Skip to main content
sharethis

27 มิ.ย. 2564 ศบค. รายงานพบผู้ติดเชื้อรายใหม่ 3,995 ราย สะสม 244,447 ราย รักษาหายแล้ว 198,928 ราย เพิ่มขึ้น 2,253 ราย เสียชีวิตสะสม 1,912 ราย - สนธิกำลังเจ้าหน้าที่ 10,000 คน คุมหน้าแคมป์คนงานก่อสร้าง ทั่วกรุงเทพฯ 575 แห่ง - คปภ. เตือนอย่าเสี่ยงทำ ตั้งใจติดเชื้อหวังเคลมเงินประกัน

27 มิ.ย. 2564 ศบค. รายงานพบผู้ติดเชื้อรายใหม่ 3,995 ราย ผู้ป่วยยืนยันสะสมในประเทศตั้งแต่ต้นปี 2563 จนถึงล่าสุดอยู่ที่ 244,447 ราย โดยมีผู้ป่วยรักษาหายแล้ว 198,928 ราย เพิ่มขึ้น 2,253 ราย ยอดเสียชีวิตสะสมเพิ่มเป็น 1,912 ราย

สนธิกำลังเจ้าหน้าที่ 10,000 คน คุมหน้าแคมป์คนงานก่อสร้าง ทั่วกรุงเทพฯ 575 แห่ง

27 มิ.ย. 2564 พล.ต. ธีรพงศ์ ปัทมสิงห์ ณ อยุธยา รองโฆษกกองบัญชาการกองทัพไทย เปิดเผยว่า พล.อ. เฉลิมพล ศรีสวัสดิ์ ผู้บัญชาการทหารสูงสุด (ผบ.ทสส.) ในฐานะหัวหน้าศูนย์ปฏิบัติการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินด้านความมั่นคง (หน.ศปม.) ได้สั่งการให้ศูนย์ปฏิบัติการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินด้านความมั่นคงตำรวจ, กองบัญชาการศูนย์ปฏิบัติการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินด้านความมั่นคง และศูนย์ปฏิบัติการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินด้านความมั่นคงเหล่าทัพ จัดกำลังพล ร่วมสนธิและวางกำลังในการปฏิบัติหน้าที่ ร่วมกับกรุงเทพมหานครและกระทรวงสาธารณสุข โดยมีเจ้าหน้าที่รวมจำนวน 10,000 นาย

โดยเข้าปฏิบัติหน้าที่ในการกำกับดูแลให้เป็นไปตามมาตรการที่กำหนด ซึ่งปัจจุบันได้ดำเนินการเสร็จเรียบร้อยแล้ว ในพื้นที่ 50 เขตของกรุงเทพมหานคร จำนวน 575 แคมป์งานก่อสร้าง

สำหรับกำลังพลที่เข้าปฏิบัติหน้าที่แต่ยังไม่ได้รับการฉีดวัคซีนนั้น จะดำเนินการฉีดวัคซีนให้โดยเร็ว โดยระหว่างนี้กำลังพลทุกนายจะปฏิบัติตามมาตรการป้องกันโรคในการปฏิบัติหน้าที่อย่างเคร่งครัด เช่น การสวมหน้ากากอนามัยขณะปฏิบัติภารกิจตลอดเวลา การสวมใส่เฟซชิลด์ และพกสเปรย์แอลกอฮอล์

รวมทั้งการรักษาสุขอนามัยในขณะปฏิบัติหน้าที่ และเมื่อเสร็จสิ้นภารกิจ กำลังพลจะถูกส่งเข้าสู่กระบวนการตรวจคัดกรองโรค และกักตนเองแยกจากครอบครัวเป็นเวลา 14 วัน

ทั้งนี้ กองบัญชาการกองทัพไทย ขอแสดงความชื่นชมและให้กำลังใจแก่กำลังพลทุกนาย ซึ่งเป็นผู้มีความทุ่มเท เสียสละ อุทิศตนเพื่อประโยชน์ส่วนรวมโดยมิเห็นแก่ประโยชน์ส่วนตัว แม้จะเป็นกลุ่มที่มีความเสี่ยงสูงในการปฏิบัติหน้าที่ด่านหน้า

แต่ยังคงมีความมุ่งมั่นปฏิบัติหน้าที่ด้วยความอุตสาหะเพื่อเป็นป้อมปราการหลักที่สำคัญในการดูแลพี่น้องประชาชนภายใต้สถานการณ์เช่นนี้ พร้อมทั้งขอความร่วมมือพี่น้องประชาชนในการปฏิบัติตนตามมาตรการของภาครัฐอย่างเคร่งครัด และร่วมส่งกำลังใจให้เจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานทุกนายในการปฏิบัติภารกิจที่ได้รับมอบหมายอย่างเต็มขีดความสามารถ เพื่อดูแลประชาชนในช่วงเวลาของการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 ต่อไป

