Skip to main content
sharethis
  • “เปิดเผยเป็นหลัก ปกปิดเป็นข้อยกเว้น” คือคำขวัญของพ.ร.บ.ข้อมูลข่าวสารฯ 2540 กฎหมายที่เปลี่ยนแนวปฏิบัติหน่วยงานรัฐของไทยในการเปิดเผยข้อมูลและการถูกตรวจสอบ ซึ่งสอดรับกับรัฐธรรมนูญฉบับ 2540 ที่วางแนวให้หน่วยงานรัฐต้องมีความโปร่งใส่และการตรวจสอบการทุจริตเอาไว้
  • ทั้งนี้ด้วยข้อจำกัดของกฎหมายที่ใช้มากว่า 20 ปีแล้ว ทำให้มีความจำเป็นที่จะต้องปรับปรุงแก้ไขเพื่อให้ทันกับเทคโนโลยีและข้อมูลข่าวสารที่เปลี่ยนแปลงไปตามกาลเวลา โดยเฉพาะข้อบกพร่องในกฎหมายฉบับเดิมที่ไม่ได้มีลักษณะเป็นกฎหมายกลางที่จะทำให้มาตรฐานในการเปิดเผยข้อมูลของหน่วยงานรัฐต่างๆ ต้องปฏิบัติตาม โดยหน่วยงานรัฐยังคงใช้กฎหมายเฉพาะของหน่วยงานนั้นๆ มาเป็นหลักในการพิจารณาว่าจะเปิดเผยข้อมูลใดหรือไม่ และโครงสร้างของคณะกรรมการข้อมูลข่าวสารที่ยังคงอยู่ภายใต้สำนักปลัดสำนักนายกฯ ไม่ได้เป็นหน่วยงานอิสระที่แยกออกมาจากโครงสร้างของระบบราชการทำให้บุคลากรของสำนักงานไม่ได้มีความเชี่ยวชาญในข้อมูลข่าวสารแต่ละประเภท
  • “ปกปิดเป็นหลัก เปิดเผยเป็นข้อยกเว้น” คือวลีที่ใช้จำกัดความร่างพ.ร.บ.ข้อมูลข่าวสารฉบับที่ผ่านมติ ครม.เมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมา ที่ออกมาปรับปรุงกฎหมายเดิมกลับจะเป็นการกลับทิศทางในการเปิดเผยข้อมูลของหน่วยงานรัฐอีกครั้ง เนื่องจากการให้น้ำหนักด้านความมั่นคงที่เพิ่มมากขึ้นจากกฎหมายเดิมโดยไม่จำเป็น
  • แม้ว่าร่างกฎหมายที่ผ่าน ครม.มาและกำลังจะเข้าสู่สภาจะถูกดึงออกจากคิวการพิจารณา แต่การแก้ไขปรับปรุงกฎหมายด้านข้อมูลข่าวสารของไทยก็จะยังต้องเดินต่อไป แต่การพิจารณาแก้ไขกฎหมายควรจะเกิดการถกเถียงกันผ่านตัวแทนของประชาชนในสภา และควรจะต้องไม่ลืมหลักการพื้นฐานของกฎหมายด้านข้อมูลข่าวสารด้วย

23 มิ.ย.2564 วรรณภา ติระสังขะ อาจารย์ประจำสาขาวิชาการเมืองการปกครอง คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เสนอประเด็นวิจัยเรื่อง “อำนาจของข้อมูลข่าวสาร : การถือครองข้อมูลข่าวสารของหน่วยงานรัฐ” ในเวที “Direk Talk : วิกฤตโลก-อาเซียน-ไทย : ความเปราะบาง ความย้อนแย้ง และความเสื่อมถอย” ของคณะรัฐศาสตร์มหาวิทยาลัยธรรมศาตร์

