Skip to main content
sharethis

สืบเนื่องจากเมื่อวันที่ 27 มิ.ย. 64 ศูนย์บริหารสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศบค.) มีคำสั่งล็อกดาวน์แคมป์คนงานก่อสร้าง และห้ามคนงานออกนอกพื้นที่แคมป์เป็นเวลา 30 วัน เริ่มวันแรก 28 มิ.ย. 64 ในพื้นที่เขต กทม. ปริมณฑล และ 4 จังหวัดชายแดนใต้ ประกอบด้วย นราธิวาส ปัตตานี ยะลา และสงขลา รวม 10 จังหวัด เพื่อควบคุมการแพร่ระบาดโควิด-19 

พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล ถ่ายเมื่อวันที่ 4 มิ.ย. 64

ผ่านมาสองวันหลังคำสั่งบังคับใช้ ก็สร้างข้อกังขาขึ้นมาทันทีว่า มาตรการนี้มีความเหมาะสมหรือไม่ เพราะวันแรกที่มีการประกาศ แรงงานก่อสร้างถึงกับต้องรีบแอบเดินทางออกจากแคมป์ เนื่องด้วยแคมป์ไม่ใช่สถานที่ที่จะใช้พักผ่อนได้อย่างสบาย หรือถูกสุขลักษณะ แม้ว่าทางกระทรวงแรงงานภายหลังมีการสัญญาจะให้เงินเยียวยา 50% ของค่าจ้างทุกวัน เพื่อจูงใจให้คนงานอยู่ต่อก็ตาม 

นอกจากนี้ หลายสำนักข่าวมีการเปิดเผยด้วยว่า ภายในแคมป์มีการจัดสรรอาหารไม่เพียงพอกับความต้องการของแรงงานก่อสร้าง และแคมป์บางแห่งไม่มีการปูพรมตรวจโควิด-19 อย่างที่ รมว.แรงงาน เคยให้คำมั่นไว้

คำถามตอนนี้คือมาตรการที่รัฐนำมาบังคับใช้กับแรงงานก่อสร้างครั้งนี้ มีปัญหาตรงไหน อย่างไร และแท้จริงนั้น ภาครัฐควรมีวิธีการจัดการกับคลัสเตอร์แคมป์ก่อสร้างยังไงบ้าง 

เพื่อตอบคำถามข้างต้น ประชาไท สัมภาษณ์ทางโทรศัพท์ พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล มาร่วมพูดคุยถึงประเด็นการจัดการวิกฤตโควิด-19 ระลอกสาม โดยเฉพาะมาตรการล็อกดาวน์แคมป์แรงงานก่อสร้าง ซึ่งพิธา เสนอ 3 หลักในจัดการแคมป์ฯ อย่างมีประสิทธิภาพ ปูพรมตรวจแรงงานทั้งหมด ใช้วิธีการตรวจที่รวดเร็วเพื่อลดความสูญเสีย และเยียวยาอย่างไม่แบ่งแยก พร้อมข้อเสนอระยะยาว จัดการกฎหมายแรงงานข้ามชาติเป็นระบบ

ปูพรมตรวจเชิงรุก-เปลี่ยนวิธีตรวจโควิด

เบื้องต้น พิธา จากพรรคก้าวไกล มีมุมมองต่อปัญหาการออกมาตรการปิดแคมป์ก่อสร้างครั้งนี้ว่า รัฐบาลขาดการมองอย่างเป็นระบบ (system thinking) และไม่มีการจัดลำดับความสำคัญให้ถูกต้อง ซึ่งสะท้อนจากการประกาศปิดแคมป์ก่อสร้างฟ้าผ่า จนทำให้แรงงานเดินทางกลับบ้าน แล้วถึงออกมาตรการเยียวยาตามมาทีหลัง

ข้อมูลจากกรมแผนที่ทหารชี้ว่า ใน กทม. มีแคมป์ก่อสร้างอยู่ประมาณ 587 แห่ง มีแรงงานในแคมป์ทั้งสิ้นประมาณ 83,239 คน แบ่งเป็น แรงงานสัญชาติไทยประมาณเกือบครึ่ง หรือ 34,472 คน เมียนมา ประมาณ 26,335 คน และลาว และกัมพูชา อีก 21,967 คน แต่ล่าสุด มีแรงงานก่อสร้างที่ได้รับการตรวจประมาณ 50,000 คน เหลืออีก 30,000 คนที่ยังไม่ได้ตรวจ 

ข้อมูลจากกรมแผนที่ทหาร
 

ข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้น คือเวลาตีหนึ่งเว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษา เผยแพร่คำสั่งปิดแคมป์ก่อสร้างตามมาตรการควบคุมโรคในพื้นที่เฉพาะ (Bubble and Seal) เพื่อจำกัดการเคลื่อนที่ของแรงงานไม่ให้เชื้อแพร่ออกไป แต่สิ่งที่เกิดขึ้นกลายเป็น ‘Bubble and Spread’ คนงานที่ทราบข่าวก็ทยอยออกจากแคมป์ทันที กลายเป็น ‘ผึ้งแตกรัง’ สามหมื่นคนที่ยังไม่ได้รับการตรวจโควิด-19 และคัดกรอง อาจเดินทางออกนอกพื้นที่แคมป์ จนทำให้ประชาชนเกิดข้อกังวลว่าอาจมีเชื้อแพร่กระจายออกเป็นวงกว้าง 

เรื่องนี้ทางสุชาติ ชมกลิ่น รมว.กระทรวงแรงงาน ให้สัมภาษณ์กับเวิร์กพอยต์ทูเดย์ ผ่านการไลฟ์สด เมื่อวันที่ 28 มิ.ย. 64 ยอมรับว่า มีแรงงานบางส่วนแอบหนีออกนอกแคมป์จริง แต่ไม่มาก พร้อมระบุว่า สถานการณ์กลับสู่ภาวะปกติตั้งแต่เมื่อวันที่ 27 มิ.ย. 64 หลังมีการทำความเข้าใจว่าจะมีการเยียว 50 เปอร์เซ็นต์ทุกวัน แต่ต้องอยู่ในแคมป์ และจะมีการเช็กจำนวนคนทุกวัน นอกจากนี้ ภาครัฐส่งหน่วยงานความมั่นคงเข้าควบคุมพื้นที่ ทำให้แรงงานก่อสร้างไม่สามารถเดินทางไปไหนมาไหนได้ 

พิธา ชี้ว่า ปัญหาเกิดขึ้นส่วนหนึ่งมาจากรัฐบาลมักเลือก 'สั่งก่อน มาตรการหรือเยียวยาทีหลัง' จนทำให้แรงงานเลือกเดินทางกลับมากกว่าทำตามมาตรการของรัฐบาล หรือไม่ได้คิดถึงมาตรการก่อนที่จะมีคำสั่งออกมาในแต่ละครั้ง

"สิ่งที่รัฐบาลขาด คือ system thinking หรือการคิดแบบเชิงระบบ คือการมองด้วยสายตาอย่างนกที่มองจากข้างบนลงมา ซึ่งพอเขาไม่มีความคิดเชิงระบบ การทำงานก็ยุ่งเหยิง เพราะว่าเขาก็ตามแก้ทีละจุด พอไปแก้ฝั่งซ้าย ฝั่งขวาก็โผล่ พอไปแก้ฝั่งขวา ฝั่งซ้าย ก็โผล่ พอแก้วัคซีนไม่ได้ มันก็เป็นดินพอกหางหมูมาที่ระบบสาธารณสุข และมันก็ลามไปถึงเศรษฐกิจ และก็มั่วไปหมด คุณต้องคิดให้มันเป็นระบบ เรียงลำดับความสำคัญให้ได้" พิธา กล่าว

พิธา ในฐานะพรรคฝ่ายค้าน เสนอว่า ก่อนที่จะปิดแคมป์แรงงาน รัฐบาลควรปูพรมตรวจเชิงรุกแรงงานทั้งหมด 80,000 กว่าคนให้ครบก่อน และจริง ๆ ควรทำมาตั้งแต่ 2-3 สัปดาห์ก่อนหน้านี้แล้วที่เริ่มมีความชัดเจนว่ามีผู้ป่วยในแคมป์ และรัฐบาลอุตส่าห์เก็บข้อมูลจนเห็นว่า 110 คลัสเตอร์ในกรุงเทพฯ เป็นแคมป์ก่อสร้างครึ่งหนึ่ง (รองลงมา เป็นตลาด และโรงงาน) แต่กลับไม่มีการปูพรมตรวจเชิงรุกพวกเขาเลย ต้องตรวจก่อนปิด ไม่ใช่ปิดก่อนตรวจ จากนั้น ก็คัดกรองแรงงานที่ติดเชื้อโควิด-19 ออกมาจากผู้ที่ยังไม่ป่วย 

คนงานก่อสร้าง ที่มา กรมประชาสัมพันธ์
 

นอกจากนี้ หัวหน้าพรรคก้าวไกล เสนอว่า รัฐบาลควรใช้วิธีตรวจใช้วิธีตรวจ PCR และ Rapid Test ควบคู่กันไป เพื่อความรวดเร็ว และลดปัญหาเรื่องคอขวด และการตรวจนี้ต้องทำโดยไม่แบ่งแยก คนทุกสัญชาติต้องได้รับการตรวจ ไม่ว่าจะอยู่ในประกันสังคม มาตรา 33 หรือไม่ ก็ต้องเข้าถึงสิทธิการตรวจ แต่ที่สำคัญคือต้องปูพรมแบบ 100%

พิธา กล่าวต่อว่า ปกติในระบบสาธารณสุข (สธ.) จะเน้นการตรวจแบบ RT-PCR (การตรวจเชื้อทางพันธุกรรม) เป็นหลัก ซึ่งวิธีการนี้แม้มีข้อดีที่ความแม่นยำสูง แต่ใช้ทั้งเวลา และต้องใช้เครื่องมือและแล็บ เมื่อเคสที่ตรวจเยอะขึ้น ก็จะทำให้เกิดคอขวด เพราะการตรวจมันมากระจุกที่โรงพยาบาล

กลับกัน การใช้วิธีตรวจ Rapid Test นั้น แม้ไม่แม่นยำเท่ากับ RT-PCR แต่ว่าเร็ว ต้นทุนต่ำ ไม่ต้องใช้แล็บ เหมาะจะเอามาใช้คัดกรองผู้ติดเชื้อโควิด-19 ขั้นแรก เมื่อตรวจเจอผู้ป่วยแล้ว ก็สามารถคัดกรอง แยกผู้ป่วยในแคมป์ออกมาที่โรงพยาบาลแรกรับ หรือเชลเตอร์ได้ก่อน จากนั้น ให้ตรวจแบบ RT-PCR เพื่อเช็กซ้ำอีกที ในเวลาเดียวกัน ผู้ที่ตรวจโดยวิธีการ Rapid test ไม่พบ (ผลออกมาเป็น Negative) ก็จะมีการตรวจย้ำซ้ำๆ ตรวจบ่อยๆ ตรวจทุกอาทิตย์ เพื่อเช็กความถูกต้องแม่นยำเรื่อย ๆ 

พิธา กล่าวต่อว่า การตรวจ RT-PCR ควบคู่ Rapid Test อาจเป็นจุดเปลี่ยนได้เหมือนกัน เพราะความเร็วเป็นสิ่งสำคัญในการจัดการบริหารวิกฤต ผู้ป่วยอาจลดน้อยลง และสามารถรักษาชีวิตประชาชนได้มากขึ้น และยิ่งทำได้เร็วเท่าใด ประชาชนก็มีโอกาสได้กลับมาใช้ชีวิต และทำงานหาเลี้ยงชีพตัวเองได้ตามปกติเร็วขึ้น 

ปรับปรุงแคมป์คนงานให้ถูกสุขลักษณะ  

ประการต่อมา พิธา เสนอว่า ระยะยาว เขาอยากเสนอว่า ควรต้องมีการกำหนดมาตรฐานแคมป์คนงานให้ถูกต้อง และถูกสุขลักษณะ แต่ในระยะสั้น ภายในแคมป์อาจต้องมีการปรับปรุงเรื่องสุขลักษณะก่อน เพื่อรับมือกับสถานการณ์โควิด-19  

