มองอนาคตโควิด-19 กับจังหวะก้าวต่อไป ผ่านประสบการณ์ขององคาพยพในระบบสุขภาพ            

ทุกองคาพยพในระบบสุขภาพกำลังเผชิญความท้าทายอย่างถึงที่สุด ภายหลังสถานการณ์โควิด-19 แพร่ระบาดราวกับไฟลามทุ่ง โดยตัวเลขผู้ติดเชื้อสะสมของประเทศไทย ณ เดือน มิ.ย. 2564 ได้ทะลุ 2 แสนราย เป็นที่เรียบร้อยแล้ว 

ทีมสื่อ สปสช. รายงานว่า ภายในงานรับฟังความคิดเห็นทั่วไประดับประเทศ ประจำปี 2564 “ระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ในยุคโควิด-19” จัดขึ้นโดยสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) เมื่อวันที่ 25 มิ.ย. 2564 มีเวทีเสวนาหัวข้อ “บทบาทการดำเนินงานของภาคส่วนต่างๆ ในสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคโควิด-19” ซึ่งช่วยตอกย้ำว่า ขณะนี้ทุกฝ่ายกำลังระดมสรรพกำลังในการสู้ศึกโควิด-19 ครั้งนี้อย่างเต็มที่ 

เริ่มต้นที่ นพ.ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์ อธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (สบส.) กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ซึ่งบอกเล่าถึงการดำเนินงานของ สธ. นับตั้งแต่ที่เริ่มมีการระบาด ตลอดจนบทบาทของ สบส. ทั้งการพัฒนาห้องปฏิบัติการ จัดระบบสถานพยาบาล-เวชภัณฑ์ รวมไปถึงการใช้กลไกทางสังคมในการควบคุมพื้นที่ โดยเฉพาะจากกำลังสำคัญอย่างอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) 

อย่างไรก็ดี เมื่อมาถึงการระบาดในระลอกปัจจุบันที่รวดเร็ว และทำให้เตียงในพื้นที่กรุงเทพมหานคร (กทม.) เริ่มมีปัญหา สบส. ได้ระดมแนวคิดในการเปลี่ยนโรงแรมเป็นสถานกักกัน โดยใช้กลไกการอนุญาตชั่วคราว จนปัจจุบันมี Hospitel กว่า 71 แห่ง รวมกว่า 1 หมื่นเตียง สามารถดูแลผู้ป่วยโควิด สีเหลืองและเขียวได้ 

“เรายังออกแบบให้ภาคเอกชนได้เข้ามาช่วยดูแลโควิด-19 โดยเฉพาะในพื้นที่ กทม. โดย สบส.ได้มีการออกประกาศรวม 5 ฉบับ เพื่อให้กลไกเอกชนเข้ามาช่วยหนุนในเรื่องของทรัพยากร ตั้งแต่ประกาศเป็นโรคฉุกเฉิน คล้ายกับ UCEP ที่ให้ทุกแห่งมาช่วยกันดูแล การออกหลักเกณฑ์มาตรฐานต่างๆ รวมไปถึงการเกิดขึ้นของสถานกักกันทางเลือก ช่วยเหลือโรงแรมไม่มีผู้เข้าพักได้ใช้ห้องและเกิดเป็นรายได้ในระหว่างนี้” นพ.ธเรศ ระบุ 

ต่อด้วย นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาธิการ สปสช. ที่ได้ตอกย้ำบทบาทหน้าที่ของ สปสช. ในการสนับสนุนงบประมาณให้ภาคบริการและหน่วยงานต่างๆ สู้โควิด-19 โดยระบุว่า เมื่อโรคโควิด-19 มีการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา สปสช.จึงได้ปรับปรุงระบบการจ่ายตามไปด้วย  

ตั้งแต่ในช่วงแรกที่การตรวจห้องปฏิบัติการ (แล็บ) ทำได้จำกัด ทำให้การค้นหาเชิงรุกไม่เพียงพอ จึงได้มีการของบกลางเข้ามาช่วยจัดการการตรวจแล็บให้รวดเร็วและมากขึ้น จนเกิดการทำ Active Case Finding ได้ หรือเมื่อเกิดกิจกรรมใหม่อย่างการกักตัวในโรงพยาบาลสนามหรือพื้นที่ต่างๆ ก็ได้มีการจัดระบบชดเชยดูแลค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้น 

ขณะเดียวกันเมื่อสถานการณ์เข้าสู่ช่วงของการระดมฉีดวัคซีนเพื่อหยุดการแพร่ระบาด สปสช.ก็ได้มีการปรับอัตราเบิกจ่ายค่าฉีดวัคซีนเพิ่มขึ้นเป็นเข็มละ 40 บาท เพื่อสนับสนุนการฉีดให้เร็วและกว้างที่สุด ขณะเดียวกันก็ยังมองไปถึงหากเกิดความเสียหายขึ้น ก็ควรจะต้องมีกลไกในการเป็นหลักประกันให้ความมั่นใจกับประชาชน และชดเชยในกรณีเมื่อเกิดความเสียหาย หรือล่าสุดที่กำลังออกกติกาการจ่ายชดเชยให้กับ Home Community Isolation เพื่อให้ประชาชนกักตัวอยู่ที่บ้าน 

“โควิด-19 เป็นบทเรียนว่าเกิดวิกฤตการณ์แล้ว ความรวดเร็วจะเป็นปัจจัยสำคัญเพื่อให้การดำเนินงานสำเร็จ อย่างเรื่องของวัคซีน การให้เงินช่วยเหลือเบื้องต้นแม้จะไม่ได้มาก แต่จะทำให้ประชาชนมั่นใจว่าได้รับการดูแลทุกแง่มุม แม้จะมีความเสียหายเกิดขึ้นก็จะได้รับการดูแล นอกจากนี้ยังมีในเรื่องของระบบบริการเสริมที่จะเปลี่ยนไป อย่าง Telemedicine ที่แต่ก่อนเรายังผลักดันไม่สำเร็จ แต่เมื่อมีโควิด-19 เข้ามาทำให้บริการต่างๆ มีการเปลี่ยนโฉม และเป็นบทเรียนที่อาจทำให้เราต้องเปลี่ยนแนวคิด องค์กร การทำงานใหม่ ไปสู่ New Normal ต่อไปในอนาคต” นพ.จเด็จ กล่าว 

วัชรีณ์ นิ่มอนงค์ นายกองค์การบริหารส่วนตำบลหัวโพธิ์ อ.สองพี่น้อง จ.สุพรรณบุรี ที่ให้ภาพการป้องกันโควิด-19 ระดับท้องถิ่นด้วยการใช้กลไกกองทุนหลักประกันสุขภาพท้องถิ่น (กปท.) เป็นเงินสนับสนุนการแก้ไขปัญหาด้านสุขภาพครอบคลุมทุกกระบวนการ ทว่าปัจจุบันหลายท้องถิ่นกลับไม่กล้าใช้เงิน เนื่องจากยังคงกลัวสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ตรวจสอบ จนทำให้เหลือเงินค้างท่ออยู่เป็นจำนวนมาก 

“ยืนยันว่าการใช้เงินนี้ไม่จำเป็นต้องกลัว ถ้าใช้บนหลักการที่เข้าไปส่งเสริมควบคุมโรค ช่วยเหลือประชาชน เพราะทุกอยากเปิดช่องไว้ ไม่ว่าจะเป็นการใช้หมวด 10(5) ในกรณีโรคระบาด ภัยพิบัติ เข้ามาจัดซื้ออุปกรณ์ 10(2) ป้องกันโควิดในสถานศึกษา 10(3) ดูแลศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก บ้านพักคนชรา หรือ 10(1) ที่สนับสนุนงบประมาณให้กับสถานพยาบาล ในการตรวจหรือค้นหาเชิงรุก ฯลฯ ยืนยันว่าทาง อบต.สามารถใช้เม็ดเงินมาจัดการกับโควิด โดยสามารถนำมาดำเนินการได้ทุกข้อ” วัชรีณ์ ระบุ 

ฟากฝั่งผู้บริโภคอย่าง สารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการสภาองค์กรของผู้บริโภค เล่าว่า สภาองค์กรของผู้บริโภคกำลังวางแผนดำเนินการด้านสาธารณสุขใน 3 เรื่องสำคัญ ได้แก่ 1. ค่ารักษาพยาบาลในช่วงโควิด-19 ที่ยังแพงอยู่ และประชาชนไม่ควรต้องเสียค่าใช้จ่าย 2. คำนิยามของภาวะฉุกเฉิน ที่ยังแคบมากและต้องเป็นกรณีใกล้เสียชีวิตเท่านั้น ซึ่งต้องมีการเปลี่ยนแปลงโดยยึดเงื่อนไขความเดือดร้อนด้านอื่นๆ ของประชาชนด้วย 3. การติดตามคุณภาพมาตรฐานบริการสาธารณสุข โดยมีเครือข่ายต่างๆ เข้ามาร่วมติดตาม 

สารี กล่าวต่อไปว่า อยากให้รัฐบาลทำการสื่อสารอย่างตรงไปตรงมา ภายใต้ข้อมูลหรือข้อเท็จจริงทางวิชาการ ทั้งเรื่องของการทำความเข้าใจ สัญญาการนำเข้าต่างๆ ที่จะต้องเปิดเผยอย่างโปร่งใส เพราะปัจจุบันสังคมกำลังตั้งคำถามคือเรื่องวัคซีนป้องกันโควิด-19 ทั้งการจัดหา ราคา ตลอดจนการบริหารจัดการ แต่ด้วยข้อมูลจำนวนมากมาย ประชาชนจึงไม่รู้ว่าจะเชื่อถือข้อมูลไหน 

นอกจากนี้ สารี ยังได้แสดงความกังวลต่อการเข้าร่วมความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก (CPTPP) ซึ่งอาจกระทบต่อระบบสุขภาพ ราคายา ตลอดจนระบบอาหาร เกษตร ฯลฯ ซึ่งอาจซ้ำเติมวิกฤตโควิด-19 ด้วย จึงอยากให้รัฐบาลชะลอออกไปจนกว่าจะมีหลักฐานเชิงประจักษ์ว่าประเทศไทยได้รับประโยชน์จริงๆ  

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท