Skip to main content
sharethis

ประมวลเหตุการณ์การประชุมสภาอังกฤษ หลังจากที่สัปดาห์ก่อน มีคลิปหลุดอดีต รมว.สาธารณสุขอังกฤษจูบกับที่ปรึกษาส่วนตัวในห้องทำงาน จนตามมาด้วยคำถามเรื่องจรรยาบรรณและจริยธรรมของรัฐมนตรี การชั่งน้ำหนักระหว่างความเป็นส่วนตัว (Privacy) และความมั่นคงปลอดภัย (Security) รวมถึงเสียงวิพากษ์วิจารณ์นายกรัฐมนตรีอังกฤษที่พยายามปกป้องอดีตลูกน้องจากคำครหาทั้งปวง

29 มิ.ย. 2564 เมื่อคืนวันที่ 24 มิ.ย. ที่ผ่านมา เดอะซัน (The Sun) สื่อแท็บลอยด์ของอังกฤษเผยแพร่คลิปวิดีโอจากกล้องวงจรปิด (CCTV) ความยาว 1.06 นาที ในห้องทำงานของแมตต์ แฮนค็อก อดีตรัฐมนตรีสาธารณสุขของอังกฤษที่กำลังจูบกับจีน่า โคลาดันเจโล ที่ปรึกษาตัวของเขา สร้างเสียงวิพากษ์วิจารณ์ในสังคมอังกฤษเป็นอย่างมากถึงเรื่องความเหมาะสมทั้งด้านมาตรการรักษาระยะห่างและความเหมาะสมด้านศีลธรรม เพราะทราบกันดีว่าแฮนค็อกแต่งงานและมีบุตรแล้ว 3 คน

ในวันรุ่งขึ้น บอริส จอห์นสัน นายกรัฐมนตรีอังกฤษกล่าวขอโทษต่อสาธารณชนที่เพื่อนร่วมงานในคณะรัฐมนตรีของเขา ‘ละเมิดแนวทางปฏิบัติในการรักษาระยะห่างทางสังคม’ และกล่าวสั้นๆ ว่าเรื่องนี้สิ้นสุดแล้ว แม้จอห์นสันจะกล่าวตัดบท แต่เรื่องนี้กลับไม่จบง่ายๆ เพราะ ส.ส.พรรคอนุรักษ์นิยมหลายคนไม่เห็นด้วย และกดดันให้รัฐบาลปลดแฮนค็อกออกจากตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ต่อมาในช่วงเย็นวันที่ 26 มิ.ย. แฮนค็อกประกาศลาออกจากตำแหน่งหลังเข้าพบจอห์นสันก่อนหน้านี้ที่คฤหาสน์เชคเกอร์ส (Chequers) ซึ่งเป็นคฤหาสน์ประจำตำแหน่งนายกรัฐมนตรีอังกฤษมาตั้งแต่สมัยคริสต์ศตวรรษที่ 16

สภาอังกฤษร้องสอบวินัย 'แมตต์ แฮนค็อก'

ส.ส.พรรคอนุรักษย์นิยมซึ่งเป็นฝ่ายเดียวกับรัฐบาลเรียกร้องให้มีการตรวจสอบวินัยและความประพฤติของแฮนค็อกในเรื่องการแต่งตั้งโคลาดันเจโลให้ดำรงตำแหน่งคณะกรรมการที่ไม่ได้เป็นผู้บริหาร (Non-Executive Director) ประจำกระทรวงสาธารณสุข (DHSC) และได้รับค่าจ้างรายปี ปีละ 15,000 ปอนด์ (665,560 บาท) โดยโคลาดันเจโลเริ่มดำรงแต่งดังกล่าวเมื่อเดือน ก.ย. 2563 และลาออกจากตำแหน่งเมื่อสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา

ขณะเดียวกัน ส.ส.พรรคฝ่ายค้านยื่นกระทู้ซักถามนายกรัฐมนตรี 3 ประเด็นหลัก ได้แก่ เหตุใดรัฐสภาจึงลงมติเห็นชอบให้โคลาดันเจโลเข้ามาดำรงตำแหน่ง เหตุใดภาพจากกล้องวงจรปิดภายในห้องทำงานของรัฐมนตรีจึงหลุดออกไปสู่คนนอกได้ และแฮนค็อกเคยใช้อีเมลส่วนตัวในการติดต่อธุระสำคัญซึ่งเกี่ยวกับหน้าที่การงานหรือไม่ พร้อมกันนี้ ส.ส.พรรคฝ่ายค้านยังได้เรียกร้องให้มีการปฏิรูปการรับบุคคลเข้าดำรงตำแหน่งคณะกรรมการที่ไม่ได้เป็นผู้บริหาร (Non-Executive Director) ในคณะทำงานด้านต่างๆ ของรัฐบาล รวมถึงเรียกร้องให้มีการสอบสวนย้อนหลังว่าแฮนค็อกเคยกระทำความผิดอื่นใดอีกหรือไม่

