‘พิธีกรรม’ ในระบบการศึกษาไทย ยุคเรียนออนไลน์

“สพฐ.แจงไม่ผิด ครูสั่ง นร.เคารพธงชาติหน้าทีวี มองฝึกวินัย-ความรับผิดชอบ” - PPTV 8 มิ.ย.2564

พาดหัวข่าวข้างต้นหลายคนฟังแล้วอาจจะรู้สึกประหลาดใจตั้งคำถามถึงความจำเป็นว่าทำไมการเรียนหนังสืออยู่กับบ้านของนักเรียนท่ามกลางการระบาดของโควิด-19 ที่ยังไม่มีทีท่าว่าจะสิ้นสุดนักเรียนจะยังต้องทำกิจกรรมหน้าเสาธงอยู่อีก แต่ก่อนหน้านั้นเพียงไม่กี่วันก็ยังมีอีกข่าวที่ฟังแล้วก็อาจจะชวนประหลาดใจไม่แพ้กันคือในที่ประชุมคณะกรรมการควบคุมโรคติดต่อ จ.ตราด เมื่อวันที่ 1 มิ.ย.2564 มีข้อเสนอให้นักเรียนสวมเครื่องแบบนักเรียนในช่วงเรียนออนไลน์

ความเหมือนกันของทั้งสองเหตุการณ์นี้คือนักเรียนถูกโรงเรียนบังคับให้ทำ “พิธีกรรม” ที่ปกติทำแต่ในพื้นที่ของโรงเรียนในพื้นที่บ้านของตัวเองและถูกให้เหตุผลว่าเพื่อสร้าง “ระเบียบวินัย” และ “ความรับผิดชอบ” ของนักเรียนเอง

ประชาไทสัมภาษณ์กุลธิดา รุ่งเรืองเกียรติ สมาชิกคณะก้าวหน้าและนักการศึกษา และ มุมิน เจ๊ะเเว ตัวแทนจากกลุ่มนักเรียนไท เกี่ยวกับประเด็นการเรียนออนไลน์ในช่วงที่ผ่านมา โดยเฉพาะการศึกษาไทยในช่วงเรียนออนไลน์ที่มีการทำพิธีกรรม เช่น การเคารพธงชาติ และ การสวมเครื่องแบบ ที่อ้างว่าเพื่อความเป็น “ระเบียบ” “ส่งเสริมวินัย” และ “ความรับผิดชอบ” ของผู้เป็นนักเรียนในระบบการศึกษาไทย ว่าพิธีกรรมเหล่านี้สร้าง “ระเบียบวินัย” ได้จริงหรือไม่ หรือสุดท้ายแล้วเป็นเพียงการสร้างปัญหาต่อกระบวนการเติบโตของเด็กกันแน่

เรียนออนไลน์ท้าทายความศักดิ์สิทธิ์ของพิธีกรรมหน้าเสาธง 

กุลธิดากล่าวว่า ท้าทายไม่ท้าทายอาจจะไม่ใช่ประเด็น แต่ควรตั้งคำถามว่าการศึกษามีไปเพื่ออะไรมากกว่า ความสำคัญของการจัดการศึกษามันอยู่ที่หน้าที่ของมันมาก เพราะ ในปัจจุบันมันมีข้อจำกัดหลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นข้อจำกัดทางเศรษฐกิจของผู้ปกครอง ไปจนถึง ข้อจำกัดทางเทคโนโลยีต่างๆ ที่โรงเรียนจะสามารถมอบให้เด็ก หรือ เด็กสามารถเข้าถึงได้

ภาพจากเฟซบุ๊กของ Kunthida Rungruengkiat - กุลธิดา รุ่งเรืองเกียรติ

ดังนั้นเมื่อพูดถึงพิธีกรรมในโรงเรียนที่เราทำกันมาอย่างยาวนาน โรงเรียนควรพิจารณาได้แล้วว่าในแง่ของประโยชน์ของกระบวนการเรียนรู้ของเด็กว่ามันมีประโยชน์มากน้อยแค่ไหน ซึ่งเป็นคำถามที่เราอาจจะไม่ค่อยได้ตั้งกับสิ่งเหล่านี้นัก เพราะ มันเป็นสิ่งที่เคยมีมา อยู่ในหลักสูตร และเราก็ทำมันมาอย่างต่อเนื่องอยู่แล้ว

ส่วนเรื่องสวมเครื่องแบบหรือชุดนักเรียนนั้น กุลธิดามองว่าเป็นการสร้างระเบียบแบบ outside in คือ บังคับให้ทำเหมือนกันจนมันกลายเป็นเนื้อเป็นตัวของเราไปในที่สุด

ในขณะที่มุมินกล่าวว่า การเข้าแถว พิธีกรรมหน้าเสาธง และการสวมเครื่องแบบ สิ่งเหล่านี้ไม่ได้มีความจำเป็นตั้งแต่แรกแล้ว ยิ่งมีการปรับเปลี่ยนวิธีการเรียนมาสู่รูปแบบออนไลน์ยิ่งตอกย้ำว่าไม่ได้มีส่วนสำคัญต่อการเรียน มุมินยังกล่าวเสริมอีกว่า พิธีกรรมเหล่านี้คือสิ่งปกติในสังคมที่ไม่ปกติ การบังคับให้นักเรียนแต่งชุดนักเรียนยิ่งเป็นการตอกย้ำปัญหาเรื่อง ความเหลื่อมล้ำ เพราะ ไม่ใช่นักเรียนทุกคนจะมีกำลังมากพอซื้อชุดนักเรียนใหม่ทุกเทอม บางคนต้องใส่ชุดเดิมสามปี ถ้าไม่มีเงินก็ต้องขอรับบริจาค การต้องใส่ชุดนักเรียนยิ่งทำให้ฐานะทางเศรษฐกิจของครอบครัวนักเรียนย่ำแย่ลงไปอีก

เครื่องแบบนักเรียน เครื่องสะท้อนความมีระเบียบ และ ความรับผิดชอบ ของ “นักเรียน”

กุลธิดาตั้งคำถามว่า ระเบียบวินัยมันควรถูกสร้างด้วยวิธีนี้หรือไม่ ซึ่งก็ไม่ใช่ มันควรจะเป็นวิธีแบบ inside out คือ มาจากที่ตัวนักเรียนเอง หรือ มนุษย์คนหนึ่งสามารถที่จะควบคุมตัวเองได้ซึ่งมาจากพัฒนาการตั้งต่วัยเด็ก เช่น สามารถควบคุมร่างกายตัวเองได้และพัฒนาไปสู่การควบคุมสิ่งที่เป็นนามธรรมมากขึ้น เช่น การเข้าเรียน การจัดตรารางเวลา และมันจะนำไปสู่การจัดการที่ซับซ้อนมากขึ้น เช่น การตั้งเป้าหมาย หาวิธีทำ ทำได้ สะท้อนคิด ทำได้แล้วดีหรือไม่ดี แก้ไขยังไง ซึ่งกระบวนการเหล่านี้มันก็จะพัฒนาให้นักเรียนมีวินัยในตนเอง เกิดการกระบวนการเรียนรู้ที่เป็นของตนเอง และพัฒนาการเรียนรู้ได้ไม่สิ้นสุด

นอกจากนี้ กุลธิดาเสริมอีกว่า การศึกษาไทยไม่ได้ให้ความสำคัญกับกระบวนการดังกล่าวเลย การศึกษาไทยไม่ได้ใช้กระบวนการสร้างวินัยโดยให้นักเรียนสามารถควบคุมตนเองได้ ศัพท์ทางวิชาการ คือ การมี “Self control” , “Self regulation” หรือถ้าเป็นกระบวนการเรียนรู้ก็จะเรียกว่า “Self directed learning” กระบวนการเหล่านี้แทบไม่เคยปรากฏในระบบการศึกษาไทย เพราะดูจากสิ่งที่ทำกันในระบบการศึกษาไทยก็พอจะอนุมานได้ว่า การศึกษาไทยไม่เชื่อว่านักเรียนมีศักยภาพในการควบคุมตนเอง ดังนั้นการศึกษาไทยจึงต้องหาสิ่งต่างๆมาควบคุมนักเรียน เช่น เสื้อผ้า ไปจนถึง ทรงผม และ พิธีกรรมการเข้าแถว

ในขณะที่มุมินกล่าวว่า การบังคับให้ทุกคนสวมชุดเหมือนกัน มันไม่ได้สะท้อนความมีระเบียบหรือความรับผิดชอบ เพราะการสวมเครื่องแบบมันไม่สามารถสะท้อนอะไรเหล่านี้ได้ แต่ผู้ใหญ่เป็นฝ่ายที่สมมุติเองว่าการบังคับสวมเครืองแบบสามารถสะท้อนระเบียบหรือความรับผิดชอบได้

มุมิน เจ๊ะเเว

มุมินมองว่า ความรับผิดชอบคือการที่นักเรียนรู้จักหน้าที่ของตัวเองและสามารถรับผิดชอบต่อตนเองได้โดยไม่ต้องมีใครมาคอยบังคับ

จุดอ่อนของระบบการศึกษาไทยในยุคเรียนออนไลน์

กุลธิดามองว่า สิ่งที่การศึกษาไทยขาดไป คือ การเชื่อว่าเด็กหรือนักเรียนคือคนที่มีศักยภาพเช่น ศักยภาพในการควบคุมตนเอง จัดการตนเองหรือดูแลตนเองและตัวของผู้สอนหรือครูเองก็ขาดทักษะในการสนับสนุนเด็ก การมีความเชื่อว่าเด็กมีศักยภาพอย่างเดียวนั้นไม่เพียงพอ ตัวของครูเองก็ต้องมีทักษะในการเป็นผู้สนับสนุน เป็นผู้ช่วยให้นักเรียนสามารถดูแลตนเองได้อย่างเป็นขั้นเป็นตอน กระบวนการเหล่านี้ทั้งหมดแทบไม่ปรากฏในระบบการสร้างครูของประเทศไทย พอตัวครูไม่มีทักษะเหล่านี้ตัวครูก็หันไปใช้เครื่องมอที่คุ้นชินมาตลอด คือ การควบคุมเนื้อตัวร่างกายนักเรียน

การที่ครูไทยไม่มีทักษะรับกับโลกใหม่ที่การเรียนได้เปลี่ยนมาเป็นรูปแบบออนไลน์ ส่งผลให้ครูขาดศักยภาพในการสร้างนักเรียนที่มีทักษะในการบริหารจัดการดูแลตนเอง ดังนั้นการสร้างนักเรียนที่มีทักษะดังกล่าวจึงจำเป็นอย่างมากในโลกที่มีรูปแบบการเรียนออนไลน์

กุลธิดากล่าวเสริมอีกว่า ตัวผู้ออกแบบนโยบายเองก็ไม่ได้เข้าใจว่าทักษะ “Self control” , “Self regulation“ และ “Self directed learning” มันสำคัญขนาดไหน เพราะกระบวนการดังกล่าวมันนำไปสู่การศึกษาแบบผู้ใหญ่ หรือที่เรียกว่า “Adult education” ซึ่งการศึกษาไทยไม่สามารถมอบทักษะดังกล่าวเหล่านี้ให้แก่เด็กได้เลย

นอกจากนี้กุลธิดายังกล่าวอีกว่า ที่บ้านเองก็ไม่เข้าใจกระบวนการเหล่านี้ เพราะครอบครัวก็จะกลายมาเป็นบุคคลอีกบุคคลหนึ่งที่คอยควบคุมการเคลื่อนไหวของลูก ไม่ปล่อยให้เขาได้พยายามควบคุมบริหารจัดการตนเอง เห็นได้จากครอบครัวที่มีความพร้อมมากยิ่งมีการกำกับลูกมาก สุดท้ายแล้วเด็กก็ไม่สามารถคิดหรือตัดสินใจอะไรได้เองเลยเพราะไม่เคยเผชิญกับความท้าทายอะไรเลยมีคนอื่นตัดสินใจมาให้เรียบร้อยแล้ว ก่อให้เกิดปัญหาในอนาคตเพราะในอนาคตเด็กจะต้องยืนด้วยตนเอง ตัดสินใจด้วยตนเองได้เร็วกว่าคนในยุคปัจจุบัน

กุลธิดายกตัวอย่างในฟินแลนด์ เด็กจะมีส่วนร่วมในการตัดสินใจออกแบบสิ่งต่างๆ ในชีวิตของเขาเช่น การออกแบบตารางเรียนของตนเองหรือพอมีโครงงานนักเรียนก็ต้องคิดเองในการบริหารจัดการโดยมีครูคอยช่วยดูแลอยู่ห่างๆ แต่สิ่งเหล่านี้มันเริ่มจากที่บ้าน เช่น การที่เด็กจัดกระเป๋ามาเรียนเอง หรือ แม้กระทั่งเรื่องง่ายๆ ที่จะชี้วัดได้ว่าเด็กมีศักบภาพในการดูแลตนเองหรือไม่ เช่น การที่เด็กสามารถดูแลสิ่งของของตนเองได้ไม่ให้สูญหายในโรงเรียน

กุลธิดามองว่า ความมีระเบียบวินัยของเด็ก คือ การที่เด็กสามารถควบคุมบริหารจัดการตนเองได้ในบริบทต่างๆทั้งในชีวิตประจำวันและในแง่ของชีวิตการเรียน

ในขณะที่มุมินมองว่า จุดอ่อนของการศึกษาไทยคือความไม่พร้อมเพราะสิ่งที่เกิดขึ้นตลอดช่วงการเรียนออนไลน์คือครูหลายคนยังไม่มีความพร้อม โดยมุมินมองว่ากระทรวงศึกษาธิการควรเป็นฝ่ายรับผิดชอบ เพราะ หน้าที่ของกระทรวงศึกษาธิการ คือ การเตรียมความพร้อมให้ครู เพราะตัวครูเองก็ต้องสอนนักเรียนผ่านระบบออนไลน์เช่นกันและมีการปฏิบัติงานจากที่พักอาศัย แต่ครูบางคนกลับไม่มีความพร้อมในหลายด้าน เช่น ความพร้อมในการปรับตัวเข้ากับการสอนออนไลน์ ครูบางคนไม่เข้าใจเทคโนโลยีหรือการที่หลักสูตรที่ใช้สอนในปัจจุบันไม่สอดคล้องกับบริบทการเรียนออนไลน์ หรือการที่ครูหลายคนยังต้องรับผิดชอบหน้าที่ทางเอกสารจำนวนมากจนกระทบต่อชั่วโมงการสอนซึ่งเป็นปัญหาที่สะสมมาจากปีที่แล้ว

ภาพจากเพลงชาติไทยฉบับปัจจุบัน 2562

การศึกษาไทยในปัจจุบันควรตอบโจทย์ผู้เรียนด้านใด

กุลธิดาให้ความเห็นว่า การเรียนออนไลน์ในขณะนี้นับเป็นโอกาสดีที่จะได้สอนนักเรียนในทักษะ “Self control” , “Self regulation“ และ “Self directed learning” แต่การศึกษาไทยก็ไม่ได้ใช้โอกาสนี้ไปในด้านนี้เลย

กุลธิดากล่าวว่า การศึกษามันควรจะคุยในเรื่องที่ไปไกลกว่านี้ได้แล้ว เช่น การช่วยให้นักเรียนสามารถจัดตารางเวลาเอง ทำการบ้านและเข้าเรียนเองได้โดยไม่ต้องบังคับ

กุลธิดาได้เล่าถึงประสบการณ์ส่วนตัวที่เจอคำถาม เช่น เรียนออนไลน์จะทำยังไงให้เด็กไม่ลอกข้อสอบกัน ซึ่งกุลธิดามองว่า ถ้าไม่อยากให้เด็กลอกข้อสอบกันก็ให้สอบเป็นกลุ่มแล้วดูไปเลยว่า เด็กมีการแก้ปัญหาอย่างไร แล้วองค์ความรู้ที่ได้ออกมามันเป็นอย่างไร แต่ถ้าจะทดสอบโดยการสอบเดี่ยว ครูก็ต้องทำให้แน่ใจว่านักเรียนจะเข้าใจว่าการสอบมีเพื่อพัฒนาไม่ใช่มีไว้เพื่อลงโทษ เพราะถ้านักเรียนรู้สึกว่าการสอบมีไว้เพื่อลงโทษ นักเรียนจะไม่กล้าทำผิด พอไม่กล้าทำผิดก็จะใช้วิธีลอกกันเพราะนักเรียนไม่เชื่อว่าตนเองสามารถทำได้

ในขณะที่เรื่องระเบียบ กุลธิดามองว่าเรื่องระเบียบจะยัดเยียดให้เด็กอย่างเดียวไม่ได้ เพราะการยัดเยียดระเบียบก็จะทำให้ได้ระเบียบแบบผิวเผินเด็กจะทำเฉพาะต่อเมื่อมีผู้คุม ผลที่ตามมาเช่นเด็กจะลอกข้อสอบกัน ดังนั้นถ้าเด็กสามารถควบคุมตนเองได้ เขารู้ว่าเป้าหมายของการเรียนคืออะไรก็จะไม่มีปัญหาแบบนี้ แต่การศึกษาไทยไม่คิดจะเข้าใจเรื่องนี้อย่างจริงจัง ดังนั้นระเบียบจึงเป็นแบบพิธีกรรมคือทำให้มันจบๆ ไป พอไม่มีผู้คุมคนก็ไม่มีระเบียบเพราะมันไม่ได้มาจากข้างใน

ในขณะที่มุมินมองว่า การเรียนในยุคปัจจุบันมันควรตอบสนองความหลากหลายของผู้เรียน เช่น ความสามารถของนักเรียน การส่งเสริมให้นักเรียนมีความพร้อมในการประกอบอาชีพในอนาคต ซึ่งการศึกษาในปัจจุบันมันไม่ตอบโจทย์สิ่งเหล่านี้ และการเน้นเรื่องระเบียบวินัยของระบบการศึกษาไม่ได้ตอบโจทย์กับการประกอบอาชีพในอนาคต เพราะไม่ใช่ทุกอาชีพที่จะต้องการความเคร่งครัดในด้านระเบียบวินัยและกฎระเบียบของโรงเรียนเองก็ควรเปลี่ยนใหม่ให้นักเรียนมีส่วนร่วมในการออกแบบกฎ ไม่ใช่ครูเป็นคนออกแบบแต่กลับเอามาบังคับกับนักเรียน

ในแง่ของสายการเรียนนนั้น มุมินมองว่า สายการเรียนในปัจจุบันมันไม่ตอบโจทย์ความสามารถของนักเรียนในปัจจุบัน เช่น นักเรียนอาจจะถนัดวิชา ฟิสิกส์ กับ ชีววิทยา แต่ในหลักสูตรกลับกำหหนดให้ต้องเรียนทั้งฟิสิกส์ เคมี และ ชีววิทยา โดยที่นักเรียนไม่ได้มีส่วร่วมในการเลือกวิชาที่เหมาะสมกับตนเอง หรือ ความสนใจเฉพาะของตนเอง ผลที่ตามมา คือ นักเรียนที่มีศักยภาพกลับไม่ได้เรียนวิชาตามความถนัดของตนเอง

มุมินย้ำว่า การเรียนในแต่ละวิชาควรเริ่มจากความสนใจของผู้เรียน และ การศึกษาควรเปิดกว้างตามความสนใจของผู้เรียน เมื่อนักเรียนเริ่มเรียนจากความสนใจของตนเอง ความรับผิดชอบในการเรียนก็จะตามมาเอง

การศึกษาไทยกับสิทธิพลเมือง

กุลธิดาได้ทิ้งท้ายถึงประเด็นว่าด้วยสิทธิพลเมือง โดยกุลธิดาระบุว่าการศึกษาไทยมีชั่วโมงการเรียนเรื่องสิทธิพลเมืองมากกว่ากลุ่มประเทศสแกนดิเนเวีย แต่ในแง่ของเนื้อหาและกระบวนการที่เราเรียนนั้นกลับเป็นการเรียนเพื่อสร้างนักเรียนที่เชื่อฟังรัฐ ก็คือรัฐกำหนดว่าเนื้อหาของสิทธิพลเมืองคือยังไงก็คือแบบนั้น หน้าที่พลเมืองตามการศึกษาไทยจึงไม่ต่างอะไรจากพิธีกรรม เช่น เลือกตั้งหัวหน้าห้องก็เป็นพิธีกรรรมเพราะกระบวนการที่สำคัญที่สุดในการเลือกตั้งไม่ใช่การยกมือเลือกแต่คือการที่คนออกมานำเสนอตัวเองว่าเขาต้องการทำอะไรและให้คนในห้องได้คิดได้แลกเปลี่ยนกันว่าสิ่งที่แต่ละคนนำเสนอมันมีข้อดีข้อเสียอย่างไร แต่ในระบบการศึกษาไทยกลับเน้นไปที่เลือกตั้งคือการยกมือเลือกไปตามนั้นพอเป็นพิธี

กุลธิดายังเสริมอีกว่า นักเรียนไม่เคยถูกสอนให้ตั้งคำถามว่าการกระทำของรัฐส่งผลอย่างไรต่อเราและการกระทำของเราส่งผลอย่างไรต่อรัฐ ซึ่งมันเป็นเรื่องของสิทธิและหน้าที่ที่มาพร้อมกัน นักเรียนไม่เข้าใจว่าการที่เราไม่ได้ไปเลือกตั้งสภาท้องถิ่นมันมีผลอย่างไรต่อบ้านที่เราอยู่ เราเรียนกันแค่ว่า มันมีการเลือกตั้งในระดับต่างๆ แต่เราไม่เคยถูกสอนเกี่ยวกับผลกระทบและความสำคัญของมัน

กุลธิดาทิ้งท้ายว่าการเรียนการสอนเรื่องสิทธิพลเมืองของไทยกลับไม่พูดถึงการตรวจสอบรัฐ ถึงแม้ในหลักสูตรของกระทรวงศึกษาธิการจะมีการบรรจุเรื่องต้านโกง แต่ในหลักสูตรก็ไม่ได้พูดถึงการตรวจสอบอำนาจรัฐ เพราะรัฐไม่ต้องการให้เราตรวจสอบ เมื่อเป็นแบบนี้หน้าที่พลเมืองแบบไทยเป็นพลเมืองแบบ passive(เป็นฝ่ายรอรับ) มันก็เลยไม่เหมือนหน้าที่พลเมืองของประเทศอื่น เพราะเราไม่ได้เป็น active citizen (พลเมืองที่มีความกระตือรือร้น) แต่เราเป็น passive citizen เราเป็นพลเมืองรอรับคำสั่งไม่ได้เป็นพลเมืองที่จะสามารถลุกขึ้นมาทำอะไรได้ดังนั้นเราก็จะรับผิดชอบเฉพาะตัวเราเท่านั้น

สำหรับ นัธทวัฒน์ สมสุรวาณิชย์ ผู้รายงานบทสัมภาษณ์ชิ้นนี้ เป็นนักศึกษาจากคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ปัจจุบันฝึกงานประจำกองบรรณาธิการข่าวประชาไท

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท