Skip to main content
sharethis

วงเสวนาเรื่องเสรีภาพทางวิชาการในประเทศไทยเผย นักศึกษา, อาจารย์, พนักงานมหาวิทยาลัยไม่ถูกปกป้องเสรีภาพทางความคิด การดำเนินคดีสร้างบรรยากาศความกลัว ระบบเลื่อนตำแหน่งทางวิชาการยังรวมศูนย์โดยผู้ทรงคุณวุฒิ และไม่ให้ค่ากับวิทยานิพนธ์ปริญญาเอก ทำให้เกิดการผูกขาดความรู้

11 มิ.ย. 2564 มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช (มสธ.) สาขารัฐศาสตร์ จัดงานเสวนาออนไลน์ในหัวข้อ “On Academic Freedom in Thailand” โดยมีผู้ร่วมเสวนา คือ ไทเรล ฮาเบอร์คอร์น อาจารย์ประจำภาควิชาภาษาและวัฒนธรรมเอเชีย มหาวิทยาลัยวิสคอนซิน แมดิสัน และพัทธจิต ตั้งสินมั่นคง จากคณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยวาเซดะ ดำเนินรายการโดยขจรศักดิ์ สิทธิ และณิชภัทร์ กิจเจริญ อาจารย์ประจำสาขารัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช

ไทเรลชี้ นักศึกษา-อาจารย์-พนักงานมหาวิทยาลัย ไม่ถูกปกป้องเสรีภาพทางความคิด

ในงานเสวนาอภิปรายถึงปัญหาและอุปสรรคที่กำลังเกิดขึ้นในวงวิชาการไทย โดยไทเรลกล่าวถึง 3 ประเด็นสำคัญที่เป็นอุปสรรคในโลกทางวิชาการที่ไม่ได้เกิดขึ้นเฉพาะในประเทศไทยแต่ที่อื่นก็ประสบปัญหาเช่นกัน 

ประเด็นแรก ไทเรลยกประสบการณ์ส่วนตัว เช่น การได้รับจดหมายข่มขู่หรือจดหมายตำหนิ เพราะมีคนบางส่วนไม่เห็นด้วยกับเนื้อหาการสอนในบางรายวิชาที่ไทเรลเป็นผู้สอน โดยไทเรลย้ำว่า ไม่ว่าจะเขียนหรือสอนเกี่ยวกับการเมือง หรือ แม้กระทั่งการตั้งคำถามกับสถาบันทางการเมืองที่กุมอำนาจอยู่ ย่อมมีคนไม่เห็นด้วยอยู่เสมอ แต่คำถาม คือ ความไม่เห็นด้วยเหล่านี้เป็นอุปสรรคต่อเราแค่ไหน? และคำถามที่สำคัญ คือ มหาวิทยาลัยหรือสถาบัน มีการตอบสนองต่อปัญหาเหล่านั้นอย่างไร?

ในขณะที่ประเด็นที่สอง คือ เมื่อพูดถึงเสรีภาพทางวิชาการก็ควรพูดถึงเสรีภาพทางความคิด เพราะนักศึกษาหรือคนอื่นที่อยู่ในมหาวิทยาลัย ทั้งอาจารย์ ไปจนถึงพนักงานมหาวิทยาลัย ไม่ค่อยได้รับสิทธิพิเศษในการปกป้องเสรีภาพทางความคิด ทั้งที่ทุกคนในสังคมควรมีเสรีภาพทางความคิด

ประกอบกับสถานการณ์ในประเทศไทย ไทเรลมองว่า ผู้มีอำนาจในไทยไม่ค่อยพอใจกับเสรีภาพดังกล่าว เห็นได้จากสถิติของศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนที่รายงานว่า ตั้งแต่กลางปีที่แล้วมี 679 คนที่ถูกดำเนินคดี เพราะเข้าร่วมการชุมนุมโดยสันติ และอีกอย่างน้อย 97 คนกำลังโดนคดีตามมาตรา 112 มีคนจำนวนมากถูกดำเนินคดี เพราะแสดงความคิดเห็นที่แตกต่าง

ไทเรลมองว่า ปรากฎการณ์ดังกล่าวไม่ได้ส่งผลแค่ต่อคนที่กำลังถูกดำเนินคดี หากแต่ส่งผลต่อทั้งมหาวิทยาลัยและสังคมโดยรวมด้วย เพราะถ้าเราอยากสร้างความรู้ให้คนรุ่นใหม่ การถกเถียงต้องสามารถกระทำได้โดยเฉพาะในห้องเรียน

ประเด็นสุดท้าย คือ ในสถานการณ์แบบนี้วงวิชาการจะรับหรือต่อต้านสถานการณ์นี้ได้อย่างไร ไทเรลมองว่า ต้องต่อต้านด้วยการเขียน การสอนที่ตรงไปตรงมาและต้องตั้งคำถามกับสิ่งที่เกิดขึ้นเช่นกัน

ไทเรลยกงานเขียนของ นิธิ เอียวศรีวงค์ ในมติชนสุดสัปดาห์ นิธิกล่าวว่า การจำกัดเสรีภาพวิชาการในปัจจุบันนั้น สาเหตุเกิดจากความรู้และระบบความรู้ที่ครอบงำสังคมไทยกำลังเสื่อมสลายอย่างไม่มีทางกอบกู้ได้ เสาหลักของความรู้และระบบความรู้หมดพลังที่จะปรับตัวต่อไป จึงหันไปใช้ความรุนแรง ความอยุติธรรม การปลุกปั้นความเกลียดชัง เป็นต้น เพื่อทำให้ไม่มีความปลอดภัยใดหลงเหลืออยู่ ทั้งในด้านความคิดใหม่ การตั้งคำถามใหม่ การให้คำตอบใหม่ และ การมองหาทางเลือกใหม่ไทเรลมองว่า ทั้งสี่อย่างที่นิธิกล่าวถึงล้วนเป็นสิ่งที่มีความจำเป็นอย่างยิ่งในวงวิชาการ

พัทธจิตชี้ จำกัดเสรีภาพทางวิชาการได้ด้วยการสร้างความกลัว-ขวางการเลื่อนตำแหน่ง

ในขณะที่พัทธจิต ตั้งสินมั่นคง มองว่า การทำความเข้าใจ “การจำกัดเสรีภาพทางวิชาการ” สามารถเข้าใจได้ใน 2 มิติ มิติแรก คือ การจำกัดเสรีภาพทางวิชาการ โดยการใช้อำนาจดิบ อำนาจศาล ในการ “เชือดไก่ให้ลิงดู” รวมทั้งการสร้างบรรยากาศความกลัวให้นักวิชาการไม่กล้าเสนอความคิดใหม่ๆ ต่อหัวข้อที่มีความละเอียดอ่อน ซึ่งอาจท้าทายกลุ่มอำนาจบางกลุ่ม การจำกัดเสรีภาพวิชาการในคำนิยามนี้เป็นมิติที่หลายคนคุ้นเคยและมีการถกเถียงกันมานาน

ในขณะที่มิติที่สอง เป็นมิติที่สำคัญมาก แต่หลายคนอาจมองไม่เห็นว่าเป็นปัญหา เพราะชินชากับปัญหามานาน คือ การลิดรอนเสรีภาพทางวิชาการโดยระบบโครงสร้างที่มีลักษณะรวมศูนย์ โดยใช้เงื่อนไขชีวิตการทำงานและการเลื่อนตำแหน่งเป็นตัวจำกัดเสรีภาพในการแสดงออก

พัทธจิตเสนอข้อมูลเชิงสถติที่เปรียบเทียบสัดส่วนตำแหน่ง ศาสตราจารย์ระหว่างไทย, ญี่ปุ่น, และ สหรัฐอเมริกา พบว่า ไทยมีจำนวนศาสตราจารย์ในระบบจำนวน 2% ของบุคลากรการศึกษาในระดับมหาวิทยาลัยทั้งระบบ มีลักษณะเป็นยอดแหลมบนปีระมิด ในขณะที่ ญี่ปุ่นและอเมริกา ศาสตราจารย์กลับเป็นตำแหน่งที่มีมากที่สุดในระบบ มีลักษณะเป็นปีระมิดด้านกลับ ในญี่ปุ่นมีศาสตราจารย์จำนวน 37% และสหรัฐอเมริกามี 22% ของบุคลากรทั้งระบบ คำถามที่ตามมา คือ ทำไม การจะมีตำแหน่ง ผศ., รศ., และ ศ. ในไทย ถึงเคี่ยวเข็ญยากเย็น ใช้เวลาและความอดทนกว่าประเทศพัฒนาแล้วหลายเท่าตัว

พัทธจิตระบุว่า ผู้ที่อยากสอนในระดับมหาวิทยาลัย ทุกคนจะเริ่มจากการเป็นอาจารย์ หลังจากสะสมประสบการณ์และผลงานไปได้พักหนึ่ง ถึงมีสิทธิ์ยื่นขอ ผศ. ซึ่งการประเมินดูการสอน กับ การวิจัย

การสอบสอนจะให้บุคลากรภายในหรือนักศึกษาประเมิน ขณะที่การประเมินงานวิจัยค่อนข้างพิเศษ โดยส่งบทความให้ "กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ" (readers) 3-5 คนอ่าน ซึ่งตามกฎแล้ว reader เหล่านี้ต้องตำแหน่งสูงกว่าตนเอง แม้ว่าจะได้รับการตีพิมพ์จากวารสารต่างประเทศ ก็ต้องให้ reader ในไทยอ่านอีกครั้ง

ดังนั้น การที่ตำแหน่งของคนที่จะปีนขึ้นไป ขึ้นอยู่กับวิจารณญาณของผู้ทรงคุณวุฒิไม่กี่คน นั่นแปลว่า หากรักจะก้าวหน้า คุณไม่ควรเขียนวิจารณ์งาน ไม่ควรเป็นศัตรูกับคนข้างบน ไม่ควรมีจุดยืนทางการเมืองที่แตกต่าง อย่าวิจารณ์รัฐบาล อย่าแตะหัวข้อละเอียดอ่อน และนั่นก็แปลว่า หากรักจะก้าวหน้า คุณต้อง “อยู่เป็น” ในระบบอุปถัมภ์ที่ให้ความสำคัญกับระบบอาวุโส บารมี และบุญคุณ ใช่หรือไม่?

พัทธจิตยังตั้งคำถามว่า การสร้างองค์ความรู้มันควรจะเป็นการหักล้างหรือเพิ่มเติมความรู้หรือทฤษฎีที่มีมาแต่เดิม ไม่ใช่หรือ?

นอกจากนี้ พัทธจิตยังเสริมอีกว่า บ่อยครั้งที่เราจะได้ยินข่าวว่าอาจารย์รุ่นเด็ก ๆ ต้องทำงานสอนแทนบุคลากรตำแหน่งสูงๆ จนบางทีก็ไม่มีเวลาผลิตผลงาน สุดท้ายก็ถูกเชิญให้ออก หรือ บางครั้งอาจารย์เด็กๆ ก็ต้องเป็น “มือปืนรับจ้าง” เขียนงานวิชาการ เขียนตำราแทนอาจารย์ที่อยู่ข้างบน โดยไม่ได้มีชื่อในฐานะผู้เขียนร่วม

ผลที่ตามมา คือ จำนวนโควต้าการเป็น ศ.  ของคนบนยอดปีระมิดช่างมีน้อยนิด เมื่อตำแหน่งได้มาอย่างยากเย็น แน่นอน เราไม่อยากจะแบ่งโควต้านี้กับใคร เราก็จะได้ยินข่าวบ่อยครั้งที่คนที่ปีนไปถึงข้างบน พอขึ้นไปได้แล้วก็ “ชักบันไดหนี” ด้วยการออกกฎเกณฑ์ที่ไม่ realistic ทำให้การไต่ขึ้นบันไดของคนด้านล่างนั้นยากแสนยาก เช่น การผลิตผลงานลงวารสารระดับโลกปีละชิ้น ในขณะที่ทุนวิจัยก็มีให้อย่างจำกัดจำเขี่ย

วงวิชาการไทยไม่ให้ค่าวิทยานิพนธ์ปริญญาเอก

อีกประเด็นที่พัทธจิตกล่าวถึง คือ การที่วงวิชาการไทยไม่ให้ค่า ไม่ให้คะแนนกับงานวิทยานิพนธ์ปริญญาเอก ไม่นับเป็นผลงานวิชาการในการขอ ผศ. โดยพัทธจิตกล่าวว่า วิทยานิพนธ์ ป.เอก อาจจะเป็นงานที่ดีที่สุด และตกตะกอนที่สุดแล้วในชีวิตของนักวิชาการคนนึง เพราะเป็นงานที่เราทำงานกับมันหลายปี แต่วงการวิชาการไทยไม่นับสิ่งนี้เป็นคะแนน เลยไม่เกิดการตีพิมพ์วิทยานิพนธ์เป็นหนังสือ และทำให้เรามีผลงานทางวิชาการจำนวนจำกัดมากๆ ออกสู่ตลาดสากล ทั้งที่ถ้านับสิ่งนี้เป็นคะแนนด้วย เราคงได้เห็นหนังสือภาษาอังกฤษจากนักเขียนคนไทยวางขายอยู่บน amazon และบนชั้นในห้องสมุดของมหาลัยทั่วโลกมากกว่านี้และสังคมไทยคงได้อ่านงาน ป.เอก ดีๆ ที่มีคุณค่าต่อการพัฒนาสังคมมากกว่านี้

ในขณะที่ระบบของญี่ปุ่นนั้น พัทธจิตชี้ให้เห็นว่า การที่จำนวน ศ. ในญี่ปุ่นมี 37% หรือคิดเป็นสัดส่วนที่มากที่สุดในระบบ การมี ศ. ในระบบเยอะๆ หมายความว่า การเป็น ศ. คือ บันไดขั้นบนสุดที่เราจะเดินขึ้นไปถึงไม่ช้าก็เร็ว หากผลิตงานวิชาการออกมาปีละ 1-2 ชิ้นและตั้งใจสอนอย่างสม่ำเสมอ เราจะไปถึงบันไดขั้นบนสุดนี้ในช่วง 30 ปลาย ๆ หรือ 40 ต้นๆ การเป็น ศ. คือตำแหน่งที่มาคู่กับจำนวนและคุณภาพของผลงาน 

“ไม่ใช่รางวัลตอบแทนชัยชนะของการฟาดฟันกับใคร หรือรางวัลปลอบใจของการอยู่เป็น” พัทธจิตย้ำ

เพิ่มจำนวนศาสตราจารย์ลดการผูกขาดความรู้

ประเด็นสุดท้าย พัทธจิตยกข้อดีของการมี ศาสตราจารย์ (ศ.) จำนวนมากว่า หนึ่ง เป็นการเสริมพลังนักวิชาการให้กล้าคิดกล้าพูด มั่นใจในการพูดความคิดของตัวเองออกมามากขึ้น เมื่อนักวิชาการไม่ได้ถูกระบบกดทับ เมื่อทุกคนมั่นใจที่จะพูดและส่งเสียง ไม่ต้องกลัวว่าการพูดสิ่งใด จะไปทับเส้นใคร จะทำให้ความคิดเห็นหลักของสังคมไม่ได้ผูกขาดกับคนจำนวนน้อย เมื่อเรามีเสียงที่หลากหลายในสังคม นี่เป็นเครื่องสะท้อนประชาธิปไตยที่แข็งแรง 

สอง เมื่อมี ศ. ในระบบมากพอ จำนวนความต้องการตำแหน่งไม่ได้สูงกว่าปริมาณตำแหน่งที่จัดหาให้มาก ความศักดิ์สิทธิ์ของคำพูดของ ศ. ก็จะลดลง อีโก้ที่จะมาพร้อมกับตำแหน่งก็คงจะลดลง เราคงจะได้เห็นบรรยากาศที่คนฟังกันที่เนื้อหา หาใช่บูชากันเพราะตำแหน่งนำหน้าชื่อ

สาม เมื่อตำแหน่ง ศ. ไม่ได้เป็นตำแหน่งที่ไกลเกินเอื้อม เราจะได้เห็นบรรยากาศที่มองว่า คนทุกคนเท่ากันมากกว่านี้ การเป็น ศ. ต้องการความรู้และประสบการณ์มากก็จริง แต่มันไม่ควรจะถูกมองว่าสูงกว่าการเป็นเจ้าของบริษัท การเป็นเชฟ การเป็นคนขับรถประจำทาง ที่ต้องการความรู้ ประสบการณ์ และความรับผิดชอบต่อชีวิตคนมากเช่นกัน เพราะสุดท้ายแล้ว สังคมจะขับเคลื่อนไปข้างหน้าได้อย่างแข็งแรง ก็ต่อเมื่อคนในสังคมเคารพ ให้เกียรติในศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ให้ความสำคัญและพึ่งพากันและกันอย่างเท่าเทียม ไม่ควรมีใครควรถูกมองว่าสูงกว่าคนกลุ่มไหน

ท้ายที่สุด พัทธจิตสรุปว่า เสรีภาพทางวิชาการไทย ไม่ได้ถูกคุกคามแค่เพียงอำนาจดิบ จากการฟ้องร้อง ความกลัวเพียงเท่านั้น หากแต่ข้อจำกัดเสรีภาพทางวิชาการยังผูกอยู่กับระบอบการปกครองที่รวมศูนย์อำนาจ ผูกกับปัญหาการเมืองที่เป็นประชาธิปไตยแค่ในรูปแบบ ผูกกับวัฒนธรรมศักดินา ทำให้ระบบการประเมินตำแหน่งจากคนที่อยู่ด้านบนปีระมิดเปิดพื้นที่ให้กับระบบอาวุโส ระบบอุปถัมภ์ ทำให้พื้นที่ทางวิชาการกลายเป็นพื้นที่แห่งการสร้างบารมีและการทวงบุญคุณ ซึ่งสิ่งนี้แหละเป็นเงื่อนไขชีวิตการทำงานที่จำกัดเสรีภาพทางวิชาการ และเป็นอุปสรรคขัดขวางการพูดสิ่งที่ควรพูด และตั้งคำถามที่ควรถามต่อสังคม

ต้องค้นคว้าเพื่อเขียนประวัติศาสตร์ของประชาชน

ประเด็นช่วงท้ายของการเสวนา มีการตั้งคำถามถึง Academic freedom ว่าเชื่อมโยงกับงานเขียนอย่างไร? 

ไทเรลอธิบายว่า ถ้าดูจากวิกฤตเสรีภาพทางวิชาการในประเทศไทย แน่นอนว่าปากกามีผล เพราะผู้มีอำนาจกลัว ผู้มีอำนาจในไทยก็รู้ตัวนานแล้วว่าปากกามีพลัง ดูได้จากงานเขียนของจิตร ภูมิศักดิ์ เพราะจิตรกล่าวไว้ว่า สิ่งที่ศักดินาไม่ยอมให้คนที่ไม่ใช่เจ้าทำ คือ เขียนประวัติศาสตร์กับเรียนกฎหมาย

ถ้าย้อนกลับมาดูปัจจุบันก็จะพบว่าประเทศไทยยังเป็นแบบนั้น ดังจะเห็นได้จากการต่อสู้กันในการเขียนประวัติศาสตร์หรือการใช้กฎหมาย สำหรับนักวิชาการไม่ใช่แค่บุคลากรอย่าง อาจารย์ หรือนักศึกษา เท่านั้น แต่คือคนที่กำลังเรียน หรือเขียนอยู่ ไม่ว่าจะอยู่ในหรือนอกรั้วมหาวิทยาลัยก็เป็นปัญญาชนเหมือนกัน ดังนั้นสิ่งที่ต้องทำ คือต้องเขียน ต้องค้นหาข้อมูลที่จะสะท้อนถึงประวัติศาสตร์ที่ไม่ใช่ประวัติศาสตร์ของผู้มีอำนาจ แต่สิ่งที่สำคัญ คือ ต้องเขียนประวัติศาสตร์ของประชาชน นั้นคือสิ่งสำคัญ ไม่ใช่แค่ประวัติศาสตร์ แต่รัฐศาสตร์หรือสังคมวิทยาก็ควรเป็นศาสตร์เพื่อประชาชน

เรื่องเล่าทางประวัติศาสตร์สร้างความชอบธรรมทางอำนาจ

หัวข้อสุดท้ายของการเสวนา คือดูประเทศไทยจากประสบการณ์ของต่างประเทศ เพื่อให้เห็นจุดที่เรายืนอยู่ในปัจุบันถ้าเทียบกับประเทศอื่น เช่น เทียบกับสาธารณรัฐประชาชนจีน โดยเฉพาะในเรื่องของเสรีภาพทางวิชาการ

ในหัวข้อนี้ พัทธจิตอธิบายว่า ลักษณะร่วมกันอย่างหนึ่งของไทยและจีน คือ การที่สถาบันอำนาจนั้นไม่มีส่วนยึดโยงกับประชาชน ผลที่ตามมา คือ ความชอบธรรมทางอำนาจมาจากการสร้างเรื่องเล่าทางประวัติศาสตร์ขึ้นมา เช่น เรื่องเล่าของประเทศจีนก็จะวางอยู่บนหลักที่มีพรรคคอมมิวนิสตจีนเป็นศูนย์ คือ พรรครบชนะญี่ปุ่นในช่วงสงครามโลก และต่อมาก็รบชนะก๊กมินตั๋ง ส่งผลให้พรรคมีความชอบธรรมที่จะปกครองประเทศจีน ผลที่ตามมา คือ การศึกษาอะไรก็ตามที่เปลี่ยนไปจากเส้นเรื่องดังกล่าวกลายเป็นสิ่งต้องห้าม เช่น กรณีของเหตุการณ์เทียนอันเหมิน และการปฏิวัติวัฒนธรรม 

กรณีของบุคคลในประวัติศาสตร์ก็กลายมาเป็นข้อจำกัดในการศึกษาเช่นกัน อาทิ กรณีของวัง จิงเว่ย (Wang Jingwei) ซึ่งเป็นรัฐบาลหุ่นเชิดให้แก่ญี่ปุ่นในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ก็ถูกทำให้กลายเป็นบุคคลขายชาติ และ ผู้ทรยศ ในมุมมองของรัฐบาลจีน ในขณะที่วงวิชาการภายนอกเช่น ญี่ปุ่น หรือ ตะวันตก มีการถกเถียงกันว่า วัง จิงเว่ย ไม่ใช่คนขายชาติแต่สิ่งที่วัง จิงเว่ยพยายามทำ คือ การรักษาประเทศจีนในอีกรูปแบบหนึ่ง การที่รัฐบาลจีนวางตัววัง จิงเว่ย ว่าเป็นคนขายชาติส่งผลให้การศึกษาเกี่ยวกับวัง จิงเว่ยต้องวางอยู่บนกรอบของคนทรยศ

ในขณะที่นักวิชาการชาวจีนที่ไปสร้างผลงานในต่างประเทศ เช่น นักวิชาการด้านความสัมพันธ์ในเอเชียตะวันออก ชื่อ Yuan Keqin ก็ถูกรัฐบาลจีนควบคุมตัวทันทีภายหลังกลับไปสู่ประเทศจีน นอกจากนี้ยังมีนักวิชาการหลายคนที่ถูกรัฐบาลจับกุมในข้อหา เช่น ถูกกล่าวหาว่าเป็นสายลับ ดังนั้นโดยภาพรวมอาจถือได้ว่า ประเทศไทยยังมีเสรีภาพทางวิชาการมากกว่าจีน

นัธทวัฒน์ สมสุรวาณิชย์ ผู้เขียนข่าวชิ้นนี้เป็นนักศึกษา คณะรัฐศาสตร์ ชั้นปีที่ 3 มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ปัจจุบันฝึกงานกับกองบรรณาธิการข่าวประชาไท

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net