Skip to main content
sharethis

ชาวเลหลายจังหวัดสะท้อนปัญหาวิกฤตเศรษฐกิจยุคโควิด-19 ระลอกสาม ไม่มีเงินซื้อข้าว-หาปลาได้แต่ไม่มีใครซื้อ-ชุมชนราไวย์ปรับตัว ต้องแปรรูปปลาแลกข้าว ถูกซ้ำด้วยการท่องเที่ยวซบเซา แซนด์บ็อกซ์อาจไม่ช่วย ด้านนักวิชาการแนะพัฒนาท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมรับมืออย่างยั่งยืน

ชาวเลราไวย์แปรรูปทำปลาเค็มเพื่อแลกข้าว
 

1 ก.ค. 64 ประชาไทได้รับแจ้งวันนี้ (1 ก.ค.) น.ส.พรสุดา ประโมงกิจ ชาวเลชุมชนแหลมตง เกาะพีพี จ.กระบี่ ซึ่งขณะนี้ตกงาน เปิดเผยว่า ขณะนี้ชาวเลที่อาศัยอยู่ในชุมชนแหลมตง ร้อยละ 80 ในจำนวนทั้งหมด 138 คน 45 ครอบครัว กำลังขาดแคลนข้าวสาร แม้ชาวบ้านยังพอหาปลาได้ แต่กลับไม่มีข้าวสารกิน เพราะไม่มีรายได้ใดๆ และปลาที่หามาได้ก็ไม่รู้จะขายใคร ชาวบ้านส่วนใหญ่ต้องพึ่งพารายได้จากการท่องเที่ยวคือเป็นลูกจ้างตามเรือและรีสอร์ท โดยชาวเลเกินร้อยละ 50 ไม่มีเงินเก็บ จึงต้องติดหนี้ร้านค้าไว้ก่อน ขณะที่ทางการก็ไม่ได้เข้าไปช่วยเหลืออะไรมากนัก

"ตอนแรกพวกเราคิดว่าการท่องเที่ยวดีขึ้นตั้งแต่ปลายปีก่อน แต่จนสิ้นปีก็ไม่มีนักท่องเที่ยวเลย ชาวบ้านส่วนใหญ่เลยหันมาทำประมงกันเยอะ แต่เมื่อได้ปลามาก็ไม่มีตลาดรองรับ ถ้าขนเอามาขายบนฝั่งก็ไม่คุ้มค่าน้ำมัน ตอนนี้พวกเราเลยเป็นหนี้สินเยอะ" น.ส.พรสุดา กล่าว พร้อมระบุว่า ส่วนเด็กๆ ซึ่งแม้โรงเรียนจะเปิดแล้ว แต่ก็ไม่มีเงินไปโรงเรียนกันเลย แม้ที่โรงเรียนจะมีข้าวให้กิน แต่ค่าชุดนักเรียนหรือแม้กระทั่งรองเท้า และถุงเท้า พ่อแม่ก็ไม่มีเงินซื้อให้ลูกๆ

นายวิทวัส เทพสง ผู้ประสานงานเครือข่ายชาวเลอันดามัน กล่าวว่า ปัญหาของชาวเลเกิดจากการหารายได้ไม่ได้ และทรัพยากรน้อยลง เนื่องจากคนที่ตกงานบางส่วนกลับมาก็หากินแบบล้างผลาญคือจับหมดทั้งสัตว์น้ำตัวเล็กตัวใหญ่ ถ้าเป็นเช่นนี้ต่อไปคงยิ่งลำบากอย่างถาวรแน่ ขณะที่ชาวเลเกาะสุรินทร์ จ.พังงา อุทยานฯ ห้ามจับขายทั้งๆ ที่เขามีวิถีจับปลาแลกข้าวสารอาหารแห้ง สถานการณ์หนักขนาดไม่มีอะไรกิน และต้องขอแบ่งข้าวสารจากเพื่อน บางส่วนต้องพึ่งจากข้าวสารจากการบริจาคจากองค์ต่างๆ เป็นหลัก

นายวิทวัส กล่าวว่า ช่วงก่อนหน้ามรสุมปีนี้ ชาวเลเกาะสุรินทร์แทบไม่มีเงินเก็บ เพราะเกิดโควิดและก่อนหน้านั้น แม้ชาวบ้านบางส่วนมีบัตรประชาชน แต่ไม่สะดวกเพราะชาวบ้านไม่มีสัญญาณโทรศัพท์ การรักษาพยาบาลก็ลำบาก เพราะอยู่ไกล ความช่วยเหลือเฉพาะหน้าคือทำให้เขาอยู่ได้คือข้าวสาร มีเรือถูกไฟไหม้ 3-4 ลำยังไม่ได้ซ่อม ไม่มีใครพูดถึงหรือช่วยเหลือเลย บ้าน 95 หลัง ชาวบ้าน 360 คน ที่จริง องค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) และอุทยานฯ พร้อมช่วยเพื่อให้ได้เลขที่บ้าน แต่ชาวบ้านบางส่วนเป็นบัตรเลขศูนย์ ไม่ได้รับการช่วยเหลือ

"ชาวบ้านไม่สามารถสื่อสารออกมาได้ ถ้ากฎหมายไม่ไปครอบเขา ให้เขาได้หากินตามวิถีใช้เครื่องมือประมง 7 ชนิดที่ตกลงกันไว้ ผมเชื่อว่าเขาอยู่กันได้" นายวิทวัส กล่าว

ผลิตภัณฑ์แปรรูป ปลาดองเค็ม
 

นายสนิท แซ่ชั่ว ชาวเลชุมชนราไวย์ จ.ภูเก็ต กล่าวว่า สถานการณ์ของชาวเลยังลำบาก เพราะไม่มีรายได้ และปลาที่หามาได้ก็ขายไม่ได้ ตอนนี้จึงพยายามทำโครงการข้าวแลกปลาโดยการนำปลามาแปรรูป เช่น ตากแห้ง ทำปลาดองเค็ม แต่ก็ไม่มีตลาดที่แลกเปลี่ยนมากนัก หากใครต้องการสามารถติดต่อมาที่ชาวเลชุมชนราไวย์ได้ และตอนนี้กำลังขยายผลไปยังชาวเลเกาะพีพี เพราะที่นั่นชาวเลก็ลำบากมาก เนื่องจากพึ่งพารายได้หลักจากการท่องเที่ยว เมื่อไม่มีนักท่องเที่ยว ชาวบ้านก็ต้องหันมาจับปลา แต่ก็ไม่มีที่ขายเช่นกัน ดังนั้น จึงต้องพยายามหาปลาเพื่อแลกข้าว

เมื่อถามถึงโครงการภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์ของรัฐบาลส่งผลดีกับชาวเลบ้างหรือไม่ นายสนิท กล่าวว่าไม่เลย เพราะวิธีการดังกล่าวมุ่งไปยังธุรกิจขนาดใหญ่โดยนักท่องเที่ยวต่างชาติไปพักตามโรงแรมที่ได้มาตรฐานการท่องเที่ยว ขณะที่ชุมชนชาวเลนั้น นักท่องเที่ยวที่สนใจคือผู้ที่อยากท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมชุมชน

"ภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์ ควรกระจายนักท่องเที่ยวด้วย วันนี้บริเวณหาดราไวย์แม้ยังมีแผงขายปลาสด เงียบเหงา ขายได้แต่นักท่องเที่ยวในจังหวัด ไม่มีต่างชาติเลย แม้ตอนนี้ภายในชุมชนราไวย์ส่วนใหญ่ชาวเลได้ฉีดวัคซีนคนละ 2 เข็มแล้วก็ตาม แต่ที่เรากลัวคือหากเกิดการระบาดระลอก 4 ซึ่งไม่รู้ว่าเชื้อโรคจะกลายพันธุ์ไปอย่างไรบ้าง หากมีชาวเลติดสักคนคงตายกันหมด เพราะพวกเราอยู่กันอย่างแออัด" นายสนิท กล่าว

โครงการใหม่แกะกล่องจากภาครัฐ 'ภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์' คือโครงการกระตุ้นการท่องเที่ยวในประเทศไทย โดยเริ่มที่จังหวัดภูเก็ต นำร่องเป็นที่แรก ผู้ที่จะเดินทางเข้า จ.ภูเก็ต ต้องปฏิบัติตามมาตรการป้องกันโรคสำหรับผู้เดินทางเข้ามาในราชอาณาจักร (Standard Operation Procedures หรือ SOP) ที่เพิ่งประกาศลงราชกิจจานุเบกษา เมื่อค่ำวันที่ 29 มิ.ย. 64 

บีบีซี รายงานเมื่อ 30 มิ.ย. 64 ระบุว่า การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) ตั้งเป้านำนักท่องเที่ยวเข้ามา 100,000 คน และมีเม็ดเงินสะพัดจากการท่องเที่ยวที่ 1.1 หมื่นล้านบาทในช่วง 3 เดือนแรกของโครงการคือเดือน ก.ค.-ก.ย. 64

น.ส.รสิตา ซุ่ยยัง อดีตคนไทยพลัดถิ่น ซึ่งทำงานภาคประชาชนใน จ.ระนอง กล่าวว่า ได้มีโอกาสลงพื้นที่เกาะพยาม จ.ระนอง และรู้สึกแปลกใจที่เห็นเด็กนักเรียนชาวเลเดินลุยน้ำข้ามคลองกว้างราว 120 เมตรเพื่อโรงเรียนเกาะพยาม โดยบริเวณดังกล่าวมีเสาปูนที่ก่อสร้างสะพาน แต่สร้างไม่เสร็จของกรมโยธาธิการ ซึ่งก่อสร้างเมื่อ 7 ปีก่อน เมื่อลงไปที่ชุมชนชาวมอแกน ที่มีประมาณ 80 คน 35 ครอบครัว ได้ข้อมูลว่าเกิดการฟ้องร้องกัน ทำให้การก่อสร้างสะพานไม่แล้วเสร็จ จึงได้ระดมทุนสร้างใช้ไม้ไผ่สร้างเป็นสะพานให้เด็กๆ ได้ใช้เดินข้ามคลองไปโรงเรียนโดยไม่เปียกน้ำ

“สถานการณ์ชาวมอแกนที่นี่ย่ำแย่กว่าหลายพื้นที่ที่เคยไปมา ไม่มีเรือ มีอยู่ 2-3 ลำ เวลาหาปลาก็ถูกกดราคา มีบัตรประชาชนไม่ถึงครึ่ง อยู่กันตามมีตามเกิดและมีคนไปแจกข้าว เราอยากเข้าไปช่วยเหลือทำกระชังและฟาร์มเสตย์ให้มีคนมาเที่ยว

การแก้ปัญหาเฉพาะหน้า มีผู้เฒ่าคนหนึ่งนอนเปียกทั้งคืน เพราะบ้านใช้ผ้าพลาสติกคุมเอาไว้ พอลมพัดก็ขาด เลยคุยกันว่าแก้ป้ญหาอย่างไรไม่ให้เปียกฝน ระดมผ้าห่มที่นอน หมอน ไปให้ ตอนนี้ระดมทุนหากระเบื้องไปให้ ที่นี่ทางเข้าไปลำบากมาก ชาวบ้านไม่ได้รับความช่วยเหลือจากรัฐเลย เงินเยียวยาต่างๆ ก็ไม่ได้ ที่นี่หนักกว่าที่อื่นเยอะเลย น่าเห็นใจมาก แม้เกาะพยาม เป็นแหล่งท่องเที่ยว แต่ชาวมอแกนกลับไม่เป็นที่รู้จัก และได้รับการช่วยเหลือด้านคุณภาพชีวิตใดๆ

ชุมชนชาวเลราไวย์ เกาะสุรินทร์ จังหวัดพังงา
 

ขณะที่ ดร.นฤมล อรุโณทัย ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยสังคม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า ชุมชนชาวเลแต่ละพื้นที่มีปัญหาไม่เหมือนกัน อย่างชาวเกาะพีพีไม่มีปัญหาเรื่องสัญชาติ ชาวเลเกือบทั้งหมดมีบัตรประชาชนแล้ว แต่พื้นที่อยู่อาศัยถูกบีบให้แคบลงเรื่อยๆ ส่วนใหญ่ชาวเลเป็นลูกจ้างด้านการท่องเที่ยว หากใช้ช่วงเวลาที่เกิดวิกฤตโควิดนี้พัฒนาให้เขาจัดการท่องเที่ยว ทำชุมชนให้เป็นท่องเที่ยวทางวัฒนธรรม ถึงมีนักท่องเที่ยวน้อยก็ไม่ต้องไปพึ่งภายนอกมาก เป็นเรื่องราวประวัติศาสตร์ แต่การท่องเที่ยวในมิตินี้ไม่เคยมีอยู่ในเกาะพีพี นักท่องเที่ยวส่วนใหญ่มุ่งมาอาบแดด ดำดูปะการัง ดื่มกิน ซึ่งก็เหมือนกับหลายๆ พื้นที่ในอันดามันที่ชาวเลถูกกลืนหายไปกับการท่องเที่ยว

"ชาวเลเป็นคนกลุ่มแรกที่เข้ามาอยู่บนเกาะพีพี แต่วันนี้พื้นที่อยู่อาศัยของเขากลับเหลือเพียงนิดเดียว หากเราตั้งหลักกันใหม่ในช่วงที่การท่องเที่ยวซบเซานี้ ถ้าเราดึงเอาชุมชนเข้ามาพัฒนาเรื่องการท่องเที่ยวก็จะทันการเปลี่ยนแปลง และรับมือในระยะยาวได้ และตอบโจทย์คุณภาพชีวิตถึงลูกหลาน ดีกว่ามัวแต่มองว่าเมื่อไหร่การท่องเที่ยวจะกลับมา อยากให้รัฐสนับสนุนแนวทางนี้มากกว่านี้ ควรหวนกลับมามองชุมชน แม้เกาะพีพีจะสวยงาม แต่ไม่ได้มองถึงเรื่องวัฒนธรรมเลย" ดร.นฤมล กล่าว

ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยสังคม กล่าวว่า สำหรับชาวเลที่เกาะพยามนั้น พื้นที่แห่งนี้เป็นชุมชนที่ถูกบีบให้ดิ้นรนตั้งแต่ต้น เพราะอยู่เหมือนสุดเกาะแล้ว และวิถีประมงก็มีน้อย เพราะมีเรือไม่กี่ลำ ชาวเลต้องพลอยกันไปหาปลา แต่โชคดีที่มีคนเข้ามาสนับสนุนให้ชาวเลได้เลี้ยงไก่ และพัฒนาด้านการเกษตรเล็กๆ เพื่อให้เด็กๆ ได้มีอาหาร ซึ่งเป็นการดิ้นรนต่อสู้ของคนๆ เดียวไม่มีแรงหนุน และเป็นการมองอนาคตในแง่อาหาร จริงๆ ที่นี่ก็มีประวัติศาสตร์ดึงดูดนักท่องเที่ยวได้เช่นกัน เพราะสามารถเชื่อมโยงกับชาวมอแกนเกาะช้าง เกาะเหลา และชาวมอแกนฝั่งพม่า หากเราพยายามสร้างเข้าใจเรื่องถิ่นที่อยู่ ก็จะเห็นได้ว่า ชาวมอแกนกลุ่มนี้สมัยก่อนก่อนเขาเป็นเจ้าของทะเลกว้างใหญ่ สามารถทำมาหากินในระบบนิเวศย่อยๆ แถบนี้ได้อย่างปกติสุข

ดร.นฤมล กล่าวถึงชุมชนชาวเลที่เกาะสุรินทร์ จ.พังงา ว่าเป็นชาวมอแกนที่ยังรักษาวิถีวัฒนธรรมได้ดีที่สุดของกลุ่มมอแกน ทั้งในเรื่องของภาษา และพิธีกรรม รวมถึงการสร้างเรือกาบาง โดยผู้เฒ่าผู้แก่ยังมีความรู้เรื่องการทำมาหากินแบบคนสมัยก่อน และมีความพยายามถ่ายทอด แต่ยังไม่พอ ที่ผ่านมา 9 หน่วยงานได้ร่วมกันลงนามเพื่อให้พื้นที่เกาะสุรินทร์เป็นเขตคุ้มครองวัฒนธรรม

"ถ้านักท่องเที่ยวมีเป็นโปรแกรมว่ามีการจัดการท่องเที่ยวชุมชนชาวเล จะทำให้เขาสร้างระบบการท่องเที่ยวแบบพึ่งพาได้ และไม่เหมือนสวนสัตว์มนุษย์ให้คนมาถ่ายภาพ การแก้ปัญหาระยะเร่งด่วน คนที่ใกล้ตัวที่สุดคืออุทยานฯ ต้องสนับสนุนชาวบ้านหากเขาต้องการเอาปลามาแลกข้าวก็ควรอยู่กันแบบเอื้อเฟื้อ เหมือนสมัยก่อนที่อยู่กันแบบพึ่งพากัน ชาวมอแกนมักเอาปลาแลกกับข้าวสาร และเครื่องใช้ในครัว ถ้ามีระบบแบบนี้ก็ดี เพราะไม่เน้นเรื่องการขอและการให้ ชาวเลเก่งในบางด้าน แต่บางที่ก็ต้องอะลุ่มอล่วยกัน ถ้าห้ามเลยก็ไม่เป็นประโยชน์กับทุกฝ่าย" ดร.นฤมล กล่าว

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net