Skip to main content
sharethis

สื่อนอกเผย ซิโนแวค (Sinovac) เคยมีประวัติติดสินบนเจ้าหน้าที่ในจีน พร้อมถูก ‘แขวน’ หุ้นในตลาด NASDAQ ยาวมาตั้งแต่ปี 2562 ขณะที่แอสตราเซเนกา (AstraZeneca) เคยถูกทางการสหรัฐฯ ปรับกว่า 5.5 ล้านดอลลาร์ฯ ข้อหา ‘ติดสินบน’ เจ้าหน้าที่รัฐ ด้านผู้เชี่ยวชาญทางกฎหมายเผย ‘กังวลประวัติศาสตร์จะซ้ำรอย’

ย้อนรอยคดีสินบนซิโนแวค (Sinovac)

  • ปี 2559 ซิโนแวคถูกทางการจีนตรวจสอบฐานติดสินบนเจ้าหน้าที่รัฐ ด้าน CEO ซิโนแวคยอมรับในศาลจีนว่าติดสินบนจริง แลกกับการไม่ถูกดำเนินคดี และถูกกันตัวไปสอบสวนในฐานะพยานแทน
  • ปี 2560 กระทรวงยุติธรรมสหรัฐฯ เปิดการสอบสวนคดีซิโนแวคติดสินบนเจ้าหน้าที่ แต่ CEO ซิโนแวคยอมเปิดเผยข้อมูล แลกกับการไม่ถูกดำเนินคดีอาญาบนศาลสหรัฐฯ ฐานละเมิดกฎหมาย FCPA
  • ต้นปี 2561 ซิโนแวคฟ้องศาลสหรัฐฯ ว่าถูกกลุ่มผู้ถือหุ้นรายของบริษัทใช้กลยทธิ์วางยาพิษ (poison pill) เพื่อปั่นหุ้น หวังควบรวมกิจการ
  • ก.พ. 2562 แนสแดค (NASDAQ) ตลาดหุ้นที่ใหญ่เป็นอันดับ 2 ของโลกประกาศระงับการซื้อขายหุ้นของซิโนแวค เนื่องจากปัญหาข้อพิพาทด้านกฎหมายระหว่างคณะกรรมการบริหารของบริษัทยังไม่จบสิ้น

ย้อนรอยคดีสินบนแอสตราเซเนกา (AstraZeneca)

  • ทางการสหรัฐฯ สั่งสอบสวนกรณีแอสตราเซเนกาติดสินบนเจ้าหน้าที่รัฐในจีนและรัสเซีย
  • ด้านแอสตราเซเนกายอมรับผิด พร้อมจ่ายค่าปรับกว่า 5.5 ล้านดอลลาร์ฯ แลกกับการไม่ถูกดำเนินคดีในชั้นศาล ฐานละเมิดกฎหมาย FCPA
  • ผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมายของอังกฤษกังวลว่าการดำเนินธุรกิจของแอสตราเซเนกาในไทยอาจทำให้บริษัทถูกตรวจสอบในคดีติดสินบนอีกครั้ง

29 มิ.ย. 2564 บทความเมื่อวันที่ 26 เม.ย. 2564 ในนิตยสารด้านการเงินสัญชาติอเมริกัน แบร์รอนส์ (Barron’s) ระบุว่าบริษัทซิโนแวคไบโอเทค ผู้ผลิตวัคซีนโควิด-19 ยี่ห้อ ‘ซิโนแวค’ ถูกตลาดหุ้นแนสแดค (NASDAQ) ของสหรัฐฯ ระงับการซื้อขายหุ้นมาตั้งแต่เดือน ก.พ. 2562 เนื่องจากคณะกรรมการกำกับและดูแลตลาดหลักทรัพย์ของสหรัฐ (SEC) สงสัยว่าผู้ถือหุ้นใหญ่ของบริษัทอาจใช้กลยุทธ์วางยาพิษ (poison pill) เพื่อปั่นหุ้นและควบรวมกิจการทั้งหมดไว้ในมือของผู้ถือหุ้นเพียงคนเดียวด้วยการซื้อขายหุ้นผ่านตัวแทน เป็นเหตุให้เกิดข้อพิพาททางกฎหมายระหว่างหยินเว่ยตง (Yin Weidong) ประธานกรรมการบริหารคนปัจจุบันของซิโนแวคไบโอเทค และพานอ้ายหวา (Pan Aihua) ประธานบริษัทซิโนไบโอเวย์ไบโอเมดิซีน ซึ่งถือหุ้นของซิโนแวคไบโอเทคอยู่ 27%

ซิโนแวคก่อตั้งขึ้นใน พ.ศ.2544 มีชื่อจดทะเบียนทำธุรกิจในประเทศแอนติกาและบาร์บูดา ซึ่งเป็นหมู่เกาะเล็กๆ ในทะเลแคริบเบียน และเข้าสู่ตลาดหุ้นแนสแดคของสหรัฐฯ ใน พ.ศ.2546 ซิโนแวคไบโอเทคเป็นผู้ผลิตวัคซีนหลายชนิด เช่น วัคซีนป้องกันไวรัสตับอักเสบ วัคซีนไข้หวัดหมู วัคซีนโปลิโอ วัคซีนโรคซาร์ส รวมถึงวัคซีนป้องกันโรคปากเท้าเปื่อยในสัตว์ อย่างไรก็ตาม ซิโนแวค เผชิญสภาวะขาดทุนอยู่หลายปีเช่นเดียวกับบริษัทด้านเทคโนโลยีชีวภาพรายอื่นๆ แต่ซิโนแวคได้รับเงินสนับสนุนจากรัฐบาลจีนจึงสามารถทำการศึกษาวิจัยวัคซีนต่อไปได้

ในเดือน ม.ค. 2559 ทางการจีนรับรองวัคซีน EV71 ซึ่งเป็นวัคซีนป้องกันโรคมือเท้าปากที่ผลิตโดยซิโนแวค และอนุญาตให้ใช้ภายในจีน ถือเป็นความสำเร็จครั้งใหญ่ของบริษัท ต่อมาในเดือน ก.พ. ปีเดียวกัน หยินเว่ยตงปรับราคาหุ้นขึ้นเป็น 6.18 ดอลลาร์สหรัฐ/หุ้น ซึ่งในตอนนั้น เขาถือหุ้นให้บริษัทอยู่ 23% และกลายเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่สุด แต่ 2-3 วันต่อมา บริษัทซานตงซิโนไบโอเวย์ไบโอเมดิซินซึ่งมีพานอ้ายหวาหนุนหลัง เข้าแข่งราคาหุ้นในราคาที่สูงขึ้น อยู่ที่หุ้นละ 7 ดอลลาร์ฯ ทว่า คณะกรรมการบริหารในขณะนั้นเลือกข้อเสนอราคาหุ้นของหยินเว่ยตง ซึ่งมีราคาหุ้นละ 7 ดอลลาร์ฯ เท่ากัน พานอ้ายหวาจึงแข่งราคาใหม่อยู่ที่หุ้นละ 8 ดอลลาร์ฯ จนกลายเป็นศึกชิงเก้าอี้ผู้บริหารครั้งใหญ่ที่ยืดเยื้อยาวนาน

ตู้คอนเทนเตอร์ขนส่งวัคซีนโควิด-19 ของซิโนแวค (Sinovac) ที่ประเทศชิลี
ภาพจาก Mediabanco Agencia
 

ต่อมาใน พ.ศ.2561 ซิโนแวคจัดการประชุมใหญ่ประจำปีที่กรุงปักกิ่ง เพื่อเลือกตั้งประธานกรรมการบริหาร (CEO) โดยรายงานของบลูมเบิร์กระบุว่าในการประชุมครั้งนั้น กลุ่ม 1Globe Capital ซึ่งเป็นผู้สนับสนุนพานอ้ายหวามาแสดงตัวที่บริษัท พร้อมออกคำสั่งให้คณะผู้แทนการจัดการเลือกพานอ้ายหวาเป็น CEO คนใหม่ โดยอ้างว่าพานอ้ายหวาได้รับคะแนนเสียงจากผู้ถือหุ้นมากที่สุด แต่คณะผู้แทนการจัดการของซิโนแวคไม่ยอมรับผลการเลือกตั้งดังกล่าว และประกาศให้หยินเว่ยตงดำรงตำแหน่ง CEO ของบริษัทต่อไป โดยระบุว่าคณะกรรมการบริหารชุดปัจจุบันที่บริษัทรับรองนั้นได้คะแนนเสียงส่วนมากจากการนับ ‘คะแนนที่ชอบด้วยกฎหมาย’ เหตุการณ์นี้ทำให้เกิดความขัดแย้งภายในบริษัทซิโนแวค จนถึงขั้นมีการฟ้องร้องกันเรื่องการใช้ตราประทับปลอมในการรับรองเอกสารต่างๆ ระหว่างพานอ้ายหวาและบอร์ดผู้บริหารชุดปัจจุบัน

ต่อมาในเดือน มี.ค. 2561 กลุ่ม 1Globe Capital ผู้สนับสนุนพานอ้ายหวายื่นเรื่องฟ้องศาลที่ประเทศแอนติกาและบูร์บาดา เพื่อยุติข้อพิพาทและหาคำตอบว่าใครคือ CEO ตัวจริง ในขณะเดียวกัน ซิโนแวคก็ยื่นเรื่องต่อศาลสูงสุดแห่งรัฐเดลาแวร์ของสหรัฐฯ โดยกล่าวหาว่า 1Globe Capital และผู้ถือหุ้นรายอื่นอีก 3-4 รายชักนำให้เกิดการวาง ‘ยาพิษ’ (poison pill) ด้วยการออกหุ้นเพิ่ม 28 ล้านหุ้น ทำให้ราคาหุ้นลดลง (dilute) เพื่อลดอำนาจผู้ถือหุ้นจริงในการลงคะแนนเลือก CEO และคณะกรรมการบริหาร

ศาลชั้นต้นของแอนติกาและบูร์บาดาตัดสินให้ซิโนแวคเป็นผู้ชนะคดี แต่ 1Globe Capital ยื่นอุทธรณ์ คดีจึงยังไม่สิ้นสุด นอกจากนี้ ซิโนแวคยังมีคดีความกับผู้ถือหุ้นรายอื่นๆ ในศาลจีนและฮ่องกง ทำให้ศาลสูงแห่งรัฐเดลาแวร์ไม่สามารถตัดสินคดีได้ เนื่องจากต้องรอให้คดีเป็นที่สิ้นสุดในศาลต่างประเทศก่อน ด้วยเหตุนี้ แนสแดคจึงจำเป็นต้องระงับการซื้อขายหุ้นของซิโนแวคไบโอเทคในตลาดหุ้นตั้งแต่เดือน ก.พ. 2562 เป็นต้นมา โดยระบุว่า “คำสั่งนี้จะมีผลไปจนกว่าซิโนแวคจะส่งข้อมูลเพิ่มเติมตามที่แนสแดคร้องขออย่างครบถ้วนและเป็นที่น่าพอใจ”

ช่วงเวลาที่แนสแดคมีคำสั่งระงับการซื้อขายหุ้นของซิโนแวค หุ้นของบริษัทอยู่ที่ราคาหุ้นละ 6.47 ดอลลาร์สหรัฐ และมีมูลค่าหลักทรัพย์รวมในตลาด 460 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หากแนสแดคยกเลิกคำสั่งดังกล่าวในช่วงเวลานี้ อาจทำให้มูลค่าหลักทรัพย์ของบริษัทพุ่งสูงถึง 3,300 ล้านบาท

