Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา ผู้เขียนได้พบเห็นคลิปวิดิโอหนึ่งซึ่งถูกเผยแพร่บนแฟนเพจเฟสบุ๊คของ “ศูนย์ช่วยเหลือด้านกฎหมายผู้ถูกล่วงละเมิด (bully) บนสังคมออนไลน์” หรือ ศชอ. โดยเนื้อหาในคลิปวิดิโอปรากฏให้เห็นถึงกลุ่มคนกลุ่มหนึ่ง เข้ายื่นหลักฐานแจ้งความการกระทำความผิดมาตรา 112 แห่งประมวลกฎหมายอาญา ต่อกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (ปอท.) โดยเรียกการกระทำครั้งนี้ว่า “มหกรรมแจกพิซซ่า”[1] ซึ่งจากการสืบค้นต่อ พบว่าเป็นเหตุการณ์ในคลิปคือการเข้ายื่นหลักฐานแจ้งความผู้กระทำผิด ต่อ ปอท. ในวันที่ 10 มิถุนายน 2564 โดยนำหลักฐานมาจากข้อความบนโซเชียลมีเดียจากผู้ใช้งานกว่า 90 รายชื่อ[2] นอกจากนั้น การแจ้งความเอาผิดตามมาตรา 112 ของ ศชอ. (และกองทัพมินเนี่ยน) ในลักษณะเดียวกัน ยังเคยเกิดขึ้นก่อนหน้ามาแล้ว ในวันที่ 1 มิถุนายน ซึ่งในครั้งนั้นมีผู้ถูกแจ้งความ 41 รายชื่อ[3] อย่างไรก็ตาม ประเด็นที่ผู้เขียนให้ความสนใจไม่ใช่การเล่นงานฝ่ายตรงข้ามทางการเมืองด้วยกฎหมายความมั่นคงร้ายแรงแต่อย่างใด หากแต่การปรากฏตัวของกลุ่มคนที่เรียกตัวเองว่า “กองทัพมินเนี่ยนปกป้องสถาบัน” ซึ่งแต่งกายด้วยชุดคอสตูมของตัวละคร “มินเนี่ยน” (หรือ “มินเนียน”) ที่เป็นกลุ่มคนที่รวบรวมหลักฐานและเข้าแจ้งความในข้อหาซึ่งเป็นที่ถกเถียงกันถึงความเหมาะสมนี้

โดยส่วนตัว ผู้เขียนได้สังเกตรูปแบบการเคลื่อนไหวในลักษณะ counter movement ในสื่อโซเชียลมีเดีย ต่อฝ่ายผู้ต่อต้านรัฐบาล-มีแนวคิดสอดคล้องกับอุดมการณ์ทางการเมืองที่อยู่เบื้องหลังการเคลื่อนไหวทางการเมืองนับแต่ปีที่แล้วที่ผ่านมา โดยกลุ่มคนฝั่งตรงข้ามที่สนับสนุนรัฐบาลและมีอุดมการณ์ไปในทางขวา-อนุรักษนิยม (ทั้ง IO จากรัฐและประชาชนทั่วไป) นี้เองได้พยายามสร้างการเคลื่อนไหวโต้ตอบรูปแบบการเคลื่อนไหวต่างๆ ในโลกโซเชียลเพื่อพยายามแข่งขันกันด้านอุดมการณ์ ไม่ว่าจะเป็นการจัดทำกรอบรูปโปรไฟล์ที่มีถ้อยคำจำพวก รักชาติศาสน์กษัตริย์ สนับสนุนการใช้ ม. 112 ต่อต้านการแก้ไขรัฐธรรมนูญ 2560 ฯลฯ เพื่อโต้ตอบกับการสื่อสารทางการเมืองด้วยรูปโปรไฟล์ของฝ่ายต่อต้านรัฐบาล หรือการสร้างกลุ่มที่มีลักษณะตรงกันข้ามกับฝ่ายต่อต้านรัฐบาลอย่างเห็นได้ชัด เช่น การจัดตั้งกลุ่ม “นักเรียนดี” เพื่อโต้ตอบกับกลุ่ม “นักเรียนเลว” ที่มีมาก่อนหน้า หรือการสร้างแฟนแพจอย่าง The METTAD ขึ้นมาเพื่อนำเสนอข้อมูลในลักษณะเดียวกับสื่อ The MATTER แต่มีเนื้อหาอนุรักษ์นิยม รวมไปถึงความพยายามสร้างกระแสปั่นแฮชแท็กใน Twitter ที่เป็นพื้นที่ของคนรุ่นใหม่ (เป็นส่วนใหญ่) ซึ่งการเคลื่อนไหวในลักษณะตรงกันข้ามนี้เอง ยังรวมไปถึงการช่วงชิงเอาสัญญะจากฝ่ายตรงกันข้ามมาใช้ ซึ่ง “มินเนี่ยน” นี้เอง เป็นหนึ่งในสัญญะที่ถูกนำไปแปรเปลี่ยนจากความหมายทางการเมืองดั้งเดิม เพื่อให้เข้ากับแนวคิดของฝ่ายผู้สนับสนุนรัฐบาลในที่สุด

ที่มาของ “มินเนี่ยน” (Minions) เป็นตัวละครจากภาพยนตร์อนิเมชันชุด Despicable Me และ Minions มีร่างกายเป็นสีเหลือง อยู่รวมกันเป็นฝูง และลักษณะภายนอกคล้ายคลึงกัน มักจะแสดงออกในทางตลกชวนหัว และมีบทบาทในเรื่องเป็น “สมุน” คอยรับใช้ตัวละครหลัก โดยคำว่า “มินเนี่ยน” ถูกนำมาใช้ทางการเมืองโดยฝ่ายต่อต้านรัฐบาลในช่วงเดือนตุลาคม 2563 ที่บริบทการเคลื่อนไหวประท้วงเข้มข้นมากขึ้น โดยใช้เรียกกลุ่มคนฝ่ายตรงข้าม เช่น ทหารหรือตำรวจนอกเครื่องแบบที่ปรากฏตัวในพื้นที่ชุมนุม กลุ่มผู้ชุมนุมฝ่ายตรงข้ามที่มาชุมนุมใกล้บริเวณเดียวกัน รวมไปถึงข้าราชการที่เคลื่อนไหวด้วยการเดินขบวนแสดงความจงรักภักดีในช่วงเวลาหลังจากนั้น รวมไปถึงการกล่าวถึงกลุ่มอนุรักษนิยมโดยรวมในลักษณะเหมือนการเรียกว่า “สลิ่ม”

ที่มาของการใช้สัญญะความเป็น “มินเนี่ยน” นี้มีที่มาจากหลายองค์ประกอบ ได้แก่ สีของตัวละครที่สามารถเชื่อมโยงเข้ากับสีเครื่องแต่งกายของผู้ชุมนุมและเจ้าหน้าที่รัฐ การปรากฏตัวเป็นกลุ่มใหญ่ เหมือนตัวละครในภาพยนตร์ ทั้งยังมีใจความของการเป็น “ลูกสมุน” หรือ “ลูกกระจ๊อก” ที่จงรักภักดีต่ออำนาจรัฐซึ่งสูงส่งและมีอำนาจมากกว่า เหมือนกับที่ตัวละคร “มินเนี่ยน” ปฏิบัติต่อเจ้านายของพวกมัน รวมไปถึงการแสดงออกว่าจงรักภักดีแบบผิดเพี้ยนซึ่งสร้างปัญหาให้แก่เจ้านายอยู่เป็นประจำ ซึ่งจุดนี้มีการตั้งข้อสังเกตว่ามีที่มาจากกลุ่มผู้ชุมนุมซึ่งส่วนใหญ่เป็นคนรุ่นใหม่ที่เข้าถึงวัฒนธรรม Pop Culture[4] รวมถึงข้อสังเกตุจากผู้เขียนเองในแง่ของการนำเอาสัญลักษณ์ที่สูงส่ง (สีเหลือง ความจงรักภักดี) มาสร้างความหมายในเชิงตลกขบขัน ซึ่งสอดคล้องกับมุมมองทางการเมือง หรือโลกทัศน์ของผู้ชุมนุมคนรุ่นใหม่ (ตัวอย่างที่คล้ายกัน คือการเรียกพระสงฆ์ว่าแครอทหรือแซลมอน) อย่างไรก็ตาม ฝ่ายการเมืองตรงกันข้ามที่สนับสนุนรัฐบาลก็ได้หยิบเอาการเรียกขานและสัญลักษณ์ของมินเนี่ยนนี้เองไปใช้เพื่อตอบสนองต่ออุดมการณ์ของฝ่ายตน ซึ่งจะอธิบายต่อไป

  

ตัวอย่างการใช้สัญลักษณ์มินเนี่ยนเพื่อตอบสนองต่ออุดมการณ์ฝ่ายสนับสนุนรัฐบาล

https://twitter.com/khematat1203/status/1322783702129111040/photo/1

https://twitter.com/khematat1203/status/1322783702129111040/photo/3

https://twitter.com/jjooyy1956/status/1321324802586501121

การนำเอาสัญลักษณ์มินเนี่ยนมาใช้โดยฝ่ายผู้สนับสนุนรัฐบาล-ฝ่ายตรงข้ามผู้ชุมนุมเกิดขึ้นย้อนกลับได้ถึงช่วยปลายเดือนตุลาคมเช่นกัน โดยการเรียกขานหรือใช้สัญลักษณ์มินเนี่ยนนี้เองเป็นที่รับรู้ของฝ่ายสนับสนุนรัฐบาล อย่างไรก็ตาม ก็ได้เกิดการปรับเปลี่ยน คัดสรร หรือสร้างการรับรู้ความหมายใหม่ให้แก่ตัวละครมินเนี่ยน นี้เพื่อแสดงออกถึงอุดมการณ์ทางการเมืองของฝ่ายตนและโต้ตอบกับฝ่ายตรงข้าม ไม่ว่าจะเป็นการนำเอาสีเหลืองของตัวละครมาเชื่อมโยงกับสีเหลืองแห่งความจงรักภักดี การใช้ลักษณะการอยู่ร่วมกันเป็นกลุ่มใหญ่ของมินเนี่ยน เพื่อแสดงออกถึงพลังความจงรักภักดีซึ่งเป็นเป้าหมายร่วมกัน ซึ่งแน่นอนว่าละเลยองค์ประกอบหรือมุมมองการให้ความหมายอย่างการจงรักภักดีอย่างไม่ลืมหูลืมตา หรือภาพลักษณ์โง่เซ่อ

ผู้เขียนขอตั้งข้อสังเกตว่า เพราะตัวละครมินเนี่ยน สามารถปรับมาใช้ได้ง่ายกว่าคำเรียกหรือคำด่าอื่นๆ อย่างคำว่า “สลิ่ม” (ซึ่งจริงๆแล้วก็ถูกนำไปปรับเปลี่ยนสร้างความหมายแล้วเช่นกัน) ไดโนเสาร์ ฝุ่น ฯลฯ ซึ่งล้วนแล้วแต่ให้ความรู้สึกเป็นลบที่ตรงไปตรงมากว่า ในขณะที่ตัวละครจากการ์ตูนเหล่านี้นั้นทดแทนได้ด้วยภาพลักษณ์ที่น่ารักและตลก ดูเป็นมิตร และอาจจะใช้สื่อสารทางการเมืองในลักษณะแข่งขันกันใช้วัฒนธรรม Pop Culture แข่งกับคนรุ่นใหม่ได้อีกด้วย โดยรูปแบบของการนำเอามาใช้ที่พบ เช่น การตั้งรูปโปรไฟล์หรือชื่อผู้ใช้งานในโลกออนไลน์ด้วยรูปหรือคำว่า “มินเนี่ยน” การตั้งชื่อกลุ่มในเฟสบุ๊คเช่น กลุ่มที่มีชื่อว่า “สลิ่ม มินเนี่ยน IO ไดโนเสาร์ รักชาติ รักสถาบัน” (ยังสามารถค้นหาได้)

หรือในกรณีที่เห็นได้ชัดเจน คือกรณีคลิปวิดิโอ “หมู่บ้านทะลุจักรวาลบานบุรี” ที่ปรากฏให้เห็นบุคคลกลุ่มหนึ่งที่แต่งตัวด้วยชุดคอสตูมมินเนี่ยน และคลิปวิดิโอของ ศชอ. ที่กล่าวถึงก่อนหน้า (ซึ่งสไตล์การตัดต่อ เรียงลำดับภาพก็มีความคล้ายกัน) การกระทำเหล่านี้แสดงให้เห็นว่าฝ่ายผู้สนับสนุนรัฐบาลได้เอาสัญลักษณ์ของมินเนี่ยน มาใช้เพื่อแสดงออกถึงอุดมการณ์ตัวเองและตอบโต้ฝ่ายตรงข้ามได้ในที่สุด

แต่ในกรณีของ “กองทัพมินเนี่ยนปกป้องสถาบัน” ที่เกี่ยวข้องกับ ศชอ. ครั้งนี้ ผู้เขียนตั้งข้อสังเกตว่าเป็นการเคลื่อนไหวตอบโต้ในเชิงรุกครั้งแรกของกลุ่มคนที่ใช้สัญลักษณ์ของตัวละครมินเนี่ยน ต่อฝ่ายตรงข้าม ซึ่งจุดนี้ทำให้นึกถึงงาน “หัวร่อต่ออำนาจ: อารมณ์ขันและการประท้วงด้วยสันติวิธี” ของ จันทร์จิรา สมบัติพูนศิริ[5] ที่นำเสนอให้เห็นถึงการใช้อารมณ์ขันในขบวนการทางการเมืองที่เคลื่อนไหวประท้วงต่อต้านรัฐบาล ซึ่งสามารถสร้างผลสะเทือนต่ออำนาจรัฐหรือระบอบที่ต่อสู้ด้วยในที่สุด โดยอารมณ์ขันนี้เองที่เป็นตัวการทำลายความน่ากลัว เคร่งขรึม ตึงเครียด ในการเคลื่อนไหว หรือลดความชอบธรรมของรัฐในการปราบปรามหรือใช้กำลังต่อผู้ชุมนุมที่แสดงออกในลักษณะตลกขบขัน ดูไม่เป็นเหตุเป็นผล ซึ่งหากรัฐตัดสินใจปราบปรามจับกุมก็ส่งผลต่อความน่าเชื่อถือของรัฐด้วยเช่นกัน ที่เห็นได้จากการเคลื่อนไหวในรอบปีที่ผ่านมา เช่น กลุ่มคณะราษแดนซ์ งานวิ่งไล่ลุง หรือการร้องเพลงแฮมทาโร่ไล่ประยุทธ์

ซึ่งการเอาอารมณ์ขันมาใช้นั้นเป็นสิ่งที่ไม่แตกต่างกัน หากแต่ว่ากองทัพมินเนี่ยนปกป้องสถาบันและ ศชอ. เป็นการเคลื่อนไหวของฝ่ายที่สนับสนุนรัฐ ซึ่งสนับสนุนให้รัฐใช้อำนาจรุนแรงต่อฝ่ายตรงข้าม ซึ่งจุดนี้เองทำให้เหล่ามินเนี่ยนรักชาติรักสถาบันเหล่านี้มีความอันตรายอย่างยิ่ง

