Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

อภิวัฒน์สยาม 24 มิถุนายน 2475 คณะราษฎรผู้ก่อการได้เปลี่ยนแปลงระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์เป็นประชาธิปไตยที่มีกษัตริย์อยู่ใต้รัฐธรรมนูญ เหตุการณ์ประวัติศาสตร์เมื่อ 89 ปีที่แล้ว คือ การเปลี่ยนแปลงแห่งยุคสมัย ในช่วงเวลานั้น ระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์เดินทางมาถึงทางตัน สถาบันกษัตริย์ที่มีอำนาจสูงสุดเด็ดขาดไม่สามารถดำรงอยู่ในสถานะเช่นเดิมได้ภายใต้ความท้าทายใหม่ของกระแสโลก สภาพเศรษฐกิจและสังคมใหม่ ระบบราชการแบบใหม่ เหตุปัจจัยเหล่านี้สุกงอมเพียงพอจนทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงขนาดใหญ่ จากหน้ามือเป็นหลังมือ หรือที่เราเรียกกันว่า "ปฏิวัติ"

หลักการมูลฐานของระบอบใหม่ได้รับการประกาศอย่างชัดแจ้งในประกาศคณะราษฎรว่า "“ราษฎรทั้งหลาย พึงรู้เถิดว่าประเทศเรานี้เป็นของราษฎร ไม่ใช่ของกษัตริย์ตามที่เขาหลอกลวง” และยืนยันไว้ในมาตราแรกของปฐมรัฐธรรมนูญไทยว่า “อำนาจสูงสุดของประเทศนั้นเป็นของราษฎรทั้งหลาย” แต่ด้วยไมตรีจิต ไม่ต้องการประหัตประหารกับสถาบันกษัตริย์ซึ่งดำรงอยู่อย่างต่อเนื่องยาวนาน คณะราษฎรผู้ก่อการจึงต้องการให้ระบอบใหม่นี้ ยังคงมีกษัตริย์เป็นประมุขของประเทศต่อไป เรียกร้องให้กษัตริย์ยอมรับระบอบแบบใหม่ ยอมอยู่ใต้รัฐธรรมนูญ

การปฏิวัติอเมริกา 1776 คือ การประกาศอิสรภาพจากประเทศเจ้าอาณานิคม ไม่ขึ้นกับกษัตริย์อังกฤษ และก่อตั้งรัฐธรรมนูญใหม่ขึ้นเอง ส่วนการปฏิวัติรัสเซีย 1917 คือ การล้มสถาบันกษัตริย์เพื่อเข้าสู่ระบอบใหม่

ส่วนอภิวัฒน์สยาม 2475 นั้นเล่า

คือ การเปลี่ยนจากระบอบเก่าไปสู่ระบอบใหม่ที่เกิดขึ้นในดินแดนเดียวกัน กับคนสยามด้วยกัน ไม่เหมือนกับอเมริกา

คือ การเปลี่ยนจากระบอบเก่าไปสู่ระบอบใหม่ที่ยังคงรักษาสถาบันกษัตริย์ที่ดำรงอยู่ในระบอบเก่าให้มาอยู่อาศัยในระบอบใหม่ด้วย ไม่เหมือนกับรัสเซีย

เกิดเป็นประเด็นปัญหาใหญ่ประการแรกของอภิวัฒน์สยาม ที่ปฏิวัติอเมริกา ปฏิวัติรัสเซีย ไม่ประสบ นั่นคือ เราจะจัดวางตำแหน่งแห่งที่ของสถาบันกษัตริย์ให้สอดคล้องกับระบอบใหม่ได้อย่างไร?

ดังนั้น เมื่อพูดถึงอภิวัฒน์สยาม 2475 จึงไม่อาจหลีกหนีประเด็นปัญหาเรื่องการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ได้

อภิวัฒน์สยาม 2475 ที่ต้องการระบอบใหม่แต่ยังคงรักษาสถาบันกษัตริย์ จึงมาคู่กับการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ เสมือนเป็นสองด้านของเหรียญเดียวกัน ด้านหนึ่ง คือ ระบอบใหม่ที่ประชาชนเป็นเจ้าของประเทศ เป็นผู้ทรงอำนาจสูงสุด อีกด้านหนึ่ง คือ สถาบันกษัตริย์ที่ตกทอดมาจากระบอบเก่าจะอยู่อาศัยอย่างไรในระบอบใหม่
........

ครึ่งปีหลังของ 2563 ด้วยวีรกรรมอันอาจหาญของนักเรียน นิสิต นักศึกษา เยาวชน อนาคตของชาติ ที่รวมตัวกันในชื่อ "ราษฎร" ทำให้ประเด็นการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์กลับขึ้นมาจนกลายเป็นวาระสำคัญของประเทศ

ไม่ว่าใครจะชอบหรือไม่ชอบ ไม่ว่าใครจะเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วย แต่ "ช้างที่อยู่ในห้อง" ที่คนแกล้งไม่เห็นกันมาหลายทศวรรษ ก็ปรากฏให้ทุกคนเห็นกันหมดแล้ว

ปฏิเสธไม่ได้ว่านับตั้งแต่ คสช. ก่อรัฐประหาร 22 พฤษภาคม 2557 ผ่านการสืบทอดอำนาจมาจนถึงปัจจุบัน มีการตรารัฐธรรมนูญ มีการตรากฎหมาย มีแนวทางการปฏิบัติจำนวนมากที่ส่งผลให้ระบอบการปกครองของประเทศไทย มีเนื้อในที่ขยับออกจาก Constitutional Monarchy ไปเป็นสมบูรณาญาสิทธิราชย์มากยิ่งขึ้น

ระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ (Absolute Monarchy) ก็ดี ระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ใหม่ (Neo Absolute Monarchy) ก็ดี ระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์จำแลงซ่อนรูป (Disguised Absolute Monarchy) ก็ดี ทั้งหมดนี้ไม่สอดคล้องกับยุคสมัย ศตวรรษที่ 21

เมื่อระบอบการปกครองของไทยมีแนวโน้มจะเปลี่ยนย้อนกลับไปเช่นนี้ จึงเป็นธรรมดาอยู่เองที่อนาคตของชาติและประชาชนผู้เป็นเจ้าของอำนาจสูงสุดของประเทศ ต้องออกมาต่อต้านไม่ให้ถอยหลังเข้าคลอง

หากยังคงต้องการรักษา Constitutional Monarchy เอาไว้ หรือกล่าวให้ถึงที่สุด หากยังคงต้องการรักษาสถาบันกษัตริย์เอาไว้ภายใต้ความท้าทายใหม่ของโลกและสังคมไทย ระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ไม่ว่าประเภทใด ไม่สามารถรับภารกิจนี้ได้ ตรงกันข้าม การปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ให้สอดคล้องกับประชาธิปไตยต่างหากคือคำตอบ

นี่จึงเป็นเหตุผลว่า ทำไมการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ จึงเป็นเสียงเรียกร้องแห่งยุคสมัย

นี่จึงเป็นเหตุผลว่า ทำไมการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ จึงเป็นการเปลี่ยนแปลงอันจำเป็นของยุคสมัย

ความเปลี่ยนแปลงของยุคสมัยในปี 2475 และความเปลี่ยนแปลงของยุคสมัยในปี 2563/2564 จึงมาบรรจบพบเจอกัน
.......

กำเนิดของระบอบการปกครองที่ให้ชื่อกันว่า Constitutional Monarchy เป็นผลผลิตจากการต่อสู้กันระหว่างสถาบันกษัตริย์กับสภาที่เป็นผู้แทนประชาชน และมีพัฒนาการเรื่อยมาตามยุคสมัยโดยขึ้นกับพลังของฝ่ายใดเอาชนะพลังของอีกฝ่ายหนึ่งได้มากกว่ากัน

หากสังคมการเมืองใดที่พลังของฝ่ายสภาและประชาชนมีมากกว่าและเอาชนะพลังของฝ่ายสถาบันกษัตริย์ได้ ฝ่ายสถาบันกษัตริย์ก็จำเป็นต้องปรับตัวเพื่อรักษาตัวให้อยู่รอดกับประชาธิปไตย ดังปรากฏให้เห็นในหลากหลายประเทศ เช่น สหราชอาณาจักร สวีเดน เดนมาร์ก เนเธอร์แลนด์ เบลเยียม สเปน ญี่ปุ่น เป็นต้น

แต่ถ้าสถาบันกษัตริย์ยังคงดึงดันสู้ต่อไป ด้วยมั่นใจว่ายังคงดำรงอำนาจสมบูรณ์เด็ดขาดและปราศจากความรับผิดชอบได้เช่นที่เคยเป็นมา เมื่อผลปรากฏว่าพลังของฝ่ายสภาและประชาชนเอาชนะได้ เมื่อนั้นสถาบันกษัตริย์ที่ดึงดันแข็งขืนก็จะต้องปลาสนาการไป และเกิดสาธารณรัฐขึ้นมาแทน ดังที่เกิดขึ้นในหลากหลายประเทศ เช่น ฝรั่งเศส เยอรมนี อิตาลี กรีซ โรมาเนีย บัลแกเรีย เป็นต้น

2475 ต้องการสถาปนาระบอบใหม่ที่ "อำนาจสูงสุดของประเทศนั้นเป็นของราษฎรทั้งหลาย" พร้อมกับรักษาสถาบันกษัตริย์ สถาบันในระบอบเก่า ให้ดำรงอยู่และอาศัยอย่างสอดคล้องกับระบอบใหม่ ซึ่งจนถึงปัจจุบัน ประเด็นนี้ก็ยังคงต่อสู้กันไม่แล้วเสร็จ

2563/2564 หากเราไม่ต้องการให้ประเทศไทยกลับไปเป็นสมบูรณาญาสิทธิราชย์ หากเราต้องการให้ประเทศไทยเป็นประชาธิปไตย และหากเรายังคงต้องการให้มีสถาบันกษัตริย์ต่อไปให้สอดคล้องกับประชาธิปไตย

การปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ คือ หนทางเดียว


 

หมายเหตุ: การปฏิรูปสถาบันกษัตริย์จะสำเร็จได้ จำเป็นต้องมีข้อเสนอเป็นรูปธรรม  ปรากฏเป็นร่างรัฐธรรมนูญ หรือร่างกฎหมาย เพื่อใช้ในการรณรงค์ อภิปรายแลกเปลี่ยนแสดงความคิดเห็น และเป็น "ชุดสำเร็จรูป" พร้อมใช้ทันทีเมื่อสถานการณ์สุกงอมเพียงพอ ดังนั้น ผมจึงเตรียมการยกร่างรัฐธรรมนูญ หมวด 1 หมวด 2 เพื่อการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ขึ้น และจะนำมาเปิดเผยต่อสาธารณะ ให้เป็นสมบัติของสาธารณะในการรณรงค์ต่อไป โปรดติดตามข้อเสนอพร้อมคำอธิบายได้ เร็วๆ นี้


ที่มา: เฟสบุ๊ค Piyabutr Saengkanokkul - ปิยบุตร แสงกนกกุล


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net