บอร์ด สปสช. สรุปผลตรวจสอบหน่วยบริการเรียกเก็บเงินเป็นเท็จ พร้อมจัดระบบใหม่ป้องกันการเกิดซ้ำ   

คณะอนุกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงกรณีหน่วยบริการเรียกเก็บค่าใช้จ่ายเพื่อบริการสาธารณสุขอันเป็นเท็จเผยผลการสอบสวนกรณีคลินิกชุมชนอบอุ่นทุจริตเบิกจ่ายเงินส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรคในพื้นที่ กทม. พบทุจริต 288 แห่ง มูลค่าความเสียหาย 334 ล้านบาท และก่อให้เกิดความเสียหายอื่นๆ รวมเป็น 691 ล้านบาท ด้านบอร์ด สปสช. มีมติยกเลิก อปสข. กทม. รวมถึงคณะทำงานทั้งหมด โดยแต่งตั้งผู้ที่มีความเป็นกลางทำหน้าที่แทน รวมทั้งยกเลิกอำนาจการบริการเงินกองทุนในเขตด้วย มอบ สปสช. จัดระบบใหม่ป้องกันเกิดเหตุซ้ำ

5 ก.ค.2564 ทีมสื่อ สปสช. รายงานว่า ที่สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติฯ ถ.แจ้งวัฒนะ คณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บอร์ด สปสช.) ได้ประชุมพิจารณาวาระผลการตรวจสอบข้อเท็จจริงและการดำเนินการ กรณีหน่วยบริการเรียกเก็บค่าใช้จ่ายเพื่อบริการสาธารณสุข กิจกรรมสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรค ปีงบประมาณ 2562 เป็นเท็จ  

อนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ในฐานะประธานกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ กล่าวว่า ในช่วงเดือน ส.ค. 2562 ทางสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) เทต 13 กทม. ได้ตรวจพบพฤติกรรมของคลินิกชุมชนอบอุ่น 18 แห่งและคลินิกทันตกรรม 2 แห่ง ใน กทม. ที่เชื่อได้ว่าทุจริตทำหลักฐานเท็จมาเบิกเงินสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรคจากกองทุนบัตรทอง ซึ่งหลังจากนั้น สปสช. ได้ขยายผลการตรวจสอบการเบิกจ่ายของคลินิกชุมชนทั้งหมดในพื้นที่ กทม. รวมทั้งสิ้น 214 แห่ง โดยแบ่งการตรวจสอบเป็น 5 เฟส และระงับ/เรียกเงินคืนจากคลินิกชุมชนอบอุ่น คลินิกทันตกรรม โรงพยาบาลเอกชนที่มีความผิดปกติในการเบิกจ่ายเงิน และได้ยกเลิกสัญญากับหน่วยบริการเหล่านั้นด้วย 

อนุทิน กล่าวว่า การกระทำของหน่วยบริการเหล่านี้ถือเป็นการทุจริต เงินงบประมาณจากภาษีที่ควรถูกนำไปใช้ดูแลสุขภาพของประชาชนกลับไม่ได้ถูกใช้จริง ทำให้ประชาชนไม่ได้รับบริการด้านสุขภาพอย่างแท้จริง ด้วยเหตุนี้ตนจึงได้มอบนโยบายให้ สปสช. ดำเนินการให้ถึงที่สุด ซึ่งนอกจากเรียกเงินคืนและยกเลิกการเป็นคู่สัญญากับ สปสช. แล้ว ยังได้ดำเนินการแจ้งความทั้งอาญาและแพ่ง รวมทั้งส่งเรื่องไปยังกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (สบส.) ในฐานะผู้กำกับดูแลหน่วยบริการเอกชนให้พิจารณาตามกฎหมายที่เกี่ยวข้อง ตลอดจนส่งเรื่องไปยังแพทยสภาพิจารณาดำเนินการทางจริยธรรม 

ซึ่งในวันนี้ที่ประชุมบอร์ด สปสช. ได้มีการประชุมติดตามความก้าวหน้าผลการตรวจสอบดังกล่าวและได้มีมติให้ดำเนินการทางกฎหมายต่อไปตามกระบวนการ ไม่ว่าจะเป็นการส่งข้อมูลหลักฐานไปยังศูนย์อำนวยการต่อต้านการทุจริตแห่งชาติ การปรับอำนาจหน้าที่ของคณะอนุกรรมการหลักประกันสุขภาพระดับเขต (อปสข.) พร้อมทั้งมอบ สปสช. ปรับระบบบริการและบริหารการจ่ายใหม่เพื่อป้องกันการเกิดเหตุซ้ำ และมาตรการเร่งด่วนคือให้ปรับปรุงองค์ประกอบ อปสข.กทม. โดยยกเลิก อปสข.กทม. และคณะทำงานที่เกี่ยวข้องทั้งหมด รวมทั้งปรับปรุงแก้ไขอำนาจหน้าที่เกี่ยวกับอำนาจการบริหารกองทุนระดับเขตพื้นที่ 

หลังจากนั้น ได้มีการแถลงข่าว ผลการตรวจสอบข้อเท็จจริงและการดำเนินการ กรณีหน่วยบริการเรียกเก็บค่าใช้จ่ายเพื่อบริการสาธารณสุข กิจกรรมสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรค ปีงบประมาณ 2562 เป็นเท็จ ดังนี้  

จิรวุสฐ์ สุขได้พึ่ง กรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ และประธานคณะอนุกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงกรณีหน่วยบริการเรียกเก็บค่าใช้จ่ายเพื่อบริการสาธารณสุขอันเป็นเท็จ กล่าวว่า จากการตรวจสอบข้อมูลหลักฐานพบการเบิกชดเชยกรณีการให้บริการสร้างเสริมสุขภาพป้องกันโรคกิจกรรมตรวจคัดกรองความเสี่ยงต่อการเกิดโรคในกลุ่มภาวะเมตาบอลิก ปีงบประมาณ พ.ศ. 2562 เข้าข่ายเป็นการทุจริตเป็นความผิดอาญา จำนวน 211 แห่ง แยกเป็นคลินิกชุมชน จำนวน 176 แห่ง โรงพยาบาลเอกชน จำนวน 35 แห่ง นอกจากนี้ได้มีการตรวจสอบกรณีชดเชยกิจกรรมทันตกรรมสร้างเสริมป้องกันโรคและทันตกรรมรักษาของหน่วยบริการในพื้นที่กรุงเทพมหานคร ปีงบประมาณ พ.ศ. 2562 – 2563 ของหน่วยบริการคลินิกทันตกรรม จำนวน 79 แห่ง พบความผิดปกติของการเบิกชดเชยกรณีการให้บริการทันตกรรม จำนวน 77 แห่ง ซึ่งเข้าข่ายเป็นการกระทำทุจริตผิดกฎหมายอาญา การกระทำดังกล่าวทั้ง 2 กรณีนั้น เป็นมูลค่าความเสียหาย 324 ล้านบาท และก่อให้เกิดความเสียหายอื่นๆ ต่อสำนักงานหลักประกันสุขภาพในเบื้องต้น รวมเป็นค่าเสียหายทั้งสิ้นประมาณ 691 ล้านบาท 

ในส่วนของผู้กระทำผิดจำแนกได้เป็น 1. ผู้ประกอบกิจการสถานพยาบาล ผู้ดำเนินการสถานพยาบาล  2. ผู้ให้ความร่วมมือ ช่วยเหลือ สนับสนุน อำนวยความสะดวกให้หน่วยบริการกระทำผิด และ 3. ผู้เป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติ หรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ นอกจากนี้ยังพบว่า มีบุคคล นิติบุคคล หรือผู้ประกอบกิจการสถานพยาบาลฯ รายเดียวกันเปิดสถานพยาบาลหลายแห่ง แบ่งเป็นกลุ่มสถานพยาบาลได้อำนวย 28 กลุ่มสถานพยาบาล 

จิรวุสฐ์ กล่าวด้วยว่า ในด้านการตรวจสอบการบริหารจัดการขึ้นทะเบียนฯ พบว่า คลินิกเอกชนสามารถขึ้นทะเบียนเป็นหน่วยบริการประจำมีสิทธิได้รับเงินโดยตรงจาก สปสช. ได้ โดยการขึ้นทะเบียนเป็นหน่วยบริการประจำ สปสช. จะต้องผ่านการคัดเลือกและมีคุณสมบัติ ตามเกณฑ์ที่ สปสช. กำหนด ซึ่งคณะทำงานภายใต้อนุกรรมการฯ เห็นว่า คลินิกเอกชนที่มาขึ้นทะเบียนมีคุณสมบัติต่างจากคลินิกเอกชนที่เปิดให้บริการโดยทั่วไป  และเมื่อตรวจสอบเงื่อนไขการจ่ายเงินค่าบริการส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรคพบว่า มีการให้สิทธิรับบริการกับบุคคลสิทธิอื่นนอกจากสิทธิบัตรทอง 

ด้านตรวจสอบการบริหารจัดการพบว่า หน่วยบริการได้รับเงินเหมาจ่ายรายหัว และได้รับเงินสนับสนุนลักษณะงบลงทุนอื่นด้วย เช่น ค่าเช่าอาคาร ค่าจัดซื้อวัสดุครุภัณฑ์ฯ และหากมีการปรับปรุงด้านการบริหารจัดการภายในก็สามารถปรับปรุงพัฒนาระบบการตรวจสอบ และควบควบคุมการเบิกชดเชยค่าบริการสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรคให้มีประสิทธิภาพมากขึ้นได้ 

คณะอนุกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงได้รายงานผลการตรวจสอบข้อเท็จจริงและเสนอมาตรการเพื่อป้องกันและปรับปรุงแก้ไข จำนวน 7 มาตรการ ซึ่งที่ประชุมบอร์ด สปสช. ได้มีมติรับทราบผลการตรวจสอบข้อเท็จจริงและเห็นชอบกับมาตรการต่าง ๆ ตามที่เสนอ และให้ส่งข้อมูล/หลักฐานไปยังศูนย์อำนวยการต่อต้านการทุจริตแห่งชาติ นอกจากนี้ยังได้เห็นชอบการปรับอำนาจหน้าที่ของ อปสข. ใหม่ ให้สอดคล้องกับภารกิจ โดยยกเลิก อปสข.กทม. รวมทั้งคณะทำงานทั้งหมด และแต่งตั้งผู้ที่มีความเป็นกลางทำหน้าที่แทน ให้ยกเลิกอำนาจการบริหารการเงิน รวมทั้งปรับปรุงแก้ไขอำนาจหน้าที่เกี่ยวกับอำนาจการบริหารกองทุนระดับเขตพื้นที่ แต่ยังคงอำนาจในการกำกับติดตามและประเมินผลการบริหารกองทุนในเขตพื้นที่ และทำหน้าที่ให้คำแนะนำต่อบอร์ด สปสช. 

นอกจากนี้บอร์ด สปสช. ยังได้ยกเลิกหลักเกณฑ์การขึ้นทะเบียนหน่วยบริการคู่สัญญา โดยให้ใช้หลักเกณฑ์กลางของหน่วยงานที่ทำหน้าที่โดยตรงแทน และปรับระบบบริการและบริหารการจ่ายใหม่ รวมทั้งมอบหมายให้ปรับโครงสร้างบุคลากรและการทำงานของ สปสช. เขต 13 กทม. อีกด้วย 

นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาธิการ สปสช. กล่าวว่า สำหรับการป้องกันเพื่อไม่ให้เกิดเหตุการณ์เช่นนี้ในอนาคตนั้น สปสช. จะดำเนินการตามข้อเสนอของคณะอนุกรรมการตรวจสอบฯ ที่ผ่านการเห็นชอบจากบอร์ด สปสช. ประกอบด้วย 1. มาตรการป้องกันหน่วยบริการกระทำความผิดซ้ำ ให้จัดทำทะเบียนศักยภาพของหน่วยบริการและบุคลากร ปรับปรุงระบบการพิสูจน์ตัวตนผู้รับ / ผู้ให้บริการ และใช้ระบบ AI ในการตรวจสอบการจ่ายเงินชดเชย  

2. สปสช. จะตรวจสอบศักยภาพคลินิกชุมชนอบอุ่นก่อนขึ้นทะเบียนเป็นหน่วยบริการประจำ พร้อมกับทบทวนหลักเกณฑ์การจ่ายเงิน QOF หรือการจ่ายค่าใช้จ่ายตามเกณฑ์ผลงานและคุณภาพบริการ (Quality and Outcome Framework: QOF) รวมถึงงบบริการทางการแพทย์ที่เบิกจ่ายในลักษณะงบลงทุน พิจารณาประเด็นเรื่องความหลากหลายในการจ่าย  

3.มาตรการพัฒนาและปรับปรุงกฎหมาย ข้อบังคับระเบียบ ประกาศที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะ สปสช.จะพิจารณาประเด็นการให้ผู้มีส่วนได้เสียเข้ามาเป็นกรรมการหรืออนุกรรมการตามกฎหมาย ตามข้อบังคับ ระเบียบ ประกาศของ สปสช.  

4.สปสช.จะตรวจสอบเอกสารการเรียกเก็บค่าใช้จ่ายการตรวจคัดกรองเมตาบอลิกตั้งแต่ปี 2560-2563 ขยายการตรวจสอบการเบิกจ่ายค่าบริการส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรคของหน่วยบริการเอกชนในพื้นที่ปริมณฑล และสถานพยาบาลมิตรไมตรีคลินิกทุกแห่ง โดยเลือกสุ่มตรวจตามหลักวิชาการในการ Audit  

5.ดำเนินการกับผู้ที่ก่อให้เกิดความเสียหายต่อระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ 6.ดำเนินคดีเรียกร้องค่าเสียหายทางแพ่ง  

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท