Skip to main content
sharethis

แผนที่ ม.112 และเพจ ศชอ. ไม่สามารถเข้าถึงได้ หลังผู้ใช้เฟซบุ๊กระดมรีพอร์ท ข้อหา ละเมิดความเป็นส่วนตัว ศูนย์ทนายฯ เผย ศชอ. ส่งข้อความข่มขู่ไม่น้อยกว่า 62 ราย เผยแพร่ข้อมูลบุคคลในกูเกิ้ลแม็พกว่า 466 ราย

28 มิ.ย.2564 หลังช่วงเช้าที่ผ่านมา เพจแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม - United Front of Thammasat and Demonstration ออกมาเปิดเผยว่า  “ศูนย์ช่วยเหลือด้านกฎหมายผู้ถูกล่วงละเมิด bully ทางสังคมออนไลน์” (ศชอ.) ออกมาระบุว่า จะแจ้งม.112 หรือข้อหาหมิ่นประมาทกษัตริย์กับบุคคลกว่า 100 คนที่ปรากฎอยู่ในแผนที่ 112 ที่ทางกลุ่มศชอ.ได้จัดทำขึ้น นั้น

ต่อมาเพจ 'ศิลปะปลดแอก - FreeArts' และผู้ใช้เฟซบุ๊กหลายรายโพสต์ชวนให้กดรายงานหรือรีพอร์ททั้งแผนที่และเพจศชอ. โดยระบุว่าเป็นการเผยข้อมูลที่ละเมิดความเป็นส่วนตัว และ Harrasment จนต่อมาทั้งแผนที่ (URL : https://www.google.com/maps/d/viewer?mid=1ya3SaaWAcROZJN1QIdfEdFEM3zdoV_Cg )และเพจ https://www.facebook.com/AVENGER112XMEN/ ไม่สามารถเข้าถึงได้แล้ว

อัพเดทเพิ่มเติมเมื่อเวลา 16.50 น. วันที่ 29 มิ.ย.64 ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า เมื่อเวลา 13.00 น. เพจ 'ศูนย์ช่วยเหลือด้านกฎหมายผู้ถูกล่วงละเมิด bully ทางสังคมออนไลน์ ศชอ.' กลับมาเปิดและโพสต์อีกครั้ง

ทั้งนี้ เพจแนวร่วมธรรมศาสตร์ฯ ระบุถึงแผนที่ดังกล่าวว่า ชื่อว่า "แผนที่112" ที่มีหมุดต่าง ๆ ปักอยู่ทั่วประเทศไทย ซึ่งแต่ละหมุดจะประกอบด้วยภาพบุคคลพร้อมเปิดเผยสถานศึกษา/สถานที่ทำงาน ซึ่งหมุดพวกนี้คือบุคคลที่ทางกลุ่มศชอ.ขู่จะแจ้งม.112 ซึ่งมีจำนวนมากกว่า 100 คน นี่ถือเป็นการคุกคามและละเมิดสิทธิเสรีภาพการแสดงออกอย่างร้ายแรง โดยใช้กฎหมายที่ล้าหลังและไม่สมเหตุสมผล

การวิจารณ์สถาบันกษัตริย์ควรเป็นสิ่งที่ทำได้ในสังคมประชาธิปไตย ไม่มีใครสมควรถูกดำเนินคดีเพียงเพราะแสดงความคิดเห็น หรือพูดความจริง!! นอกจากนี้ การนำข้อมูลส่วนตัวเช่น รูปถ่าย ใบหน้า หรือสถานศึกษา สถานที่ทำงานมาเปิดเผย ยังเป็นการละเมิดสิทธิและการคุกคามอย่างชัดเจน การกระทำเช่นนี้จึงถือเป็นเรื่องที่น่ารังเกียจ และไม่อาจยอมรับได้

"การใช้กฎหมายเล่นงานผู้เห็นต่างเช่นนี้หรือแม้แต่การคุกคามผู้อื่นโดยอ้างว่าทำเพื่อปกป้องสถาบันพระมหากษัตริย์ ไม่ควรที่จะเกิดขึ้น เพราะมีแต่จะทำให้สถาบันฯ ที่พวกเขาหวงแหน เสื่อมลง เสื่อมลง ความรักสร้างจากการบังคับไม่ได้ หากไม่ปรับตัวก็ต้องล่มสลายไปอย่างแน่นอน" เพจแนวร่วมธรรมศาสตร์ฯ ระบุ

ศูนย์ทนายฯ เผย ศชอ. ส่งข้อความข่มขู่ไม่น้อยกว่า 62 ราย เผยแพร่ข้อมูลบุคคลในกูเกิ้ลแม็พกว่า 466 ราย

ขณะที่ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน รายงานด้วยว่า ตั้งแต่ช่วงต้นเดือนมิถุนายน 2564 จนถึงปัจจุบัน ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนได้รับการร้องเรียนจากผู้ใช้อินเทอร์เน็ตจำนวนมาก ว่าได้ถูกสมาชิกของ ศชอ. ส่งเอกสารที่รวบรวมข้อมูลส่วนตัวมาทางกล่องข้อความ และแจ้งในลักษณะข่มขู่ว่าได้มีการดำเนินคดีตามมาตรา 112 ต่อผู้ใช้งานอินเทอร์เน็ตรายดังกล่าว สถานการณ์ดังกล่าวค่อยๆ เข้มข้นขึ้น และมีผู้ถูกคุกคามจำนวนมากขึ้นเรื่อยๆ ในช่วงปลายเดือนนี้ 

จนถึงวันที่ 28 มิ.ย.นี้ พบว่ามีผู้แจ้งข้อมูลลักษณะนี้มาที่ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน รวมอย่างน้อย 62 รายแล้ว

ทั้งนี้ ศูนย์ทนายฯ ยังให้ข้อสังเกต/คำแนะนำเบื้องต้น กรณีถูกส่งข้อความข่มขู่ดำเนินคดี ม.112 จากสถานการณ์กรณีบุคคลไม่รู้จักส่งข้อความ ภาพถ่ายหน้าจอ หรือข้อมูลส่วนบุคคลมาให้ พร้อมแจ้งว่าจะดำเนินคดีดังกล่าว ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนมีข้อสังเกตและข้อแนะนำเบื้องต้น ดังต่อไปนี้

1. มาตรา 112 ประมวลกฎหมายอาญา และความผิดตามพระราชบัญญัติการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์นั้นเป็นความผิดต่อแผ่นดิน เปิดโอกาสให้บุคคลที่ไม่ใช่ผู้เสียหาย สามารถดำเนินการกล่าวโทษ (แจ้งความ) ต่อเจ้าหน้าที่ได้ ซึ่งเป็นปัญหาประการสำคัญของกฎหมายทั้งสองฉบับมาอย่างต่อเนื่อง

2. อย่างไรก็ตาม หากปรากฏว่าบุคคลดังกล่าวกระทำการอื่นนอกจากนำข้อมูลไปแจ้งความ เช่น การนำข้อมูลส่วนบุคคลไปเผยแพร่ ทำให้เกิดความเสียหาย ใช้ข่มขู่คุกคาม ผู้เสียหายสามารถดำเนินคดีดำเนินคดีอาญาที่เกี่ยวข้อง เช่น ข้อหากระทำรังแก ข่มเหง คุกคาม หรือกระทำให้ได้รับความอับอายหรือเดือดร้อนรำคาญ ตามมาตรา 397 ประมวลกฎหมายอาญา หรือเรียกค่าเสียหายจากการกระทำละเมิดได้

3. ควรตรวจสอบว่าเราเคยโพสต์ข้อความดูหมิ่น หมิ่นประมาทบุคคลอื่นไว้ในโพสต์ของตนเองหรือ ผู้อื่นหรือไม่ หากไม่มั่นใจให้ปรึกษาทนายความ หรือดำเนินการปิดกั้นการเข้าถึงข้อความนั้นไว้ก่อน

4. กรณีมีการนำข้อมูลส่วนบุคคลไปเผยแพร่โดยไม่ได้รับความยินยอมในแพลตฟอร์มต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นเฟซบุ๊ก ทวิตเตอร์ กูเกิ้ลแม็พ สามารถกดรีพอร์ท (report) ว่าโพสต์เหล่านั้นเข้าข่ายเป็นการละเมิดสิทธิส่วนบุคคล

5. กรณีมีการดำเนินการแจ้งความร้องทุกข์ต่อเจ้าหน้าที่รัฐ แม้บุคคลภายนอกจะรวบรวมหลักฐานไว้เบื้องต้นเพื่อส่งมอบให้เจ้าหน้าที่ได้ แต่เจ้าหน้าที่ยังต้องดำเนินการสอบสวนก่อนว่ามีการโพสต์ข้อความ แชร์ข้อความ หรือคอมเมนท์ในลักษณะดังกล่าวจริงหรือไม่ และข้อความนั้นเข้าข่ายผิดกฎหมายหรือไม่ 

6. รวมทั้งโพสต์ดังกล่าวนั้นโพสต์จากผู้ให้บริการรายใด อุปกรณ์ใดเป็นอุปกรณ์ที่ใช้โพสต์ และบุคคลใดเป็นผู้กระทำ หากเจ้าหน้าที่มีหลักฐานตามสมควรแล้วจึงจะออกหมายเรียกให้บุคคลมารับทราบข้อกล่าวหา

7. กรณีได้รับหมายเรียก หมายค้น การตรวจยึดพยานหลักฐาน หรือถูกจับกุม แนะนำให้ดำเนินการตาม คำแนะนำกรณีควบคุมตัว ถูกจับกุม หรือได้รับหมายเรียก

 

สำหรับมาตรา 112 เป็นความผิดต่อองค์กษัตริย์ไทยบัญญัติไว้ว่า "ผู้ใดหมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท หรือผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 3 ปีถึง 15 ปี" ล่าสุดเมื่อวันที่ 19 ม.ค.ที่ผ่านมา มีคดีที่มีการลงโทษด้วยมาตรานี้สูงที่สุด คือ อัญชัญ อดีตข้าราชการวัย 63 ปี ถูกศาลชั้นต้นโดยทิวากร พนาวัลย์สมบัติ และมาริสา เหล่าศรีวรกต ตัดสินจำคุก 87 ปี จากการแชร์คลิป 'เครือข่ายบรรพต' จำนวน 29 ครั้ง เป็นความผิดฐานหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ฯ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 และ พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ มาตรา 14 ก่อนลดโทษกึ่งหนึ่งเหลือ 29 ปี 174 เดือน เนื่องจากจำเลยรับสารภาพในชั้นพิจารณาที่ศาลอาญา อย่างไรก็ตามาลอุทธรณ์มีคำสั่งไม่ให้ประกันตัวโดยอ้างว่าคดีมีอัตราโทษสูง กระทบจิตใจปวงชนผู้จงรักภักดี หากปล่อยตัวเชื่อว่าจะหลบหนี

และมาตรานี้ถูกนำกลับมาใช้อีกครั้งเมื่อปลายปี 2563 หลังการเคลื่อนไหวเรียกร้องให้มีการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ในประเด็นต่างๆ อย่างเข้มข้นของกลุ่มที่ชื่อว่าราษฎร แม้ก่อนหน้านั้นวันที่ 15 มิ.ย.63 พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ กล่าวผ่านสื่อว่า พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระเมตตาไม่ให้ใช้ นั้น แต่ต่อมาหลังมีความเคลื่อนไหวเรียกร้องให้มีการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์เข้มข้นขึ้นจนจนเกิดการฟ้องร้องและดำเนินคดีจำนวนมากดังกล่าว

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net