วรรณภา ติระสังขะ แฟ้มภาพเมื่อ 19 มิ.ย. 2560

วรรรณภานำเสนอถึงประเด็นการเข้าถึงข้อมูลข่าวสารของรัฐโดยเริ่มเล่าว่า เธอเองเคยเป็นคณะกรรมการวินิจฉัยเปิดเผยข้อมูลข่าวสารทำให้ได้ใช้ พ.ร.บ.ข้อมูลข่าวสารฯ ฉบับปี 2540 หลายครั้ง ซึ่งเป็นกฎหมายที่เขียนขึ้นมาในช่วงใกล้เคียงกับรัฐธรรมนูญฉบับ 2540 โดยเป็นกฎหมายที่ทำให้การทำงานของหน่วยงานภาครัฐโปร่งใส่มากขึ้น ตรวจสอบการทุจริตได้ แต่เมื่อกฎหมายฉบับนี้ถูกใช้มาตลอด 20 ปีแล้วทำให้พบปัญหาของตัวบทกฎหมายด้วยเช่นกัน เธอจึงเริ่มศึกษาว่าจะปรับเปลี่ยนตัวกฎหมายได้อย่างไรบ้าง ซึ่งเป็นช่วงเวลาเดียวกับสำนักปลัดสำนักนายกรัฐมนตรีที่ดูแลการใช้พ.ร.บ.ข้อมูลข่าวสารฯ อยู่ก็มีความคิดที่จะทำให้กฎหมายทันสมัยมากขึ้น สำนักปลัดฯ ก็เลยตั้งคณะกรรมการขึ้นมาปรับเปลี่ยนกฎหมายฉบับนี้

วรรณภากล่าวว่าประเด็นของการวิจัยเรื่องกฎหมายข้อมูลข่าวสารเป็นประเด็นปัญหาในการครอบครองดูแลข้อมูลข่าวสารของรัฐว่ามีกระบวนการที่เปิดโอกาสให้ประชาชนเข้าถึงได้มากน้อยแค่ไหนผ่านช่องทางใดบ้าง รวมถึงกระบวนการที่จะทำให้ได้ข้อมูลมาครอบครองมีกระบวนที่ซับซ้อนขนาดไหน และการปกปิดไม่เปิดเผยข้อมูลก็สะท้อนปัญหาอำนาจรัฐที่ทำให้รัฐถือครองอำนาจเบ็ดเสร็จในข้อมูลข่าวสาร ซึ่งเป็นเรื่องที่ปฏิเสธไม่ได้ว่าใครที่มีข้อมูลข่าวสารในมือคือการถือครองอำนาจแบบหนึ่ง

วรรณภาชี้ว่าการใช้พ.ร.บ.ข้อมูลข่าวสารจะเป็นไปตามเจตนารมณ์ของการร่างกฎหมายฉบับปี 40 หรือไม่อย่างไรนั้น ขึ้นอยู่กับการใช้กฎหมายฉบับนี้ด้วยเนื่องจากเกี่ยวข้องกับสิทธิที่จะรู้สิทธิในข้อมูลส่วนบุคคล

วรรณภากล่าวว่า “สิทธิที่จะรู้” จะเกี่ยวโยงกับสิทธิในการเข้าถึงข้อมูลข่าวสารด้วย โดยสิทธิที่จะรู้เป็นสิทธิที่พัฒนามาจากสิทธิเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นเพราะการจะแสดงความเห็นต่างๆ ได้ก็ต้องมีข้อมูลอยู่ในมือ ดังนั้นการที่เรามีสิทธิที่จะรู้ข้อมูลต่างๆ ก็ถือเป็นอำนาจแบบหนึ่งที่จะส่งผลต่อการแสดงความคิดเห็นและการทำอะไรอีกหลายอย่างเช่น การตรวจสอบภาครัฐ ด้วย ซึ่งในต่างประเทศเป็นสิทธิที่เข้มแข็งมากแต่สำหรับไทยสิทธิที่จะรู้กลับอ่อนแอมาก

วรรณภาอธิบายว่าสิทธิที่จะรู้ยังเกี่ยวโยงกับสิทธิในการเข้าถึงข้อมูลข่าวสารของหน่วยงานรัฐ และยังเกี่ยวข้องกับสิทธิที่จะอยู่โดยลำพังซึ่งเป็นสิทธิส่วนบุคคลรูปแบบหนึ่งด้วย เนื่องจากสิทธิที่จะรู้นั้นจะมีขอบเขตที่จะต้องไม่ไปละเมิดข้อมูลส่วนบุคคลที่หน่วยงานรัฐถือครองอยู่ดังนั้น ทำให้สิทธิที่จะรู้ไปเกี่ยวข้องกับการปกป้องคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลซึ่งสิทธิในความเป็นส่วนตัวก็ถือเป็นสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐานที่ได้รับการรับรองในรัฐเสรีนิยมประชาธิปไตยด้วยเช่นกัน

วรรณภายกตัวอย่างกรณีที่เกิดขึ้นในสหภาพยุโรปว่า มีการคุ้มครองสิทธิความเป็นส่วนตัวในส่วนที่เป็นข้อมูลข่าวสารที่เข้มข้นมาก เช่น กรณีที่ศาลฝรั่งเศสมีคำพิพากษาลงโทษจำคุกกับผู้จัดการของห้างอิเกียและเรียกค่าเสียหายจากการไปดักข้อมูลส่วนบุคคลของพนักงานในบริษัทของตัวเองมาใช้ประโยชน์