ดังที่กล่าวไปข้างต้น อารมณ์ขันหรือความน่ารักน่าเอ็นดู หากอยู่กับฝ่ายต่อต้านอำนาจรัฐก็ดูจะเป็นตัวช่วยขับเคลื่อน สร้างสีสัน ทำให้เกิดความคิดสร้างสรรค์ใหม่ๆ ท้าทายอำนาจรัฐ ทั้งยังเป็นเกราะป้องกันไม่ให้รัฐปราบปรามการเคลื่อนไหวได้ง่าย แต่ในขณะเดียวกัน กลุ่มการเมืองฝ่ายรัฐหรือฝ่ายที่สนับสนุนรัฐที่นำเอาอารมณ์ขันหรือความสนุกสนานมาใช้ ซึ่งในที่นี้คือ ศชอ. และกองทัพมินเนี่ยนฯ ก็ช่วยอำพรางความรุนแรงจากการใช้อำนาจปราบปรามหรือคุกคามฝ่ายตรงข้ามทางการเมืองได้ เห็นได้จากในคลิปวิดิโอ จากการแจ้งข้อกล่าวหา มาตรา 112 หรือการช่วยกันสอดส่องผู้มีพฤติกรรมฝ่ายตรงข้ามซึ่งรัฐมองเป็นภัยคุกคามซึ่งกระทำในชุดคอสตูมตัวละครมินเนี่ยนที่น่ารัก ขบขัน ก็อาจจะทำให้ผู้สนับสนุนรัฐ (ที่อาจไม่ได้นึกถึงหรือฉุกคิดได้แต่แรก) มองข้ามความเป็นจริงว่านี่เป็นการสนับสนุนความรุนแรงโดยรัฐจากกฎหมายที่ป่าเถื่อนล้าหลังและขัดขวางริดรอนสิทธิเสรีภาพในการแสดงความเห็นหรือวิจารณ์ต่อสถาบันหรือองค์กรที่มีความเป็นองค์กรสาธารณะซึ่งเกี่ยวพันกับพลเมืองทุกคนในประเทศ ทั้งยังมีขอบเขตของการบังคับใช้ที่ไม่แน่นอน ปิดกั้นการแสดงความเห็นโดยสุจริต ไม่มีความชัดเจน และสามารถตีความได้อย่างกว้างขวาง และปัญหาอื่นๆ อีกมากมาย[6] ซึ่งก็ปรากฏให้เห็นมาแล้วว่าผลที่ได้จากการต่อสู้เพื่อความยุติธรรมจากการกล่าวหาด้วยกฎหมายความมั่นคงมาตรานี้สร้างผลกระทบอย่างไร

จากที่กล่าวไว้ข้างต้น ผู้คนในชุดคอสตูมตัวการ์ตูนน่ารัก หรือการตัดต่อคลิปวิดิโอที่ทำให้รู้สึกสนุกสนานด้วยจังหวะภาพและเสียงเพลงประกอบ เหล่านี้เองเป็นความพยายามลดทอน ซ่อนเร้นอำพรางความรุนแรงจากการใช้อำนาจรัฐเพื่อจัดการกับกลุ่มการเมืองฝ่ายตรงข้ามซึ่งเป็นพลเมืองร่วมประเทศเดียวกัน ทั้งยังลดทอนหรือ “ด้อยค่า” (ซึ่งเป็นคำที่ฝั่งอนุรักษนิยมชอบใช้กัน) ข้อเรียกร้องหรือประเด็นการเคลื่อนไหวของฝ่ายต่อต้านรัฐบาล โดยไม่ได้มีความพยายามทำความเข้าใจหรือแสดงออกให้เห็นเลยว่าได้นำเอาข้อเสนอเรียกร้องเหล่านี้ไปรับฟังแต่อย่างใด

นอกจากนี้ ฝ่ายต่อต้านรัฐบาลควรพึงระลึกไว้ว่าการเคลื่อนไหวของมวลชนฝ่ายรัฐบาลต่างๆ นอกเหนือจากกองทัพมินเนี่ยน เช่น กลุ่มนักรบองค์ดำ-สองคาบสมุทร หรือแม้กระทั่งกลุ่มนักเรียนดี ถึงแม้ว่าในสายตาของฝ่ายตรงกันข้ามก็อาจจะเป็นการเคลื่อนไหวที่น่าขำ เฉิ่มเชย (หรือ “เบียว”) แต่กลุ่มการเมืองเหล่านี้เป็นกลุ่มที่สามารถไปด้วยกันได้กับอำนาจรัฐหรืออุดมการณ์ที่รัฐพยายามโปรโมทเป็นอย่างดี ไม่ว่าจะเป็นลักษณะของการส่งคนไปคุกคามผู้ที่แสดงออกในเชิงท้าทายอำนาจรัฐของนักรบองค์ดำ หรือการตามล่า สอดส่อง หรือ “แคป” ส่งหลักฐานการแสดงความเห็นในโลกออนไลน์ของผู้มีความเห็นต่างทางการเมืองเพื่อให้รัฐลงโทษของกลุ่มที่มีใช้พื้นที่ออนไลน์เคลื่อนไหว สิ่งเหล่านี้ล้วนถูกทำโดยอ้างถึงอุดมการณ์และกฎหมายของรัฐซึ่งคนกลุ่มนี้มองว่าเป็นสิ่งที่เหมาะสมดีงามอยู่แล้ว คนกลุ่มนี้สามารถเคลื่อนไหวประกาศความเชื่อหรืออุดมการณ์ทางการเมืองได้อย่างเสรี ในขณะที่อีกฝ่ายที่เรียกร้องการเปลี่ยนแปลงอย่างเป็นเหตุเป็นผลกลับลงเอยด้วยการถูกอำนาจรัฐคุกคามควบคุม ทั้งยังถูกมวลชนกลุ่มแรกพร้อมสอดส่องเป็นหูเป็นตาให้กับรัฐ

ผู้เขียนขอแนะนำว่ากลุ่มผู้ต่อต้านรัฐบาลหรือขบวนการประชาธิปไตยทั้งหลายให้ระลึกถึงตัวตลกที่อันตรายนี้ซึ่งฉาบเปลือกนอกด้วยความน่าขบขัน ตลก เชย ที่ช่วยบดบังเอาความรุนแรงจากการกระทำ ความคิดสุดโต่ง รวมถึงอำนาจรัฐที่สอดรับกับแนวคิดอุดมการณ์ของพวกตัวตลกเหล่านี้ ที่สามารถสร้างผลเสียเลวร้ายรุนแรงต่อผู้ที่เคลื่อนไหวโดยมุ่งให้เกิดความเปลี่ยนแปลงอย่างเลวร้ายที่สุด

 

อ้างอิง

[2] “กองทัพมินเนี่ยน หอบหลักฐาน เอาผิด 90 รายชื่อ คอมเมนต์หมิ่นสถาบัน,” ไทยรัฐออนไลน์, 10 มิถุนายน 2564, https://www.thairath.co.th/news/crime/2112737.

[3] “กองทัพมินเนี่ยน แจ้งเอาผิด คนคอมเมนต์หมิ่นสถาบัน ในเฟซบุ๊กสมศักดิ์ เจียม,” ไทยรัฐออนไลน์, 1 มิถุนายน 2564, https://www.thairath.co.th/news/crime/2105691.

[4] “อ่านใหม่: ทำไมเจ้ามินเนี่ยนจึงเป็นสัญลักษณ์ของ “คนเสื้อเหลือง,” มานุษย์นะจ๊ะวิดยา, 25 ตุลาคม 2563, https://www.blockdit.com/posts/5f94dcfb4010820cb899a456.

[5] จันทร์จิรา สมบัติพูนศิริ, หัวร่อต่ออำนาจ: อารมณ์ขันและการประท้วงด้วยสันติวิธี (กรุงเทพฯ: มติชน, 2558).

[6] “รวม 10 ปัญหามาตรา 112,” ilaw-freedom, 3 กุมภาพันธ์ 2564, https://freedom.ilaw.or.th/blog/10problems-on-Lese-Majeste.

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net