จากเหตุยิงเรือ ตชด. สู่คำถามความสัมพันธ์แห่งนายพลไทย-พม่า ผ่านสายตา ดุลยภาค ปรีชารัชช

จากเหตุการณ์ทหารกองทัพพม่าฝั่งตรงข้าม จ.แม่ฮ่องสอน ยิงเรือ ตชด.ไทย ที่กำลังปฏิบัติการบนน่านน้ำสาละวินเมื่อเดือน เม.ย.ที่ผ่านมา ข้อพิพาทที่อาจขยายไปสู่ความขัดแย้งด้านความมั่นคง และอำนาจอธิปไตยเหนือดินแดน แต่จบลงด้วยความประนีประนอมถ้อยทีถ้อยอาศัย เมื่อกองทัพพม่าออกมายอมรับผิด พร้อมให้คำมั่นว่าจะไม่ยิงเรือชาวบ้าน แต่แลกกับเสบียงจากฝั่งไทย ขณะที่รองโฆษกกองทัพไทยออกมาแก้ตัวว่าเป็นเรื่อง 'เข้าใจผิด' เท่านั้น  

ความสัมพันธ์อันใกล้ชิดยังสะท้อนผ่านรายงานของสำนักข่าวแดนปลาดิบ 'นิเคอิ' ที่เปิดเผยว่า รัฐบาลไทย-กองทัพพม่า มีการเจรจาการทูตหลังบ้าน (backed-door diplomacy) ตั้งแต่พลเอกอาวุโส มินอ่องหล่าย ผู้บัญชาการสูงสุดแห่งกองทัพพม่า ทำรัฐประหารโค่นอำนาจจากรัฐบาลพลเรือนเมื่อ 1 ก.พ. 64 และเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา (18 มิ.ย. 64) ไทยยังงดออกเสียงลงมติ 'คว่ำบาตร' ยกเลิกขายอาวุธให้กองทัพพม่า ในที่ประชุมสมัชชาใหญ่สหประชาชาติ 

 
ผศ.ดร.ดุลยภาค ปรีชารัชช ผู้เชี่ยวชาญด้านการเมืองพม่า และอาจารย์ประจำสาขาเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษา คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

 

สิ่งที่เกิดขึ้นชวนให้หันมาตั้งคำถามถึงความสัมพันธ์รัฐบาลประยุทธ์-มินอ่องหล่าย กองทัพไทยที่น่าจะมีภาพลักษณ์พม่า ในมุมมองเชิงอนุรักษ์นิยม และมองพม่าประดุจ ‘ศัตรูแห่งชาติที่เคยเผากรุงศรีอยุธยา’ ทำไมวันนี้ถึง ‘ชื่นมื่น’ กว่าที่เคย 

เพื่อควานหาคำตอบ ประชาไทจึงชวนมาฟังมุมมองของ ดุลยภาค ปรีชารัชช ผู้เชี่ยวชาญด้านการเมืองพม่า และอาจารย์คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ในหลากหลายประเด็นความสัมพันธ์นายพลไทย-พม่าที่เป็นอยู่ ณ ตอนนี้ รากฐานด้านการทูตแบบกองทัพ อะไรคือจุดเปลี่ยนที่ทำให้ศัตรูแห่งชาติใกล้ชิดกว่าที่เคย และข้อเสนอทิศทางความสัมพันธ์ไทย-พม่า ‘แบบไม่เลือกข้าง’ 

  • ดุลยภาคมองความสัมพันธ์ไทย-เมียนมา ช่วง ประยุทธ์ มินอ่องหล่าย แนบแน่นทุกระดับ ตั้งแต่ทหารชั้นล่างถึงนายพล จุดเปลี่ยนความสัมพันธ์ไทย-พม่าที่ดีขึ้นจากยุคสุรยุทธ์นั้น มาจากการเดินทางมาเยือนอุทยานราชภักดิ์เมื่อ 7 ปีที่ผ่านมาของกองทัพพม่า 
  • อีกปัจจัยหนึ่งคือการเรียนประวัติศาสตร์ไทยในโรงเรียนกองทัพเมื่อ 10 ปีที่ผ่านมา ทำให้ไทยไม่ได้มองพม่าเป็นศัตรูเหมือนอย่างเคย
  • ดุลยภาค เสนอว่า ไทยไม่ควรดำเนินความสัมพันธ์แบบเลือกข้าง และพยายามเล่นบทบาทตัวกลาง หรือประสานงานเวทีเจรจาระหว่าง NUG และ SAC
 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ทหารพม่ายอมถอย​จะไม่ยิงเรืออีก แต่ขอช่วยส่งเสบียงอาหารให้

ย้อนความสัมพันธ์ไทย-พม่า ชาติชาย-ชวลิต-ทักษิณ 

ดูความสัมพันธ์ไทย-เมียนมาช่วงที่ผ่านมา เพื่อเข้าใจปัจจุบัน ดุลยภาค ระบุว่า หากย้อนดูความสัมพันธ์ระหว่างไทย-เมียนมาระหว่างยุคสงครามเย็น โดยเริ่มตั้งแต่นายเชาวลิต ยงใจยุทธ อดีตผู้บัญชาการทหารบก และนายกรัฐมนตรี ซึ่งเป็นยุคการทูตชื่นมื่นระหว่างไทย-เมียนมา จนถึงการทูตกับเมียนมาสมัยทักษิณ ชินวัตร ซึ่งมี พลเอก สุรยุทธ์ จุลานนท์ อดีตผู้บัญชาการสูงสุดแห่งกองทัพไทย ซึ่งเป็นยุคแห่งความขมขื่น

ปวิน ชัชวาลพงศ์พันธ์ นักวิชาการ และอดีตนักการทูต เคยบรรยายถึงความสัมพันธ์ช่วงสมัยรัฐบาลชาติชาย ชุนหะวัณ ซึ่งมีพลเอกชวลิต เป็นหัวเรือใหญ่ด้านการต่างประเทศว่าเป็น 'ยุคทอง' ในการสร้างความร่วมมือทางการค้าระหว่างไทย-พม่า

ด้านขิ่นหม่องลิน รมว.ต่างประเทศของเมียนมาคราวนั้น เคยถึงกับออกปากถึงการขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรีของชวลิตว่า 'ชวลิตคือมิตรที่ดีของพม่า และยังเป็นนักธุรกิจด้วย เราต้องการผู้นำแบบนี้จากไทย' คำกล่าวนี้แสดงให้เห็นถึงความสัมพันธ์อันดีส่วนตัวระหว่างไทย-พม่าในตอนนั้น นอกจากนี้ ชวลิตเป็นหนึ่งในตัวตั้งตัวตีให้พม่าเข้ามาเป็นสมาชิกอาเซียนอีกด้วย
 

พลเอกชวลิต ยงใจยุทธ อดีตนายกรัฐมนตรีคนที่ 22 (พ.ศ. 2539-2540)
 

ดุลยภาค ระบุว่า พลเอก ชวลิต ยงใจยุทธ ถือเป็นคนที่สัมพันธภาพดีกับกองทัพพม่าอย่างมาก โดยเขารู้จักผู้บัญชาการทหารของพม่าหลายคน เช่น พลเอกอาวุโส ซอหม่อง พลเอกอาวุโส ตานฉ่วย ชนิดเรียกว่าเป็นพี่น้อง ยังได้ 

สิ่งที่ทำให้ชวลิต ประสบความสำเร็จด้านการทูตคือ การทูตแบบเครือญาติ เน้นการเจรจาบนโต๊ะอาหารอย่างเป็นทางการ หรือที่เรียกว่า การทูตเหมาไถ ซึ่งเป็นชื่อของสุราจีน 

การทูตแบบเหมาไถ หรือการทูตเครือญาติยุคชวลิตประสบความสำเร็จด้วยปัจจัยหลัก 2 ประการ คือ ตัวทักษะบุคลิกภาพและศิลปะการเจรจาเฉพาะตัวของชวลิตเอง กับทัศนคติที่ให้ความสำคัญกับทั้งผลประโยชน์ชาติ อนุนักษ์นิยม และการถนอมมิตรภาพกับเพื่อนบ้านไปพร้อมๆ กัน

"เมื่อสุรา เครื่องดื่ม ไวน์ เบียร์ อาหารอร่อยๆ บวกกับความสัมพันธ์ที่ชื่นมื่น ที่นับถือกันเป็นพี่เป็นน้อง เป็นเพื่อน เวลาเรียกก็จะเรียกเป็นแบบนี้ 'พี่จิ๋ว' 'พี่ชวลิต' 'พี่ซอหม่อง' มันทำให้ความสัมพันธ์ค่อนข้างราบรื่น และมีอะไรก็จะเคลียร์กันได้ผ่านการคุยกันอย่างนี้ ที่บอกกับพี่เบา ๆ หน่อยนะ พี่จัดตรงนี้มาให้หน่อยอะไรทำนองนี้ พี่เข้าใจน้องนะในเรื่องนี้ ในสมัยพลเอกชวลิต จะเห็นตรงนี้ชัดเจน" ดุลยภาค กล่าว 

พลเอก ชวลิต ยงใจยุทธ อดีตรัฐมนตรีคนที่ 22 (พ.ศ. 2539-2540) และเคยรั้งตำแหน่งผู้บัญชาการทหารบกเมื่อปี  พ.ศ. 2529-2531 เคยดำรงตำแหน่งรักษาการ ผู้บัญชาการทหารสูงสุด เมื่อปี พ.ศ. 2530-2533 รวมถึงรัฐมนตรีกระทรวงกลาโหมอีก 4 สมัย

พลเอกอาวุโส ซอหม่อง อดีตประธานสภาฟื้นฟูกฎหมายและระเบียบแห่งรัฐ (SLORC) และอดีตผู้บัญชาการทหารสูงสุดพม่า เมื่อ พ.ศ. 2531-2535

เหมาไถ เป็นชื่อสุรา ที่ผลิตในเมืองเหมาไถ ประเทศจีน และได้รับยกย่องว่า เป็นหนึ่งในสุราชั้นเลิศของโลก นอกจากนี้ เหมาไถ ยังถือเป็นสุราประจำชาติของจีน เพราะถูกนำมาเสิร์ฟเพื่อต้อนรับแขกบ้านแขกเมืองของรัฐบาลปักกิ่งหลายต่อหลายหน เช่น ในคราวที่ประธานาธิบดีแห่งสหรัฐฯ ริชาร์ด นิกสัน และ บิล คลินตัน มาเหยียบแดนมังกร

เวทีสร้างชื่อให้พลเอกชวลิต ในด้านการเจรจาและความสัมพันธ์ทางการทูต คือ ในสมัยเกรียงศักดิ์ ชมะนันท์ ชวลิตเป็นหนึ่งในคีย์แมนคนสำคัญของคณะเจรจาจากกระทรวงกลาโหม เดินทางไปเจรจาลับกับจีน สมัยเติ้ง เสี่ยวผิง ประธานาธิบดีของประเทศจีน เพื่อขอให้จีนยกทัพลงมาตีเวียดนามจากทางเหนือ สกัดอิทธิพลของคอมมิวนิสต์ 

ตัดมา พลเอกชาติชาย ชุณหะวัณ อดีตนายกรัฐมนตรีของไทย เคยเป็นทั้งนักการทหาร และนักการทูต ผลงานที่สำคัญของชาติชาย คือ การออกนโยบายเปลี่ยนสนามรบเป็นสนามการค้า ช่วงใกล้ยุติสงครามเย็น นโยบายนี้ส่งผลให้ความสัมพันธ์กับเพื่อนบ้าน จากคู่ขัดแย้งทางอุดมการณ์ กลายเป็นคู่ค้าที่ชื่นมื่นโดยเฉพาะทางฝั่งตะวันตกของไทย หรือพม่า ทั้ง 2 เคสนี้ทั้งชวลิต กับชาติชาย ถือเป็นความสัมพันธ์ระหว่างประเทศกับเพื่อนบ้านในเชิงบวก

สมัยชาติชาย ชุณหะวัณ เป็นนายกฯ เคยออกมา 'ปฏิเสธ' การคว่ำบาตรของนานาชาติต่อรัฐบาลทหารพม่า เนื่องด้วยสมัยนั้น ชาติชาย ต้องการกระชับความสัมพันธ์ทางการค้ากับฝั่งพม่า 'นโยบายเปลี่ยนสนามรบเป็นสนามการค้า' จึงเลือกดำเนินนโยบายเชิงสร้างสรรค์กับทางพม่ามากกว่า  

แต่พอมาในช่วงนายกฯ ทักษิณ ชินวัตร เมื่อปี พ.ศ. 2544-2545 ความสัมพันธ์ของแม่ทัพไทยนำโดยพลเอก สุรยุทธ์ จุลานนท์ ผบ.ทบ. และวัธนชัย ฉายเหมือนวงศ์ แม่ทัพภาค 3 (คุมชายแดนภาคเหนือ ชายแดนไทย-พม่า) และกองทัพพม่านั้น มีความร้าวฉานระหองระแหงต่างจากพ่อใหญ่จิ๋ว

บริบทในช่วงนั้นค่อนข้างมีความสลับซับซ้อนไม่น้อย เนื่องด้วยนโยบายขณะนั้นของทักษิณ คือการทำสงครามกับยาเสพติด ซึ่งไทยก็สงสัยเรื่องการค้ายาเสพติดที่ทัพว้าแดง หรือสหรัฐว้า และกองทัพพม่า อยู่เบื้องหลัง ประกอบกับ แหล่งข่าวทหารระบุว่า ทางสุรยุทธ์ และวัธนชัย มีความสัมพันธ์ที่ดีกับทางกองกำลังชาติพันธุ์ที่สำคัญ คือ สหภาพแห่งชาติกะเหรี่ยง (KNU) และทางกองกำลังกู้ชาติรัฐฉานใต้ (SSA-S) ของเจ้ายอดศึก ก็มีการรบกันทั้งระหว่าง SSA และว้าแดง และทางทัพพม่าและไทย

ทักษิณ ชินวัตร (ซ้าย) อดีตนายกรัฐมนตรี และ สุรยุทธ์ จุลานนท์ (ขวา) ปัจจุบันดำรงตำแหน่งประธานองคมนตรี
 

"ช่วงนั้นถ้าจำไม่ผิด สุรยุทธ์ จุลานนท์ ได้ขนกองกำลังทหารม้าไปจำนวนมาก รวมถึงกำลังของทหารไทย 3-4 หมื่นนาย ขึ้นไปประจำที่ชายแดนภาคเหนือโดยไม่ผ่านไฟเขียวนายกรัฐมนตรี” ดุลยภาค กล่าว พร้อมระบุว่า การยกพลขึ้นไปครานั้น สร้างความตึงเครียดระหว่าง 2 ประเทศจนทำให้ทักษิณ ชินวัตร ซึ่งมีนโยบายต้องการสานสัมพันธ์เชิงสร้างสรรค์ และค้าขายกับทางพม่าโดยไม่แทรกแซงการเมือง ก็ต้องออกมาปราม ผบ.ทบ. ว่าอย่า ‘overreact’ หรืออย่ามีปฏิกิริยาตอบโต้พม่าที่มากจนเกินไป สุดท้าย ความตึงเครียดด้านความมั่นคง และความขัดแย้งด้านนโยบายต่างประเทศโดยเฉพาะพม่า ก็ส่งผลให้ สุรยุทธ์ ถูกเด้งไปเป็น ผบ.สส."  

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

"ความไม่ลงรอยกันแห่งอดีตและปัจจุบันของ พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์" จากมุมมองนักวิชาการนอก

แม้ว่านั่นจะเป็นความร้าวฉานระหว่างไทย-พม่าในอดีต แต่ดุลยภาค มองว่า ปัจจุบันความสัมพันธ์ยุคประยุทธ์-มินอ่องหล่าย กลับมาชื่นมื่นอีกครั้งแล้วด้วยหลายปัจจัย 

การทูตแบบไม่เป็นทางการ (Informal) เป็นประเพณีการทูตสำคัญเมื่อเริ่มก่อตั้ง สมาคมประชาชาติเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ หรือ อาเซียนอีกด้วย นักวิชาการ หรือนักสังเกตการณ์ยังเคยแซวอาเซียนว่า เป็นการทูตเล่นกอล์ฟ (Sport Shirt Diplomacy) คือการที่ไปเล่นกอล์ฟคุยกัน แทนที่จะนั่งประชุมในห้องอย่างเดียว สุดท้าย กลายเป็นจารีต และจุดเด่นทางการทูตของผู้นำและเจ้าหน้าที่ระดับสูงของประเทศสมาชิกอาเซียน เรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน

มินอ่องหล่าย-ประยุทธ์ ความสัมพันธ์แน่นทุกระดับ

เมื่อถามถึงความสัมพันธ์ระหว่าง 'บิ๊กตู่-มินอ่องหล่าย' อ.จากรั้วแม่โดมชี้ว่า ความสัมพันธ์ของไทย-พม่าไม่ธรรมดา ดีในทุกระดับทั้งในระดับแม่ทัพด้วยกันเอง และนายทหารที่กุมอำนาจในหน่วยรบต่างๆ ด้วยกันเอง นายทหารระดับล่างบางพื้นที่ก็มีคอนเนกชันด้วยกัน ‘เป็นความสัมพันธ์ที่ไม่ควรประเมินต่ำไปว่ามันไม่แนบแน่น ผิวเผิน มันปึ๊กเลยทีเดียว’

สิ่งที่น่าสนใจสำหรับรัฐบาลประยุทธ์ จันทร์โอชา หรือกระทั่งประวิตร วงศ์สุวรรณ คือ แม้นว่ารากฐานเดิมของทั้งคู่เติบโตมาจากคุมกำลังในค่ายทหารใน จ.ปราจีนบุรี หรือ จ.สระแก้ว ก็จะรู้เส้นสนกลในผู้นำและนักการทูตทหารฝั่งกัมพูชา แต่ว่าประสบการณ์ทางภาคสนาม ไม่ได้สัมพันธ์กับพม่าโดยตรง แม้จะเคยเป็นแม่ทัพภาคที่ 1 และมีชายแดนฝั่งพม่าที่ต้องรับผิดชอบ เช่น เขตกาญจนบุรี ที่ต้องอยู่ในตาในร่องในรอย แต่จุดเปลี่ยนทางการทูตที่เริ่มทำให้กองทัพพม่า-ไทยสนิทกันขึ้น คือ การที่มินอ่องหล่าย เดินทางมาอุทยานราชภักดิ์ เมื่อปี 2557 

"แต่จุดเปลี่ยนสำคัญ ถือว่าเป็น ‘Breaking Point’ ที่ทำให้นายพลสองนายนี้ได้กระชับความสัมพันธ์ คือช่วงที่ประยุทธ์ ทำรัฐประหารเมื่อ 7 ปีที่แล้ว ในนามของ คสช. (ผู้สื่อข่าว - คณะรักษาความสงบแห่งชาติ) และพลเอกอาวุโส มินอ่องหล่าย ผู้บัญชาการสูงสุดแห่งกองทัพพม่า ก็บินมาจับไม้จับมือชื่นชมว่า สิ่งนี้ทำถูกแล้ว เขาบอกว่า วิกฤตการเมืองไทยที่มันมีการตีกันสองฝ่าย มันไม่มีทางออก นอกจากการนำรถถังเข้ามารัฐประหาร เขาก็ชื่นชมกัน นั่นคือจุดเปลี่ยนที่ทำให้มีสายสัมพันธ์ที่แนบแน่น เข้าใจกันในเรื่องของแนวคิดแก้ไขสถานการณ์ของบ้านเมือง ในมุมมองของทหารทั้งสองประเทศ" ดุลยภาค กล่าว 

นายพล โซวิน ปัจจุบันตำแหน่งรองผู้บัญชาการสูงสุดแห่งกองทัพพม่า หรือเบอร์ 2 ในกองทัพพม่าขณะนี้ เป็นอีกหนึ่งของเจ้าหน้าที่ระดับสูงของกองทัพพม่าที่เคยมาเยือนอุทยานราชภักดิ์ พร้อมกล่าวชื่นชมและนำเรื่องอนุสาวรีย์กษัตริย์ไทย ไปเปรียบเทียบอนุสาวรีย์ 3 ยอดกษัตริย์ในเมียนมาในเนปยีดอ ซึ่งสะท้อนว่าทั้ง 2 ประเทศจะมีแนวคิดทางการเมือง และประวัติศาสตร์ศูนย์กลางที่คล้ายคลึงกันอย่างมาก 

ถ้าดูประวัติศาสตร์การทูตกองทัพสยาม-เมียนมาให้ดี ห้วงเวลา 7 ปีที่ผ่านมานับตั้งแต่ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ทำรัฐประหาร นายพล 2 ประเทศก็ไม่เคยมีเรื่องระหองระแหงกันอีกเลย 

ดุลยภาค อธิบาย พร้อมยกตัวอย่างอีก 2 กรณี คือ การที่ทางการไทยช่วยเป็น 'ตัวกลาง' อำนวยความสะดวกให้กองกำลังติดอาวุธชาติพันธุ์เจรจากับกองทัพพม่า เช่น สหภาพแห่งชาติกะเหรี่ยง หรือ KNU และสภาเพื่อการกอบกู้รัฐฉาน  หรือ RCSS โดยทั้ง 2 กองกำลังนับเป็นอริของกองทัพพม่ามาอย่างยาวนาน (KNU เป็นกองกำลังชนกลุ่มน้อยที่ก่อรูปขึ้นและต่อสู้กับทางการพม่าตั้งแต่ราวห้วง ค.ศ. 1948-1949 หรือ พ.ศ. 2491-2492) เข้าร่วมเรื่องการเจรจาหยุดยิงกับเนปยีดอ และสองคือ การที่ไทยไม่ร่วมหัวจมท้ายไปกับบางประเทศในอาเซียนเพื่อกดดันคณะรัฐประหารพม่าชุดปัจจุบัน ซึ่งถือเป็นท่าทีที่แตกต่างจากบางรัฐในเขตพื้นสมุทร เช่น อินโดนีเซีย และมาเลเซีย ที่มีท่าทีแข็งกร้าว 

"ความสัมพันธ์ไทย-พม่า หลังจากมินอ่องหล่ายทำรัฐประหาร ไทยยังคงที่จะมีความสัมพันธ์แบบทวิภาคีเป็นทางการกับกรุงเนปยีดอ เพราะว่าไทยมีชายแดนบกติดกับพม่าราว 2,400 กม. มีความสัมพันธ์หลากหลายมิติทั้งเรื่องของเขตแดน เรื่องของการค้าชายแดน ที่ต้องพึ่งพาถ้อยทีถ้อยอาศัยกัน เรื่องของการสร้างความไว้เนื้อเชื่อใจ หรือเรื่องของประวัติศาสตร์ ซึ่งมีทั้งความขัดแย้ง และพยายามเข้าใจกัน ซึ่งมันเป็นรูปแบบเฉพาะที่ไม่เหมือนกับบางประเทศที่มันไกลออกไปจากรัฐพม่า ไทยจึงต้องสงวนท่าทีด้านต่างประเทศต่อพม่าเป็นการเฉพาะ"

"ประยุทธ์เองก็ไม่ได้ออกมาต้านมินอ่องหล่าย ในเรื่องของการก่อรัฐประหารชัดเจน เหมือนกับหลายๆ ประเทศ ก็พอเข้าใจได้อยู่ว่า หัวอกมันคล้ายๆ กัน ก็เลยไปด้วยกันได้ เพราะว่านี่ก็เป็นจุดที่พอจะตอบคำถามได้ คือ หนึ่งมันเป็นรากประวัติศาสตร์การทูตแบบผู้นำต่อผู้นำที่มีคอนเนกชัน และสอง มีเงื่อนไขจำเพาะเจาะจง เพราะมินอ่องหล่าย (ในทางการเมืองเปรียบเทียบ) ค่อนข้างจะอยู่ข้างประยุทธ์ รัฐประหารของมินอ่องหล่าย ประยุทธ์ก็ไม่ได้ออกมาวิพากษ์วิจารณ์เหมือนบางประเทศ เขาก็คิดว่าไทยหรือประยุทธ์ ก็จะพึ่งได้เหมือนกัน" อาจารย์จาก มธ. ระบุ

ทั้งนี้ ในมุมมองของดุลยภาคที่เคยทำงานใกล้ชิดกับทั้งฝั่งกองทัพไทยและพม่า อ.จากรั้วแม่โดม วิเคราะห์เพิ่มว่า มีอีกปัจจัยหนึ่งที่ทำให้เส้นแห่งความหวาดระแวงระหว่างกรุงเทพฯ-เนปยีดอ คลายตัวลงไป นั่นก็คือ 'การศึกษาประวัติศาสตร์ชาติของไทย' ซึ่งผลัดใบจาก มโนทัศน์ที่มองพม่าเป็นศัตรู บุกทำลายกรุงศรีอยุธยา สู่อาเซียนภิวัฒน์ (คือการบูรณาการเชื่อมโยงภูมิภาคผ่านการสร้าง 3 ประชาคมอาเซียน)

จาก ‘ศัตรูเผากรุง’ สู่ ‘มิตรสหายท่านหนึ่ง’ : การศึกษา ปวศ.ในกองทัพที่แปรเปลี่ยน

จากประสบการณ์ของดุลยภาคที่ถูกรับเชิญไปบรรยายในกองทัพไทยหลายครั้ง โดยเฉพาะในเรื่องการเมืองพม่าและประวัติศาสตร์การเมืองเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เขาได้สนทนากับนายทหารหลายระดับในหลายๆ พื้นที่ เช่น กองทัพภาคที่หนึ่ง และกองทัพภาคที่สาม สิ่งหนึ่งที่ดุลยภาค สัมผัสได้ คือ เส้นแห่งความหวาดระแวงของกองทัพไทยที่มีต่อกองทัพพม่า มันคลายตัวลงไปจากตอนสงครามเย็น มโนทัศน์เรื่อง ‘พม่าเป็นศัตรูแห่งชาติ’ จางลงไป ทหารไทยมีความเข้าใจว่า ประวัติศาสตร์-ความจริงไม่ได้มีเพียงชุดเดียว และนี่เป็นหนึ่งปัจจัยที่ทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างรัฐไทย-พม่าดีขึ้นในห้วงยามนี้

"จุดเปลี่ยนของการต่างประเทศไทย คือ เรื่องเล่าทางประวัติศาสตร์หรือว่าโวหารเรื่องเล่าที่มันอยู่ในคอนเซ็ปต์การกำหนดนโยบายระหว่างประเทศและป้องกันประเทศของทหารไทยมันเปลี่ยนไป" อาจารย์จาก มธ. ระบุ

เรื่องเล่าทางประวัติศาสตร์ (historical narrative) ที่ส่งผลต่อชุดความคิดของผู้นำทหารไทยในยุคสงครามเย็น คือ เรื่องของการเสียกรุงศรีอยุธยา ครั้งที่ 2 กับเรื่องสงครามของลัทธิจักรวรรดินิยม ที่ทำให้เกิดวาทกรรมเสียดินแดนในสมัย ร.5 แนวคิดรักชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ แนวคิดเหล่านี้ยังอยู่ในจิตใจของผู้นำทหารไทยโดยเฉพาะสายอนุรักษ์นิยม เวลามองพม่า ก็จะมองว่าเป็น ‘เพื่อนบ้านที่ไว้ใจไม่ได้’ หรือศัตรูตัวฉกาจที่เข้ามาทำลายกรุงศรีอยุธยาย่อยยับ เรื่องเล่าแบบนี้มันยังอยู่ในทหารรุ่นเก่า ทหารรุ่นสงครามเย็น ทหารที่เป็นสายอนุรักษ์นิยม 

แต่ ณ ปัจจุบัน คิดว่าโลกทัศน์ทางการทูตของผู้นำทหารมันเปลี่ยนแปลงไป เรื่องต่างๆ ที่พูดไปเมื่อสักครู่ยังคงอยู่ แต่ระดับความเข้มข้น คิดว่าเจือจางลงบ้าง มีแนวคิดใหม่ๆ ถาโถมเข้ามา เช่น แนวคิดเรื่องอาเซียนภิวัฒน์ แนวคิดเรื่องการกระชับความสัมพันธ์กับเพื่อนบ้าน เพื่อนบ้านไม่ได้เป็นศัตรู การเผาบ้านเผาเมืองในอดีตเป็นประเพณีการทำศึกสงครามตามปกติ การเทครัว เราก็เคยทำกับเพื่อนบ้าน ก็เคยไปทำสงครามตีเจ้าอนุวงศ์ เวียงจันทน์ ทำสงครามตีกรุงศรียโศธรปุระของพระเจ้ากรุงกัมพูชา แม้กระทั่งพระนเรศวรก็ยกทัพตีหงสาวดีและมีแผนบุกกรุงอังวะ

การศึกษาในโรงเรียนทหาร การศึกษาในโรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า โรงเรียนเสนาธิการทหารบก ในเรื่องของประวัติศาสตร์สงครามมันก็มีการปรับเปลี่ยนมุมมองแนวคิดพวกนี้ เขาไม่ได้มองว่าจะต้องเจ็บช้ำ หรือหวาดระแวงเพื่อนบ้านอีกแล้ว ไทยก็ทำแบบนี้เหมือนกันในเพื่อนบ้านอื่นๆ ในทางประวัติศาสตร์

ขณะที่ในด้านของพม่าก็ไม่ได้มองไทยเป็นศัตรูแห่งชาติ หรือคู่ขัดแย้งในประวัติศาสตร์ สำหรับเพื่อนบ้านฝั่งตะวันตก จะมีทัศนคติแง่ลบกับจักรวรรดิอังกฤษ กับฟาสซิสต์ญี่ปุ่นมากกว่า

"แม้พม่าก็เคยมีแบบเรียนที่โจมตีประเทศไทยเช่นกันเมื่อสมัยสุรยุทธ์ และตานฉ่วย แต่สังเกตว่าเรื่องเล่าทางประวัติศาสตร์อย่างนี้มันก็หายไปในวงของประเทศพม่าเหมือนกัน และยิ่งพม่าเปลี่ยนผ่านการเมืองในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา เรื่องเล่าที่ต่างฝ่ายต่างมองว่าเป็นศัตรูก็หายไป ช่วงที่มีการกระแสอาเซียนภิวัฒน์ และมีกระแสที่มีผู้นำทหารเข้าไปดีลกับทางพม่าได้อย่างสนิทชิดเชื้อกันมากขึ้น สองประเทศนี้ทหารมองการเมืองเหมือนๆ กัน มีความเห็นอกเห็นใจ โดยมีความรู้สึกว่า ทหารทั้งสองรัฐต่างเผชิญกับแรงกดดันของกระบวนการประชาธิปไตยคล้ายๆ กัน ดังนั้น ยุทธวิธีในการต่อสู้กับฝ่ายประชาธิปไตย ก็ควรหยิบยืมกันได้ นำมาศึกษาเปรียบเทียบกันได้ ซึ่งสิ่งต่างๆ เหล่านี้ สุดท้ายก็เข้ามากลบบังเรื่องเล่าประวัติศาสตร์ฉบับเสียกรุงศรีอยุธยา และก็เข้ามาทำให้ชนชั้นนำทหารทั้งสองรัฐมีความสัมพันธ์ทางการเมืองที่แนบชิดต่อกัน" 

“คิดว่าผู้นำทหารไทย คิดเรื่องนี้เบาลง ถ้าเทียบกับในอดีต คิดว่าเรื่องนี้เป็นสิ่งสำคัญและทำให้การต่างประเทศ การทูตไทยที่มันเปลี่ยนมันคลายลงไป” อาจารย์จากคณะศิลปศาสตร์ มธ. ระบุ

แบบเรียนที่ ดุลยภาค กล่าวถึง คือ แบบเรียนวิชาสังคมศึกษา สำหรับนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 (ความหนาเพียง 12 หน้า) และมัธยมศึกษาตอนต้น อีก 1 เล่ม (หนา 74 หน้า) ยอดพิมพ์ 750,000 ฉบับ ตำราทั้งสองเล่มผลิตโดยคณะกรรมการหลักสูตรและแบบเรียนของกระทรวงศึกษาธิการพม่า และเริ่มใช้ในโรงเรียนสมัยปี พ.ศ. 2544 หรือตรงกับยุคสมัยนายกฯ ทักษิณ ชินวัตร โดยสาระสำคัญพูดถึงความสัมพันธ์ระหว่างพม่า-ไทย นับตั้งแต่อดีตถึงปัจจุบัน วิรัช นิยมธรรม ผู้เชี่ยวชาญด้านภาษาพม่า และเป็นผู้แปลสำนวนตำราเรียนของพม่าฉบับนี้ ระบุว่า “ประเด็นสำคัญของเล่มนี้อยู่ที่ปัญหาความสัมพันธ์ของทั้งสองประเทศ โดยพม่าวิจารณ์ไทยว่าเป็นต้นเหตุของปัญหา จนทำให้พม่าต้องประสบความยุ่งยากตลอดมา”

ในอนาคตยังตอบไม่ได้ว่า มันจะมีความขัดแย้งในมิติความมั่นคงระหว่างไทย-พม่า ขึ้นมาอีกหรือไม่ ตอนนี้ยังไม่เกิด แต่ไม่แน่ เพราะว่าทุกอย่างมีเงื่อนไข แต่ถ้ามันเกิดขึ้นมาแล้ว ไม่รู้ว่าเรื่องเล่าทางประวัติศาสตร์นี้จะถูกปลุกขึ้นมาอีกไหม และถ้าถูกปลุกขึ้นมา ประวัติศาสตร์ชาตินิยมแบบนี้ จะยังขายได้ หรือมีคนซื้อในจำนวนมากขึ้นเหมือนในอดีตรึเปล่า “ผมตอบไม่ได้” เพราะว่าโลกมันเปลี่ยนไปเยอะแล้วด้วยเหมือนกัน

เรื่องเล่าตอนนี้เป็นเรื่องของอาเซียนภิวัฒน์ เรื่องของการดำรงอยู่ของผู้นำทหารที่ต้องสู้กับฝ่ายต่อต้านรัฐบาล ต้องแชร์กันยังไง แต่เรื่องเล่าแบบชาตินิยมมันไม่ได้หายสูญสลายไป มันอยู่ แต่ถูกกลบเอาไว้ ถูกข่มความเด่น พลังจะไม่เหมือนในอดีตโดยเฉพาะในยุคสงครามเย็น ถูกปลุก ถูกทบทวนขึ้นมาใหม่หรือไม่ ขึ้นอยู่กับสถานการณ์อีกทีหนึ่ง

"ตัวผมเคยถูกเชิญไปบรรยายในค่ายทหาร ทัพบก ทัพเรือ ทัพอากาศ บางครั้งถูกเชิญไปให้ข้อเสนอแนะเกี่ยวกับการกำหนดนโยบายป้องกันประเทศระหว่างรัฐไทยกับรัฐเพื่อนบ้าน ผมก็สัมผัสได้ว่า เขาคิดอย่างนี้นะ เราเอาเรื่องอาเซียนภิวัฒน์เข้าไปขาย เอาเรื่องเพื่อนบ้านเข้าไปขาย เขายอมรับนะ และเขาก็เรียนรู้ว่าประวัติศาสตร์มันไม่ใช่เป็นแบบเวอร์ชันเดียว มีหลายเวอร์ชัน ลูกศิษย์ผมที่เป็นนายทหารระดับต่างๆ ก็ยอมรับเรียนรู้เรื่องประวัติศาสตร์และการเมืองเปรียบเทียบในอาเซียนในมุมมองที่กว้างไกลกันมากขึ้น และเรื่องพวกนี้ไม่ใช่ว่าเกิดขึ้นล่าสุด จริงแล้ว ตั้งแต่ก่อนที่ผมจะลาไปศึกษาต่อปริญญาเอกที่ฮ่องกงกับสหรัฐอเมริกา ผมได้เคยไปให้ความรู้แก่นายทหาร ผมก็สัมผัสได้ว่าชุดความคิดเรื่องระแวงเพื่อนบ้านของทหารได้เปลี่ยนไปบ้างแล้ว เรื่องนี้เกิดขึ้นเมื่อเกือบๆ สิบปีมาแล้วครับ"

คอนเนกชันมีผลต่อนโยบายระดับชาติมากแค่ไหน

ดุลยภาค ระบุว่า ก็ต้องดูระบอบการเมืองด้วยในแต่ละช่วง ในช่วงที่เป็นเผด็จการทหาร รวมศูนย์อำนาจอยู่ที่กองทัพเป็นหลัก และก็มีตัวแสดงอื่นมาเกี่ยวบ้าง ความสัมพันธ์ระหว่างทหารต่อทหารนี่ ถือเป็นจุดเด่น เป็นพลังขับดันของกิจการต่างประเทศเลยทีเดียว

แต่ว่าถ้าในช่วงระบอบการเมืองที่มีกลุ่มอำนาจพลเรือนขึ้นมาบริหารรัฐผ่านวิถีประชาธิปไตย ผ่านการเลือกตั้ง กองทัพก็เป็นแค่กลุ่มอำนาจหนึ่งเท่านั้น ไม่ใช่กลุ่มอำนาจหลักของระบอบการเมือง ความสัมพันธ์ระดับผู้นำทหารต่อผู้นำทหาร ก็ช่วยเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างประเทศได้ระดับหนึ่ง แต่ไม่ได้มากนักเหมือนสมัยที่ทหารครองรัฐเต็มๆ ไม่ได้เป็นแรงขับเคลื่อนสำคัญ แรงขับเคลื่อนสำคัญจะไปอยู่ที่ความคิดริเริ่ม (initiative) ของนายกรัฐมนตรี หรือเป็นเรื่องของการจัดวางนโยบายของกระทรวงการต่างประเทศเอง กองทัพเองก็จะสงวนไว้เฉพาะนโยบายป้องกันประเทศเท่านั้น นี่คือจุดต่างเมื่อเทียบกับในยุครัฐบาลทหารที่ทหารจะนำทั้งนโยบายป้องกันประเทศ นโยบายการปกครองประเทศและนโยบายต่างประเทศ

"แต่ถามว่าในยุครัฐบาลพลเรือนมีการทำงานร่วมกันไหมระหว่างกลุ่มการเมืองหรือกลุ่มข้าราชการต่างๆ ก็ตอบว่า มี และก็พบเห็นแบบนี้เป็นปกติ ไม่ว่าจะเป็นรัฐบาลทหารเดียว หรือรัฐบาลที่เป็นขั้วประชาธิปไตย โดยเฉพาะเรื่องที่เกี่ยวกับกิจการชายแดน ก็จะมีตัวแทนของกองทัพเข้าไปร่วมเสวนาวางแผนกับตัวแทนจากภาคส่วนอื่นๆ"

"ผมเคยเข้าไปอยู่ในเหตุการณ์นี้หลายครั้งด้วยกัน เวลาที่กระทรวงการต่างประเทศเข้าไปวางแนวนโยบายที่สัมพันธ์กับชายแดนของพม่า จัดประชุมวางแผนที่กรุงเทพหรือในพื้นที่ชายแดนผมก็เข้าไปร่วมวงกับเขาด้วยในฐานะผู้เชี่ยวชาญด้านพม่า ผมก็จะพบทั้งตัวแทนจากกระทรวงต่างประเทศ ตัวแทนกองทัพ และสมช. (สภาความมั่นคงแห่งชาติ) มานั่งคุยกัน มาพูดกันถึงว่าปัญหาหลักคืออะไร หน่วยงานต่างๆมีคอนเนกชันต่อถึงผู้นำเพื่อนบ้านคนไหนยังไงบ้าง แล้วหน่วยงานต่างๆจะช่วยมาแก้ปัญหาต่อพม่ายังไง"

ความว้าเหว่ของนโยบายรัฐกันชน

ความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างกองทัพไทย-พม่าช่วงนี้แน่นอนว่าส่งผลต่อนโยบายป้องกันประเทศเรื่องรัฐกันชน โดยดุลยภาค มองว่า นโยบายที่ไทยมองกองกำลังชาติพันธ์ุเป็นรัฐกันชน ไม่ว่าจะเป็นสหภาพแห่งชาติกะเหรี่ยง (KNU) และ สภาเพื่อการกอบกู้รัฐฉาน (RCSS) ถ้าเทียบกับสมัยก่อนเรืยกว่า 'อาจจะยังมีอยู่' แต่ 'เบาบางลงไปมาก'

รัฐกันชนคือพื้นที่ หรือดินแดนระดับประเทศที่มันอยู่คั่นระหว่างรัฐที่ขัดแย้งกันอยู่ระหว่างสองรัฐขึ้นไป ในทางประวัติศาสตร์ความสัมพันธ์ไทย-พม่า นักการทหาร หรือกษัตริย์โบราณก็มองเรื่องนี้เช่นกัน ยกตัวอย่างกรณีอาณาจักรมอญ หรือกรุงหงสาวดี กษัตริย์อยุธยามองการดำรงอยู่ของมอญในฐานะรัฐกันชนเหมือนกัน เช่น ถ้ามีมอญคั่นอยู่ หรือมอญกล้าแข็งขึ้นมา อยุธยาก็จะปลอดภัย เพราะมีคนคอยบล็อกอำนาจของจักรวรรดิพม่า แต่ถ้าคราใด มอญแตกให้อยุธยาเตรียมรับหายนะไว้ได้เลย

ในสมัยจักรวรรดินิยม สยามก็ถูกมองว่าเป็นรัฐกันชนคั่นกลางระหว่างสองมหาอำนาจยุโรปอย่างอังกฤษ-ฝรั่งเศส ขณะที่สงครามอินโดจีน ไทยก็มองเขมรแดง เป็นรัฐกันชนเพื่อกันประเทศโลกคอมมิวนิสต์อย่างเวียดนาม หรือถ้าชายแดนฝั่งพม่า ก็มีกองกำลัง KNU คอยกันกองทัพพม่า

"การดำรงอยู่ของรัฐกันชนเป็นเรื่องปกติแต่รัฐกันชนก็มีเส้นทางประวัติศาสตร์แตกต่างกัน บางทีก็สูญสลายไปง่าย บางทีก็สูญสลายไปไม่ง่าย ก็กลับขึ้นมาใหม่ ผุดตัวปรากฏขึ้นมาใหม่ได้ในช่วงเวลาที่ความขัดแย้งปะทุ เช่น สยามที่เป็นรัฐกันชนระหว่างอังกฤษและฝรั่งเศส พอสถานการณ์การเมืองระหว่างประเทศมันเปลี่ยน อังกฤษ กับฝรั่งเศส ถอนตัวจากลัทธิอาณานิคมในโซนนี้ สเตตัสของสยามที่เป็นรัฐกันชนก็หายไป และนำมาสู่การสถาปนารัฐใหม่เป็นรัฐพม่า รัฐลาว และรัฐกัมพูชา

"ในกรณีของพม่า-ไทย ไทยก็มีนโยบายให้ KNU และ RCSS เป็นรัฐกันชนเช่นเดียวกัน แต่จุดเปลี่ยนคือกระบวนการเจรจาหยุดยิงทั่วประเทศ (Nationwide Ceasefire Agreement - NCA) เมื่อราว 5-6 ปีที่ผ่านมา มีส่วนทำให้รัฐกันชนมันเบาลง เพราะกองกำลังชาติพันธุ์ที่เป็นคู่ขัดแย้งกับกองทัพพม่า ถูกดึงเข้าสู่การเจรจาเพื่อสลายความขัดแย้ง เปลี่ยน 'นักรบหลังพิงไทย-สู่นักการเมืองบนเวทีเจรจาสันติภาพ'

"ที่ผ่านมาผมคิดว่าเป็นความว้าเหว่เหมือนกันในนโยบายรัฐกันชน เพราะว่ามันเป็นช่วงที่ทุกอย่างมันมุ่งสู่ถนนสันติภาพ และไทยเองก็เป็นผู้อำนวยความสะดวกเหมือนกัน การจัดประชุมเวิร์กช็อปที่เชียงใหม่ ก็จัดในพื้นที่ประเทศไทย เจ้าหน้าที่ประเทศไทยก็อำนวยความสะดวกให้กลุ่มติดอาวุธชาติพันธุ์-ตัวแทนของรัฐบาลพม่าในช่วงนั้น ตัวแทนของคณะอูอ่องมิ้น รัฐมนตรีกิจการรถไฟ และผู้นำกระบวนสันติภาพในฝั่งรัฐบาลพม่า ก็เข้ามาพูดคุยเจรจากันในเขตประเทศไทย และหลังจากนั้นก็ขนเข้าไปประชุมในเขตของพม่า

"เพราะฉะนั้น บรรยากาศมันก็เปลี่ยนไป กลายเป็นว่ากองทัพไทยก็เปิดทางให้กลุ่มที่เคยถูกมองว่าเป็นรัฐกันชนได้เข้าสู่กระบวนการหยุดยิง (NCA) เพื่อเจรจาเรื่องสหพันธรัฐประชาธิปไตยในพม่า ความเป็นรัฐกันชนในพื้นที่ก็คลายความเข้มข้นลงไป เพราะว่ามันมีการพูดคุยกันมากขึ้น ระหว่างรัฐบาลพม่ากับกลุ่มที่เป็นปฏิปักษ์เป็นอริกับส่วนกลาง สิ่งเหล่านี้ทำให้ภาพรัฐกันชนดูพร่ามัวและว้าเหว่

"แต่ว่าหลังหลังรัฐประหาร ในแง่การเมืองสันติภาพ ยังตอบไม่ได้ว่ายังไง แต่ถ้าให้กล่าวโดยสรุป ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา ภาพของตัวกันชน มันพล่ามัวลงไป ด้วยการปรากฏตัวใหม่ของสถาบัน และกลไกสันติภาพ ซึ่งตรงนี้เป็นจุดเปลี่ยน แต่ว่ามันจะกลับมาใหม่หรือยังไง ก็ต้องดูด้วยว่า กองทัพพม่าหรือฝั่งพม่าเป็นภัยคุกคามกับทางฝั่งไทยไหมในช่วงเวลานับจากนี้"

ประธานาธิบดีวินมยิ้ด จับมือกับมูตูเซโพ ประธานสหภาพแห่งชาติกะเหรี่ยง (KNU) ในการประชุมปางโหลงแห่งศตวรรษที่ 21 รอบที่ 3 เมื่อวันพุธที่ 11 ก.ค. 2561 ในภาพยังมีอองซานซูจี มนตรีแห่งรัฐ และ พล.อ.อาวุโส มินอ่องหล่าย ผบ.สส. ที่มา: MNA/The Global New Light of Myanmar, 12 July 2018 P.1
 

ทั้งนี้ พรมแดนไทย-พม่า มีความซับซ้อน มีกองกำลังชาติพันธุ์หลายกลุ่ม และยังมีข้อพิพาทด้านดินแดนกับทางฝั่งพม่า อย่างดอยลาง ดอยห้วยฮะ ตรงแม่อาย จังหวัดเชียงใหม่ ตรงข้ามกับรัฐฉาน ของพม่า ซึ่งพื้นที่ทับซ้อน ประมาณ 32 ตร.กม. ซึ่งใหญ่กว่าเคสของประสาทพระวิหาร แต่ยังไม่เป็นกระแสข่าว และความขัดแย้งยังไม่ถูกจุดให้ปะทุลุกโชนขึ้นมา มันก็เงียบหายไป แต่จริง ๆ มันก็ยังมีความขัดแย้งเขตแดนหลายจุดเลยทีเดียว เช่น แม่น้ำเมยเปลี่ยนทางเดิน ด่านพระเจดีย์สามองค์ และเกาะในทะเลอันดามัน

"ประเมินดูแล้วว่ามันไม่เห็นรัฐกันชนแบบเด่นชัด ยังไม่เห็นอะไรที่มันเด่นชัดขนาดนั้น ช่วงนี้ปฎิสัมพันธ์ความมั่นคงระหว่างสองประเทศก็เป็นช่วงติดตามข่าวสาร มอนิเตอร์ข่าวสาร มีอะไรกระทบกระทั่งตามแนวชายแดนก็ให้ผู้นำต่อสายคุยกัน หรือเจ้าหน้าที่ระดับท้องที่ ต่อสายคุยกันเป็นชั้นๆ เป็นช่วงๆ กันได้ ซึ่งผมคิดว่ายังไงก็ไม่มีสัญญะอะไรที่จะบ่งชี้ว่า จะมีการปรากฏตัวของนโยบายรัฐกันชน แต่ยืนยันว่ามันไม่ได้สลายตัวไปร้อยเปอร์เซ็น เพียงแต่พร่ามัวและคลายตัวลงโดยเฉพาะ 10 ปีที่ผ่านมาเท่านั้น"

ทิศทางการทูตไทยยุคมินอ่องหล่ายในสายตาดุลยภาค 

ช่วงที่ผ่านมาเร็วๆนี้ ในทางการเมืองพม่า มีสองค่ายสำคัญที่ลุกขึ้นมาช่วงชิงบทบาทการนำประเทศพม่า ระหว่างสภาบริหารแห่งรัฐ (SAC) นำโดยกองทัพพม่า และรัฐบาลเอกภาพแห่งชาติ NUG ซึ่งเป็นรัฐบาลคู่ขนาน ซึ่งเป็นการรวมตัว ส.ส. จากพรรค NLD ชนะการเลือกตั้งเมื่อปีที่แล้ว และ ส.ส.ชาติพันธุ์ ไทยควรดำเนินบทบาทความสัมพันธ์อย่างไร

สำหรับดุลยภาค ไทยไม่ควรดำเนินนโยบายเลือกฝ่าย หรือเทน้ำหนัก ร่วมหัวจมท้ายเพียงฝ่ายเดียว (Bandwagon) และละเลยความสัมพันธ์กับ NUG ไปเสีย

แน่นอนว่าความสัมพันธ์รูปแบบเป็นทางการ กับกระทรวงต่างประเทศ สถานทูตเมียนมา ไทยก็ยังคงต้องรักษาความสัมพันธ์กับ SAC เอาไว้ แม้ว่าบ่อเกิดแห่งอำนาจจะไม่ชอบธรรม แต่เนื่องจากไทย-พม่ามีความสัมพันธ์หลากหลายมิติ การค้าชายแดน หรือข้อพิพาทที่ได้กล่าวไปก่อนหน้านี้ การดำเนินนโยบายต่างประเทศของรัฐไทยจะละเลยศูนย์กลางอำนาจที่เนปิดอไม่ได้

ขณะที่ทางฝั่ง NUG เป็นตัวแทนจากฝั่งประชาธิปไตย และถูกปล้นอำนาจโดยการทำรัฐประหาร ซึ่งกลุ่มนี้จะเป็นอีกกลุ่มที่ไม่ควรละเลยเช่นกันในการจัดวางความสัมพันธ์ระหว่างประเทศของรัฐไทย 

"คิดว่ากลุ่มนี้ก็เป็นกลุ่มสำคัญ และในอนาคต ไม่รู้ว่า มันจะเข้มแข็งขึ้นไหม เช่น มีรัฐบาลที่เป็นมหาอำนาจการเมืองโลกให้การรับรองรัฐบาลนี้ไหม แค่ไหน กลุ่มชาติพันธุ์กลุ่มไหนที่เริ่มโยกเข้ามาร่วมมือกับกลุ่มนี้ ซึ่งตอนนี้ก็เริ่มเห็นแล้วบางกลุ่ม แต่ก็มีอีกหลายกลุ่มที่ยังสงวนท่าที ผมคิดว่ารัฐบาลเอกภาพแห่งชาติ ก็มีโอกาสเป็น actor (ตัวแสดง) ที่เริ่มทรงพลังอำนาจขึ้นมาบ้าง แม้ว่าจะยังไม่สามารถสู้กับรัฐบาลทหารของมินอ่องหล่ายได้ แต่พบว่ามีการสะสม bargaining power ของเขาอยู่ และก็เป็นตัวแทนจากประชาชนชาวพม่า"

 

นอกจากนี้ ดุลยภาค กล่าวเพิ่มว่า ไทยควรแสดงท่าทีหรือสื่อสารถึงประชาคมโลกให้เห็นอกเห็นใจ NUG และประชาชนพม่าบ้าง แม้ไทยจะคงสัมพันธ์กับคณะรัฐประหารในระบบการทูตแบบเป็นทางการ แต่ไทยเองก็รับไม่ได้กับความรุนแรงที่เกิดขึ้นในพม่า อยากให้ทุกฝ่ายหันหน้าเจรจาคุยกัน ยุติความรุนแรง ข้อความแบบนี้จะขาดเสียไม่ได้ และควรส่งเข้าไปเป็นระยะ ซึ่งการคงความสัมพันธ์กับทั้งสองฝ่าย จะทำให้ไทยสามารถเล่นบทบาทสำคัญ ในฐานะกาวใจ หรือตัวกลางประสานการเจรจา และลดความรุนแรงระหว่างสองค่ายได้ และบทบาทนี้เราเคยเห็นไทยในเล่นในการเจรจา NCA

"NUG ที่จะมีอำนาจมากขึ้นหรือไม่ หรือเกมการเมืองในพม่าจะยือเยื้อต่อไปอย่างไร ไทยควรมีแพลตฟอร์มที่จะเจรจา ติดต่อหรือรับฟังความคิดเห็นทางฝั่ง NUG เผื่อไว้บ้าง ซึ่งจะทำให้ไทยมีศักยภาพเหมือนกันในการเป็นแพลตฟอร์ม ที่ดึงให้ SAC กับ NUG เข้ามาพูดคุยกัน เพื่อแก้ไขปัญหาร่วมกัน ประยุทธ์อาจจะต่อสายถึงมินอ่องหล่ายในสถานการณ์ที่เหมาะสม เพื่อหาวิถีเจรจาแก้ปัญหา และมินอ่องหล่าย ก็อาจสบายใจที่ให้ไทยเป็นตัวกลาง

"นโยบายต่างประเทศอื่น ๆ ของไทยหรือหลายประเทศมีหลายออปชันให้เลือก จะเป็นนโยบายร่วมหัวจมท้าย (Bandwagon) เลือกมินอ่องหล่าย และด่าฝ่ายต่อต้านไปเลย ไทยไม่ควรเล่น แต่ว่านโยบายถ่วงดุลอำนาจ ก็คือรักษาอัตราสัมพันธ์ระหว่างค่ายมินอ่องหล่าย กับค่าย NUG คิดว่าไทยควรเล่น แต่จะโยกไปค่ายไหนมากเป็นพิเศษขึ้นอยู่กับสถานการณ์ของการเมืองระหว่างประเทศ และสถานการณ์ภายในของพม่าด้วย ซึ่งตอนนี้น้ำหนักอยู่ที่มินอ่องหล่ายด้วยส่วนหนึ่ง หากไม่มีนโยบายเผชิญหน้า ก็ไม่มีเงื่อนที่จะต้องมีเผชิญหน้ากับพม่า เพราะว่ามันไม่มีการปะทะ หรือการใช้กำลังทางความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ" ดุลยภาค กล่าวย้ำ พร้อมทิ้งท้ายว่า ในอนาคตเป็นสิ่งที่ไม่แน่ไม่นอน ความหมาดหมางระหว่างไทยกับพม่าอาจปะทุขึ้นมาอีกครั้งเมื่อไหร่ก็ได้ ซึ่งก็ต้องรอดูอีกครั้งว่า ไทยจะมีการปรับเปลี่ยนนโยบายความสัมพันธ์กับกองทัพพม่าอย่างไร 

หมายเหตุ - มีการปรับเปลี่ยนเนื้อหาเป็นปัจจุบัน เมื่อ 7 ก.ค. 2565 เวลา 17.00 น.

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
เรื่องที่เกี่ยวข้อง
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท