Skip to main content
sharethis

กรณีเกิดอัคคีภัยโรงงานกิ่งแก้ว 'พิธา' ชี้รัฐไม่เห็นหัวประชาชน ประยุทธ์ไม่สั่งการตั้งศูนย์บัญชาการบริหารจัดการเฉพาะหน้า ถอดบทเรียนในอนาคต ย้ำเสียใจนายกฯ ปัดร่าง พ.ร.บ.อากาศสะอาด PRTR พรรคก้าวไกล ชี้ชัดแก้ไขได้อย่างตรงจุด ยกระดับคุณภาพชีวิตประชาชน

 

5 ก.ค.2564 ทีมสื่อพรรคก้าวไกลรายงานว่า วันนี้ (5 ก.ค.64) พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล พร้อมด้วย ส.ส.พรรคก้าวไกล ลงพื้นที่ศูนย์อพยพ อบต.บางพลีใหญ่ เพื่อเยี่ยมเเละให้กำลังใจประชาชนจากกรณีที่ได้รับผลกระทบจากเหตุอัคคีภัย จากโรงงานผลิตเม็ดพลาสติกเเละโฟม ระเบิด บริเวณซอยกิ่งแก้ว 21 ต.ราชาเทวะ อ.บางพลี จ.สมุทรปราการ โดยยังไม่สามารถควบคุมเพลิงได้ เเละสารเคมีกระจายรัศมีรอบบริเวณกว่า 5 กิโลเมตร 

พิธา กล่าวว่า ในวันนี้ตนได้มาลงพื้นที่ศูนย์อพยพ พร้อมด้วยทีมส.ส.สมุทรปราการ พรรคก้าวไกล อย่างเเรกที่ตนได้เห็นคือน้ำใจของประชาชนที่ได้ช่วยเหลือซึ่งกันเเละกันอย่างที่สองคือ ต้องชื่นชมการบริหารจัดการขององค์การบริหารส่วนตำบลราชาเทวะ ที่ได้บริหารจัดการอย่างเป็นระบบ และอำนวยความสะดวกต่อประชาชนในพื้นที่ แต่จริงๆเเล้วเป็นหน้าที่ของรัฐบาลกลางที่จะต้องจัดการในภาวะสถานการณ์ฉุกเฉิน ทั้งในเรื่องของมลพิษทางอากาศที่กระจายทั่วบริเวณทั้งในพื้นที่อ.บางพลี เเละในส่วนติดต่อของพื้นที่กรุงเทพมหานคร รัฐบาลควรที่จะลงพื้นที่ช่วยเหลือเเละบริหารจัดการเฉพาะหน้าเเละถอดบทเรียนในอนาคตว่าจะสามารถช่วยเหลือบุคลากรที่เปรียบเสมือนด่านหน้า อาทิ นักดับเพลิงควรที่จะได้รับจัดสรรอุปกรณ์อย่างครบถ้วน หรือบุคคลที่อยู่หลังเหตุการณ์เช่น เรื่องของสุขภาพประชาชนที่ รัฐบาลควรลงพื้นที่เกิดเหตุจะได้เห็นเหตุการณ์จริง อย่างกรณีตน หากนั่งประชุมอยู่ในห้อง กรรมาธิการงบประมาณ ไม่ได้มาลงพื้นที่เพื่อรับฟังปัญหาพี่น้องประชาชน เกิดมีเหตุการณ์อะไรที่คาดไม่ถึงเกิดขึ้น ตนก็ไม่สามารถบัญชาการได้ แต่ที่ได้มาลงพื้นที่ในวันนี้ได้รับรู้ผลกระทบของพี่น้องประชาชน ตนจึงเริ่มเข้าใจในปัจจัยหลักที่จะช่วยป้องกันไม่ให้เกิดเหตุการณ์เช่นนี้ในอนาคต อาทิ ระบบเตือนในโรงงาน ระบบเตรียมในพื้นที่ที่มีสารเคมีหนาแน่น เเละกฎหมายต่างที่ควรทำให้เกิดความโปร่งใสว่า สารเคมีอยู่ที่ไหน ทั้งหมดนี้ เราสามารถคิดได้ตั้งเเต่ภายใน ชั่วโมงข้างหน้า ไปจนถึงอาทิตย์ข้างหน้า ไปจนถึงในอนาคตเพื่อไม่ให้เหตุการณ์เหล่านี้เกิดขึ้นอีก เพราะเวลามันเกิดขึ้นจริง ราคาที่ต้องจ่ายมันสูงมาก ต้นทุนสูงมาก ทั้งต้นทุนมลพิษเเละต้นทุนสุขภาพ ชีวิตประชาชน 

พิธา กล่าวต่อไปถึงกรณีที่ร่างพระราชบัญญัติส่งเสริมอากาศสะอาดของพรรคก้าวไกล ที่ถูกพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ตีตกโดยให้เหตุผลซ้ำซากว่าเป็นกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการเงินว่า ร่างพ.ร.บ.ของพรรคร่วมฝ่ายค้าน ถูกนายกรัฐมนตรีปัดตกหมด ไม่ว่าจะเป็นร่างพ.ร.บ.เเรงงาน , ร่าง พ.ร.บ.เกณฑ์ทหาร , ร่างพ.ร.บ.การศึกษา รวมถึง พ.ร.บ.ส่งเสริมอากาศสะอาด ( PRTR ) ซึ่งจะเป็นร่างพ.ร.บ.ที่ทำให้เกิดความโปร่งใสของการจัดเก็บสารเคมี เมื่อมันเกิดความโปร่งใส่ขึ้นรัฐก็บริหารจัดการได้ง่ายขึ้น ประชาชนในพื้นที่ก็สามารถเลือกได้ด้วยตัวเอง หากต้องการอาศัยบริเวณไหน โดยเลือกจากเเหล่งมลพิษ สารเคมี สิ่งเเวดล้อม ที่ไม่ใช่เป็นเรื่องไกลตัวออกไป ประกอบการตัดสินใจให้ทุกคนมีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหา ไม่ใช่การผลักภาระให้ประชาชน เเละองค์การบริหารส่วนท้องถิ่นในการจัดการและแก้ไขปัญหา สิ่งที่เกิดขึ้นคือนายกปัดร่างพ.ร.บ.ที่สำคัญ เป็นกลยุทธ์ที่ทำให้รัฐสภาไม่สามารถพัฒนาได้ในอนาคต  ตนต้องการให้รัฐสภาได้เป็นสถาบันที่มีอำนาจทำหน้าที่ถ่วงดุลระบบนิติบัญญัติ ผลักดันกฎหมายที่ก้าวหน้าที่จะใช้แก้ไขปัญหาให้กับพี่น้องประชาชน หากพรรคก้าวไกลได้เป็นรัฐบาล เมื่อถึงวันนั้นหากกฎหมายไม่ได้เอื้ออำนวย เราไม่สามารถทำอะไรได้ เเละหากคนอื่นเป็นรัฐบาลก็ไม่สามารถทำอะไรได้เช่นกัน 

“ หากผมได้เป็นนายกรัฐมนตรี สิ่งเเรกที่จะทำในวันนี้ คือ ตั้งศูนย์บัญชาการ เพื่อที่จะไม่หายไป ถึงเเม้ผมจะติดโควิดอยู่อย่างน้อยก็ยังที่จะสามารถบัญชาการได้ ในการแก้ปัญหารวบรวมทั้งสาธารณสุข ทั้งกรมบรรเทาสาธารณภัยเเละกรมควบคุมมลพิษ ให้มาอยู่ด้วยกันเพื่อหาข้อมูลเพิ่ม พอรู้เเล้วว่า ต้นเหตุของโรงงานคือสารไซรีนโกโนเมอร์ ที่กรมอุตสาหกรรม มีคู่มือเฉพาะในการปฐมพยาบาล ในการระงับเหตุฉุกเฉินในการดำเนินการหลังจากเกิดเหตุ รู้เเล้วว่ามีอยู่ 2 โรงงาน ในประเทศไทยที่เป็นแหล่งผลิตใหญ่ขนาดนี้ คือ โรงงานนี้ เเละอีกโรงงานในเครือปตท. ผมก็ต้องการที่ปรึกษาจากภาคเอกชนที่น่าจะรู้ดีมากกว่าราชการเเละรัฐบาลในการแก้ไขปัญหาการดับเพลิงได้เร็วที่สุด มาเป็นที่ปรึกษาผมเเละสามารถที่จะตัดสินใจ ซึ่งในคู่มือระบุว่า ใช้น้ำไม่ได้ ผมไม่แน่ใจว่าการใช้ฝนหลวงมาแก้ไขเหตุการณ์มันจะช่วยได้หรือไม่ และสิ่งที่รัฐบาลต้องทำหลังจากนี้คือการตรวจร่างกายเจ้าหน้าที่กู้ภัย ดับเพลิง และประชาชนกลุ่มเสี่ยง ได้แก่คนแก่ เด็กเล็ก หญิงตั้งครรภ์ ในรัศมี 5 กม. เพื่อตรวจวัดสารพิษที่รางกายได้รับจากเหตุการณ์นี้ และดูแลประชาชนที่ได้รับผลกระทบต่อเนื่องในระยะยาว เพราะผลกระทบจากการรับสารเคมีมักแสดงผลหลังเกิดเหตุหลายเดือน" พิธากล่าว  

ขณะที่วุฒินันท์ บุญชู ส.ส.สมุทรปราการ เขต 4 พรรคก้าวไกล ในฐานะส.ส.ในพื้นที่เกิดเหตุกล่าวว่า เหตุการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้นประมาณเวลา 03.30 น. ของวันที่ 5 กรกฎาคม โดยมีเจ้าหน้าที่ดับเพลิงปฏิบัติการเข้าควบคุมพื้นที่ตั้งแต่ช่วง 06.00 น.เป็นต้นมา  แต่ปัญหาเกิดขึ้นในเวลา 09.00 น. สถานการณ์รุนเเรงเพิ่มขึ้น ไม่สามารถควบคุมเพลิงได้ และหลังจากนั้นมัเหตุระเบิดอีกหลายครั้ง จากสารเคมีในพื้นที่โรงงานที่เกิดเหตุ โดยนายอำเภอบางพลี ได้ออกประกาศเป็นพื้นที่ฉุกเฉิน จัดอพยพประชาชนในพื้นที่บริเวณรัศมี 5 กิโลเมตร ให้ออกจากพื้นที่ทั้งหมด อาทิ พนักงานบริษัทรอบบริเวณที่เกิดเหตุ เเละประชาชนที่อาศัยในพื้นที่ทั้งหมด โดยจัดตั้งศูนย์พักพิง 5 แห่ง ในอำเภอบางพลี โดยมีประชาชนอพยพเข้ามาแต่ละแห่งจำนวน 200-300 ราย โดยได้รับความร่วมมือจากประชาชนช่วยบริจาค ข้าวสาร อาหารแห้ง ให้แก่ประชาชนผู้ได้รับอพยพอย่างเต็มที่

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net