สธ. เตรียมมาตรการรองรับแรงงานเดินทางกลับบ้าน

นายแพทย์เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ว่า กระทรวงสาธารณสุข ได้เตรียมมาตรการรองรับแรงงานบางส่วนที่เดินทางกลับภูมิลำเนาจากการปิดแคมป์คนงานในกทม. ปริมณฑล และ 4 จังหวัดภาคใต้ ได้แก่ นราธิวาส ปัตตานี ยะลา และสงขลา เป็นเวลา 30 วัน ตั้งแต่วันที่ 28 มิถุนายน 2564 เพื่อเฝ้าระวัง ป้องกันการแพร่กระจายเชื้อโควิด 19 ซึ่งทุกจังหวัดมีมาตรการและประสบการณ์ตั้งแต่การล็อคดาวน์ในการระบาดระลอกแรกและช่วงสงกรานต์ที่ผ่านมา สามารถดำเนินการได้เป็นอย่างดี อย่างไรก็ตาม ได้ให้กรมควบคุมโรค ในฐานะสำนักงานเลขานุการคณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติ ทำหนังสือขอความร่วมมือผู้ว่าราชการจังหวัดในฐานะประธานคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัด จัดตั้งทีมค้นหา เฝ้าระวัง และป้องกันโรคในทุกอำเภอ หมู่บ้าน โดยให้อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้านร่วมทีมออกเคาะประตูบ้าน เพื่อสำรวจจัดทำฐานข้อมูลผู้เดินทางกลับภูมิลำเนา และให้ความรู้ในการแยกตัวสังเกตอาการ หลีกเลี่ยงการใกล้ชิดกับผู้อื่นทั้งในที่พักจนครบ 14 วันนับจากวันที่เดินทางมาถึงภูมิลำเนา รวมทั้งการปฏิบัติตัวในการป้องกันการแพร่กระจายเชื้ออย่างเคร่งครัด สำหรับด้านการรักษาพยาบาลมีการบริหารจัดการในรูปเขตสุขภาพ ขณะนี้โรงพยาบาลทุกแห่ง มีบุคลากร ยา เวชภัณฑ์ พร้อมให้การดูแลผู้ป่วย

“ขอความร่วมมือผู้ประกอบการงดการเคลื่อนย้ายแรงงานออกจากพื้นที่ เพื่อควบคุมการแพร่ระบาดให้ได้โดยเร็ว ส่วนแรงงานที่เดินทางกลับบ้าน ขอให้ปฏิบัติตามมาตรการป้องกันโรค ก่อนเดินทางต้องคัดกรอง วัดไข้ สแกนไทยชนะ ล้างมือด้วยน้ำและสบู่หรือแอลกอฮอล์เจล เว้นระยะห่าง และสวมหน้ากากตลอดการเดินทาง เมื่อถึงภูมิลำเนาขอให้รายงานตัวกับกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน หากมีไข้ มีอาการทางเดินหายใจขอให้งดเดินทาง กลับที่พักไปสังเกตอาการ หากไม่ดีขึ้นให้ไปโรงพยาบาลใกล้บ้าน” นายแพทย์เกียรติภูมิกล่าว

คปภ. เตือนอย่าเสี่ยงทำ ตั้งใจติดเชื้อหวังเคลมเงินประกัน

นายสุทธิพล ทวีชัยการ เลขาธิการคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (เลขาธิการ คปภ.) เปิดเผยว่า ตามที่สำนักงาน คปภ. เคยออกข่าวเตือนประชาชนมิให้หลงเชื่อกรณีมีการชักจูงให้ผู้เอาประกันภัยโควิด-19 บางรายเอาตัวไปเสี่ยงให้ติดเชื้อโควิด-19 เพื่อจะได้เคลมเงินประกัน เพราะการกระทำดังกล่าวอาจทำให้เป็นอันตรายถึงชีวิต และเป็นเหตุให้ไม่ได้รับเงินตามกรมธรรม์ประกันภัยโควิด-19 เนื่องจากอาจเข้าเงื่อนไขการใช้สิทธิโดยไม่สุจริต ทั้งอาจถูกดำเนินคดีกรณีเข้าข่ายเป็นการฉ้อฉลประกันภัยอีกด้วยนั้น

ปัจจุบันมีการส่งข่าวกระจายตามช่องทางออนไลน์กลุ่มต่าง ๆ ว่ามีการปรากฏพฤติการณ์ดังกล่าวอีกในช่วงที่มีการระบาดของโควิด-19 ระลอกสาม ซึ่งหากเป็นจริง และแม้จะปรากฏว่ามีผู้ที่มีพฤติการณ์เช่นนี้เป็นจำนวนน้อยก็ตาม ก็ย่อมเป็นการซ้ำเติมสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ในปัจจุบัน และกระทบต่อการใช้สิทธิโดยชอบของประชาชนผู้เอาประกันภัยโควิด-19 ที่สุจริต

ขณะนี้ศูนย์รับเรื่องร้องเรียนกรณีประกันโควิด-19 ของสำนักงาน คปภ. ยังไม่ได้รับการร้องเรียนเกี่ยวกับกรณีดังกล่าว อย่างไรก็ตาม สำนักงาน คปภ. จะติดตามอย่างใกล้ชิดและได้แนะนำให้บริษัทประกันภัยให้มีกระบวนการกลั่นกรองในการจ่ายเคลมให้รอบคอบ ถ้าตรวจพบกรณีการเคลมผิดปกติ ให้รีบแจ้งสำนักงาน คปภ. เพื่อจะดำเนินการสืบสวนสอบสวน ถ้าพบว่ามีการกระทำความผิดจริง ก็จะบังคับใช้กฎหมายอย่างเคร่งครัด นอกจากนี้ ยังแนะนำให้บริษัทประกันภัยระมัดระวังการรับทำประกันภัยโควิด-19 ในแบบเจอจ่ายจบ รวมทั้งอาจมีการกำหนดจำนวนกรมธรรม์ประกันภัยโควิด-19 ต่อราย โดยคำนึงถึงขีดความสามารถในการรับประกันภัยด้วย โดยจะได้เชิญทางสมาคมประกันวินาศภัยไทยร่วมหารือโดยเร็วต่อไป

“กรมธรรม์ประกันภัยโควิด-19 ถูกพัฒนาขึ้นเป็นการเฉพาะในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 เพื่อหวังเป็นหลักประกันให้กับประชาชนในการบริหารความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นจากการติดเชื้อโควิด-19 โดยไม่ได้ตั้งใจ และกรมธรรม์ประกันภัยดังกล่าวจะให้ความคุ้มครองเฉพาะผู้เอาประกันภัยที่สุจริตเท่านั้น หากผู้ที่ทำประกันภัยไว้หลายฉบับและจงใจเอาตัวไปเสี่ยงให้ติดเชื้อ เพื่อหวังเงินเอาประกัน อาจเข้าเงื่อนไขการใช้สิทธิโดยไม่สุจริตหรือเป็นการฉ้อฉลประกันภัยได้ ทั้งนี้ หากต้องการสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมโปรดติดต่อสายด่วน คปภ. 1186”

เลขา ครป. สลดใจคนล้มตายแต่นายกหัวเราะร่าอยู่ในทำเนียบ ชี้มาตรการล่าสุดไม่ต่างจากฆาตรกร แผนดันคนป่วยไปต่างจังหวัดเพราะเตียงเต็ม

นายเมธา มาสขาว เลขาธิการคณะกรรมการรณรงค์เพื่อประชาธิปไตย (ครป.) และกลุ่มไทยไม่ทน คณะสามัคคีประชาชนเพื่อประเทศไทย กล่าวถึงมาตรการรัฐบาลรอบใหม่ที่ห้ามนั่งกินในร้านอาหาร-ให้ซื้อกลับบ้าน ปิดแคมป์คนงานและห้ามเคลื่อนย้ายแรงงานในพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด 10 จังหวัดว่า ถือเป็นมาตรการที่สะเปะสะปะ ขาดวิสัยทัศน์และไร้ยุทธศาสตร์ใดๆ เป็นเพียงการแก้ปัญหาเฉพาะหน้า แต่ต้มตุ๋นหลอกลวงประชาชนระยะยาว เนื่องจากสาเหตุมาจากโรงพยาบาลในกรุงเทพฯ และปริมณฑลเกิดปัญหาเตียงไม่พอ คนป่วยโควิดล้นเกิน จนต้องปิดรับการคัดกรองโควิด มีการเสนอแนวคิดติดเชื้อให้กักตัวที่บ้าน และเคลียร์เตียงรับวิกฤต เนื่องจากตัวเลขผู้ติดเชื่อยังสาหัส ป่วยเพิ่มขึ้นทุกวันกว่า 4 พันราย เสียชีวิตวันนี้ถึง 42 คน

จึงเกิดมาตรการพิเศษประกาศล็อคดาวน์หลอกๆ เมื่อคืนนี้แต่มีผลวันจันทร์ เพื่อให้แรงงานที่ว่างงาน 1 เดือนอพยพกลับบ้านเกิด เพื่อกระจายผู้ป่วยออกไปไปต่างจังหวัดแก้ปัญหาเตียงล้นเกินแค่นั้น ตามที่พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา ได้ให้สัมภาษณ์หลุดออกมาว่า การล็อค กทม. สามารถช่วยลดการแพร่ระบาดโควิดได้แน่นอน และแก้ไขปัญหาเตียงไม่พอ เพราะเมื่อประชาชนเดินทางกลับบ้านต่างจังหวัดและติดโควิดก็จะมีเตียงและการรักษาพยาบาลรองรับเพียงพอในแต่ละพื้นที่

ซึ่งก็คือไม่ได้ต้องการล็อคดาวน์จริง และปัญหาที่จะตามมาคือมาตรการนี้ทำให้เกิดการระบาดอีกรอบทั่วประเทศ แต่รัฐบาลไม่สนใจเพราะนายกและคนในรัฐบาลฉีดวัคซีนหมดแล้ว เพราะต้องการคงอำนาจพิเศษตาม พรก.ฉุกเฉินฯ ให้พล.อ.ประยุทธ์ ต่อไป

นี่คือผลงานของรัฐบาลที่อัปยศที่สุดในประวัติศาสตร์ การสั่งปิดร้านอาหารโดยห้ามนั่งกินก็เหมือนการสั่งให้ธุรกิจร้านอาหารล้มละลายทั้งระบบ โดยรัฐบาลไม่เข้าใจว่า ห่วงโซ่ธุรกิจอาหารเชื่อมโยงเศรษฐกิจฐานล่างของสังคมทั้งระบบ ตั้งแต่เกษตรกรปลูกฝัก ปศุสัตว์ มาแม่ค้าตลาดสด ระบบโลจิสติกส์ และแรงงานนอกระบบ คนทำงานหาเช้ากินค่ำ แรงงานบริการ นักร้อง นักดนตรี ได้รับผลกระทบทันทีหลายล้านคน เป็นห่วงโซ่ผลกระทบที่รุนแรง เพราะคนเหล่านี้บ้างเป็นแรงงานรายวัน บ้างเป็นมนุษย์เงินเดือน ไม่มีเงินมากพอที่จะใช้ต่อลมหายใจรายวันและรายเดือนได้  และปัญหาต่างๆ ก็จะตามมาหลังพวกเขาตกงาน คนไม่มีบ้านไม่มีหลังพิงที่ต่างจังหวัด ไม่จบชีวิตด้วยความตายก็เกิดอาชญากรรม มาตรการดังกล่าวจึงไม่ต่างจากฆาตรกร

นี่คือความอดสูของประชาชนที่สุดทนที่จะกล้ำกลืนอีกต่อไปแล้ว ตัวเลขผู้ติดเชื้อที่เพิ่มมากขึ้นโดยตลอดที่ผ่านมาแม้มีการปิดร้านอาหาร แสดงว่าไม่ใช่ความผิดของร้านอาหาร และนักร้องนักดนตรีคนทำงานกลางคืนไม่ใช่เหยื่อ แต่คือผลงานความไร้ฝีมือของผู้นำประเทศที่ควรรับผิดชอบผลงานที่ล้มเหลวด้วยการลาออกในทันที ทำไมรัฐบาลไม่เคยทบทวนเรื่องนี้ แม้ใช้อำนาจตาม พรก.ฉุกเฉินฯ ที่มีอำนาจครอบจักรวาลก็แก้ปัญหาไม่ได้ เพราะผู้นำประเทศไม่มีภาวะผู้นำที่จะแก้ปัญหาฝ่าวิกฤตไปได้ แต่หลงตนเองคิดว่าเก่งอยู่แต่เพียงผู้เดียว

ที่ผ่านมารัฐบาลเจือจานช่วยเหลือเยียวยาพวกเขาแค่นิดเดียว เหมือนกับตั้งใจทำให้จนแล้วแจก แต่นโยบายเงินผันไม่เพียงพอต่อความเดือดร้อนและการอยู่รอด คนฆ่าตัวตายรายวันจึงเกิดขึ้นมากมาย ผมสงสารน้องนิสิตจุฬาฯ ที่โดดตึกตายและน้องประกายฟ้า นักร้องกลางคืนที่ตัดสินใจจบชีวิตรายล่าสุด เขาต้องกลายมาเป็นเหยื่อของการบริหารบ้านเมืองที่ล้มเหลวและผิดพลาดอย่างร้ายแรงของพล.อ.ประยุทธ์ ที่แก้ปัญหาแบบสุกเอาเผากิน ท่านไม่ได้ยินเสียงร้องไห้ของประชาชนใช่ไหม ขณะที่คนตกงานและฆ่าตัวตายรายวัน ท่ามกลางน้ำตาและความทุกข์ยากของประชาชน แต่พล.อ.ประยุทธ์ และพวก หัวเราะร่าอยู่ในทำเนียบรัฐบาล

ที่มา https://www.facebook.com/750777768351249/posts/3999852746777052/
อ้างอิงนายกหัวเราะร่า https://www.youtube.com/watch?v=phui5FFjq7Q


ที่มาเรียบเรียงจาก ประชาชาติธุรกิจ | สำนักข่าวไทย [1] [2]

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net