ซิโนแวค ‘ติดสินบน’ เจ้าหน้าที่ อย.จีน

ช่วงปลายปี 2559 ซึ่งเป็นช่วงเวลาไล่เลี่ยกับศึกชิงเก้าอี้ผู้บริหารของซิโนแวค มีรายงานว่าพนักงานของบริษัทถูกทางการจีนจับกุมและสอบสวนในข้อหาติดสินบนเจ้าหน้าที่เพื่อแลกกับการออกใบอนุญาตให้ใช้วัคซีนของซิโนแวค ข้อมูลจากเว็บไซต์คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด ระบุว่า ใน พ.ศ.2559-2560 ศาลกรุงปักกิ่งพิพากษาลงโทษ ‘หยินหงจาง’ อดีตเจ้าหน้าที่ระดับสูงของคณะกรรมการกำกับดูแลอาหารและยา (อย.) ในข้อหากระทำการทุจริตและรับสินบนจากบริษัทยาหลายแห่ง ซึ่งหนึ่งในบริษัทที่เสนอสินบนแก่เจ้าหน้าที่คนดังกล่าว คือ ซิโนแวค โดยคำให้การของจำเลยระบุว่าเขารับเงินจำนวน 77,000-83,000 ดอลลาร์สหรัฐจากหยินเว่ยตง CEO ของซิโนแวคมาตั้งแต่ พ.ศ.2545-2554 ในรูปแบบของเงินกู้ อย่างไรก็ตาม หยินเว่ยตงกลับไม่ถูกตั้งข้อกล่าวหาหรือดำเนินคดีใดๆ แต่เขากลับถูกสอบสวนในฐานะพยานของคดีนี้เท่านั้น

ข้อมูลจากมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ดสอดคล้องกับรายงานของเดอะวอชิงตันโพสต์เมื่อวันที่ 4 ธ.ค. 2563 ที่ระบุว่า CEO ของซิโนแวคเคยยอมรับในชั้นศาลว่าเจ้าหน้าที่คนดังกล่าวเรียกร้องเงินค่าตอบแทน ซึ่งเขาไม่อาจปฏิเสธคำขอนั้นได้ นอกจากนี้ ผลการสอบสวนเพิ่มเติมยังพบว่าเจ้าหน้าที่รัฐ รวมถึงหมอและพยาบาลอย่างน้อย 20 คนใน 5 มณฑลของจีนเคยรับเงินสินบนจากบริษัทซิโนแวคในช่วง พ.ศ.2551-2559

“ในอุตสาหกรรมวัคซีน เราจ่ายค่าคอมมิชชันให้คนที่มีอำนาจกันเป็นปกติ เพื่อกระตุ้นให้คนเหล่านั้นใช้วัคซีนของเรา” หยาง, อดีตพนักงานของซิโนแวค

ต่อมาในเดือน ก.พ. 2560 คณะกรรมการกำกับและดูแลตลาดหลักทรัพย์ของสหรัฐ (SEC) แจ้งไปยังซิโนแวคให้ชี้แจงเรื่องคดีทุจริตที่เกิดขึ้น ก่อนจะขอหมายศาลเพื่อเปิดการสอบสวน หลังจากนั้นในเดือน ก.ย. ปีเดียวกัน กระทรวงยุติธรรมสหรัฐฯ (DOJ) มีคำสั่งให้สอบสวนกรณีซิโนแวคติดสินบนเจ้าหน้าที่ โดยอาศัยอำนาจตามกฎหมายว่าด้วยกระทำทุจริตข้ามชาติของสหรัฐอเมริกา (Foreign Corrupt Practices Act: FCPA) ที่มีผลบังคับใช้กับบริษัทสัญชาติอเมริกันและบริษัทข้ามชาติที่มีเข้ามาลงทุนหรือมีหลักทรัพย์อยู่ในสหรัฐฯ

หยาง พนักงานขายคนหนึ่งของซิโนแวคซึ่งประจำการอยู่ที่สำนักงานในมณฑลกวางตุ้งเคยให้การไว้เมื่อ 4 ปีที่แล้วว่า “ในอุตสาหกรรมวัคซีน เราจ่ายค่าคอมมิชชันให้คนที่มีอำนาจกันเป็นปกติ เพื่อกระตุ้นให้คนเหล่านั้นใช้วัคซีนของเรา” นอกจากนี้ หยางยังยอมรับอีกว่าเขาเคยจ่ายเงินสินบนจำนวน 2,441 ดอลลาร์สหรัฐให้เข้าหน้าที่ของโรงพยาบาลเพื่อเป็นการขอบคุณที่โรงพยาบาลซื้อวัคซีนป้องกันไวรัสตับอักเสบเอของซิโนแวคจำนวน 5,351 โดสในช่วงปี 2554-2558

ซิโนแวคชี้แจงต่อทางการสหรัฐฯ ว่าบริษัทตระหนักว่าการกระทำของพนักงานในสังกัดผิดกฎหมายการปราบปรามทุจริตในจีนและได้รับคำพิพากษาจากศาลจีนแล้ว พร้อมระบุว่าศาลจีนสอบสวนพนักงานของบริษัท ทั้งระดับปฏิบัติการและระดับสั่งการแล้วในฐานะพยาน และไม่ถูกดำเนินคดีใดๆ เพราะบริษัทเสนอเงื่อนไขกับทางการจีนไปแล้วก่อนหน้านี้ว่าจะขยายผลการสอบสวนภายใน และพร้อมจะปรับปรุงแนวนโยบายการทำงานของบริษัท นอกจากนี้ ซิโนแวคต้องยอมเปิดเผยข้อมูลทางการเงิน และปรับปรุงงบการเงินประจำปี 2557-2558 ให้เป็นไปตามข้อเท็จจริง ตามนโยบายตรวจสอบที่บริษัทแจ้งต่อทางการสหรัฐฯ ต่อมาในเดือน ส.ค. 2561 ซิโนแวคออกแถลงว่ากระทรวงยุติธรรมสหรัฐฯ ปิดการสอบสวนบริษัทในข้อหาติดสินบนเจ้าหน้าที่แล้ว และจะไม่มีการดำเนินคดีทางกฎหมาย

กล่องบรรจุวัคซีนโควิด-19 ของซิโนแวค (ภาพจาก Pontificia Universidad Católica de Chile)
 

ถึงแม้ว่าซิโนแวคจะมีส่วนพัวพันกับการจ่ายสินบนให้เจ้าหน้าที่จริง แต่เดอะวอชิงตันโพสต์ระบุว่าซิโนแวคไม่เคยมีข่าวฉาวเรื่องความปลอดภัยของวัคซีน และไม่มีหลักฐานใดที่พิสูจน์ได้ว่าวัคซีนของซิโนแวคที่ผ่านการอนุมัติเพราะจ่ายใต้โต๊ะนั้นเป็นวัคซีนที่มีข้อบกพร่อง[ทางวิทยาศาสตร์] แต่อาร์เธอร์ แคปแลน ผู้เชี่ยวชาญด้านการแพทย์จากมหาวิทยาลัยนิวยอร์ก กล่าวว่า การตรวจสอบข้อมูลยาและวัคซีนของบริษัทซิโนแวคจะต้องเป็นไปอย่างละเอียดถี่ถ้วน เพราะประวัติด่างพร้อยด้านธรรมาภิบาลจะคอยสร้างข้อกังขาและเป็นเงาตามตัวที่คอยหลอกหลอนบริษัทไปตลอด ประวัติเรื่องติดสินบนอาจทำให้ลูกค้าสำคัญบางคนรายอาจห่างหายไป แต่ลูกค้าบางรายก็อาจจะยังพึงพอใจกับผลิตภัณฑ์ของบริษัทมากกว่าที่อื่น เช่น วัคซีนโควิด-19 ของซิโนแวคที่สามารถเก็บรักษาได้ในอุณหภูมิใกล้เคียงกับอุณหภูมิห้อง เมื่อเปรียบเทียบกับวัคซีนของไฟเซอร์หรือโมเดอร์นา หรือบางทีลูกค้าเหล่านั้นก็อาจจะไม่มีทางเลือกอื่น

แอสตราเซเนกาถูกสหรัฐฯ สั่งปรับเละ ฐาน ‘ติดสินบน’

ในปี 2559 ซึ่งเป็นปีเดียวกันกับที่ซิโนแวคถูกทางการสหรัฐฯ สั่งตรวจสอบคดีติดสินบนเจ้าหน้าที่ บริษัทยารายใหญ่จากสหราชอาณาจักรอย่าง ‘แอสตราเซเนกา’ (AstraZeneca) ก็ถูกทางการสหรัฐฯ สั่งให้จ่ายค่าปรับเป็นเงินจำนวน 5.5 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ฐานติดสินบนเจ้าหน้าที่รัฐในจีนและรัสเซีย ซึ่งถือว่าละเมิดต่อกฎหมาย FCPA ของสหรัฐฯ โดยเงินจำนวน 375,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐเป็นค่าปรับฐานละเมิดกฎหมาย ส่วนอีก 822,000 ดอลลาร์สหรัฐเป็นค่าดอกเบี้ยก่อนมีคำพิพากษา และอีกกว่า 4 ล้านดอลลาร์สหรัฐนั้นเป็นค่าปรับปรุงบัญชีพร้อมดอกเบี้ยที่บริษัทต้องคืนให้แก่คณะกรรมการกำกับและดูแลตลาดหลักทรัพย์ของสหรัฐ (SEC)

แถลงการณ์จากคณะกรรมการกำกับและดูแลตลาดหลักทรัพย์ของสหรัฐ (SEC) ระบุว่าแอสตราเซเนกาจ่ายสินบนให้เจ้าหน้าที่ด้านสาธารณสุขในจีนระหว่างปี 2551-2553 เพื่อแลกกับคำสั่งซื้อผลิตภัณฑ์ยาของบริษัท ผลการสืบสวนพบว่าพนักงานฝ่ายขาย ฝ่ายการตลาด ไปจนถึงระดับผู้จัดการของแอสตราเซเนกาในจีน เขียนตารางงานแจกแจงรายจ่ายประจำเดือนหรือประจำปีล่วงหน้าอย่างชัดเจนว่าจะต้องจ่ายค่าบำรุงรักษา ค่าของขวัญ ค่าเอนเตอร์เทน และค่ายใช้จ่ายอื่นๆ เป็นเงินเท่าไร พร้อมออกใบกำกับภาษีปลอมเพื่อลงบัญชีกับบริษัท หนึ่งในค่ายใช้จ่ายที่ระบุในกำกับภาษีปลอม คือ การจ่ายค่าวิทยากรให้หมอชาวจีนในการสัมมนา แต่เมื่อตรวจสอบแล้วพบว่าการสัมมนาดังกล่าวไม่เคยเกิดขึ้นจริง เป็นต้น นอกจากนี้ แอสตราเซเนกายังมีประวัติติดสินบนหมอในโรงพยาบาลรัฐของรัสเซียในลักษณะเดียวกันมาตั้งแต่ปี 2548-2553 ซึ่งการกระทำทั้งหมดนี้ ทางบริษัทไม่เคยรายงานต่อ SEC จึงนำไปสู่การสอบสวนในข้อหาติดสินบนเจ้าหน้าที่รัฐ

อย่างไรก็ตาม เมื่อสำนักงานใหญ่ของแอสตราเซเนกาในสหราชอาณาจักรและสหรัฐฯ ทราบเรื่องการทุจริตดังกล่าว ก็ได้ส่งตัวแทนเข้าชี้แจงต่อคณะกรรมการฯ โดยทันที และให้คำมั่นว่าจะปรับปรุงระบบตรวจสอบบัญชีภายในของบริษัทให้เข้มแข็งตามมาตรฐานของสหรัฐฯ พร้อมกันนี้ยังระบุว่าสำนักงานใหญ่จะเข้าควบคุมงบและการทำงานของพนักงานในระดับปฏิบัติการตามสาขาต่างๆ ทั่วโลก เพื่อป้องกันไม่ให้มีการติดสินบนเจ้าหน้าที่อีก นอกจากนี้ บริษัทยังแจ้งว่าได้ไล่พนักงานที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการทุจริตออก หรือปรับลดตำแหน่งพร้อมส่งเข้าฝึกอบรมจริยธรรมในการทำงาน

อาคารสำนักงานใหญ่ของแอสตราเซเนกาที่เมืองเคมบริดจ์ ประเทศสหราชอาณาจักร (ภาพจากวิกิพีเดีย)
 

หวั่น ‘แอสตราเซเนกา’ ทำประวัติศาสตร์ซ้ำรอย

ไมเคิล โอเคน (Michael O’Kane) ทนายความและหัวหน้าแผนกอาชญากรรมทางธุรกิจประจำบริษัทกฎหมายปีเตอร์ส แอนด์ ปีเตอร์ส ในกรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ ให้ความเห็นกรณีการทำธุรกิจของแอสตราเซเนกาในช่วงโควิด-19 ว่า ‘ประวัติศาสตร์อาจซ้ำรอย’ จนอาจถูกทางการสหรัฐฯ ลงดาบอีกครั้ง โดยโอเคนให้สัมภาษณ์กับนิตยสารไฟแนนเชียลไทม์สว่าเขากังวลการทำธุรกิจขายวัคซีนป้องกันโควิด-19 ของบริษัทแอสตราเซเนกากับหลายๆ ประเทศ โดยเฉพาะในไทย เพราะแอสตราเซเนกาทำสัญญา ‘จ้างผลิต’ กับบริษัทสยามไบโอไซเอนซ์ ซึ่งถือหุ้นโดยสำนักงานทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ และมีกษัตริย์ของไทยเป็นเจ้าของสำนักงานทรัพย์สินนั้นอีกที

โอเคนกล่าวว่าแอสตราเซเนกาควรใส่ใจเรื่องการทำข้อตกลงกับบริษัทสยามไบโอไซเอนซ์ให้มากกว่านี้ เพื่อยืนยันให้เห็นว่าการทำธุรกิจของบริษัทไม่ได้ละเมิดกฎหมายการติดสินบนข้ามชาติ โอเคนมองว่าการที่แอสตราเซเนกาทำธุรกิจกับราชวงศ์ไทยนั้นเทียบเคียงได้กับบริษัทข้ามชาติที่เข้าไปลงทุนในคาบสมุทรอาหรับที่นักธุรกิจต้องติดต่อค้าขายกับสมาชิกราชวงศ์ ทหาร รวมถึงเจ้าหน้าที่รัฐระดับสูงโดยตรง ซึ่งมักจะถูกจับตามองเป็นพิเศษ

“การประเมินความเสี่ยงที่สำคัญนั้น ควรดูที่ปัจจัยอย่างเช่นมาตกลงทำสัญญากันได้อย่างไร ขั้นตอนการประมูลราคา หรือผลประโยชน์อื่นๆ ที่แอสตราเซเนกาจะได้รับจากสยามไบโอไซเอนซ์ซึ่งเป็นสิ่งที่บริษัทคู่ค้ารายอื่นๆ ไม่สามารถให้ได้” โอเคน กล่าว

“จากข้อกังวลเรื่องหลักนิติธรรมในกฎหมายไทย ไม่ต้องสงสัยเลยว่าแอสตราเซเนกาได้รับคำแนะนำให้เดินไปบนทางสบาย ซึ่งทางเหล่านั้นมีส่วนเกี่ยวข้องกับการตรวจสอบการทำธุรกรรมระหว่างประเทศ (Enhanced Due Diligence: EDD) และต้องเป็นไปตามนโยบายกำกับดูแลภายในของบริษัท แต่ในช่วงโรคระบาด ความรวดเร็วนั้นถือว่าสำคัญอย่างยิ่ง” โอเคนกล่าวทิ้งท้าย

เรียบเรียงจาก:

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net