Skip to main content
sharethis

ลอเรล ฮับบาร์ด กำลังจะกลายเป็นนักกีฬาคนข้ามเพศที่ได้เข้าร่วมแข่งขันกีฬาโอลิมปิกเป็นคนแรกของโลก ในกีฬานักยกน้ำหนัก หลังจากที่เธอได้รับคัดเลือกให้เป็นตัวแทนทีมชาตินิวซีแลนด์ โดยเธอผ่านตามเกณฑ์ด้านสมรรถภาพร่างกายของคณะกรรมการโอลิมปิกทำให้สามารถลงแข่งในรุ่นซูเปอร์เฮฟวีเวทของผู้หญิงได้

ลอเรล ฮับบาร์ด ภาพจากวิดีโอของ World Weightlifting

ประเทศนิวซีแลนด์ประกาศให้ ลอเรล ฮับบาร์ด เป็นตัวแทนทีมชาติในการแข่งขันยกน้ำหนักในกีฬาโอลิมปิกที่กรุงโตเกียว ซึ่งจะทำให้ฮับบาร์ดกลายเป็นหญิงข้ามเพศคนแรกที่ได้ลงแข่งขันกีฬาโอลิมปิก โดยที่คณะกรรมการโอลิมปิกของนิวซีแลนด์บอกว่าเธอจะได้ลงแข่งในกีฬายกน้ำหนักหญิงรุ่นน้ำหนัก 87 กก.(ซูเปอร์เฮฟวีเวท)

ฮับบาร์ด เป็นนักยกน้ำหนักหญิงข้ามเพศอายุ 43 ปี ที่ได้รับคัดเลือกให้เข้าแข่งโอลิมปิกโตเกียวเกมส์อีกครั้งหลังมีการเปลี่ยนแปลงกฎเกณฑ์ทำให้เธอสามารถเข้าร่วมกีฬาโอลิมปิกได้เป็นครั้งแรกในฐานะนักยกน้ำหนักรุ่นซูเปอร์เฮวีเวทซึ่งถือเป็นการกลับมาอย่างโดดเด่นหลังจากที่เธอได้รับบาดเจ็บในปี 2561

ฮับบาร์ดกล่าวว่า "ฉันรู้สึกตื้นตันที่ได้รับเกียรติและการสนับสนุนอย่างท่วมท้นจากชาวนิวซีแลนด์"

"เมื่อตอนที่ฉันแขนหักที่คอมมอนเวลท์เกมส์(การแข่งกีฬาในเครือจักรภพอังกฤษ) 3 ปีที่แล้ว ฉันก็ได้รับคำแนะนำว่าชีวิตการกีฬาของฉันอาจจะมาถึงจุดสิ้นสุดแล้ว แต่การสนับสนุนของพวกคุณ กำลังใจของพวกคุณ และอะโรฮาที่ได้รับจากพวกคุณนั้นช่วยผลักดันฉันให้ผ่านความมืดมิดนี้ไปได้" โดยคำว่าอะโรฮาที่ฮับบาร์ดพูดถึงนั้นเป็นคำว่า "รัก" ในภาษาเมารี ชนพื้นเมืองในประเทศนิวซีแลนด์

ทั้งนี้เพศสภาพของฮับบาร์ดเคยทำให้เกิดประเด็นถกเถียงกันว่าหญิงข้ามเพศควรจะได้ลงแข่งกีฬากับผู้หญิงหรือไม่ และกำลังเป็นประเด็นในสหรัฐอเมริกาเนื่องจากหลายรัฐพยายามออกกฎหมายกีดกันคนข้ามเพศไม่ให้เข้าร่วมแข่งกีฬาตามเพศสภาพของตัวเอง และเมื่อปี 2561 สมาคมยกน้ำหนักของออสเตรเลียเคยพยายามกีดกันไม่ให้ฮับบาร์ดร่วมแข่งขันในกีฬาคอมมอนเวลท์เกมส์แต่ทางผู้จัดก็ไม่รับข้อเรียกร้องดังกล่าวและให้เธอได้แข่งต่อไป

นักยกน้ำหนักบางคนที่เข้าร่วมแข่งโอลิมปิกครั้งนี้ก็ไม่เห็นด้วยกับมติให้ฮับบาร์ดเข้าร่วมแข่งของคณะกรรมการโอลิมปิกเช่น แอนนา ฟอนเบลลิงเฮน นักยกน้ำหนักจากเบลเยี่ยมตอบโต้มตินี้ว่า "ไม่เป็นธรรม" กับผู้เข้าร่วมแข่งคนอื่น

อย่างไรก็ตาม จากการตรวจสมรรถภาพร่างกายฮับบาร์ดได้ผ่านตามเกณฑ์ของคณะกรรมการโอลิมปิกที่ออกมาตั้งแต่ปี 2558 กำหนดให้หญิงข้ามเพศสามารถร่วมแข่งขันได้ถ้าก่อนการแข่งขันอย่างน้อย 12 เดือนระดับฮอร์โมนเทสโทสเทอโรนของผู้ร่วมแข่งขันมีระดับต่ำกว่า 10 นาโนโมล นอกจากนั้นฮับบาร์ดยังผ่านเกณฑ์ด้านสมรรถภาพร่างกายทั้งของสหพันธ์ยกน้ำหนักระหว่างประเทศ และคณะกรรมการโอลิมปิกนิวซีแลนด์

เคเรียน สมิทธ์ ซีอีโอของคณะกรรมการโอลิมปิกนิวซีแลนด์กล่าวว่า พวกเขายอมรับว่าประเด็นอัตลักษณ์ทางเพศในการกีฬาเป็นเรื่องละเอียดอ่อนมากและซับซ้อน ต้องอาศัยสมดุลกันระหว่างประเด็นสิทธิมนุษยชนและเรื่องความเป็นธรรมในการแข่งขัน

สมิทธ์กล่าวอีกว่า ในฐานะที่ทีมนิวซีแลนด์มีวัฒนธรรมที่หนักแน่นในเรื่องของ "มะนาคี" (คำในภาษาเมารีหมายถึงการเอาใจใส่และรักษาให้ยั่งยืน) การคำนึงถึงผู้คนที่หลากหลาย และการเคารพต่อทุกคน ทำให้พวกเขามีพันธกิจในการสนับสนุนนักกีฬานิวซีแลนด์ที่ผ่านเกณฑ์รวมถึงดูแลความเป็นอยู่ที่ดีทางร่างกายและจิตใจของพวกเขา

เรียบเรียงจาก

New Zealand weightlifter to become first transgender athlete at Olympic Games, CNN, 21-06-2021

Weightlifter Laurel Hubbard to make history as first openly trans athlete to compete at Olympics, Pink News, 21-06-2021

ข้อมูลเพิ่มเติมจาก

Manaaki Whenua: The meaning and ethos

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net