สหภาพคนทำงานยื่นข้อเรียกร้องตัดงบไม่จำเป็นช่วยเหลือประชาชนจากผลกระทบโควิด-19

สหภาพคนทำงานยื่นข้อเรียกร้องถึงรัฐบาลและ กมธ.งบประมาณ ตัดงบไม่จำเป็นช่วยเหลือประชาชนให้มีการชดเชยรายได้พื้นฐานแก่แรงงานทุกคน พักหนี้ กยศ. คุมราคาสินค้าจำเป็น หลังร่าง พ.ร.บ.งบประมาณ 65 ตัดงบประกันสังคมและกระทรวงแรงงานลงจากของปี 64 รวมแล้วเกือบ 4 หมื่นล้าน

ภาพจากเพจ สหภาพคนทำงาน

22 มิ.ย.2564 เวลา 10.00 น. เพจ "สหภาพคนทำงาน" รายงานว่าที่ได้ไปที่ทำเนียบรัฐบาลเพื่อยื่นข้อเรียกร้องถึงรัฐบาลจำนวน 11 ข้อเรื่องพิจารณาแก้ไข พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี พ.ศ.2565 เพื่อลดภาระความเดือดร้อนของประชาชนและกลุ่มผู้ใช้แรงงานที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 และนโยบายป้องกันการระบาดของรัฐ

คลิปสัมภาษณ์พัชนีย์ คำ​หนัก สหภาพคนทำงาน ถึงบรรยากาศและที่มาของข้อเรียกร้อง รวมทั้งแนะนำ สหภาพคนทำงาน

ธนพร วิจันทร์ ตัวแทนสหภาพฯ ยื่นข้อเรียกร้องแก่สมพาศ นิลพันธ์ ที่ปรึกษาสำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี โดยในข้อเรียกร้องระบุว่าในการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณ ปี 65 ลดงบประมาณสำหรับประกันสังคม และงบกระทรวงแรงงานลงจากปี 2564 เป็นจำนวน 19,519 .824 ล้านบาทและ 19,977.4946 ล้านบาทตามลำดับ ร่างพ.ร.บ.งบประมาณฉบับล่าสุดนี้จึงไม่ได้มีเป้าหมายเพื่อให้การช่วยเหลือประชาชน แต่กลับสร้างและคงรักษาความเหลื่อมล้ำและอภิสิทธิ์ของข้าราชการทั้งทหารและพลเรือนและสถาบันกษัตริย์ ทางสหภาพคนทำงานจึงมีข้อเรียกร้องให้รัฐบาลปรับลดงบประมาณที่ไม่จำเป็นเพื่อนำมาเยียวยาประชาชน โดยมีข้อเรียกร้องจำนวน 11 ข้อดังนี้

1. ชดเชยรายได้พื้นฐานแก่แรงงานทุกคนในประเทศ ตั้งแต่อายุ 18 ปีขึ้นไป และยกเลิกมาตรการตาม พ.ร.ก. ฉุกเฉิน

2. ชดเชยรายได้ของคนที่ต้องหยุดกิจการ-หยุดงานชั่วคราวตามคำสั่งรัฐ รวมถึงเพิ่มการชดเชยรายได้จากการถูกเลิกจ้าง

3. ชดเชยรายได้ให้ผู้ประกันตน ม.33 กรณีนายจ้างสั่งหยุดงานชั่วคราวตาม ม.75 โดยให้นายจ้างจ่ายเงิน 75% และรัฐจ่าย 25%

4. ชดเชยเงินสมทบให้ผู้ประกันตน ม.39 และ 40 โดยให้รัฐจ่ายสมทบแทนผู้ประกันตน 100%

5. ชดเชยเงินสมทบในกลุ่มแรงงานภาคการเกษตร กลุ่มคนทำงานอิสระ กลุ่มคนทำงานกลางคืน และกลุ่มอื่นที่ยังไม่ได้อยู่ในระบบประกันสังคมให้เข้าสู่หลักประกันสังคม

6. ชดเชยเงินสมทบให้กลุ่มแรงงานในธุรกิจส่งอาหาร-พัสดุ พนักงานทำความสะอาด พนักงานนวด ฯลฯ ในธุรกิจแพลตฟอร์มที่ถูกเรียกอย่างผิดๆ ว่า 'พาร์ทเนอร์' ให้เข้าสู่ระบบประกันสังคม โดยให้แพลตฟอร์มเป็นผู้จ่ายเงินสมทบในฐานะนายจ้าง

7. ชดเชยค่าใช้จ่ายในการขอใบอนุญาต หรือต่อใบอนุญาตทำงาน วีซ่า การตรวจสุขภาพ และค่าธรรมเนียมอื่นของแรงงานข้ามชาติในช่วงโควิด

8. ชดเชยการพักหนี้ กยศ. แก่นักเรียน ผู้กำลังจะจบการศึกษา และคนทำงานที่เป็นหนี้ กยศ.

9.ชดเชยการพักหนี้ให้ประชาชนอย่างน้อย 1 ปี เช่น หนี้สินส่วนบุคคล หนี้บ้าน หนี้รถ หนี้ธนาคาร ฯลฯ

10. ชดเชยค่าใช้จ่ายในการเลี้ยงดูเด็ก และการศึกษาของเด็กแบบถ้วนหน้า และมีมาตรการพิเศษเพื่อบิดา มารดาที่ต้องเลี้ยงดูบุตรหลานหรือดูแลผู้สูงอายุโดยลำพัง

11. ชดเชยและควบคุมราคาสินค้าในชีวิตประจำวัน เช่น ค่าอาหาร ค่าเดินทาง ค่าน้ำมัน ฯลฯ ที่ราคาสูงมากในปัจจุบัน

หลังจากเสร็จกิจกรรมที่ทำเนียบ เวลา 13.00 น. สหภาพคนทำงานเดินทางไปยื่นข้อเรียกร้องต่อที่รัฐสภา เกียกกายด้วยเพื่อยื่นหนังข้อเรียกร้องถึงคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปี โดยมีอรรถกร ศิริลัทยากร สมาชิกพรรคพลังประชารัฐ เลขา กมธ.เป็นผู้รับ

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท