ภาคปชช. ถาม กนศ. ทำไมเงียบ ระบุกล้าเสนอ ครม.เข้า CPTPP เหตุใดไม่กล้าแถลง

FTA WATCH ตั้งคำถามกนศ. ทำไมเงียบ ระบุกล้าเสนอ ครม.เข้า CPTPP เหตุใดไม่กล้าแถลง ขณะที่ 'จิราพร เพื่อไทย' จี้รัฐบาลเปิดผลการศึกษาและประชาพิจารณ์ก่อนเจรจาความตกลง

 

24 มิ.ย.2564 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 23 มิ.ย.ที่ผ่านมา กลุ่มศึกษาข้อตกลงเขตการค้าเสรีภาคประชาชน(FTA WATCH) ตั้งคำถาม ทางเฟซบุ๊กแฟนเพจ 'FTA Watch' ถึงการประชุมคณะกรรมการนโยบายเศรษฐกิจระหว่างประเทศ (กนศ.) ที่มี ดอน ปรมัตถ์วินัย รองนายกฯและรัฐมนตรีต่างประเทศ เป็นประธาน ประชุมเพื่อพิจารณาผลการทำงานหลังคณะรัฐมนตรี (ครม.) ให้ศึกษาเงื่อนไข ข้อจำกัดและการปรับตัวจากความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก CPTPP เสร็จสิ้นตั้งแต่เมื่อเย็นวันอังคารที่ 22 มิ.ย.ที่ผ่านมา

โดย FTA Watch ตั้งคำถามว่า เหตุใดจึงไม่มีการแถลงผลการประชุม ? จริงหรือไม่ที่ กนศ.สรุปเสนอให้คณะรัฐมนตรียื่นหนังสือแสดงเจตจำนงขอเข้าร่วม CPTPP โดยไม่ได้ระบุประเด็นใดเป็นประเด็นอ่อนไหวที่ต้องเจรจาตั้งข้อสงวนให้ได้ ซึ่งต่างจากรายงานของคณะกรรมาธิการวิสามัญของสภาผู้แทนราษฎรที่ระบุให้ตั้งข้อสงวน อาทิ ไม่เข้าร่วมอนุสัญญา UPOV1991, ขอสงวนสิทธิ์ในการปรับใช้หรือคงไว้ซึ่งมาตรการใดๆเพื่อวัตถุประสงค์ด้านนโยบายสาธารณะ นโยบายสุุขภาพ และนโยบายทางสังคม และยกเว้นสิทธิในการกำกับดูแลของรัฐสำหรับมาตรการสาธารณสุขโดยเฉพาะกรณีการใช้สิทธิเหนือสิทธิบัตรยาและเวชภัณฑ์ที่ไม่ใช่ยา มาตรการควบคุมยาสูบและเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และตั้งข้อสงวนสำหรับรัฐวิสาหกิจที่มีภารกิจสนับสนุนนโยบายรัฐ อาทิ องค์การเภสัชกรรม และการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ 

"จริงหรือไม่ที่ประธาน กนศ. สรุปว่า ทุกอย่างสามารถจัดการได้ หน่วยงานไหนมีปัญหาแสดงว่า ไม่เข้าใจ และไม่มีการเตรียมการทำแผนของบประมาณเพื่อการปรับตัวตามที่ให้หน่วยงานต่างๆได้ไปดำเนินการมา จับตาบทบาทของพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ทั้งในฐานะหัวหน้าทีมเศรษฐกิจตัวจริง และในฐานะนายกรัฐมนตรี จับตาการประชุมครม.สัปดาห์นี้ หรือสัปดาห์ที่กำลังจะมาถึง" FTA Watch โพสต์ถามพร้อมเชิญชวนใหญ่จับตา

จิราพร สินธุไพร ส.ส.ร้อยเอ็ด ในฐานะรองโฆษกพรรคเพื่อไทย

'จิราพร เพื่อไทย' จี้รัฐบาลเปิดผลการศึกษา CPTPP ประชาพิจารณ์ก่อนเจรจาความตกลง

ขณะที่กรุงเทพธุรกิจรายงานว่า จิราพร สินธุไพร ส.ส.ร้อยเอ็ด ในฐานะรองโฆษกพรรคเพื่อไทย กล่าวถึงประเด็นใหญ่ที่ถูกข่าวการแก้รัฐธรรมนูญกลบไปคือ กรณีที่คณะรัฐมนตรีจะพิจารณาผลการศึกษาความตกลง CPTPP ของคณะกรรมการนโยบายเศรษฐกิจระหว่างประเทศ (กนศ.) และจะมีมติว่าไทยควรเจรจาเข้าร่วมความตกลงดังกล่าวหรือไม่

อย่างไรก็ดี พรรคเพื่อไทยได้เคยเสนอแนะต่อรัฐบาลว่า ก่อนที่จะนำผลการศึกษา CPTPP เข้าสู่การพิจารณาของคณะรัฐมนตรีเพื่อเคาะเป็นนโยบาย ขอให้รัฐบาลได้กำกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการเปิดเผยผลการศึกษาของภาครัฐที่ถูกต้องและได้รับการยอมรับจากทุกฝ่ายรวมถึงข้อมูลจากภาคประชาสังคมจากหลากหลายแหล่ง ให้ประชาชนจากทุกภาคส่วนและทุกภูมิภาคทั่วประเทศได้มีส่วนร่วมในการแสดงความเห็น ซึ่งถือเป็นขั้นตอนที่สำคัญมาก เพราะประชาชนคือผู้มีส่วนได้เสียโดยตรงต่อความตกลงระหว่างประเทศฉบับนี้ แต่ปรากฎว่าที่ผ่านมาทางหน่วยงานที่รับผิดชอบกลับเน้นการจัดกิจกรรมแลกเปลี่ยนความเห็นกับสื่อมวลชน มีเพียงหน่วยงานภาครัฐ ตัวแทนนักวิชาการเป็นผู้ให้ข้อมูล

“การดำเนินการที่ผ่านมาของรัฐบาลพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา เกี่ยวกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญและความตกลง CPTPP มีสิ่งหนึ่งที่เหมือนกันคือความไม่จริงใจของรัฐบาลในการดำเนินการซึ่งการแก้รัฐธรรมนูญถูกเตะถ่วงและเบี่ยงเบนประเด็นทั้งๆ ที่เป็นวาระเร่งด่วนของประเทศ ในขณะที่การดำเนินการเกี่ยวกับ CPTPP มีปัญหาเรื่องความโปร่งใส ทำให้ประชาชนแคลงใจในข้อมูลของรัฐบาลมาโดยตลอด หากรัฐบาลมีความจริงใจต่อประชาชนและมั่นใจว่าความตกลง CPTPP มีผลดีมากกว่าผลเสียจริง ก็ขอให้ดำเนินการเปิดเผยผลการศึกษาของ กนศ. ร่วมกับข้อมูลจากภาคประชาสังคมให้ประชาชนได้มีส่วนร่วมแสดงความคิดเห็น ก่อนที่จะมีการตัดสินใจว่าควรจะเข้าร่วมการเจรจาความตกลงนี้หรือไม่ จะทำให้ไทยก้าวอย่างรอบคอบและเกิดประโยชน์ต่อส่วนรวมมากที่สุด” จิราพร กล่าว

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท