5 คดีราษฎรละเมิดอำนาจศาลตัดสินว่าผิดทุกคดี ล่าสุด 'กระเดื่อง' รอการลงโทษ

25 มิ.ย. 2564 ศาลอาญารอการกำหนดโทษ 'กระเดื่อง' 2 ปี เหตุชุมนุมเรียกร้องสิทธิประกันตัวที่ศาลอาญา ตั้งเงื่อนไขคุมประพฤติห้ามแสดงพฤติการณ์ไม่เรียบร้อยในบริเวณศาล นับเป็นคดีละเมิดอำนาจศาลที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินคดีราษฎรคดีที่ 5 จาก 13 คดี ที่ศาลอาญาตัดสินว่ามีความผิด

รอการกำหนดโทษ 'กระเดื่อง' ละเมิดอำนาจศาล เหตุร่วมชุมนุมเรียกร้องสิทธิประกันตัว

ไอลอว์รายงานว่า เวลา 10.00 น. ศาลอาญานัดฟังคำสั่งคดีละเมิดอำนาจศาล ของ 'กระเดื่อง' พิสิฏฐ์กุล ควรแถลง กลุ่มศิลปะปลดแอก (Free Arts) จากการเข้าร่วมกิจกรรม #saveเพนกวิน หน้าบันไดศาลอาญาเมื่อวันที่ 29 เม.ย. 2564 ซึ่งเป็นวันที่มีข่าวว่า 'เพนกวิน' พริษฐ์ ชิวารักษ์ กำลังอดอาหารอยู่ในเรือนจำมีอาการน่าเป็นห่วงเพราะถ่ายเป็นเลือด มารดาของพริษฐ์จึงมายื่นขอประกันตัวที่ศาลและมีคนมาให้กำลังใจจำนวนมาก

คดีนี้ศาลนัดหมายไต่สวน 2 ครั้ง ครั้งแรกวันที่ 20 พ.ค. 2564 แต่เลื่อนออกไปเป็นวันที่ 18 มิ.ย. 2564 เนื่องจากพิสิฏฐ์กุลเพิ่งทราบรายละเอียดข้อกล่าวหา ในการไต่สวนพิสิฏฐ์กุลยืนยันว่า ถ้อยคำหยาบคายที่เขาตะโกนเป็นการต่อว่าตำรวจไม่ใช่ศาล เหตุเพราะตำรวจประกาศข้อห้ามตามกฎหมายที่เกี่ยวเนื่องกับมาตรการป้องกันโควิด-19 หลายครั้ง ทั้งที่ผ่านมาการแพร่ระบาดไม่ได้มาจากประชาชนหรือผู้ชุมนุมเลย จึงตะโกนด่าออกไป

บรรยากาศโดยทั่วไปที่ศาลอาญา มีการวางมาตรการคัดกรองผู้เข้าออกอาคารศาล ผู้ที่จะเข้าอาคารศาลต้องผ่านจุดคัดกรองที่บริเวณลานจอดรถ ซึ่งจะมีผู้คัดกรองเป็นเจ้าพนักงานตำรวจศาล ให้ตรวจวัดอุณหภูมิจากนั้นสอบถามรายละเอียดการมาศาลอาญาว่า มาคดีอะไร และขอตรวจบัตรประชาชน เมื่อมาถึงที่ห้องพิจารณาคดี 704 มีจุดคัดกรองอีก 1 จุด โดยหากจะเข้าห้องให้ปิดเสียงโทรศัพท์ไว้ที่โต๊ะ ซึ่งตั้งอยู่ในห้องพิจารณาคดี

เวลา 10.25 น. ศาลเริ่มกระบวนพิจารณาคดี โดยเรียกพิสิฏฐ์กุลและทนายจำเลยไปคุยที่หน้าบัลลังก์ประมาณ 4 นาที ถามเรื่องชีวิตว่าเป็นอย่างไร จากนั้นเวลา 10.32 น. เริ่มอ่านคำสั่ง โดยเริ่มจากบรรยายคำฟ้องของคดี ผู้ถูกกล่าวหาให้การปฏิเสธ ข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า วันที่ 29 เม.ย. 2564 แนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุมนัดหมายผ่านเฟซบุ๊ก เพื่อมาติดตามให้กำลังใจการพิจารณาปล่อยตัวชั่วคราวจำเลย เช่น พริษฐ์ ชิวารักษ์, ปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล และชูเกียรติ แสงวงค์

ในวันเกิดเหตุ เวลา 12.30 น. มีมวลชน 300 คนมารวมตัวกันที่หน้าอาคารศาลอาญา ตำรวจรักษาการณ์พื้นที่ที่หน้าศาลอาญาประมาณ 50 นาย มีการวางแผงเหล็กกั้นที่ด้านหน้า พ.ต.ท.ศักดิ์ชัย ไกรวีระเดชาชัย รองผู้กำกับการ สน.พหลโยธิน ประกาศข้อกฎหมาย คือ ประกาศผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครฯ และข้อกำหนดของศาลอาญา โดยอ่านซ้ำอยู่หลายครั้ง แต่สถานการณ์ยังคงดำเนินไป

เวลาประมาณ 15.00 น. ณัฐชนนกล่าวข้อความเรื่อง "ไม่นับว่า ท่านจบธรรมศาสตร์เหมือนกันกับผม..." ต่อมาภัทรพงศ์อ่านบทกลอนตุลาภิวัฒน์ (บทกวีถึงมหาตุลาการ) และตามมาด้วยเบนจาที่กล่าวว่า "ตุลาการเช่นนี้อย่ามีเลย" เวลา 18.25 น. ชินวัตรกล่าวทำนองว่า วันที่ 30 เมษายน 2564 เขามีนัดหมายจะต้องมาที่ศาลอาญาแห่งนี้ แต่เขาจะไม่แสดงความเคารพต่อศาลอาญา ต่อมาเมื่อสุรีย์รัตน์ มารดาของเพนกวินมาขอร้องให้กลับ สถานการณ์จึงคลี่คลาย

ส่วนของพิสิฏฐ์กุล ในตอนที่ พ.ต.ท.ศักดิ์ชัย ประกาศข้อกฎหมายในครั้งที่ 5 พิสิฏฐ์กุลตะโกนว่า "ไอ้เหี้ย" ไอ้สัตว์" อยู่หลายครั้ง ด้วยโทสะเรื่องวิกฤตโควิด-19 ที่เขาเป็นผู้ได้รับผลกระทบด้วยคนหนึ่ง จากนั้นจึงเดินออกไปสงบสติอารมณ์​และสูบบุหรี่ที่ลานจอดรถศาลอาญา

คดีนี้มีประเด็นที่จะต้องวินิจฉัยว่า การกระทำของผู้ถูกกล่าวหานั้นเป็นการประพฤติตนไม่สงบเรียบร้อยในบริเวณศาลหรือไม่ การกระทำของตำรวจเป็นการกระทำเพื่อเป็นหลักประกันเรื่องความปลอดภัยให้แก่ข้าราชการและประชาชนที่ต้องมาบริเวณศาล แม้พิสิฏฐ์กุลให้การว่า การตะโกนด่านั้นเป็นการด่าตำรวจไม่ได้พาดพิงหรือโจมตีการทำงานของศาล แต่การที่ผู้ถูกกล่าวหาตะโกนด่าทอตำรวจด้วยเสียงดังเป็นถ้อยคำหยาบคาย เป็นการประพฤติตนไม่เรียบร้อยบริเวณศาล ก่อให้เกิดความเดือดร้อนสำหรับผู้ที่มาติดต่อราชการและเป็นการฝ่าฝืนข้อกำหนดของศาลอาญาที่ได้ประกาศไว้ ไม่สามารถอ้างสิทธิตามรัฐธรรมนูญได้

ศาลพิเคราะห์แล้วเห็นว่า ผู้ถูกกล่าวหาไม่ได้เป็นผู้จัดการชุมนุม ไม่ได้มีพฤติการณ์จัดการชุมนุมที่ใช้เครื่องเสียงโจมตีด่าทอการทำงานของศาลอย่างไม่เคยปรากฏมาก่อน เป็นเพียงผู้มาให้กำลังใจ และมีพฤติการณ์ไม่เทียบเท่าบุคคลอื่น จึงเห็นเห็นควรให้โอกาสกลับตัวกลับใจ พิพากษาให้รอการกำหนดโทษ เป็นเวลาสองปี และกำหนดเงื่อนไขคุมประพฤติห้ามแสดงพฤติการณ์ไม่เรียบร้อยในบริเวณศาลภายในระยะเวลากำหนดโทษ

เวลา 10.45 น. เมื่ออ่านคำพิพากษาเสร็จแล้ว ผู้พิพากษาถามพิสิฏฐ์กุลว่า เข้าใจไหมที่ศาลตัดสิน พอใจไหมที่ศาลตัดสิน พิสิฏฐ์กุลพยักหน้า

13 คดีละเมิดอำนาจศาลอาญา ตัดสินแล้ว 5 คดี โทษหนักสุดจำคุก 4 เดือน

นอกจากคดีนี้ ในปี 2564 ยังมีคดีละเมิดอำนาจศาลที่เกี่ยวข้องกับการชุมนุม บริเวณศาลอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับการเรียกร้องสิทธิในการประกันตัวของผู้ต้องหาและจำเลยคดีการเมือง ที่เกิดในเขตอำนาจศาลอาญาอีก 13 คดี เป็นคดีที่ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาแล้ว 5 คดี เป็นคดีที่อยู่ระหว่างการพิจารณาอีก 8 คดี ในจำนวนนี้ 2 คดีไต่สวนเสร็จแล้วแต่รอศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาว่า จะรับคำร้องเรื่องความได้สัดส่วนของโทษละเมิดอำนาจศาลหรือไม่

คดีทั้งหมดมีเหตุเกี่ยวข้องกับกลุ่มราษฎรและแนวร่วม ไม่ว่าจะเป็นการถ่ายรูปในห้องเวรชี้, การสะกิดไหล่เจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์ให้หลบทาง และกิจกรรมที่เป็นเหตุแห่งคดีมากที่สุด คือ การชุมนุมที่บริเวณศาลอาญา ในบางคดีนอกจากผู้ถูกกล่าวจะถูกดำเนินคดีละเมิดอำนาจศาลซึ่งเป็นคดีแพ่งแล้ว ยังถูกกล่าวหาเพิ่มเติมในคดีดูหมิ่นศาล ซึ่งเป็นคดีอาญาอีกคดีหนึ่งแยกต่างหากด้วย

คดีที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งแล้ว ได้แก่

  • คดีชินวัตร จันทร์กระจ่าง และอนุรักษ์ เจนตวณิชย์ ถ่ายรูปในห้องเวรชี้เมื่อวันที่ 8 มี.ค. 2564 ศาลมีคำสั่งจำคุก 15 วัน ปรับคนละ 500 บาท ทั้งให้รอลงอาญาโทษจำคุกไว้ 1 ปี คดีนี้มีรายงานว่า 'ครูใหญ่' อรรถพล บัวพัฒน์ ถูกกล่าวหาด้วย แต่ยังไม่ทราบความคืบหน้า
  • คดีเพนกวิน-พริษฐ์ ชิวารักษ์อ่านแถลงการณ์ในห้องพิจารณาคดีเมื่อวันที่ 15 มีนาคม 2564 ศาลสั่งจำคุก 15 วัน แต่พิจารณาถึงการศึกษา อายุและจำเลยไม่เคยรับโทษจำคุกมาก่อน สั่งกักขังแทน 15 วัน โดยรับโทษกักขังที่สถานกักขังกลางจังหวัดปทุมธานีครบแล้ว
  • คดีของทนายความแกนนำราษฎรที่มีเหตุวิวาทะกับอัยการผู้ช่วยในห้องพิจารณาคดีเมื่อวันที่ 8 เมษายน 2564 ศาลสั่งปรับเป็นเงิน 500 บาท
  • คดีของชินวัตร จันทร์กระจ่าง จากการชุมนุมที่หน้าบันไดศาลอาญาเมื่อวันที่ 29 เมษายน 2564 ศาลมีคำสั่งจำคุก 4 เดือน ไม่รอลงอาญา คดีอยู่ระหว่างการอุทธรณ์
  • คดีของพิสิฏฐ์กุล ควรแถลง จากการชุมนุมที่หน้าบันไดศาลอาญาเมื่อวันที่ 29 เมษายน 2564 ศาลมีคำสั่งรอการกำหนดโทษไว้สองปี

ส่วนคดีที่อยู่ระหว่างการพิจารณา ได้แก่

  • คดีของอะดิศักดิ์ สมบัติคำ จากการสะกิดไหล่เจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์ไม่ให้ยืนบังการพิจารณาคดีเมื่อวันที่ 8 เม.ย. 2564
  • คดีของเลิศศักดิ์ คำคงศักดิ์ และนวพล ต้นงาม จากการชุมนุมส่งเพื่อนรายงานตัวเมื่อวันที่ 8 มี.ค. 2564
  • คดีของเบนจา อะปัญ, ณัฐชนน ไพโรจน์, ภัทรพงศ์ น้อยผาง และเอเลียร์ ฟอฟิ จากการชุมนุมที่บันไดศาลอาญาเมื่อวันที่ 29 เม.ย. 2564 โดยผู้กล่าวหา 1 คนถูกกล่าวหาแยกเป็นคนละคดี
  • คดีของเบนจา อะปัญ และณัฐชนน ไพโรจน์ จากการชุมนุมที่หน้าลานจอดรถภายในศาลอาญาและฟุตบาทด้านหน้าศาลอาญาเมื่อวันที่ 30 เม.ย. 2564
  • คดีของผู้ถูกกล่าวหา 5 คนสืบเนื่องจากการชุมนุมของรีเด็มที่หน้าศาลอาญาเมื่อวันที่ 2 พ.ค. 2564

คำฟ้องคดี 'กระเดื่อง'

คำฟ้องคดีของพิสิฏฐ์กุลระบุว่า วันที่ 29 เม.ย. 2564 เวลา 12.30 น. แนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุมนัดหมายชุมนุมมีประชาชนประมาณ 300 คน มีการเชิญชวนกันมาทํากิจกรรมอื่นจดหมายราชอยุติธรรม พร้อมทั้งยืนอ่านกลอนตุลาการภิวัติ (บทกวีถึงมหาตุลาการ)

กลุ่มบุคคลดังกล่าวเข้ามาในบริเวณศาลอาญาและรวมตัวกันบริเวณบันไดทางขึ้นด้านหน้าศาลอาญา มีการใช้เครื่องขยายเสียง พร้อมทั้งตะโกนข้อความ "ปล่อยเพื่อนเรา" จนกระทั่งเวลาประมาณ 12.50 น. พ.ต.ท. ศักดิ์ชัย ไกรวีระเดชาชัย รองผู้กํากับการ ป้องกันปราบปราม สน.พหลโยธิน อ่านประกาศคําสั่งผู้ว่ากรุงเทพมหานคร เรื่องการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 พร้อมทั้งแจ้งเตือนให้กลุ่มผู้ชุมนุมอยู่ในความสงบเรียบร้อย แต่ไม่ได้รับความร่วมมือแต่อย่างใด

เวลาประมาณ 13.05 น. พ.ต.อ.ประสพโชค เอี่ยมพินิจ ผู้กํากับการ สน.พหลโยธิน ประกาศเรื่องการใช้สิทธิและเสรีภาพของผู้ชุมนุมให้อยู่ภายใต้กฎหมายและข้อกําหนดของศาลและแจ้งให้ผู้ชุมนุมอยู่ในความสงบเรียบร้อย แต่ไม่ได้รับความร่วมมือจากผู้ชุมนุม และผู้ชุมนุมยังคงทํากิจกรรมเชิงสัญลักษณ์ร่วมตะโกนด้วยข้อความต่างๆ อยู่เป็นระยะ มีการพูดผ่านเครื่องขยายเสียงกล่าวโทษศาลยุติธรรมและตุลาการศาลยุติธรรม ทําให้เกิดความไม่สงบเรียบร้อยภายในศาลอาญา

พิสิฏฐ์กุล ควรแถลง ร่วมชุมนุมกับกลุ่มบุคคลบริเวณหน้าบันไดบริเวณทางขึ้น ด้านหน้าศาลอาญา ในลักษณะที่ก่อความวุ่นวาย โดย พ.ต.ท.ศักดิ์ชัย ไกรวีระเดชาชัย รองผู้กํากับการป้องกันและปราบปราม สน.พหลโยธิน ประกาศเตือนกลุ่มผู้ชุมนุม เรื่องการฝ่าฝืนไม่ปฏิบัติตามมาตรการการควบคุมการแพร่ระบาด แต่ผู้ร่วมชุมนุมไม่เชื่อฟังและไม่ปฏิบัติตาม พิสิฏฐ์กุลตะโกนด่า "ไอ้เหี้ย" "ไอ้สัตว์" และตะโกนด่าด้วยถ้อยคําอื่นๆ อยู่หลายครั้ง และยังตะโกนด่าเจ้าหน้าที่ในขณะปฏิบัติหน้าที่ควบคุมสถานการณ์ ทั้งได้ร่วมอยู่ในเหตุการณ์กับกลุ่มบุคคลอื่นๆ เพื่อก่อความวุ่นวายให้เกิดความไม่สงบเรียบร้อยภายในบริเวณศาลอาญา

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
เรื่องที่เกี่ยวข้อง
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท