ศบค. ขอเอกชน-รร.แพทย์ สนับสนุนบุคลากรใน กทม. ประชุมถกเรื่องล็อกดาวน์

25 มิ.ย. 2564 ศบค. แถลงสถานการณ์โควิด-19 พบผู้ติดเชื้อรายใหม่ 3,644 คน เสียชีวิต 44 คน กังวลศักยภาพระบบสาธารณสุขรองรับสถานการณ์ในกรุงเทพฯ และปริมณฑลไม่ไหว ขอเอกชน-โรงเรียนแพทย์สนับสนุนบุคลากร หารือมาตรการล็อกดาวน์

ยอดติดเชื้อไม่ลด-ผู้เสียชีวิตพุ่ง 44 คน

พญ.อภิสมัย ศรีรังสรรค์ ผู้ช่วยโฆษกศูนย์บริหารสถานโควิด-19 (ศบค.) แถลงสถานการณ์โควิดประจำวันที่ 25 มิ.ย. 2564 ว่า มีผู้ป่วยรายใหม่ 3,644 คน ในจำนวนนี้เป็นผู้ติดเชื้อภายในประเทศ 3,451 คน ติดเชื้อจากต่างประเทศ 31 คน ติดเชื้อในเรือนจำ/ที่ต้องขัง 162 คน เสียชีวิตเพิ่ม 44 คน ผู้ป่วยรักษาตัวอยู่ในโรงพยาบาล 41,366 คน ในจำนวนนี้เป็นผู้ป่วยหนัก 1,603 คน ใส่เครื่องช่วยหายใจ 460 คน

กังวลระบบสาธารณสุขรับไม่ไหว

ผู้ช่วยโฆษก ศบค. กล่าวอีกว่า ศบค. มีความกังวลเกี่ยวกับจำนวนเตียงในพื้นที่กรุงเทพมหานคร จึงพยายามขยายศักยภาพของโรงพยาบาล ให้รองรับเตียงในระดับความรุนแรงสีเหลืองและสีแดง โดยกระทรวงสาธารณสุขร่วมกับมณฑลทหารบกที่ 11 ขยายเตียงในระดับอาการสีเหลืองเพิ่มรวม 370 เตียง ระดับสีแดงรวม 111 เตียง คาดว่าจะสามารถปรับพื้นที่ ระดมบุคลากรเข้าประจำการ และให้บริการได้ภายในหนึ่งสัปดาห์

พญ.อภิสมัย กล่าวว่า ศบค. ยังขอความร่วมมือโรงพยาบาลเอกชนเพิ่มจำนวนเตียง และขอสนับสนุนบุคลากรทางการแพทย์ และบุคลาการด้านอื่นๆ เข้ามาช่วยเหลือในพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑล ในส่วนโรงเรียนแพทย์ มีการเสนอให้แพทย์ประจำบ้าน และแพทย์จบใหม่ ประมาณ 2,000 คน เข้ามาช่วยเหลือช่วงเดือน ก.ค.

พิจารณาเรื่องล็อกดาวน์

ผู้ช่วยโฆษก ศบค. กล่าวว่า ที่ประชุม ศบค. หารือในพื้นที่กรุงเทพมหานคร พบว่า แคมป์คนงาน ตลาด โรงงาน และชุมชน ที่กรุงเทพมหานครเฝ้าระวังและรายงานต่อเนื่อง ยังมีคลัสเตอร์ที่ระบาดเกิน 28 วัน ทั้งหมด 25 คลัสเตอร์ ต่างจากกรณี จ.สมุทรสาคร ที่หากปิดกั้นพื้นที่เป็นเวลา 28 วัน การแพร่ระบาดจะยุติ กลุ่มผู้ติดเชื้อสามารถกลับมาใช้ชีวิตปกติได้ แต่บริบทของกรุงเทพมหานครแตกต่างอย่างสิ้น ส่วนหนึ่งคือความร่วมมือของสถานที่และผู้ที่ถูกปิด เมื่อตรวจสอบยังพบการเล็ดรอด และแพร่กระจายเชื้อ ทำให้กรุงเทพมหานครมีคลัสเตอร์การระบาดเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง คลัสเตอร์ที่พบการระบาดในช่วง 14-27 วัน ยังมีมากถึง 13 คลัสเตอร์

พญ.อภิสมัย กล่าวว่า ข้อถกเถียงในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมาเกี่ยวกับการล็อกดาวน์ กระทรวงสาธารณสุขมีความเป็นห่วงสถานการณ์การแพร่ระบาด อาจทำให้ระบบเตียงหรือระบบสาธารณสุขที่ทำงานอย่างหนักอาจจะรองรับไม่ไหว จึงหารือกันภายในที่ประชุม ศบค. อย่างกว้างขวาง แต่ ศบค. เน้นย้ำให้รับฟังทุกฝ่าย และพยายามขยายศักยภาพในเรื่องเตียง

ผู้ช่วยโฆษก ศบค. ย้ำว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ในฐานะ ผอ.ศบค. ไม่ได้นิ่งนอนใจ และย้ำให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องแก้ปัญหาอย่างเร็วที่สุด จะเห็นได้ว่าในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมาสถานประกอบการต่างๆ ยื่นเรื่องขอให้ทบทวนมาตรการการปิดหรือล็อกดาวน์ ศบค. รับฟังทุกฝ่ายและเห็นใจผู้ได้รับผลกระทบ ในที่ประชุมจึงเสนอทางเลือกหลากหลาย

พญ.อภิสมัย กล่าวว่า กรมควบคุมโรค เสนอการล็อกเป็นจุดๆ มากกว่าที่จะปิดทั้งหมด หรือปิดทั้งกรุงเทพมหานครหรือทั้งจังหวัด โดยมีองค์ประกอบ 3 ส่วน ได้แก่ 1.ปิดเฉพาะพื้นที่ความเสี่ยงสูง 2.ปิดเฉพาะคนกลุ่มเสี่ยง โดยเฉพาะพื้นที่ที่มีแรงงานต่างด้าว และ 3.ปิดกิจกรรมและกิจการเสี่ยง มากกว่าปิดทั้งหมด หรือปิดทั้งกรุงเทพมหานคร หรือทั้งจังหวัด

อย่างไรก็ตาม ผู้ช่วยโฆษก ศบค. ย้ำว่า เรื่องนี้ยังอยู่ระหว่างการหารือทุกแง่มุม และสิ่งสำคัญที่มีความเป็นห่วงว่า นอกจากการล็อกอาจจะไม่ได้ปัญหา แต่จะทำให้กลายเป็นชนวนของปัญหามากขึ้นหรือไม่ ตัวอย่างเช่น โรงเรียนมัรกัส จ.ยะลา เมื่อโรงเรียนปิดก็เกิดการแพร่กระจายไปถึง 11 จังหวัด เพราะเมื่อมีการล็อกหรือปิดกิจการ-กิจกรรม คนก็อาจเดินทางกลับบ้านทำให้เกิดการแพร่กระจายเชื้อหรือไม่

“การปิดอาจจะไม่ใช่การตอบโจทย์ทั้งหมด ต้องพยายามหารือกันให้รอบด้าน ทั้งสาธารณสุข และด้านอื่นๆ รวมทั้งเศรษฐกิจด้วย วันนี้บ่าย 2 โมง จะมีการหารือเรื่องของมาตรการล็อกดาวน์ โดยนายกฯ ในฐานะ ผอ.ศบค. รวมกับคณะที่ปรึกษา ทั้งตัวแทนสาธารณสุข กระทรวงแรงงาน และมหาดไทย ขอให้พี่น้องประชาชนติดตามผลการประชุมในช่วงบ่ายวันนี้” พญ.อภิสมัย กล่าว

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท