Skip to main content
sharethis

‘วิโรจน์’ ชี้ประชาชนกลัว ‘ล็อกดาวน์’ เพราะรัฐบาลไม่เคยเหลียวแล จี้เร่งหา Pfizer ให้หมอด่วน กังขา 20 ล้านโดสโดนเท ทั้งที่จองก่อนฟิลิปปินส์ - อินโด ท้า ‘ประยุทธ์’ เปิดวันที่ลงนาม กระตุ้นตาม AZ อีก 2 ล้านโดสให้ทัน มิ.ย. ด้วย แนะทางออก ตรวจเชิงรุก - Home Isolation เผยสุดห่วงวิธีคิด ‘อนุพงษ์’ ไร้สติปัญญา หวั่นคนกลับ ตจว. กระจายเชื้อทั่วประเทศ

 

28 มิ.ย.2564 ทีมสื่อพรรคก้าวไกล รายงานว่า วิโรจน์ ลักขณาอดิศร โฆษกพรรคก้าวไกล และ ส.ส.บัญชีรายชื่อ แถลงความเห็นและข้อเสนอต่อสถานการณ์การล็อกดาวน์หรือมาตรการเข้มงวดในพื้นที่กรุงเทพมหานคร โดยกล่าวว่า สถานการณ์ปัจจุบัน หมอพยาบาล 1 คนต้องดูแลผู้ป่วยอย่างน้อย 30 คน และต้องทำงานวันละอย่างน้อย 16 ชั่วโมง ต่อเนื่องมาสามเดือนแล้ว เดิมเพดานของผู้ติดเชื้อแต่ละวันอยู่ที่วันละ 3,000 คนโดยประมาณ ปัจจุบันได้ขยับเพดานมาที่วันละ 4,000 คน และขณะนี้แนวโน้มผู้ติดเชื้อรายใหม่มีมากกว่าผู้รักษาหายกลับบ้านไปต่อเนื่องมาแล้วหลายวัน จำนวนผู้เสียชีวิตในแต่ละวัน เดิมติดใหม่ 3,000 คน เสียชีวิตที่ประมาณวันละ 30 คน ตอนนี้ติดใหม่วันละ 4,000 คน เสียชีวิตที่วันละ 50 คน แทนที่จะเป็นวันละ 40 ในสัดส่วนเดียวกัน

“ต้องพิจารณาประกอบกับผู้ป่วยตกค้างรอเตียงสะสมที่มีมากขึ้นเรื่อยๆ ระบบ co - link ที่ใช้ในการกระจายผู้ป่วยและจัดหาเตียงเริ่มทำงานไม่ได้ ผู้ป่วยหนักไอซียูมากขึ้นเรื่อยๆ ผู้เสียชีวิตคาบ้านก็เกิดขึ้นเนืองๆ  สิ่งเหล่านี้ทำให้มีผู้ป่วยหนักที่ใช้เวลาครองเตรียงมากขึ้นและนานขึ้นเรื่อยๆ กว่าจะถึงมือหมอก็อาการหนักแล้วและหมอหนึ่งท่านก็ดูแลผู้ป่วยหลายคน สะท้อนว่าจำนวนผู้ป่วยต่อหมอโอเวอร์โหลด ทำให้สัดส่วนผู้เสียชีวิตมีมากขึ้น ประกอบกับโรงพยาบาลหลายแห่งงดตรวจโควิด ทำให้การหาเตียงลำบากและถ้าปล่อยให้งดตรวจไปเรื่อยๆ กว่าผู้ป่วยจะรู้ว่าติดก็อาการหนักมากแล้ว สถานาการณ์แบบนี้จะยิ่งให้สาธารณะสุขของกรุงเทพหนักขึ้นและอัตราเสียชีวิตจะมากขึ้นอย่างเลี่ยงไม่ได้”

วิโรจน์ กล่าวต่อไปว่า มีรายงานว่าแพทย์ พยาบาล และบุคลากรด่านหน้าทยอยติดโควิดมาเป็นระยะๆ ทั้งที่ได้ชิโนแวคครบสองเข็มและอยู่ในเวลาที่ภูมิควรขึ้นเต็มที่แล้ว จึงทำให้ขีดความสามารถในการดูแลผู้ป่วยถูกลดทอดลงไปเรื่อยๆ เพราะบุคลากรต้องทยอยพักรักษาตัวเนื่องจากติดโควิด ทำให้ขวัญและกำลังใจย้ำแย่ไปด้วย เพราะเขารู้สึกว่าต้องเข้าสนามรบประหนึ่งรัฐบาลมอบมีดปอกผลไม้ให้ไปรบในพื้นที่ที่เต็มด้วยห่ากระสุนปืน

“เพื่อเป็นการปกป้องบุคลากรทางการแพทย์ พยาบาล เจ้าหน้าที่สาธารณสุข เจ้าหน้าที่โรงพยาบาลทุกคนซึ่งส่วนใหญ่รับวัคซีนชิโนแวค พรรคก้าวไกลเรียกร้องให้เปิดเผยว่า ในแต่ละวันผู้ติดเชื้อรายใหม่มีจำนวนตรวจจริงเท่าไหร่ และได้วัคซีนหนึ่งเข็มแล้วกี่ราย สองเข็มแล้วกี่ราย โดยแยกยี่ห้อวัคซีน และในจำนวนนี้มีบุคลากรการแพทย์กี่ราย เพื่อให้ประชาชนรับทราบสถานการณ์ที่แท้จริงที่รัฐบาลพูดเสมอว่าวัคซีนเน้นกันตายไม่กันติด เอาเข้าจริงแล้วมีการติดมากน้อยขนาดไหน”

วิโรจน์ ยังยืนยันว่า สถานการณ์เลวร้ายที่เกิดขึ้นที่กรุงเทพ ถ้ารัฐบาลรู้จักหน้าที่ กระวีกระวาดในการทำงาน สถานการณ์จะไม่เลวร้ายเพียงนี้ หากรัฐบาลเตรียมความพร้อม แม้จะอยู่ในสถานการณ์ที่ลำบากก็ไม่น่าจะเกินขีดความสามารถที่จะรับมือดีกว่านี้ได้ ที่ผ่านมา งบสาธารณสุข 45,000 ล้านบาท ที่กันมาจากงบประมาณเงินกู้ 1 ล้านล้านบาท รัฐบาลเบิกจ่ายไปเพียง 9,556 ล้านบาท หรือแค่ 21% เท่านั้นเอง โครงการเตรียมความพร้อมด้านสถานพยาบาล มีการกันงบเอาไว้ถึง 10,132 ล้านบาท เบิกจ่ายไปเพียง 178 ล้านบาท คืบหน้าไปแค่ 1.8% โครงการเพื่อรับสถานการณ์ฉุกเฉินจากการระบาดของโควิด กันงบไว้ 1,497 ล้านบาท เบิกจ่ายไปเพียง 127 ล้านบาท คืบหน้าไปแค่ 8.5%

“สะท้อนชัดว่า รัฐบาลดูเบาสถานการณ์ ประเมินสถานการณ์ต่ำเกินไป และละเลยไม่ตั้งใจในการทำหน้าที่ของตน ขาดความรับผิดชอบต่อสาธารณชน จนประชาชนโดยเฉพาะกรุงเทพต้องเดือดร้อนแสนสาหัส กระทบกับปากท้อง การดำเนินชีวิต การทำมาหากิน ลูกเด็กเล็กแดง ประชาชนทุกเพศทุกวัยเดือดร้อนทุกหย่อมหญ้า”

อีกประเด็นหนึ่ง วิโรจน์ กล่าวว่า การฉีดวัคซีนยังล่าช้า ประชาชนถูกลอยแพเป็นจำนวนมาก เชื่อว่าระบบการจัดการฐานข้อมูลยังคงมั่ว ยิ่งให้โรงพยาบาลกำหนดวันนัดหมายใหม่ได้เองโดยระบบฐานข้อมูลยังไม่ได้ทำให้เชื่อมโยงกันระหว่างระบบการจองคิวลงทะเบียนกับฐานข้อมูล MOPH IC กระทรวงสาธารณสุข

ยิ่งจะทำให้ระบบฐานข้อมูลเกิดปัญหาและสร้างปัญหาให้กับการฉีดวัคซีนของประชาชนมากขึ้น เรื่องนี้พรรคก้าวไกลขอเรียกร้องให้เร่งจัดการฐานข้อมูลให้เร็วที่สุดมิเช่นนั้นจะเกิดปัญหาหมักหมอสะสมและผู้เดือดร้อนก็คือประชาชน

นอกจากนี้ วิโรจน์ยังกล่าวว่า ต้องเรียกร้องให้รัฐบาลทบทวนการใช้วัคซีน Sinovac โดยเร็วที่สุด เนื่องจากรัฐบาลยังยืนกรานจะจัดซื้ออีก 28 ล้านโดสและไม่มีทีท่าว่าจะยุติการจัดซื้อหรือหันไปซื้อวัคซีนที่มีประสิทธิภาพกว่า ทั้งที่มีข้อท้วงติงจากผู้เชี่ยวชาญและนักวิชาการในประเด็นประสิทธิภาพวัคซีน Sinovac และวัคซีนชนิดเชื้อตายอื่นๆว่าอาจมีความสามารถในการป้องกันการแพร่ระบาดจำกัด สร้างภูมิไม่สูงเพียงพอ และอาจจะไม่สามารถรับมือกับเชื้อสายพันธุ์เดลต้าได้ ซึ่งมีการคาดการณ์ว่าสายพันธุ์นี้จะเป็นเชื้อหลักที่ระบาดในกรุงเทพช่วงเดือนกรกฎาคม-สิงหาคมนี้ และหากจะอ้างว่าฉีด 3 เข็มจะสร้างภูมิได้น้องๆวัคซีนชนิด mRNA พรรคก้าวไกลได้เปรียบเทียบค่าใช้จ่ายให้ตระหนักว่า  Sinovac  3 เข็ม ค่าใช้จ่ายคิดเป็นเงินอยู่ที่ 1,647-1,875 บาท ส่วนการจัดหาวัคซีนชนิด mRNA จาก Pfizer จำนวน 2 โดส คิดเป็นเงิน 1,216 บาท ก็คุ้มค่ากว่าทั้งในด้านความมั่นใจในด้านประสิทธิภาพในการป้องกันการติดเชื้อ การรับมือกับเชื้อสายพันธุ์เดลต้า และความคุ้มค่าในการใช้จ่ายงบประมาณ พรรคก้าวไกลยืนยันว่าการเร่งซื้อวัคซีนชนิด mRNA ควรเป็นทางออกที่รัฐบาลควรเร่งพิจารณาและตัดสินใจซึ่งจะเป็นการใช้สติปัญญาอย่างไตร่ตรองและมีจริยธรรมกว่า

“รัฐบาลจะละเลยกรณีศึกษาที่ประเทศชิลี ตุรกี บาห์เรน UAE มองโกเลีย และหมู่เกาะเซเชลส์ ที่ฉีดวัคซีนชนิดเชื้อตายในสัดส่วนที่สูงมาก แต่ยังไม่สามารถควบคุมการระบาดได้ไม่ได้ และล่าสุดเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกับบุคลากรทางการแพทย์อินโดนีเซีย ประมาณ 350 คน รัฐบาลจะนอนคดไม่รู้ นั่งคู้ไม่เห็นไม่ได้ สิ่งต่างๆเหล่านี้ ล้วนเป็นข้อสังเกตเกี่ยวกับประสิทธิภาพในการป้องกันการติดเชื้อ และความสามารถในการกระตุ้นภูมิในระดับที่ไม่สูงนักของวัคซีน Sinovac และวัคซีนชนิดเชื้อตายอื่น ซึ่งน่าเป็นห่วงอย่างยิ่งที่บุคลากรทางการแพทย์จำนวนไม่น้อยได้รับวัคซีนชนิดนี้”

“อีกคำถามที่รัฐบาลต้องชี้แจงคือ เหตุใดการส่งมอบวัคซีน Pfizer จำนวน 20 ล้านโดส จึงถูกเลื่อนไปส่งมอบไตรมาส 4 ทั้งที่ พล.อ.ประยุทธ์ชี้แจงกับประชาชนว่ามีการเจรจาตั้งแต่วันที่ 20 เม.ย. ซึ่งการส่งมอบล่าช้าสวนทางกับประเทศอินโดนีเซียและฟิลิปปินส์ ที่สั่งซื้อไป 50 ล้านโดสและ 40 ล้านโดส ซึ่งทั้งสองประเทศแถลงว่าจะทยอยส่งมอบตั้งแต่เดือน ส.ค.เป็นต้นไป ข้อสงสัยนี้รัฐบาลควรเปิดเผยว่าวันที่รัฐบาลลงนามกับ Pfizer เป็นวันที่เท่าไหร่ และเหตุใดจึงถูกเลื่อนเพราะถ้าลงนามในสัญญาจองก่อนฟิลิปปินส์และอินโดนีเซียก็ไม่มีเหตุผลเลยที่ประเทศไทยจะได้รับการส่งมอบวัคซีนช้ากว่า เรื่องนี้จะเงียบเนียนไม่ได้ ซึ่งวันที่ลงนามในการสั่งซื้อไม่ใช่เรื่องความลับใดๆที่ประชาชนไม่อาจรู้ได้เลย”

ประเด็นต่อมา วิโรจน์ กล่าวว่า mRNA มีผลการศึกษาที่รับรองถึงประสิทธิภาพมากพอสมควร รัฐบาลจึงควรเร่งจัดหามาเพื่อคุมการระบาดอย่างเร่งด่วน โดยนายกรัฐมนตรีควรเข้าพบทูตของสหรัฐเพื่อหารือถึงการเร่งจัดหาวัคซีน mRNA เพื่อลดการระบาดและความเสี่ยงของบุคลากรด่านหน้าในขณะนี้

ต่อกรณีของการล็อกดาวน์กรุงเทพ วิโรจน์ กล่าวว่า ถ้าอยู่ในสถานการณ์วิกฤติจริงๆ ก็หลีกเลี่ยงไม่ได้ซึ่งความจริงหลีกเลี่ยงได้ถ้ารัฐบาลใช้งบประมาณ 45,000 ล้านบาทเพื่อเตรียมตัวให้ดีกว่านี้ แต่เมื่อเลี่ยงไม่ได้ก็ควรชี้แจงและเปิดเผยข้อมูลทั้งหมดเพื่อชี้แจงให้ประชาชนได้เห็นถึงความจำเป็น และที่สำคัญที่สุดคือมาตรการล็อกดาวน์ต้องมาควบคู่กับมาตรการเยียวยาอย่างสมเหตุสมผลให้ผู้ประกอบการ SMEs โดยเฉพาะการเยียวยาค่าเช่าตามจำนวนวันที่มีการล็อกดาวน์

“ไม่แปลกใจที่ประชาชนจะไม่เห็นด้วยกับมาตรการล็อกดาวน์ และมีแนวโน้มคัดค้านหรือไม่ให้ความร่วมมืออย่างเต็มที่ เพราะที่ผ่านมารัฐบาลหลีกเลี่ยงใช้คำว่าล็อกดาวน์มาโดยตลอด แต่ใช้คำว่ามาตรการเข้มงวด ซึ่งก็คือ มาตรการกึ่งล็อคดาวน์ เพื่อหลีกเลี่ยงการเยียวยาประชาชน การเยียวยาที่เกิดขึ้นไม่ใช่การเยียวยาทางตรง ไม่ใช่การจ่ายเงินสดให้ประชาชนอย่างถ้วนหน้า รัฐบาลไม่เคยเหลียวแลผู้ประกอบการ คนหาเช้ากินค่ำและหาค่ำกินเช้า ปล่อยให้พวกเขาต้องเผชิญการดำเนินชีวิตกับการเลี้ยงปากเลี้ยงท้องตามยถากรรม ยืนยันว่าการล็อกดาวน์ถ้าจำเป็นคงเลี่ยงไม่ได้ แต่รัฐบาลต้องเร่งออกมาตรการเยียวยาอย่างเร็วที่สุดและสมเหตุสมผมที่สุดเพื่อให้ประชาชนร่วมมือการคุมการระบาด”

นอกจากนี้ รัฐบาลต้องมีความชัดเจนว่าจะดำเนินการอะไรช่วงที่มีการล็อกดาวน์เพื่อให้มีส่วนร่วมและรู้ว่ารัฐบาลจะทำอะไร หากไม่ชัดเจนจะเป็นความสูญเปล่าและสูญเสียต่อประชาชนอย่างไม่ควรจะเกิด ย้ำอีกครั้งว่า เบื้องต้นรัฐบาลต้องเร่งหาวัคซีนชนิด mRNA ให้บุคลากรด่านหน้าเสียก่อนเพื่อลดความเสี่ยงและเพื่อให้มีขวัญกำลังใจทำงานเพราะพวกเขาคือขีดความสามารถของระบบสาธารณสุขที่สำคัญที่สุดตอนนี้

“รัฐบาลต้องเร่งตรวจเชิงรุก โดยปรับทัศนคติตัวเองเสียใหม่ การพบผู้ป่วยเป็นข่าวดีไม่ใช่ข่าวร้ายเพราะหมายถึงได้นำเอาผู้มีอาการเบาบางมารักษา ลดการเสียชีวิตลง รักษาชีวิตประชาชนไว้ได้เพิม ขณะเดียวกันยังเป็นการควบคุมการระบาดไม่ให้ไปยังสังคมและคนที่พวกเขารัก นอกจากนี้รัฐบาลควรเร่งมาตรการให้ประชาชนมีอาการไม่มากนักหรือไม่มีอาการสามารถกักตัวรักษาตัวที่บ้าน หรือ Home Isolation ได้ โดยมีระบบรายงานความคืบหน้าให้แพทย์เจ้าของไข้ทราบ มีระบบฉุกเฉินมารับเมื่อมีอาการหนักขึ้น มีระบบรักษาทางไกลที่สามารถจ่ายยาเพื่อดูแลรักษาเมื่อยังไม่หนัก และมีระบบจัดส่งอาหารเพื่อให้เขากักตัวที่บ้านได้อย่างมั่นใจมีอาหารรับประทาน”

วิโรจน์ กล่าวว่า ใน 3-4 วันนี้ วัคซีนที่ยังเป็นความหวังของคนไทยคือ AstraZeneca ในเดือน มิ.ย. จะต้องส่งมอบทั้งสิ้น  6.3  ล้านโดส อย่างไรก็ตาม ในเดือน มิ.ย. นี้ มีการส่งมอบวัคซีน AstraZeneca ไปแล้วทั้งสิ้น 4,220,000 โดส ยังเหลือที่ต้องส่งมอบในเดือน มิ.ย. อีก 2,113,000 โดส ซึ่งรัฐบาลคงต้องเร่งติดตาม กวดขันให้ AstraZeneca Thailand ส่งมอบให้ได้ภายในเดือน มิ.ย.นี้ 

“พรรคก้าวไกลจึงขอเรียกร้องไปยัง พล.อ.ประยุทธ์ ในฐานะประธานศูนย์อำนวยการจัดการวัคซีนแบบ Single Command ผู้อำนวยการ ศบค.กรุงเทพและปริมณฑล ผู้อำนวยการ ศบค. และนายกรัฐมนตรี ตลอดจนเป็นประธานคณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติ รวมทั้งได้รวบอำนาจใน พ.ร.บ.ทั้ง 31 ฉบับไว้กับตนตั้งแต่วันที่ 27 เม.ย. ให้เร่งติดตาม AstraZeneca อีก  2,113,000 โดส มาให้ทันในวันที่ 30 มิ.ย.เพราะนี่เป็นความหวังในการสกัดโควิด กรุงเทพในเวลานี้”

วิโรจน์ทิ้งท้ายว่า ความห่วงใยของพรรคก้าวไกลมากขึ้นเมื่อทราบแนวคิดและวิธีคิดของรัฐบาลจากการให้สัมภาษณ์ของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยที่ระบุเอาไว้ตอนหนึ่งว่า “ การล็อค กทม.​ ​สามารถช่วยลดการแพร่ระบาดโควิดได้แน่นอน​ รวมทั้งแก้ไขปัญหาเตียงไม่พอ เพราะเมื่อประชาชนเดินทางกลับบ้านต่างจังหวัด และติดโควิด ก็จะมีเตียงและการรักษาพยาบาลรองรับเพียงพอในแต่ละพื้นที่ ”

“พรรคก้าวไกลยืนยันว่าวิธีคิดดังกล่าวขาดสติปัญญาอย่างมาก และวิธีการดังกล่าวไม่ใช่การล็อกดาวน์แต่เป็นการกระจายโรคให้ระบาดไปยังทั่วประเทศ ขอให้รัฐบาลเร่งปรึกษาหารือผู้เชี่ยวชาญและยุติวิธีคิดที่โง่เขลาเช่นนี้โดยพลัน”

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net