นอกจากนี้นิยามของข้อมูลที่เปิดเผยโดยรัฐไม่ว่าจะเกี่ยวข้องหรือเป็นภัยต่อความมั่นคงหรือไม่ หรือการเปิดเผยเรื่องที่ยังไม่เสร็จสิ้นหรืออยู่ระหว่างดำเนินงานจะต้องไม่กระเทือนต่อภารกิจหน่วยงานของรัฐหรือต้องไม่เป็นภัยต่อความมั่นคงก็เป็นข้อถกเถียงในไทยว่าอะไรบ้างที่ถูกนับเป็นภัยความมั่นคง

ประเด็นต่อมาคือความสะดวกในการเข้าถึงข้อมูล วรรณภายกตัวอย่างกรณีสมัยที่เป็นนักศึกษาสมัยก่อนจะขอข้อมูลข่าวสารเช่นเกรดหรือคะแนนจากมหาวิทยาลัยเป็นไปด้วยความลำบาก แต่วันนี้พอเธอมาเป็นอาจารย์แล้วก็เห็นว่านักศึกษาตอนนี้ก็ขอดูเกรดได้ง่าย ดังนั้นการเข้าถึงข้อมูลข่าวสารของหน่วยงานรัฐควรจะต้องเข้าถึงได้ง่ายไม่ว่าจะด้วยวิธีการใดก็สามารถเข้าถึงข้อมูลข่าวสารได้โดยสะดวก

วรรณภากล่าวว่าประเด็นข้างต้นเกี่ยวข้องกับความสัมพันธ์ระหว่างรัฐกับประชาชนที่อยู่บนพื้นฐานของสิทธิที่จะรู้ สิทธิความเป็นส่วนตัวและหลักในการคุ้มครองข้อมูลข่าวสารที่รัฐพึงมีและรัฐที่ถือครองข้อมูลข่าวสารของเอกชน โดยสิทธิดังกล่าวมีความทับซ้อนและขัดแย้งกันเองอยู่ด้วย

จากความซับซ้อนและขัดแย้งกันระหว่างสิทธิดังกล่าวจึงเป็นเรื่องยากต่อการออกแบบกฎหมายในการเข้าถึงข้อมูลข่าวสารเพราะว่าเราจะทำอย่างไรให้การเข้าถึงข้อมูลข่าวสารที่สุดท้ายแล้วอาจไปกระทบต่อความมั่นคง เราจะเอนเอียงไปทางเสรีภาพในการเข้าถึงข้อมูลข่าวสารของประชาชนอย่างไม่มีขอบเขตจนไปกระทบต่อความมั่นคงหรือความเป็นส่วนตัวของบุคคลอื่นหรือไม่ ดังนั้นความซับซ้อนนี้ในรัฐสมัยใหม่ที่ถือว่าเรื่องข้อมูลข่าวสารเป็นเรื่องสำคัญจึงจำเป็นที่จะต้องรักษาสมดุลระหว่างสิทธิที่จะรู้ สิทธิในความเป็นส่วนตัว และสิทธิในการถือครองข้อมูลด้านความมั่นคงความปลอดภัยสาธารณะ จึงเป็นเรื่องอยากในการออกแบบให้หน่วยงานของรัฐว่าจะเปิดหรือไม่เปิดเผยข้อมูลข่าวสารให้ดี

วรรณภากล่าวว่าในหลายประเทศก็มีการพูดถึงเรื่องสิทธิข้อมูลข่าวสารนานมากแล้วอย่างเช่น สวีเดนที่มีกฎหมายรับรองตั้งแต่ปีค.ศ.1776 (พ.ศ.2319) สหรัฐอเมริกาหรือสเปน อังกฤษ เยอรมัน ฝรั่งเศส ก็มีการพูดถึงสิทธิในข้อมูลข่าวสารหรือสิทธิที่จะรู้หรือสิทธิในข้อมูลข่าวสารทั้งสิ้น และจะมีองค์กรที่ทำหน้าที่กำกับดูแลการเปิดเผยข้อมูลข่าวสาร

วรรณภาอธิบายถึงความสำคัญขององค์กำกับดูแลว่า เนื่องจากข้อมูลข่าวสารต่างอยู่กระจายไตามนหน่วยงานของรัฐเต็มไปหมด ความยากจึงอยู่ที่เมื่อประชาชนต้องการข้อมูลของหน่วยงานรัฐแต่เมื่อไปขอแล้วไม่ได้ข้อมูลก็จะกลายเป็นเรื่องที่ซับซ้อนขึ้น ดังนั้นในต่างประเทศจึงมีองค์กรที่คอยกำกับดูแลในการเปิดเผยข้อมูลข่าวสารอยู่ โดยส่วนใหญ่จะอยู่ในรูปแบบคณะกรรมการและมีสถานะที่เป็นองค์กรของรัฐที่เป็นอิสระ

วรรณภาอธิบายเสริมว่าองค์กรของรัฐที่เป็นอิสระโดยเปรียบเทียบกับของไทยก็คือคณะกรรมการการเลือกตั้ง คณะกรรมการป้องกัน และปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) หรือว่าคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ(กสม.) ซึ่งจะเป็นอิสระและไม่ถูกแทรกแซงโดยหน่วยงานของรัฐ และองค์กรเหล่านี้จะถูกตั้งขึ้นตามกฎหมายที่ออกมาเป็นการเฉพาะของตัวองค์กรเองที่จะกำหนดอำนาจหน้าที่ขององค์กรนั้นว่ามีอะไรบ้างและจะสามารถสั่งให้หน่วยงานรัฐเปิดหรือไม่เปิดเผยอะไรบ้าง กระบวนการวินิจฉัยมีขั้นตอนอย่างไร

ในส่วนของกรรมการที่ถูกเลือกเข้ามาจะเป็นผู้เชี่ยวชาญในเรื่องใดเรื่องหนึ่ง ดังนั้นคณะกรรมการจะไม่ได้เป็นข้าราชการเกษียณหรืออาศัยงานทางการเมืองแล้วเข้ามาเป็นกรรมการ แต่เป็นคนที่ทำงานหรือมีความรู้เกี่ยวกับข้อมูลประเภทนั้นๆ ทำให้ในองค์กรลักษณะนี้ในต่างประเทศทำงานได้อย่างดีแล้วก็มีโครงสร้างที่เข้มแข็ง นอกจากนั้นในบางประเทศองค์กรลักษณะนี้จะไปรวมกับองค์กรที่ทำหน้าที่คุ้มครองข้อมูลข่าวสารส่วนบุคคลด้วยเพราะเป็นเรื่องที่มีความเกี่ยวข้องกันเช่นองค์กรในอังกฤษ

วรรณภาอธิบายอำนาจหน้าที่ขององค์กรในต่างประเทศก็จะคล้ายกับคณะกรรมการข้อมูลข่าวสารของไทยที่มีหน้าที่ให้คำปรึกษากับหน่วยงานรัฐอื่นๆ ว่าข้อมูลใดเปิดเผยได้หรือไม่ได้ ส่งเสริมความร่วมมือรวมไปถึงควบคุมหน่วยงานของรัฐที่ถือครองข้อมูลให้ปฏิบัติตามกฎหมายข้อมูลข่าวสาร และส่วนที่มีสำคัญก็คือการรับเรื่องร้องเรียนของประชาชนในกรณีที่หน่วยงานของรัฐปฏิเสธการให้ข้อมูล องค์กรจึงมีหน้าที่ออกคำวินิจฉัยซึ่งเป็นคำสั่งทางปกครองโดยอาศัยอำนาจตามกฎหมายเพื่อทบทวนคำร้องจากประชาชนว่าทำไมหน่วยงานนั้นๆ ถึงไม่เปิดเผยข้อมูลให้ กระบวนการทบทวนจะทำโดยเรียกหน่วยงานและประชาชนที่ขอข้อมูลเข้ามาคุยแล้วก็ใช้ดุลพินิจและทำคำวินิจฉัยออกมาให้หน่วยงานที่ถูกขอข้อมูลกลับไปเปิดเผยข้อมูลได้

องค์กรด้านข้อมูลข่าวสารจึงมีความสำคัญในการใช้ดุลพินิจในแต่ละเรื่องว่าข้อมูลข่าวสารที่หน่วยงานรัฐผู้ถือข้อมูลอยู่ระบุว่าเปิดเผยไม่ได้เพราะเป็นข้อมูลที่เป็นเรื่องความมั่นคงหรือเกี่ยวข้องกับสถาบันกษัตริย์เปิดเผยตามคำขอและอุทธรณ์ของประชาชนที่มาถึงคณะกรรมการได้หรือไม่อย่างไร คณะกรรมการที่เป็นผู้เชี่ยวชาญก็จะสั่งให้เปิดเผยหรือไม่เปิดเผยก็ได้ แต่เมื่อไหร่ก็ตามที่ประชาชนที่ร้องเรียนไม่พอใจคำวินิจฉัยเหล่านี้เขาก็จะไปฟ้องกับศาลปกครองต่อไป ดังนั้นคณะกรรมการก็จะเป็นขั้นตอนก่อนที่จะไปถึงกระบวนการยุติธรรม

ประเทศไทยเองก็รับเอาอิทธิพลแบบนี้มาใช้ ช่วงแรกที่นำพ.ร.บ.ข้อมูลข่าวสารฯ มาใช้ ในเวลานั้นถือเป็นเรื่องใหม่มากและได้เปลี่ยนโฉมหน้าการบริหารแผ่นดินของไทย พ.ร.บ.ข้อมูลข่าวสารฯ ทำให้ข้าราชการต้องเปิดเผยและตรวจสอบการทุจริตได้มากขึ้น ประกอบกับรัฐธรรมนูญ 2540 ก็มีหลักเรื่องความสุจริตโปร่งใสและเป็นครั้งแรกที่รัฐธรรมนูญรับรองสิทธิที่จะรู้ไว้และถูกระบุในรัฐธรรรมนูญฉบับ 50 และ 60 ในเวลาต่อมา

วรรณภาย้อนกลับไปตอนที่คณะกรรมการข้อมูลข่าวสารของไทยเพิ่งถูกตั้งขึ้นมาว่าในเวลานั้นองค์กรอิสระยังไม่มีที่ทางทำให้สำนักงานของคณะกรรมการไปอยู่ภายใต้สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรีแต่ผ่านมา 20 กว่าปีแล้วก็ยังอยู่กับสำนักปลัดฯ ทำให้โครงสร้างของคณะกรรมการอยู่ในระบบราชการปกติ เจ้าหน้าที่ของสำนักงานที่ไม่ได้มีความเชี่ยวชาญในการทำคำวินิจฉัยหรือการวิเคราะห์ข้อมูลข่าวสารมากนัก

แม้ว่า “เปิดเผยเป็นหลัก ปกปิดเป็นข้อยกเว้น” จะเป็นคำขวัญของพ.ร.บ.ข้อมูลข่าวสารฯ 40และสิทธิตามกฎหมายในการเข้าถึงข้อมูลข่าวสารของประชาชนก็มีเยอะมาก ทั้งสิทธิที่จะได้รับคำปรึกษาในการเข้าถึงข้อมูลข่าวสารของราชการ สิทธิในการตรวจดูข้อมูลข่าวสารของราชการที่กฎหมายกำหนดว่าหน่วยงานต้องเปิดเผย สิทธิในการขอสำเนาหรือขอให้หน่วยงานรับรองสำเนาด้วย รวมไปถึงสิทธิในการค้นคว้าข้อมูลข่าวสารในประวัติศาสตร์สิทธิในการยื่นคำขอให้หน่วยงานจัดหาข้อมูลข่าวสารให้ อีกทั้งยังมีสิทธิคัดค้านการเปิดเผยข้อมูลข่าวสารของราชการที่กระทบต่อประโยชน์ได้เสียของประชาชนในกรณีที่มีคนมาขอข้อมูลที่หน่วยงานถือครองอยู่เป็นข้อมูลของประชาชนคนอื่น นอกจากนั้นยังรวมถึงสิทธิในข้อมูลส่วนตัวที่ประชาชนจะสามารถขอแก้ไขเปลี่ยนแปลงหรือลบข้อมูลส่วนบุคคลได้

วรรณภาอธิบายว่า ประเภทของข้อมูลข่าวสารที่หน่วยงานต้องเปิดเผยก็มีทั้งที่ต้องส่งไปลงราชกิจจานุเบกษาหรือเปิดเผยอย่างแพร่หลายติดประกาศให้รับรู้รับทราบทั่วไป หรือข้อมูลที่หน่วยงานต้องจัดให้กับประชาชนตรวจดูเมื่อมีการร้องขอ ส่วนกรณีข้อมูลใดที่หน่วยงานไม่ให้เปิดเผยแม้จะเป็นข้อมูลที่ถูกประทับตราลับเมื่อการดำเนินการตามที่ระบุไว้ในเอกสารสิ้นสุดลงแล้วก็สามารถเปิดเผยได้ข้อมูลนั้นๆ ไม่ได้เป็นความลับไปตลอดกาล

วรรณภาชี้ให้เห็นปัญหาของพ.ร.บ.ข้อมูลข่าวสารฯ ว่ายังไม่มีสถานะเป็นกฎหมายกลาง ความหมายคือแนวปฏิบัติในการเปิดเผยข้อมูลของหน่วยงานรัฐทุกประเภทจะต้องมีมาตรฐานไม่ต่ำกว่าแนวปฏิบัติที่อยู่ในพ.ร.บ.ข้อมูลข่าวสารฯ เมื่อพ.ร.บ.ข้อมูลข่าวสารฯ ฉบับปี 40 ไม่ได้มีลักษณะเป็นกฎหมายกลางแต่ละหน่วยงานก็จะใช้กฎหมายของตัวเองเป็นหลัก ตัวอย่างของปัญหาที่ตามมาคือกรณี ป.ป.ช.บอกว่าไม่เปิดเผยข้อมูลเพราะ ป.ป.ช.มีกฎหมายของหน่วยงานเองว่าคดีแบบไหนจะไม่เปิดเผยเพราะมีชั้นความลับ

นอกจากนั้นพ.ร.บ.ข้อมูลข่าวสารก็ยังมีปัญหาส่วนของนิยามของคำตามกฎหมายเช่น “ข้อมูล” หรือ “หน่วยงานรัฐ” ว่านับรวมอะไรบ้าง เธอยกตัวอย่างอีกกรณีคือสภาทนายความบอกว่าตัวเองไม่ใช่หน่วยงานรัฐ ทั้งที่ตัวพ.ร.บ.ข้อมูลข่าวสารฯ นิยามเอาไว้ครอบคลุม นอกจากนั้นยังมีปัญหาอื่นๆ อีกเช่น หน่วยงานของรัฐปฏิเสธการเปิดเผยข้อมูลไว้หมดเลยแล้วก็ไปรอให้คณะกรรมการวินิจฉัยเปิดเผยข้อมูลข่าวสารมีคำวินิจฉัยแทนหรือในทางกลับกันก็จะมีประชาชนบางคนที่ไปขอข้อมูลของคนบางคนหรือหน่วยงานรัฐบางหน่วยงานก็จะไปขอข้อมูลหน่วยงานรัฐนั้นเยอะมากจนหน่วยงานรัฐนั้นทำงานไม่ได้ หรือปัญหาโครงสร้างการทำงานของคณะกรรมการที่อยู่ภายใต้กฎหมายก็มีอีกเช่นกัน

วรรณภายกกรณีศึกษาการใช้พ.ร.บ.ข้อมูลข่าวสารฯ 40ในประเด็นที่ถูกระบุว่าเป็นข้อมูลที่เกี่ยวกับสถาบันกษัตริย์ในกรณีที่เคยมีคนไปที่สำนักงานที่ดินเพื่อขอดูโฉนดที่ดินบริเวณราชประสงค์ที่มีข้อพิพาทอยู่ว่าใครเป็นเจ้าของที่ดินตัวจริงกันแน่เพราะเป็นโฉนดที่ดินที่ถือครองโดยสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์พอมีการออกกฎหมายถ่ายโอนทรัพย์สิน ทำให้ประชาชนในพื้นที่ก็อยากรู้ว่ามีการเปลี่ยนตัวผู้ถือครองที่ดินไปแล้วจริงหรือไม่เพื่อจะได้รู้ว่าตัวเองต้องจัดการย้ายออกหรือไม่หรือต้องไปยื่นฎีกาถึงในหลวงหรือไม่

แต่ทางสำนักงานที่ดินปฏิเสธที่จะให้ดูข้อมูลโดยอ้างว่าเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับสถาบันกษัตริย์ คือก็ใช้หลักปกปิดเพราะเป็นข้อมูลที่เกี่ยวกับสถาบันกษัตริย์เขาก็ไม่กล้าดูต่อ แต่พอประชาชนไม่เห็นด้วยกับคำตอบของหน่วยงานเรื่องก็มาถึงชั้นคณะกรรมการวินิจฉัย คณะกรรมการก็เลยเรียกทั้งสองฝ่ายมาชี้แจงแล้วก็เห็นว่าโฉนดที่ดินเป็นเอกสารสิทธิสาธารณะที่ทุกคนข้อดูและเข้าถึงได้หรือไม่ได้ก่อให้เกิดความเสียหายต่อสถาบันกษัตริย์แต่อย่างไร หรือถ้าเขาเอาไปใช้ต่อแล้วเกิดความเสียหายต่อสถาบันฯ ก็ไม่ใช่การได้ข้อมูล แต่เป็นการนำข้อมูลไปใช้ต่อ การให้ข้อมูลจึงไม่ใช่ปัญหาแต่เป็นเรื่องของการนำไปใช้ต่อคนที่ขอจึงต้องเป็นคนรับผิดชอบในการนำข้อมูลไปใช้ต่อมากกว่า ดังนั้นก็เลยให้เป็นข้อมูลที่เปิดต่อสาธารณะได้

วรรณภาเล่าต่อว่าข้อมูลคำวินิจฉัยของ ป.ป.ช. ถือว่าเป็นข้อเท็จจริง ดังนั้นเมื่อ ป.ป.ช. สั่งไม่ชี้มูลแล้วรายละเอียดรายงานสอบข้อเท็จจริงสามารถเปิดให้ประชาชนทราบได้ ประเด็นเรื่องการไม่เปิดเผยข้อมูลของ ป.ป.ช. มีเข้ามาที่คณะกรรมการเยอะมากโดยเฉพาะกรณีของพล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณที่มีประเด็นเรื่องยืมนาฬิกาเพื่อน ประชาชนอยากทราบว่าทำไมถึงสั่งไม่ชี้มูลแล้วจริงๆ การเปิดเผยก็จะแสดงให้เห็นความโปร่งใสในการทำงานของรัฐได้ด้วย

‘เอกชัย’ เผย กก.ข้อมูลข่าวสารฯ ให้ ‘ป.ป.ช.’ เปิดข้อมูล ปม ‘นาฬิกายืมเพื่อน’ ของ 'ประวิตร' หลังยังน่ากังขา

วรรณภามีข้อเสนอว่ากฎหมายเดิมที่มีอยู่ก็ได้เวลาที่จะต้องปรับให้สอดคล้องกับปัจจุบัน เช่นการต้องปรับให้พ.ร.บ.ข้อมูลข่าวสารฯ เป็นกฎหมายกลาง นิยามความหมายใหม่ให้คำว่า “ข้อมูลข่าวสารสาธารณะ” ที่มีอยู่ในรัฐธรรมนูญฉบับ 60 ด้วย แล้วก็ต้องทำให้องค์กรมีความเป็นอิสระออกมาจากหน่วยงานรัฐอื่นๆ แล้วก็การร้องตามศาลปกครองสูงสุดได้เลยไม่เช่นนั้นกว่าประชาชนจะได้ข้อมูลจากหน่วยงานรัฐก็ใช้เวลานานเกินไปทั้งที่เป็นข้อมูลเฉยๆ ไม่ได้กระทบสิทธิอะไรกับใคร

วรรณภากล่าวถึงร่างพ.ร.บ.ข้อมูลข่าวสารฯ ที่เพิ่งผ่านชั้นพิจารณาของคณะรัฐมนตรีเมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมาและเพิ่งถูกถอดออกวาระพิจารณาในสภาว่า มีความพยายามจะแก้ พ.ร.บ.ข้อมูลข่าวสารฯ 40 มาตั้งแต่ปี 2560 แล้วทางปลัดสำนักนายกรัฐมนตรีก็มีการตั้งคณะกรรมการขึ้นมาปรับปรุงกฎหมายแล้วก็ส่งต่อให้ ครม.ดู ครม.ก็รับหลักการไปแล้วก็ส่งคณะกรรมการกฤษฎีกาตามขั้นตอนปกติ แต่ในชั้นพิจารณาของกฤษฎีกาก็มีคำสั่งการนายกรัฐมนตรีให้เอาร่าง พ.ร.บ.ความมั่นคงของรัฐและความลับราชการที่ออกโดยสภาความมั่นคงแห่งชาติมารวมร่างกฎหมายกันเพราะเห็นว่าตามรัฐธรรมนูญ 60ก็มีประเด็นเรื่องข้อมูลข่าวสารด้านความมั่นคงด้วยแล้วพอมีกฎหมายข้อมูลข่าวสารก็ควรจะต้องมีเรื่องนี้ คณะกรรมการกฤษฎีกาก็เลยปรับทั้งสองร่างมาอยู่ในร่างเดียวกันจึงทำให้เกิดปัญหาขึ้นเพราะทำให้มีส่วนที่เป็นข้อมูลความมั่นคงหนักแน่นมาก จากนั้นทางกฤษฎีกาก็ส่งร่างกลับมาให้ ครม. แล้ว ครม.ก็ส่งต่อให้สภาเพื่อให้พิจารณาต่อ

วรรณภาเล่าถึงกระแสต่อต้านที่ตามมาจนมีองค์กรต่อต้านคอร์รัปชันยื่นหนังสือถึงรองนายกรัฐมนตรีวิษณุ เครืองาม ภายหลังรองนายกฯ ก็บอกว่าถอนร่างก็ได้ เธอเห็นว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องผิดปกติ เพราะในกระบวนการออกกฎหมายที่จะต้องเข้าสู่สภาก็ควรให้ตัวแทนประชาชนไปว่ากันต่อ และเธอเห็นว่าร่างกฎหมายทั้งสองฉบับที่แยกกันอยู่ตอนแรกก็มีการรับฟังความเห็นของประชาชนอยู่แล้ว แต่สิ่งที่เกิดขึ้นคือมาตรฐานใหม่ที่ทำให้เห็นว่าถ้ามีคนที่เสียงดังพอก็สามารถดึงร่างกลับมาได้ ดังนั้นมันจึงไม่เป็นธรรมกับคนทำงานทั้งกระบวนการ และทำให้ไม่เกิดการถกเถียงกันและในกระบวนการทำงานด้านกฎหมายเสียไป

ส่วนประเด็นการรวมร่างกฎหมายทั้งสองฉบับเข้าด้วยกันนี้ วรรณภามีความเห็นว่าไม่มีความจำเป็นที่จะต้องรวมร่างพ.ร.บ.ข้อมูลข่าวสารฯ กับร่าง พ.ร.บ.ความมั่นคงของรัฐฯ ไว้ด้วยกัน เพราะเดิมพ.ร.บ.ข้อมูลข่าวสารฯ มันมีมาตราที่พูดถึงข้อมูลความมั่นคงอยู่แล้วแต่การรวมแบบนี้ทำให้กลายเป็น “ปกปิดเป็นหลัก เปิดเผยเป็นข้อยกเว้น” แล้วก็จะทำให้ประชาชนมีทัศนคติไม่ดีต่อกฎหมายด้วย เธอเห็นว่าตอนที่ร่างพ.ร.บ.ข้อมูลข่าวสารยังแยกกันอยู่มีประโยชน์อยู่แล้วเพราะข้อมูลมีการเปลี่ยนแปลงไปตลอดเวลาจะต้องมีการนิยามว่าข้อมูลใดเป็นประเภทใดบ้าง แล้วก็ต้องมีการใช้ดุลพินิจในกรณีถ้าหน่วยงานของรัฐไม่เปิดเผยก็ต้องส่งเรื่องต่อมาชั้นกรรมการที่มีผู้เชี่ยวชาญด้านความมั่นคงอยู่แล้วเพื่อพิจารณาว่าข้อมูลที่มีการขอเป็นข้อมูลความมั่นคงหรือไม่ แล้วเรื่องก็จะไปศาลปกครองต่อถ้าฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งไม่เห็นด้วยกับคำวินิจฉัยของคณะกรรมการ

วรรณภาชี้ว่าถ้าเอาสองร่างไปรวมกันก็จะทำให้ต้องคิดเรื่องของความมั่นคงเป็นหลักและจะทำให้หน่วยงานมีทัศนคติอีกแบบหนึ่ง ทำให้ร่างพ.ร.บ.ข้อมูลข่าวสารฯ ที่เป็นประเด็นนี้ถูกประชาชนมองว่า “ปกปิดเป็นหลักเปิดเผยเป็นข้อยกเว้น” ไปก็เป็นเรื่องน่าเสียดายที่ร่างกฎหมายก่อนที่จะถูกนำมารวมกันก็หายไปด้วย

วรรณภาบอกว่าถึงอย่างไรก็ตามแม้จะมีคำสั่งให้ถอนร่างออกไป แต่ตามกระบวนการแล้วก็จะกลับมาสภาอยู่ดีแต่ก็จะช้าออกไปแล้วก็อาจจะเป็นการช่วยลดกระแสทางการเมืองได้ด้วย แต่ตัวกฎหมายเดิมที่ใช้มาแล้วกว่า 20 ปี แล้วมันไปเกี่ยวข้องกับเทคโนโลยีใหม่หรือประเด็นที่มีความร่วมสมัยมากขึ้นก็ควรจะต้องมีการปรับปรุงอยู่แล้วแต่จะเป็นการปรับปรุงที่ไม่ลืมหลักการพื้นฐานของกฎหมายที่เกี่ยวกับข้อมูลข่าวสาร

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net