“ก็ต้องเข้าไปเพิ่มจุดล้างมือ หรือปรับปรุงให้มันเหมาะสม ให้คนงานในแคมป์ก่อสร้างสามารถอยู่ได้ อย่างไม่ลำบากขัดสน จุดอาบน้ำ จุดกินข้าว คนที่ยังต้องอยู่ต่อ ยังไม่ได้ถูกแยกออกมาแต่แรก ลดความน่าจะเป็นในการติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ข้างในตรงนี้ให้ได้” หัวหน้าพรรคก้าวไกล กล่าว

เยียวยาครอบคลุม

สำหรับคนงานที่ต้องถูกกักตัวภายในแคมป์ ทางสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน  ระบุว่าจะจ่ายเยียวยาให้แรงงาน โดยต้องเป็นแรงงานตามรายชื่อที่นายจ้างรับรอง ต้องอาศัยในแคมป์คนงานก่อสร้าง โดยสำนักงานประกันสังคม จะจ่ายให้เป็นเงินสด 50% ของรายได้ ทุกวัน สูงสุดไม่เกิน 7,500 บาท โดยจ่ายทุก ๆ 5 วัน และมีอาหารให้วันละ 3 มื้อ 

นอกจากนี้ มีเงินให้เพิ่มเติมให้ลูกจ้างที่อยู่ในระบบประกันสังคม 2,000 บาทต่อราย ส่วนนายจ้างได้รับการช่วยเหลือ 3,000 บาทต่อหัวลูกจ้างที่อยู่ในบริษัทสูงสุดไม่เกิน 200 คน เป็นระยะเวลา 1 เดือน

ส่วนแรงงานที่อยู่นอกระบบประกันสังคมจะได้ค่าชดเชยอยู่ที่ 2,000 บาท (เฉพาะคนไทย) ส่วนเงินช่วยเหลือ 50% ในเหตุสุดวิสัยจะไม่ได้รับ เพราะต้องมีการสมทบเงินประกันสังคมต่อเนื่องเกิน 6 เดือนเท่านั้น ตามกฎหมายประกันสังคม โดยทุนทรัพย์ที่นำมาใช้จ่ายค่าชดเชย มาจากสองแหล่ง คือ เงินกู้เพื่อการเยียวยาโควิด จำนวน 4,000 ล้านบาท และเงินจากประกันสังคม 3,500 ล้านบาท

แคมป์คนงานก่อสร้าง เขตหลักสี่ กทม. (ที่มา มติชน
 

เดอะ โมเมนตัม ระบุว่า “การเยียวยาแบบนี้ จะ ‘ได้ผล’ ต่อเมื่อคุณอยู่ในระบบประกันสังคม ม. 33 ซึ่งส่วนมากเป็นคนไทย ทำงานในบริษัทก่อสร้างยักษ์ใหญ่ ไม่ใช่รับเหมาช่วง ซึ่งมีอยู่น้อยนิดในการปิดแคมป์รอบนี้” ดังนั้น คำถามคือ ‘แรงงานข้ามชาติ’ อยู่ตรงไหนของการเยียวยานี้ 

หัวหน้าพรรคก้าวไกล เห็นด้วยว่า มาตรการเยียวยาไม่ควรมีการแบ่งแยกเชื้อชาติ และไม่ว่าแรงงานคนนั้น จะอยู่ในมาตรา 33 หรือไม่ก็ตาม ก็ควรได้รับการเยียวยา 

“การเยียวยาไม่ควรเอากระทรวงแรงงานเป็นตัวตั้ง เพราะเขาจะเยียวยาเฉพาะคนที่อยู่ประกันสังคม ม. 33 เท่านั้น และข้อมูลกรมแผนที่ทหาร ระบุว่าแรงงาน 8 หมื่นคน ครึ่งหนึ่งเป็นแรงงานข้ามชาติ และเป็นแรงงานรายวัน เป็นแรงงานที่ต้องย้ายถิ่นฐานเป็นประจำ สร้างไซต์นี้เสร็จ ก็ย้ายไปสร้างที่ต่างจังหวัด และก็ไปที่ภาคเหนือ และก็กลับมาที่กรุงเทพฯ อีกที มันก็ไม่มีการลงระบบประกันสังคม หรือลงอะไรไว้ ...คำว่าเยียวยาคือต้องเยียวยาทั้งหมด” 

พิธา เสนอเพิ่มว่า “มาตรการเยียวยาที่ครอบคลุมแก่แรงงานภาคก่อสร้าง ต้องมาพร้อมการช่วยเหลือด้านภาษีแก่ผู้ประกอบการ โดยพิธา เสนอให้มีการลดภาษี ณ ที่จ่าย (Withholding Tax) ลงอย่างต่ำ 1-2% เพื่อเป็นแรงจูงใจให้เขาดูแลแรงงานของเขาในช่วงนี้ จะทำให้ครบวงจร ตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ ตั้งแต่ตัวนายจ้าง และก็ตัวแรงงานเอง และแรงงานในหลากหลายสัญชาติเอง”  

ทั้งนี้ ที่มีการรายงานข่าวก่อนหน้านี้ ที่ระบุถึงปัญหาการจัดการด้านอาหารอย่างไม่เพียงพอ เช่น แคมป์นี้มีคนงานอยู่ 400 คน แต่นายจ้างให้ข้าวมาเพียง 40 กล่อง รวมถึงป้ายที่ะระบุว่า เอาข้าวให้แรงงานไทยเท่านั้น 

ปัญหาเรื่องนี้ พิธา มองว่าอาจต้องใช้วิธีการทางด้านกฎหมายเข้ามาควบคู่กันไปด้วย เพื่อกดดันให้เอกชนที่ได้รับการเยียวยาจากรัฐไปแล้วให้ความช่วยเหลือแรงงานข้ามชาติอย่างไม่แบ่งแยก 

“มันก็ต้องมีทั้งกำปั้น และกำมะหยี่ เมื่อสักครู่พูดไปในเชิงกำมะหยี่มากกว่าว่า รัฐบาลต้องลดภาษี ณ ที่จ่ายให้ผู้ประกอบการ หรือผู้รับเหมา เพื่อที่จะแบ่งเบาภาระ แต่แลกกับคุณต้องช่วยรายได้ลูกจ้าง 50% โดยที่ไม่ได้คำนึงว่า เป็น ม.33 หรือว่าไม่ใช่ เป็นคนไทย หรือคนต่างชาติ” 

“ส่วนกำปั้นในการที่จะบังคับในการที่จะชัดๆ ว่า ถ้ารับผลประโยชน์เหล่านี้ที่รัฐเสนอไป ต้องห้ามเคลื่อนย้าย” พิธา ระบุ พร้อมกล่าวว่า แม้จะใช้กำปั้น แต่เขาก็ไม่เห็นด้วยกับแนวทางที่ใช้ตำรวจ หรือทหารเข้าไปคุม เพราะแรงงานก่อสร้างไม่ใช่นักโทษ และแคมป์ก็ไม่ใช่คุก ดังนั้น ใช้กำปั้นได้ แต่ต้องคำนึงถึงหลักสิทธิมนุษยชนไปพร้อมๆ กัน    

“ต้องมีทั้งกำปั้น และกำมะหยี่ แต่ว่ากำมะหยี่ต้องเยอะกว่ากำปั้น ต้องคำนึงสิทธิมนุษยชน ควบคู่กันไป แรงงานกลุ่มนี้ไม่ได้เป็นนักโทษที่ต้องเอาทหาร เอาตำรวจมาคุม”

รูปภาพ ตำรวจ สนธิกำลังกับทหาร เข้าควบคุมแคมป์แรงงานภาคก่อสร้าง เพื่อไม่ให้มีแรงงานแอบหนีออกไปได้ (ที่มา ประชาชาติธุรกิจ)
 

“เรื่องวัคซีนไม่พูดถึงในระยะสั้น เพราะว่าเอาวัคซีนมากอง มาฉีดให้ทุกคนแล้ว อย่างที่เคยฉีดตอนทองหล่อ มันไม่ได้ผล เพราะว่ามันระบาดไปแล้ว กว่าภูมิกันจะขึ้นต้องใช้เวลา 3-4 อาทิตย์  มันก็ไล่ตามเชื้อโรคไม่ทัน ก็เลยคิดว่ามีมาตรฐานทางสาธารณสุขในการบริหารจัดการ Bubble และก็ปิดรอยปริมันสำคัญกว่า” พิธา ทิ้งท้าย 

รัฐต้องจัดการนายหน้านำเข้าแรงงานผิดกฎหมาย

ใต้ภูเขาน้ำแข็งของคลัสเตอร์คนงานก่อสร้าง ส่วนหนึ่งมาจากความพ่ายแพ้อย่างหมดรูปในมาตรการการจัดหาวัคซีนของรัฐบาล แต่อีกสาเหตุที่ไม่สามารถละออกไปได้คือ แรงงานข้ามชาติในไทยอีกหลายคนที่ไม่สามารถเข้าถึงการตรวจ และรักษาโควิด-19 ในไทยได้ และตามข้อมูลกรมแผนที่ทหาร แสดงให้เห็นว่าไทยมีแรงงานข้ามชาติเยอะแค่ไหน 

การเข้าไม่ถึงการตรวจและรักษา มีด้วยกันหลากหลายที่มา ตั้งแต่การหลุดออกจากระบบของแรงงานข้ามชาติด้วยกฎหมาย เช่น กรณีนายจ้างบางคนเลิกจ้างลูกจ้าง และไม่ยอมไปทำเรื่องเปลี่ยนนายจ้างใหม่ให้ หรือกรณีนายหน้านำเข้าแรงงานข้ามชาติโดยไม่ผ่านระบบ MOU หรือใช้วิธีนอกกฎหมายนำเข้ามา เมื่อเข้ามาแล้ว ก็จะไม่มีข้อมูลในระบบ และรัฐไทยก็ไม่สามารถตามตัวได้ ขณะเดียวกัน การอยู่อย่างผิดกฎหมายก็อาจทำให้แรงงานข้ามชาติที่ติดเชื้อโควิด-19 ไม่ว่าจะรู้ตัวหรือไม่รู้ตัว ก็ไม่มีการเข้าไปรักษา-ตรวจ เพราะว่าตนเอง ไม่ได้อยู่ในระบบประกันสุขภาพ และอื่น ๆ ที่จะมาช่วยซัปพอร์ตค่าใช้จ่ายตรงนี้ อีกส่วนอาจจะเรื่องความกลัวถูกจับกุม แต่ท้ายที่สุดก็จะนำมาสู่การแพร่ระบาดในวงกว้างของเชื้อไวรัสโควิด-19

พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล
 

หัวหน้าพรรคก้าวไกล เล็งเห็นปัญหานี้เช่นเดียวกัน พร้อมสำทับว่าการนำเข้าแรงงานผิดกฎหมายนั้น รัฐบาลทราบดีว่าต้องทำยังไง เรื่องนี้มีการคุยกันหลายรอบ แต่คำถามสำคัญที่ต้องถามมากกว่าคือ “เมื่อไหร่จะทำ” 

"สิ่งที่สำคัญคือทำเมื่อไหร่ ไม่ใช่ทำอะไร ตอนนี้รัฐบาลต้องกล้าชนกับอำนาจมืดที่หากินกับผลประโยชน์ของแรงงานข้ามชาติ ถ้าจะทำจริงๆ และกล้าชนกับพวกพ้องของตัวเอง หรือผู้มีอิทธิพลในประเทศ ถ้ารัฐบาลเจ๋งจริง และทำจริง สามารถที่จะแก้ไขปัญหาได้ทั้งหมด 

"ถ้าหากเราทำไม่ดี ก็จะทำให้ระบบสาธารณสุขเราพัง เศรษฐกิจเราต้องพัง นอกจากนี้ ใน 110 คลัสเตอร์ เป็นเรื่องของการจัดการแรงงานข้ามชาติทั้งนั้น ถ้าคุณจะดูตัวหารของมันในแง่ของเศรษฐกิจ ก็อย่างที่บอกว่า แรงงานประมง ตลาด โรงงานพวกนี้ แรงงานในไทยไม่เพียงพอ ต้องใช้แรงงานนอกประเทศ 

“ประเด็นต่อมา คือ เราต้องคิดถึงเกี่ยวกับความรับผิดชอบของภาคเอกชน เพราะว่าเอาราคาถูกเข้าว่า ก็หมายความว่าเอาแบบที่ไม่ต้องถูกกฎหมาย ไม่ต้องผ่านการกักตัว ไม่ต้อง 14 วัน ทำงานได้เลย ดูแลเขาเหมือนไม่ใช่คน ทำยังไงก็ได้ให้ต้นทุนให้ถูกที่สุด ตรงนี้ถ้าเกิดรัฐบาลไม่ไปบังคับ ระบบทุนนิยมก็ต้องการที่จะเพิ่มกำไรให้ได้มากที่สุด (maximize profit) และก็ลดต้นทุนให้ถูกลงที่สุด (minimize cost) แต่ในระยะยาว ทางเศรษฐกิจ และเรื่องสิทธิมนุษยชนในประเทศไทยก็จะพังทลายลง คิดว่าพูดกับใครมันน่าทำทั้งนั้น แต่คำถามก็คือทำไมยังไม่ทำ มันได้หัวละกี่เปอร์เซ็นต์ๆ ตรงนี้ และเอาเงินมาใช้ทำอะไร นั่นแหละคือประเด็นสำคัญของเรื่องนี้” พิธา ทิ้งท้ายถึงประเด็นนี้ 

สลายอคติต่อแรงงานข้ามชาติ-ปฏิรูปอย่างจริงจัง 

“อันนี้มันต้องเปลี่ยนความคิด (Mindset) ว่า แรงงานข้ามชาติก็คือแรงงาน แรงงานคนไทยก็คือแรงงาน แรงงานข้ามชาติก็คือแรงงาน เขาเป็นฟันเฟืองในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ และก็สังคมของประเทศเรา เราดูแลเขาเท่าไหร่ ก็เท่ากับเราดูแลทั้งประเทศเท่านั้น เพราะเขาก็คือเป็นส่วนหนึ่งที่สำคัญต่อสังคมต่อเศรษฐกิจ และต่อระบบสาธารณสุข เพราะฉะนั้น เรื่องปฏิรูปแรงงานข้ามชาติที่เป็นเหมือนกับการ Lip service (ผู้สื่อข่าว - สักแต่พูด) พูดมาหลายรอบ มันก็ต้องเริ่มที่จะทำกันโดยจริงๆ จังๆ เริ่มซะทีหนึ่ง เริ่มตั้งแต่ก่อนที่เขาจะเข้ามาในประเทศ ตอนที่เขาอยู่ในประเทศ และตอนที่เขากลับประเทศไป 

"ก่อนที่เขาจะเข้ามาประเทศก็ต้องมีการลงทะเบียน การเสียค่าใช้จ่ายที่มันเหมาะสม ดูแลเขาอย่างเป็นมนุษย์คนหนึ่ง ไม่ได้เอาเปรียบเขา เขาก็จะต้องมีมาตรฐานการใช้ชีวิตขั้นพื้นฐาน (Basic minimum living standard) ที่ไม่ใช่แย่จนเกินไป หาสมดุลให้เจอระหว่างเรื่องของเศรษฐกิจและเรื่องของสิทธิมนุษยชน เพราะว่าถ้าปล่อยไป จนต่างชาติมองเข้ามาแล้ว รู้สึกว่าประเทศไทยไม่ได้คำนึงถึงเรื่องสิทธิแรงงาน (worker rights) หรือเรื่องเกี่ยวกับคุณภาพชีวิต (living condition) ก็จะทำให้ไทยถูกกดดันจากนานาชาติตามมา กลายเป็น ‘การขว้างงูไม่พ้นคอ’ อย่างที่ไทยเคยถูกกดดันเรื่องอุตสาหกรรมประมง" หัวหน้าพรรคฝ่ายค้าน ระบุ 

ท้ายสุด หัวหน้าพรรคก้าวไกล ระบุด้วยว่า ทางพรรคฯ มีการมอบหมายให้ สุเทพ อู่อ้น ประธานกรรมาธิการแรงงาน ซึ่งเป็น ส.ส.จากปีกแรงงานก้าวไกล รับไปศึกษาทั้งกฎหมายการจัดการแรงงานข้ามชาติของไทยเทียบกับต่างประเทศ เพื่อหาว่ามีตรงไหนที่ต้องพัฒนาหรือปรับปรุงต่อไปในอนาคต 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net