันธุ์ที่ได้รับผลกระทบจากการสู้รบระหว่างกองทัพพม่าและกลุ่มกองกำลังชาติพันธุ์

อ่านกิจกรรมจากที่ทีมงาน UNHCR ประเทศไทยส่งให้เพื่อทำเป็นข่าวสักชิ้น กลับไม่เจอประเด็นที่น่าสนใจเลย พบแต่กิจกรรมลั้ลลา ลั้ลลา ภายใต้หัวข้อ “ร่วมแรงร่วมใจทำอะไรก็สำเร็จ:ร่วมรักษา เรียนรู้และจุดประกายเพื่อผู้ลี้ภัย” ซึ่งจัดขึ้นที่ท่ามหาราช ริมแม่น้ำเจ้าพระยา ทั้งการประกวดโปสเตอร์ การชมภาพยนตร์ ฯลฯ  (https://www.unhcr.org/th/world-refugee-day )

ขณะที่ประเทศไทยมีแรงงานข้ามชาติจากพม่า เข้ามาหางานทำไม่น้อยกว่า 1 ล้านคน และภายหลังการทำรัฐประหารของ พล.อ.มิน อ่อง หลาย ที่ได้ปราบปรามประชาชนที่เห็นต่างอย่างหนัก มีประชาชนในพม่าแอบแฝงเข้าประเทศไทยในรูปแบบแรงงานข้ามชาติจำนวนมาก

รัฐบาลไทยภายใต้ผู้นำที่เคยเป็นนายพลของกองทัพไทย มีความใกล้ชิดกับพล.อ.มิน อ่อง หลาย ทำให้นโยบายด้านความมั่นคงของกองทัพไทย เอียงข้างไปทางกองทัพพม่า และกลายเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์อย่างยิ่งเพราะนโยบายดังกล่าวฝังกลบมนุษยธรรมจนสิ้น

ผมติดตามสถานการณ์และทำข่าวการสู้รบริมแม่น้ำสาละวินระหว่างกองทัพพม่าและกองกำลังเหรี่ยง KNU มาตั้งแต่เดือนมีนาคม 2564 เริ่มเขียนข่าวเรื่องข้าวปริศนา 700 กระสอบ ที่บ้านแม่สามแลบ จ.แม่ฮ่องสอน จนสถานการณ์รุนแรงขึ้นตามลำดับ และมีชาวบ้านฝั่งรัฐกะเหรี่ยงหลายพันชีวิตอพยพข้ามมาขอพักพิงในพื้นที่ปลอดภัยฝั่งไทย แต่ถูกกีดกันจากฝ่ายนโยบายของกองทัพไทย และรีบส่งกลับทุกครั้งที่มีโอกาส ทั้งๆ ที่ชาวบ้านกลุ่มนี้ได้รับความทุกข์ยากแสนสาหัส ข้าวปลาอาหารไม่พอกิน ขาดแคลนน้ำสะอาด เจ็บไข้ก็ไม่มีหมอและยา เด็กๆ ไม่มีแม้แต่รองเท้าใส่ (อ่านรายละเอียดเพิ่ม https://www.facebook.com/TheReportersTH/posts/3014994858750894 ) แต่ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมต่างๆกลับถูกปิดกั้น โดยการตั้งด่านตรวจเข้มข้นจากทหารไทย ขณะที่บทบาทของ UNHCR ในการเจรจากับรัฐบาลไทย หรือเป็นพลังต่อรองให้กับประชาชนที่เห็นคนเล็กคนน้อยหนีภัยความไม่สงบในพม่า กลับมีน้อยมาก

ขณะนี้ชาวกะเหรี่ยงที่หนีตายเหล่านี้ยังต้องเผชิญความยากลำบากอยู่ตามป่าเขาในลุ่มน้ำสาละวิน ท่ามกลางฝนตกหนักและความขาดแคลนที่เพิ่มมากขึ้นทุกวัน

ผมเคยถาม “ผู้รู้”เกี่ยวกับ UNHCR ถึงบทบาทที่หายไป ได้รับคำตอบแบบวิเคราะห์ว่า “เขากลัวกระทบความสัมพันธ์กับรัฐบาลไทย แล้วเขาจะทำงานลำบาก” ได้ฟังเหตุผลแบบนี้แล้วก็นึกในใจ “นี่มันไม่ใช่องค์กรโลกปีกสำคัญของยูเอ็นแล้ว แต่มันเป็นรัฐวิสาหกิจไทยชัดๆ”

ความทุกข์ยากของผู้หนีภัยจากพม่า ความจริงควรเป็นไฮไลท์ การจัดงานของ UNHCR ประเทศไทยด้วยซ้ำ แต่ประเด็นใหญ่นี้กลับถูกทิ้งไปอย่างเหลือเชื่อ ที่เห็นเป็นติ่งไว้นิดหนึ่งซึ่งระบุไว้ในข่าวว่า พม่ามีผู้ที่ถูกบังคับให้พลัดถิ่นออกนอกประเทศสูง 1.1 ล้านคนเป็นอันดับ 5 ของโลก (https://www.unhcr.org/th/28197-unhcr-world-leaders-must-act-to-reverse-the-trend-of-soaring-displacement.html )

“ผู้ที่ถูกบังคับให้พลัดถิ่น มักต้องเผชิญกับความยากลำบากในการเข้าถึงบริการทางการแพทย์เมื่อเจ็บป่วย ในวันที่ต้องอยู่ไกลจากบ้าน การหาโรงเรียนให้เด็ก ๆ ได้รับการศึกษาอย่างเหมาะสมก็เป็นเรื่องที่ยากลำบาก หรือแม้แต่การหาพื้นที่ให้พวกเขาสามารถวิ่งเล่นและทำกิจกรรมเสริมทักษะได้อย่างปลอดภัย” ข้อความขึ้นต้นในเว็บไซต์ https://www.unhcr.org/th/world-refugee-day กลายเป็นเพียงน้ำยาป้วนปากเท่านั้น เพราะในทางปฎิบัติจริง UNHCR ยังใช้การเมืองนำการทำงาน และยอมหลับตาข้างหนึ่งเพื่อไม่ให้มองเห็นผู้หนีภัยการสู้รบริมแม่น้ำสาละวิน

 

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net