Skip to main content
sharethis

ในมุมของโภคิน ประเทศไทยยังคงตกอยู่ในวังวนของอำนาจนิยมและรัฐราชการ ทำให้ 89 ปีของการอภิวัฒน์ประชาธิปไตยไม่บรรลุเป้าหมาย การปลดปล่อยประชาชนจากอำนาจนิยมและระบบราชการ และส่งเสริมการรวมตัว สร้างความเข้มแข็งคือหนทางหนึ่งที่จะทำให้คนตัวเล็กส่งเสียงได้

เมื่อวันที่ 24 มิถุนายน 2564 ที่ผ่านมา สถาบันปรีดี พนมยงค์ ได้จัดงานเสวนาปรีดี ทอล์ค ครั้งที่ 11 ภายใต้หัวข้อใหญ่ว่า ‘89 ปีแห่งการอภิวัฒน์สยาม สวัสดิการและบทบาทของรัฐในการสร้างความเป็นธรรมทางเศรษฐกิจแก่ประชาชน’ โดยมีประเด็นหลักว่าด้วยรัฐสวัสดิการ

‘ประชาไท’ นำเสนอเนื้อหาการบรรยายของ โภคิน พลกุล อดีตประธานรัฐสภาและอดีตสมาชิกพรรคเพื่อไทยในหัวข้อ ‘ประสบการณ์การขับเคลื่อนรัฐสวัสดิการในเชิงนโยบาย’

ภาพจากเพจ สถาบันปรีดี พนมยงค์ Pridi Banomyong Institute

อำนาจอธิปไตยเป็นของปวงชนชาวไทย

ตั้งแต่ท่านปรีดี พนมยงค์ได้ร่วมในคณะราษฎรเปลี่ยนแปลงการปกครองเมื่อเกือบ 90 ปีก่อน ผมเองก็เป็นคนโชคดีมากคนหนึ่งเมื่อตอนที่มีโอกาสเรียนปริญญาเอกทางกฎหมายที่ประเทศฝรั่งเศสก็มีโอกาสได้พบ ได้ขอความรู้จากท่านหลายปี แม้แต่วิทยานิพนธ์ที่ผมทำก็ได้ความรู้ ได้วิธีการต่างๆ ที่จะค้นคว้าหาข้อมูลจากท่าน ยุคนั้นไม่มีคอมพิวเตอร์ ต้องไปหลายๆ ห้องสมุด เพราะห้องสมุดแต่ละแห่งก็มีความเชี่ยวชาญคนละแบบ

สิ่งที่ผมอยากเรียนเข้าสู่ประเด็นก็คือ ตั้งแต่ยุคท่านปรีดีระบอบเก่าที่เป็นระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์นั้น ปัญหาใหญ่ก็คือความเท่าเทียมของผู้คนทางกฎหมาย อันนั้นไม่มี สิ่งที่ท่านปรีดีทำให้เกิดขึ้นคือความเท่าเทียมทางกฎหมาย คงจะชัดเจนว่าก่อนหน้าการเปลี่ยนแปลงการปกครอง แม้จะพูดถึงรัฐธรรมนูญที่มีการเตรียมการไว้หลายฉบับ แต่ประเด็นใหญ่ประเด็นเดียวก็คืออำนาจเป็นของใคร ก่อนหน้านั้นถือว่าอำนาจเป็นของผู้ปกครองทั้งสิ้น

เมื่อคณะราษฎรได้เปลี่ยนแปลงการปกครองเมื่อวันที่ 24 มิถุนายน 2475 สิ่งที่เปลี่ยนอย่างมหันต์ก็คืออำนาจในการปกครองประเทศเป็นของราษฎรที่รัฐธรรมนูญทุกฉบับเขียนว่า อำนาจอธิปไตยเป็นของปวงชนชาวไทย แม้มีการยึดอำนาจทุกครั้ง ที่ผ่านมาคณะผู้ยึดอำนาจไม่เคยกล้าเขียนว่าอำนาจเป็นของผู้ยึดอำนาจ แต่เขียนตลอดมาว่าเป็นของปวงชนชาวไทย แต่ประเด็นก็คือคนที่ยึดอำนาจนั้นไม่ได้สนใจปวงชนชาวไทย เขาก็เอาอำนาจของปวงชนชาวไทยใช้ตามใจชอบของเขา นั่นก็คือสิ่งที่เกิดขึ้น

ท่านปรีดีก็มองแต่ครั้งนั้นมาว่าเมื่อมันมีความเหลื่อมล้ำทั้งทางกฎหมายคือฐานะของบุคคล ไม่ต้องพูดถึงความเหลื่อมล้ำในทางเศรษฐกิจแล้ว เราจะทำให้ทุกคนอยู่ร่วมกันอย่างสันติ อยู่ร่วมกันอย่างภราดรภาพ มันต้องดูแลซึ่งกันและกัน ทุกคนคงเท่ากันเป๊ะไม่ได้ แต่ต้องไม่มีคนลำบาก เหมือนภาษาปัจจุบันเราเรียกว่ามันไม่ควรต้องมีคนยากจน ต้องอยู่อย่างพ้นความยากจน สิ่งที่จีนตั้งเป้าก็คือวันนี้เขาทำให้เห็นแล้วว่าครบ 100 ปีพรรคเขาทำให้คน 1,400 ล้านคนพ้นจากเส้นความยากจน จีนแต่ก่อนจำนวนประชากรเป็นปัญหา วันนี้จำนวนประชากรเป็นพลัง ถ้าคน 1,400 ล้านคนจนนั่นคือปัญหา แต่ถ้าคน 1,400 ล้านคนไม่จนและมีคนจำนวนไม่น้อยที่รวย อันนี้คือพลังทางเศรษฐกิจ นั่นคือสิ่งที่เขามอง ไม่ได้แปลว่าระบอบเขาจะถูกหรือจะผิด จะดีหรือไม่ดี แต่การมองเป้าหมายที่ชัดเจนตรงนั้น

เมื่อรัฐฟังแต่เสียงของคนตัวใหญ่

ผมก็มาดูว่าตั้งแต่ท่านปรีดีเสนอในเค้าโครงเศรษฐกิจจนถึงวันนี้ ถามว่าประเทศไทยได้วางหลักในเรื่องนี้ไว้อย่างไรบ้าง อยากจะเรียนว่ารัฐธรรมนูญฉบับแรกไม่ได้พูดถึงสิ่งเหล่านี้ แต่ไปอยู่ในเค้าโครงเศรษฐกิจซึ่งถูกหาว่าเป็นคอมมิวนิสต์ ท่านปรีดีมองว่ารัฐต้องวางแผน ต้องทำยังไงให้เศรษฐกิจเดินได้ แต่ประชาชนต้องมีการรวมตัว ท่านใช้ระบบสหกรณ์ วันนี้เราจะเห็นได้ชัดว่ายิ่งคนตัวเล็กเท่าไหร่ ไม่รวมตัว มันไม่เกิด Economy of Scale คืออำนาจต่อรอง ไม่มี รัฐไม่ฟัง

วันนี้รัฐฟังใคร เขาฟังสมาคมธนาคาร สภาอุตสาหกรรม สภาหอการค้า เพราะเขาคนตัวใหญ่หมด เขาพูดแล้วมีพลัง มีทุน ปัญหาคือเมื่อรัฐอยู่ภายใต้อิทธิพลของกลุ่มเหล่านี้ คนตัวเล็กจะถูกละเลย ไม่มีใครมองเห็น ความเท่าเทียมมีแต่ในแง่วาทกรรมทางกฎหมาย ความเท่าเทียมในความเป็นจริงจึงเป็นปัญหาอย่างมาก วันนี้นักวิชาการใครต่อใครก็บอกว่ารัฐสวัสดิการในรัฐประชาธิปไตยยิ่งจำเป็น เพราะระบบทุนนิยมนั้นไม่ว่าคุณจะพยายามห้ามผูกขาด ห้ามนู่นห้ามนี่ แต่โดยเทคโนโลยี โดยอะไรหลายๆ อย่าง โดยอำนาจของทุน โดยการวิจัยและพัฒนา คนตัวเล็กก็อยู่ที่เดิม ไปไหนไม่ได้หรอก อันนี้ผมคิดว่าไม่ต้องมาพูดแล้วว่าจำเป็นหรือไม่จำเป็น จบเลยว่าจำเป็น

แต่ถามว่าแล้วมันมีการบันทึก บัญญัติ ไว้ในที่ไหนบ้างไหม อยากจะเรียนว่ารัฐธรรมนูญไทยพัฒนามากเลย ตั้งแต่เริ่มไม่มีอะไรก็มาเขียนเรื่องสิทธิเสรีภาพ เขียนเรื่องแนวนโยบายแห่งรัฐ ซึ่งก็จะเติมเรื่อยๆ วันนี้รัฐธรรมนูญฉบับปี 2560 ส่วนแย่ๆ ก็ว่าไปผมคงไม่ไปแตะตรงนั้น แต่ส่วนที่เขียนเอาไว้มีอะไรบ้าง สิทธิเสรีภาพของประชาชน เช่น สิทธิที่จะได้รับการศึกษาฟรี 12 ปีจนจบภาคบังคับ สิทธิในสาธารณสุขขั้นมูลฐานและถ้ายากไร้ก็ไม่ต้องเสียเงินด้วย แล้วก็ไปเขียนเนื้อเรื่องหน้าที่ของรัฐว่าต้องจัดทำสิ่งเหล่านี้ รวมไปถึงการดูแลคนวัย 60 ปี เรามี พ.ร.บ.ว่าด้วยผู้สูงวัย ก็ได้ 600 บาท 700 บาท 800 บาท 1,000 บาทไล่ตามสเกลอายุ อันนี้ก็ใช้เงินประมาณปีละ 19,000 ล้านในปัจจุบัน เป็นสิ่งที่จ่ายอยู่แล้ว หญิงมีครรภ์ก็ต้องได้รับการดูแลก่อนและหลังคลอดบุตร มีการประกันการมีงานทำ รายได้ สวัสดิการสุขภาพ เป็นหน้าที่ของรัฐและเป็นสิทธิที่จะเข้าถึงสิ่งเหล่านี้ของประชาชน

ภาพจากเพจ สถาบันปรีดี พนมยงค์ Pridi Banomyong Institute

อำนาจนิยมและระบบราชการ

มันมีถึงขนาดนี้ แต่ทำไมเรายังรู้สึกว่ามันไปไม่ได้ เพราะอะไร เราต้องมาตีปัญหาตรงนี้ให้แตก มันไปไม่ได้ เพราะประเทศไทยที่เดินมาถึงจุดนี้ มันมาถึงจุดที่ตกต่ำที่สุด ผมก็ไปนั่งคิดว่ามันมาจากอะไร ผมตอบได้ว่ามาจาก 2 เหตุ เหตุแรกคือความคิดแบบอำนาจนิยมไม่ได้เปลี่ยนเลยประเทศนี้ อำนาจนิยมยังดำรงอยู่ตลอดเวลา เรื่องที่ 2 คือระบบราชการ อำนาจนิยมใช้ราชการเป็นกลไก เป็นเครื่องมือในการรักษาอำนาจนิยม บางคนยึดอำนาจมาอาจจะตั้งใจดี สุดท้ายก็ถูกหล่อหลอมโดยรัฐราชการ

ดูวันนี้สิ่งที่รัฐบาลทำมันตอบโจทย์รัฐราชการยิ่งกว่าอะไรทั้งสิ้น คนตกงาน บัณฑิตจบมาจะตกงาน แทนที่จะเอาเงินไปให้ที่เขายังทำธุรกิจได้ เขาจ้างคนของเขาไว้ 6 เดือน พนักงานราชการ 10,000 คนเอามาดูแลเรื่องโควิด มันตอบโจทย์อะไร ครบ 6 เดือนคนเหล่านี้ไปไหนต่อ ก็ไม่รู้อีก คือเติมเงิน เติมคน เติมทรัพยากรทุกอย่างเข้าไปในระบบนี้ แล้วก็โทษนักการเมืองไปเรื่อย ก็มีนักการเมืองในอดีตหรือในปัจจุบันก็มีบ้างที่เอางบประมาณใส่ในจังหวัดของฉัน ยังไงจังหวัดฉันก็เลือกฉันหมด แต่คนอื่นเขาไม่ได้นี่คือความเหลื่อมล้ำจากการบริหารจัดการประเทศโดยการใช้เงิน โดยการหาภาษี

จีดีพีของเรา 16 ล้านล้าน เป็นรายได้จากภาษีแค่ 15 เปอร์เซ็นต์ที่เราเก็บไว้ใช้งบประมาณในปีนี้โดยประมาณคือ 2.4 ล้านล้านบาท มาจากภาษีมูลค่าเพิ่ม 7.5 แสนล้าน ภาษีเงินได้นิติบุคคลประมาณ 6 แสนล้าน บุคคลธรรมดาประมาณ 3.3 แสนล้าน ที่มากและขึ้นเป็นประวัติการณ์ 90 เปอร์เซ็นต์เมื่อเทียบกับปี 60 คือภาษีปิโตรเลียมจากสามสี่หมื่นล้านกลายเป็น 1.1 หมื่นล้าน เราจึงใช้น้ำมันแพงมโหฬารเพราะตัวนี้เป็นรายได้หลักอีกอันหนึ่งแล้วที่รัฐไม่ยอมเอามันออกไป เมื่อมันเป็นอย่างนี้ โครงสร้างก็เป็นอย่างนี้

ที่น่าตกใจคือวันนี้อ่านข่าวเห็นนายกสั่งให้ช่วย SMEs เต็มที่ เรามี SMEs ประมาณ 3.02 ล้านราย เชื่อไหมครับว่าอยู่ในระบบธนาคารประมาณ 15 เปอร์เซ็นต์คือประมาณ 4.6 แสนราย อยู่ในระบบสรรพากรเพียงประมาณ 20 เปอร์เซ็นต์คือ 6 แสนราย ดังนั้นจึงไม่ต้องแปลกใจว่าทำไมฐานภาษีจึงต่ำเตี้ย แล้วปี 63 เก็บรายได้ที่สูงขึ้น 90 เปอร์เซ็นต์คือปิโตรเลียม นอกนั้นร่วงหมด เพราะคนจนลง ภาษีมูลค่าเพิ่มก็ร่วง นิติบุคคลร่วงหนัก ระบบภาษีนิติบุคคลก็ Flat 20 เปอร์เซ็นต์เท่ากันหมด ยกเว้น SMEs ขนาด 3 แสนถึง 3 ล้านที่เสีย 15 เปอร์เซ็นต์ ถ้า 3 ล้านกับอีก 1 บาทเสีย 20 เปอร์เซ็นต์เท่ากับบริษัทยักษ์ใหญ่ คุณกำไรหมื่นล้านเสีย 2 พันล้าน คนกำไร 3 ล้านกับ 1 บาทก็เสียไป 6 แสนบาท คนตัวเล็ก สเกลเล็กอยู่ไม่ได้เลย ตรงนี้แหละครับที่เป็นปัญหาใหญ่

ดังนั้น ผมถึงบอกว่าประเทศนี้มีแต่วาทกรรม และถ้าจะดูให้สนุกตรงไหนอีกไหมครับ นี่มียุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี 6 ด้าน มียุทธศาสตร์อีก 10 ด้านซึ่งอยู่ในแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติที่ออกตามแผนยุทธศาสตร์นี้ ปาเข้าไป 16 ด้านแล้ว มีอีกหกเจ็ดด้านในการปฏิรูปประเทศ ไม่นับหน้าที่ของรัฐ นโยบายแห่งรัฐ ไม่มียุคไหนที่จะมียุทธศาสตร์มากเท่ายุคนี้อีกแล้ว แต่ผลที่เราเห็นคืออะไร ที่จะหนีกับดักรายได้ปานกลางหมายถึงว่าปี 2580 เราจะเป็นประเทศร่ำรวย คือทุกคนเมื่อเฉลี่ยแล้วจะมีรายได้ต่อหัว ต่อปี 5 แสนบาท วันนี้จะพ้นจนหรือไม่ยังไม่รู้เลยถามว่ามันทำไปได้ยังไง

7 ปีที่ผ่านมานี้กู้โปะงบประมาณประมาณ 5 ล้านล้าน ที่แย่กว่านั้นคือหนี้ครัวเรือนหรือหนี้ภาคประชาชนเกือบ 90 เปอร์เซ็นต์ของจีดีพี ดูตัวเลขนี้แล้วมันไปยากหมดเลย สวัสดิการก็จะไปยาก แต่มันต้องทำ ถามว่าเราจะเอาเงินจากไหน ผมดูร่าง พ.ร.บ. ที่คณะกรรมาธิการสวัสดิการสังคมของสภาผู้แทนราษฎรเพิ่งทำ เขาเสนอให้มีบำนาญของผู้สูงวัย วันนี้คนอายุ 60 ปีมี พ.ร.บ.ผู้สูงวัย เขาก็จะเอาตัวนี้เข้าไปแทนทั้งหมดให้ได้คนละ 3,000 บาท ลองนึกภาพ 3,000 บาท ถ้าคน 12 ล้านคนก็ 3.6 แสนล้านบาท คำถามคือเอาเงินมาจากไหน ในร่าง พ.ร.บ. ก็บอกว่ายกเลิกเรื่องผู้สูงวัย ก็ได้มาแล้วเกือบๆ แสนล้านก็ยังเหลืออีก 2 แสนกว่าล้านเอามาจากไหน

เขาก็ลิสต์เลยว่ารายได้จากภาษีมีอะไรบ้าง คือจะไปเอาของเดิมที่จ่ายอยู่ตามนี้ก็คงจะไม่ง่าย ที่จะเติมเข้ามา เช่น ลอตเตอรี่พิเศษหรืออาจจะเอาหวยใต้ดินขึ้นบนดิน ภาษีบาปทั้งหลายก็ไม่ได้มีมากมายถึงขนาดจะเอามาดูแลระดับนี้ ประมาณการภาษีมูลค่าเพิ่มของปี 2564 ต้องได้เกือบ 9 แสนล้าน มันลงไปเหลือประมาณ 7 แสนล้าน ที่มันไม่ขึ้นเพราะปีที่แล้วมันมีโควิดต่อเนื่องมา แต่ต่อไปนี้มันเพิ่มขึ้นบ้างนิดหน่อย อาจจะคนละครึ่งบ้าง ช่วยกันไปช่วยกันมามันก็ไปลงภาษีบริโภค แต่ปัญหาใหญ่ก็คือว่าถ้าฐานภาษียังเตี้ยอย่างนี้มันลำบาก แต่ทำไมประเทศนี้ยังอยู่ได้ ผมว่าสิ่งที่มันเป็นสีเทา สีดำ ถ้าคิดเป็นจีดีพีไม่รู้เท่าไหร่ แล้วเผลออาจจะเท่ากับจีดีพีที่มันปรากฏข้างนอกคือ 16 ล้านล้าน คนไทยก็ยังอยู่มาได้แบบนี้

ประเทศนี้ที่เราต้องต่อสู้ก็คือสู้กับความคิดอำนาจนิยม ต้องเอาประชาธิปไตยที่สมบูรณ์แบบกลับมา เราถึงพยายามผลักดันว่าต้องมีรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน คุณกลัวอะไรถ้าประชาชนเขาจะเลือกคนไปเขียน เขาให้ความเห็นชอบโดยประชามติแล้วมันจบแบบนั้น ความขัดแย้ง วิกฤตทั้งหลายให้ประชาชนตัดสินเองว่าเอาแบบไหน เขาจะเลือกเขียนรัฐธรรมนูญแบบนี้ ผมรับได้เลย จบ เพราะประชาชนไทยเขาเอาอย่างนั้น อาจจะไม่ดี แต่เมื่อเขาเลือกอย่างนั้น ต้องจบที่กระบวนการตรงนั้น คุณกล้าไหมล่ะ

เราเสนอทีแรกก็คือแก้ทั้งฉบับ เอาล่ะ ตอนนั้นในคณะกรรมาธิการสภาผู้แทนราษฎรศึกษากันก็ไม่ได้แตะหมวด 1 หมวด 2 ไม่มีใครพูดถึง ที่ไม่พูดถึงก็เพราะมองว่าตั้งแต่หมวด 3 เรื่องเสรีภาพไปมันเป็นเรื่องที่เราต้องมาจัดการกับตัวเราก่อนให้แข็งแรงที่สุด ถ้าได้ตรงนี้ ขณะเดียวกันระหว่างนั้นจะแก้จุกจิกๆ ไปบ้างที่เป็นการทำลายอำนาจนิยม ว่าไป แต่ที่ไม่รู้ว่าคืออะไรก็ไม่จำเป็นเพราะว่ามันเถียงกันไม่จบ

ปลดปล่อยและเสริมอำนาจประชาชน

ถามว่าเมื่อระบบนี้มันแข็งแรงขนาดนี้ อำนาจนิยม รัฐราชการ ผมเป็นรัฐมนตรี รับราชการการเมืองก็เกือบทั้งชีวิต คิดตลอด เราจะทำอย่างนั้น เราจะให้ประชาชนได้อย่างนี้ เดี๋ยวนี้ผมไม่เชื่อสิ่งนั้นอีกแล้ว ยิ่งไปเติมให้รัฐราชการยิ่งแข็งแรง มันยิ่งเป็นปีศาจร้ายหนักเข้าไปอีก โรงงานยาสูบไม่เป็นนิติบุคคล มีสนามกอล์ฟ มีโรงพยาบาล มีทุกอย่าง นี่คือรัฐราชการไทย ทุกหน่วยงานชิงทรัพยากรมาไว้ที่ตัวเพื่อฉันจะมีมากที่สุดไว้ดูแลคนของฉัน แล้วคนอื่นอยู่ตรงไหน มันไม่มี นี่คือสวัสดิการอย่างหนึ่ง แต่ให้กับคนที่อยู่ในรัฐราชการ ไม่ได้ให้กับประชาชน

ผมจึงคิดใหม่ว่าต่อไปนี้ ผมมีอยู่ 2 คำคือเราต้อง Liberate ปลดปล่อยประชาชนและ Empower ประชาชน ถามว่าปลดปล่อยประชาชนจากอะไร จากพันธนาการของรัฐราชการทั้งหลาย ผมได้คุยกับทีดีอาร์ไอ เขาศึกษากระบวนการอนุมัติ อนุญาตเป็นพันๆ กระบวนการมันก็มีเรื่องตลก หมอนวดแผนไทยอบรมกับกระทรวงเสร็จกว่าจะได้รับใบอนุญาตต้องรออีก 3 เดือน ทั้งที่ก็เป็นหน่วยงานเดียวกัน รัฐราชการนี้พยายามสร้างงานให้ตัวเองด้วยการดึงอำนาจเข้ามา หลายเรื่องไม่มีความจำเป็นใดๆ เลย แต่เป็นการสร้างภาระให้คนตัวเล็กและยิ่งขาดความเหลื่อมล้ำหนักเข้าไปอีก

ผมก็เพิ่งมาคิดออกว่าต่อไปนี้การอนุมัติ อนุญาต พันธะร้อยกว่าเรื่องให้เหลือประมาณ 100 เรื่องที่จำเป็นจริงๆ ที่เหลือจะแก้มันยังไง ผมก็เลยคิดอย่างนี้ ร่างกฎหมายมาฉบับหนึ่งยกเว้นการขออนุญาตไปสัก 3 ปี คนอยากทำร้านกาแฟวันนี้ก็ทำเลย ไม่ต้องขออนุญาต แต่ทำให้มันถูก ไม่ใช่ทำถูกแล้วแต่ผิดเพราะยังไม่ได้ขออนุญาต แล้วมันก็ยืดเยื้อวุ่นวายไม่มีวันจบ กระทรวงเดียวกัน คนละกรมก็ถือกฎหมายคนละฉบับ นี่คือสิ่งที่รัฐราชการทำให้คนอ่อนแอ ทำให้เขาถูกพันธนาการไว้หมด

อันที่ 2 ทำไมถึงต้อง Empower เขา SMEs เสนอตั้งสภา SMEs เพื่อส่งเสียง เพื่อเป็น Economy of Scale เขาจะได้รวมตัวกันเพื่อจะบอกว่าเขาต้องการอะไร ไม่ต้องการให้รัฐมาส่งนั่นส่งนี่ให้เขา งานสัมมนาติดดอกไม้เชิญนายกO เชิญรัฐมนตรีมาแล้วก็จบไป ตรงนี้เสนอกฎหมายไปให้เขารวมตัวกัน ปรากฏว่าส่งไปที่ท่านนายกฯ ท่านยังไม่รับรองจนถึงวันนี้ เขาก็วิ่งคุยกับคนนั้นคนนี้ อยู่ที่เดิมหมด แต่ถ้าสมาคมธนาคารพูด หอการค้าพูด สภาอุตสาหกรรมพูด ได้เรื่อง จะมีรัฐสวัสดิการ จะเอาเงินมาจากไหนในเมื่อคุณทำให้คนที่จะหาเงินจะตายหมดแล้ว ดังนั้น ต้อง revise เขาขึ้นมา ปลดปล่อยเขา ให้อำนาจเขา

และที่เราคิดว่าต้องมีต่อไปก็คือกองทุน อย่างน้อยๆ 4 กองทุน หนึ่ง กองทุน SMEs สอง กองทุน Startup สาม กองทุนวิสาหกิจชุมชน และสี่ กองทุนท่องเที่ยว เราพูดแล้วเหมือนง่าย ถ้าผมมีอำนาจผมจะตัดเงินจากส่วนราชการทั้งหลายมาให้กองทุน แบงค์ชาติที่ทำ Soft Loan 5 แสนล้าน ปล่อยไม่หมด มันปล่อยผ่านระบบธนาคาร ก็บอกแล้วว่า SMEs อยู่ในระบบธนาคารแค่ 15 เปอร์เซ็นต์ ที่เหลือไม่อยู่ มันก็ไปกู้นอกระบบ ก็เอามาตั้งกองทุนนี้ คนอนุมัติอยากได้ตัวแทนของ SMEs ที่เขารวมตัว

เรารัฐสมัยใหม่ต้องสันนิษฐานว่าประชาชนเขาอยากทำมาหากินโดยสุจริต ยั่งยืน และต้องให้เขาดูแลซึ่งกันและกัน วันนี้เรามีเทคโนโลยี มีแอพพลิเคชั่นเยอะแยะ ถามว่าถ้าคนปลูกข้าวไรซ์เบอรี่มีหมื่นรายต่างคนต่างขายยังไงก็เจ๊ง ถ้าให้เขารวมตัวภายใต้แอป 1 มีคนบริหารจัดการให้รัฐเข้าไปดูแลขายวันนี้มันได้ราคาไม่ดี ถ้ารอไปอีก 10 วันได้ราคาดีกว่า ในระหว่างนี้มีคนมีคนเดือดร้อนไปแก้ปัญหาตรงนั้น วันนี้มันไม่มีการจัดการให้คนตัวเล็ก มันเลยอ่อนแอหมด

โดยสรุป ผมจึงคิดว่าเรื่องการศึกษา 12 ปี จบแค่ ม.ปลายภาคบังคับ เจอโควิดผมไปคุยกับเด็ก ดูเขาเรียนออนไลน์ ดูสอบออนไลน์ อันนี้พูดแบบไม่ต้องเกรงใจใคร ผมว่าซ้ำซาก วกวน ผมคิดว่าการศึกษาภาคบังคับไม่ต้อง 12 ปี 9 ปีก็พอ มหาวิทยาลัยเรียนทำไม 4 ปี สมัยผมเรียนปริญญาตรียัง 3 ปีเลย ดังนั้น 12 ปีจบปริญญาตรีได้เลย ไม่ต้องไปบอกให้เขาเรียนอะไรมากมาย วันนี้ทั้งครูและนักเรียนก็ใช้ Search Engine เหมือนกันหมด องค์ความรู้มีเต็มไปหมดรอบตัว แต่ต้องสอนให้เขารู้วิธีที่จะหาองค์ความรู้ที่ถูกต้อง รู้วิธีปรับตัว

ที่สำคัญที่สุด ผมเข้าไปดูพวก Inspiration TV ทั้งหลาย คุณต้องมีเป้าหมายให้เขา บางคนจบปริญญาเอกมาหาผมให้ผมฝากงาน นี่เรียนจนจบปริญญาเอกยังไม่รู้จะไปทำงานอะไร เขาถามในอเมริกาคนประมาณ 70 เปอร์เซ็นต์ไม่พอใจงานที่ตัวเองทำ ดังนั้น คุณต้องมีเป้าหมาย ทำในสิ่งที่คุณชอบ คุณรัก เราต้องให้เด็กเข้าใจอันนี้ ถ้าเด็กตั้งแต่มัธยมรู้แล้วว่าฉันจะไปเรียนอะไรต่อ ฉันจะทำอะไร พลังมันมามหาศาล แล้วรัฐไปเติมตรงนี้อีกนิดหน่อย แต่ถ้าปล่อยเรียนไปเรื่อยๆ จบบัญชีจุฬาธรรมศาสตร์แล้วไปเป็นเเอร์ มันเสียทรัพยากรหมด สิ่งนี้ต้องเปลี่ยนและคนจะเปลี่ยนคือนโยบายที่เราจะไปทำ ก็เลยคิดว่าต่อไประบบราชการต้องมีการให้คะแนน ใครบริการประชาชนอย่างไรประชาชนก็ให้คะแนน

ถัดมาก็คือแรงจูงใจที่จะให้ ใครลดหน่วยงาน ลดคน ลดรายจ่ายลงได้ อย่างนี้เอา 2 ขั้น อันนี้พูดให้มันย้อนกับปัจจุบัน วันนี้ใครเติมได้ ขยายได้ เท่ากับคนนั้นดี วันนี้คุณไม่ต้องไปใหญ่โต นี่ขนาดแผนพัฒนาเศรษฐกิจบอกว่าคุณต้องเป็นรัฐบาลดิจิตอลต้องบูรณาการข้อมูลเข้าด้วยกันทั้งหมด ดูแจกเงินโควิด เละขนาดไหน ข้อมูลมันไม่ได้บูรณาการเข้าด้วยกัน แล้วแต่จะใช้ฐานของใคร ฉะนั้น เราต้องมุ่งตรงนี้จริงๆ ถ้าเราทำได้อย่างนี้ทั้งหมด ถ้าฐานมันเพิ่มขึ้นไป วันนี้มัน 15 ถึง 20 เปอร์เซ็นต์ของจีดีพี ถ้ามันกลายเป็นสัก 30 ถึง 40 เปอร์เซ็นต์ นั่นหมายความว่าแค่ภาษีมูลค่าเพิ่มอย่างเดียวจากประมาณ 7 ถึง 8 แสนล้าน มัน 2 เท่านะ

และบางส่วนเราต้องให้ประชาชนมีส่วนรับผิดชอบ อันนี้อาจจะไม่ใช่ความคิดที่ถูกต้องไปทั้งหมด สมมติเราเพิ่มภาษีมูลค่าเพิ่ม 1 เปอร์เซ็นต์ แต่ 1 เปอร์เซ็นต์นี้ไปให้บำนาญประชาชน ห้ามไปทำอย่างอื่น ถามว่าทุกคนยินดีไหมจ่ายเพิ่มอีก 1 บาทเพื่อพ่อแม่ปู่ย่าตายายและเพื่อเราในวันข้างหน้า เอาไหม มันต้องกล้าที่จะพูดแบบนี้ ไม่ใช่ว่าจะมามุ่งที่ของเดิมที่เพิ่มก็เพิ่มไม่ได้ ได้แต่ปิโตรเลียมมันก็ได้ขึ้นมาอีกหกหมื่นเจ็ดหมื่นล้าน

แล้วมันจะยังไงต่อ ฐานหลักๆ มันต้องภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา นิติบุคคลซึ่งถ้าเราจะช่วยคนตัวเล็ก คนได้ 3 ล้านกับ 1 บาทก็เสีย 20 เปอร์เซ็นต์เท่าคนได้หมื่นล้าน เอาไหมล่ะ ถ้าไม่เกิน 2 ล้านบาทไม่เสียภาษีสัก 3 ปี ช่วยคนตัวเล็กให้ขึ้นมา ให้เขาโตได้ หรือ 3 ล้านก็ได้ แต่เราไปเก็บสเกลให้มากขึ้น เช่น คนตัวใหญ่คุณกำไรพันล้านอาจจะเก็บ 25 เปอร์เซ็นต์ 5 พันล้านอาจจะเก็บ 30 เปอร์เซ็นต์ 40 เปอร์เซ็นต์ มันก็เอามาชดเชยตรงนี้ แต่ให้คนตัวเล็กเขาอยู่ได้ดี คือไปลดภาษีเงินได้และทำให้เขาเข้าระบบ เขาจะได้เป็นนิติบุคคลและภาษีมูลค่าเพิ่มคุณจะเก็บได้มากขึ้น มันต้องแก้ด้วยวิธีอย่างนี้ ไม่ใช่บอกว่าเราจะมีนั่นมีนี่ แล้วก็เอาเงินนั่นเงินนี่มา เงินบาปมีไม่เยอะ ลอตเตอรี่ก็เก็บมาได้ส่วนหนึ่ง เอาหวยใต้ดินขึ้นมาก็ได้ มันก็ได้ 9.1 หมื่นล้านซึ่งวันนี้จ่ายอยู่แล้ว หาเงินอีกสองสามแสนล้านไม่ได้ยากเย็น ถ้าคุณกล้าทำเหล่านี้ทั้งหมด

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net