Skip to main content
sharethis

สมาพันธ์ผู้ประกอบอาชีพธุรกิจกลางคืนและธุรกิจบันเทิงแห่งประเทศไทย พร้อมด้วยกลุ่มศิลปิน อาทิ Slot Machine, Tattoo colour, Cocktail และ Apartment Khunpa เข้ายื่นหนังสือทวงถามมาตรการเยียวยาจากรัฐบาล และ ส.ส. ที่กลุ่มคนทำธุรกิจกลางคืน ธุรกิจบันเทิง และนักร้องนักดนตรี เคยเรียกร้องไปแล้วก่อนหน้านี้ ด้านวงสามัญชนตั้งเวทีข้างรัฐสภา ขับขานบทเพลงให้กำลังใจเพื่อนร่วมอาชีพ พร้อมไว้อาลัย 'ฟ้า ประกายฟ้า'

1 ก.ค. 2564 วันนี้ (1 ก.ค. 2564) เวลา 10.00 น. สมาพันธ์ผู้ประกอบอาชีพธุรกิจกลางคืนและธุรกิจบันเทิงแห่งประเทศไทย เดินทางเข้ายื่นจดหมายเปิดผนึกเพื่อทวงถาม หารือ และพิจารณาร่วมกันหาทางออกกรณีการขอมาตรการผ่อนปรนและมาตรการเยียวยาให้กับกลุ่มผู้ประกอบอาชีพธุรกิจกลางคืนและธุรกิจบันเทิงที่ได้รับผลกระทบของโรคระบาดโควิด-19 โดยมี นนทเดช บูรณะสิทธิพร ตัวแทนชมรมผู้ประกอบการสถานบันเทิง ผับ/บาร์ (รายย่อย) และธัญญ์นิธิ ปภัสสุรีย์โชติ ตัวแทนชมรมคนดนตรีแห่งประเทศไทย พร้อมด้วยศิลปินนักร้อง เช่น Slot Machine, Tattoo colour, Cocktail, Apartment Khunpa เป็นตัวแทนยื่นหนังสือ และมีพิธา ลิ้มเจริญลิ้มรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล และตัวแทน ส.ส.ฝ่ายรัฐบาล เป็นผู้รับมอบหนังสือ

ภาพจากสมาพันธ์ผู้ประกอบอาชีพธุรกิจกลางคืน
 

ตัวแทนตัวสมาพันธ์ฯ อ่านแถลงการณ์ก่อนมอบหนังสือ ระบุว่า สืบเนื่องจากสถานการณ์โควิด-19 ในระลอกที่ 3 ทางศูนย์บริหารสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคติดต่อเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศบค.) ได้มีการประกาศใช้พระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน (ฉบับที่ 19) ณ วันที่  9 เม.ย. 2564 โดยระบุหัวข้อหลัก 3 ข้อ ว่าด้วยการกำหนดให้มีการปิดสถานบริการ หรือสถานที่เสี่ยงต่อการแพร่โรค, การพิจารณาผ่อนคลายการบังคับใช้มาตรการและการตรวจสอบการดำเนินการตามมาตรการการป้องกันโรคและการจัดระเบียบ จากคำสั่งดังกล่าวได้ส่งผลกระทบโดยตรงต่อผู้ประกอบอาชีพธุรกิจกลางคืนและธุรกิจบันเทิงทั้งหมด ซึ่งไม่ได้มีแต่เจ้าของธุรกิจ หรือผู้ประกอบการแต่รวมไปถึงลูกจ้างทุกประเภททั้งที่เข้าระบบประกันสังคม และกลุ่มอาชีพอิสระที่รับค่าจ้างแบบรายวัน เช่น นักดนตรี, พนักงานเสิร์ฟ, บาร์เทนเดอร์, พนักงานเชียร์สินค้า, พนักงานโบกรถ, พ่อค้าแม่ค้าที่ขายของในตลาดกลางคืน ร้านอาหารข้างทางต่าง ๆ เป็นต้น ซึ่งที่ผ่านมายังมีผู้ได้รับผลกระทบและไม่สามารถเข้าถึงการเยียวยาจากภาครัฐได้อย่างครบถ้วน โดยทางสมาพันธ์ผู้ประกอบอาชีพธุรกิจกลางคืนและธุรกิจบันเทิงแห่งประเทศไทยได้มีการยื่นหนังสือไปทั้งหมด 4 ครั้ง ต่อ 4 หน่วยงานและผู้รับผิดชอบ

ทางสมาพันธ์ผู้ประกอบอาชีพธุรกิจกลางคืนและธุรกิจบันเทิง จึงขอยื่นหนังสือถึง นายกรัฐมนตรี พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา เพื่อทวงถาม หารือ และพิจารณาร่วมกันหาทางออก ต่อจดหมายเปิดผนึกและข้อเรียกร้องที่ทางสมาพันธ์ผู้ประกอบอาชีพธุรกิจกลางคืนและธุรกิจบันเทิงแห่งประเทศไทย ได้เคยยื่นไปแล้วให้กับหน่วยงานและผู้รับผิดชอบต่างๆทั้งหมด 4 ครั้ง ดังนี้

ครั้งที่ 1 เมื่อวันที่ 11 มิ.ย. 2564 เดินทางเข้าพบและยื่นหนังสือให้แก่ พล.อ.ณัฐพล นาคพาณิชย์ เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ/ผู้อำนวยการศูนย์ปฏิบัติการ ศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 ณ สภาความมั่นคงแห่งชาติ ทำเนียบรัฐบาล ครั้งที่ 2 วันที่ 15 มิ.ย. 2564 เดินทางเข้าพบและยื่นหนังสือให้แก่ สาธิต ปิตุเตชะ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข ณ กระทรวงสาธารณสุข ครั้งที่ 3 วันที่ 17 มิ.ย. 2564 เดินทางเข้าพบและยื่นหนังสือให้แก่ นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว ตัวแทนพรรคร่วมฝ่ายค้าน จากพรรคเพื่อไทย และยื่นหนังสือถึงชวน หลีกภัย ประธานสภา โดยราเมศ รัตนะเชวง เลขานุการประธานรัฐสภา เป็นตัวแทนรับหนังสือ และล่าสุด ครั้งที่ 4 วันที่ 29 มิ.ย. 2564 เดินทางเข้ายื่นหนังสือถึง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม โดยธนกร วังบุญคงชนะ เลขานุการรัฐมนตรี ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ในฐานะโฆษกประจำศูนย์บริหารสถานการณ์เศรษฐกิจจากผลกระทบของการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือ ศบศ. เป็นตัวแทนรับหนังสือ

สมาพันธ์ผู้ประกอบอาชีพธุรกิจกลางคืนและธุรกิจบันเทิงแห่งประเทศไทย มีข้อสรุปและยืนยันในข้อเรียกร้อง "แนวทางการช่วยเหลือกลุ่มธุรกิจกลางคืนและธุรกิจบันเทิง" ทั้งหมดตามรายละเอียดดังนี้

  1. ยกเลิกคำสั่งปิดสถานบันเทิงแบบเหมารวม
  2. ขอให้มีคำสั่งปลดล็อคเพื่อให้ธุรกิจกลางคืนและธุรกิจบันเทิงได้กลับมาเปิดบริการ และสามารถจัดกิจกรรมต่างๆ ได้ภายในวันที่ 1 ก.ค. 2564 โดยให้คงการปฏิบัติตามมาตรการคำสั่ง ของ ศบค. เพื่อรักษามาตรฐานการควบคุมโรค *เสนอและเรียกร้องให้พิจารณาเป็นวันที่ 1 สิงหาคม 2564 และ/หรือกำหนระยะเวลาที่ชัดเจนในการอนุญาตให้กลับมาประกอบกิจการและอาชีพได้อีกครั้ง
  3. ผ่อนปรนให้สามารถขายแอลกอฮอล์เพื่อบริโภคในร้านค้าได้
  4. ผ่อนปรนให้มีการจัดงานมหรสพโดยให้คงการปฏิบัติตามมาตรการคำสั่งของ ศบค. เพื่อรักษามาตรฐานการควบคุมโรค
  5. พิจารณาการจัดสรรฉีดวัคซีนให้กับผู้ประกอบการ ผู้ให้บริการ และ/หรือ ผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับสถานประกอบการธุรกิจกลางคืน และธุรกิจบันเทิงโดยเร็วที่สุด
  6. พิจารณาให้มีนโยบายที่ชัดเจนเรื่องการเยียวยา การพักชำระหนี้ และ/หรือ การกู้ยืมดอกเบี้ยต่ำต่อผู้เดือดร้อนตั้งแต่การออกคำสั่งครั้งแรกเมื่อวันที่ 18 มี.ค. 2563
  7. เปิดโอกาสให้ภาคเอกชน และ/หรือ ประชาชนในกลุ่มภาคธุรกิจที่ได้รับความเดือดร้อน เข้าร่วมรับฟัง, เสนอแนะ, พูดคุย ในกระบวนการการออกมาตราการและนโยบายต่างๆ
  8. เปิดช่องทางสื่อสาร เพื่อรับฟังความคิดเห็นและความต้องการของประชาชนที่เดือดร้อน 
     

ขณะเดียวกัน มติชนออนไลน์ รายงานว่า หลังรับหนังสือ พิธา หัวหน้าพรรคก้าวไกล กล่าวว่า ผู้ประกอบการธุรกิจกลางคืนและธุรกิจบันเทิงเดือดร้อนจากมาตรการควบคุมการแพร่ระบาดของโควิด-19 ทุกรอบ และหนักกว่าคนอื่น เพราะถูกปิดก่อนแต่เปิดทีหลัง นอกจากนี้ กลุ่มคนทำงานเหล่านี้เข้าไม่ถึงการเยียวยาจากภาครัฐเพราะเป็นอาชีพอิสระที่ไม่ได้อยู่ในระบบ จึงขอย้ำว่ารัฐบาลควรให้ความสนใจ เพราะกลุ่มคนประชอบอาชีพธุรกิจกลางคืนและธุรกิจบันเทิงกลั้นหายใจนานกว่าคนอื่น

ภาพจากสมาพันธ์ผู้ประกอบอาชีพธุรกิจกลางคืนและธุรกิจบันเทิง
 

วงสามัญชนร่วมขับขานบทเพลงให้กำลังใจเพื่อนร่วมอาชีพ

ในช่วงเวลาเดียวกันนี้ ที่ ถ.ทหาร ด้านข้างรัฐสภาแยกเกียกกาย วงสามัญชนมาตั้งเวทีเล่นดนตรี พร้อมขับร้องบทเพลงเพื่อแสดงออกเชิงสัญลักษณ์และให้กำลังใจแก่เพื่อนร่วมอาชีพที่เดินทางมายื่นหนังสือในวันนี้

วงสามัญชนเล่นดนตรีที่บริเวณข้างรัฐสภา เพื่อให้กำลังใจเพื่อนร่วมอาชีพที่ประสบปัญหาจากวิกฤตโควิด-19
 

ธนัญชัย ไกรเทพ สมาชิกวงสามัญชน ให้สัมภาษณ์กับผู้สื่อข่าวประชาไทว่า วันนี้วงสามัญชนตั้งใจมาเพื่อสนับสนุนพี่ๆ เพื่อนๆ นักดนตรีที่รวมกลุ่มกันเข้ายื่นหนังสือ เพื่อเรียกร้องการเยียวยาจากวิกฤตโรคระบาดครั้งนี้ซึ่งทำให้พวกเขาไม่มีงานทำ ในฐานะที่วงสามัญชนเป็นวงที่เล่นดนตรีเพื่อประชาธิปไตยอยู่แล้ว จึงมาร่วมเรียกร้องเพื่อให้รัฐแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นแก่กลุ่มคนในอาชีพเหล่านี้

"เราในนามสามัญชน เราคิดว่าทำอะไรได้บ้างเพื่อสนับสนุน เราคิดอย่างเดียวคือเล่นดนตรี แล้วก่อนหน้านั้นมีเพื่อนๆ น้องๆ เราที่ต้องฆ่าตัวตายไป ไม่ว่าจะเป็นนักดนตรีหรือประชาชนทั่วไป ความอัดอั้นพวกนี้มันทำให้เราแสดงออกเพื่อไว้อาลัยเพื่อนที่เสียชีวิต ที่ต้องฆ่าตัวตาย ไม่ใช่แค่ความผิดเขา แต่มันเป็นความผิดรัฐบาลที่ไม่บริหารจัดการให้ดี เพื่อคุณภาพชีวิตคนที่ดีขึ้นกว่านี้ เราจึงมาเล่นดนตรีกัน เพื่อสนับสนุนข้อเรียกร้อง" ธนัญชัยกล่าว

ผู้สื่อข่าวถามต่อไปว่าตั้งแต่เกิดโรคระบาดโควิด-19 มา วงสามัญชนในฐานะตัวแทนคนจากกลุ่มอาชีพนักร้องนักดนตรีประสบปัญหาและปรับตัวอย่างไรบ้าง ซึ่งธนัญตอบว่าสมาชิกวงสามัญชนปรับตัวอยู่เสมอ ทั้งเปลี่ยนอาชีพไปขายบราวนี่หรือไปสอนหนังสือตามโรงเรียน หรือรับจ้างทำอะไรที่ได้เงินก็ไป พวกเขาทำทุกวิถีทางเพื่อหาเลี้ยงชีพในช่วงวิกฤต

"คือเรื่องปรับตัวเนี่ย เพื่อนๆ เราปรับตัวอยู่แล้ว โดยที่รัฐบาลไม่ต้องบอก แต่นี่มันมาระลอกที่ 3 ระลอกที่ 4 แล้ว มันไม่ไหวแล้ว อย่างน้อยเงินเยียวยาก็ต้องได้ แต่ยังไม่ได้ เราในฐานะสามัญชนก็เลยเรียกร้องรัฐสวัสดิการถ้วนหน้า" ธนัญชัยกล่าว พร้อมระบุว่ามาตรการเยียวยาแรกที่อยากได้คือเงินเดียวยาที่โอนเข้าบัญชีโดยตรง ไม่ต้องผ่านแอปพลิเคชัน

“อย่างแรกเลย โอนตรงเข้าบัญชีเดือนละ 5,000 บาท ประชาชนทุกคนที่เดือดร้อน โอนไปเลยครับไม่ต้องผ่านแอปฯ อย่างที่สองเรื่องวัคซีน เราพูดกันหลายครั้งแล้ว วัคซีนมันผูกขาดแค่ 2 ยี่ห้อ เราก็ควรส่งเสียง นักดนตรี ศิลปินมีเชื่อเสียงควรร่วมส่งเสียง วัคซีนมันต้องมีคุณภาพและเร็ว ตรวจ[หาเชื้อ]ให้ทั่วถึงเท่าเทียมกัน และให้เข้าถึงได้ง่าย เท่านี้ เศรษฐกิจก็กลับมาดี นักดนตรีก็มีอาชีพ แต่ว่าเรา (วงสามัญชน) เรียกร้องไปไกลกว่านั้น คือเรียกร้องสวัสดิการถ้วนหน้า เรียกร้องให้ประชาชนทุกคนเท่าเทียมกัน ปัญหามันจะได้โดนแก้จากฐานราก" ธนัญชัยกล่าว พร้อมระบุว่าสวัสดิการถ้วนหน้าอันดับแรกที่ประชาชนทุกคนต้องได้รับเป็นสิทธิขั้นพื้นฐาน คือ การเรียนและรักษาพยาบาลฟรี รวมถึงการได้รับรายได้พื้นฐานขั้นต่ำ ทั้งยังเน้นย้ำว่าสวัสดิการถ้วนหน้าควรเป็นสิทธิขั้นพื้นฐาน ไม่ใช่เป็นเรื่องที่ต้องมาบริจาค ทุกคนต้องได้รับสิทธิ์นั้น ไม่ใช่แค่อาชีพนักดนตรี

ธนัญชัย กล่าวเสริมว่าเขาอยากให้ในอนาคต กลุ่มนักร้องนักดนตรีจะร่วมกันผนึกกำลังจัดตั้งสหภาพแรงงานนักดนตรี เพื่อที่จะได้ช่วยกันเรียกร้องแก้ไขปัญหาให้คนที่ประกอบอาชีพนักดนตรี รวมถึงอาชีพที่เกี่ยวกับธุรกิจกลางคืน เพราะว่าถ้ากลุ่มคนกลางคืนทำงานได้ พ่อค้าแม่ค้าก็ขายของได้ หากสหภาพนักดนตรีมีความแข็งแรงก็สามารถต่อสู้เรียกร้องสิทธิต่างๆ จากรัฐได้ นอกจากนี้ ธนัญชัยยังกล่าวอีกว่า ดนตรีไม่ได้ให้ความสุขความบันเทิง แต่ดนตรีคืออาชีพ จึงขอให้รัฐดูแลคนที่ประกอบอาชีพนี้เช่นเดียวกับกลุ่มคนในอาชีพอื่นๆ

"ดนตรีไม่ใช่แค่ความสุขที่คุณยัดเยียดให้พวกเราอย่างเดียว เพื่อนเรา บางคืนไม่มีความสุข แต่ต้องไปเล่นดนตรี ต้องมีความสุขให้ลูกค้าเห็น มันคืออาชีพ เพราะฉะนั้นควรมองว่ามันคืออาชีพเท่ากันกับราชการ ควรให้สวัสดิการเท่ากัน" ธนัญชัยกล่าวทิ้งท้าย

 
อนึ่ง วงสามัญชนนำรูปของประกายฟ้า พูลด้วง หรือฟ้า ยูทูเบอร์และนักดนตรีอิสระมาวางไว้เพื่อให้ประชาชนร่วมกันวางดอกกุหลายเป็นการไว้อาลัยให้ 'ประกายฟ้า' ที่ฆ่าตัวตายเมื่อวันที่ 26 มิ.ย. ที่ผ่านมา เพราะปัญหาความเครียดที่เกิดจากการระบาดของโควิด-19 ซึ่งส่งผลต่อหน้าที่การงานและรายได้

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net