Skip to main content
sharethis

สังคมนิยมประชาธิปไตยและรัฐสวัสดิการเป็นภาษาที่ 2 ที่ถูกกล่าวถึงมากขึ้น ทว่า กลุ่มผู้มีอำนาจและอนุรักษ์นิยมพยายามผูกขาดความมั่งคั่งและดำรงความเหลื่อมล้ำ ษัษฐรัมย์เสนอให้มีการเก็บภาษีชนชั้นปรสิตหรือ Net Wealth Tax เขาเชื่อว่ารัฐสวัสดิการเป็นไปได้ แต่ไม่ใช่ด้วยการประนีประนอมและการกราบ

วันที่ 24 มิถุนายน 2564 ที่ผ่านมา สถาบันปรีดี พนมยงค์ ได้จัดงานเสวนาปรีดี ทอล์ค ครั้งที่ 11 ภายใต้หัวข้อใหญ่ว่า ‘89 ปีแห่งการอภิวัฒน์สยาม สวัสดิการและบทบาทของรัฐในการสร้างความเป็นธรรมทางเศรษฐกิจแก่ประชาชน’ โดยมีประเด็นหลักว่าด้วยรัฐสวัสดิการ

‘ประชาไท’ ปิดท้ายด้วยการบรรยายของษัษฐรัมย์ ธรรมบุษดี จากวิทยาลัยสหวิทยาการ ภาควิชาปรัชญา, การเมือง และเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ในหัวข้อ ‘รัฐสวัสดิการถ้วนหน้า การต่อสู้ของคนรุ่นใหม่’

ที่มาภาพ เพจ สถาบันปรีดี พนมยงค์ Pridi Banomyong Institute

สังคมนิยมประชาธิปไตยคือภาษาที่สอง

วันนี้วันที่ 24 มิถุนายนเป็น 89 ปีของการอภิวัฒน์สยามและนับว่าเป็นยุคสมัยของการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น สิ่งที่ผมอยากย้ำ ห่างจากที่นี่ไปเพียงแค่ไม่กี่กิโลเมตร เลาะชายฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาไป จากท่าพระจันทร์ไปถึงเกียกกาย สิ่งที่เราจะเห็นภาพก็คือขณะนี้มีขบวนการคนรุ่นใหม่กำลังต่อสู้ กำลังตั้งคำถาม และกำลังทวงคืนจิตวิญญาณของการเปลี่ยนแปลงการปกครองเมื่อ 89 ปีที่แล้ว สิ่งหนึ่งที่ผมอยากย้ำให้เห็นถ้าเราย้อนกลับไปเมื่อ 89 ปีที่แล้ว ปรีดี พนมยงค์อายุประมาณ 33 ปีเท่านั้น อาจจะอายุมากกว่าคนรุ่นใหม่ที่อยู่ในขบวนการเคลื่อนไหวทุกวันนี้ แต่สิ่งหนึ่งที่เห็นก็คือมันมีจิตวิญญาณของการตั้งคำถามกับความไม่ถูกต้อง กับความไม่เป็นธรรมที่เกิดขึ้นอยู่ตลอดเวลา

ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมานี้ เราจะเห็นได้ว่าการพูดถึงสังคมที่เป็นธรรม ทั้งทางการเมือง ทางเศรษฐกิจ และทางสังคม ข้อเรียกร้องเรื่องรัฐสวัสดิการถูกพูดโดยนักเรียนมัธยมที่มหาสารคาม ถูกพูดโดยขบวนการภาคประชาชนที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ถูกพูดโดยผู้ใช้แรงงานในสมุทรปราการ ถูกพูดโดยผู้ใช้แรงงานข้ามชาติที่อยู่ตามตะเข็บชายแดนของประเทศนี้ เหนือสุดถึงใต้สุด ตะวันออกถึงตะวันตก พูดถึงเรื่องนี้ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา

สิ่งที่ขับเคลื่อนให้เรื่องรัฐสวัสดิการถูกพูดถึงมาก ไม่ใช่เพราะนักวิชาการคนไหน ไม่ใช่เพราะนักการเมืองคนไหน แต่เกิดขึ้นเพราะกระแสการต่อสู้ของประชาชน แต่นอกจากขบวนการคนรุ่นใหม่ที่เราเห็นอย่างมากในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา เดือนมิถุนายนเพียงแค่เดือนเดียวมีขบวนการที่เคลื่อนไหวมากขึ้นและมากที่สุดในรอบทศวรรษที่ผ่านมา การนัดหยุดงานของกลุ่มที่เรียกตัวเองว่าไรเดอร์หรือพนักงานแพล็ตฟอร์ม เดือนมิถุนายนเดือนเดียวมีการนัดหยุดงาน 20 ครั้ง ขณะที่เมื่อปี 2018 เมื่อ 3 ปีที่ผ่านมาทั้งปีมีการนัดหยุดงานเพียงแค่ 20 ครั้ง

สิ่งหนึ่งที่เราจะเห็นก็คือเหตุใดผมถึงใช้คำว่าสังคมนิยมประชาธิปไตยกำลังกลายเป็นภาษาที่สองของคนรุ่นใหม่ เรามักจะคุ้นเคยกับคำว่าภาษาที่สองคือภาษาที่เราจะเอาไปใช้เพื่อทำมาหากิน เอาไปใช้เพื่อทำให้ชีวิตของเราดีขึ้น บางทีเมื่อยี่สิบสามสิบปีก่อนก็บอกว่าภาษาอังกฤษเป็นภาษาที่สอง เมื่อสักสี่ห้าปีก่อนก็บอกว่าภาษาคอมพิวเตอร์เป็นภาษาที่สองเพราะมันทำให้เรามีชีวิตรอดต่อไปได้นอกจากภาษาแม่ แต่วันนี้สังคมนิยมประชาธิปไตยคือภาษาที่สองของคนรุ่นใหม่ ภาษาของการพูดถึงความเท่าเทียมกัน

ปัญหา ณ ตอนนี้คือผู้มีอำนาจ คนรุ่นก่อน เริ่มจะไม่เข้าใจภาษาที่สองของคนรุ่นใหม่ว่าด้วยความเท่าเทียมกัน มันเกิดอะไรขึ้น ทำไมคนรุ่นใหม่ถึงสนใจแนวคิดสังคมนิยม ไม่ใช่เพราะเขาไปอ่านทฤษฎีมาร์กซิสต์หรือทฤษฎีสังคมนิยมที่มีความซับซ้อน มันเกิดขึ้นผ่านเงื่อนไขง่ายๆ ที่บอกว่าระบบทุนนิยมมันอัปลักษณ์เกินไป มันสร้างคนจำนวนมากให้เปราะบางและไม่สามารถตั้งคำถามกับชีวิตได้ สร้างคนจำนวนมากให้ยากจนและไร้ศักดิ์ศรี ต้องคุกเข่าค้อมหัวเพื่อให้สามารถมีชีวิตที่ดีขึ้น

ความจนที่ถูกส่งต่อ

แต่โลกนี้ไม่ได้ถูกออกแบบมาให้สำหรับทุกคน ทุกอย่างที่เกี่ยวข้องกับเนื้อตัวร่างกายของเรา ความแก่ชรา ความเยาว์วัยกำลังถูกปล้นชิงโดยระบบทุนนิยม บางอย่างที่พื้นฐานมากเกี่ยวกับชีวิต น้ำประปา ไฟฟ้า อาหารกลางวัน ก็ถูกปล้นชิงและสร้างความเหลื่อมล้ำให้เกิดขึ้น เราอยู่กับสภาพแบบนี้มาอย่างยาวนาน เมื่ออำนาจเผด็จการสืบทอดอำนาจก็ยิ่งทำให้เราไม่สามารถตั้งคำถามกับมันได้ ซ้ำร้ายกว่านั้นความเหลื่อมล้ำที่เกิดขึ้นอยู่กับตัวเราทุกวันนี้ไม่ได้จบที่รุ่นนี้ เรารับความเหลื่อมล้ำจากพ่อแม่และเราก็ส่งต่อไปให้ลูก

จากสถิติของธนาคารโลกความรวยความจนของคนคนหนึ่งในประเทศไทยมีโอกาสส่งต่อให้ลูกหลานถึง 40 เปอร์เซ็นต์ ความจน หนี้ถูกส่งต่อ 40 เปอร์เซ็นต์ ถ้าคุณตายด้วยหนี้ 1 ล้าน หนี้ 4 แสนจะถูกส่งให้ลูกของคุณโดยอัตโนมัติโดยเฉลี่ย รูปธรรมคืออะไร รูปธรรมคือมีเด็กจำนวนมากที่จะไม่ได้เรียนมหาวิทยาลัยแห่งนี้ ไม่ได้เรียนมหาวิทยาลัยทั่วประเทศด้วยภาระทางด้านเศรษฐกิจที่เกิดขึ้น เมื่อทุกคนมีชีวิตที่เปราะบางการเปลี่ยนแปลงของประเทศนี้จึงกลายเป็นสิ่งที่ผูกขาดโดยคนไม่กี่กลุ่มในสังคม เราลองไปดูในสภาผู้แทนราษฎร แม้จะมีการเลือกตั้ง มีสัดส่วนของคนที่ไม่ได้จบปริญญาตรีและได้นั่งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเพียงแค่ 6 คนเท่านั้น ทั้งที่ประชาชนส่วนใหญ่ของประเทศนี้จบชั้น ม. 3

ถ้าคุณเกิดมาในครอบครัวที่มีฐานะดี คุณก็จะสามารถส่งต่อจินตนาการได้เหมือนบทกลอนของวัฒน์ วรรลยางกูรที่เคยกล่าวไว้ว่า ถ้าคุณเกิดมาในครอบครัวที่ร่ำรวย ผูกขาด ความฝันของคุณก็เป็นนายกรัฐมนตรี แต่ถ้าคุณเกิดมาในครอบครัวชาวนา ครอบครัวผู้ใช้แรงงาน ความยากจนก็ถูกส่งต่อให้คุณและจินตนาการในชีวิต จินตนาการในการเปลี่ยนแปลงก็จะหายไป สิ่งเหล่านี้ทำให้ประเทศไทยขาดหายซึ่งจินตนาการของสังคมใหม่เพราะชนชั้นนำผูกขาดความเป็นไปได้ทุกอย่าง

ผูกขาดเพื่อคงความเหลื่อมล้ำ

พวกเขาผูกขาดด้วยสถิติตัวเลขและพร่ำบอกถึงความเป็นไปไม่ได้ แต่วันนี้สิ่งที่เราเห็นในวิกฤตโควิด-19 มีเงินจำนวนมากมายมหาศาลที่ไม่ได้ถูกส่งต่อมา ผมสงสัยอยู่เสมอว่าทำไมผู้คนจะได้รับเงินเยียวยาต้องกรอกยาฆ่าตัวตายเพื่อให้เห็นว่าตัวเองน่าสงสารขนาดไหน กรอกแบบฟอร์มเพื่อพิสูจน์ว่าตัวเองยากจนขนาดไหน แต่กับกลุ่มทุนขนาดใหญ่รัฐบาลกลับแทบจะประเคนให้ เรียกขึ้นมาเพื่อที่จะรับเงินช่วยเหลือเยียวยา ไม่อยากกู้ รัฐบาลก็ยังพยายามประเคนให้สามารถกู้ได้ สิ่งเหล่านี้คือการผูกขาดความเป็นไปได้ของเราชนชั้นนำ

ซ้ำร้ายมากกว่าการผูกขาดข้อมูลเป็นการที่บอกว่า คนจนถ้าได้รับเงินโดยไม่มีเงื่อนไขไม่สามารถจะคิดได้ ไม่สามารถจะวางแผนกับชีวิตได้ คำกล่าวนี้ไม่ได้เป็นคำกล่าวใหม่ กลุ่มอนุรักษ์นิยมเคยวิจารณ์ปรีดี พนมยงค์ไว้ก่อนหน้านี้แล้วว่ารัฐสวัสดิการหรือความเสมอภาคในสังคมไทยเป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้เพราะคนไทยยังไม่พร้อม ซ้ำร้ายกว่านั้นประสบการณ์ในอดีตทำให้พวกเขาพยายามบอกเราว่า เราจำเป็นต้องอยู่ในสังคมแบบนี้ชั่วนาตาปี ไม่สามารถเปลี่ยนแปลงได้ ถ้าไม่พอใจก็ออกจากประเทศนี้ไป ถ้าไม่พอใจระบบนี้ก็ไปอยู่ที่ระบบอื่น ไม่พอใจที่ทำงานนี้ก็ย้ายไปอยู่ที่อื่น นี่คือชีวิตที่เราประสบพบเจอกัน

ประเด็นที่ 2 พวกเขารักษาโครงสร้างเหลืองล้ำแบบนี้ไว้ได้อย่างไร ประการแรกคือการจัดลำดับชั้นของสวัสดิการ ทำให้สวัสดิการกลายเป็นเรื่องของคนจนเท่านั้น เป็นของคนจนที่น่าสงสาร ที่ต้องผ่านการพิสูจน์สิทธิ์ ถ้าใครมีเงินก็ผลักให้ไปต่อสู้ ให้ไปซื้อ สังคมจึงเหลื่อมล้ำมากขึ้น เมื่อคุณมีเงินคุณก็ทำได้ด้วยการก่อกำแพงที่สูงมากขึ้น วันดีคืนดีคุณก็โยนเศษเนื้อข้ามกำแพงมาราวกับว่าประเทศนี้ได้รับการแก้ไขความเหลื่อมล้ำแล้ว แต่สิ่งที่เราเห็นคือลำดับชั้นของสวัสดิการมันเพิ่มสูงขึ้นมากอย่างน่าเศร้า

ที่มาภาพ เพจ สถาบันปรีดี พนมยงค์ Pridi Banomyong Institute

มายาคติเรื่องความไม่พร้อม

ประเด็นถัดมาก็คือคำอธิบายที่บอกว่าเราไม่พร้อม ประการแรกหลายท่านพูดมาเยอะแล้วคือคำอธิบายที่บอกว่าเราไม่มีเงินพอในการสร้างรัฐสวัสดิการ ผมเคยคำนวณมา เราใช้งบประมาณประมาณ 45 ถึง 50 เปอร์เซ็นต์ของงบประมาณรายจ่ายประจำปีในการสร้างรัฐสวัสดิการแบบถ้วนหน้า ไม่ต้องควานหา ไม่ต้องพิสูจน์ความจน เราสามารถทำได้ทันที แต่ปัญหาก็คือจะเพิ่มค่าอาหารเด็ก 1 คนจาก 20 บาทเป็น 21 บาทกระทรวงศึกษาแทบจะเคาะ Excel ให้เราเห็นเลยว่ามันซับซ้อนยังไงกว่าจะเพิ่มขึ้นได้ 1 บาท เวลาที่เราบอกว่าสวัสดิการทั้งหลายทำแล้วมีตัวชี้วัดอะไร ยังไง เรื่องเหล่านี้เขาเก่งแต่กับประชาชน เก่งแต่กับสวัสดิการของประชาชน

ผมอยากชวนถามว่าถนนหนทางต่างๆ ที่ปรากฏอยู่ในท้องถิ่นหรือโครงการต่างๆ มากมายมีการหาตัวชี้วัดแบบนั้นไหม ผมลองเทียบเวลาที่เราพูดว่างบของกระทรวงศึกษามันสูง แต่งบของกระทรวงศึกษานี้มันให้ทุกคนได้ใช้ ลูกหลานของเราได้ใช้ แต่งบกระทรวงกลาโหมมีใครได้ใช้บ้าง นี่คือปัญหาวิธีจัดสรรงบประมาณที่กลายเป็นปัญหาใหญ่ เรามีเงิน แต่เราไม่เคยคิดว่าเรื่องเหล่านี้สำคัญ ไม่คิดว่าลูกหลานของเราควรจะได้เรียนหนังสือฟรีถึงระดับมหาวิทยาลัย ควรจะได้เงินเลี้ยงดูเด็ก ควรจะได้เงินบำนาญให้แก่พ่อแม่เรา

ประเด็นที่สำคัญคือเรามักจะบอกว่าคนไทยไม่พร้อมที่จะเสียภาษีปริมาณเยอะเพื่อสร้างรัฐสวัสดิการ ผมคิดว่าส่วนนี้คือมายาคติชิ้นสำคัญที่เราอาจจะพบในอินโฟกราฟฟิกตั้งแต่ช่วงปี 2557 ว่าประเทศไทยเก็บภาษีได้น้อยจะสร้างรัฐสวัสดิการได้อย่างไร ประเด็นที่ผมอยากย้ำคือทุกวันนี้ทุกคนเสียภาษีมูลค่าเพิ่มและยิ่งคุณมีรายได้น้อยคุณก็ยิ่งเสียมากเมื่อเทียบกับรายได้ คุณมีรายได้ 10,000 เสียภาษีมูลค่าเพิ่ม 7 เปอร์เซ็นต์เท่ากับ 700 บาท แต่ถ้าคุณมีรายได้ต่อเดือน 100,000 บาท คุณใช้ 50,000 บาท อีก 50,000 เก็บไว้ลงทุน การบริโภคของคุณ 50,000 เท่ากับคุณเสียภาษีมูลค่าเพิ่มเมื่อเทียบกับรายได้น้อยกว่าคนส่วนใหญ่ของประเทศ คนจน คนรายได้น้อยแบกรับภาษีส่วนนี้สูง

ถึงกระนั้นก็ตาม ผมเชื่อ ถ้าเราบอกทุกคนว่าให้ยกเลิกภาษีมูลค่าเพิ่ม แล้วจะทำให้เรามีเงินเพิ่มขึ้นเดือนละประมาณสี่ร้อยห้าร้อยบาท แต่ไม่เอาหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า แม่ผม ภรรยาผมอยู่ด้วยสิทธิ์หลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ผมบอกได้เลยว่าไม่มีบ้านไหนที่ใช้อยู่กับระบบนี้แล้วบอกว่าฉันขอรับเงินเพิ่มจากการไม่เสียภาษีมูลค่าเพิ่ม แล้วยกเลิกหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าที่มันคืนชีวิต รักษาชีวิตของผู้คนได้ นี่คือหัวใจใหญ่ มันเป็นเพียงแค่ข้ออ้างของกลุ่มทุนขนาดใหญ่ที่ไม่อยากจัดเก็บภาษีในอัตราก้าวหน้า

ภาษีชนชั้นปรสิต

สุดท้าย เราจะสร้างรัฐสวัสดิการได้อย่างไร อาจารย์ผาสุก พงษ์ไพจิตรได้พูดถึงกระบวนการจัดเก็บภาษีไปแล้ว แต่ส่วนหนึ่งที่ผมอยากจะย้ำและเป็นสิ่งสำคัญที่มีการพูดถึงมากในช่วงวิกฤตโควิด-19 ผมตั้งชื่อมันง่ายๆ ว่าเป็นภาษีชนชั้นปรสิตหรือ Net Wealth Tax ภาษีทรัพย์สินกลุ่มคนมั่งคั่งที่เป็นตะแกรงตัวสุดท้ายในการช้อนเก็บภาษี ที่สเปนเสนอโดยพรรค Podemos ที่อาร์เจนตินามีการผลักดันเสนอเก็บภาษีคนที่มีทรัพย์สินเกิน 80 ล้านบาท ประเทศไทยเอาง่ายๆ ถ้าคุณมีทรัพย์สินเกินสัก 400 ล้านบาทเสีย 3 เปอร์เซ็นต์

คนที่รวยที่สุดในประเทศมีทรัพย์สิน 1 ล้านล้านก็คือเสียภาษีปีละ 3 หมื่นล้านจาก Net Wealth Tax ไม่สนใจว่าคุณเคยเสียภาษีอะไรไป แต่การที่คุณมีล้านล้าน หมื่นล้านในประเทศนี้ได้มันต้องมีอะไรผิดปกติแน่นอน เพราะคุณไม่ได้ขยัน ประหยัด และอดทนมากกว่าคนอื่น นี่คือหัวใจภาษีอีกตัวหนึ่งที่เราจำเป็นต้องพูดถึง

การประนีประนอมและการกราบไม่ทำให้สังคมนี้เสมอภาคมากขึ้น

ประเด็นสุดท้ายที่ผมอยากฝากถึงคนรุ่นใหม่ มีคนรุ่นใหม่คนหนึ่งอายุ 18 ปีเพิ่งสอบติด เขา inbox มาบอกผมว่าเขามาจากต่างจังหวัด เขารู้สึกว่าชีวิตของเขายากลำบากมาก กระแสการย้ายประเทศเป็นสิ่งที่ถูกพูดถึงมากขึ้น แต่เขาบอกว่าเขาไม่มีปัญญาหรอกที่จะย้ายประเทศ มันเป็นเรื่องยาก แม้ว่าคุณจะไปทำงาน เป็นผู้ใช้แรงงานอยู่ต่างประเทศก็ยังเป็นสิ่งที่ยากลำบาก เขาบอกว่าเขาไม่มีปัญญาจะย้ายประเทศหรอก แต่เขาบอกว่าเขาเชื่อว่าเขามีปัญญาที่จะสร้างรัฐสวัสดิการได้ เด็กผู้หญิงอายุ 18 ปีจากต่างจังหวัด แต่เชื่อว่าตัวเองมีปัญญาสร้างรัฐสวัสดิการได้

เพราะฉะนั้นสิ่งที่ผมอยากฝากถึงเพื่อนพรรคการเมืองทั้งฝ่ายค้าน ฝ่ายรัฐบาล ฝากถึงเพื่อนที่กำลังต่อสู้ผลักดันและมีอำนาจพอที่จะเปลี่ยนแปลงได้ สิ่งหนึ่งที่เราจำเป็นต้องทำก็คือเราต้องกดดันพรรคการเมืองให้พูดเรื่องนี้ กดดันให้พวกเขาทำตามพันธสัญญา ทุกท่านเชื่อไหม ทุกพรรคสัญญาเรื่องนี้ แต่เวลาผ่านไป 2 ปีมีพรรคการเมืองที่คุมรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข แต่ปล่อยให้งบบัตรทองถูกตัด มีพรรคการเมืองที่คุมกระทรวงพัฒนาสังคมฯ แต่ปฏิเสธเงินบำนาญถ้วนหน้า พ.ร.บ.บำนาญ ถูกปัดตกไป 5 ฉบับ สิ่งเหล่านี้คือการเยาะเย้ยต่อจิตสำนึกของความเสมอภาคเท่าเทียมกัน เพราะฉะนั้นนี่คือสิ่งที่เราจำเป็นต้องกดดันพรรคการเมืองให้ผลักดันเรื่องนี้

2 ประเด็นสุดท้าย เราต้องเลิกกินข้าวทีละคำ เราสามารถบอกได้ว่าเราจะเอาทั้งหมด สามารถบอกได้ว่านี่คือสิ่งที่เราต้องการ ถ้าคนรุ่นใหม่ไม่คุยกันจะมีอภิสิทธิ์ชนมาคิดแทนเราและบอกว่าเราต้องการแค่นี้ 

ประเด็นสุดท้ายจริงๆ ครับ การประนีประนอมและการกราบไม่ทำให้สังคมนี้เสมอภาคมากขึ้น เขาจะฟังเราได้ยังไงเมื่อเขามีคุก ศาล ทหาร ตำรวจอยู่ในมือ สิ่งที่จะทำให้สังคมนี้เสมอภาคได้คือการยืนยันข้อเสนอของเรา ถ้าเราประนีประนอมตั้งแต่ข้อเสนอของเรายังไม่มีการต่อสู้ ยังไม่มีการทำอะไรเลย แล้วสิ่งเหล่านี้เมื่อเวลาผ่านไปมันจะเหลือเท่าไหร่

ปรีดี พนมยงค์ ผมไม่ทราบเบื้องหลัง เบื้องลึก คนในครอบครัวอาจจะสามารถพูดได้ดีกว่าผม แต่เหนืออื่นใด อย่างน้อยในประวัติศาสตร์ช่วงแรกของการเปลี่ยนแปลงการปกครอง ปรีดี พนมยงค์คือหลักฐานที่ทำให้เราเห็นว่าการต่อสู้และการยืนยัน แม้จะเป็นสิ่งที่ไม่เคยเกิดขึ้น ไม่มีประเทศไหนทำกัน ยังสามารถคิดฝันได้เหมือนกับเด็กอายุ 18 ที่ผมเพิ่งได้คุยมา นี่คือสิ่งที่ผมอยากย้ำ และผมย้ำเหมือนกับทุกครั้ง อาจมีหลายสิบปีที่การต่อสู้ไม่ได้นำสู่การเปลี่ยนแปลงอะไรเลย แต่มันอาจจะมีไม่กี่สัปดาห์ที่จะนำพาให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทุกอย่างที่มีมา ช้าเร็วยังไงเราก็ต้องชนะ

แด่วันที่ 24 มิถุนายน 2475 89 ปีการอภิวัฒน์สยาม 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net