Skip to main content
sharethis

คุยกับกลุ่มคนรุ่นใหม่ที่ออกมาร่วมเดินขบวนจากอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยไปจนถึงรัฐสภาเกียกกายเมื่อวันที่ 24 มิ.ย. 2564 เพื่อเรียกร้องให้มีการแก้รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ทวงคืนระบอบประชาธิปไตย และทวงคืนวันชาติให้กลับมาเป็นของประชาชน

25 มิ.ย. 2564 วานนี้ (24 มิ.ย. 2564) ณ การเดินขบวนของกลุ่มราษฎรพร้อมทั้งแนวร่วมกลุ่มอื่นๆ ได้ร่วมกันแสดงจุดยืนเรียกร้องให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้งฉบับ รวมถึงรำลึก 89 ปี วันเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยคณะราษฎร

6 หลังจากอภิวัฒน์สยาม 2475 เมื่อวันที่ 18 ก.ค. 2481 รัฐบาลพันเอกพระยาพหลพลพยุหเสนา (ยศขณะนั้น) ประกาศให้วันที่ 24 มิ.ย. ของทุกปีเป็นวันชาติ แต่ต่อมาเมื่อวันที่ 21 พ.ค. 2503 ในสมัยของรัฐบาลจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ มีการออกประกาศสำนักนายกรัฐมนตรีให้ถือวันพระราชสมภพของกษัตริย์เป็นวันเฉลิมฉลองของชาติไทย ซึ่งในขณะนั้น คือ วันพระราชสมภพของในหลวง ร.9 ตรงกับวันที่ 5 ธ.ค. ของทุกปี

ถึงแม้ว่าการกำหนดเลือก 'วันชาติ' จะเป็นอำนาจของคณะรัฐมนตรีมาตั้งแต่ พ.ศ.2481 อย่างไรก็ตาม เมื่อวันที่ 22 พ.ค. 2562 ราชกิจจานุเบกษาเผยแพร่พระบรมราชโองการประกาศเรื่องการกำหนดวันสำคัญของชาติไทย ความว่า ในหลวง ร.10 มีพระราชบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้วันที่ 5 ธ.ค. ของทุกปี เป็นวันคล้ายวันเฉลิมพระชนมพรรษาของในหลวง ร.9, วันพ่อแห่งชาติ และวันชาติ (ลงวันที่ 21 พ.ค. 2562) นอกจากนี้ คณะรัฐมนตรียังมีมติให้เป็นวันหยุดราชการ นี่จึงเป็นจุดเริ่มต้นของการช่วงชิงความหมายของวันชาติ ระหว่างชนชั้นปกครองและประชาชน

ผู้สื่อข่าวได้สัมภาษณ์ตัวแทนคนรุ่นใหม่ 3 คน ที่ไปร่วมเดินขบวนวันนี้ ได้แก่ จตุภัทร์ บุญภัทรรักษา หรือไผ่ ดาวดิน, นัท (นามสมมติ) จากกลุ่มแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม และจิ๊บ (นามสมมติ) จากกลุ่มนักเรียนเลว

จตุภัทร์ บุญภัทรรักษา (ไผ่ ดาวดิน)

 

จตุภัทร์ กล่าวว่า "คำว่าชาตินั้นมีนิยามที่แตกต่างกัน ซึ่งในมุมมองของผมคำว่าชาติในวันนี้คือประชาชน รัฐไทยไม่เคยสนใจวันนี้ แต่เป็นประชาชนที่สนใจ และรัฐไม่เคยให้ความสำคัญกับประวัติศาสตร์ของราษฎร ไม่เคยให้ความสำคัญกับประวัติศาสตร์การต่อสู้ คำว่า 'ชาติ' สำหรับเขา (รัฐ) จึงเป็นไปอย่างที่เราเห็นกันตามปฏิทินว่ามีประวัติศาสตร์อะไรที่ถูกให้ความสำคัญ ณ เดียวกันวันนี้ ในการต่อสู้มันมีการช่วงชิงและการนิยามคำว่า 'ชาติ' ก็เช่นเดียวกันว่า ชาติเท่ากับประชาชน หรือว่าชาติเป็นแค่ตัวรัฐเฉยๆ ฉะนั้นแล้ววันที่ 24 มิ.ย. มันคือการยืนยันเจตจำนงว่าวันชาติคือของราษฎรทั้งหลาย ไม่ใช่วันชาติของรัฐไม่ใช่วันชาติของใคร"

'นัท' จากแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม 

 

นัทมองว่า "หากเอาวันชาติไปเปรียบกับทั่วโลก ส่วนตัวก็ยังไม่เห็นภาพเท่าไหร่ แต่สำหรับตัวผมเองในฐานะประเทศไทยวันชาติคือ 24 มิ.ย. ซึ่งมาจากการที่เราปฏิวัติเป็นประชาธิปไตย ดังนั้นจึงทำให้วันชาติมีนัยยะทางการเมืองว่า จริงๆ แล้ววันชาติเป็นชัยชนะของประชาชน เป็นวันที่ผลิกแผ่นดินให้ประชาชนเป็นใหญ่ขึ้นมาได้ ทั้งนี้ที่ออกมาในวันนี้ก็เพื่อแสดงความต้องการว่า 'วันชาติ' ควรเป็นวันเฉลิมฉลองของประชนทุกคน ไม่ใช่เป็นวันที่ยึดโยงกับวันเกิดใครของคนใดคนหนึ่ง ซึ่งในความเห็นของผม วันชาติที่เป็นอยู่ในปัจจุบันไม่ได้ยึดโยงกับประชาชนและไม่ได้ประโยชน์อะไรจากการเป็นวันนั้น รวมไปถึงไม่ได้เกี่ยวกับรัฐธรรมนูญ ไม่ได้เกี่ยวกับอำนาจของประชาชน ฉะนั้นหากเปลี่ยนวันชาติให้เป็น 24 มิ.ย. ได้ก็จะทำให้ประชาชนมีความรู้สึกร่วมกันได้ และฉลองจากความสำเร็จของประชาชนอย่างแท้จริง สุดท้ายจะสามารถสร้างบรรยายกาศประชาธิปไตยให้กับประเทศได้"

'จิ๊บ' จากกลุ่มนักเรียนเลว

 

จิ๊บ เผยมุมมองเรื่องวันชาติว่า "ทุกคนควรเป็นเจ้าของร่วมกัน ชาติเท่ากับประชาชน ฉะนั้นวันชาติควรเป็นของประชาชน ไม่ใช่วันเกิดของใครบางคน ฉะนั้นหากวันที่ 24 มิ.ย. กลายเป็นวันชาติได้ ก็อาจจะเป็นการเฉลิมฉลองที่ยิ่งใหญ่ของประชาชน เหมือนเทศกาล July 4th (วันประกาศอิสรภาพ) ของสหรัฐฯ ที่มีการฉลองจุดพลุกัน ที่ทุก 1 ปี ประชาชนควรจะได้รู้สึกว่ามีส่วนร่วมว่าตนเป็นส่วนหนึ่งของชาติ"

สุดท้ายนี้ในมุมมองของคนรุ่นใหม่คือการที่ประชาชนทุกคนได้มีส่วนร่วมหรือรู้สึกว่าตนนั้นเป็นส่วนหนึ่งของชาติและเจ้าของประเทศอย่างแท้จริง ซึ่งวันที่ 24 มิ.ย. ก็ถือว่าเป็นหมุดหมายที่ดี สำหรับการยึดโยงประชาชนให้เป็นส่วนหนึ่งของชาติร่วมกันได้

ปกกมล พิจิตรศิริ ผู้รายงานบทสัมภาษณ์ชิ้นนี้เป็นนักศึกษาวิทยาลัยสหวิทยาการ สาขาปรัชญาการเมืองและเศรษฐศาสตร์ ชั้นปีที่ 3 มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ปัจจุบันฝึกงานกับกองบรรณาธิการข่าวประชาไท

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net