ปาฐกถาปรีดี (6) ผาสุก พงษ์ไพจิตร: ปฏิรูปภาษี สร้างระบบบำนาญแห่งชาติ

ท่ามกลางวิกฤตโควิด-19 กลุ่มผู้มั่งมีระดับบนยังคงมั่งคั่งขึ้น แต่เสียภาษีไม่เต็มเม็ดเต็มหน่วย ผาสุกเสนอการปฏิรูปภาษี 6 ประการ รวมการลดงบด้านความมั่นคง นำเงินจากเหล่ามหาเศรษฐีสร้างระบบบำนาญแห่งชาติและฟื้นฟูเศรษฐกิจ

วันที่ 24 มิถุนายน 2564 ที่ผ่านมา สถาบันปรีดี พนมยงค์ ได้จัดงานเสวนาปรีดี ทอล์ค ครั้งที่ 11 ภายใต้หัวข้อใหญ่ว่า ‘89 ปีแห่งการอภิวัฒน์สยาม สวัสดิการและบทบาทของรัฐในการสร้างความเป็นธรรมทางเศรษฐกิจแก่ประชาชน’ โดยมีประเด็นหลักว่าด้วยรัฐสวัสดิการ

‘ประชาไท’ ได้นำเสนอเนื้อหาการบรรยายของวิทยากรแต่ละคนอย่างต่อเนื่อง โดยในตอนนี้เป็นการบรรยายของผาสุก พงษ์ไพจิตร จากคณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในหัวข้อ ‘โควิดเป็นโอกาสให้ปรับสู่สวัสดิการถ้วนหน้า: ความเป็นไปได้ของการสร้างรัฐสวัสดิการผ่านการจัดเก็บภาษีมรดก ภาษีที่ดิน และการสร้างระบบกองทุนบำนาญแห่งชาติ จากกรณีศึกษาประเทศต่างๆ’

ที่มาภาพ เพจ สถาบันปรีดี พนมยงค์ Pridi Banomyong Institute

ราษฎรทุกคนที่เกิดมาย่อมจะได้รับประกันจากรัฐบาลว่าตั้งแต่เกิดมาจนสิ้นชีพ

วันนี้ผาสุกอยากจะชวนพวกเรามาคุยกันว่า แทนที่จะเสียกำลังใจหรือรู้สึกว่าโลกตอนนี้ไม่มีทางเลือกอะไรเท่าไหร่เพราะปัญหาโควิด มามองว่าโควิดมันเป็นโอกาส ถ้าย้อนกลับไปสมัยที่โลกมีปัญหาเศรษฐกิจตกต่ำครั้งใหญ่เมื่อปี 1930 เราไม่เจอปัญหามากเท่ากับที่สหรัฐฯ หรือที่ยุโรป และสหรัฐอเมริกาเป็นประเทศที่รัฐบาลของเขาฉวยโอกาสของวิกฤตเศรษฐกิจครั้งใหญ่นั้น ทำให้อเมริกามีระบบประกันสังคมเกิดขึ้น มีระบบภาษีก้าวหน้าในเรื่องของภาษีทรัพย์สิน ภาษีที่ดิน ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา และภาษีนิติบุคคล แล้วก็มีโครงการมากมายในการใช้เงินภาครัฐ ยอมเป็นหนี้เพื่อจ้างประชาชนที่ตกงานเป็นจำนวนล้านๆ คนให้ได้มีงานทำ แม้กระทั่งเรื่องการไปช่วยปรับปรุงระบบอุทยานของเขา หลังจากนั้นอเมริกาได้ฟื้นตัวขึ้นมาเป็นประเทศมหาอำนาจของโลก

ผาสุกคิดว่าเราต้องมานั่งคิดวันนี้ว่าภาคประชาชนจะผลักดันให้รัฐบาลที่ไม่ค่อยได้ทำอะไรเท่าไหร่อย่างที่เราต้องการได้ทำสิ่งใหม่ๆ ให้เกิดขึ้นหลังจากที่เรามีวิกฤตนี้

แต่ก่อนอื่นต้องขอพูดถึงท่านปรีดีนิดหนึ่ง คืออาจารย์ปรีดีเป็นกำลังใจให้กับเราอย่างมากในฐานะที่ท่านเป็นนักการเมืองในระบบที่เราเรียกว่า Stateman ที่มีจิตวิญญาณ ความจริงใจ ที่จะทำทุกอย่างเพื่อประชาชนคนตัวเล็กๆ โดยไม่ได้นึกถึงตัวเอง หรือไม่ได้ให้ความสนใจกับโครงสร้างของอำนาจหรือความมั่งคั่งซึ่งนักการเมืองจำนวนมากเมื่อเข้าไปอยู่ในวงจรแล้วก็จะไปติดกับดักนั้น แต่เราไม่พบในกรณีของท่านปรีดี พนมยงค์ และดิฉันอยากจะนำสิ่งที่ท่านได้เขียนไว้เกือบร้อยปีที่แล้วมาอ่านให้ท่านฟัง เพราะเราจะไม่ค่อยได้รับฟังอันนี้

ท่านปรีดี พนมยงค์ได้เขียนไว้ เมื่อจิตวิญญาณของท่านอยู่ในสิ่งที่ท่านเขียนนี้เกี่ยวกับเรื่องของสวัสดิการ ท่านเขียนว่ารัฐบาลต้องบำรุงความสุขสมบูรณ์ของประชาชนในหลัก 3 ของหลัก 6 ประการ แล้วก็ยังเขียนไว้อีกว่าในเค้าโครงเศรษฐกิจ

‘ราษฎรทุกคนที่เกิดมาย่อมจะได้รับประกันจากรัฐบาลว่าตั้งแต่เกิดมาจนสิ้นชีพ ราษฎรจะได้มีอาหาร เครื่องนุ่งห่ม สถานที่อยู่ ปัจจัยแห่งการดำรงชีพ เช่นนี้แล้วราษฎรทุกคนจะนอนตาหลับ ไม่ต้องกังวลว่าเมื่อเจ็บป่วย หรือพิการ หรือชราแล้วต้องอดอยากหิวโหย หรือห่วงบุตรเมื่อตนสิ้นไป เพราะรัฐบาลเป็นผู้รับประกันอยู่แล้วย่อมวิเศษยิ่งกว่าการสะสมเงินทองเพราะเงินทองเป็นของไม่เที่ยงแท้’

นี่คือจิตวิญญาณและความตั้งใจของอาจารย์ปรีดี ซึ่งในระบบรัฐบาลสมัยใหม่ปัจจุบันก็คือระบบสวัสดิการที่รัฐบาลเป็นผู้มีบทบาทหลักในการจัดหาให้ประชาชนนั่นเอง ซึ่งถือว่าเป็นสิทธิ์ที่ต้องได้รับทัดเทียมกันทุกคนเพราะเคารพในศักดิ์ศรีความเป็นพลเมือง ไม่ทำให้คนใดคนหนึ่งรู้สึกด้อยค่าที่จะต้องคอยร้องขอหรือรอรับการบริจาคจากภาครัฐบาลหรือที่บางรัฐบาลบอกว่าอันนี้เราให้ของขวัญกับคุณ

จริงๆ แล้วมันไม่ใช่ เพราะรัฐบาลมีอำนาจในการจัดการระบบเศรษฐกิจ แล้วก็เก็บภาษีโดยขอคืนกลับมาจำนวนหนึ่งเพื่อที่จะนำมาจัดสรรในเรื่องของสาธารณูปโภค สวัสดิการ การป้องกันประเทศ และฟื้นฟูประเทศ อันนี้เป็นสิ่งที่รัฐบาลทำได้ แล้วเราก็จะพบว่ารัฐบาลที่ฉลาดจะต้องมีความสามารถในการบริหารจัดการระบบเศรษฐกิจและสามารถดึงเอาส่วนหนึ่งของรายได้ที่ได้มาใช้จ่ายย้อนกลับไปสู่ประชาชนทำให้เขาเจริญรุ่งเรืองและมีฐานะดี เพื่อที่จะมาจ่ายเงินภาษีให้คนรุ่นต่อไปได้เจริญต่อไป อันนี้เป็นหลักการ ดังนั้น ประเทศที่มีสวัสดิการที่ดีจึงล้วนใช้เงินจากภาษีทั้งสิ้น อย่าไปปฏิเสธหรือพูดถึงว่าในภาวะวิกฤตเราไม่ควรจะพูดถึงการขึ้นภาษี เดี๋ยวจะชี้ให้เห็นว่าประเทศต่างๆ ทั่วโลกเขาทำอะไรกันในเวลานี้

ที่มาภาพ เพจ สถาบันปรีดี พนมยงค์ Pridi Banomyong Institute

บำนาญแห่งชาติ

วันนี้เราเผชิญวิกฤตโควิดเลวร้ายมาก แต่เรารู้ด้วยว่าวิกฤตนั้นมันมีอิทธิฤทธิ์บังคับให้สังคมเปลี่ยนแปลงได้ จึงเป็นโอกาสที่จะทำสิ่งใหม่ๆ แล้วเราคงจะจำได้ว่าวิกฤตต้มยำกุ้งมันเลวร้ายยังไง แต่จากวิกฤตต้มยำกุ้งเราได้อะไร เราได้ระบบสุขภาพถ้วนหน้าซึ่งในสถานการณ์ปกติมันไม่มีทางจะเกิดขึ้นได้เลย วิกฤตขณะนั้นทำให้รัฐบาลได้รับแรงจากประชาชน แล้วเผอิญเราโชคดีที่มีรัฐบาลฉลาด ยอมตัดสินใจที่จะเอาระบบสวัสดิการถ้วนหน้าขึ้นมา ประชาชนเองก็สร้างกระบวนการผลักดันจนได้ผล ไม่ใช่ว่าประชาชนงอมืองอเท้า แล้วเวลานี้เราเห็นอะไร ระบบสวัสดิการถ้วนหน้าในเรื่องสุขภาพของประเทศไทยมีชื่อเสียงเป็นอย่างมาก

วิกฤตโควิด-9 ก็เช่นกัน ประชาชนจะได้ประโยชน์อะไรใกล้เคียงกับหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ผาสุกคิดว่าควรจะเป็นระบบบำนาญแห่งชาติซึ่งควรจะเริ่มจากประมาณเดือนละ 3,000 บาท ตามระดับรายได้เส้นความยากจนเป็นพื้นฐาน อันนี้เป็นสิ่งที่ประชาชนจำนวนหนึ่งได้สร้างกระบวนการขึ้นมาเพื่อเรียกร้องตั้งแต่ก่อนการเลือกตั้งและหลังการเลือกตั้ง

ทำไมต้องเป็นบำนาญแห่งชาติ เพราะว่าเราแก่ก่อนรวย แล้วผู้สูงอายุเป็นกลุ่มเสี่ยงสูงอันดับต้นๆ ที่ทำให้ครอบครัวเครียด เป็นกังวล มันจึงเป็นเรื่องใหญ่สำหรับครอบครัวทุกคนเพราะมันสร้างความไม่มั่นคง แล้วบำนาญต้องเป็นสิ่งที่มาจากภาษี

บทเรียนจากต่างประเทศ

ในเรื่องภาษีเกิดอะไรขึ้นในโลก วิกฤตโควิดทำให้หลายประเทศคิดว่าจะต้องปรับระบบภาษีและระบบการใช้จ่ายภาครัฐทั้งหมดเพราะมันไม่มีทางอื่นที่จะหาเงินพอที่จะใช้แก้ปัญหาและทุเลาความทุกข์ยากของประชาชน แน่นอนว่าส่วนหนึ่งกู้มาได้ แต่ประเทศเล็กๆ อย่างเราความสามารถที่จะกู้มีน้อยกว่าประเทศที่มีเครดิตดีกว่าเรา ดังนั้นที่เราจะไปกู้เงินมาเป็นเรื่องที่ต้องระมัดระวัง ถึงกระนั้นก็ตาม ขณะนี้เพดานเงินกู้ของเรายังไม่สูงมากนักถ้ามีการนำเงินมาใช้อย่างมีประสิทธิภาพมากกว่าที่เป็นอยู่ปัจจุบัน เดี๋ยวเราจะดูว่าจะใช้ให้มีประสิทธิภาพยังไง

สิ่งที่เราเห็นคือประธานาธิบดีไบเดนของสหรัฐฯ เสนอให้เพิ่มอัตราภาษีในขั้นรายได้สูง ทั้งภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาและภาษีเงินได้นิติบุคคล เพื่อที่จะเอามาใช้จ่ายในการฟื้นฟูประเทศและสร้างระบบสวัสดิการขึ้นมาใหม่ในสหรัฐ ซึ่งข้อเสนอเช่นนี้จะเป็นไปไม่ได้เลยในบริบทของอเมริกาถ้าไม่มีวิกฤตโควิด เพราะอย่างที่เรารู้กัน ผู้มั่งมีในสหรัฐฯ ล้านตั้งบริษัทล็อบบี้เพื่อไม่ให้รัฐบาลเพิ่มภาษี แล้วก็มีลูกเล่นต่างๆ ที่จะทำให้เขาไม่ต้องเสียภาษี

และเราก็เห็น G7 กับ OECD หรือองค์การเพื่อความร่วมมือและการพัฒนาทางเศรษฐกิจเร่งเครื่องโครงการในระดับนานาชาติที่จะเก็บภาษีจากบริษัทข้ามชาติยักษ์ใหญ่ เวลานี้สิ่งที่เราผลิตไม่ได้ เราซื้อมาจากต่างประเทศจำพวกเครื่องจักรหรือดิจิตอลทั้งหลาย และบริษัทเหล่านี้มันไปตั้งบริษัทรับเงินจากเราอยู่ที่เกาะเคย์แมน ไอซ์แลนด์ ซึ่งเป็นสถานที่ที่เขาไม่ต้องเสียภาษี แล้วเราก็เก็บภาษีเขาไม่ได้ เราต้องไปร่วมมือกับ OECD และ G7 ด้วยเพื่อจะแก้ปัญหาเรื่องนี้

ที่ฮือฮากันมากก็คือนักข่าว ProPublica ได้แสดงข้อมูลว่ามหาเศรษฐีของอเมริกา 25 คนเสียภาษีแท้จริงที่คิดจากภาษีที่จ่ายเป็นร้อยละของความมั่งคั่งของเขาโดยเฉลี่ยเพียง 3.4 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น แล้วคุณคิดไหมว่าเมืองไทยเหมือนไหม เมืองไทยก็แบบนี้แหละ คนรวยท้อป 1 เปอร์เซ็นต์ 10 เปอร์เซ็นต์ของเราไม่ได้เสียภาษีเต็มเม็ดเต็มหน่วยเลย เพราะเรารู้ว่าเขามีวิธีที่จะหลีกเลี่ยงภาษีมากมาย

วิกฤตโควิดทำให้ทุกประเทศในโลกตระหนักว่า ในช่วง 30 ปีที่ผ่านมา ปัจเจกบุคคลและบริษัทมั่งคั่ง บริษัทใหญ่ได้ประโยชน์จากการสะสมทรัพย์สินความมั่งคั่งจากนโยบายเสรีนิยมใหม่ที่รัฐบาลทุกๆ แห่งต้องแข่งขันกันลดระบบภาษีด้วยการแผ่ขยายของ Ideology หรืออุดมการณ์เสรีนิยมใหม่ของสหรัฐฯ

ข้อเสนอปฏิรูปภาษี 6 ประการ

ในยุคโควิดคุณเคยดูตัวเลขไหมว่าเราทุกข์ยากกันอย่างไร แต่เศรษฐีเหล่านี้เก็งกำไรในหลักทรัพย์ ที่ดิน อัตราแลกเปลี่ยนอย่างมากมาย แล้วก็เอาเงินไปกองไว้ที่เกาะเคย์แมนหรือที่ไหนๆ แม้ไม่มีที่จะใช้จ่ายเงินเหล่านี้ ดังนั้น มันถึงเวลาแล้วที่รัฐบาลทุกประเทศจะใช้วิกฤตโควิดเป็นโอกาสที่จะปรับระบบภาษีทำให้มันก้าวหน้ามากขึ้น และถือโอกาสที่จะเพิ่มภาษีซึ่งได้ลดลงไปในช่วงสิบสิบห้าปี โดยเฉพาะในหกเจ็ดปีที่ผ่านมาภายใต้รัฐบาลปัจจุบันได้ลดภาษีลงไปอย่างมากมาย เป็นโอกาสปรับมันขึ้นมา แล้วเมื่อเศรษฐกิจฟื้นตัวเอาเงินเหล่านั้นมาใช้

ในกรณีของบ้านเรา ดิฉันจึงมีข้อเสนอให้พวกเราผลักดันให้รัฐบาลปรับระบบภาษีและการจัดสรรงบประมาณให้เป็นระบบที่เป็นธรรมและมีประสิทธิภาพมากขึ้นรัฐบาลต้องแสดงให้เห็นว่าเขาฉลาดพอพูดกันถึงเรื่อง Smart Government แต่ไม่ได้แสดงความ Smart แต่อย่างใด

ข้อเสนอประการที่ 1 ในการจัดสรรงบประมาณประจำปีรัฐจะต้องจัดระบบความสำคัญก่อนหลังของสิ่งที่จะต้องใช้จ่ายเสียใหม่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งถึงเวลาแล้วที่จะลดงบความมั่นคง ทั้งด้านการทหารและที่นำมาใช้กับประชาชนเข้าคุก หรือเอาไปใช้ในเรื่องการโฆษณา ทำเรื่อง IO ซึ่งไม่มีความจำเป็นเลย

ประการที่ 2 เสนอให้ปรับภาษีเงินได้นิติบุคคลซึ่งสมัยก่อนเราอยู่ที่อัตราร้อยละ 30 แต่ได้มีการลดลงมาจนเหลือแค่ร้อยละ 20 จนเวลานี้ภาษีเงินได้นิติบุคคลของเราต่ำกว่ามาเลเซีย ทั้งที่ประเทศไทยมีศักยภาพที่ดีมากกว่ามาเลเซียที่จะดึงดูดนักลงทุนและการลงทุนต่างๆ แต่เรากลับไปปรับลดภาษีซึ่งเป็นเรื่องที่ไม่ควรจะทำ แล้วทำทำไม ทำเพราะว่าต้องการเอาใจกลุ่มนักธุรกิจขนาดใหญ่ซึ่งเป็นฐานของการเมือง ถ้าหากว่าเราปรับภาษีนี้เพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 25 เราสามารถเพิ่มรายได้รัฐได้อีกกว่า 1 แสนล้านบาท

ประการที่ 3 ปรับภาษีมูลค่าเพิ่มซึ่งขณะนี้ต่ำที่สุดเป็นอันดับ 2 ของโลก ขึ้นมาอีก 2 เปอร์เซ็นต์ตามแนวทางของประเทศเพื่อนบ้านคือสิงคโปร์ ประเทศอื่นๆ เขาคิดภาษีมูลค่าเพิ่ม 24 ถึง 25 เปอร์เซ็นต์ ของเราแค่ 7 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น ปรับขึ้นมาอีก 9 เปอร์เซ็นต์ก็จะไม่มีปัญหามากนัก มันขึ้นมาน้อย แล้วเราก็ต้องประหยัดในเรื่องการใช้จ่ายด้วย แต่จะมีรายได้เพิ่มขึ้นอีก 2 แสนล้านบาท

ประการที่ 4 เก็บภาษีเงินได้จากทุนในการซื้อขายหลักทรัพย์ซึ่งทุกประเทศมี แต่เราไม่มี ทำไมเราไม่มี ก็เพราะเอาใจพวกนักลงทุน แต่ว่ากำหนดระดับเงินได้ขั้นต้นเพื่อจะได้ช่วยคนที่เป็นนักลงทุนรายเล็ก

ประกันที่ 5 ยกเลิกสิทธิพิเศษ ค่าลดหย่อนต่างๆ ด้านภาษีที่เคยให้แก่ผู้มั่งมีและบริษัทขนาดใหญ่ทั้งในและต่างประเทศ อันนี้เป็นเรื่องที่ควรจะทำมานานแล้ว แต่ยังไม่มีการผลักดันอย่างเพียงพอ

ประการที่ 6 ปรับลดมูลค่ามรดกสุทธิซึ่งขณะนี้ต้องเกิน 100 ล้านบาทถึงจะเสียภาษีมรดกมันเป็นมูลค่าที่สูงเกินไป และต้องปรับลดมูลค่าที่ดินและสิ่งปลูกสร้างที่ต้องเสียภาษีที่ระดับ 50 ล้านซึ่งก็สูงเกินไปอีกเหมือนกัน น่าจะลดลงมาเหลือประมาณสัก 5 ล้าน ภาษีมรดกน่าจะลดลงมาอย่างมากก็เหลือ 20 ล้าน อันนี้ก็จะสมเหตุสมผลมากขึ้น

ด้วยการปรับปรุงต่างๆ เหล่านี้การที่เราจะมีบำนาญแห่งชาติเพียงเดือนละ 3,000 บาทสำหรับประชากรสูงอายุ มันเป็นไปได้ และถ้าเราทำทุกอย่าง เราจะมีเงินเหลืออีกเพื่อจะเอาไปใช้ในการทำนุบำรุงฟื้นฟูระบบเศรษฐกิจ

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท