Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

เมื่อต้นฤดูฝนของปีนี้ ผมมีโอกาสไปเยือนชุมชนแห่งไกลแห่งหนึ่งในพื้นที่อำเภอแม่ลาน้อย จังหวัดแม่ฮ่องสอน ซึ่งเป็นจังหวัดของผมเอง ตามทางที่ผมขับรถผ่านไป เป็นถนนลูกรังสลับกับถนนคอนกรีต มีหมู่บ้านอยู่ประปราย สองฟากฝั่งถนนเป็นพื้นที่ทำไร่ ส่วนใหญ่มีความลาดชัน มีพื้นราบบ้างตามฝั่งแม่น้ำ นานๆ จะเห็นนาสักผืน ผืนไร่ทอดยาวสุดตาไปตามร่องเขา และขึ้นไปจนเกือบจะสุดยอดเขา พื้นดินเกลี้ยงเกลาจนแทบไม่เห็นหญ้าสักเส้น ช่วงที่ชันๆ จะเห็นมีร่องน้ำเซาะเป็นทางยาวลงมาข้างล่าง ซึ่งเป็นผลมาจากน้ำไหลลงมาเมื่อยามฝนตกแรง บางช่วงตะกอนดินไหลลงมากองตามพื้นถนน บางแห่งมีคนสะพายถังโมโดพ่นยา กำลังฉีดพ่นอะไรบางอย่างบนพื้นดิน ผมถามอดีตผู้ใหญ่บ้านที่นั่งรถไปด้วยว่าพื้นที่แถวนี้เขาปลูกอะไร ก็ได้คำตอบว่าส่วนใหญ่ปลูกข้าวโพด   

แม้กระทั่งชนบทห่างไกลอย่างชุมชนชนเผ่าในจังหวัดแม่ฮ่องสอน การใช้ชีวิตปกติของคน ก็มีความจำเป็นที่จะต้องใช้เงินไม่ต่างจากคนในเมือง แต่ช่องทางการหาเงินที่ชาวบ้านมองเห็นก็จำกัดมากๆ ข้าวโพดจึงเป็นพืชเศรษฐกิจที่ชาวบ้านปลูกเพื่อทำเงินรายได้ แม้ว่าทุกคนจะรู้ว่าปลูกข้าวโพดอาจจะมีปัญหาตามมาไม่ช้าก็เร็ว แต่จะทำอย่างไรได้เมื่อทุกชีวิตก็อยากลืมตาอ้าปาก พวกเขามีครอบครัวและลูกๆ ที่ต้องเลี้ยงดูและส่งไปโรงเรียน มีหนี้ก้อนโตพร้อมดอกเบี้ยที่ต้องใช้คืน และค่าใช้จ่ายที่จำเป็นต่อชีวิตอีกจำนวนมาก 

ผมคิดว่าเราต้องยอมรับความจริงว่าการใช้พื้นที่เพาะปลูกบนพื้นที่ลาดชันสูง ด้วยการถางเป็นบริเวณกว้าง ใช้สารเคมีอย่างไม่บันยะบันยัง จะทำให้สิ่งแวดล้อมเสื่อมโทรม ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อคนในที่สุด แต่ผมก็คิดว่าปัญหานี้จะโทษชาวบ้านผู้ทำมาหากินอย่างเดียวไม่ได้ เพราะพฤติกรรมของชาวบ้านเป็นเพียงผลปลายทางที่ผู้มีอำนาจทำให้เกิดเท่านั้น

ในภาพรวมของประเทศไทย ข้อมูลจากสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรระบุว่า ในปี พ.ศ. 2562 ทั่วประเทศมีพื้นที่เพาะปลูกข้าวโพดทั้งหมด 6,534,000 ไร่ ได้ผลผลิต 4,222,000 ตัน มูลค่ารวมทั้งหมด 32,129 ล้านบาท จังหวัดที่มีพื้นที่เพาะปลูกมากที่สุดคือจังหวัดน่าน สำหรับจังหวัดแม่ฮ่องสอน มีพื้นที่เพาะปลูก 52,854 ไร่ ได้ผลผลิต 42,651 ตัน มูลค่าทั้งหมด 323.8 ล้านบาท ซึ่งน้อยมากเมื่อเทียบกับจังหวัดอื่นๆ 

ในยุคสมัยที่คนเมืองใหญ่พูดถึงเทคโนโลยี คุณภาพชีวิตและสะดวกสบาย เทรนด์นโยบายการบริหารของเมืองจึงพูดถึง ความปลอดภัย ความสุข พื้นที่สีเขียว การเรียนรู้ โอกาส และการเปิดกว้างสู่นานาชาติ แต่เมื่อหันไปดูสภาพความเป็นอยู่ของหมู่บ้านชนบทห่างไกลแล้ว พวกเขายังต้องพึ่งพิงตนเองทุกอย่าง โดยที่การมีอยู่ของเขาไม่อยู่ในสายตาของรัฐ นานๆ ทีโครงการจากเศษเงินเล็กๆ น้อยๆ ในกองภาษีมหึมาจะตกมาถึง แต่ก็แน่ละ มันเป็นเศษเงิน จึงไม่ต้องถามหาความเพียงพอและคุณภาพ ทางเลือกในการหารายได้เลี้ยงชีพของชาวบ้านเหล่านั้นจึงมีเพียงน้อยนิด 

ปัญหาป่าเสื่อมโทรม มีสาเหตุสำคัญหลายประการ แต่สาเหตุสำคัญประการหนึ่ง คือ ความยากจนของประชาชนในชนบท มีตัวอย่างของประเทศเกาหลีใต้ ที่ในช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่สองต่อเนื่องถึงสงครามกลางเมือง ปัญหาเศรษฐกิจและการเมือง ทำให้ประชาชนเผชิญกับภาวะความยากจน รัฐบาลก็ไม่สามารถอุดหนุนได้ ผู้คนจำเป็นต้องใช้ทรัพยากรจากป่าเพื่อการดำรงชีวิตและแผ้วถางป่าเป็นที่ดินทำกิน พอหลังสงครามกลางเมืองจบลงปรากฏว่าทั้งประเทศเหลือพื้นที่ป่าเพียง 35% เท่านั้น ทำให้เกิดปัญหาภัยพิบัติต่างๆ ตามมา 

สำหรับประเทศไทยนั้น ผมคิดว่าปัญหาความยากจน ก็เป็นสาเหตุสำคัญประการหนึ่ง ที่ทำให้ชาวบ้านจำนวนมาก จำเป็นต้องขยายพื้นที่ทำกิน พวกเขารู้ว่านั่นเป็นวิธีการที่ไม่ถูกและเสี่ยงที่จะถูกจับกุมดำเนินคดี แต่ก็เป็นเพียงช่องทางเดียวที่เขามองเห็นได้ว่าจะทำให้มีรายได้เพิ่ม แต่การกล่าวหาชาวบ้านฝ่ายเดียวเป็นสิ่งที่ไม่ถูก เพราะเบื้องหลังของปัญหาที่แท้จริงคือความเหลื่อมล้ำในนโยบายของรัฐบาล ที่เอาทรัพยากรมหาศาลไปอุ้มนายทุน เอาใจชนชั้นกลาง แล้วทิ้งให้คนชายขอบดิ้นรนหาทางเอาตัวรอดเอง หากการดิ้นรนของใครไปขวางหูขวางตาผู้มีอำนาจ เขาก็กล่าวหาว่าผิดกฎหมายและอาจจะจับติดคุก

ท่ามกลางเสียงก่นด่าชาวบ้านเมื่อเห็นภาพเขาหัวโล้น คนส่วนใหญ่ไม่ได้ตระหนักว่าชาวบ้านเหล่านั้นต้องเผชิญกับปัญหาอะไรบ้าง ที่เป็นรูปธรรม เช่น ที่ดินไม่มีเอกสารสิทธิ์ ไม่มีระบบชลประทาน ไม่มีตลาดรองรับพืชที่เป็นศักยภาพของท้องถิ่น ไม่มีการอุดหนุนจากรัฐอย่างจริงจัง ไมมีสหกรณ์ในท้องถิ่น พูดอย่างตรงไปตรงมา สภาพเช่นนี้จะทำชาวบ้านจะลืมตาอ้าปากได้อย่างไร หลายคนอาจจะบอกว่าทำไมไม่ทำอย่างโน้น ทำไมไม่ทำอย่างนี้ แต่ผมขอบอกว่าพวกคนที่พูดแบบนั้น เขาไม่ได้อยู่ในสถานะเดียวกับชาวบ้าน พวกเขามีเงิน มีงานดี มีการศึกษาดี มีโอกาสดี พวกเขายังอยู่ได้อย่างสบายจากเงินเดือนหรือบำนาญแม้พืชที่ปลูกจะล้มตายหมด หรือเน่าจนทิ้งให้เป็นปุ๋ย พวกเขาส่วนใหญ่มีสวัสดิการจากเงินภาษีทำให้ครอบครัวไม่เดือดร้อน

การสนับสนุนให้ชาวบ้านมีรายได้จากรัฐไม่เป็นจริง ที่มีบ้างส่วนใหญ่ก็เป็นการอบรมแบบสอนเด็กประถม ลงทะเบียนสองวันแต่ทำกิจกรรมจริงครึ่งวัน, แจกเมล็ดพันธ์ ปุ๋ย สารเคมีคุณภาพต่ำแบบเสียมิได้, พาผู้นำชุมชนไปดูงานที่นำกลับมาทำจริงไม่ได้ ที่ดูเหมือนจะทำได้อย่างมีประสิทธิภาพคือการปล่อยเงินกู้ผ่าน ธกส. 

นโยบายที่อุดหนุนเกษตรกรก็ถูกกีดกัน เช่น ช่วงต้นปีนี้ รัฐบาลมีนโยบายอุดหนุนเงินให้เกษตรกรผ่านโครงการโคกหนองนาโมเดล โดยให้เงินจ้างเครื่องจักรปรับที่ดิน แต่โครงการนี้อนุญาตเฉพาะที่ดินที่มีเอกสารสิทธิ์เท่านั้น ทำให้กลุ่มชาติพันธุ์บนพื้นที่สูงเข้าไม่ถึงสิทธิเหล่านี้       

ทุกคนอยากเห็นพื้นที่ป่าเพิ่มขึ้น อยากอยู่ในสิ่งแวดล้อมที่ดี แต่สิ่งแวดล้อมที่ดีจะเกิดขึ้นได้ต้องทำในภาพรวม มองให้เห็นความเชื่อมโยงระหว่างสาเหตุที่แท้จริงและปรากฏการณ์ที่เกิดเบื้องหน้า ไม่ใช่การโทษชาวบ้านด้วยความคิดแบบตื้นๆ  

ตามที่อินทิรา คานธี นายกรัฐมนตรีของอินเดียหลายสมัย เคยกล่าวในที่ประชุมนานาชาติครั้งหนึ่งว่า เราจะพูดถึงการรักษาสิ่งแวดล้อมที่ดีได้อย่างไร ในเมื่อคนในประเทศยังยากจน นั้น ประเทศเกาหลีใต้ได้พิสูจน์ให้เห็นแล้วว่า เมื่อรัฐบาลแก้ไขปัญหาความยากจนให้คนชนบทได้ ด้วยวิธีการทำให้คนสามารถสร้างรายได้จากการทำให้มีพื้นที่ป่า ด้วยนโยบายที่ชาญฉลาดและตั้งอยู่บนข้อเท็จจริง พื้นที่ป่าของเกาหลีใต้เพิ่มขึ้นเป็น 64% ในระยะเวลาเพียง 20 ปี 

สำหรับกรณีของประเทศไทยนั้น ผมคิดว่าเรามีศักยภาพที่ดีอยู่แล้ว และคนก็พร้อมที่เลิกปลูกข้าวโพดบนดอย หากมีทางเลือกอื่นที่ทำรายได้ได้ดีกว่า แต่การเสนอความเห็นใดๆ ต่อผู้มีอำนาจย่อมไร้ความหมาย หากโครงสร้างอำนาจรัฐไม่เปลี่ยน 

หากสังคมต้องการเห็นประเทศไทยมีพื้นที่ป่าเพิ่ม มีสิ่งแวดล้อมที่ดิน ก็หลีกไม่พ้นเรื่องการเมืองซึ่งเป็นศูนย์กลางอำนาจรัฐ ต้องร่วมกันทำให้รัฐบาลเป็นรัฐบาลที่เป็นประชาธิปไตย เป็นรัฐบาลที่เห็นประโยชน์ของประชาชนจริงๆ แล้วทำการปรับเปลี่ยนระบบกฎหมายให้ทันสมัยและเป็นธรรม ดำเนินนโยบายที่ชาญฉลาด และใช้ผู้บริหารที่มีความรู้ความสามารถจริง อย่างน้อยต้องทำให้คนชนบทมีรายได้พร้อมๆ กับการเพิ่มพื้นที่ป่า 
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net