Skip to main content
sharethis

ศบค. รายงานไทยพบผู้ป่วยโควิด-19 เพิ่ม 6,230 ราย สะสม 277,151 ราย เสียชีวิตเพิ่ม 41 ราย สะสม 2,182 ราย ทั้งประเทศมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น - เตือนสายพันธุ์เดลตา ติดต่อง่าย กทม.ระบาดหนัก 70% - อภ.แจงเหตุยังไม่เซ็นสัญญาวัคซีนโมเดอร์นา รอ รพ.เอกชนรวบรวมส่งเงินมัดจำ

3 ก.ค. 2564 ศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.) รายงานสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ในประเทศวันนี้ ว่า พบผู้ติดเชื้อรายใหม่ 6,230 ราย โดยแบ่งเป็นติดเชื้อในประเทศ 5,936 ราย จากเรือนจำ/ที่ต้องขัง 294 ราย พบผู้ป่วยยืนยันสะสม 277,151 ราย รักษาหายป่วยเพิ่ม 3,159 ราย สะสม 217,499 ราย กำลังรักษาอยู่ 57,470 ราย แบ่งเป็นรักษาในโรงพยาบาล 28,539 ราย และโรงพยาบาลสนาม 28,931 ราย เป็นผู้ป่วยอาการหนัก 2,045 ราย ใส่เครื่องช่วยหายใจ 589 ราย เสียชีวิตเพิ่ม 41 ราย รวมเสียชีวิต 2,182 คน

ผู้ติดเชื้อรายใหม่แบ่งเป็นผู้ติดเชื้อในประเทศ 6,230 ราย เป็นผู้ติดเชื้อจากระบบเฝ้าระวังและระบบบริการ 4,412 ราย จากการค้นหาเชิงรุกในชุมชน 1,520 ราย จากเรือนจำ/ที่ต้องขัง 294 ราย และผู้เดินทางมาจากต่างประเทศเข้า State Quarantine 4 ราย

สำหรับผู้เสียชีวิตทั้ง 41 ราย ชาย 21 ราย หญิง 20 ราย กทม. 29 ราย ยะลา สมุทรสาคร จังหวัดละ 2 ราย กาญจนบุรี กำแพงเพชร ฉะเชิงเทรา นนทบุรี นครนายก ระนอง อ่างทอง อุดรธานี จังหวัดละ 1 ราย โรคประจำตัวยังเป็นปัจจัยเสี่ยง มากสุดความดันโลหิตสูง เบาหวาน อายุค่ากลาง 66 ปี อายุน้อยสุด 30 ปี อายุมากสุด 88 ปี ทุกรายเป็นชาวไทย

แนวโน้มทั้งในประเทศ ภาพรวมการแพร่ระบาดมากขึ้น โดยเฉพาะ กทม. ปริมณฑล และ 4 จังหวัดภาคใต้ สถานที่เสี่ยงโรงงาน โรงเรียน แคมป์ก่อสร้าง ชุมชนของแรงงาน สถานที่ทำงาน ตลาด และบ้าน ปัจจัยเสี่ยงในการติดเชื้อสัมผัสผู้ป่วยจากที่บ้าน สถานประกอบการ สถานที่ทำงาน ส่วนผู้ป่วยอาการหนัก ทั้งประเทศมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น เนื่องจากเคสต่างจังหวัดเพิ่มขึ้น ส่วน กทม. และปริมณฑล มีแนวโน้มคงที่ ผู้ป่วยที่ต้องใช้เครื่องช่วยหายใจ ทั้งประเทศมีแนวโน้มผู้เสียชีวิตลดลง โดย กทม. ปริมณฑล พบจำนวนผู้เสียชีวิตลดลง

10 อันดับ ผู้ติดเชื้อโควิด-19 ในประเทศ วันที่ 3 ก.ค. 2564 คือ 1. กรุงเทพมหานคร 1,971 ราย 2. สมุทรปราการ 479 ราย 3. ปทุมธานี 448 ราย 4. ชลบุรี 294 ราย 5. สมุทรสาคร 277 ราย 6. นนทบุรี 257 ราย 7. ปัตตานี 197 ราย 8. สงขลา 172 ราย 9. นครปฐม 169 ราย 10. ยะลา 159 ราย

ส่วนจังหวัดอื่นๆ ยังมีการพบคลัสเตอร์ใหม่
- นครปฐม พบ 2 คลัสเตอร์ใหม่ ในมหาวิทยาลัย กำแพงแสน 6 ราย และโรงงานเฟอร์นิเจอร์ สามพราน 11 ราย
- ชลบุรี พบคลัสเตอร์ใหม่โรงงานน้ำแข็งที่บางละมุง ติดเชื้อแล้ว 56 ราย

ทั้งนี้ หลายจังหวัดที่เหลือยังคงพบการติดเชื้อเพิ่มเติมในคลัสเตอร์เดิม ที่พบต่อเนื่อง

ขณะที่ยอดรวมผู้ติดเชื้อโควิด-19 ระลอกเดือนเมษายน เริ่มตั้งแต่ 1 เม.ย. 64 เป็นต้นมา พบผู้ติดเชื้อแล้ว 248,288 ราย หายป่วยสะสม 190,073 ราย เสียชีวิตสะสม 2,088 ราย

สถานการณ์โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ทั่วโลก วันเสาร์ที่ 3 กรกฎาคม 2564 เวลา 10.00 น. ยอดผู้ติดเชื้อรวม 183,850,940 ราย อาการรุนแรง 78,081 ราย รักษาหายแล้ว 168,276,817 ราย เสียชีวิต 3,979,901 ราย

อันดับประเทศที่มีผู้ติดเชื้อสูงสุด
1. สหรัฐอเมริกา จำนวน 34,580,198 ราย
2. อินเดีย จำนวน 30,501,189 ราย
3. บราซิล จำนวน 18,687,469 ราย
4. ฝรั่งเศส จำนวน 5,780,648 ราย
5. รัสเซีย จำนวน 5,561,360 ราย

ประเทศไทย อยู่ในอันดับที่ 67 จำนวน 277,151 ราย

เตือนสายพันธุ์เดลตา ติดต่อง่าย กทม.ระบาดหนัก 70%

ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยาคลินิก ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวถึงอัตราส่วนการพบสายพันธุ์เดลตา ระบุสายพันธุ์เดิมเริ่มแรกคือสายพันธุ์อู่ฮั่น ระบาดในระลอกแรกของประเทศไทย ต่อมาสายพันธุ์ G ติดได้ง่ายกว่าจึงพบกระจายทั่วโลก และกลับมาระบาดที่สมุทรสาครระลอกที่ 2 น่าจะมาจากเมียนมา

สายพันธุ์อัลฟาหรืออังกฤษ ติดได้ง่ายกว่า 1.7 เท่าสายพันธุ์ G จึงเข้ามาระบาดและรอบที่ 3 ที่สถานบันเทิงทองหล่อ โดยเหมือนกับสายพันธุ์กัมพูชา สายพันธุ์เดลตาหรืออินเดีย เริ่มพบในคนงาน ก่อสร้าง ระบาดได้ง่ายกว่าสายพันธุ์อัลฟาอยู่ 1.4 เท่า สายพันธุ์เดลตาติดได้ง่ายมาก ก็จะเกิดการระบาดเพิ่มขึ้นเป็นโรค 4 บนยอดของการระบาดระลอก 3

ณ ขณะนี้ที่กรุงเทพฯ จากการศึกษาวิจัยของศูนย์กว่า 700 ตัวอย่าง ในเดือนที่ผ่านมา พบว่าอัตราส่วนในการพบสายพันธุ์เดลตา สูงขึ้นเร็วมาก จนขณะนี้ส่วนใหญ่ร้อยละ 70 ของผู้ป่วยเป็นสายพันธุ์เดลตา ดังแสดงในรูป สายพันธุ์เดลตาติดต่อได้ง่ายมาก ดังนั้นในบางครั้งจะไม่รู้เลยว่ารับเชื้อมาจากที่ใด และการระบาดจะเพิ่มสูงขึ้นอีกอย่างมาก

การดูแลป้องกันลดการระบาด จึงเป็นหน้าที่ของทุกคน ในการปฏิบัติตัวอย่างเคร่งครัด ระเบียบวินัย ใส่หน้ากากอนามัยตลอด ล้างมือใช้แอลกอฮอล์เป็นนิจ กำหนดระยะห่าง ลดจำนวนการรวมคน และต้องตระหนักเสมอว่า โอกาสที่จะติดโรคเกิดขึ้นได้ตลอดเวลา ถ้าไม่จำเป็นอยู่บ้านจะดีที่สุด นพ.ยง กล่าว

อภ.แจงเหตุยังไม่เซ็นสัญญาวัคซีนโมเดอร์นา รอ รพ.เอกชนรวบรวมส่งเงินมัดจำ

นพ.วิฑูรย์ ด่านวิบูลย์ ผอ.องค์การเภสัชกรรม ชี้แจงถึงการสั่งซื้อวัคซีนทางเลือกว่า องค์การเภสัชกรรมได้ทำงานเชิงรุกมาตลอด โดยมีการติดต่อเจรจาการสั่งซื้อวัคซีนทางเลือก โดยเฉพาะโมเดอร์นาได้ประสานโดยตรงกับสหรัฐ ไปตั้งแต่ 25 ก.พ. 2564 ซึ่งล่าสุด โมเดอร์นา สหรัฐฯ ตอบกลับมาว่าเนื่องจากมีความต้องการวัคซีนเป็นจำนวนมาก จึงทำให้วัคซีนไม่เพียงพอต่อความต้องการของแต่ละประเทศ แต่ทั้งนี้ในส่วนของประเทศไทย ได้ดำเนินการตามระเบียบขั้นตอนแล้ว รวมถึงประสานกับหน่วยงานงบประมาณ แต่เนื่องจากในสัญญาการสั่งซื้อวัคซีนจำนวนมากถึง 20 ล้านโดส จำเป็นจะต้องมีความรอบคอบในเงื่อนไขของสัญญา ซึ่งบริษัทผู้ผลิตระบุเงื่อนไขในสัญญากับผู้ซื้อทั่วโลกว่าจะต้องมีการวางเงินจองวัคซีนโดยจ่ายเงินล่วงหน้า รวมถึงหากไม่มีการส่งตามกำหนดเวลาสัญญา ก็จะต้องไม่มีค่าปรับ เป็นต้น ทำให้องค์การเภสัชกรรมต้องศึกษาเงื่อนไขต่าง ๆ อย่างรอบคอบ เนื่องจากรัฐบาลและ ศบค.ให้ความสำคัญเป็นพิเศษ

ทั้งนี้ เหตุผลที่ล่าช้าเนื่องจากงบประมาณของภาครัฐไม่ได้ถูกจัดสรรมาให้องค์การเภสัชกรรม จึงจำเป็นต้องใช้งบประมาณจากโรงพยาบาลเอกชนที่รวบรวมเงินมัดจำการจองวัคซีนพร้อมข้อมูลผู้จอง ส่งมาให้องค์การเภสัชกรรมก่อน ซึ่งภายในสัปดาห์หน้าจะมีการเจรจาและเซ็นสัญญาอย่างเป็นทางการ องค์การเภสัชกรรมได้ทำสัญญาไว้รออยู่แล้ว

อย่างไรก็ตาม เมื่อย้อนไปก่อนหน้านี้เมื่อวันที่ 2 เม.ย. 2564 บริษัทโมเดอร์นาแจ้งว่าอยู่ระหว่างการเจรจากับบริษัทซีลลิค เป็นผู้จำหน่ายแต่เพียงผู้เดียว และหวังว่าจะสรุปสัญญากับบริษัท ซิลลิค ให้เร็วที่สุด แต่ล่าสุด 15 พ.ค. 2564 โมเดอร์นาแจ้งว่าการจัดซื้อวัคซีนต้องจัดซื้อผ่านตัวแทนภาครัฐเท่านั้น ก็คือองค์การเภสัชกรรม เนื่องจากเป็นข้อกำหนดของบริษัทผู้ผลิตวัคซีน เพื่อใช้ในสถานการณ์ฉุกเฉิน โดยองค์การเภสัชกรรมจะสั่งซื้อและนำมามอบให้โรงพยาบาลเอกชนอีกต่อหนึ่ง ดังนั้นภาครัฐจึงไม่มีการจัดสรรงบประมาณ จึงต้องทำงานร่วมกันกับโรงพยาบาลเอกชนกว่า 300 โรงพยาบาลทั่วประเทศ ที่ขณะนี้มีความต้องการวัคซีนมากถึง 9 ล้านโดส ในขณะที่การสั่งซื้อในปีนี้ได้เพียง 4 ล้านโดส และในปีหน้าอีก 1 ล้านโดส รวมเป็น 5 ล้านโดส

บริษัทผู้ผลิตวัคซีนโมเดอร์นา ยืนยันการส่งมอบสามารถส่งให้ไทยได้ในไตรมาส 4 ของปีนี้ หรือไตรมาส 1 ปีหน้า จึงขอให้ประชาชนเข้าใจถึงกระบวนการ นี่คือเหตุผลว่าทำไมองค์การเภสัชถึงยังไม่ได้มีการเซ็นสัญญา เพราะระหว่างนี้ต้องรอให้โรงพยาบาลเอกชนรวบรวมข้อมูลการจองและเงินจากการจองวัคซีนมาก่อนที่จะเซ็นสัญญา หากจะให้องค์การเภสัชไปเซ็นสัญญาก่อนไม่สามารถทำได้ เพราะรับผิดชอบไม่ไหว เนื่องจากราคาที่แพงและมีจำนวนมาก เมื่อได้รับเงินจากโรงพยาบาลเอกชนแล้ว องค์การเภสัชกรรมจะได้ดำเนินการเซ็นสัญญากับบริษัทซีลลิคในต้นเดือนหน้า

ส่วนความคืบหน้าล่าสุดของการจัดซื้อวัคซีนไฟเซอร์ ในวันจันทร์ที่ 5 ก.ค.นี้ ทางสำนักงานอัยการสูงสุดดำเนินการตรวจสอบตรวจสอบเงื่อนไขสัญญาการสั่งซื้อวัคซีนไฟเซอร์ ได้ตรวจสอบเงื่อนไขของสัญญาเรียบร้อยแล้ว และนำส่งมายังรัฐบาลเพื่อพิจารณาให้ความเห็นชอบ โดยจะต้องนำเข้าพิจารณาในที่ประชุมคณะรัฐมนตรีในวันอังคารที่ 6 ก.ค.นี้ ก่อนที่จะลงนามสั่งซื้ออย่างเป็นทางการได้ และองค์การเภสัชกรรมจะเร่งดำเนินการเจรจาเพื่อให้การส่งมอบเร็วขึ้น เนื่องจากพบว่ามีความต้องการของประชาชนที่สูงมากเช่นกัน

 

ที่มาเรียบเรียงจาก ผู้จัดการออนไลน์ | สำนักข่าวไทย [1] [2]

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net