นักวิเคราะห์การเมืองอังกฤษเตือน ‘ระวังสภาผัวเมีย’

แคโรไลน์ สโลค็อก อดีตเลขาส่วนตัวของมาการ์เรต แทตเชอร์ และผู้ก่อตั้ง Civil Exchange หน่วยงานระดับมันสมองที่ช่วยวิเคราะห์นโยบายสาธารณะให้แก่รัฐบาล ให้ความเห็นว่าการที่สื่อให้ความสนใจกับเรื่องที่แฮนค็อกละเมิดกฎการรักษาระยะห่างช่วงโควิด-19 นั้นอาจเป็นการเบี่ยงประเด็นและแก่นสารที่แท้จริง เพราะประเด็นที่อยู่ลึกลงไปกว่านั้น คือ แฮนค็อกนำเงินภาษีของประชาชนไปใช้ในทางที่ผิดหรือเปล่า เพราะการแต่งตั้งคนใกล้ชิดให้ทำงานในตำแหน่งสำคัญทั้งยังจ่ายเงินเดือนให้ ถือว่าน่าสงสัยอย่างยิ่งและต้องได้รับการตรวจสอบโดยละเอียด

“การเอาภรรยาลับมาทำการบ้านให้ ถือว่าเป็นเรื่องที่รับไม่ได้อย่างยิ่ง” สโลค็อกกล่าว

ในการประชุมสภาอังกฤษวันนี้ (29 มิ.ย. 2564) เจค็อบ รีส-ม็อกก์ ส.ส.พรรคอนุรักษ์นิยมและประธานสภาผู้แทนราษฎรกล่าวถึงการที่รัฐมนตรีแต่งตั้งคนใกล้ชิดมาทำงานร่วมในรัฐบาลว่าหากประสงค์จะทำเช่นนั้นก็ต้องแจ้งให้ทุกคนรับทราบตามกฎระเบียบและหลักจรรยาบรรณ

“ถ้าชายคนหนึ่งแต่งตั้งภรรยาของเขาให้ดำรงตำแหน่งคณะกรรมการที่ไม่ได้เป็นผู้บริหาร คุณคงหวังว่าเจ้าหน้าที่ตรวจสอบจริยธรรมของสภา (IPSA) หรือคนในสำนักนายกฯ จะทราบแล้วว่าผู้หญิงคนนั้นแต่งงาน[อย่างถูกต้องตามกฎหมาย]กับชายคนดังกล่าว” รีส-ม็อกก์กล่าว พร้อมเรียกร้องให้อดีตรัฐมนตรีออกมาประกาศอย่างตรงไปตรงมาเลยว่าโคลาดันเจโลคือคนรักของเขา

นอกจากนี้ บ็อบ เคอร์สเลค ส.ว. อังกฤษให้ความเห็นว่ารัฐมนตรีสมควรเลือกได้เองว่าต้องการให้ใครว่าทำตรงตำแหน่งดังกล่าว แต่กระบวนการคัดเลือกและแต่งตั้งต้องเป็นไปอย่างโปร่งใส เปิดเผย และเป็นธรรม ไม่ใช่ว่าตื่นเช้ามาแล้วคิดจะเลือกใครเข้ามาทำงานก็ได้

ตอบ 3 ข้อสงสัยของฝ่ายค้าน

สำนักข่าวซันเดยไทม์สของอังกฤษรายงานว่าโคลาดันเจโลรู้จักกับแฮนค็อกตั้งแต่สมัยเรียนปริญญาเอกด้วยกันที่มหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ด ก่อนจะเข้ามาทำงานในฐานะที่ปรึกษาส่วนตัวของเขาในเดือน มี.ค. ปีที่แล้ว โดยไม่ได้รับเงินเดือน ต่อมา ในเดือน ก.ย. ปีเดียวกัน เจมส์ เบเธล ส.ว. อังกฤษที่นั่งเป็นคณะกรรมาธิการในกระทรวงสาธารณสุขเป็นผู้ผลักดันให้สภาลงมติรับโคดันเจโลเข้ามาทำงานในตำแหน่งคณะกรรมการที่ไม่ได้เป็นผู้บริหาร (Non-Executive Director) ซึ่งตำแหน่งดังกล่าวเป็นตำแหน่งผู้ช่วยส่วนตัวของสมาชิกสภา โดยทำงานด้านเลขานุการหรือการค้นคว้าข้อมูล อย่างไรก็ตาม ซันเดย์ไทม์สระบุว่าโคลาดันเจโลไม่เคยทำงานให้กับ ส.ว. คนดังกล่าวมาก่อน ทำให้พรรคแรงงานยื่นจดหมายต่อคณะกรรมาธิการด้านมาตรฐานจริยธรรมของ ส.ว. ให้ตรวจสอบกรณีดังกล่าว โดยคณะกรรมาธิการชุดนี้มีอำนาจในการตัดสินชี้ขาดว่าสมาชิกสภาคนใดทำผิดหลักจรรยาบรรณหรือไม่

ขณะเดียวกัน เมื่อวันที่ 28 มิ.ย. ที่ผ่านมา จอห์นสันให้สัมภาษณ์กับสื่อว่าแฮนค็อกและเบเธลติดต่อเรื่องงานผ่านอีเมลของรัฐบาลเท่านั้น แต่หลังจากที่นายกรัฐมนตรีอังกฤษตอบคำถามสื่อ Good Law Project องค์กรไม่แสวงหากำไรซึ่งทำงานด้านกฎหมายและภาคประชาสังคมได้ออกมาเปิดเผยหลักฐานว่าแฮนค็อกและเบเธลใช้อีเมลส่วนตัวติดต่องานของรัฐบาลจริง อีกทั้งในการประชุมรัฐสภาของอังกฤษวันนี้ (29 มิ.ย. 2564) แองเจลา เรย์เนอร์ รองหัวหน้าพรรคแรงงานยื่นจดหมายเปิดผนึกถึงนายกรัฐมนตรี เรียกร้องให้ “บอกความจริง” กรณีที่แฮนค็อกและเบเธลใช้อีเมลส่วนตัวติดต่อเรื่องงาน ไม่กี่ชั่วโมงต่อมา โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรีอังกฤษออกมายอมรับว่าทั้ง 2 คนนั้นเคยใช้อีเมลส่วนตัวในการติดต่องานจริง แต่ยังคงพูดแบบแบ่งรับแบ่งสู้ว่าการกระทำของทั้งคู่ถือว่าละเมิดกฎระเบียบหรือไม่ โดยตอบสั้นๆ เพียงแค่ว่า “รัฐมนตรีทุกคนตระหนักดีเรื่องการปฏิบัติตตามกฎระเบียบ”

ภายหลังโฆษกสำนักนายกฯ ออกมายอมรับเรื่องดังกล่าว ทำให้นายกรัฐมนตรีอังกฤษ รวมแฮนค็อกและเบเธลได้รับเสียงวิพากษ์วิจารณ์เป็นอย่างมาก โดยหนึ่งในผู้ที่ออกมาวิพากษ์วิจารณ์คำพูดที่กลับไปกลับมาของจอห์นสัน คือ โจ มอแฮม (Jo Maugham) ผู้ก่อตั้ง Good Law Project

 

 

ส่วนประเด็นเรื่องภาพจากกล้องวงจรปิดในห้องทำงานของรัฐมนตรีหลุดไปอยู่ในมือสื่อได้อย่างไร ยังไม่มีคำตอบที่แน่ชัด แต่กระทรวงสาธารณสุขของอังกฤษกำลังเร่งสอบสวนที่มาที่ไปของเรื่องนี้ ซึ่งสมาชิกสภาและคณะรัฐมนตรีต่างพากันตั้งคำถามว่าการติดตั้งกล้องวงจรปิดในห้องทำงานของรัฐมนตรีมีความจำเป็นหรือไม่ หากคิดว่าจำเป็นเนื่องด้วยเหตุผลด้านความมั่นคง แล้วจะทำอย่างไรไม่ให้เกิดกรณี ‘แอบถ่ายโดยไม่ได้รับอนุญาต’ เช่นนี้ขึ้นอีก

เรียบเรียงจาก:

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net