งานวิจัยระบุ เขตเศรษฐกิจพิเศษลุ่มน้ำโขงทำให้อาชญากรรมเพิ่มสูงขึ้นในพื้นที่

รายงานจากองค์กรวิจัยเรื่องเครือข่ายอาชญากรรมข้ามชาติระบุว่า โครงการเขตเศรษฐกิจพิเศษลุ่มน้ำโขงในอาเซียนหลายประเทศที่มีผู้ลงทุนจากจีน ส่งผลกระทบทางลบทั้งสิ่งแวดล้อม การยึดที่ดินประชาชน และทำให้พื้นที่เหล่านี้กลายเป็นแหล่งรวมอาชญากรรมหลายรูปแบบ รวมถึงแก๊งอาชญากรรมจากจีนเข้ามาปฏิบัติการด้วย

สื่อเรดิโอฟรีเอเชียรายงานเรื่องมีการวางพื้นที่มากกว่า 100 แห่งพื้นที่แม่น้ำโขงให้เป็น "เขตพัฒนา" หนึ่งในพื้นที่เหล่านี้คือเขตเศรษฐกิจพิเศษ Yatai Shwe Kokko (SEZ) ที่ทางการพม่าอ้างว่าเป็นการสร้างการเติบโตทางเศรษฐกิจและเอื้อผลประโยชน์ทางวัตถุต่อชุมชนท้องถิ่น โดยที่โครงการนี้มีจีนหนุนหลังในวงเงินเทียบเท่า 15,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (ราว 480,000 ล้านบาท) ซึ่งเป็นเมกะโปรเจกต์ที่จะตั้งอยู่ในทางตะวันออกเฉียงใต้ของรัฐกะเหรี่ยงริมแม่น้ำ Thaungyin 

อย่างไรก็ตามในช่วงไม่กี่เดือนที่ผ่านมาพื้นที่ดังกล่าวนี้กลายเป็นที่อื้อฉาวจากการที่ ศูนย์เพื่อการวิจัยกลาโหมขั้นสูง (C4ADS) ซึ่งเป็นศูนย์วิจัยเกี่ยวกับเครือข่ายอาชญากรรมข้ามชาติเปิดเผยรายงานว่าพื้นที่เมกะโปรเจกต์พม่าที่มีจีนหนุนหลังนี้กลายเป็นแหล่งซ่องสุมของอาชญากรรมผิดกฎหมาย

พื้นที่ที่เรียกว่า Shwe Kokko นิวซิตี เป็นโครงการที่ได้รับเงินทุนจากบริษัทพัฒนาที่เรียกว่า Yatai อินเตอร์เนชันแนล ร่วมทุนกับ Chit Lin Myaing คอมพานี และมีเจ้าของเป็น กองกำลังคุ้มกันชายแดนรัฐกะเหรี่ยง ซึ่งเป็นกองกำลังชาติพันธุ์กะเหรี่ยงที่ถูกบบีบบังคับให้กลายเป็นฝ่ายเดียวกันกับกองทัพพม่า พื้นที่นี้เป็นส่วนหนึ่งของเขตเศรษฐกิจพิเศษ Myanmar Yatai Shwe Kokko 

แต่พื้นที่นี้ก็กลายเป็นแหล่งอาชญากรรมเพราะมีการบังคับใช้กฎหมายของประเทศที่ย่อหย่อน มีการกระจายตัวของความรับผิดชอบมากเกินไป และขาดแผนการพัฒนา

ข้อมูลเหล่านี้มาจากรายงาน 76 หน้าของ C4ADS ที่เรียกว่า "โซนเอาท์ : การประเมินผลกระทบอย่างครอบคลุมของเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษแม่โขง" โดยในรายงานฉบับนี้มีการระบุชื่อกลุ่มคนที่ลงทุนในเขตเศรษฐกิจพิเศษแม่น้ำโขงทั้งที่เป็นทางการและอย่างไม่เป็นทางการรวม 110 ราย มี 40 รายในกัมพูชา, 15 รายในลาว, 20 รายในพม่า, 16 รายในไทย และ 19 รายในเวียดนาม ซึ่งมีการอาศัยเข้าถึงข้อมูลที่เปิดเผยต่อสาธารณะในการพิจารณาเรื่องการพัฒนาเศรษฐกิจ, อาชญากรรม และภูมิศาสตร์การเมือง

รายงานของ C4ADS ยังรวบรวมข้อมูลทั้งเรื่องกิจกรรมของตัวบุคคล สถานที่ การเปลี่ยนแปลงที่พบได้จากภาพถ่ายดาวเทียม ข้อมูลแสงกลางคืน รวมถึงการวิจัยเชิงปริมาณจากอาชญากรรมและภูมิศาสตร์การเมือง รวมถึงข้อมูลด้านการทุจริตคอร์รัปชัน, การเสื่อมโทรมของสิ่งแวดล้อม, ความขัดแย้งเรื่องที่ดิน, การลักลอบขนยาเสพติด, และการลับลอบขนลำเลียงสัตว์ป่า

Shwe Kokko ไม่ได้เป็นแค่พื้นที่เดียวที่พื้นที่เศรษฐกิจพิเศษกลายเป็นพื้นที่เกิดปัญหาเช่นนี้ การศึกษาวิจัยพบว่าในการที่การตั้งพื้นที่เป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษทำให้เกิดการเร่งการพัฒนาก็จริงแต่ปัญหาต่างๆ ที่เขตเศรษฐกิจพิเศษเหล่านี้ก่อไว้กลับกลายเป็นตัวบ่อนทำลายไม่ได้ได้รับประโยชน์จากการเติบโตทางเศรษฐกิจเหล่านี้

C4ADS ระบุอีกว่าการที่สามารถเข้าถึงข้อมูลเรื่องเขตพัฒนาพิเศษแม่น่ำโขงได้จำกัดนั้นยังส่งผลร้ายต่อทั้งรัฐบาลในประเทศที่ทำโครงการนั้นๆ และต่อชุมชนท้องถิ่นด้วย พวกเขาเสนอว่าควรจะมีการจัดให้เกิดความร่วมมือระหว่างผู้มีส่วนได้ส่วนเสียต่างๆ ทั้งฝ่ายรัฐบาล, องค์กรรากหญ้า, ภาคส่วนเอกชน และภาคประชาสังคม เพื่อเพิ่มความโปร่งใสและทำให้ผลลัพธ์ออกมาใกล้เคียงกับเป้าหมายที่วางไว้มากขึ้น

รายงานระบุว่า ถ้าหากเขตเศรษฐกิจพิเศษไม่มีการจัดการอย่างเหมาะสมก็จะกลายเป็นพื้นที่บ่มเพาะอาชญากรรมข้ามชาติในรูปแบบต่างๆ และกลายเป็นอุบายในทางภูมิศาสตร์การเมือง สิ่งที่ทำให้สถานการณ์แย่ลงไปอีกคือการไม่สามารถเข้าถึงข้อมูลการพัฒนาเหล่านี้ได้ ทำให้ทั้งผู้วางนโยบายและผู้สังเกตการณ์ไม่สามารถหาข้อสรุปในแบบที่มีข้อมูลประกอบได้ในพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบ

ประเด็นปัญหาเหล่านี้ถูกมองว่ามาจากการปล่อยปละละเลย ไม่มีการกำกับดูแลกระบวนการที่ให้จีนเข้ามาใช้ประโยชน์จากพื้นที่ของประเทศ เช่นมีเรื่องของเขตพัฒนาใน Shwe Kokko ที่มีการปล่อยให้เช่าด้วยสัญญา 70 ปี และเป็นได้ที่จะต่ออายุไปจนถึง 99 ปี ซึ่งเป็นการฝ่าฝืนกฎหมายของพม่าที่กำหนดให้สามารถปล่อยเช่าที่ดินเขตเศรษฐกิจพิเศษได้สูงสุด 50 ปีเท่านั้น นอกจากนี้ผู้ที่เข้ามาเช่าใหม่ยังจ่ายค่าเช่าแค่ครึ่งหนึ่งของราคาจริงเท่านั้น

การปล่อยปละละเลยไม่มีการกำกับดูแลยังส่งผลให้มีการยึดที่ดินทำกินของผู้คนอย่างผิดกฎหมาย และมีกลุ่มแก็งค์อาชญากรรมจากจีนเข้ามาก่อเหตุต่างๆ หลังจากโครงการสร้างเสร็จแล้ว ทั้งการปอกเงินและการทำลายสิ่งแวดล้อมในพื้นที่ มีการตั้งข้อสังเกตว่า She Kailun ประธานชาวจีนของบริษัท Yatai International เคยตกเป็นผู้ต้องหาที่ถูกตัดสินให้มีความผิดฐานดำเนินธุรกิจล็อตเตอร์รีผิดกฎหมายที่สร้างรายได้ให้เขา 300 ล้านดอลลาร์มาก่อน

ก่อนหน้านี้ในสมัยรัฐบาลพลเรือนพรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตยหรือเอ็นแอลดี เคยมีการประกาศแผนการแก้ไขปัญหาอาชญากรรมที่เกิดขึ้นในพื้นที่ Shwe Kokko มาก่อน ไม่ว่าจะเรื่องปัญหาการยึดที่ดินของประชาชน ผลกระทบจากบ่อนที่มีต่อชุมชน และอาชญากรรมอื่นๆ นอกจากนี้ยังมีการปราบปรามแก็งค์อาชญากรรมสัญชาติจีนที่เข้ามาในพื้นที่ รวมถึงมีการเรียกร้องให้กองทัพแห่งชาติบังคับใช้กฎหมายใน Shwe Kokko แต่หลังจากที่มีการรัฐประหารเกิดขึ้นในวันที่ 1 ก.พ. ที่ผ่านมา ก็ไม่มีใครรู้ชะตากรรมของ Shwe Kokko ว่าจะเป็นอย่างไรต่อไป

รายงานระบุว่าความกำกวมทางกฎหมาย การขาดการกำกับดูแลที่ดีพอจากรัฐบาลพม่า และการจัดการที่ย่ำแย่ของเขตเศรษฐกิจทำให้เกิดปัจจัยทางลบที่มาจากภายนอกหลายต่างต่อ Shwe Kokko ไม่ว่าจะเป็นอาชญากรรม, การสูญเสียอำนาจทางภูมิศาสตร์การเมือง และสิ่งแวดล้อมที่เสื่อมโทรมลง โดยไม่มีผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจที่ตกถึงมีพื้นที่ท้องถิ่นเองเลย

Aung Naing Oo รัฐมนตรีด้านการลงทุนและความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจระหว่างประเทศภายใต้รัฐบาลทหารยุคหลังรัฐประหารกล่าวว่า มีการอนุมัติโครงการใน Shwe Kokko ในช่วงสมัยรัฐบาลพลเรือนแล้วแต่ขอบเขต "กิจกรรมทางธุรกิจ" ที่เกิดขึ้นขยายออกไปกว้างมากกว่าที่เสนอไว้ และเขามองว่าควรจะต้องมีการหยุดยั้งเรื่องนี้ เช่นการสร้างโรงแรมและสถานที่อื่นๆ ที่เกิดขึ้นโดยไม่ได้อยู่.นข้อเสนอเดิม

รายงานของ C4ADS ยังได้นำเสนอกรณีอื่นๆ ที่เขตเศรษฐกิจพิเศษจีนทำพิษ เช่น กรณีบ่อเต่นในลาวที่เขตเศรษฐกิจพิเศษทำให้เกิดการลักลอบค้าสัตว์อย่างผิดกฎหมายโดยมีการลักลอบค้าสัตว์ใกล้สูญพันธุ์อย่างตัวนิ่ม เขตเศรษฐกิจพิเศษสามเหลี่ยมทองคำก็มีปัญหาทั้งการค้ายาเสพติดและการลักลอบขนสัตว์ป่าย่างผิดกฎหมาย

ปัญหาเหล่านี้ถูกมองว่ามาจากการแผ่ขยายอิทธิพลจีนที่ส่วนหนึ่งอาศัยนโยบายการริเริ่ม "หนึ่งแถบ หนึ่งเส้นทาง" (Belt and Road Initiative) ที่ก่อปัญหาให้กับเขตเศรษฐกิจสีหนุวิลล์ไม่ว่าจะเป็นเรื่องอัตราการก่ออาชญากรรมที่เพิ่มสูงขึ้น ค่าเช่าที่สูงขึ้น, โครงสร้างพื้นฐานที่ล้นเกิน และการทำลายวัฒนธรรมท้องถิ่นในเมืองสีหนุวิลล์

รายงานระบุว่ามีการพูดถึงเรื่องที่ทางการจีนใช้อิทธิลกดดันให้กัมพูชาสั่งแบนการพนันออนไลน์ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการปราบรามการพนันจากจีน แต่การสั่งแบนนี้ก็ทำให้เศรษฐกิจในพื้นที่สีหนุวิลล์ชะงักงัน ทำให้คนหลายพันคนออกจากเมือง

นักวิจัยระบุว่าพวกเขาอยากให้มีการพัฒนาศูนย์ข้อมูลที่เปิดกว้างเกี่ยวกับเขตเศรษฐกิจพิเศษเหล่านี้โดยอาศัยข้อมูลจากเทคโนโลยีต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นภาพถ่ายดาวเทียม, แสงกลางคืน, การวิเคราะห์ประมวลผลข้อมูลด้วยการเรียนรู้ของปัญญาประดิษฐ์ และมีการจัดตั้งหน่วยเฉพาะกิจที่ประกอบด้วยคนจากหลายภาคส่วนวิชาชีพเพื่อแก้ไขปัญหาผลกระทบทางลบจากโครงการพัฒนาเหล่านี้

เรียบเรียงจาก

Mekong River Region Economic Zones Draw Illegal Actors — Report, Radio Free Asia, 25-06-2021
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท