Skip to main content
sharethis

กระชับความร่วมมือ ‘ไทย-อิสราเอล’ ส่งเสริมสิทธิสวัสดิการแรงงานไทย

24 มิ.ย. 2564 เวลา 09.30 น. ณ ห้องสีงาช้าง ตึกไทยคู่ฟ้า ทำเนียบรัฐบาล นายเมอีร์ ชโลโม (H.E. Mr. Meir Shlomo) เอกอัครราชทูตรัฐอิสราเอลประจำประเทศไทย เข้าเยี่ยมคารวะพล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม ในโอกาสพ้นจากหน้าที่ โดยนายกรัฐมนตรี กล่าวขอบคุณเอกอัครราชทูตฯ ที่ได้ทำคุณประโยชน์ในการส่งเสริมความสัมพันธ์ไทย- อิสราเอล ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมาได้อย่างดียิ่ง ยินดีที่ความสัมพันธ์เป็นไปอย่างราบรื่นและเกิดความร่วมมือกันในด้านต่าง ๆ ก้าวหน้ามาตามลำดับ และเชื่อมั่นว่าทั้งสองประเทศยังมีสาขาความร่วมมือที่มีศักยภาพอีกมาก จึงขอให้สานต่อความร่วมมือกันอย่างใกล้ชิด ทั้งในด้านการค้า แรงงาน ตลอดจนวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม ซึ่งไทยพร้อมจะร่วมมือกับอิสราเอลเพื่อผลักดันความสัมพันธ์ระหว่างสองประเทศให้ก้าวหน้าต่อไป และโดยเฉพาะในช่วงสถานการณ์โควิด-19

นายกฯ ยังได้ชื่นชมศักยภาพของอิสราเอลที่สามารถจัดการสถานการณ์การแพร่ระบาดได้อย่างมีประสิทธิภาพและสามารถฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 แก่ประชาชนได้อย่างรวดเร็ว สอดคล้องกับนโยบายของไทยที่ให้ความสำคัญกับการฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 เช่นเดียวกัน

ด้านเอกอัครราชทูตฯ กล่าวขอบคุณรัฐบาลไทยที่ให้การต้อนรับอย่างอบอุ่นตลอดระยะเวลาของการทำงานและเป็นเกียรติอย่างมากที่ได้มาดำรงตำแหน่งเอกอัครราชทูตใน ประเทศไทย เป็นประเทศแรก พร้อมยืนยันว่าจะสานต่อความสัมพันธ์และความร่วมมือทวิภาคีให้เพิ่มมากขึ้น

ทั้งนี้ เอกอัครราชทูตฯ เชื่อมั่นว่ารัฐบาลไทยจะสามารถบริหารจัดการสถานการณ์โควิด-19 ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ด้วยศักยภาพทางสาธารณสุข พร้อมชื่นชมที่นายกรัฐมนตรีสร้างความเชื่อมั่นให้แก่ประชาชนว่าจะสามารถเปิดประเทศได้ภายใน 120 วัน ถือเป็นโอกาสในการฟื้นฟูความร่วมมือในอนาคตภายหลังสถานการณ์โควิด-19 คลี่คลาย

อย่างไรก็ตามทั้งสองฝ่ายเห็นพ้องที่จะขยายความร่วมมือระหว่างกันให้ครอบคลุมมากยิ่งขึ้น ได้แก่ ด้านแรงงาน อิสราเอลมีแนวทางที่จะส่งเสริมสิทธิและสวัสดิการของแรงงานไทยและประโยชน์ของนายจ้าง โดยเฉพาะแรงงานไทยในภาคการเกษตร ซึ่งทางเอกอัครราชทูตฯ มีส่วนสำคัญในการผลักดันความตกลงว่าด้วยการจ้างแรงงานไทยทำงานชั่วคราวในภาคเกษตรในรัฐอิสราเอลระหว่างไทยกับอิสราเอลฉบับใหม่ ด้านเศรษฐกิจ นายกรัฐมนตรีเชื่อมั่นว่า การส่งเสริมการค้าการลงทุนเป็นหนึ่งในวาระที่สำคัญต่อการฟื้นฟูเศรษฐกิจภายหลังโควิด-19 ซึ่งไทยพร้อมที่จะเพิ่มปริมาณการค้าระหว่างกัน

พร้อมกันนี้ อิสราเอลยินดีที่จะแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ระหว่างกันเพื่อนำไปประยุกต์ใช้ โดยเฉพาะในด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม การเกษตร การแปรรูปผลิตทางการเกษตร และการบริหารจัดการน้ำ รวมไปถึงนวัตกรรมต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง ซึ่งนายกรัฐมนตรีเน้นย้ำว่า ไทยพร้อมที่จะพัฒนาและส่งเสริมนวัตกรรมให้สอดรับกับยุค New normal ด้านวิชาการ ทั้งสองประเทศยินดีจะสานต่อความร่วมมือผ่านองค์กรความร่วมมือด้านการพัฒนาระหว่างประเทศของอิสราเอล (MASHAV) ผ่านการดำเนินโครงการต่าง ๆ เช่น การบริจาคโรงเรือนสำหรับปลูกพืชพร้อมระบบน้ำ (Hydroponic Greenhouses) ณ มหาวิทยาลัยขอนแก่น และเกาะสมุย เป็นต้น

นอกจากนี้เอกอัคราชทูตฯ ได้กล่าวถึงความสำคัญของการท่องเที่ยวว่า ชาวอิสราเอลส่วนใหญ่นิยมเดินทางมาท่องเที่ยวในไทยจำนวนมากทั้งก่อนและหลังการเกิดสถานการณ์โควิด-19 ซึ่งให้ความสนใจต่อโครงการภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์ (Phuket Sandbox) เป็นอย่างมาก

อย่างวไรก็ตามนายกรัฐมนตรีได้เชิญชวนให้นักท่องเที่ยวต่างชาติได้รับการฉีดวัคซีนครบแล้วสามารถเดินทางมายัง จ.ภูเก็ตได้ตามข้อกำหนด ซึ่งถือเป็นโครงการนำร่องที่มีแผนจะขยายไปยังแหล่งท่องเที่ยวอื่น ๆ เพิ่มเติม เช่น เกาะสมุย เกาะพงัน เกาะเต่า เป็นต้น

ที่มา: แนวหน้า, 24/6/2564

จับตาโควิดสายพันธุ์เดลตา พบมากในแรงงาน คาด 3-4 เดือนระบาดหนักในไทย

ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยา คลินิกภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์ข้อความถึงกรณี "การเปลี่ยนแปลงพันธุกรรมของไวรัสโควิด-19" โดยระบุว่า เมื่อวันที่ 22 มิ.ย. ได้ร่วมแถลงข่าวกับท่านอธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ เราได้มีการศึกษาการกลายพันธุ์ของไวรัสในประเทศไทย อาทิตย์ละหลายร้อยตัวอย่างซึ่งถือว่า เป็นตัวแทนของประเทศ

ในขณะเดียวกันที่ศูนย์เองก็สามารถทำได้อย่างรวดเร็วในเกือบทุกตัวอย่างหลายร้อยตัวอย่างเช่นเดียวกัน และมีจำนวนที่มากพอที่ได้ข้อมูลตรงกันว่า ขณะนี้ประมาณ 90 เปอร์เซ็นต์ของสายพันธุ์ที่ระบาดอยู่ในประเทศไทยเป็นสายพันธุ์อังกฤษ หรือสายพันธุ์ แอลฟา ส่วนน้อยประมาณ 10% เป็นสายพันธุ์อินเดียหรือเดลตา และประมาณเกือบ 1 เปอร์เซ็นต์เป็นสายพันธุ์แอฟริกาใต้ หรือ เบตา

สายพันธุ์เดลตา ที่พบส่วนใหญ่ยังพบในกลุ่มคนงาน ที่มีอายุน้อย แรงงานที่อยู่เป็นกลุ่มก้อน และสายพันธุ์เดลตา จะค่อยๆ เพิ่มขึ้นทีละน้อย นับตั้งแต่เริ่มพบมาเป็นเวลากว่าเดือน และคงจะใช้เวลาประมาณ 3-4 เดือน จึงจะมาเป็นไวรัสส่วนใหญ่ต่อไป

ดังนั้น การให้วัคซีนที่ใช้ในประเทศไทยในขณะนี้ยังมีประสิทธิภาพดี ในการป้องกันสายพันธุ์แอลฟา ส่วนในอนาคต การติดตามสายพันธุ์ มีความจำเป็นเพื่อปรับกลยุทธ์ในการป้องกันโรคให้เหมาะสมต่อไป

สายพันธุ์ที่กลัวว่าจะหลบหลีกวัคซีนได้มาก คือสายพันธุ์เบตา ขณะนี้ยังพบในวงจำกัดอยู่ในบริเวณภาคใต้ แต่เนื่องจากสายพันธุ์นี้มีการแพร่ระบาดได้ต่ำกว่าสายพันธุ์อื่น ความน่ากลัวของสายพันธุ์นี้ ที่จะระบาดอย่างกว้างขวางจึงน้อยลง

วัคซีนในปัจจุบันทุกบริษัททำมาจากสายพันธุ์ดั้งเดิม คือสายพันธุ์อู่ฮั่น และแน่นอนเมื่อมีสายพันธุ์เดลตาเกิดขึ้นแล้ว ในอนาคตก็คงจะมีสายพันธุ์ใหม่เกิดขึ้นอีก เป็นวงจรที่เปลี่ยนไปตามพันธุกรรมของ RNA ไวรัส และเชื่อว่าในปีหน้า จะมีวัคซีนใน Generation ที่ 2 เพื่อให้ตรงกับสายพันธุ์ที่คาดการณ์ว่าจะระบาดในปีหน้า เช่นเดียวกับวัคซีนไข้หวัดใหญ่ เพราะการเปลี่ยนแปลงสายพันธุ์ในวัคซีนจะต้องใช้เวลาอย่างน้อย 6 เดือน สำหรับวัคซีนทุกตัวที่จะใช้ในปีหน้า

เราต้องรีบให้วัคซีนเพื่อป้องกันเหตุการณ์ขณะนี้ให้เร็วที่สุด ถึงแม้ว่าไวรัสจะเปลี่ยนแปลงพันธุกรรม วัคซีนที่ใช้อยู่ก็ยังสามารถป้องกันได้แต่อาจจะมีประสิทธิภาพลดลงบ้าง อย่างน้อยก็ลดความรุนแรงของโรค และลดอัตราการเสียชีวิตลงได้อย่างแน่นอน

ที่มา: ไทยรัฐออนไลน์, 23/6/2564

สธ.-แรงงาน-สภากาชาดไทย พัฒนา อสต.สกัดโควิดในกลุ่มแรงงานต่างด้าว

เมื่อวันที่ 22 มิ.ย. 2564 ที่กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ กระทรวงสาธารณสุข จ.นนทบุรี นพ.ธงชัย กีรติหัตถยากร รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข และนพ.ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์ อธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ ร่วมลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ การบูรณาการการดำเนินงานพัฒนาอาสาสมัครสาธารณสุขในโรงงาน สถานประกอบการและชุมชน ร่วมกับนายนิยม สองแก้ว รองปลัดกระทรวงแรงงาน นายไพโรจน์ โชติกเสถียร อธิบดีกรมการจัดหางาน นายอภิญญา สุจริตตานันท์ อธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน พลโท นพ.อำนาจ บาลี ผู้อำนวยการสำนักงานบรรเทาทุกข์และประชานามัยพิทักษ์ สภากาชาดไทย และนางสุกานดา วรเชษฐบัญชา ผู้ช่วยผู้อำนวยการสำนักงานบริหารกิจการเหล่ากาชาด

นพ.ธงชัย กีรติหัตถยากร รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงแรงงาน และสภากาชาดไทย ได้ตระหนักถึงความสำคัญของอาสาสมัครต่างด้าวหรือ อสต.ที่ช่วยเพิ่มผลผลิตของประเทศ และช่วยเรื่องการส่งเสริมสุขภาพ เฝ้าระวัง ป้องกันควบคุมโรคและลดค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาล โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสถานการณ์การระบาดของโรคโควิด19 อสต.ได้แสดงบทบาทสำคัญในการช่วยให้งานเฝ้าระวัง ป้องกันโรค โควิด 19 ในกลุ่มแรงงานต่างด้าว ตลอดระยะเวลากว่า 1 ปี นับตั้งแต่วันที่ 17 เมษายน 2563 เป็นต้นมาเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ โดยสำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุขเป็นหน่วยงานหลักในการพัฒนาขับเคลื่อนการดำเนินงานแรงงานต่างด้าว โดยมอบหมายให้สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดเป็นผู้สนับสนุน ประสาน ติดตาม และสร้างเครือข่ายในการพัฒนา อสต.

ด้านนพ.ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์ อธิบดีกรม สบส. กล่าวว่า ในการพัฒนาศักยภาพ อสต. กรม สบส. รับผิดชอบเรื่องการกำหนดมาตรฐาน คุณภาพ ดำเนินการจัดทำพัฒนาหลักสูตรฝึกอบรม และฝึกอบรมให้กับ อสต.และอสม.ในโรงงานสถานประกอบการ และชุม พร้อมจัดทำแนวทางการดำเนินคู่มือชุดความรู้ สื่อประชาชน รวมถึงจัดทำระเบียบ หลักเกณฑ์ว่าด้วย อสต.และอาสาสมัครสาธารณสุขประจำโรงงาน/สถานประกอบการ เพื่อเฝ้าระวัง ป้องกันโรค และส่งเสริมสุขภาพให้กลุ่มแรงงาน ที่นำไปสู่การลดภาระค่าใช้จ่ายค่ารักษาพยาบาลของหน่วยบริการในการดูแลกลุ่มแรงงาน รวมถึงการช่วยให้เข้าถึงบริการสุขภาพพื้นฐานเพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตให้ดียิ่งขึ้น

ทั้งนี้ กรม สบส.ได้ส่งเสริมการพัฒนาศักยภาพ อสต.มาอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่ปี 2557 ในพื้นที่ 8 แห่ง โดยจัดทำหลักสูตรการอบรมครู ก. และ อสต.ทั่วไป พร้อมคู่มือต้นแบบการอบรม 4 ภาษา ได้แก่ ทั้งลาว เวียดนาม พม่า และกัมพูชา ปัจจุบันมีอสต. ที่ผ่านการอบรม แล้วจำนวน 6,001 คนทั่วประเทศ จากการลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือในครั้ง จะเป็นการบูรณาการการดำเนินงานอย่างเป็นรูปธรรม และขยายผล ให้ครอบคลุมทั่วประเทศ

นายนิยม สองแก้ว รองปลัดกระทรวงแรงงาน กล่าวว่า สำนักงานปลัดกระทรวงแรงงาน มีบทบาทในการส่งเสริม สนับสนุน ขับเคลื่อนการดำเนินงานพัฒนาอาสาสมัครสาธารณสุขในโรงงาน สถานประกอบการและชุมชน ในรูปแบบอาสาสมัครสาธารณสุขต่างด้าว (อสต.) และอาสาสมัครสาธารณสุขประจำโรงงาน สถานประกอบการ เพื่อขยายเครือข่ายด้านแรงงาน

นายไพโรจน์ โชติกเสถียร อธิบดีกรมการจัดหางาน ระบุว่า กรมการจัดหางาน เราได้ให้จัดหางานจังหวัด จัดหางานเขตพื้นที่ แนะนำ และเชิญชวน ส่งเสริม สนับสนุน นายจ้างและสถานประกอบการ จัดให้มี อสต. และอาสาสมัครสาธารณสุข ประจำโรงงาน หรือสถานประกอบการ กรณีที่เป็นแรงงานไทย พร้อมทั้งมีส่วนร่วมจัดฝึกอบรม อสต. และสอดส่องดูแลการปฏิบัติตามมาตรการป้องกันโควิด 19 ของแรงงานต่างด้าว และสนับสนุนการปฏิบัติงานของ อสต. ในการส่งเสริมสุขภาพ เฝ้าระวัง ป้องกันควบคุมโรคในสถานประกอบการอีกด้วย

ด้านนายอภิญญา สุจริตตานันท์ อธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน กล่าวว่า จากการแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 ที่ขยายเป็นวงกว้างทั้งในกลุ่มประชากรทั่วไป และกลุ่มแรงงาน กรมสวัสดิการและคุ้มครองที่มีภารกิจในการคุ้มครองแรงงานให้มีคุณภาพชีวิตทีดี การลงนามบันทึกข้อตกลงในครั้งนี้ ถือเป็นความร่วมมือแบบบูรณาการในการเฝ้าระวัง ป้องกัน ควบคุมโรคโควิด 19 ในรูปแบบของ อสต.สำหรับกลุ่มแรงงาน เป็นการพัฒนาคุณภาพชีวิตแรงงานให้ลูกจ้างทุกคนมีความปลอดภัยในการทำงาน และมีสุขภาพอนามัยที่ดี

พลโท นพ.อำนาจ บาลี ผู้อำนวยการสำนักงานบรรเทาทุกข์และประชานามัยพิทักษ์ สภากาชาดไทย กล่าวว่า สำนักบรรเทาทุกข์และประชานามัยพิทักษ์ จะดำเนินการสนับสนุน ให้ความรู้ ให้คำแนะนำ และร่วมพัฒนา อสต. สนับสนุนวัสดุอุปกรณ์ และเครื่องดำรงชีพตามจำเป็นในการพัฒนาและการปฏิบัติงานของ อสต. แรงงานต่างด้าว และ อาสาสมัครสาธารณสุขประจำโรงงาน เพื่อให้ทุกคนในผืนแผ่นดินไทยมีสุขภาพดีและมีคุณภาพชีวิตที่ดี โดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง ไม่ว่าเชื้อชาติใดสัญชาติใด ในศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์

นางสุกานดา วรเชษฐบัญชา ผู้ช่วยผู้อำนวยการสำนักงานบริการกิจการเหล่ากาชาด กล่าวเพิ่มเติมว่า เหล่ากาชาดจังหวัด และกิ่งกาชาดอำเภอ จะเป็นประสานหน่วยงานและสถานประกอบการในพื้นที่ ให้ความช่วยเหลือ สนับสนุนและร่วมพัฒนาอาสาสมัครสาธารณสุขต่างด้าว (อสต.) อาสาสมัครสาธารณสุขประจำสถานประกอบการแก่หน่วยงานในพื้นที่ที่มีการพัฒนาอาสาสมัครสาธารณสุขในโรงงาน สถานประกอบการและชุมชน

ที่มา: ผู้จัดการออนไลน์, 23/6/2564

เผยนายจ้างถูกเลือกปฏิบัติ-เรียกเก็บเงินตรวจ COVID-19 แรงงานข้ามชาติ

23 มิ.ย. 2564 นายอดิศร เกิดมงคล ผู้ประสานงานเครือข่ายองค์กรด้านประชากรข้ามชาติ (Migrant Working Group) กล่าวถึงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ในกลุ่มแรงงานข้ามชาติ และการเข้าถึงวัคซีนพบว่า ปัจจุบันมีแรงงานข้ามชาติติดเชื้อสะสม จำนวน 41,784 คน ( ณ วันที่ 15 มิ.ย.64) แบ่งเป็น เมียนมา 35,377 คน กัมพูชา 4,707 คน และลาว 1,700 คน โดยการแพร่ระบาดในระลอกที่สาม มีความรุนแรงและกระจายตัวออกเป็นวงกว้างของการระบาดมากกว่าทั้งสองระลอกที่ผ่านมา

"เฉพาะระลอกนี้มีแรงงานข้ามชาติติดเชื้อทั้งหมด 26,241 คน เป็นเมียนมา 20,163 คน กัมพูชา 4,478 คน และลาว 1,600 คน ซึ่งสาเหตุของการกระจายตัวส่วนหนึ่งมาจากถูกเลิกจ้างเพราะนายจ้างต้องปิดกิจการโดยเฉพาะในภาคบริการ เพราะวิกฤตโควิด หรือ ตามคำสั่งของศบค."นายอดิศรกล่าว

นายอดิศร กล่าวว่า สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคได้บีบให้แรงงามข้ามชาติเหล่านี้ต้องไปหางานทำที่อื่นเพื่อหาเลี้ยงตัวเอง เมื่อมีการเปลี่ยนงาน เปลี่ยนนายจ้าง ทำให้แรงงามข้ามชาติจากเดิมที่มาอย่างถูกต้องตามกฎหมาย ทำงานอย่างถูกกฎหมาย กลายเป็นผิดกฎหมายไป เช่น ถูกจับว่าทำงานผิดประเภท หรือเอกสารแรงงานไม่ตรงกับนายจ้างปัจจุบัน แม้ว่าเป็นเรื่องที่ทั้งตัวแรงงานและนายจ้างไม่อยากให้เกิดขึ้น แต่กระทรวงแรงงานกลับมีการตั้งชุดเฉพาะกิจ เพื่อติดตามและตรวจสอบการทำงานของคนต่างด้าวขึ้นมา 6 ชุดขึ้นมากวาดล้างคนเหล่านี้ ซึ่งนโยบายดังกล่าวทำให้มีความกังวลว่าจะยิ่งทำให้แรงงานยิ่งหลบซ่อน หากไม่สบายก็จะไม่กล้าออกมาแสดงตัวขอพบแพทย์ เพราะกลัวจะถูกจับ"

“เรากังวลว่าถ้าสถานการณ์ยังเป็นแบบนี้อยู่ คนยังติดกันเยอะและมีการไล่จับ ทำให้คนจำนวนมากหลบ ไม่กล้าออกมาหาหมอ ซึ่งตัวนี้น่าห่วงถ้าการจัดการอย่างมีความขัดแย้งกันอยู่แบบนี้เรามองว่าการควบคุมโรคติดต่อจะทำได้ยากขึ้น และไม่ได้เกินประโยชน์อะไร ดังนั้นควรจัดการคนอยู่เพื่อกันไม่ให้คนเข้า ควรทำให้คนรู้สึกสบายใจที่จะอยู่”นายอดิศรกล่าว

นายอดิศร กล่าวอีกว่า ทำอย่างไรให้เข้ามาอย่างถูกต้องผ่านการตรวจโรคให้เรียบร้อย ส่วนคนที่ตั้งใจมาแสวงหาการอยู่รอดที่พักพิงเราก็ต้องให้เขาเหล่านี้มีที่พักอาศัยอยู่ได้ ภาครัฐจะต้องทำงานไปในทิศทางเดียวกันคือทำอย่างไรก็ได้ให้คนงานเข้าถึงการควบคุมโรค ทั้งการตรวจ และวัคซีน ให้ได้เร็วที่สุด และจะต้องใช้หลัก 4 อ. ในการจัดการ คือ อาหาร ที่อยู่อาศัย อาชีพ และมีการดูแลรักษาเมื่อมีอาการ ซึ่งตอนนี้ไม่มีการใช้ 4 อ. เลยการระบาดก็เลยชัดเจนมากขึ้น

สำหรับการเข้าถึงวัคซีนของแรงงานข้ามชาตินั้น หากเป็นแรงงานที่มีเอกสาร ซึ่งมีจำนวนประมาณ 2 ล้านคน ในพื้นที่เสี่ยงจะมีระบบของวัคซีน แต่พบข้อจำกัดว่า ยังไม่มีภาษาประเทศต้นทางของแรงงาน และทั้งแอปพลิเคชั่น และเว็ปไซต์สำหรับจองไม่เอื้อต่อการลงทะเบียน ส่วนแรงงานที่เป็นผู้ประกันตนตามม.33 ที่มีจำนวนประมาณ1 ล้านคนนั้น มีช่องทางจองวัคซีนผ่านสำนักงานประกันสังคม และในพื้นที่เสี่ยงมีระบบจองของกระทรวงสาธารณสุข ซึ่งนายจ้างจะต้องเป็นผู้ลงทะเบียนให้ ทำให้มีโอกาสตกหล่น และระยะเวลาในการลงทะเบียนนั้นจำกัด ไม่มีแผนขยายระยะเวลาการลงทะเบียน อีกทั้งไม่รับทราบข้อมูลนัดหมาย

ขณะที่การเข้าถึงวัคซีนของผู้ติดตามแรงงาน ซึ่งมีประมาณ 1 แสนคน มีระบบจองหากอยู่ในพื้นที่เสี่ยง และมีวัคซีนทางเลือกที่จะต้องเสียค่าใช้จ่ายเอง อย่างไรก็ตามขณะนี้ยังไม่มีความชัดเจนว่าจะฉีดในเด็กอย่างไร และยังพบปัญหาว่าผู้ติดตามแรงงาน ซึ่งส่วนใหญ่คือลูก ไม่มีเอกสารเพราะไม่ได้เกิดในไทย ส่วนกลุ่มที่ไม่มีเอกสารเลย ซึ่งคาดว่ามีประมาณ 1-2 ล้านคนนั้น ไม่มีช่องทางในการเข้าถึงวัคซีน นอกจากวัคซีนทางเลือกที่จะต้องเสียค่าใช้จ่ายเอง เพราะระบบลงทะเบียนขอรับวัคซีนส่วนใหญ่ต้องมีเอกสาร และการพิจารณาให้วัคซีนแรงงานข้ามชาติในแต่ละที่ไม่เหมือนกัน

นายอดิศร ประเมินว่ากระทรวงแรงงานกลัวกระแสสังคมมากกว่าว่าเหตุใดถึงไม่จัดการแรงงานที่ผิดกฎหมาย กระแสนี้มาพร้อมกับข่าวคนลักลอบเข้าประเทศ แต่เมื่อไม่สามารถจัดการคนลักลอบเข้าประเทศได้ ก็มาเข้มงวดกับคนที่อยู่ข้างในประเทศแทน ดังนั้นในศบค.จะต้องตัดสินใจในเรื่องนี้ และกล้าเสนอไปยังรัฐบาลว่าต้องการแบบไหน เพราะส่งผลกระทบต่อการแพร่ระบาด

ด้าน นายปภพ เสียมหาญ นายจ้างร้านอาหารย่านห้วยขวางที่เป็นนายจ้างของแรงงานข้ามชาติสะท้อนว่า ตั้งแต่ระลอกแรกถึงปัจจุบัน เมื่อมีการระบาดของโควิด-19 ขึ้น นโยบายแรกคือให้ปิดร้านอาหาร และไม่ได้บอกล่วงหน้า ทำให้ผู้ประกอบการไม่สามารถเตรียมความพร้อมได้ และไม่สามารถเข้าถึงข้อมูลได้เลยว่าปิดแล้ว จะเปิดอีกครั้งเมื่อไหร่ ซึ่งนอกจากส่งผลกระทบทางธุรกิจแล้ว ยังมีปัญหาเรื่องของการจ้างงาน เนื่องจากเป็นระบบลูกจ้างประจำ จ่ายเป็นเงินเดือน

"เมื่อวันทำงานลดลง ก็จะต้องขอลดเงินเดือนตามสัดส่วนที่ประกันสังคมกำหนด ลูกจ้างบางรายก็รับได้ แต่บางรายไม่ไหว ก็ขอลาออก ไปทำงานที่อื่น ซึ่งกระทบกับนายจ้างมาก เพราะถ้าวันหนึ่งเปิดร้าน แต่ไม่มีคนงานพอ ก็จะเปิดร้านไม่ได้ และหากรับใหม่ก็จะเริ่มกระบวนการจ้างงานแรงงานข้ามชาติใหม่ ซี่งนายจ้างจะต้องสำรองค่าใช้จ่ายเยอะมาก"

"กรณีปิดตลาดห้วยขวาง แรงงานจำนวนมากเปลี่ยนจากรับงานรายวันที่ตลาดไปเป็นรถเข็นขายของริมถนน ไก่ทอด หมูทอด เคลื่อนย้ายตลอดเพราะถ้าเขาหยุดงานเขาไม่มีกิน ไม่มีเงินค่าที่พัก เขาก็เลือกที่จะไม่กักตัว มันก็เลยลามมาถึงตลาดใกล้เคียงด้วย” พูดตรงๆในพื้นที่ห้วยขวางไม่มีใครกักตัวเลย แม้ว่าจะเป็นคนสัมผัสใกล้ชิดกับคนติดโควิดก็ตาม" ผู้ประกอบการระบุ

นายปภพ กล่าวว่า ในการแพร่ระบาดที่ผ่านมา มีการประกาศว่าจะมีจุดตรวจเชิงรุกมาตั้งให้กลุ่มเสี่ยงสามารถไปตรวจได้ คนไทยใช้บัตรประชาชน แรงงานข้ามชาติใช้พาสปอร์ต ร้านของตนก็จะใช้วิธีการนี้โดยให้ลูกจ้างไปจองคิวตั้งแต่ 6 โมงเช้า แต่ปรากฎว่าเจ้าหน้าที่บอกว่า ไม่รับตรวจแรงงานข้ามชาติ ตนก็แย้งไปว่าในเว็บไซต์บอกว่าให้ตรวจกลุ่มเสี่ยงทั้งหมด ทางเจ้าหน้าที่บอกว่า คนไทย ยังตรวจไม่ครบเลยจะไปตรวจต่าวด้าวได้อย่างไร ซึ่งยอมรับว่าได้ยินเช่นนั้นก็รู้สึกก็โมโห เลยโทรศัพท์ไปสอบถามโดยตรงกับสำนักงานเขต และ กทม. ซึ่งก็ยืนยันคำตอบมาเช่นเดียวกับเจ้าหน้าที่ในจุดตรวจ

"เขาบอกว่าที่ลาดพร้าวมีรับตรวจคนละ600 บาท ตรวจละเอียด3,000 บาท แต่ต้องจ่ายเงินเอง พอพูดแบบนี้แรงงานก็ไม่อยากตรวจ เพราะไม่อยากเสียเงิน เรานายจ้างก็ต้องควักกระเป๋าให้ เพราะถ้าไม่ตรวจก็เปิดร้านไม่ได้ ไม่รู้ใครติดไม่ติดบ้าง ถึงวันนี้ไม่มีอะไรเยียวยา ไม่มีมาตราการเป็นรูปธรรมชัดเจน"นายปภพกล่าว

นายปภพ ยังระบุว่า แม้ว่าศบค.จะประกาศผ่อนคลายให้เปิดร้านอาหารได้ แต่ในพื้นที่ที่แพร่ระบาดจริงจะมีการประกาศเฉพาะพื้นที่อีก ทำให้นายจ้างต้องลุ้นตลอดเวลาว่าจะเปิดหรือปิด

ทั้งนี้อยากเสนอแนะไปยังรัฐบาลว่าควรจัดการฉีดวัคซีนให้กับแรงงานข้ามชาติด้วย และต้องไม่มีภาระทั้งตัวแรงงานและนายจ้าง เพราะเจ็บตัวกันมามากแล้ว ภาระไม่ควรเกิดขึ้นกับประชาชน ทุกคนต้องได้รับปฎิบัติที่เท่าเทียมกัน รวมถึงการเข้าถึงการรักษาที่วันนี้เห็นหลายคนติดโควิด แต่ไม่มีรถไปรับเพื่อเข้าสู่ระบบการรักษา อยู่ในที่พักตัวเอง คนเหล่านี้เป็นตัวเลขแฝงที่ศบค.ไม่ได้รายงานว่ามีผู้ติดเชื้อกี่รายที่ยังไม่ได้รับการรักษา

ที่มา: โพสต์ทูเดย์, 23/6/2564

คุ้มครองสิทธิฯ ร่วมรับเรื่องร้องทุกข์ กรณีปิจกิจการโดยไม่บอกล่วงหน้า ทำให้ลูกจ้าง 1,338 คน ได้รับความเดือดร้อนเพราะไม่ได้รับค่าจ้าง

22 มิ.ย. 2564 ที่ศูนย์คุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ ชั้น 1 อาคารกระทรวงยุติธรรม นางจิตรณวัชรี พะนัด ประธานสหภาพแรงงานไทรอัมพ์อินเตอร์เนชั่นแนลแห่งประเทศไทย และสมาชิกรวม 10 คน เดินทางเข้ายื่นเรื่องร้องทุกข์ขอความช่วยเหลือต่อ นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม โดยมี ดร.โฆสิต สุวินิจจิต คณะที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม พร้อมด้วย นางสุจิตรา แก้วไกร ผู้อำนวยการกองพิทักษ์สิทธิและเสรีภาพ นางสาวนรีลักษณ์ แพไชยภูมิ ผู้อำนวยการกองสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ และนายปริญญ์วัฒน์ เปี่ยมปิ่นวงศ์ หัวหน้าศูนย์ยุติธรรมสร้างสุข เป็นผู้แทนรับเรื่องดังกล่าว

สำหรับการเข้าร้องทุกข์ในครั้งนี้ จากกรณี บริษัท บริลเลียนท์ อัลไลแอนซ์ ไทย โกลบอล จำกัด ประกอบกิจการตัดเย็บเสื้อผ้าชุดชั้นในสตรี มีลูกจ้างจำนวน 1,338 คน ได้ประกาศปิดกิจการเมื่อวันที่ 11 มี.ค. 2564 โดยไม่บอกกล่าวล่วงหน้า และไม่จ่ายค่าชดเชย เป็นเหตุให้ลูกจ้างได้รับความเดือดร้อน ปัจจุบัน บริษัท บริลเลียนท์ฯ ยังไม่ได้จ่ายเงินค่าจ้างและค่าชดเชยต่างๆ ตามที่พนักงานตรวจแรงงานออกคำสั่ง จึงมีข้อเรียกร้องโดยขอให้กระทรวงยุติธรรมประสานไปยังรัฐบาลและนายกรัฐมนตรี หาแนวทางจ่ายค่าจ้างแทนให้กับลูกจ้างที่ถูกเลิกจ้าง เพื่อบรรเทาความเดือดร้อน และติดตามนายจ้างมารับผิดชอบเงินจำนวนดังกล่าว รวมถึงดำเนินการตามกฎหมายอาญา นอกจากนี้ ขอให้หามาตรการป้องกันไม่ให้นักลงทุนต่างชาติมาลงทุนแล้วหนี ปล่อยลอยแพลูกจ้าง โดยกองสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ กรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ ได้อธิบายรายละเอียดเกี่ยวกับแผนปฏิบัติการระดับชาติว่าด้วยธุรกิจและสิทธิมนุษยชน (NAP) พร้อมทั้งจะนำประเด็นดังกล่าวหารือในเวทีระดับนโยบาย และเรียกร้องไปยังบริษัทฯ

ทั้งนี้กระทรวงยุติธรรม ได้รับเรื่องดังกล่าวไว้แล้ว และจะประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อสอบถามและให้ความช่วยเหลือตามขั้นตอนต่อไป

ที่มา: สยามรัฐ, 22/6/2564

ศบค. เปิดรายชื่อคลัสเตอร์โรงงานใหม่ มีทั้งโรงงานรองเท้า แปรรูปอาหาร อาหารทะเล โรงงานหมู โรงงานเสื้อผ้า

นายแพทย์ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19(ศบค.) กล่าวตอนหนึ่งระหว่างแถลงสถานการณ์ผู้ติดเชื้อโควิดประจำวันว่า วันนี้พบ “คลัสเตอร์ใหม่”ในต่างจังหวัดหลายแห่ง ได้แก่

- สมุทรปราการ อ.บางพลี โรงงานรองเท้า พบผู้ติดเชื้อ 326 ราย และ อ.เมืองสมุทรปราการ โรงงานแปรรูปอาหาร พบผู้ติดเชื้อ 7 ราย

- สงขลา อ.สทิงพระ โรงงานอาหารทะเลกระป๋อง พบผู้ติดเชื้อ 262 ราย

- สมุทรสาคร อ.กระทุ่มแบน โรงงานเสื้อผ้า พบผู้ติดเชื้อ 6 ราย

- นครปฐม อ.เมืองนครปฐม โรงงานหมูรวม 4 แห่ง พบผู้ติดเชื้อสะสมรวม 171 ราย

- ระยอง อ.เมืองระยอง แคมป์ก่อสร้าง พบผู้ติดเชื้อ 51 ราย

- พระนครศรีอยุธยา ศูนย์วิทยุกู้ภัย พบผู้ติดเชื้อ 14 ราย

- ปราจีนบุรี อ.ศรีมหาโพธิ์ โรงงานหินเทียม พบผู้ติดเชื้อ 8 ราย

ที่มา: ประชาชาติธุรกิจ, 22/6/2564

แกนนำแรงงานฯ นำอดีต พนง.บอดี้แฟชั่น พบ รมว.แรงงาน ทวงถามข้อเรียกร้องหลังถูกเลิกจ้าง

22 มิ.ย. 2564 นายชาญศิลป์ ทรัพย์โนนหวาย ประธานกลุ่มแรงงานเพื่อสังคม นำอดีตพนักงานบริษัท บอดี้ แฟชั่น จ.นครสวรรค์ จำนวน 60 คน เข้าพบ นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เพื่อขอบคุณที่ให้การช่วยเหลือพนักงานที่ถูกเลิกจ้างให้ได้รับสิทธิประโยชน์ตามกฎหมายคุ้มครองแรงงานอย่างรวดเร็ว และติดตามความคืบหน้าตามข้อเรียกร้องด้านแรงงาน โดยมี นางธิวัลรัตน์ อังกินันทน์ ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน นายสุเทพ ชิตยวงษ์ เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน พล.ต.ต.นันทชาติ ศุภมงคล ประจำสำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ปฏิบัติหน้าที่ประจำกระทรวงแรงงาน นายณัฐวัฒน์ ธีรทัศน์ธำรง คณะที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน พร้อมด้วยผู้บริหารระดับสูงกระทรวงแรงงาน เข้าร่วม ที่กระทรวงแรงงาน

นายสุชาติกล่าวว่า รัฐบาลให้ความสำคัญกับการช่วยเหลือบรรเทาปัญหาความเดือดร้อนผู้ใช้แรงงานที่ถูกเลิกจ้างที่ประสบปัญหาว่างงานจากสถานการณ์โควิด-19 ซึ่งในวันนี้ ตัวแทนอดีตพนักงานบริษัทบอดี้แฟชั่นได้เข้ามาให้กำลังใจและขอบคุณที่รัฐบาล และกระทรวงแรงงานให้ความช่วยเหลือลูกจ้าง เพื่อให้ได้รับความเป็นธรรมอย่างรวดเร็ว ทั้งการจ่ายประโยชน์ทดแทนกรณีว่างงานจากประกันสังคม รวมทั้งเยียวยาความเดือดร้อนให้ลูกจ้างจากเงินกองทุนสงเคราะห์ลูกจ้าง จำนวน 858 คน ที่ถูกเลิกจ้างและยังไม่ได้รับค่าจ้าง เพื่อช่วยให้ผู้ใช้แรงงานได้มีเงินในการดำรงชีพ อันเนื่องมาจากการถูกเลิกจ้าง ขาดรายได้ จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19

“ผมได้มอบหมายให้ นายสุเทพ ชิตยวงษ์ เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เป็นประธานการประชุมเพื่อติดตามความคืบหน้าการดำเนินการตามข้อเรียกร้องด้านแรงงานประเด็นต่างๆ ของกลุ่มแรงงานเพื่อสังคมที่ยังอยู่ระหว่างการดำเนินการ เพื่อให้หน่วยงานในสังกัดกระทรวงแรงงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการให้แล้วเสร็จ และรายงานความคืบหน้าให้สมาชิกกลุ่มแรงงานทราบต่อไป” นายสุชาติกล่าว และว่า การดำเนินงานของกระทรวงแรงงานในการให้ความช่วยเหลือพี่น้องผู้ใช้แรงงานที่ถูกเลิกจ้าง เป็นการบรรเทาปัญหาความเดือดร้อนโดยเฉพาะในช่วงสถานการณ์โควิด-19 ให้ได้รับสิทธิประโยชน์ที่พึงได้รับอย่างถูกต้อง ครบถ้วน

ที่มา: มติชนออนไลน์, 22/6/2564

รมว.แรงงานไม่อนุมัติโยกวัคซีนประกันสังคม จาก กทม. ไปสระบุรี

ทีมข่าวช่อง 7 HD ได้รับข้อมูลการสื่อสารผ่านระบบแอปพลิเคชันไลน์ กลุ่มหัวหน้าส่วนราชการ กระทรวงแรงงาน เมื่อวันที่ 18 มิ.ย.64 มีการสอบถามไปยังนายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน กรณีสำนักงานแรงงานจังหวัดสระบุรี ได้รับการประสานจากฝ่ายบุคคล บริษัทเอกชนแห่งหนึ่ง ขอความช่วยเหลือเรื่อง การขอโยกวัคซีนประกันสังคม จาก กทม.มายัง จ.สระบุรี โดยให้เหตุผลว่า ทางบริษัทได้จดทะเบียนประกันสังคมที่สำนักงานประกันสังคมพื้นที่ 4 ซึ่งอยู่ในเขตบางรัก กทม. ทำให้ต้องขนย้ายพนักงานประมาณ 1 พันคน จากสระบุรีมายัง กทม. จึงอยากให้มีการโอนย้ายวัคซีนมาที่ จ.สระบุรี เพื่อความสะดวกและความปลอดภัย

นายสุชาติ ชี้แจงว่า การเคลื่อนย้ายมาฉีดที่ต่างจังหวัด จะเป็นการล่อแหลม เสี่ยงต่อการถูกโจมตีว่า เอาวัคซีนมาจากกรุงเทพฯ ข้ามมาให้ที่ จ.สระบุรี ซึ่งเข้าใจดีว่าบริษัทลงประกันสังคมในพื้นที่ กรุงเทพฯ แต่คนอื่น ๆ ที่ต่างจังหวัดอาจไม่เข้าใจ และกลายเป็นครหาได้ว่าเป็น “วัคซีนเส้น” ทำให้กระทรวงแรงงานต้องตกเป็นจำเลยสังคม จึงไม่อนุญาตให้โยกวัคซีน

ที่มา: ch7.com, 20/6/2564

โฆษกแรงงานเผยความคืบหน้าปรับปรุงกฎหมายพระราชบัญญัติประกันสังคม

นางเธียรรัตน์ นะวะมะวัฒน์ โฆษกกระทรวงแรงงาน (ฝ่ายการเมือง) เปิดเผยถึงกรณีที่ ส.ส.จองชัย วงศ์ทรายทอง ส.ส.จังหวัดชลบุรี เขต 2 พรรคพลังประชารัฐที่ขอให้พิจารณาการนำเงินสมทบของผู้ประกันตนมาใช้ก่อน ในช่วงการระบาดของโควิด-19 โดยให้คำนึงถึงสถานะความมั่นคงของกองทุนว่า รัฐบาลภายใต้การนำของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม กระทรวงแรงงาน ภายใต้การกำกับดูแลของ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุรรณ รองนายกรัฐมนตรี ได้มีความห่วงใยพี่น้องผู้ใช้แรงงานที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ในช่วงนี้

โดยจากกรณีที่ ส.ส.จองชัย วงศ์ทรายทอง ส.ส.จังหวัดชลบุรี เขต 2 พรรคพลังประชารัฐ ออกมาให้ข้อเสนอแนะเกี่ยวกับการนำเงินสมทบของผู้ประกันตนมาใช้ก่อน ในช่วงการระบาดของโควิด-19 โดยให้คำนึงถึงสถานะความมั่นคงของกองทุน ก่อนอื่นต้องขอขอบคุณท่านที่กรุณาให้ข้อเสนอแนะ และยังให้ความสำคัญที่เล็งเห็นถึงอนาคตของกองทุนประกันสังคม กรณีการนำเงินสมทบของผู้ประกันตนในอนาคตมาใช้ก่อนนั้น ในเรื่องนี้นายสุชาติ ชมกลิ่น รมว.แรงงาน ได้มีแนวคิดก่อนจะมารับตำแหน่งรมว.แรงงานและเมื่อเข้ารับตำแหน่งแล้วก็ได้ตอบรับข้อเสนอแนะจากกลุ่มต่างๆ โดยมีการประชุมหารือ เพื่อพูดคุย รายงานความคืบหน้า รวมทั้งรับฟังความคิดเห็นจากทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง

ทั้งนี้ได้พยายามหาช่องทางต่างๆให้ข้อเสนอดังกล่าวเป็นผลโดยเร็วที่สุด เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของผู้ประกันตน โดยให้นำเข้าพิจารณาในคณะกรรมการประกันสังคมหลายครั้ง ตลอดจนให้สำนักงานประกันสังคมหารือคณะกรรมการกฤษฎีกา และประสานงานกับกระทรวงการคลัง จนในที่สุดข้อบัญญัติในกฎหมายว่าด้วยการประกันสังคมที่กำหนดไว้อย่างรัดกุม ให้ใช้เงินสะสมกรณีชราภาพในยามที่เกษียณแล้วเท่านั้นคือ อายุ 55 ปีขึ้นไปและไม่ได้อยู่ในสถานภาพการเป็นลูกจ้าง ดังนั้นจึงต้องแก้ไขพระราชบัญญัติประกันสังคม ซึ่งสำนักงานประกันสังคมได้เร่งรัดดำเนินการแก้ไขกฎหมายตามขั้นตอน

ส่วนความคืบหน้าการปรับปรุงแก้ไขกฎหมายพระราชบัญญัติประกันสังคมนั้น ขณะนี้ได้ผ่านการสอบถามความคิดเห็นจากผู้มีส่วนร่วมทุกภาคส่วนแล้ว และได้ยกร่างปรับปรุงกฎหมายฯ ในประเด็นดังกล่าวเรียบร้อยแล้ว ทั้งนี้ภายในสัปดาห์หน้าจะสามารถนำเข้าคณะกรรมการร่างกฏหมายกระทรวงแรงงาน เพื่อพิจารณาตรวจสอบร่างกฎหมาย จากนั้นเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาก่อนนำเข้าสู่สภาฯ พิจารณาแก้ไขต่อไป

ที่มา: สยามรัฐ, 20/6/2564

ก.แรงงาน เดินหน้าเร่งฉีดวัคซีนให้ลูกจ้างโรงงานใน กทม.

กระทรวงแรงงาน เร่งฉีดวัคซีนโควิด-19 ให้กับผู้ประกันตนมาตรา 33 โดยเฉพาะในกลุ่มลูกจ้างโรงงานต่าง ๆ ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร เพื่อสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ ป้องกันการระบาดเป็นกลุ่มก้อน

สถานการณ์โควิด-19 ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร ยังคงน่าเป็นห่วง ล่าสุดมีผู้ติดเชื้อกว่า 1,000 คน การระบาดเป็นกลุ่มก้อน หรือคลัสเตอร์ ก็ยังมีจำนวนมาก ซึ่งส่วนใหญ่เป็นคลัสเตอร์แคมป์คนงานก่อสร้าง และตามโรงงานต่าง ๆ

ภาครัฐโดยกระทรวงแรงงานและกระทรวงอุตสาหกรรม จึงเร่งฉีดวัคซีนโควิด-19 ให้กับผู้ประกันตนมาตรา 33 กลุ่มลูกจ้างโรงงานในกรุงเทพมหานคร โดยจัดให้มีการฉีดวัคซีนที่ศูนย์ฉีดวัคซีน บริษัท โรงงานฟุตบอลล์ไทย สปอร์ตติ้งกู๊ดส์ จำกัด เขตหนองจอก ซึ่งเปิดมาแล้ว 6 วัน คือตั้งแต่วันที่ 7-11 มิถุนายน และวันที่ 14 มิถุนายนที่ผ่านมา มีกลุ่มลูกจ้าง แรงงาน ของสถานประกอบการ บริษัท โรงงานต่าง ๆ มาลงทะเบียน รับการฉีดวัคซีนไปแล้ว มากกว่า 250,000 คน

ที่มา: ch7.com, 18/6/2564

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net