Skip to main content
sharethis

เวียดนามเรียกร้องบริษัทต่างชาติจัดหาวัคซีน COVID-19 ให้พนักงานโรงงานในประเทศ

รัฐบาลเวียดนามโพสต์ข้อความลงในเว็บไซต์อย่างเป็นทางการว่ารัฐบาลขอเรียกร้องให้บริษัทซัมซุง อิเล็กทรอนิกส์ และบริษัทต่างชาติอื่น ๆ ที่มีฐานธุรกิจในเวียดนามดำเนินการจัดหาวัคซีนป้องกัน COVID-19 ให้กับพนักงาน ขณะที่ยอดผู้ติดเชื้อในเวียดนามพุ่งสูงขึ้น

ที่มา: Business Mirror, 1/6/2021

ญี่ปุ่นจะเริ่มจัดฉีดวัคซีน COVID-19 ตามสถานที่ทำงานและมหาวิทยาลัย

นายคาโต คัตสึโนบุ เลขาธิการคณะรัฐมนตรีญี่ปุ่น ประกาศแผนฉีดวัคซีนไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ตามสถานที่ทำงานและมหาวิทยาลัยเพื่อเร่งฉีดวัคซีนให้เร็วขึ้น

นายคาโตแถลงต่อผู้สื่อข่าวในวันอังคารที่ 1 มิ.ย. 2021 ว่าการฉีดวัคซีนตามสถานที่เหล่านี้จะเริ่มตั้งแต่วันที่ 21 มิ.ย. 2021 และเสริมว่าความเคลื่อนไหวนี้ผ่านการวางแผนมาเพื่อลดภาระของทางการเทศบาล และเพื่อเร่งดำเนินโครงการฉีดวัคซีนให้เร็วขึ้น

การฉีดวัคซีนในญี่ปุ่นนั้น แรกเริ่มเป็นการพุ่งเป้าไปที่เจ้าหน้าที่ด้านการแพทย์ และขณะนี้เป็นการฉีดให้แก่ประชาชนสูงอายุ

นายคาโตชี้ว่าทางการเทศบาลจะเริ่มฉีดวัคซีนตามสถานที่ทำงานและวิทยาเขตต่าง ๆ ของมหาวิทยาลัยได้หลังจากฉีดให้แก่กลุ่มผู้สูงอายุเสร็จสิ้นแล้ว ทั้งยังแสดงความหวังด้วยว่าโครงการฉีดวัคซีนจะเร็วขึ้น เมื่อบริษัทและมหาวิทยาลัยฉีดวัคซีนให้แก่พนักงาน นักศึกษา และบุคลากรคนอื่น ๆ ขององค์กรนั้น

ที่มา: NHK, 1/6/2021

สิงคโปร์เผชิญปัญหาขาดแคลนแรงงาน ท่ามกลางการระบาดของ COVID-19

สิงคโปร์เป็นประเทศที่ต้องพึ่งพาแรงงานต่างชาติอย่างมากโดยเฉพาะแรงงานจากอินเดียและบังกลาเทศ แต่เมื่อเผชิญกับการระบาดของ COVID-19 สิงคโปร์ก็ได้ห้ามแรงงานจาก 2 ประเทศนี้เข้าประเทศ โดยข้อมูลจากสำนักงานสถิติสิงคโปร์ระบุว่านับจนถึงเดือน ธ.ค. 2020 จำนวนแรงงานอพยพที่ทำงานตามไซต์ก่อสร้าง อู่ต่อเรือและโรงงานผลิตด้านอุตสาหกรรมต่าง ๆ ในสิงคโปร์ปรับตัวร่วงลง 16% เหลือ 311,000 คน ขณะที่แรงงานต่างชาติโดยรวมมีจำนวน 1.23 ล้านคนลดลง 14% ในจำนวนนี้รวมถึงพนักงานประเภทใช้แรงงานและพนักงานประจำออฟฟิศ

ปัญหาขาดแคลนแรงงานที่รุนแรงขึ้นในสิงคโปร์ ส่งผลให้โครงการก่อสร้างในสิงคโปร์ประสบปัญหาล่าช้าอย่างมาก บางโครงการล่าช้าเป็นปี ขณะเดียวกันก็ผลักดันให้ค่าแรงงานปรับตัวเพิ่มขึ้นมากถึง 30%

ที่มา: Nikkei Asia, 1/6/2021

'Toyota-Honda' ระงับผลิตรถยนต์ในมาเลเซียชั่วคราวหลัง COVID-19 ระบาดหนัก

บริษัทรถยนต์รายใหญ่ของญี่ปุ่นสองบริษัท โตโยต้า มอเตอร์ (Toyota Motor) และ ฮอนด้า มอเตอร์ (Honda Motor) ประกาศระงับการผลิตรถยนต์ที่โรงงานในมาเลเซียชั่วคราว สืบเนื่องจากยอดผู้ติดเชื้อ COVID-19 เพิ่มขึ้นทั่วประเทศ

โตโยต้า ซึ่งผลิตรถยนต์ในมาเลเซีย 51,000 คันเมื่อปี 2020 ประกาศว่าจะระงับการผลิตรถยนต์ตั้งแต่วันที่ 1 มิ.ย. 2021 นี้เป็นต้นไป และยังไม่มีกำหนดว่าจะกลับมาผลิตอีกครั้งเมื่อไร ในขณะที่บริษัทไดฮัตสุ (Daihatsu) ซึ่งเป็นบริษัทลูกของโตโยต้า ก็จะระงับการผลิตระหว่างวันที่ 1-14 มิ.ย. 2021

ด้านบริษัทฮอนด้า ประกาศหยุดการผลิตที่โรงงานสองแห่งชั่วคราวในช่วงที่รัฐบาลมาเลเซียใช้มาตรการล็อกดาวน์ โดยโรงงานทั้งสองแห่งนี้มีกำลังการผลิตรถยนต์ราว 100,000 คัน และรถจักรยานยนต์ 300,000 คัน

เมื่อวันศุกร์ที่แล้ว นายกรัฐมนตรีมาเลเซีย มูห์ยิดดิน ยัสซิน ประกาศใช้มาตรการล็อกดาวน์ทั่วประเทศระหว่างวันที่ 1-14 มิ.ย. 2021 เพื่อควบคุมการระบาดของ COVID-19

ที่มา: VOA, 2/6/2021

หลายฝ่ายในรัฐวิกตอเรียเรียกร้องให้รัฐบาลกลางออสเตรเลียจ่ายเงิน JobKeeper ช่วยเหลือธุรกิจช่วงล็อกดาวน์

บรรดาธุรกิจต่าง ๆ รวมถึงภาคอุตสาหกรรมและกลุ่มสหภาพแรงงาน ต่างต้อนรับโครงการสนับสนุนธุรกิจขนาดเล็กของรัฐบาลรัฐวิกตอเรียในช่วงการล็อกดาวน์เพื่อควบคุมการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 มูลค่า $250 ล้านดอลลาร์ แต่ในขณะเดียวกันก็ได้กล่าวไปยังรัฐบาลสหพันธรัฐว่า ควรที่จะออกมาตรการให้ความช่วยเหลือด้วยเช่นกัน

มาตรการเยียวยาดังกล่าวนั้น มุ่งเป้าเพื่อช่วยเหลือธุรกิจในรัฐวิกตอเรียกว่า 90,000 แห่ง ซึ่งได้รับผลกระทบจากมาตรการล็อกดาวน์

นางเฟลิเซีย มาริอานา (Felicia Mariana) จากสภาอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวรัฐวิกตอเรีย (The Victoria Tourism Industry Council) เชื่อว่า รัฐบาลสหพันธรัฐควรที่จะให้ความช่วยเหลือภาคธุรกิจต่าง ๆ ด้วยการนำนโยบายเงินชดเชยค้าจ้างจ๊อบคีปเปอร์ (JobKeeper) กลับมาอีกครั้ง

“ตอนที่เราสิ้นสุดโครงการจ๊อบคีปเปอร์ลงเมื่อปลายเดือน มี.ค. เราทำลงไปด้วยแผนที่ว่า เราอาจจะมีวัคซีนเข้ามาเป็นจำนวนมากภายในสิ้นเดือนนั้น ในเวลานั้นเราทำลงไปด้วยเจตนาดี แต่ในความเป็นจริงแล้ว เราไม่สามารถทำให้โครงการวัคซีนประสบความสำเร็จได้อย่างที่เราคาดหวังไว้” นางมาริอานากล่าวกับวิทยุ ABC  

นายทิม พาลาส (Tim Pallas) รัฐมนตรีการคลังในรัฐบาลรัฐวิกตอเรีย ได้กล่าวโจมตีรัฐบาลสหพันธรัฐ ซึ่งปฏิเสธที่จะมอบความช่วยเหลือด้านเศรษฐกิจ

“เราให้ความร่วมมืออย่างใกล้ชิดมาอย่างต่อเนื่อง แต่พวกเขากลับไม่ยอมที่จะให้อะไรเลยแม้แต่น้อย ไม่มีอะไรที่น่าละอายไปมากกว่านี้” นายพาลาส กล่าว

นายพาลาส ได้เรียกร้องให้รัฐบาลสหพันธรัฐกลับมาประกาศใช้โครงการเงินชดเชยรายได้จ๊อบคีปเปอร์ หรือโครงการช่วยเหลืออื่น ๆ ตลอดสัปดาห์ของการล็อกดาวน์ เพื่อให้สอดคล้องกับนโยบายความช่วยเหลือทางเศรษฐกิจของรัฐบาลรัฐวิกตอเรีย

แต่ นายสกอตต์ มอร์ริสัน นายกรัฐมนตรีออสเตรเลียได้ปฏิเสธทุกข้อเสนอจากรัฐมนตรีการคลังรัฐวิกตอเรีย โดยชี้ว่าโครงการสนับสนุนตลอดการแพร่ระบาดใหญ่ของไวรัสโควิด-19 นั้นมีความบกพร่องหากเทียบกับโครงการสนับสนุนของรัฐบาลสหพันธรัฐ และได้กล่าวอีกว่า รัฐบาลรัฐควีนส์แลนด์ และรัฐเวสเทิร์นออสเตรเลีย สามารถที่จะครอบคลุมค่ายใช้จ่ายงบประมาณโครงการสนับสนุนช่วงล็อกดาวน์ภายในรัฐของตนเองได้

ที่มา: SBS, 2/6/2021

การขอรับเงินช่วยเหลือด้านสวัสดิการในญี่ปุ่นเพิ่มขึ้นครั้งแรกในรอบ 11 ปี

จำนวนการขอรับเงินช่วยเหลือด้านสวัสดิการในญี่ปุ่นในปีงบประมาณ 2020 เพิ่มสูงขึ้นจากปีก่อนหน้า ถือเป็นการเพิ่มขึ้นครั้งแรกนับตั้งแต่ปีงบประมาณ 2009 หลังเกิดวิกฤตการเงินทั่วโลก

กระทรวงสาธารณสุข แรงงาน และสวัสดิการของญี่ปุ่นระบุว่าตัวเลขเบื้องต้นแสดงให้เห็นว่า มีการยื่นขอรับเงินช่วยเหลือดังกล่าว 228,081 กรณีในปีงบประมาณที่สิ้นสุดเมื่อเดือน มี.ค. 2021 ซึ่งเพิ่มขึ้น 5,039 กรณี หรือร้อยละ 2.3 จากปีก่อนหน้า

ทางกระทรวงยังระบุด้วยว่ายอดรวมของการขอรับเงินช่วยเหลือในเดือน มี.ค. 2021 นั้นอยู่ที่ 22,839 กรณี เพิ่มขึ้น 1,809 กรณี หรือร้อยละ 8.6 จากปีก่อนหน้า นี่ถือเป็นเดือนที่ 7 ติดต่อกันแล้วที่จำนวนการขอรับเงินช่วยเหลือด้านสวัสดิการเพิ่มสูงขึ้นจากปีก่อนหน้า

เจ้าหน้าที่ของกระทรวงสาธารณสุข แรงงาน และสวัสดิการของญี่ปุ่นระบุว่า มีผู้คนจำนวนมากขึ้นที่ประสบความตึงเครียดด้านการเงิน เนื่องจากพวกเขาอาจตกงานและกำลังเผชิญความยากลำบากในการหางานใหม่ท่ามกลางการระบาดใหญ่ของไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่

เว็บไซต์ของทางกระทรวงระบุข้อความที่เรียกร้องไม่ให้ประชาชนลังเลที่จะปรึกษากับทางการเกี่ยวกับเงินช่วยเหลือด้านสวัสดิการ โดยเสริมว่าไม่ว่าใครก็อาจจำเป็นต้องได้รับความช่วยเหลือลักษณะนี้

ที่มา: NHK, 2/6/2021

คาดคนตกงานทั่วโลกทะลุ 200 ล้านคนหลังยุค COVID-19 ระบาด

ที่มาภาพ: Jann Huizenga/ILO

องค์การแรงงานสากล หรือ ILO เปิดเผยรายงานฉบับใหม่ว่าด้วยการคาดการณ์เรื่องตลาดแรงงานหลังยุคโควิด-19 "World Employment and Social Outlook: Trends 2021." โดยคาดว่า ตัวเลขคนตกงานทั่วโลกจะเพิ่มขึ้นเป็น 205 ล้านคนภายในปี ค.ศ.2022 จากระดับ 187 ล้านคนเมื่อปี ค.ศ.2019 หรือก่อนยุคโควิดระบาด

ผู้จัดทำรายงานระบุว่า วิกฤติการระบาดของโควิด-19 ไม่ใช่แค่วิกฤติด้านสาธารณสุขเท่านั้น แต่ยังเป็นวิกฤติด้านเศรษฐกิจ การจ้างงานและทรัพยากรมนุษย์ด้วย ซึ่งจะส่งผลต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกในระยะยาว โดย ILO เชื่อว่าผลกระทบที่มีต่อตลาดแรงงานโลกนั้นจะต่อเนื่องไปจนถึงปี ค.ศ.2023 เป็นอย่างน้อย

ผู้อำนวยการใหญ่ ILO กาย ไรเดอร์ กล่าวว่าสถานการณ์การว่างงานในประเทศรายได้ต่ำจะรุนแรงกว่าประเทศรายได้สูงซึ่งมีแนวโน้มฟื้นตัวได้เร็วกว่าเพราะโครงการฉีดวัคซีนที่ได้ผลและครอบคลุมกว้างขวาง

นายไรเดอร์ระบุว่าความพยายามแก้ปัญหาความยากจนในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา หายวับไปพร้อมกับการระบาดของโควิด-19 และประเมินว่า เวลานี้มีคนทำงานทั่วโลกราว 31 ล้านคนที่ถูกจัดอยู่ในกลุ่มที่ยากจนข้นแค้นที่สุด คือมีรายได้ต่ำกว่าเส้นแบ่งความยากจนที่ 1.90 ดอลลาร์ต่อวัน หรือราว 60 บาท

รายงานระบุว่า ภูมิภาคที่ได้รับผลกระทบมากที่สุดในช่วงครึ่งปีแรกของปีนี้ คือ ลาตินอเมริกาและแคริบเบียน รวมทั้งยุโรปและเอเชียกลาง และยังชี้ด้วยว่า กลุ่มประชากรที่ได้รับผลกระทบรุนแรงที่สุด คือสตรีและคนหนุ่มสาวที่ตกงานจำนวนมากในช่วงที่เกิดการระบาด

ที่มา: VOA, 3/6/2021

เสนอออสเตรเลียเน้นศักยภาพแรงงานผู้อพยพหนุ่มสาว

สถาบันกรัตตัน (Grattan Institute) เสนอปฏิรูประบบรับผู้ย้ายถิ่นฐานที่มีทักษะอาชีพของออสเตรเลียให้เอื้อต่อผู้ย้ายถิ่นฐานวัยหนุ่มสาวและยกเลิกวีซ่าลงทุนธุรกิจ คาดช่วยประเทศประหยัดหลายพันล้านดอลลาร์ต่อปี

รายงานของสถาบันที่ตีพิมพ์เมื่อเดือน พ.ค. 2021 ระบุว่า รัฐบาลจัดสรรที่เพิ่มเติมแก่วีซ่าประเภทลงทุนธุรกิจ (business investment) และประเภทผู้มีทักษะสูงจากนานาประเทศ (global talent) นโยบายนี้ "เดินผิดทาง” โดยแย่งจำนวนอนุมัติวีซ่าถาวรจากแรงงานทักษะ ซึ่งมักมีอายุน้อยกว่าและมีแนวโน้มสร้างรายรับสูงกว่าในระยะยาว

สถาบันกรัตตันให้ข้อมูลว่า ปัจจุบัน 1 ใน 4 ของวีซ่าถาวรสำหรับผู้มีทักษะอาชีพจัดสรรไว้สำหรับกระตุ้นการลงทุนธุรกิจและดึงดูดผู้มีทักษะสูงจากทั่วโลก

ก่อนหน้านี้มีการเปิดเผยต่อคณะกรรมาธิการวุฒิสภาว่า รัฐบาลปรับแผนจำนวนรับผู้ย้ายถิ่นฐานเพิ่ม 1,500 ที่สำหรับวีซ่าทำงานประเภทมีนายจ้างสปอนเซอร์ (employer-sponsored) เพิ่ม 1,000 ที่สำหรับวีซ่าทักษะอิสระ (skilled independent) และเพิ่ม 1,950 ที่สำหรับวีซ่าในส่วนภูมิภาค ขณะที่อัตรารับวีซ่านวัตกรรมธุรกิจ (business innovation) และผู้มีทักษะสูงจากนานาประเทศ (global talent) ลดลง 2,500 ที่และ 4,000 ที่ ตามลำดับ

รายงานของสถาบันกรัตตันยังเรียกร้องให้เพิ่มจำนวนรับผู้ย้ายถิ่นฐานผ่านวีซ่าแรงงานทักษะแบบนับคะแนน (point-tested) และวีซ่าทำงานที่มีนายจ้างสปอนเซอร์ พร้อมทั้งแนะนำให้ปรับเปลี่ยนรายละเอียดบางประการ

อาทิ ยกเลิกรายการทักษะอาชีพขาดแคลน (skill shortages list) ซึ่งเน้นผู้สมัครจากบางสาขาอาชีพ และเพิ่มอัตรารายได้ขั้นต่ำของวีซ่าทำงานที่มีนายจ้างสปอนเซอร์สำหรับทุกอาชีพ จาก 53,900 ดอลลาร์เป็น 80,000 ดอลลาร์ต่อปี

รายงานชี้ว่า ข้อเปลี่ยนแปลงเหล่านี้จะช่วยให้เข้าถึงกลุ่มเป้าหมายที่มีทักษะตามต้องการที่สุดและช่วยประหยัดงบประมาณของชาติอย่างน้อย 9 พันล้านดอลลาร์ต่อปี

ที่มา: SBS, 3/6/2021

'Walmart' เเจกสมาร์ทโฟน 'Samsung' แก่พนักงานกว่า 740,000 คน

ที่มาภาพประกอบ: ZDNet

Walmart ประกาศนโยบายแจกสมาร์ทโฟน Samsung รุ่น Galaxy XCover Pro พร้อมปลอกและประกันการใช้งานตัวเครื่อง ให้พนักงานกว่า 740,000 คน โดยปัจจุบันบริษัทแห่งนี้ว่าจ้างพนักงานรวมกันทุกสาขาเป็นจำนวนเกือบ 1.6 ล้านคน

ขณะที่ Walmart ปฏิเสธที่จะเปิดเผยรายละเอียดเกี่ยวกับต้นทุนของโครงการนี้ รายงานข่าวระบุว่า โทรศัพท์ Samsung Galaxy XCover Pro นั้นมีราคาปลีกที่เครื่องละ 499.99 ดอลลาร์ ตามข้อมูลในเว็บไซต์ของ Samsung และเป็นไปได้อย่างมากที่ บริษัทที่มีขนาดใหญ่เช่นนี้จะทำการต่อร้องซื้อพร้อมขอส่วนลดก้อนโตจากทั้งผู้ผลิตเครื่องและผู้ให้บริการเครือข่ายโทรศัพท์มือถือ

ทั้งนี้ Walmart ทำการทดสอบโครงการนี้ไปแล้วเมื่อช่วงต้นปี 2021 และยืนยันว่าการให้พนักงานใช้สมาร์ทโผนที่แจกฟรีนั้น จะไม่เป็นการเปิดโอกาสให้บริษัทเข้าถึงข้อมูลส่วนตัวของพนักงาน และจะเป็นการอำนวยความสะดวกสำหรับการเข้าถึงอีเมล์ แอปพลิเคชั่นที่บริษัทจัดให้ และประวัติการท่องเว็บต่าง ๆ รวมทั้งข้อมูลด้านเทคนิคและตำแหน่งที่อยู่ของตัวเครื่องเท่านั้น

รายงานข่าวระบุด้วยว่า Walmart ต้องการส่งเสริมให้พนักงานใช้แอปของบริษัทที่ชื่อ “Me@Walmart” ซึ่งจะช่วยให้พนักงานสามารถเช็คตารางการทำงานล่วงหน้าได้ถึง 2 สัปดาห์ และสื่อสารเรื่องการขอเปลี่ยนเวลาทำงานและยื่นใบลาต่าง ๆ ด้วย

ที่มา: VOA, 4/6/2021

ไต้หวันห้ามแรงงานต่างชาติย้ายนายจ้างใหม่โดยไม่จำเป็นชั่วคราว

กรณีที่เกิดการระบาดโรค COVID-19 ในกลุ่มแรงงานต่างชาติที่โรงงานอิเล็กทรอนิคส์แห่งหนึ่งในไต้หวัน เมื่อวันที่ 5 มิ.ย. 2021 ศูนย์บัญชาการควบคุมโรคไต้หวันประกาศมาตรการใหม่เกี่ยวกับแรงงานต่างชาติ โดยขอความร่วมมือจากนายจ้างดังนี้

1. ช่วงระหว่างประกาศใช้การแจ้งเตือนมาตรการป้องกันโรคระดับ 3 งดการโอนย้ายไปทำงานกับนายจ้างใหม่โดยไม่มีเหตุจำเป็นของแรงงานต่างชาติชั่วคราว 2. ช่วงระหว่างประกาศใช้การแจ้งเตือนมาตรการป้องกันโรคระดับ 3 งดการจัดส่งพนักงานในโรงงานเดียวกัน ไปทำงานที่โรงงานสาขาชั่วคราว และ 3. ปฏิบัติตามวิธีและขั้นตอนการรับมือโรคติดเชื้อ COVID-19 ของนายจ้างที่ว่าจ้างแรงงานต่างชาติ ตามที่กระทรวงแรงงานประกาศไปแล้วอย่างเคร่งครัด

นอกจากนี้ กระทรวงแรงงานและกองแรงงานท้องที่จะดำเนินการตรวจสอบสถานประกอบการที่ว่าจ้างแรงงานต่างชาติตั้งแต่ 500 คนขึ้นไป และหอพักที่มีจำนวนแรงงานต่างชาติตั้งแต่ 100 คนขึ้นไป เพื่อกำกับและช่วยเหลือนายจ้างให้ปฏิบัติตามมาตรการป้องกันโรคและปรับปรุงสถานที่พักของแรงงานต่างชาติให้สามารถป้องกันการแพร่ระบาดของ COVID-19

ที่มา: Radio Taiwan International, 5/6/2021

พนักงาน Apple บางส่วนคัดค้านนโยบายบริษัทให้กลับเข้าออฟฟิศ 3 วันต่อสัปดาห์

พนักงานของบริษัท Apple Inc ได้ปฏิเสธการเรียกร้องของฝ่ายบริหารที่ต้องการให้พวกเขากลับเข้าทำงานในสำนักงานเป็นเวลา 3 วันต่อสัปดาห์ตั้งแต่ต้นเดือน ก.ย. 2021 นี้ โดยพนักงานราว 80 คน ของแอปเปิลได้ร่วมลงนามในจดหมายเพื่อเรียกร้องให้บริษัทใช้แนวทางที่ยืดหยุ่นในการอนุญาตให้พวกเขาเลือกทำงานแบบทางไกลได้

จดหมายดังกล่าวระบุว่านโยบายการทำงานทางไกลและความยืดหยุ่นด้านสถานที่ทำงาน รวมถึงการสื่อสารเกี่ยวกับเรื่องนี้ได้ทำให้พนักงานบางคนลาออกจากงานแล้ว

ที่มา: Bloomberg, 5/6/2021

พยาบาลนิวซีแลนด์นัดหยุดงานประท้วงหลังถูกปฏิเสธขึ้นเงินเดือน

พยาบาลราว 30,000 คน คนในนิวซีแลนด์หยุดงานเป็นเวลา 8 ชั่วโมง หลังการเจรจากับรัฐบาลเรื่องการขึ้นเงินเดือนและเงื่อนไขการทำงานล้มเหลว การประท้วงมีขึ้นหลังจากองค์การพยาบาลนิวซีแลนด์ถูกปฏิเสธการขอขึ้นเงินเดือนที่เสนอไปในช่วงต้นเดือน มิ.ย. 2021 โดยรัฐบาลบอกว่าไม่สามารถจ่ายเงินเดือนพยาบาลที่เพิ่มขึ้นถึง 17% แต่รับปากว่าจะดำเนินการเจรจาต่อ ทั้งนี้พยาบาลหลายพันคนเดินถือป้ายไปตามท้องถนน ขณะที่บางส่วนรวมตัวกันที่สวนสาธารณะและนอกโรงพยาบาลทั่วประเทศ การผ่าตัดที่ไม่เร่งด่วนและคลินิกผู้ป่วยนอกถูกยกเลิกทั้งหมด

ที่มา: Stuff, 8/6/2021

สหภาพแรงงานออสเตรเลีย เรียกร้องรัฐบาลสนับสนุนการลาฉีดวัคซีน COVID-19 โดยได้รับค่าจ้าง

สภาสหภาพแรงงานออสเตรเลีย (ACTU) ได้ส่งจดหมายถึงนายสก็อตต์ มอร์ริสัน นายกรัฐมนตรีของออสเตรเลีย เพื่อเรียกร้องให้แรงงานทุกคนในภาคการดูแลผู้สูงอายุและผู้ทุพพลภาพที่ลางานไปฉีดวัคซีนนั้น สามารถลาหยุดงานได้สูงสุดถึง 4 วันโดยได้รับค่าจ้าง

ACTU ระบุว่าประมาณ 40% ของผู้เข้ารับวัคซีนมีอาการข้างเคียง และการหยุดงานครั้งละ 2 วันสำหรับการเข้ารับวัคซีนแต่ละโดสนั้น จะช่วยให้พนักงานสามารถพักฟื้นได้ ทั้งนี้เจ้าหน้าที่ที่ดูแลผู้สูงอายุและผู้ทุพพลภาพได้รับสิทธิ์ในการเข้าฉีดวัคซีนป้องกัน COVID-19 ตั้งแต่ช่วงเฟสแรกของการดำเนินการฉีดวัคซีนในปลายเดือน ก.พ. 2021 อย่างไรก็ตาม มีแรงงานน้อยกว่า 10% ที่เข้ารับการฉีดวัคซีน ดังนั้น จึงมีการเรียกร้องให้รัฐบาลเริ่มดำเนินการฉีดวัคซีนในสถานที่ทำงาน

ที่มา: news.com.au, 10/6/2021

ศาลสหรัฐฯ ยกฟ้องพนักงานฟ้องโรงพยาบาลบังคับฉีดวัคซีน COVID-19

ผู้พิพากษาศาลรัฐบาลกลางสหรัฐฯ มีคำตัดสินไม่เห็นด้วยกับพนักงาน 117 คนของโรงพยาบาล Houston Methodist ที่ได้ยื่นฟ้องว่าการที่โรงพยาบาลกำหนดให้เจ้าหน้าที่ต้องแสดงหลักฐานว่าฉีดวัคซีนแล้วอย่างน้อย 1 เข็มไม่เช่นนั้นจะถูกเลิกจ้าง ถือว่าผิดกฎหมาย เนื่องจากวัคซีนที่มีอยู่ในขณะนี้เจ้าหน้าที่สาธารณสุขสหรัฐฯ ให้ใช้เป็นการฉุกเฉินเท่านั้น โดยผู้พิพากษามีคำตัดสินว่าเรื่องนี้ไม่เกี่ยวข้องกับประเด็นความปลอดภัยของวัคซีน และกฎหมายของรัฐเทกซัสคุ้มครองเฉพาะเรื่องที่เจ้าหน้าที่ปฏิเสธที่จะกระทำผิดกฎหมายเท่านั้น แต่การรับวัคซีน COVID-19 ไม่ใช่การกระทำผิดกฎหมาย และไม่มีโทษทางอาญา

ที่มา: The Washington Post, 14/6/2021

สายการบินในญี่ปุ่นเริ่มฉีดวัคซีน COVID-19 ให้พนักงาน

สายการบินเจแปน แอร์ไลน์ส (JAL) ได้เริ่มฉีดวัคซีน COVID-19 ให้กับพนักงาน โดยการดำเนินการดังกล่าวมีขึ้นเพียงวันเดียวหลังจากสายการบินออล นิปปอน แอร์เวย์ (ANA) เริ่มโครงการฉีดวัคซี  COVID-19 ให้พนักงาน ณ สนามบินฮาเนดะในกรุงโตเกียว โดยทำให้ ANA เป็นบริษัทแห่งแรกในญี่ปุ่นที่เริ่มฉีดวัคซีนให้พนักงานในสถานที่ทำงาน

ทั้งนี้สายการบิน JAL ตั้งเป้าที่จะฉีดวัคซีนให้แก่พนักงาน 36,000 คน โดยจะเน้นพนักงานสำหรับเที่ยวบินระหว่างประเทศเป็นอันดับแรก

ที่มา: Kyodo, 14/6/2021

ILO เผยแรงงานทำงานบ้านมากกว่าครึ่งในภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิก ไม่ได้รับการคุ้มครองจากกฎหมายแรงงานในประเทศ

องค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ILO) เปิดเผยข้อมูลของรายงานฉบับใหม่ เพื่อสร้างความตระหนักถึงความสำคัญของอาชีพทำงานบ้าน และผลักดันสิทธิมนุษยชนในสายอาชีพนี้ ในวันแรงงานอาชีพทำงานบ้านสากล (International Domestic Workers Day) ซึ่งเป็นวันที่ 16 มิ.ย. ของทุกปี โดยในรายงานระบุเกี่ยวกับความก้าวหน้า และโอกาสในอนาคตสำหรับแรงงานอาชีพทำงานบ้านหลังจากมีการจัดทำอนุสัญญาแรงงานทำงานบ้านในปี 2554 ฉบับที่ 189 (ILO’s Domestic Workers Convention, 2011, No. 189)

ข้อมูลในรายงานระบุว่าแรงงานทำงานบ้านจำนวนมากกว่าครึ่ง (ร้อยละ 61.5) ในภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิก ไม่ได้รับการคุ้มครองจากกฎหมายแรงงานในประเทศ ขณะที่ร้อยละ 84.3 เป็นแรงงานที่อยู่ในรูปแบบการจ้างงานนอกระบบ เทียบกับร้อยละ 52.8 ที่เป็นการจ้างงานนอกระบบของแรงงานประเภทอื่น

ทั้งนี้ ในภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิคมีแรงงานอาชีพทำงานบ้านที่อายุมากกว่า 15 ปี ประมาณ 38.3 ล้านคน (คิดเป็นร้อยละ 50.6 ของแรงงานทำงานบ้านทั่วโลก) ในจำนวนดังกล่าวร้อยละ 78.4 เป็นผู้หญิง และภูมิภาคนี้ยังเป็นภูมิภาคที่มีการจ้างงานแรงงานชายทำงานบ้านจำนวนมากที่สุด คิดเป็นร้อยละ 46.1 ของแรงงานทำงานบ้านชายทั่วโลก

ที่มา: ILO, 15/6/2021

IKEA ถูกศาลฝรั่งเศสปรับ 1 ยูโรจากข้อหาสอดแนมข้อมูลพนักงาน

เมื่อวันที่ 15 มิย. 2021 ศาลฝรั่งเศสมีคำตัดสินให้บริษัทในเครือของ IKEA ผู้ผลิตและผู้จำหน่ายเฟอร์นิเจอร์แบบน็อกดาวน์รายใหญ่ที่สุดของโลกซึ่งทำธุรกิจอยู่ในฝรั่งเศสต้องจ่ายค่าปรับ 1 ล้านยูโร ในความผิดข้อหาสอดแนมข้อมูลส่วนตัวของพนักงานและลูกค้าในฝรั่งเศสเป็นเวลาหลายปี โดยข้อหาดังกล่าวรวมถึงการละเมิดความเป็นส่วนตัวของพนักงานด้วยการเรียกดูบัญชีธนาคารเพื่อใช้ในกรณีพิพาทกับผู้นำสหภาพแรงงานรวมทั้งกับลูกค้าในบางครั้งด้วย

กลุ่มบริษัท Ingka Group ของสวีเดนเจ้าของร้าน IKEA ในประเทศต่าง ๆ ทั่วโลกยอมรับการประพฤติผิดเรื่องนี้และกล่าวว่ากำลังทบทวนการปฎิบัติเพื่อตัดสินใจว่าจะต้องมีการดำเนินงานเรื่องใดเพิ่มเติมหรือไม่ ขณะนี้ตลาดใหญ่ที่สุดของร้านเฟอร์นิเจอร์ IKEA อยู่ในเยอรมนี สหรัฐฯ และตามด้วยฝรั่งเศสเป็นอันดับสาม

ที่มา: VOA, 16/6/2021

ไต้หวันส่งการ์ดขอบคุณพร้อมมอบถุงป้องกันโรคให้แก่แรงงานต่างชาติที่ถูกกักตัวในห้องพัก

กรณีที่เกิดการระบาดของโรคโควิดในแรงงานฟิลิปปินส์ในลักษณะเป็นกลุ่มก้อนหรือคลัสเตอร์ที่เมืองเหมียวหลายโรงงาน มีแรงงานฟิลิปปินส์ติดเชื้อโควิดประมาณ 400 คน และมีแรงงานต่างชาติที่เป็นเพื่อนร่วมห้องหรือร่วมงานถูกกักตัวเพื่อสังเกตอาการในห้องพักเป็นพันคน แรงงานต่างชาติเหล่านี้ซึ่งส่วนใหญ่เป็นแรงงานฟิลิปปินส์ เนื่องจากอยู่ในห้องพักคนเดียวไปไหนไม่ได้ กังวลสุขภาพและอนาคต รวมถึงกลัวว่าจะไม่ได้รับค่าจ้างระหว่างถูกกักตัว ทำให้บางรายเกิดอาการเครียดและไม่พอใจที่ถูกกักตัว กระทรวงแรงงานไต้หวัน ได้บันทึกเสียงคำพูดที่ให้กำลังใจเปิดให้ฟังเป็นระยะ

นอกจากนี้นางสวี่หมิงชุน รมว.กระทรวงแรงงานไต้หวัน ยังได้ส่งการ์ดและถุงป้องกันโรคให้กำลังใจ ในการ์ดมีข้อความว่า ขอบคุณที่ท่านให้ความร่วมมือในมาตรการป้องกันโควิด-19 ด้วยการกักตัวหรือแยกตัวอยู่ในห้องพัก กระทรวงแรงงานไต้หวัน ขอให้กำลังใจและส่งมอบข้าวของเครื่องใช้ อาทิ แอลกอฮอล์ หน้ากากอนามัย ของกินเป็นต้น ขอให้ท่านมีสุขภาพดีและผ่านพ้นช่วงเวลานี้ไปด้วยความปลอดภัย หากท่านมีปัญหาที่เกี่ยวข้อง โทรศัพท์ไปที่สายด่วนคุ้มครองแรงงาน 1955 ได้ เรามีล่ามคอยให้คำปรึกษาแก่ท่านตลอด 24 ชั่วโมง โดยไม่เสียค่าใช้จ่ายใดๆ ด้วยความห่วงใยจาก นางสวี่หมิงชุน รมว.กระทรวงแรงงาน

ส่วนบันทึกเสียงที่เปิดให้แรงงานต่างชาติที่ถูกกักตัวมีเนื้อหาว่า เนื่องจากสถานการณ์โควิดในไต้หวันรุนแรงขึ้น จำนวนผู้ป่วยยืนยันเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง แรงงานต่างชาติที่เคยสัมผัสใกล้ชิดกับผู้ป่วยและถูกกักตัวก็มีจำนวนเพิ่มมากขึ้น ทำให้เกิดความผวา แต่ขอให้ท่านอย่าได้วิตกกังวล สถานะของท่านในขณะนี้คือ เฝ้าสังเกตอาการตนเองเป็นเวลา 14 วัน ช่วงระหว่างนี้ ขอความร่วมมืออย่าออกนอกห้อง เพื่อหลีกเลี่ยงเกิดการแพร่เชื้อซึ่งกันและกัน ซึ่งเป็นวิธีปกป้องตัวท่านเองให้พ้นจากการติดเชื้อที่ดีที่สุด นอกจากต้องวัดและบันทึกอุณหภูมิร่างกายเป็นประจำทุกวันแล้ว หากมีอาการผิดปกติ ต้องรายงานให้ผู้ดูแลทราบทันที

ช่วงระหว่างสังเกตอาการตนเอง ขอให้ท่านอย่างได้กังวลเรื่องค่าจ้างและอาหาร นายจ้างยังคงจ่ายค่าจ้างตามปกติ และมีคนนำอาหารมาส่งให้ท่านถึงที่ห้องวันละ 3 มื้อ

กระทรวงแรงงานไต้หวันขอความร่วมมือจากท่าน เคารพและปฏิบัติตามมาตรการป้องกันโรคที่รัฐบาลกำหนด ได้แก่ สวมใส่หน้ากากอนามัยตลอดเวลา หมั่นล้างมือ หลีกเลี่ยงออกนอกเคหสถาน ดูแลสุขภาพของตัวเอง และสร้างเสริมสุขภาพของเราให้ดีขึ้น ด้วยการทานอาหารสมส่วน พักผ่อนและนอนหลับให้เพียงพอ รักษาระยะห่างทางสังคม อย่ากังวลและให้แรงกดดันแก่ตัวเอง เพราะนั่นจะทำให้ภูมิต้านทานของท่านลดลง

หากท่านมีอาการผิดปกติใดๆ ขอให้รายงานทันที หรือโทรศัพท์ไปที่สายด่วนป้องกันโรค 1922 จะมีเจ้าหน้าที่ช่วยนำส่งรักษาที่โรงพยาบาล หรือหากท่านมีข้อสงสัยใดๆ โทรไปสอบถามได้ที่สายด่วนคุ้มครองแรงงาน 1955 หรือเข้าร่วมกลุ่มไลน์ของสายด่วน 1955 เพื่อตรวจสอบสถานการณ์โควิดล่าสุด ฟังข้อมูลข่าวสารและสิทธิประโยชน์เกี่ยวกับแรงงานไทยจากรายวิทยุ เรามาร่วมมือกัน เอาชนะและผ่านพ้นวิกฤตโควิดครั้งนี้ไปพร้อมกัน  ด้วยความห่วงใยจาก กรมพัฒนากำลังแรงงาน กระทรวงแรงงานไต้หวัน

ที่มา: Radio Taiwan International, 18/6/2021

ห้างสรรพสินค้าดังในออสเตรเลียถูกฟ้อง ปมค้างจ่ายค่าจ้างผู้จัดการ 70 คน

วูลเวิธ์ส (Woolworths) ห้างสรรพสินค้าดังในออสเตรเลีย กำลังเผชิญกับการดำเนินคดีทางกฎหมาย กรณีการจ่ายค่าจ้างที่ไม่เป็นธรรมให้กับคนทำงานในตำแหน่งผู้จัดการ ขณะที่ฝ่ายทำงานเฝ้าระวังสถานประกอบการสามารถรวมรวมข้อมูลเงินที่ค้างจ่ายได้มากกว่า $710,000 ดอลลาร์

คณะกรรมาธิการแฟร์เวิร์ก (Fair Work Ombudsman) ได้เริ่มต้นการดำเนินคดีทางกฎหมายในศาลสหพันธรัฐ กับห้างสรรพสินค้าวูลเวิร์ธส์ (Woolworths) ในกรณีค้างจ่ายค่าจ้างให้กับพนักงานในตำแหน่งผู้จัดการรับเงินเดือนจำนวน 70 ตำแหน่ง เป็นเงินรวมกว่า $1.1 ล้านดอลลาร์ โดยแฟร์เวิร์กอ้างว่า มีค่าจ้างเป็นจำนวนเงิน $713, 395 ดอลลาร์ ที่วูลเวิร์ธส์ยังคงค้างจ่ายกับพนักงานดังกล่าว

ก่อนหน้านี้ วูลเวิร์ธส์ ได้เปิดเผยการค้างจ่ายค่าจ้างของพนักงานนับพันคน เมื่อปี 2019 โดยจำนวนเงินคงค้างที่วูลเวิร์ธส์ต้องจ่ายให้กับพนักงานที่ได้มีการคำนวณแล้วในภายหลังนั้นมากถึงราว $390 ล้านดอลลาร์ การเปิดเผยดังกล่าวได้นำไปสู่การสอบสวน ซึ่งตรวจสอบประวัติการจ่ายค่าจ้างของลูกจ้างตำแหน่งผู้จัดการจำนวน 70 คน ระหว่างเดือน มี.ค. 2018-2019 โดยการกล่าวหาเรื่องการค้างจ่ายค่าจ้างนั้น คิดเป็นเงินค้างจ่ายระหว่าง $289-$85,905 สำหรับลูกจ้างตำแหน่งผู้จัดการจำนวน 70 คน ในระยะเวลา 1 ปี

ที่มา: SBS, 19/6/2021

สหภาพแรงงาน Verdi ในเยอรมนีหยุดงานประท้วง Amazon

สหภาพแรงงาน Verdi ในเยอรมนี เรียกร้องให้พนักงานในคลังสินค้าของบริษัท Amazon จำนวน 7 แห่ง หยุดงานประท้วงเป็นเวลา 3 วัน ซึ่งตรงกับการจัดโปรโมชั่น 'ไพรม์เดย์' ทั่วโลกของ Amazon สหภาพแรงงาน Verdi ระบุว่าการหยุดงานประท้วงครั้งนี้เป็นส่วนหนึ่งของการต่อสู้กับ Amazon มาอย่างยาวนาน เพื่อเรียกร้องให้ Amazon เพิ่มอัตราค่าตอบแทนให้กับพนักงาน พร้อมปรับปรุงสภาพแวดล้อมในการทำงานให้ดีขึ้น

ที่มา: Deutsche Welle, 21/6/2021

ไต้หวันมีจำนวนคนหยุดงานไม่ได้รับเงินเดือนทะลุ 10,000 ราย ธุรกิจโรงแรม-ร้านอาหารกระทบมากที่สุด

กระทรวงแรงงานไต้หวันออกมาเผยสถิติล่าสุดเกี่ยวกับผลกระทบทางเศรษฐกิจที่มีต่อนายจ้างและแรงงาน ซึ่งภาคธุรกิจที่มีการเจรจาปรับลดชั่วโมงการทำงานหรือหยุดงานโดยไม่ได้รับเงินเดือนล่าสุดมีจำนวนทั้งหมด 987 บริษัทแล้ว มีแรงงานได้รับผลกระทบจำนวน 10,229 ราย ซึ่งหากเปรียบเทียบกับช่วงก่อนหน้านี้มีบริษัทได้รับผลกระทบเพิ่ม 362 แห่ง และมีจำนวนแรงงาน 3,846 คน ที่ได้รับผลกระทบเพิ่มขึ้น ทั้งนี้หลายภาคธุรกิจได้ใช้วิธีการลดชั่วโมงการทำงานโดยเพิ่มจำนวนวันหยุดอีก 1-4 วันต่อเดือน ส่งผลให้แต่ละเดือนกลายเป็นว่ามีวันหยุดจำนวน 13-16 วัน

เมื่อพิจารณารายละเอียดของสถิติจะเห็นว่า ธุรกิจโรงแรมและร้านอาหารได้รับผลกระทบมากที่สุด ส่งผลให้มีจำนวนแรงงานหยุดงานไม่ได้รับเงินเดือนในช่วงนี้สูงถึง 2,864 ราย จากทั้งหมด 175 บริษัท ซึ่งเพิ่มขึ้นจากช่วงก่อนหน้านี้ที่มีจำนวน 972 ราย จากทั้งหมด 90 บริษัท รองลงมาคือธุรกิจค้าส่งและค้าปลีก โดยมีจำนวนแรงงานหยุดงานไม่ได้รับเงินเดือนในช่วงนี้ถึง 1,559 ราย จากทั้งหมด 246 บริษัท ซึ่งเพิ่มขึ้นจากช่วงก่อนหน้านี้ที่มีจำนวน 944 ราย จากทั้งหมด 164 บริษัท และหากแบ่งตามพื้นที่จะพบว่า นครนิวไทเปซึ่งเป็นเขตแพร่ระบาดโควิด-19 รุนแรงก็มีจำนวนคนหยุดงานไม่ได้รับเงินเดือนเพิ่มขึ้นมากที่สุด จากช่วงก่อนหน้านี้คือ 148 บริษัท 1,419 คน เพิ่มเป็น 256 บริษัท 2,512 คน ขณะที่เมืองท่องเที่ยวอย่างอี๋หลานก็ได้รับผลกระทบโดยมีจำนวนคนหยุดงานไม่ได้รับเงินเดือนเพิ่มขึ้นจากเดิม 82 คน 7 บริษัท เพิ่มเป็น 914 คน 40 บริษัท ซึ่งจำนวนแรงงานที่ได้รับผลกระทบเพิ่มขึ้นถึง 10 เท่าเลยทีเดียว

ที่มา: Radio Taiwan International, 24/6/2021

พนักงานโรงพยาบาลในรัฐเท็กซัส ถูกเลิกจ้าง-ลาออก เพราะไม่ยอมฉีดวัคซีน COVID-19

โรงพยาบาล Houston Methodist ซึ่งเป็นโรงพยาบาลแห่งแรก ๆ ที่ออกข้อกำหนดด้านการฉีดวัคซีน COVID-19 แก่พนักงาน ได้ยุติการจ้างงานหรืออนุมัติการลาออกของพนักงานแล้ว 153 คน โดยโรงพยาบาลระบุว่าในเดือน เม.ย. 2021 ได้ออกประกาศข้อกำหนดให้พนักงานฉีดวัคซีน COVID-19 ภายในวันที่ 7 มิ.ย. 2021 เพื่อรักษาตำแหน่งงานของตน โดยมีพนักงานปฏิบัติตาม 24,947 คน และโรงพยาบาลได้ระงับการปฏิบัติหน้าที่ของพนักงาน 178 คนที่ไม่ได้ฉีดวัคซีนตามกำหนด และให้เวลาเพิ่ม 2 สัปดาห์เพื่อให้ส่งหลักฐานยืนยันว่าตนได้ฉีดวัคซีนแล้ว

ก่อนหน้านี้ผู้พิพากษาศาลรัฐบาลกลางสหรัฐฯ มีคำตัดสินไม่เห็นด้วยกับพนักงาน 117 คนของโรงพยาบาล Houston Methodist ที่ได้ยื่นฟ้องว่าการที่โรงพยาบาลกำหนดให้เจ้าหน้าที่ต้องแสดงหลักฐานว่าฉีดวัคซีนแล้วอย่างน้อย 1 เข็มไม่เช่นนั้นจะถูกเลิกจ้าง ถือว่าผิดกฎหมาย

ที่มา: The Texas Tribune, 23/6/2021

โตเกียวโอลิมปิกและพาราลิมปิก จะใช้เจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยของเอกชนมากถึง 18,000 คนต่อวัน

คณะผู้จัดการแข่งขันโตเกียวโอลิมปิกและพาราลิมปิกได้เปิดเผยแผนการที่จะใช้เจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยของเอกชนมากถึง 18,000 คนต่อวัน ในระหว่างการแข่งขันดังกล่าว

เจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยหลายพันคนจะลาดตระเวนสนามแข่งขันโอลิมปิก 43 แห่งและพื้นที่โดยรอบ ร่วมกับตำรวจในพื้นที่

เจ้าหน้าที่โอลิมปิกระบุว่าแผนประจำการเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยดังกล่าวจะรับประกันความปลอดภัยระดับสูงสุด แม้สนามแข่งขันจะมีผู้คนเต็มสนามหรือไม่ก็ตาม

คณะผู้จัดการแข่งขันยังกล่าวด้วยว่าพวกตนสามารถจัดหาเจ้าหน้าที่ดังกล่าวได้ในจำนวนที่จำเป็น แม้ว่าการแข่งขันครั้งก่อน ๆ เผชิญปัญหาอยู่บ่อยครั้งเรื่องการจัดหาเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยของเอกชนให้เพียงพอ

พวกเขากล่าวเสริมว่าความยืดหยุ่นเป็นสิ่งสำคัญในแง่ของการกำหนดจำนวนที่แท้จริงของเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยตามสนามแข่งขันต่าง ๆ จนกว่าจะมีการยืนยันจำนวนผู้เข้าชม

ที่มา: NHK, 25/6/2021

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net