นายกรัฐมนตรีควรมาจากการเลือกตั้งโดยตรงหรือไม่

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

เห็นโพลบางโพลที่สำรวจประชาชนพันกว่าคนแล้วชักจูงให้เชื่อว่าคนไทยร้อยละ 90 กว่าชอบพลเอกประยุทธ์เพราะแกเป็นผู้นำที่เด็ดขาด ทำให้นึกในใจว่าถ้าผลโพลอย่างนั้นเป็นจริง น่าจะเปิดให้มีนายกรัฐมนตรีมาจากการเลือกตั้งโดย (direct election) ถ้าจะดี ถ้ากฎหมายการเลือกตั้งและการเลือกตั้ง เสรีและยุติธรรม ก็จะรู้ความนิยมของคนไทยต่อลุงแกจริงๆ เลย ไม่ต้องอาศัยสว.ที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง 250 คนหรือใช้วิชามารดูด ส.ส.จากพรรคนอมินีอย่างพลังประชารัฐและพรรคศรีธนญชัยอย่างประชาธิปัตย์เหมือนที่ผ่านมา ตรงนี้ทำให้เกิดคำถามเล่นๆ ว่า นายกรัฐมนตรีควรมาจากการเลือกตั้งโดยตรงหรือไม่

ในระบบรัฐสภาแบบเวสต์มินสเตอร์ของอังกฤษ นายกรัฐมนตรีมักมาจากหัวหน้าของพรรคการเมืองที่มีจำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรมากที่สุดจากการเลือกตั้ง แม้มักไม่มีการกำหนดไว้เป็นกฎหมาย แต่ภายหลังการเลือกตั้ง  หัวหน้าพรรคการเมืองดังกล่าวมักได้รับโอกาสในการจัดตั้งรัฐบาลก่อนใคร ถ้าพรรคของตนไม่ได้คะแนนเสียงอย่างท่วมท้นก็ต้องไปชักจูงพรรคการเมืองอื่นๆ มาร่วมรัฐบาลจนกลายเป็นรัฐบาลผสม (coalition) ถ้าตกลงกันได้เรียบร้อย หัวหน้าพรรคการเมืองที่มี ส.ส.มากสุดจะได้รับการเลือกจาก ส.ส.ในการประชุมสภาและได้เป็นนายกรัฐมนตรี ดังนั้นนายกรัฐมนตรีจึงมาจากการเลือกโดยอ้อม 

ผมขอคาดเดาว่าถ้านายกรัฐมนตรีสามารถมาจากการเลือกตั้งโดยตรง ผมคิดว่ามันจะนำไปสู่ปัญหาหลายอย่างเช่น ถ้านายกรัฐมนตรีมาจากการเลือกตั้งโดยตรงก็จะมีลักษณะคล้ายกับประธานาธิบดี  อันก่อให้เกิดภาวะความคลุมเครือเช่นนายกรัฐมนตรีนั้นจำเป็นต้องเลือกรัฐมนตรีจาก ส.ส.หรือไม่เพราะในระบอบประธานาธิบดี ประธานาธิบดีจะเลือกรัฐมนตรีจากใครก็ได้ที่ไม่ได้มาจาก ส.ส. คือมีการแบ่งฝ่ายบริหารออกจากฝ่ายนิติบัญญัติโดยเด็ดขาด อันทำให้รัฐสภาไม่สามารถควบคุมรัฐมนตรีได้เช่นการเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจ

นอกจากนี้เกิดคำถามอีกว่านายกรัฐมนตรีจะพ้นจากตำแหน่งได้อย่างไรเพราะในระบอบเวสต์มินสเตอร์ ก็จะให้ฝ่ายค้านเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจจนรัฐบาลพังพินาศ พรรคร่วมรัฐบาลเลิกสนับสนุน หรือถ้ากฎหมายที่เสนอโดยรัฐบาลไม่ผ่าน นายกรัฐมนตรีก็ยุบสภาและลาออก แต่รัฐสภาจะสามารถจัดการกับนายกรัฐมนตรีที่มาจากการเลือกตั้งโดยตรงหรือไม่เพราะคนที่เลือกนายกรัฐมนตรีมาคือประชาชน ไม่ใช่รัฐสภา ดังเช่นระบอบประธานาธิบดีนั้นประธานาธิบดีมีวาระการดำรงตำแหน่งที่แน่ชัดเช่นสหรัฐอเมริกามี 4 ปี 2 วาระ ไม่มีทางออกจากตำแหน่งเพราะรัฐสภา ยกเว้นว่าจะตายหรือไร้สมรรถภาพหรือกระทำความผิดส่วนตัวร้ายแรงจึงจะโดนถอดถอนจากตำแหน่งประธานาธิบดีโดยรัฐสภา (impeachment) 

ถ้านายกรัฐมนตรีจากการเลือกตั้งโดยตรงไม่ออกง่ายๆ เหมือนประธานาธิบดี การเมืองจะพบทางตันเพราะ นายกรัฐมนตรีแทบไม่มีจุดเชื่อมโยงกับพรรคการเมืองแม้แต่พรรคที่ตัวเองสังกัดอยู่เท่าไรนัก ยกเว้นช่วงออกกฎหมาย ซึ่งต้องอาศัยการออกเสียงในรัฐสภา  ดังนั้นหากว่านายกรัฐมนตรีที่มาจากการเลือกตั้งโดยตรงและครม.บริหารประเทศได้ย่ำแย่ ประเทศก็เปลี่ยนรัฐบาลไม่ได้ แถมพรรคการเมืองก็เล่นเกมกันในสภา ประเทศเป็นง่อย อันทำให้ระบอบรัฐสภาสูญเสียความได้เปรียบเหนือระบอบประธานาธิบดีไปทันทีที่แต่เดิมเคยเปลี่ยนฝ่ายบริหารได้ง่ายกว่า  (แต่สำหรับประเทศที่ใช้ระบอบประธานาธิบดีอย่างสหรัฐฯ ก็คุ้นชินกับจุดเสียของระบอบนี้มาหลายร้อยปี แม้ว่าจะมีคนอเมริกันจำนวนมากเบื่อประธานาธิบดีอย่างโดนัลด์ ทรัมป์ แต่ระบบการเมืองและรัฐธรรมนูญของอเมริกาก็เป็นเช่นนี้มานานแล้ว ไม่ได้เปลี่ยนกันง่ายๆ  จึงหันมาใช้ยุทธวิธีอื่นเช่นการคานอำนาจประธานาธิบดีหรือการสำรวจความนิยม ) 

นอกจากนี้ ประเทศที่ใช้ระบอบรัฐสภา ถ้าหันมาให้นายกรัฐมนตรีมาจากการเลือกตั้งโดยตรงก็จะพบปัญหาตรงนี้มากเพราะความเคยชินของประชาชนที่ว่านายกรัฐมนตรีต้องเปลี่ยนได้โดยไม่ต้องรอหมดวาระ ซ้ำร้ายพรรคการเมืองจะรู้สึกเสียผลประโยชน์เพราะถึงเข้าร่วมรัฐบาลแต่สมาชิกของตัวเองก็ไม่ได้เป็นรัฐมนตรีก็จะทำให้การเมืองดุเดือด วุ่นวายกว่าเดิม เหมือนกับที่อิสราเอลที่เคยลองใช้ระบอบนี้เมื่อทศวรรษที่ 90 แต่ก็ต้องยุติไป

มีอีกหนทางหนึ่งก็คือหันมาใช้ระบอบประธานาธิบดีกึ่งรัฐบาล (Semi-Presidentalism) คือการผสมผสานระหว่างการรักษาเสถียรภาพของรัฐบาล (ระบอบประธานาธิบดี) และมีการควบคุมการทำงานของรัฐบาลโดยสภา (ระบอบรัฐสภา) นั่นคือมีประธานาธิบดีเป็นประมุขของรัฐที่แบ่งอำนาจปกครองร่วมกับนายกรัฐมนตรีที่แต่งตั้งโดยประธานาธิบดี และประธานาธิบดีสามารถเปลี่ยนนายกรัฐมนตรีได้ ถ้าทำงานแย่ ถูกกดดันโดยสภา โดยมีกรณีอย่างรัสเซีย หรือนายกรัฐมนตรีถูกสภากดดันให้ลาออกได้ แต่ประธานาธิบดียังคงอยู่ โดยมีกรณีอย่างฝรั่งเศส  แต่ตรงนี้ก็ไม่ได้อยู่ในประเด็นของการเลือกตั้งนายกรัฐมนตรี เพราะคนที่มาจากการเลือกตั้งโดยตรงคือประธานาธิบดี และใช้กับการเมืองไทยไม่ได้เพราะไทยเป็นการปกครองแบบกษัตริย์ทรงเป็นประมุข (Monarchy as a head of state)  ที่กษัตริย์ไม่มีอำนาจในการบริหารประเทศ 

ดังนั้นวิธีการง่ายๆ สำหรับลุงในการพิสูจน์ว่าตัวเองมีคะแนนความนิยมตามโพลที่มีหัวหน้าทีมเป็นที่ปรึกษารัฐมนตรีกระทรวงหนึ่งหรือไม่ก็คือเปลี่ยนรัฐธรรมนูญให้เหมือนกับปี 2540  คือแกต้องเป็นหัวหน้าพรรค หรืออย่างน้อยที่สุดต้องลงเลือกตั้งเป็น ส.ส. ให้มีการเลือกตั้งโดยเสรีและยุติธรรม แล้วดูว่าประชาชนจะเลือกตัวแกและพรรคของแกมากขนาดไหน
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท