สถานการณ์แรงงานประจำสัปดาห์ 25 มิ.ย.-1 ก.ค. 2564

สมาพันธ์ผู้ประกอบการธุรกิจกลางคืนฯ พร้อมศิลปิน บุกยื่น 8 ข้อถึงสภา เรียกร้องช่วยคนกลางคืน

1 ก.ค. 2564 ที่รัฐสภา สมาพันธ์ผู้ประกอบอาชีพธุรกิจกลางคืน และธุรกิจบันเทิงแห่งประเทศไทย นำโดย นายนนทเดช บูรณะสิทธิพร ตัวแทนชมรมผู้ประกอบการสถานบันเทิง ผับ บาร์ และนายธัญญ์นิธิ ปภัสสุรีย์โชติ ตัวแทนชมรมคนดนตรีแห่งประเทศไทย พร้อมด้วยศิลปินนักร้องหลากหลายวง อาทิ Slot Machine, Tattoo colour, Cocktail, Apartment Khunpa ยื่นจดหมายเปิดผนึกเพื่อทวงถาม และพิจารณาร่วมกันหาทางออก กรณีการขอมาตรการผ่อนปรน และมาตรการเยียวยา ให้กับกลุ่มผู้ประกอบการอาชีพธุรกิจกลางคืน และธุรกิจบันเทิง ที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ต่อ ส.ส.พรรคร่วมฝ่ายค้าน และพรรคร่วมรัฐบาล

โดยนายธัญญ์นิธิกล่าวว่า จากประกาศของศูนย์บริหารสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด – 19) หรือ ศบค. ในการควบคุมการระบาดของโรคโควิด – 19 ส่งผลกระทบโดยตรงต่อผู้ประกอบการธุรกิจกลางคืน และธุรกิจบันเทิงทั้งหมด ซึ่งไม่ได้กระทบเพียงเจ้าของกิจการ แต่ยังส่งผลถึงพนักงาน ลูกจ้าง และกลุ่มนักดนตรีอิสระ ที่รับค่าจ้างแบบรายวัน ซึ่งที่ผ่านมายังมีผู้ได้รับผลกระทบที่ไม่สามารถเข้าถึงการเยียวยาจากภาครัฐได้ครบถ้วน ทางสมาพันธ์ผู้ประกอบอาชีพธุรกิจกลางคืนฯ จึงขอยืนยันในข้อเรียกร้อง ดังนี้ 1.ขอให้ยกเลิกคำสั่งปิดสถานบันเทิงแบบเหมารวม 2.ขอให้มีคำสั่งปลดล็อกให้ธุรกิจกลางคืน และธุรกิจบันเทิง ได้กลับมาเปิดบริการ และสามารถจัดกิจกรรมต่างๆ ได้ภายในวันที่ 1 สิงหาคมนี้ หรือกำหนดระยะเวลาที่ชัดเจนในการอนุญาตให้กลับมาประกอบกิจการ และอาชีพได้อีกครั้ง 3.ผ่อนปรนให้สามารถขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เพื่อบริโภคในร้านได้ 4.ผ่อนปรนให้มีการจัดมหรสพ โดยให้คงการปฏิบัติตามมาตรการคำสั่งของ ศบค. เพื่อรักษามาตรฐานการควบคุมโรค 5.พิจารณาจัดสรรวัคซีนให้ผู้ประกอบการ ผู้ให้บริการ และผู้มีส่วนเกี่ยวข้องกับสถานประกอบการธุรกิจกลางคืน และธุรกิจบันเทิงโดยเร็วที่สุด 6.ให้มีนโยบายที่ชัดเจนเรื่องการเยียวยา การพักชำระหนี้ และการกู้ยืมดอกเบี้ยต่ำ ต่อผู้เดือดร้อนตั้งแต่การออกคำสั่งครั้งแรก เมื่อวันที่ 18 มีนาคม 63 7.เปิดโอกาสให้ภาคเอกชน หรือประชาชนในกลุ่มภาคธุรกิจที่ได้รับความเดือดร้อน เข้าร่วมรับฟัง และเสนอแนะ ในกระบวนการออกมาตรการต่างๆ และ 8.เปิดช่องทางการสื่อสาร เพื่อรับฟังความคิดเห็น และความต้องการของประชาชนที่เดือดร้อน

ขณะที่ นายนนทเดชกล่าวว่า ที่ผ่านมาเราเป็นกลุ่มคนที่ถูกทอดทิ้งในการขอความช่วยเหลือจากทุกที่ แต่ทางสมาพันธ์ผู้ประกอบอาชีพธุรกิจกลางคืนฯ พยายามทุกวิถีทางเพื่อให้เราไม่ตายหมู่ กว่า 250 วัน ที่เราถูกให้ตกงานไม่มีรายได้ ไม่ได้รับการเยียวยา เราอยู่กับโควิด – 19 มานานมาก เราไม่อยากให้ใครฆ่าตัวตาย หรือทิ้งใครไว้ข้างหลังอีกแล้ว วันนี้เราพร้อมที่จะหารือ และหาทางออกร่วมกับผู้เกี่ยวข้องทุกฝ่ายเพื่อแก้ปัญหา

ด้าน นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ และหัวหน้าพรรคก้าวไกล (ก.ก.) กล่าวหลังรับหนังสือว่า ผู้ประกอบการธุรกิจกลางคืน และธุรกิจบันเทิง เป็นกลุ่มคนที่ได้รับความเดือดร้อนจากมาตรการควบคุมการแพร่ระบาดของโควิด – 19 ในทุกรอบ และเป็นอาชีพที่ค่อนข้างหนักกว่าคนอื่น เพราะถูกปิดก่อนแต่เปิดทีหลัง และการประกอบอาชีพอิสระบางครั้งไม่ได้อยู่ในระบบจึงเข้าไม่ถึงการเยียวยา ดังนั้น การที่เขากลั้นหายใจนานกว่าคนอื่น จึงเป็นสิ่งที่รัฐบาลควรให้ความสนใจ

ที่มา: มติชนออนไลน์, 1/7/2564

ก.แรงงาน เคาะมาตรการเยียวยา 4 กิจการ เน้นผู้ประกันตน ม.33

นายสุรชัย ชัยตระกูลทอง ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงแรงงาน เปิดเผยผ่านรายการ “เป็นเรื่องเป็นข่าว” เกี่ยวกับมาตรการเยียวยาจากผลกระทบโควิด-19 ระบุว่า ลูกจ้างที่อยู่ในระบบประกันสังคม เฉพาะผู้ประกันตน ม.33 ใน 4 กิจการ

ลูกจ้างที่อยู่ในระบบประกันสังคม ที่จะเยียวยา จะเยียวยาเฉพาะมาตรา 33 ทั้งกลุ่มก่อสร้าง , สถานบริการ , ร้านอาหาร , กลุ่มศิลปะ บันเทิงและสันทนาการ ซึ่งจะได้รับการดูแลตามประกาศกระทรวงแรงงาน เนื่องจากมีเหตุต้องปิดกิจการ โดยจะได้รับเงินชดเชย 50% ของฐานค่าจ้าง 15,000 บาท

เมื่อถามว่า เพราะเหตุใดผู้ประกันตนรูปแบบอื่น เช่น ม.39, ม.40 ไม่ได้รับการชดเชยนั้น นายสุรชัย ตอบว่า แม้จะถือเป็นผู้ประกันตนในระบบประกันสังคม แต่เป็นคนละรูปแบบ ซึ่งใน ม.33 จะมีนายจ้าง และการที่กระทรวงแรงงานเข้าไปดูแล เนื่องจากว่าเป็นองค์กรนิติบุคคลที่จะต้องปิดกิจการหรือหยุดงาน

ขณะที่ถ้าเป็น ม.39, ม.40 จะมุ่งเน้นไปเรื่องของประกันสุขภาพ รวมทั้งเป็นผู้ประกันตนเอง ไม่ได้มีเงินสมทบจากนายจ้างเหมือน ม.33 ซึ่งจะได้รับการเยียวยาอยู่ในกลุ่มที่เรียกว่าไม่มีลูกจ้าง ทำงานอิสระ ซึ่งปัจจุบันจะได้รับการช่วยเหลือเบื้องต้น 3,000 บาท ผ่านโครงการคนละครึ่ง ที่กระทรวงการคลังเป็นผู้ดูแล

ที่มา: PPTV, 30/6/2564

ธปท.เผยเศรษฐกิจไทยรับผลโควิดระลอก 3 ชัดขึ้น หวั่นยืดเยื้อ กระทบแรงงานสูญเสียทักษะ

นางสาวชญาวดี ชัยอนันต์ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายเศรษฐกิจมหภาค ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า เศรษฐกิจไทยในเดือนพฤษภาคมได้รับผลกระทบชัดเจนขึ้นจากการแพร่ระบาดระลอก 3 ของ COVID-19 ส่งผลให้เครื่องชี้การบริโภคลดลงต่อเนื่องจากเดือนก่อนในทุกหมวดการใช้จ่าย กิจกรรมทางเศรษฐกิจ รายได้ของภาคครัวเรือน และความเชื่อมั่นผู้บริโภคปรับลดลง แม้มาตรการภาครัฐจะช่วยพยุงกำลังซื้อภาคครัวเรือนได้บางส่วน ส่วนเครื่องชี้การลงทุนภาคเอกชนก็ลดลงต่อเนื่องจากเดือนก่อน ตามอุปสงค์ในประเทศและความเชื่อมั่นภาคธุรกิจที่ลดลงจากการแพร่ระบาดระลอก 3 ส่งผลให้การลงทุนทั้งหมวดเครื่องจักรและอุปกรณ์ และหมวดก่อสร้างปรับลดลง

ขณะที่ภาคการท่องเที่ยวยังไม่ฟื้นตัว เนื่องจากมาตรการจำกัดการเดินทางระหว่างประเทศยังมีอยู่ อย่างไรก็ดี การส่งออกสินค้าปรับดีขึ้นต่อเนื่องตามอุปสงค์ประเทศคู่ค้า โดยเฉพาะหมวดสินค้าเกษตร หมวดสินค้าที่มูลค่าเคลื่อนไหวตามราคาน้ำมันดิบในตลาดโลก และหมวดสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ ทั้งนี้ การส่งออกที่ฟื้นตัวช่วยพยุงให้การผลิตภาคอุตสาหกรรมทรงตัวจากเดือนก่อน ในช่วงที่อุปสงค์ในประเทศอ่อนแอ อย่างไรก็ดี เริ่มเห็นผลกระทบจากปัญหาการขาดแคลนตู้คอนเทนเนอร์และเซมิคอนดักเตอร์ต่อการผลิตและการส่งออกในบางสินค้า โดยเฉพาะอาหารแปรรูป และเครื่องใช้ไฟฟ้า

ด้านการใช้จ่ายภาครัฐมีบทบาทในการพยุงเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง โดยรายจ่ายประจำและรายจ่ายลงทุนขยายตัวได้เมื่อเทียบกับระยะเดียวกันปีก่อน

ด้านเสถียรภาพเศรษฐกิจ อัตราเงินเฟ้อทั่วไปปรับลดลงตามอัตราเงินเฟ้อหมวดพลังงานเป็นสำคัญ จากผลของมาตรการลดค่าไฟฟ้า เพื่อบรรเทาค่าครองชีพให้กับประชาชน ขณะที่อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานปรับเพิ่มขึ้นจากฐานที่ต่ำในระยะเดียวปีก่อนที่มีมาตรการลดค่าน้ำประปาของภาครัฐ ด้านตลาดแรงงานยังเปราะบางและได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดระลอก 3 โดยเฉพาะผู้ประกอบอาชีพอิสระ

สำหรับดุลบัญชีเดินสะพัดขาดดุลมากกว่าเดือนก่อนตามดุลบริการ รายได้ และเงินโอน แม้ดุลการค้าจะเกินดุลเพิ่มขึ้นตามมูลค่าการส่งออกสินค้าที่ปรับดีขึ้น ด้านอัตราแลกเปลี่ยนบาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ แข็งค่าขึ้นเล็กน้อย ตามเงินดอลลาร์สหรัฐฯ ที่อ่อนค่าลง อย่างไรก็ดี เงินบาทอ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับเงินสกุลคู่ค้าคู่แข่งส่วนใหญ่

ส่วนมาตรการกึ่งล็อกดาวน์ ในพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด 6 จังหวัด (สีแดงเข้ม) ได้แก่ กรุงเทพฯ นครปฐม นนทบุรี ปทุมธานี สมุทรปราการ และสมุทรสาคร ตั้งแต่วันที่ 28 มิถุนายน 2564 นั้น ยอมรับว่ามาตรการเหล่านี้มีผลต่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจ ซึ่ง ธปท.จะติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิดและประเมินผลกระทบต่อภาพรวมเศรษฐกิจอีกครั้ง

อย่างไรก็ดี ธปท. ยอมรับว่า กังวลสถานการณ์ COVID-19 ยืดเยื้อ เป็นปัจจัยกดดันสำคัญต่อการฟื้นตัวเศรษฐกิจ โดยเฉพาะอย่างยิ่งภาคแรงงาน มีอัตราการว่างงานนานกว่าที่คาด และอาจจะกลายเป็นแผลเป็นที่แก้ได้ยากขึ้นในอนาคต เนื่องจากแรงงานบางส่วนที่ไม่ได้ทำงานเป็นระยะเวลานานอาจจะสูญเสียทักษะไป เพราะฉะนั้น เมื่อเศรษฐกิจกลับมาฟื้นก็ต้องเร่งฟื้นฟูทักษะให้กับกลุ่มคนเหล่านี้ด้วย เพื่อเป็นฟันเฟืองสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ โดยเฉพาะอย่างยิ่งภาคการท่องเที่ยว

ที่มา: สำนักข่าวไทย, 30/6/2564

เผยตั้งแต่ปี 2563 จนถึงไตรมาส 1/2564 มีแรงงานที่ต้องออกจากระบบประกันสังคม ม.33 แล้วกว่า 1 ล้านคน

นางเบอร์กิท ฮานสล์ ผู้จัดการธนาคารโลกประจำประเทศไทย (เวิลด์แบงก์) กล่าวในงานสัมมนา เปิดตัวรายงาน “ภาวะประชากรสูงวัยและตลาดแรงงานในประเทศไทย” ว่าสถานการณ์การระบาดของโควิด-19 ถือเป็นปัจจัยสำคัญและเป็นประเด็นท้าทายต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจและสังคม รวมถึงตลาดแรงงาน ซึ่งรัฐบาลจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องมีกลไกในการคุ้มครองทางสังคม ตลาดแรงงาน รวมถึงประชากรสูงวัยที่มีสัดส่วนเพิ่มสูงขึ้นให้สามารถรับมือและเข้าใจกับสถานการณ์ที่มีการเปลี่ยนแปลงดังกล่าวได้

“ภาวะประชากรสูงวัยในไทย ที่จะเป็นส่วนสำคัญในการทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของตลาดแรงงานในไทย และอาจส่งผลกระทบต่อการเติบโตของเศรษฐกิจในอนาคตได้ ดังนั้นการมีนโยบายที่ดี จึงมีส่วนสำคัญในการสนับสนุนตลาดแรงงานอย่างมาก และทำให้ตลาดแรงงานไทยมีความยั่งยืน ประชากรมีความเป็นอยู่ที่ดี” นางเบอร์กิท กล่าว

นางสาวฟรานเชสก้า ลามานน่า นักเศรษฐศาสตร์อาวุโส ธนาคารโลก กล่าวว่า การเปลี่ยนแปลงด้านโครงสร้างเศรษฐกิจ รวมถึงการระบาดของโควิด-19 เป็นตัวเร่งและเป็นแรงกดดันสำหรับตลาดแรงงานในไทย โดยงานหลายอย่างถูกแทนด้วยระบบอัตโนมัติ นั่นหมายความว่าแรงงานจะต้องมีการเพิ่มทักษะให้มากขึ้น ตรงนี้เป็นประเด็นสำคัญและเป็นโอกาสที่ดีของตลาดแรงงานไทยที่จะเร่งดำเนินการเพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลง และการเปลี่ยนผ่านที่จะเกิดขึ้น แต่ปัจจัยเสี่ยงเรื่องภาวะประชากรสูงวัยในตลาดแรงงานไทยที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว เป็นประเด็นที่ส่งผลกระทบต่อตลาดแรงงานไทย และจะมีผลสูงมากในเรื่องการจัดการปัญหาหนี้ครัวเรือน

ทั้งนี้ จากข้อมูลพบว่า อัตรากำลังของวัยทำงานในตลาดแรงงานไทยลดลงอย่างรวดเร็ว โดยในภูมิภาคเอเชียตะวันออก ในส่วนของไทยมีอัตรากำลังวัยทำงานหดตัวเป็นอันดับ 3 รองจากเกาหลีใต้ และญี่ปุ่น ขณะที่ประชากรสูงวัยที่มีอายุมากกว่า 65 ปี กลับมีสัดส่วนเพิ่มขึ้น โดยในช่วง 20 ปีที่ผ่านมา เพิ่มขึ้นจาก 7% เป็น 14% โดยที่สหรัฐฯ ใช้เวลาถึง 69 ปีสำหรับการเปลี่ยนแปลงของประชากรในลักษณะดังกล่าว

นอกจากนี้ไทยยังมีแรงงานนอกระบบมากกว่า 50% ของกำลังแรงงานทั้งหมด สะท้อนว่าแรงงานส่วนใหญ่ไม่ได้รับการคุ้มครองทางสังคม และการดูแลด้านสุขภาพโดยเฉพาะในช่วงการระบาดของโควิด-19 ขณะที่ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมาไทยยังประสบปัญหาความยากจนอยู่ แต่ปัจจุบันอัตราความยากจนค่อย ๆ ดีขึ้น แต่หากไม่มีนโยบายเรื่องการจัดการแรงงานที่ดีพอ งานที่มีอยู่อาจจะไม่เพียงพอทำให้ประชากรอยู่ได้อย่างเพียงพอ

นายแฮรี่ โมรอซ นักเศรษฐศาสตร์ ธนาคารโลก กล่าวว่า ในช่วงไตรมาส 2/2563 ตลาดแรงงานไทยได้รับผลกระทบอย่างมากจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 จนทำให้ตำแหน่งงาน 7 แสนตำแหน่งหายไปจากตลาดแรงงาน รวมถึงชั่วโมงการทำงานก็ลดลงด้วย ส่งผลกระทบต่ออัตราค่าแรงงานในระบบ ก่อนจะฟื้นตัวขึ้นในช่วงครึ่งหลังของปีที่ผ่านมา แต่เมื่อมีการระบาดของโควิด-19 ระลอกที่ 2 ต่อเนื่องมาถึงปัจจุบัน ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในตลาดแรงงานอีกครั้ง สะท้อนจากในไตรมาส 1/2564 พบว่า ชั่วโมงการทำงานมีการปรับตัวลดลงกว่าปีก่อน ตรงนี้บ่งชี้ว่าตลาดแรงงานไทยไม่มีการฟื้นตัว หรือฟื้นตัวได้ช้า แรงงานในภาคอุตสาหกรรมหายไปจำนวนมาก ขณะที่แรงงานนอกระบบเพิ่มขึ้นมากกว่าครึ่งหนึ่งของแรงงานทั้งหมด

“ผลกระทบจากประชากรสูงวัยเกี่ยวเนื่องกับการพัฒนาเศรษฐกิจอย่างชัดเจน การหดตัวของวัยทำงานอย่างมากในไทยจะหลายเป็นปัญหาในระยะยาว หากรัฐบาลหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องไม่มีนโยบายที่ชัดเจน อาจทำให้ตั้งแต่ปี 2563 – 2583 จะมีแรงงานในวันทำงานลดลงอย่างน้อย 4 ล้านคน ขณะที่ประชากรสูงวัยที่ปรับเพิ่มขึ้น จะทำให้การเติบโตทางเศรษฐกิจลดลงด้วย” นายแฮรี่ กล่าว

นางนภสร ทุ่งสุกใส ที่ปรึกษาวิชาการแรงงาน กระทรวงแรงงาน กล่าวว่า สถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ตั้งแต่ปี 2563 จนถึงไตรมาส 1/2564 มีแรงงานที่ต้องออกจากระบบประกันสังคม ตามมาตรา 33 แล้วกว่า 1 ล้านคน ขณะที่ก็มีแรงงานบางส่วนที่สามารถกลับเข้ามาในระบบประกันสังคม รวมถึงแรงงานที่ได้รับการจ้างงานใหม่รวมกว่า 7 แสนคน ส่วนที่เหลือกลายเป็นแรงงานนอกระบบ อาชีพอิสระ หรือไปอยู่ในภาคเกษตร เป็นต้น

สำหรับแนวทางการแก้ปัญหาการขาดรายได้ของแรงงานในระยะสั้นนั้น รัฐบาลได้มีนโยบายในการพยุงรายได้ การเติมเงินให้ผู้ประกันตน เสริมสภาพคล่องให้ผู้ประกอบการเพื่อพยุงการจ้างงานในระบบผ่านมาตรการต่าง ๆ รวมถึงการส่งเสริมให้แรงงานใหม่ได้มีโอกาสทำงาน ช่วยทำให้ตลาดแรงงานทยอยฟื้นตัวได้ดีขึ้น และสามารถพยุงการจ้างงานในระบบได้หลายหมื่นอัตรา

อย่างไรก็ดี กระทรวงแรงงานยังเตรียมเสนอที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เดินหน้ามาตรการระยะสั้นเพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการในระบบรายเล็กให้สามารถอยู่รอดได้ โดยการช่วยจ่ายค่าจ้างแรงงานแทนนายจ้าง ไม่เกิน 50% หรือไม่เกิน 6 แสนบาท สำหรับนายจ้างหรือสถานประกอบการขนาดเล็กที่มีแรงงานไม่เกิน 200 คน ซึ่งสะท้อนว่าในภาวะวิกฤติของโควิด-19 แรงงานที่ถูกกระทบ รัฐบาลโดยกระทรวงแรงงานพยายามดูแลให้มีการรักษาสภาพการจ้างงานในตลาดให้ยาวที่สุด ผ่อนคลายความตึงเครียดทางการเงินทั้งนายจ้างและแรงงานให้มากที่สุด

ที่มา: ไทยโพสต์, 29/6/2564

ครม.อนุมัติ 5 พันล้าน เยียวยาแรงงาน-ผู้ประกอบการได้รับผลกระทบจากข้อกำหนด ฉ.25

นายอนุชา บูรพชัยศรี โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบมาตรการบรรเทาผลกระทบต่อกลุ่มแรงงานและผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบจากข้อกำหนดควบคุมโควิด-19 ฉบับที่ 25 ทั้งแรงงานและผู้ประกอบการที่อยู่ในระบบประกันสังคมและนอกระบบ ในกิจการก่อสร้าง กิจการที่พักแรมและบริการด้านอาหาร กิจกรรมสาขาศิลปะ ความบันเทิงและนันทนาการ และกิจกรรมบริการด้านอื่น ๆ ในระยะเวลา 1 เดือน โดยใช้เงินจาก พ.ร.ก.กู้เงินฯ 1 ล้านล้านบาท ภายใต้กรอบวงเงิน 5,000 ล้านบาท

สำหรับรูปแบบการช่วยเหลือ กลุ่มแรก คือ แรงงานที่เป็นผู้ประกันตนตามมาตรา 33 สัญชาติไทย ซึ่งเป็นเงินช่วยเหลือเพิ่มเติม ในอัตรา 2,000 บาทต่อคน ซึ่งเป็นการให้ความช่วยเหลือเพิ่มเติมจากการให้ความช่วยเหลือผ่านระบบประกันสังคมที่ได้มีการให้ความช่วยเหลือแก่ลูกจ้างและนายจ้างตามกฎกระทรวงการได้รับประโยชน์ทดแทนในกรณีว่างงานเนื่องจากมีเหตุสุดวิสัยอันเกิดจากการระบาดของโรคติดต่ออันตรายตามกฎหมายว่าด้วยโรคติดต่อ พ.ศ. 2563 ในอัตรา 50% ของค่าจ้างรายวัน สูงสุดไม่เกิน 7,500 บาท ตลอดระยะเวลาที่มีคำสั่งปิดสถานที่ แต่ไม่เกิน 90 วัน

กลุ่มที่ 2 ผู้ประกอบการหรือนายจ้าง จะได้รับความช่วยเหลือตามจำนวนลูกจ้างสูงสุดไม่เกิน 200 คน ในอัตรา 3,000 บาทต่อคน และกลุ่มที่ 3 ผู้ประกอบการหรือนายจ้างที่ไม่ได้อยู่ในระบบประกันสังคม แยกเป็น 3 กรณี คือ กรณีที่เป็นผู้ประกอบการที่มีลูกจ้าง ให้ลงทะเบียนกับสำนักงานประกันสังคมภายในเดือนกรกฎาคม 2564 จะได้รับเงินช่วยเหลือตามจำนวนลูกจ้างสูงสุด ไม่เกิน 200 คน ในอัตรา 3,000 บาทต่อคน และลูกจ้างที่เป็นสัญชาติไทยจะได้รับความช่วยเหลือในอัตรา 2,000 บาทต่อคน

กรณีที่เป็นผู้ประกอบการที่ไม่มีลูกจ้าง ให้ลงทะเบียนผ่านแอปพลิเคชัน "ถุงเงิน" ผ่านโครงการคนละครึ่ง ภายในเดือนกรกฎาคม เช่นกัน โดยผู้ประกอบการจะได้รับความช่วยเหลือในอัตรา 3,000 บาท และกรณีที่เป็นผู้ประกอบการร้านอาหาร เครื่องดื่ม ของโครงการคนละครึ่งที่ไม่ได้ขึ้นทะเบียนกับสำนักงานประกันสังคม เนื่องจากไม่มีลูกจ้าง จะได้รับการช่วยเหลือในอัตรา 3,000 บาท สำหรับผู้ประกอบการที่อยู่ในโครงการคนละครึ่งและมีลูกจ้างแต่ยัง ไม่อยู่ในระบบประกันสังคม ให้ลงทะเบียนกับสำนักงานประกันสังคม ภายในเดือน ก.ค. 2564 นี้

ที่มา: ผู้จัดการออนไลน์, 29/6/2564

แผนฟื้นฟูกิจการการบินไทย ประกาศให้พนักงานลาหยุด 1 ปี โดยไม่จ่ายเงินเดือน ลดค่าใช้จ่ายองค์กร เริ่ม 1 ก.ค. 2564

วันที่ 29 มิถุนายน 2564 รายงานข่าวจากบริษัท การบินไทย จำกัด(มหาชน) แจ้งว่า เมื่อวันที่ 21 มิ.ย. 2564 ที่ผ่านมา นายสุวรรธนะ สีบุญเรือง ประธานเจ้าหน้าที่สายทรัพยากรบุคคล รักษาการแทนประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัทฯ ได้ออกประกาศบริษัท การบินไทย จำกัด(มหาชน) ที่ 025/2564 เรื่องโครงการให้พนักงานลาหยุดโดยไม่รับเงินเดือนค่าจ้าง (Code 8300) ระยะเวลาสูงสุดไม่เกิน 1 ปี โดยให้มีผลตั้งแต่วันที่ 1 ก.ค. 2564 -30 มิ.ย. 2565 ซึ่งเป็นไปตามมติที่ประชุมคณะผู้ทำแผนฟื้นฟูกิจการบริษัทฯ เมื่อวันที่ 9 มิ.ย. 2564

โครงการนี้เพื่อลดค่าใช้จ่ายด้านบุคลากรให้แก่บริษัท รวมทั้งให้พนักงานบางกลุ่มที่มีปัญหาด้านสุขภาพสามารถเข้ารับการรักษาและดูแลสุขภาพได้ โดยไม่เป็นภาระต่อตัวพนักงานและบริษัทฯ เพิ่มพูนความรู้ให้พนักงานและเกิดประโยชน์กับบริษัทฯ กรณีพนักงานลาไปศึกษาต่อ และให้พนักงานที่ต้องการลาติดตามคู่สมรส โดยพนักงานที่จะเข้าร่วมโครงการได้จะต้องเป็นพนักงานที่ผ่านการกลั่นกรองเข้าสู่โครงสร้างองค์กรปัจจุบันนับตั้งแต่วันที่ 1 พ.ค. 2564 และยังคงมีสภาพเป็นพนักงานของบริษัทฯ ณ วันที่พนักงานแจ้งความประสงค์จะเข้าร่วมโครงการ และเป็นพนักงานที่ปฏิบัติหน้าที่ในประเทศไทยเท่านั้น

โครงการลาหยุดโดยไม่รับเงินเดือนครั้งนี้ เป็นรูปแบบความสมัครใจร่วมกันทั้งสองฝ่ายระหว่างบริษัทฯ กับพนักงานที่เข้าร่วมโครงการ อย่างไรก็ตามทางบริษัทฯ สงวนสิทธิพิจารณาอนุมัติตามดุลพินิจบริษัทฯ แต่เพียงฝ่ายเดียว โดยคำนึงถึงความเหมาะสม และผลกระทบหรือความเสียหายที่อาจเกิดขึ้น ต่องาน เป็นสำคัญ โดยพนักงานจะเริ่มลาได้ก็ต่อเมื่อได้รับการอนุมัติเป็นลายลักษณ์อักษร และไม่สามารถถอนเรื่องคืนหรือยกเลิกได้ เว้นแต่ได้รับความยินยอมจากบริษัทฯ และบริษัทฯยัง มีสิทธิ โดยฝ่ายเดียวที่จะเรียกพนักงานให้กลับมาทำงานก่อนกำหนดระยะเวลาการลา โดยให้ถือว่าการลาในครั้งนั้นสิ้นสุดลงทันที หากพนักงานไม่กลับมาเข้าปฏิบัติงาน จะถือว่าพนักงานมีความผิดทางวินัย

รายงานข่าวแจ้งว่า บริษัทฯ จะนับระยะเวลาการลาทั้งหมด เป็นเวลาในการปฏิบัติงาน ในการคำนวณอายุการทำงาน เพื่อให้สิทธิตามกฎหมายของพนักงาน โดยในระหว่างที่ลา บริษัทฯ และพนักงานที่เป็นสมาชิกกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ จะไม่ส่งเงินสะสมและเงินสมทบเข้ากองทุนสำรองเลี้ยงชีพ ขณะที่พนักงานจะไม่ได้รับค่าจ้างและเงินใดๆ จากบริษัทฯ ตลอดระยะเวลาของการลา แต่ยังคงได้รับสวัสดิการและสิทธิประโยชน์จากบริษัท

สำหรับกรณีที่พนักงานลาติดต่อกันตั้งแต่ 3 เดือนขึ้นไป บริษัทฯ จะจ่ายเงินช่วยเหลือจำนวน 1,650 บาทต่อเดือนให้แก่พนักงาน (ก่อนหักภาษี) เพื่อช่วยเหลือพนักงานให้ยังมีการจ่ายเงินสมทบเข้ากองทุนประกันสังคมอยู่ เพื่อที่พนักงานจะได้คงสิทธิในการได้รับผลประโยชน์ทดแทนต่าง ๆ จากกองทุนประกันสังคมในระหว่างระยะเวลาการลานี้ เท่านั้น

นอกจากนี้ ตลอดระยะเวลาการลา ห้ามพนักงานดำเนินกิจการส่วนตัวหรือร่วมกิจการในห้างหุ้นส่วน ร้านค้าบริษัท องค์กร หรือบุคคลใด ๆ ซึ่งขัดต่อผลประโยชน์ หรืออาจก่อไห้เกิดความเสียหายแก่บริษัทฯ รวมทั้งไม่ดำรงตำแหน่งใด ๆ ในส่วนราชการหรือในทางการเมือง เว้นแต่ได้รับความยินยอม และต้องรักษาวินัยและปฏิบัติตามกฎระเบียบข้อบังคับของบริษัท ไม่กระทำการใด ๆ อันอาจนำมาซึ่งความเสื่อมเสียชื่อเสียงของบริษัทฯ

และห้ามพนักงานเข้ามายังสถานที่ทำการของบริษัทฯ โดยเมื่อสิ้นสุดการลา หรือบริษัทฯ เรียกพนักงานให้กลับมาทำงานให้กับบริษัทฯให้พนักงานรายงานตัวต่อต้นสังกัดโดยผู้บังคับบัญชาจะเป็นผู้พิจารณาประเมินผลการปฏิบัติงาน โดยอาจพิจารณาให้พนักงานไปปฏิบัติหน้าที่อื่นที่เหมาะสมต่อไป

ที่มา: ประชาชาติธุรกิจ, 29/6/2564

ธุรกิจกลางคืนยื่น 8 ข้อ ร้องรัฐช่วยเหลือผลกระทบโควิด

นายธนกร วังบุญคงชนะ เลขานุการรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ในฐานะโฆษกประจำศูนย์บริหารสถานการณ์เศรษฐกิจจากผลกระทบจากการระบาดของโรคติเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศบศ.) เป็นผู้แทนรับหนังสือร้องเรียนถึงนายกรัฐมนตรี จากสมาพันธ์ผู้ประกอบอาชีพธุรกิจกลางคืนและธุรกิจบันเทิง นำโดยนายนนทเดช บูรณะสิทธิพร จาก The Rock Pub, นายธัญญ์นิธิ ปภัสสุรีย์โชติ จาก The Concert

นายวรเมธ พัฒนพฤกษ์ รองหัวหน้าชมรมผู้ประกอบอาชีพอิสระสายคอนเสิร์ตและอีเว้นท์ และนายพัชร เกิดศิริ จาก iHearBand ด้วยการประสานความร่วมมือกับกลุ่มชอบทำ โดยนายพิษณุพงษ์ ถิรโชติภูวนันท์, นายชัยรัตน์ มหาคุณ และนายพุฒิพงศ์ พจน์จำเนียร ที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ COVID-19 ในระลอกที่ 3 ซึ่งทำให้ผู้ประกอบอาชีพธุรกิจกลางคืนและธุรกิจบันเทิงต้องปิดสถานบันเทิงหรือสถานที่เสี่ยงต่อการแพร่โรค ส่งผลโดยตรงต่อผู้ประกอบอาชีพธุรกิจกลางคืน

รวมถึงลูกจ้างทุกประเภท ทั้งที่เข้าระบบประกันสังคม และกลุ่มอาชีพอิสระที่รับค่าจ้างแบบรายวัน เช่น นักดนตรี, พนักงานเสิร์ฟ, บาร์เทนเดอร์, พนักงานเชียร์สินค้า, พนักงานโบกรถ, พ่อค้า แม่ค้า ที่ขายของในตลาดกลางคืน ร้านอาหารข้างทางต่าง ๆ เป็นต้น

นายธนกร กล่าวว่า สมาพันธ์ผู้ประกอบอาชีพธุรกิจกลางคืนและธุรกิจบันเทิง ได้เสนอแนวทางการช่วยเหลือกลุ่มธุรกิจกลางคืนและธุรกิจบันเทิงที่ได้รับผลกระทบจากโรคระบาด COVID-19 ดังนี้

1.ยกเลิกคำสั่งปิดสถานบันเทิงแบบเหมารวม 2.ขอให้มีคำสั่งปลดล็อกเพื่อให้ธุรกิจกลางคืนและธุรกิจบันเทิงได้กลับมาเปิดบริการและสามารถจัดกิจกรรมต่าง ๆ ได้ภายในวันที่ 1 ก.ค.2564 โดยให้คงการปฏิบัติตามมาตรการคำสั่งของ ศบค.เพื่อรักษามาตรฐานการควบคุมโรค 3.ผ่อนปรนให้สามารถขายแอลกอฮอลล์เพื่อบริโภคในร้านค้าได้

4.ผ่อนปรนให้มีการจัดงานมหรสพ โดยให้คงการปฏิบัติตามมาตรการคำสั่งของ ศบค.เพื่อรักษามาตรฐานการควบคุมโรค 5.พิจารณาการจัดสรรฉีดวัคซีนให้กับผู้ประกอบการ ผู้ให้บริการ หรือผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับสถานประกอบการธุรกิจกลางคืนและธุรกิจบันเทิงโดยเร็วที่สุด 6.พิจารณาให้มีนโยบายที่ชัดเจนเรื่องการเยียวยา การพักชำระหนี้ หรือการกู้ยืมดอกเบี้ยต่ำ

7.เปิดโอกาสให้ภาคเอกชน หรือประชาชนในกลุ่มภาคธุรกิจที่ได้รับความเดือดร้อน เข้าร่วมรับฟัง, เสนอแนะ, พูดคุย ในกระบวนการออกมาตรการและนโยบายต่าง ๆ และ 8.เปิดช่องทางสื่อสารเพื่อรับฟังความคิดเห็นและความต้องการของประชาชนที่เดือดร้อน

นายธนกร กล่าวอีกว่า ขณะนี้รัฐบาลมีการหารือถึงมาตรการพิเศษช่วยเหลือประชาชนและผู้ประกอบการที่ได้รับประทบจากการปิดแคมป์คนงาน และธุรกิจร้านอาหารที่ถูกสั่งห้ามกินในร้านแล้ว

ในส่วนของธุรกิจกลางคืนและบันเทิง วันนี้ตนเองเป็นผู้แทนในนามของรัฐบาลมารับหนังสือร้องทุกข์จากสมาพันธ์ผู้ประกอบอาชีพธุรกิจกลางคืนและธุรกิจบันเทิงแห่งประเทศไทย จะนำเข้าหารือใน ศบค.ผ่านไปยังนายกรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาต่อไป

ทั้งนี้ มั่นใจว่ารัฐบาลจะพิจารณามาตรการช่วยเหลือและเยียวยาให้กับผู้ประกอบอาชีพธุรกิจกลางคืนและธุรกิจบันเทิงที่ได้รับผลกระทบของโรคระบาด COVID-19 อย่างแน่นอน

ที่มา: Thai PBS, 29/6/2564

กทม. ติดตามมาตรการห้ามเคลื่อนย้ายแรงงานในแคมป์ ยับยั้งการแพร่ระบาดโควิด-19 ในวงกว้าง

ห้องประชุมประชาราษฎร์บำเพ็ญ ชั้น 4 สำนักงานเขตห้วยขวาง นายชาตรี วัฒนเขจร รองปลัดกรุงเทพมหานคร ตรวจเยี่ยมศูนย์อำนวยการร่วมประสานงานการควบคุมและป้องกันการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 กลุ่มกรุงเทพกลาง เพื่อดำเนินการกำกับ ควบคุม และติดตามมาตรการป้องกันและควบคุมการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ในแคมป์ก่อสร้างและแคมป์ที่พักคนงานก่อสร้างในพื้นที่กรุงเทพมหานครให้เป็นไปด้วยความเรียบร้อยและมีประสิทธิภาพ โดยเริ่มดำเนินการตั้งแต่วันที่ 26 มิ.ย. 64 โดยมี นายอนุชิต พิพิธกุล ผู้อำนวยการเขตห้วยขวาง พร้อมคณะผู้บริหารเขต ร่วมให้ข้อมูลและรับมอบนโยบาย

สืบเนื่องจากนายกรัฐมนตรีได้แถลงหลังจากการประชุมหารือร่วมกับคณะที่ปรึกษาด้านสาธารณสุขในศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 เมื่อวันที่ 25 มิ ย. 64 ให้ปิดแคมป์ก่อสร้างและแคมป์ที่พักคนงานก่อสร้างในพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑล รวมไปถึงพื้นที่ 4 จังหวัดชายแดนภาคใต้เป็นการชั่วคราวระยะเวลา 1 เดือน เพื่อระงับการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) และคำสั่งศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ที่ 6/2564 เรื่อง พื้นที่สถานการณ์ที่กำหนดเป็นพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด ตามข้อกำหนดออกตามความในมาตรา 9 แห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 มีเป้าหมายเพื่อแก้ไขและระงับยับยั้งสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ในกรุงเทพฯ ปริมณฑล และ 4 จังหวัดชายแดนภาคใต้ (นราธิวาส ปัตตานี ยะลา สงขลา) มีผลตั้งแต่ 28 มิ.ย. 64 เป็นต้นไป รวมทั้งประกาศกรุงเทพมหานคร เรื่อง สั่งปิดสถานที่เป็นการชั่วคราว (ฉบับที่ 34) มีผลตั้งแต่ 28 มิ.ย. 64

ทั้งนี้ ปลัดกรุงเทพมหานคร ได้สั่งการให้รองปลัดกรุงเทพมหานคร ดำเนินการกำกับ ควบคุม และติดตามการปิดแคมป์ก่อสร้างและแคมป์ที่พักคนงานก่อสร้างในพื้นที่เขตที่รับผิดชอบ โดยมอบหมายประธานกลุ่มเขต ทั้ง 6 กลุ่มเขต จัดตั้งศูนย์อำนวยการร่วมประสานงานการควบคุมและป้องกันการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 เพื่อบูรณาการความร่วมมือระหว่างกรุงเทพมหานคร หน่วยงานด้านความมั่นคง หน่วยงานด้านการแพทย์และสาธารณสุข และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ในการเข้าควบคุมและชะลอการระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ซึ่งพบระบาดเป็นกลุ่มก้อนกระจายในหลายพื้นที่ รวมทั้งสกัดกั้นการเคลื่อนย้ายเดินทางของกลุ่มเสี่ยง เพื่อไม่ให้เชื้อโรคแพร่เป็นวงกว้างสู่พื้นที่อื่น ๆ อย่างรวดเร็ว ซึ่งกรุงเทพมหานครได้มีมาตรการตรวจสอบเข้มงวดในแคมป์คนงานก่อสร้างและแคมป์ที่พักคนงาน โดยให้พนักงานเจ้าหน้าที่ดำเนินการกำกับ และควบคุมดูแลผู้ประกอบการให้ปฏิบัติตามมาตรการป้องกันและควบคุมการแพร่ระบาดโควิด-19 ตามที่ทางราชการกำหนดโดยเคร่งครัด

ในส่วนของการยกระดับมาตรการในพื้นที่กรุงเทพฯ เพื่อแก้ไขและระงับยับยั้งการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ด้วยการปิดแคมป์คนงานก่อสร้างในทุกเขต เป็นเวลา 30 วัน และงดเคลื่อนย้ายแรงงานนั้น เวลา 09.30 น. รองปลัดกรุงเทพมหานคร ลงพื้นที่ตรวจแคมป์ที่พักคนงาน บริษัท บวิค-ไทย จำกัด ถนนเพชรพระราม แยก 9 เขตห้วยขวาง จากข้อมูล ณ วันที่ 27 มิ.ย. 64 พบว่ามีจำนวนคนงานที่พักอาศัยในแคมป์ ทั้งหมด 834 คน ตรวจพบเชื้อ 194 คน (23.26%) ไม่พบเชื้อ 640 คน (76.74%) ซึ่งในขณะนี้ได้ทำการปิดแคมป์แล้วตามคำสั่งเจ้าพนักงานควบคุมโรคติดต่อฯ คำสั่งเลขที่ 1000/2564 ลว. 25 มิ.ย. 64 ปิดตั้งแต่ 26-28 มิ.ย. 64 พร้อมปฏิบัติตามมาตรการ Bubble and Seal ภายในแคมป์คนงานเพื่อจำกัดการเคลื่อนย้ายแรงงาน และมีการแยกกักตัวผู้ที่ติดเชื้อกับผู้ที่สัมผัสเสี่ยงสูงภายในแคมป์อย่างเป็นระบบ โดยมีการแยกกักผู้ป่วย ผู้เสี่ยงสูง และผู้ไม่ติดเชื้อ ออกจากกันอย่างเด็ดขาด เช่น อาคารที่พัก ห้องน้ำ การรับประทานอาหาร โดยมีนายจ้างนำอาหารไปให้บริการในแคมป์ ซึ่งในเบื้องต้นสำนักงานเขตห้วยขวางจะช่วยเหลือส่งมอบอาหารสำหรับผู้ป่วยภายในแคมป์ พร้อมจัดเจ้าหน้าที่จากสำนักงานเขตห้วยขวาง ประสานเจ้าหน้าที่ตำรวจ สน.ทองหล่อ และฝ่ายความมั่นคงจาก บก.ควบคุม กองพลที่ 1 รักษาพระองค์ เข้าร่วมควบคุมพื้นที่เพื่อควบคุมการเข้า-ออกแคมป์ และการเคลื่อนย้ายแรงงาน ตามแผนที่กำหนดเพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของโรค

จากนั้น เวลา 10.00 น. ลงพื้นที่ลงพื้นที่ตรวจแคมป์ที่พักคนงาน บริษัท แสงฟ้าก่อสร้าง จำกัด (บ้านพักคนงานสะพานควาย) ซอยพหลโยธิน 15 ถนนพหลโยธิน แขวงพญาไท เขตพญาไท จากข้อมูล ณ วันที่ 27 มิ.ย. 64 พบว่ามีจำนวนคนงานที่พักอาศัยในแคมป์ ทั้งหมด 378 คน ตรวจพบเชื้อ 217 คน (57.41%) ไม่พบเชื้อ 161 คน (42.59%) ซึ่งในขณะนี้ได้ทำการปิดแคมป์แล้วตามคำสั่งเจ้าพนักงานควบคุมโรคติดต่อฯ สำนักงานเขตพญาไท วันที่ 21 มิ.ย. 64 ให้แคมป์ฯ ปรับปรุงสถานที่ให้ถูกสุขลักษณะและเป็นไปตามมาตรการป้องกันโรคตามที่ราชการกำหนดและห้ามเคลื่อนย้ายแรงงานเข้า-ออกสถานที่เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดโรคโควิด-19 และปฏิบัติตามมาตรการ Bubble and Seal โดยสำนักงานเขตพญาไทร่วมกับศูนย์บริการสาธารณสุข 11 ประดิพัทธ์ ลงพื้นที่แนะนำและตรวจสอบการจัดแบ่งพื้นที่สำหรับผู้ติดเชื้อภายในแคมป์ โดยแบ่งพื้นที่ผู้ติดเชื้อแยกเป็นสัดส่วน ตามมาตรการอย่างเคร่งครัด พร้อมจัดตั้งกองอำนวยการเฉพาะกิจควบคุมการแพร่ระบาดโควิด-19 บริเวณแคมป์ โดยมีกำลังเจ้าหน้าที่ ประกอบด้วย เจ้าหน้าที่ บก.ควบคุม กองพลที่ 1 รักษาพระองค์ เจ้าหน้าที่ตำรวจ สน.บางซื่อ เจ้าหน้าที่ฝ่ายเทศกิจ เขตพญาไท ประจำการ 24 ชั่วโมง เพื่อควบคุมการเข้า-ออกแคมป์และควบคุมการเคลื่อนย้ายแรงงาน

จากนั้น รองปลัดกรุงเทพมหานคร ตรวจเยี่ยมการตรวจหาเชื้อโควิด-19 เชิงรุก ณ บริเวณซอยวานิช 2 ข้างสำนักงานเขตสัมพันธวงศ์ โดยมีนางสาวอาทิตยา โชคกิจมนัสชัย ผู้อำนวยการเขตสัมพันธวงศ์ พร้อมคณะผู้บริหาร และเจ้าหน้าที่เขต ร่วมกับศูนย์บริการสาธารณสุข 13 ไมตรีวานิช สน.พลับพลาไชย และหน่วยงานด้านความมั่นคงจาก ช.พัน 1 รอ. ร้อย.สห.สนาม 3 พน. และพัน ส.ห.12 ดูแลความเรียบร้อยและอำนวยความสะดวกให้กับประชาชนที่รับบริการตรวจคัดกรอง โดยมีทีมแพทย์และพยาบาลจากโรงพยาบาลเกษมราษฎร์ บางแค ทำการตรวจคัดกรองด้วยวิธีค้นหาเชื้อทางโพรงจมูก (SWAB) เป้าหมายวันละ 500 คน สำหรับผู้ต้องการตรวจคัดกรองหาเชื้อโควิด-19 จะต้องนำบัตรประจำตัวประชาชน ปากกาหมึกสีน้ำเงิน โทรศัพท์มือถือที่สามารถใช้อินเตอร์เน็ตได้มาด้วย และควรรับประทานอาหารหรือยารักษาโรคประจำตัวให้เรียบร้อยก่อนมาตรวจ ทั้งนี้สามารถเดินทางมาลงทะเบียนขอรับการตรวจคัดกรองด้วยตนเองได้ตั้งแต่วันนี้ จนถึงวันที่ 30 มิ.ย. 64 โดยเริ่มทำการตรวจคัดกรองตั้งแต่เวลา 08.00 - 12.00 น. สอบถามเพิ่มเติมที่ฝ่ายสิ่งแวดล้อมฯ เขตสัมพันธวงศ์ โทร. 0 2233 0846

ที่มา: ผู้จัดการออนไลน์, 28/6/2564

'ประกันสังคม' เคาะเยียวยาแรงงานจากมาตรการคุม 10 จังหวัด ชดเชย 7 แสนคน 50% ของค่าจ้างคนงานถูกสั่งปิดแคมป์

สำนักงานประกันสังคม หรือ สปส. พร้อมให้ความช่วยเหลือเยียวยา แรงงาน ลูกจ้าง/ผู้ประกันตน กรณีที่ประชุมศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.) เมื่อวันที่ 25 มิถุนายน 2564 ที่ผ่านมา มีมติให้ปิดแคมป์คนงานก่อสร้าง งดการเดินทางและเคลื่อนย้ายแรงงานในพื้นที่จังหวัดสีแดงเข้ม ได้แก่ กรุงเทพมหานคร ปทุมธานี นนทบุรี สมุทรสาคร สมุทรปราการ นครปฐม สงขลา ปัตตานี ยะลา และนราธิวาส เป็นเวลา 1 เดือน

รายงานข่าวแจ้งว่า กระทรวงแรงงาน ได้ประเมินแล้วว่า ใน 10 จังหวัด มีผู้ประกันตน ในกิจกรรมต่างๆ ได้รับชดเชย ทั้งสิ้น 719,601 คน ซึ่งคาดว่าจะใช้เงิน พันล้านบาท ขณะที่ปีที่แล้ว มีการปิด ไป 3 เดือน ใช้เงิน ไปทั้งสิ้น 15,000 ล้านบาท

นายทศพล กฤตวงศ์วิมาน เลขาธิการ สำนักงานประกันสังคม กล่าวว่า จากเมื่อวันที่ 25 มิ.ย. 2564 ที่ผ่านมา พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีกลาโหม ได้มีการประชุมร่วมกับคณะที่ปรึกษาด้านการสาธารณสุขในศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.) และมีมติให้ปิดแคมป์คนงานก่อสร้าง งดการเดินทางและเคลื่อนย้ายแรงงานในพื้นที่จังหวัดสีแดงเข้ม ได้แก่ กรุงเทพมหานคร ปทุมธานี นนทบุรี สมุทรสาคร สมุทรปราการ นครปฐม สงขลา ปัตตานี ยะลา และนราธิวาส เป็นเวลา 1 เดือน เพื่อควบคุมการแพร่ระบาดของโควิด-19 และป้องกันการเกิดคลัสเตอร์ในแคมป์คนงานนั้น

นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ได้สั่งการให้กระทรวงแรงงานจัดประชุมร่วมกับสมาคมอุตสาหกรรมก่อสร้างไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ ซึ่งเป็นผู้ที่ได้รับผลกระทบจากคำสั่งนี้โดยตรง โดยท่านรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เป็นประธานในการประชุม พร้อมผู้บริหารกระทรวงแรงงาน นายสุรชัย ชัยตระกูลทอง ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงแรงงาน นายสุเทพ ชิตยวงษ์ เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน นางเธียรรัตน์ นะวะมะวัฒน์ โฆษกกระทรวงแรงงาน (ฝ่ายการเมือง) นายสุทธิ สุโกศล ปลัดกระทรวงแรงงาน ซึ่งตนและผู้บริหารของสำนักงานประกันสังคม เข้าร่วมประชุมในครั้งนี้ด้วย ณ ห้อง ศ.นิคม ชั้น 5 กระทรวงแรงงาน เพื่อหารือในแนวปฏิบัติกรณีปิด (Seal) แคมป์คนงานก่อสร้าง

ในส่วนของสำนักงานประกันสังคม ซึ่งมีหน้าที่ดูแลการเบิกจ่ายสิทธิประโยชน์ของลูกจ้าง/ผู้ประกันตน จะจ่ายสิทธิประโยชน์ทดแทนกรณีว่างงานจากเหตุสุดวิสัยโควิด-19 ให้กับผู้ประกันตนที่เป็นลูกจ้างของสถานประกอบการที่ ศบค.สั่งปิด โดยจะได้รับเงินชดเชยร้อยละ 50 ของค่าจ้าง

ซึ่งประกันสังคมจะจ่ายเงินเยียวยาชดเชยให้กับ แรงงาน ลูกจ้าง/ผู้ประกันตน ตามรายชื่อที่นายจ้างรับรอง ตลอดเวลาการปิดแคมป์ โดยจะมีระบบตรวจสอบว่าลูกจ้าง/ผู้ประกันตนที่จะได้รับเงินชดเชยจะต้องอยู่ในแคมป์ก่อสร้าง หากไม่อยู่หรือมีการเคลื่อนย้ายที่อยู่อาศัย ก็จะไม่ได้รับเงินชดเชยดังกล่าว

สำหรับลูกจ้าง/ผู้ประกันตน ที่ยังไม่ขึ้นทะเบียนผู้ประกันตน สำนักงานประกันสังคมในพื้นที่รับผิดชอบจะเข้าไปตรวจสอบและขึ้นทะเบียนให้ถูกต้องเพื่อให้ลูกจ้าง/ผู้ประกันตนได้รับสิทธิประโยชน์อย่างครบถ้วน

นอกจากนี้ หน่วยงานสังกัดกระทรวงแรงงาน ยังเข้ามาร่วมดูแลและเยียวยาแรงงาน ลูกจ้าง/ผู้ประกันตน ด้วย โดยกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน จะเข้าไปดูและในส่วนนายจ้างสถานประกอบการให้ปฏิบัติตามมาตรการป้องกันโควิด-19 ของลูกจ้างในแคมป์คนงานอย่างเคร่งครัด และกรมการจัดหางาน จะเข้าไปให้ความช่วยเหลือหากพบว่ามีแรงงานต่างด้าวผิดกฎหมายก็จะนำเข้าสู่ระบบให้ถูกต้องตามกฎหมายต่อไป

รวมถึงประสานกระทรวงสาธารณสุข ในการตรวจคัดกรองโควิด-19 เชิงรุก (swab) แก่ลูกจ้าง/ผู้ประกันตนในแคมป์คนงานให้ได้ครบ 100% ทุกแคมป์ หากพบลูกจ้าง/ผู้ประกันตนติดเชื้อ ก็จะได้รับการรักษาตามขั้นตอนของสาธารณสุข ผู้ที่ไม่พบเชื้อก็จะได้รับการฉีดวัคซีนโควิด-19

เลขาธิการสำนักงานประกันสังคม กล่าวต่อไปว่า ท่านรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานยังได้ขอความร่วมมือสถานประกอบการให้ดูแลเรื่องอาหารของคนงานทุกมื้อด้วย ตลอด 1 เดือนที่ปิดแคมป์ เพื่อให้เป็นไปตามมาตรการควบคุมโรคแบบ “Bubble and Seal” เพื่อไม่ให้คนงานเคลื่อนย้าย และมีการเดินทางข้ามพื้นที่คลัสเตอร์ หรือชุมชนที่มีการแพร่ระบาดอย่างหนัก เช่น โรงงานในกรุงเทพมหานครและปริมณฑล โดยในพื้นที่ระบาดจะมีการตรวจเชิงรุก และการฉีดวัคซีนให้แก่ผู้ประกันตนมาตรา 33 ที่ได้ขึ้นทะเบียนแจ้งความประสงค์ไว้

ที่มา: กรุงเทพธุรกิจ, 28/6/2564

รมว.แรงงาน ย้ำมาตรการเยียวยาปิดแคมป์ก่อสร้าง จ่ายเฉพาะแรงงานที่อยู่ในแคมป์

นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน กล่าวภายหลังเป็นประธานการประชุมระหว่างกระทรวงแรงงานกับผู้ประกอบการสมาคมอุตสาหกรรมก่อสร้างไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ จำนวน 24 คน อาทิ บริษัท ช.การช่าง จำกัด (มหาชน), บริษัท ฤทธา จำกัด, บริษัท วีมงคลก่อสร้าง จำกัด, บริษัท ยูเวิร์ด 999 จำกัด, บริษัท อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ จำกัด (มหาชน) ฯลฯ เพื่อหารือในแนวปฏิบัติกรณีปิด (Seal) แคมป์คนงานก่อสร้าง เพื่อควบคุมการแพร่ระบาดของโควิด-19 ทั้งในกลุ่มแรงงานไทยและต่างด้าว ณ ห้องประชุม ศ.นิคม จันทรวิทุร ชั้น 5 อาคารกระทรวงแรงงาน

นายสุชาติ กล่าวว่า ตามที่ท่านนายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้มีการประชุมร่วมกับคณะที่ปรึกษาด้านการสาธารณสุขในศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.) ซึ่งที่ประชุมได้มีมติให้ปิดแคมป์คนงานก่อสร้าง งดการเดินทางและเคลื่อนย้ายแรงงานในพื้นที่จังหวัดสีแดงเข้ม ได้แก่ กรุงเทพมหานคร ปทุมธานี นนทบุรี สมุทรสาคร สมุทรปราการ นครปฐม สงขลา ปัตตานี ยะลา และนราธิวาส เป็นเวลา 1 เดือน เพื่อควบคุมการแพร่ระบาดของโควิด-19 ในคลัสเตอร์แคมป์คนงานนั้น และได้มอบหมายให้กระทรวงแรงงานดูแลค่าใช้จ่าย เงินชดเชยให้แก่ลูกจ้างแทนผู้ประกอบการ

นายสุชาติ กล่าวต่อว่า ในช่วงที่มีการปิดแคมป์ กระทรวงแรงงานจะจ่ายสิทธิประโยชน์ทดแทนกรณีว่างงานจากเหตุสุดวิสัยโควิด-19 เนื่องจากสถานประกอบการถูกปิดตามคำสั่ง ศบค. โดยให้สำนักงานประกันสังคมจ่ายเป็นเงินสด 50 เปอร์เซ็นต์ของค่าจ้าง ให้คนงานทุกๆ 5 วัน พร้อมดูแลเรื่องอาหารทุกมื้อด้วย ตลอด 1 เดือน ตามรายชื่อที่นายจ้างรับรองวันต่อวัน ตลอดเวลาการปิดแคมป์ก่อสร้าง

นอกจากนี้ ยังมีระบบการตรวจสอบว่าแรงงานที่จะได้รับการเยียวยาจะต้องอยู่ในแคมป์ก่อสร้าง หากไม่อยู่ก็จะไม่ได้รับเงินชดเชยดังกล่าว กระทรวงแรงงานจะประสานกระทรวงสาธารณสุขและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เข้าไปตรวจคัดกรองโควิด-19 เชิงรุก (swab) แก่แรงงานในแคมป์คนงาน 100 เปอร์เซ็นต์ หากตรวจพบเชื้อจะต้องแยกตัวแรงงานเพื่อมาเข้าสู่การรักษาตามขั้นตอนของสาธารณสุข ส่วนผู้ที่ตรวจแล้วไม่พบเชื้อก็จะต้องเข้ารับการฉีดวัคซีนโควิด-19 รวมทั้งการเฝ้าระวังตรวจสอบทุกโรงงานในกรุงเทพมหานครและปริมณฑลให้เป็นไปตามมาตรการควบคุมโรคในพื้นที่เฉพาะ หรือ Bubble and Seal

ทั้งนี้ กระทรวงแรงงานยังได้มอบหมายให้กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานเข้าไปตรวจตราทำความเข้าใจกับนายจ้างผู้ประกอบการให้เข้มงวดถึงมาตรการป้องกันโควิด-19 ของลูกจ้างในแคมป์คนงาน และกรมการจัดหางานเข้าไปตรวจสอบหากกรณีพบว่ามีแรงงานต่างด้าวผิดกฎหมายก็จะนำเข้าสู่ระบบทำให้ถูกต้องตามกฎหมายต่อไป

ที่มา: ไทยรัฐออนไลน์, 27/6/2564

การบินไทยออกหนังสือประกาศเลิกจ้างพนักงาน 854 คน มีผลวันที่ 27 ก.ค. 2564 นี้

25 มิ.ย.2564 รายงานข่าวจากบริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) ระบุว่า นายสุวรรธนะ สีบุญเรือง ประธานเจ้าหน้าที่สายทรัพยากรบุคคล รักษาการแทนประธานเจ้าหน้าที่บริหาร (ดีดี) บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) ได้ลงนามออกประกาศ เรื่อง เลิกจ้างโดยจ่ายค่าชดเชยพนักงาน จำนวน 854 คน ซึ่งจะมีผลในวันที่ 27 ก.ค.นี้ เนื่องจากบริษัทฯ ประสบปัญหาขาดทุนสะสมต่อเนื่อง ประกอบกับสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ทำให้ไม่สามารถประกอบกิจการการบินได้ตามปกติ จนกระทั่งบริษัทฯ ต้องเข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูกิจการฯ

ทั้งนี้ เมื่อเข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูกิจการฯ แล้ว บริษัทฯ มีความจำเป็นต้องปรับปรุงองค์กรทุกๆ ด้าน เช่น ด้านแรงงาน ด้านการลงทุน หรือด้านกลยุทธ์ในการประกอบธุรกิจ เพื่อลดต้นทุนด้านลง และเพิ่มศักยภาพในการแข่งขันในตลาดธุรกิจการบิน

อย่างไรก็ตาม การปรับปรุงองค์กรดังกล่าว เป็นปัจจัยที่สำคัญยิ่งที่จะทำให้บริษัทฯ สามารถประกอบกิจการต่อไป เพื่อให้มีกระแสเงินสดเพียงพอสำหรับชำระหนี้ให้แก่บรรดาเจ้าหนี้ตามที่กำหนดไว้ในแผนฟื้นฟูกิจการฯ รวมถึงเพิ่มศักยภาพการแข่งขันของบริษัทฯ

รายงานข่าวจากการบินไทย ระบุอีกว่า จากเหตุผลดังกล่าวข้างต้น บริษัทฯ จึงมีความจำเป็นปรับปรุงโครงสร้างองค์กร โดยลดจำนวนพนักงานลง และต้องเลิกจ้างพนักงานจำนวน 854 คน โดยให้มีผลเป็นการเลิกจ้างในวันที่ 27 ก.ค. 2564 (สิ้นสุดเวลาทำการ) ทั้งนี้ บริษัทจะจ่ายค่าชดเชย เงินอื่น ๆ ตามกฎหมาย และเงินที่กำหนดไว้ในสัญญาจ้าง หรือระเบียบบริษัทฯ ว่าด้วยการบริหารงานบุคคล ประกอบด้วย ค่าจ้างถึงวันทำงานวันสุดท้าย, วันหยุดพักผ่อนประจำปีที่ยังไม่ได้ใช้, ค่าชดเชย, สินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า และเงินบำเหน็จ

ทั้งนี้ จะจ่ายเงินจำนวนดังกล่าวข้างต้นหลังจากหักภาษี ณ ที่จ่าย (สำหรับพนักงานที่บริษัทฯ ไม่ได้รับภาระภาษีให้) และหนี้จำนวนใด ๆ ของพนักงานที่ถูกเลิกจ้างมีอยู่ต่อบริษัทฯ หรือสหกรณ์ออมทรัพย์พนักงานบริษัท การบินไทย จำกัด ให้แจ้งและคืนทรัพย์สินของบริษัทฯ ที่อยู่ในความครอบครอง หรือตามที่ได้ทำขึ้นในระหว่างที่เป็นลูกจ้างของบริษัทฯ โดยทันที ซึ่งรวมไปถึงเอกสาร บันทึก รายการ หรือสิ่งที่เก็บข้อมูลใด ๆ ที่เกี่ยวกับการทำงาน ข้อมูลของบริษัทฯ หรือลูกค้า และความลับทางการค้าของบริษัทฯ ภายในวันที่ 27 ก.ค. 2564 ก่อนสิ้นสุดเวลาทำการ

นอกจากนี้ บริษัทฯ ขอแจ้งเตือนว่า พนักงานยังคงมีสถานะเป็นพนักงานของบริษัทฯ จนถึงวันที่การเลิกจ้างมีผล พนักงานจึงยังมีหน้าที่ต้องปฏิบัติตามกฎหมายแรงงาน ข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงาน นโยบาย ระเบียบ และคำสั่งของบริษัทฯ ทุกฉบับอย่างเคร่งครัด อย่างไรก็ตาม หากบริษัทฯ พบว่า พนักงานรายใดกระทำการผิดกฎหมาย ข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงาน นโยบาย ระเบียบ หรือคำสั่งของบริษัทฯ อาจจะพิจารณาดำเนินการทางวินัยกับพนักงานอย่างเหมาะสม ซึ่งรวมถึงการเลิกจ้างพนักงานที่กระทำผิดนั้นโดยทันที และไม่จ่ายค่าชดเชย

ที่มา: Thai PBS, 26/6/2564

แนะสร้างแบบประเมินความพร้อมเด็กม.ต้น ก่อนเข้าสู่ตลาดแรงงาน

ดร.เกียรติอนันต์ ล้วนแก้ว อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) ในฐานะหัวหน้าโครงการพัฒนาเครื่องมือเพื่อประเมินความพร้อมของเด็กและเยาวชนในการเข้าสู่ตลาดแรงงาน กล่าวว่า กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) ร่วมกับคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) ได้จัดทำโครงการพัฒนาเครื่องมือเพื่อประเมินความพร้อมของเด็กและเยาวชนในการเข้าสู่ตลาดแรงงาน เพื่อพัฒนาเครื่องมือสำรวจสถานะความพร้อมของเด็กและเยาวชนในการเข้าสู่ตลาดแรงงานที่มีประสิทธิภาพและเหมาะสมกับบริบทของไทย และพัฒนาต้นแบบ (Prototype) ระบบประเมินความพร้อมในการเข้าสู่ตลาดแรงงานแบบออนไลน์ พร้อมทั้งระบบฐานข้อมูลที่พร้อมรองรับข้อมูลรายจังหวัดทั่วประเทศ ด้วยการสำรวจและวิเคราะห์ข้อมูลสถานะความพร้อมในการเข้าสู่ตลาดแรงงานของนักเรียนระดับมัธยมศึกษาตอนต้นใน 5 จังหวัด จำนวน 1,200 คน

เครื่องมือดังกล่าวจะช่วยให้นักเรียนทราบระดับความพร้อมและสามารถค้นหาอาชีพที่ตนเองต้องการ ช่วยให้เกิดแรงจูงใจในการศึกษาเล่าเรียน ลดอัตราการออกกลางคัน ลดการทำงานไม่ตรงกับวุฒิการศึกษา นอกจากนี้แล้ว Career Readiness Survey จะให้ข้อมูลแก่หน่วยงานในระดับพื้นที่และระดับประเทศ ที่สามารถนำไปใช้กำหนดแผนยุทธศาสตร์และบูรณาการความร่วมมือระหว่างหน่วยงานเพื่อปรับทิศทางการศึกษาให้สอดคล้องกับความต้องการของตลาดแรงงานได้ด้วย

“สถานการณ์แพร่ระบาดของโควิด-19 ในปัจจุบัน ทำให้นักเรียนไทยตกอยู่ในภาวะ 4 เสี่ยง ได้แก่ เสี่ยงเรียน เสี่ยงจิต เสี่ยงชีวิต และเสี่ยงเหลื่อมล้ำ เด็กต้องเรียนออนไลน์ เสี่ยงต่อการการเรียนตกต่ำและถดถอยลง เด็กเก่งหรือเด็กที่มีความพร้อมยังพอประคองเอาตัวรอดไปได้ แต่สำหรับเด็กที่ไม่มีความพร้อมจะยิ่งถูกทิ้งห่างออกไปไกล จึงเกิดช่องว่างเด็กเก่งกับเด็กอ่อน เมื่อเจอสภาพแบบนี้เด็กจะเกิดความกดดัน เพราะเรียนไม่รู้เรื่อง ขณะเดียวกันพ่อแม่ก็เจอกับสภาพฝืดเคืองทางการเงิน กลายเป็นความกดดันจากครอบครัว ส่งผลเสี่ยงต่อสุขภาพจิต อีกทั้งวิถีชีวิตที่เปลี่ยนไป เด็กที่มีน้องเล็กก็ต้องดูแลน้อง ขณะที่พ่อแม่ก็มีวิถีชีวิตเปลี่ยนไปต้องดิ้นรนมากขึ้น เป็นความเสี่ยงในชีวิตที่ไม่มีความแน่นอน ทั้งเรื่องการเรียน การเงิน และโรคระบาด สิ่งที่เกิดขึ้นยิ่งนำไปสู่ความเหลื่อมล้ำระยะยาว ระหว่างเด็กที่มีความพร้อมกับเด็กที่ไม่พร้อม”

แบบประเมินที่ใช้จะทดสอบทักษะที่จำเป็น 5 มิติ ซึ่งเป็นทักษะพื้นฐานสำหรับการทำงาน ประกอบด้วย 1. การคำนวณพื้นฐานสำหรับใช้ในการทำงาน 2. พื้นฐานเทคโนโลยีสารสนเทศ เช่น การใช้โปรแกรมคอมพิวเตอร์หรือแอปพลิเคชันที่จำเป็นในการทำงาน 3. ทักษะการสื่อสารเพื่อความเข้าใจในการทำงาน 4. ความรู้ด้านวิทยาศาสตร์และฟิสิกส์ และ 5. ทักษะทางสังคมและการทำงาน (Soft Skill) เช่น บุคลิก ความเป็นผู้นำ เป็นต้น ซึ่งจากการประเมินผลเด็กในกลุ่มตัวอย่างพบว่าเด็กกว่า ร้อยละ 50 ไม่มีความพร้อมสำหรับตลาดแรงงาน ร้อยละ 40 อยู่ในระดับปานกลาง และมีเพียง ร้อยละ 10 เท่านั้นที่อยู่ในกลุ่มที่มีทักษะเหมาะสม โดยทักษะที่มีปัญหามากที่สุดคือ ทักษะด้านการคำนวณพื้นฐาน และทักษะด้านการสื่อสารพื้นฐาน ซึ่งแบบประเมินความพร้อมฯ ที่จัดทำขึ้นจะเป็นเครื่องมือช่วยหาแนวทางพัฒนาเด็กที่จะเข้าสู่ตลาดแรงงานหลังจบ ม.3 ได้เหมาะสม เพราะจากการสำรวจพบว่า เด็กที่เข้าสู่ตลาดแรงงานหลังจบ ม.3 กว่าร้อยละ 90 เป็นแรงงานที่ขาดทักษะฝีมือ ไม่ตรงกับความต้องการของนายจ้าง และไม่สามารถพัฒนาเป็นฝีมือแรงงานได้ ทำให้ได้รับค่าจ้างต่ำ และรับค่าจ้างระดับนั้นไปตลอดชีวิต ซึ่งแรงงานกลุ่มนี้มักสมรสในกลุ่มเดียวกัน เป็นการส่งต่อความยากจนและความเหลื่อมล้ำจากรุ่นสู่รุ่น แต่หากเราสามารถพัฒนาให้เด็กมีทักษะพื้นฐานที่จำเป็นครบถ้วน จะเป็นการสร้างโอกาสในการทำงานที่มีรายได้มากขึ้น รวมถึงมีโอกาสที่เขาอาจจะศึกษาได้ตามอัธยาศัย หยุดการส่งต่อความยากจนและลดความเหลื่อมล้ำในเรื่องต่าง ๆ ลงได้ในที่สุด

แบบประเมินฯ จะช่วยให้สถานศึกษาชี้เป้าได้ว่า เด็กแต่ละคนควรได้รับการพัฒนาทักษะด้านใด และสถานศึกษายังสามารถพัฒนาหลักสูตรให้เหมาะกับการพัฒนาเด็ก โดยโรงเรียนสามารถสร้างระบบนิเวศการเรียนรู้ร่วมกับนายจ้าง ปราชญ์ชุมชน และพ่อแม่ เพื่อจัดทำหลักสูตรพัฒนาเด็กให้มีความพร้อมก่อนเข้าตลาดแรงงานได้อย่างเหมาะสม ตามบริบทของสังคม ซึ่ง ขณะนี้โครงการฯ ได้จัดทำแบบประเมินต้นแบบในเฟสแรกเรียบร้อยแล้ว โดยระยะต่อไปจะนำแบบประเมินดังกล่าวไปใช้กับโรงเรียนที่เป็นเครือข่ายของ กสศ. จำนวน 34 แห่ง และระยะที่ 3 จะขยายผลไปสู่การใช้ประเมินเด็กทั่วประเทศ ซึ่งตนเชื่อมั่นว่าการใช้แบบประเมินความพร้อมของเด็กและเยาวชนในการเข้าสู่ตลาดแรงงาน จะช่วยพัฒนาเด็กที่ไม่พร้อมให้มีทักษะและตรงกับความต้องการของตลาดแรงงานมากขึ้น และลดความเหลื่อมล้ำในเรื่องต่าง ๆ

ที่มา: บ้านเมือง, 25/6/2564

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท