อานนท์ นำภา: ขบวนการคนรุ่นใหม่หลังจากนี้กับภารกิจ ‘คนเท่ากัน’

การแก้ไขรัฐธรรมนูญเริ่มเดินหน้า แต่ไม่สามารถปิดสวิตช์ ส.ว. ระบอบประยุทธ์ยังคงอยู่ ไม่มีการแตะหมวด 1 หมวด 2 หรือการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ ขณะที่แกนนำคนรุ่นใหม่หลายคนถูกตั้งข้อหา 112 ติดเงื่อนไขศาล แต่อานนท์ยืนยันว่าจะไม่ลดเพดานการพูด ทั้ง 3 ข้อเรียกร้องต้องไปพร้อมกัน แต่จะปรับยุทธวิธีการเคลื่อนและสื่อสาร เขามั่นใจว่าเวลาอยู่ข้างคนรุ่นใหม่และชัยชนะบนท้องถนนคือตัวตัดสิน

  • อานนท์กล่าวว่ามีแต่ชัยชนะบนท้องถนนเท่านั้นจึงจะสามารถนำไปสู่การแก้ไขรัฐธรรมนูญหมวด 1 หมวด 2 และปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ เพราะหากไม่ปฏิรูปสถานการณ์จะวนกลับมาเหมือนเดิม ดังนั้น การแก้ไขรัฐธรรมนูญ การรื้อระบอบประยุทธ์ และการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ต้องดำเนินไปควบคู่กัน
  • กลุ่มทางการเมืองต่างๆ ที่เกิดขึ้นใหม่หากยึดถือหลักความเท่าเทียม-ความเสมอภาค สิทธิเสรีภาพ และประชาธิปไตย สามารถเข้าร่วมกับขบวนคนรุ่นใหม่ได้
  • อานนท์กล่าวว่าขบวนคนรุ่นใหม่พร้อมจะพูดคุย แต่อีกฝ่ายกลับพยายามกำจัดโดยใช้มาตรา 112 เขาคิดว่าทางสายกลางที่จะทุกฝ่ายจะอยู่ร่วมกันได้คือการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ เพื่อตัดเงื่อนไขฝ่ายที่ต้องการล้มสถาบันไม่ให้มีข้ออ้าง
  • ในช่วงต่อจากนี้ขบวนคนรุ่นใหม่จะมีการปรับยุทธวิธีการเคลื่อน การเพิ่มแนวร่วม ปรับความหลากหลายในการใช้เครื่องมือสื่อสาร แต่จะไม่ได้ลดเพดานการพูด
  • อานนท์มั่นใจว่าขบวนคนรุ่นใหม่ไม่มีทางพ่ายแพ้เพราะเวลาเคลื่อนไปข้างหน้า ความคิดเก่า คนรุ่นเก่าย่อมล้มหายตายจากไป ขณะที่คนรุ่นใหม่ไม่ได้ถูกล้างสมองเช่นในอดีต
  • ภารกิจของราษฎรคือการสร้างจิตสำนึกประชาธิปไตยและจิตสำนึกในการบอกว่าคนเท่ากัน กษัตริย์มีศักดิ์และสิทธิ์ตามที่รัฐธรรมนูญกำหนด แต่มีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์เท่ากันกับคนธรรมดา

อานนท์ นำภา ทนายความสิทธิมนุษยชนและหนึ่งในแกนนำของขบวนการเคลื่อนไหว

การชุมนุมของขบวนคนรุ่นใหม่ที่รวมตัวจากหลายกลุ่มก้อน เช่น คณะราษฎร REDEM WEVO แนวร่วมธรรมศาสตร์เพื่อการชุมนุม นักเรียนเลว เป็นต้น ดำเนินมาต่อเนื่องตั้งแต่ปีที่แล้ว ถูกคั่นเป็นช่วงๆ ด้วยสถานการณ์โควิด-19 แต่ยังคงปักหลักกับ 3 ข้อเรียกร้องคือรื้อระบอบประยุทธ์ แก้ไขรัฐธรรมนูญ และปฏิรูปสถาบันกษัตริย์

ว่ากันตามจริงโดยมิต้องอธิบายอะไรมาก ข้อ 3 น่าจะเป็นข้อที่บรรลุถึงได้ยากที่สุด วันนี้ความพยายามแก้ไขรัฐธรรมนูญจะขยับอยู่บ้าง ก็ดูจะไม่ได้การันตีผลใดๆ ซ้ำอำนาจของ ส.ว. ยังคงอยู่ และแน่นอน ไม่มีการกล่าวถึงหมวด 1 หมวด 2 ที่ว่าด้วยสถาบันกษัตริย์

ขณะเดียวกันฝ่ายผู้ถืออำนาจใช้มาตรา 112 อย่างหนักมือ ตั้งข้อหาแกนนำรวมถึงผู้ชุมนุม นี่ถือเป็นความดื้อรั้นโดยไม่คำนึงถึงความเป็นจริงทางการเมืองหรือไม่? ควรเรียงลำดับความสำคัญของข้อเรียกร้องทีละข้อแทนที่จะมัดรวมทั้งหมดหรือไม่? และอีกหลายคำถาม

อานนท์ นำภา ทนายความสิทธิมนุษยชนและหนึ่งในแกนนำของขบวนการเคลื่อนไหว นั่งสนทนากับ ‘ประชาไท’ ต่อความสงสัยต่างๆ และจังหวะก้าวหลังจากนี้

ต้องชนะบนท้องถนน

“มันจะแก้หมวด 1 หมวด 2 ได้ก็ต่อเมื่อการลงถนนหรือการกดดันจากภายนอกต้องชนะก่อน ถ้าเราไม่ชนะบนท้องถนน มันไม่มีทางที่เขาจะแตะหมวด 1 หมวด 2 ได้ โอเค อาจจะมีการพูดถึงบ้างในสภากับคนที่เปิดกว้างอยากจะให้มีการแก้ได้ทุกมาตรา เอาเข้าจริงแม้แต่พรรคการเมืองฝ่ายค้านที่มีแนวโน้มที่จะก้าวหน้าก็ยังไม่ได้เสนอให้แก้หมวด 1 หมวด 2 อย่างจริงจัง พูดกว้างๆ ว่าให้แก้ได้ทุกมาตรา ทุกหมวด การนำเสนอว่าแล้วหมวด 1 หมวด 2 มาตราไหนล่ะที่ต้องแก้และแก้เนื้อหาว่ายังไง ผมคิดว่าทุกพรรคการเมืองยังไม่ได้พูดชัดเรื่องนี้

“มีการพูดที่ใกล้เคียงที่สุดก็จะเป็นนักวิชาการ แต่ก็ยังไม่ได้ลงไปในรายมาตราว่าจะแก้ยังไง ดังนั้น ผมคิดว่าปัจจุบันการที่สภาไม่กล้าพูดถึงหมวด 1 หมวด 2 จึงเป็นเรื่องที่คาดหมายได้ เพราะเราต้องยอมรับความจริงว่าตอนนี้คนรุ่นใหม่หรือกระแสข้างนอกยังไม่ชนะ มันอยู่ในช่วงที่กำลังต่อสู้กันอยู่”

อานนท์เริ่มต้นบทสนทนาด้วยการอธิบายว่า ชัยชนะบนท้องถนนจะเป็นตัวกำหนดชัยชนะในสภา เขายกตัวอย่างปีที่แล้วที่การเคลื่อนไหวบนท้องถนนส่งแรงกดดันให้ในสภาพูดถึงการแก้ไขรัฐธรรมนูญและสถาบันกษัตริย์ ถือเป็นชัยชนะทีละขั้น แต่แรงกดดันยังไม่มากพอ

แต่ชัยชนะบนท้องถนนหมายถึงอะไร อานนท์ตอบว่าคือการทำให้เกิดฉันทามติร่วมกันของคนทั้งสังคมว่าต้องแก้มาตรานี้ซึ่งก็ยากที่จะหามาตรวัด ถึงกระนั้นเหตุการณ์พฤษภาทมิฬปี 2535 ถือเป็นบทเรียนที่แสดงให้เห็นฉันทามติร่วมกันของสังคมว่าเราไม่เอารัฐบาลที่มาจากทหารและต้องการนายกรัฐมนตรีที่มาจากการเลือกตั้ง จนนำไปสู่รัฐธรรมนูญปี 2540

“กระแสตอนนี้จะชนะยังไง ผมคิดว่ามันจะนำไปสู่ชัยชนะ แต่ว่ามาตรที่จะมาวัดว่าคนทั้งสังคมเห็นด้วยต้องไปดูกันตรงชัยชนะ แต่มันไม่ได้เรียกร้องอะไรที่เป็นรูปธรรมถึงขนาดต้องลงประชามติกัน แต่หมายถึงว่าทั้งสังคมเห็นร่วมกัน มันก็ทำให้สภาต้องทำตามฉันทามติของคนข้างนอกแล้ว มันต้องถึงขนาดทำให้คนที่ไม่เห็นด้วยที่ไม่ได้มีจำนวนมากถูกจำกัดและรับฟังเป็นความเห็น แต่ไม่ได้มีความหมายในสังคมถึงขนาดที่จะขวางกั้นคนจำนวนมากให้มีการผลักดันต่อไป

“ถ้าเราจินตนาการว่าการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ คนทั้งสังคมเห็นด้วยหมด ยกเว้นคุณจุลเจิมคนเดียวกับราชวงศ์อีกไม่กี่คน ถามว่ามันเป็นเอกฉันท์ไหม มันก็ไม่ใช่ เพราะมีคนที่ไม่เห็นด้วยอยู่ แต่ว่ามันเป็นฉันทามติของคนในสังคมแล้ว”

แฟ้มภาพ : ประชาไท

ถ้าไม่แก้หมวด 1 หมวด 2 ทุกอย่างจะวนกลับมาที่เดิม

เขายืนยันเหมือนเดิมว่าถ้าไม่แก้หมวด 1 หมวด 2 ทุกอย่างจะวนกลับมาเหมือนเดิม อีกทั้งการแก้ได้ทั้งฉบับคือการประกาศชัยชนะของประชาชน

“องค์กรหรือกลุ่มคนที่สามารถสถาปนาอำนาจได้ หนึ่ง อำนาจรัฐประหาร สอง กษัตริย์ สามคือประชาชน รัฐธรรมนูญฉบับนี้มันมาจากรัฐประหาร สอง กษัตริย์ไปแก้ช่วงหลังประชามติ ดังนั้น อำนาจในการสถาปนาจึงเกิดจากคนแค่ 2 กลุ่มคือกษัตริย์กับเผด็จการทหาร ส่วนประชาชนที่ไปลงประชามติ มันก็มีเรื่องการปิดปากไม่ให้พูด การบังคับให้รับทางอ้อม ดังนั้น ถ้าเราไม่แก้ได้ทั้งหมด มันเหมือนการยอมแพ้ การยอมรับอำนาจที่เหนือกว่า เพราะฉะนั้นเราต้องแก้ทั้งหมด”

โดยเฉพาะอย่างยิ่งหมวด 1 หมวด 2 ที่เป็นปัญหาเนื่องจากรัชกาลที่ 10 ทรงแก้ไขหลังรัฐธรรมนูญผ่านประชามติแล้ว เช่น อำนาจในการตั้งหน่วยงานราชการในพระองค์ อำนาจในการแต่งตั้งต่างๆ ซึ่งอานนท์เห็นว่ามีปัญหาในตัวมันเอง หากไม่แตะทั้งสองหมวดนี้ย่อมเท่ากับยอมรับว่าอำนาจของสถาบันกษัตริย์อยู่เหนือกฎหมายทั้งหมดและมีอำนาจอยู่เหนือการเมืองทั้งหมด

ประเด็นที่ต้องแก้คือการทำให้สถาบันกษัตริย์ต้องรับผิดได้ ถูกตรวจสอบได้

“โดยเฉพาะมาตรา 6 ที่เราเถียงกันว่ากษัตริย์อยู่เหนือการฟ้องร้องแพ่ง อาญา ทุกคนต้องเคารพสักการะ คนรุ่นใหม่ก็เถียงว่าทำไมต้องสักการะ คือเคารพก็พอ สักการะมันคือต้องกราบไหว้ ถ้าไม่เปลี่ยนอำนาจของสถาบันกษัตริย์ อำนาจที่รัฐธรรมนูญอนุญาตให้แทรกแซงการบริหารได้ อนุญาตให้ไปไหนก็ได้ อนุญาตให้รับเงินรับทองได้ ถ้าไม่แก้ส่วนนี้มันก็วนกลับมาที่เดิม หรืออนุญาตให้เซ็นรับรองหรือตั้งคณะรัฐประหารได้ มันก็จะวนกลับมาที่เดิม ต้องแก้ส่วนนี้”

3 ข้อเรียกร้องต้องไปพร้อมกัน

แล้วจะทำทุกอย่างพร้อมกันได้หรือ? ในทางการเมือง ในทางการเคลื่อนไหวจำเป็นต้องจัดเรียงลำดับความสำคัญและความเป็นไปได้หรือไม่?

“ผมคิดว่าข้อสรุปที่บอกว่าทำพร้อมกันไม่ได้เป็นข้อสรุปที่ไม่ได้สมบูรณ์ในตัวของมันเอง ผมคิดว่าเราทำพร้อมกันได้ แต่มันอาจจะลำบากหน่อย เหมือนการกินก๋วยเตี๋ยวมีเส้น มีถั่วงอก มีลูกชิ้น อันดับแรกก่อนเราต้องเอาให้ชัดว่าเราจะกินก๋วยเตี๋ยวคือกินทั้งลูกชิ้น ทั้งถั่วงอก ทั้งเส้น ทั้งน้ำ ถ้าเราบอกว่าลดเพดานไม่ปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ เอาแค่แก้รัฐธรรมนูญและล้มล้างมรดก คสช. แต่ผมคิดว่าตอนนี้คนรุ่นใหม่ชัดเจนว่าเราจะกินก๋วยเตี๋ยวทั้งหมดด้วย ถามว่ากินพร้อมกันได้ไหม ก็ได้ แต่มันลำบาก เพราะมันจะเกิดความไม่เป็นทิศทางเดียวกัน อย่างขึ้นไปพูดบนเวทีถ้าให้น้ำหนักเรื่องใดเรื่องหนึ่งมากไปจนลืมเรื่องอื่นๆ มันก็จะทำให้ประเด็นอื่นๆ มันดรอปลง

“ถามว่าจะทำทีละอย่างๆ เราดูจากอะไร ผมคิดว่าความเข้าใจที่ยังไม่ตรงกับที่เราพยายามเสนอ อันนี้เป็นความผิดของเราทำให้คนทั่วไปอาจจะยังไม่เข้าใจ ปีที่แล้วเราไม่ได้เอาข้อ 3 ก่อน ปีที่แล้วมันคือการเปิดพรมออกมาทั้งหมดว่าปัญหาในบ้านเมืองของเรามีอะไรบ้าง มีเรื่องประยุทธ์ที่ทุกคนเข้าใจหมดไม่ต้องพูดซ้ำ เรื่องแก้รัฐธรรมนูญเราก็เคลื่อนไหวทุกอย่าง เรื่องปิดสวิตช์ สว. เราเรียกร้องก่อนด้วยซ้ำ แล้วก็พูดเรื่องสถาบันกษัตริย์ ทำไมปีที่แล้วถึงพูดเรื่องสถาบันกษัตริย์เยอะ เพราะมันไม่มีการพูดถึงเลย มันเป็นการเปิดพรมขึ้นมาว่ามีปัญหาเหล่านี้ แล้วบังเอิญปัญหาเรื่องสถาบันกษัตริย์ไม่มีคนกล้าพูดถึง แต่ปีนี้ผมคิดว่าการเลือกว่าจะกินอะไรก่อน สุดท้ายเราก็ต้องซดน้ำอยู่ดี สุดท้ายมันต้องไปถึงจุดที่เราต้องปฏิรูปสถาบันกษัตริย์อยู่ดี”

อานนท์ชวนมองว่าทั้งระบอบประยุทธ์ รัฐธรรมนูญ และสถาบันกษัตริย์คือเรื่องเดียวกัน ต้องทำไปพร้อมกัน เพราะประยุทธ์อยู่ได้จากการสนับสนุนของสถาบันกษัตริย์ เช่นกรณีสาบานตนไม่ครบ ประยุทธ์อยู่ได้เพราะรัฐธรรมนูญที่มี ส.ว. รองรับ ซึ่ง ส.ว. จำนวนหนึ่งก็มีความจงรักภักดีต่อสถาบันกษัตริย์

“เวลาเราบอกว่าต่อไปนี้เราจะกินทีละคำ มันหมายถึงกินทีละคำ แต่คุณต้องเล็งไว้หมดคำที่สองที่สาม แล้วเวลาเราพูดเราก็จะพูดเชื่อมไปถึงทั้ง 3 ประการ ปีนี้ที่เราเลือกว่าจะกินคำประยุทธ์ก่อนก็เพราะการบริหารราชการแผ่นดินที่มันเฉพาะหน้าจริงๆ และอาจต้องเอาระบอบประยุทธ์ออกไปก่อน ถ้าพูดกันตรงๆ ก็เรื่องความเป็นความตายเกี่ยวกับโควิดที่บริหารผิดพลาด ส่วนเรื่องอื่นๆ ก็เป็นเรื่องที่จะต้องพูดถึง แต่เรื่องที่ให้มันอยู่ต่อไปไม่ได้แน่ๆ คือเรื่องปากท้อง เรื่องปัญหาเศรษฐกิจ”

แฟ้มภาพ : ประชาไท

ถ้าคิดเหมือนกันก็ไปด้วยกันได้

อานนท์กล่าวว่าข้อเรียกร้องทั้ง 3 ข้อเกิดจากการตกผลึกร่วมกันของขบวนคนรุ่นใหม่ที่เป็นขบวนใหญ่มาก รวมถึงประเด็นความเสมอภาคและความเท่าเทียม สิทธิเสรีภาพ และความเป็นประชาธิปไตย

“ข้อเรียกร้อง 3 ข้อเป็นข้อเรียกร้องที่กรองออกมาแล้ว สิ่งที่ตกผลึกร่วมกันมันยังอยู่ ดังนั้น ข้อเรียกร้อง 3 ข้อจึงมีความดิ้นได้ระดับหนึ่ง มันอาจจะมีข้อที่ 4 เพิ่มขึ้นมาก็ได้ แต่ทั้ง 3 ข้อนี้มันต้องอยู่ในหลักการที่เราตกร่วมกัน วันใดวันหนึ่งสมมติถ้าประยุทธ์ออกไปมีรัฐบาลทรราชย์ขึ้นมาใหม่ แล้วข้อ 1 คุณจะไม่เรียกร้องอีกเหรอ หรือถ้าสถาบันกษัตริย์ไม่ยอมปรับตัวให้เป็นประชาธิปไตย เกิดคนรุ่นใหม่เสนอแบบ Republic ขึ้นมา มันก็อยู่ใน 3 ข้อนี้อยู่ดีคือเรื่องความเสมอภาคและความเท่าเทียม เรื่องสิทธิเสรีภาพ และความเป็นประชาธิปไตย”

สิ่งเหล่านี้ไม่ใช่ใครคนใดคนหนึ่งจะสามารถประกาศลดหรือเพิ่มข้อเรียกร้องได้เอง เพราะมันเป็นกระแสของขบวนทั้งหมด และใครก็ตามที่ตกผลึกร่วมกันในหลักการทั้ง 3 ข้อก็สามารถเข้าร่วมขบวนได้ เราจึงถามว่าถ้าอย่างนั้นกลุ่มของจตุพร พรหมพันธ์ หรือนิติธร ล้ำเหลือก็ไม่สามารถอยู่ในขบวนคนรุ่นใหม่ได้หรือไม่ เพราะทั้งสองกลุ่มไม่แตะต้องเรื่องสถาบันกษัตริย์

“ไปด้วยกันได้นะ แต่ผมว่ามันไม่ได้เป็นขบวนเดียวกันขนาดนั้น ผมคิดว่ามันมีจุดต่างอยู่พอสมควร อย่างพี่จตุพรเมื่ออาทิตย์ที่แล้วผมไปนั่งกินเหล้ากับแกอยู่ ผมคิดว่าพี่จตุพรไปถึงแค่ไล่ประยุทธ์ ส่วนข้อเสนออื่นๆ เป็นข้อเสนอที่เปิดกว้างอยู่ ยังไม่ตกผลึก อย่างล่าสุดแกเสนอเรื่องการปรับปรุงสถาบันกษัตริย์ ซึ่งคำว่าปรับปรุงกับปฏิรูปมันไปในทางเดียวกันไหม มันก็ไปในทางเดียวกันนะ แต่ว่าโดยนัยของแกยังเชื่อว่าสถาบันกษัตริย์ยังมีความขลังแบบเดิมอยู่ ยังมีกลิ่นอายของสมบูรณาญาสิทธิ์อยู่พอสมควร ยังมีกลิ่นอายของการเคารพสักการะอยู่ซึ่งก็ไม่ผิด ผมคิดว่าประชาธิปไตยที่มีกษัตริย์ก็อาจจะแบ่งได้หลายเฉด แต่ว่าเฉดมันต้องออกมาทางประชาธิปไตยมากกว่าเฉดที่ไปทางกษัตริย์ ไม่อย่างนั้นมันจะกลายเป็นระบอบกษัตริย์ที่อนุญาตให้มีการเลือกตั้งซึ่งผมคิดว่ามันไม่ใช่ประชาธิปไตย

“แต่สำหรับคนรุ่นใหม่มันไม่ใช่ คนรุ่นใหม่มองสถาบันกษัตริย์เป็นสถาบันทางการเมืองที่ไม่ได้ต่างจากกองทัพ ไม่ได้ต่างจากรัฐบาล เป็นสถาบันทางการเมืองที่ต้องสามารถตรวจสอบได้ เราให้สถาบันกษัตริย์เป็นตัวแทนของรัฐเวลามีแขกบ้านแขกเมืองมา ในฐานะที่เป็นองค์กรทางการเมืองเท่านั้น ไม่ได้เป็นเจ้าชีวิตหรือเจ้าของ เราไม่ใช่ลูกหมูของเจ้าของ แต่เป็นสิ่งมีชีวิตที่มีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์เท่ากัน แต่ต่างบทบาทออกไป”

เขาตั้งข้อสังเกตว่ากลุ่มคนที่ไปร่วมชุมนุมกับจตุพรส่วนหนึ่งก็ร่วมชุมนุมกับคนรุ่นใหม่ อานนท์จึงคิดว่าข้อเสนอเรื่องการปรับปรุงสถาบันกษัตริย์ของจตุพรน่าจะเกิดจากเสียงส่วนนี้ ถ้าวันหนึ่งจตุพรประกาศเข้าร่วมกับคนรุ่นใหม่ เขาเชื่อว่าขบวนจะอ้าแขนรับ ส่วนกลุ่มของนิติธร อานนท์คิดว่ามีวาระทางการเมืองที่ไม่ตรงกับคนรุ่นใหม่

พร้อมจะพูดคุย

ในสังคมมีหลายกลุ่มก้อนที่คิดไม่เหมือนกัน โดยเฉพาะกลุ่ม Royalist ที่ยืนอยู่ฝั่งตรงข้ามกับข้อเรียกร้องของขบวนคนรุ่นใหม่ การพูดคุยจะเป็นไปได้แค่ไหน จุดนี้อานนท์ตอบว่าถึงที่สุดแล้วมันเป็นกระบวนการของการพูดคุยอย่างเลี่ยงไม่ได้ ไม่เช่นนั้นมันจะนำไปสู่ความรุนแรง

แต่ปัญหาอยู่ที่ว่าฝ่ายที่ถูกเรียกร้องไม่มีท่าทีจะยอมพูดคุย ซ้ำยังพยายามกำจัดด้วยการใช้มาตรา 112 อย่างโหดเหี้ยมหรือการบังคับใช้กฎหมายอื่นๆ เป็นคำพูดของอานนท์ ซึ่งตราบใดที่ยังมีท่าทีอย่างนี้ก็พูดคุยกันไม่ได้ ในทางตรงกันข้ามมันจะเป็นแรงสะท้อนกลับให้คนรุ่นใหม่รู้สึกว่าไม่อยากพูดคุยแล้ว 

“ตอนนี้เรามองสถาบันกษัตริย์ มองชนชั้นนำไทยเป็นคนในสังคมเดียวกัน เป็นพวกเดียวกัน ที่เราต้องพูดคุยกันให้อยู่ด้วยกันได้ แต่ถ้าวันใดวันหนึ่งฝ่ายที่เราเรียกร้องประกาศตัวไม่ว่าจะทางตรงหรือทางอ้อมว่าเป็นศัตรูกับพวกเรา ผมคิดว่ามันมีแนวโน้มสูงมากที่กระแสของคนรุ่นใหม่จะเปลี่ยนการมององค์กรหรือสถาบันเหล่านั้นกลายเป็นอีกแบบหนึ่งซึ่งน่ากลัวมาก เพราะว่าอย่าลืมว่าคนรุ่นใหม่ไม่ได้ถูกล้างสมองมาเหมือนคนรุ่นพวกผมหรือคนที่อายุมาก

“ถ้าฝ่ายที่เราเรียกร้องไปไม่มีท่าที ถ้าพูดให้โรแมนติกหน่อยคือไม่เห็นว่าเราเป็นลูกหลานหรือเป็นอนาคตของชาติ แต่เห็นพวกเราเป็นศัตรู แนวโน้มที่มันจะเปลี่ยนท่าทีและข้อเรียกร้องผมว่ามีสูงและอันตรายกับสังคมมาก เพราะการต่อสู้กับรัฐหรือคนที่มีอำนาจในสังคมไทยเท่าที่ผมทราบมาที่มีการประกาศสู้กันแบบถึงพริกถึงขิงก็มีตอนที่มีพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย สู้ทั้งทางเนื้อหาและการจับอาวุธ

“สำหรับคนรุ่นใหม่ผมมีความหวั่นใจสูงมาก ผมไม่ได้หมายถึงจับ M16 มาสู้กับรัฐ แต่อย่าลืมว่าขบวนของเรามีความหลากหลาย เรามีเพื่อนที่เป็นเด็กช่าง เรามีเพื่อนที่เป็นคนที่มีอันจะกิน มีอาวุธ ถ้าเกิดรัฐจะใช้ความรุนแรง คือ ณ วันนี้รัฐมันใช้ความรุนแรงในเกณฑ์ที่เป็นแก๊สน้ำตากับกระสุนยาง แต่ถ้าวันใดวันหนึ่งที่รัฐจับ M16 ขึ้นมายิงประชาชนเหมือนสมัยที่ใช้กับคนเสื้อแดง ผมว่าคนรุ่นใหม่จะคิดอีกแบบหนึ่ง อย่าลืมว่าคนเสื้อแดงเรียกร้องประชาธิปไตยก็จริง แต่ความคิดที่เป็นคนรุ่นเก่าที่ยังเกรงกลัวอำนาจรัฐมันมีอยู่ โอเค มันอาจจะมีคนที่ก้าวหน้าตาสว่าง แต่ความรู้สึกที่ว่าเราไม่มีสิทธิ์เอาปืนไปยิงรัฐ เป็นความคิดแบบที่เราชินกับมัน

“แต่คนรุ่นใหม่ผมคิดว่าไม่ใช่ คนรุ่นใหม่รู้สึกได้ว่ามึงก็คน กูก็คน มึงปาแก๊สน้ำตามา กูก็มีแก๊สของกู มึงยิงกระสุนยางมา กูก็ปาของได้ ผมคิดว่าถ้าไปถึงจุดที่รัฐใช้ความรุนแรงถึงขนาดใช้อาวุธปืนจริง ความวุ่นวายหรือความรุนแรงในบ้านเมืองที่จะเกิดขึ้นจากการปะทะกันมันมีสูงมาก ชาวบ้านที่ผ่านการต่อสู้กับคนเสื้อแดงมา เขาก็รู้สึกว่ากูต้องออกมาปกป้องลูกหลานกู มึงเอาปืนมายิง กูก็มีปืน พอถึงจุดจุดหนึ่งแล้วความรุนแรงที่เกิดจากการปะทะกันอาจจะเลี่ยงไม่ได้ ถ้าไม่มีการพูดคุย

“ผมนี่ตัดไม้รอ สร้างโต๊ะรอ สร้างโต๊ะมาเจรจา มาคุย แต่ขณะที่ฝ่ายตรงข้ามตัดไม้เหมือนกัน แต่สร้างโลงไว้รอเรา คือไม่ได้มีบรรยากาศเปิดให้พูดคุยเลยตอนนี้ จับไปขัง ถ้าไม่มีการเรียกร้องของคนข้างนอกก็ไม่รู้จะได้ออกหรือเปล่า คือมันไม่ได้มีท่าทีของความเป็นมิตร ก็อยากพูดคุยและสื่อสารไปถึงผู้มีอำนาจว่าคุณใช้ท่าทีแบบนี้มันไม่ได้หรอก มันนำไปสู่การใช้ความรุนแรงต่อกัน ซึ่งผมก็รับรองไม่ได้หรอกว่าฝ่ายผมหรือฝ่ายคุณจะชนะ มันก็จบไม่สวยด้วยกันทั้งคู่”

แฟ้มภาพ : ประชาไท

ปฏิรูปสถาบันคือทางสายกลางที่จะอยู่ร่วมกัน

ถ้าขบวนคนรุ่นใหม่ไม่ยอมลดเพดาน ฝ่ายชนชั้นนำไม่ยอมขยับเพดาน ตรงกลางจะมีได้อย่างไร ซึ่งอานนท์ยืนยันว่าการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์คือจุดกึ่งกลางที่ว่า

“ผมว่าตรงกลางจริงๆ คือข้อ 3 ผมคิดว่าคนรุ่นใหม่พอใจถ้าสถาบันกษัตริย์จะเป็นแบบอังกฤษ โอเคอาจจะไม่สุด แต่มันก็รู้สึกว่าไม่ได้เป็นอันตรายกับเสรีภาพของเขา คือถ้าเขาเห็นองค์หญิงสิริวัณณวรีขับรถไปแล้วยังปิดถนนอยู่ ผมคิดว่าเขาก็ควรด่า แต่ถ้ามีองค์หญิงอยู่ แต่ขับรถไปธรรมดา เป็นพื้นที่ที่รับกันได้ระดับหนึ่งเพราะเราไม่ประสงค์จะให้เกิดการปะทะกัน ถ้ามีองค์กรที่ออกมาจัดการทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์อย่างจริงจังให้เป็นทรัพย์สมบัติของแผ่นดินอย่างแท้จริง สมมติเกิดโควิดรัฐต้องไปกู้เงินจากต่างประเทศเป็นล้านล้าน สถาบันกษัตริย์บอกว่ามีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง มีคณะกรรมการของสถาบันกษัตริย์เอาเงินของสถาบันกษัตริย์ไปช่วยสิ คือมันต้องสร้างบรรยากาศของความเป็นประเทศ แต่ตอนนี้มันไม่ใช่ สถาบันกษัตริย์ก็เอาทรัพย์สินไปเป็นของตัวเอง ขณะเดียวกันก็พยายามสร้างภาพเรื่องพระเมตตา เรื่องวัคซีนพระราชทาน คือถึงที่สุดแล้วมันไปไม่ได้ คุณต้องปรับให้มันเป็นประชาธิปไตยแบบสมัยใหม่ที่คนรุ่นใหม่เขารับได้”

อานนท์ยังเชื่อว่าสถาบันกษัตริย์ยังมีประโยชน์ เพียงแต่ต้องปฏิรูป ในมุมมองของเขาจุดตรงกลางที่ทุกฝ่ายจะอยู่ร่วมกันได้คือการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์

ทว่า มันจะง่ายขนาดนั้นหรือ เพราะขณะที่ขบวนคนรุ่นใหม่มองเป็นการปฏิรูป อีกฝั่งมองเป็นการล้มเจ้า

“ถ้าไม่ปฏิรูปมันก็ล้ม ถ้าพูดกันตรงไปตรงมา ผมไม่เคยปฏิเสธเลยว่าในขบวนมันมีกระแสเรื่องนี้จริงๆ แต่ถ้าปฏิรูปปุ๊บ พวกล้มเจ้ามันไปไม่ได้ คุณจะเสนอยังไงเมื่อสถาบันปรับตัวแล้ว เงินที่เอาไปก็เอามาคืนหมด ทุกอย่างก็ถูกตั้งกฎระเบียบไว้ทั้งหมด พวกที่จะล้มเหตุผลก็จะน้อยลงถึงขนาดว่าคนไม่เอา แต่ถ้ายังปล่อยให้เกิดกระแสสถาบันกษัตริย์ไม่ยอมปฏิรูปและยังมีท่าทีไม่เป็นมิตรกับคนรุ่นใหม่ อันนี้อันตราย”

ปรับยุทธวิธี แต่ไม่ลดเพดานการพูด

การเคลื่อนไหวเมื่อปีที่แล้วต่อเนื่องถึงปีนี้ แกนนำจำนวนหนึ่งถูกตั้งข้อหา 112 อานนท์มองว่าเป็นเรื่องปกติ ในภาวะการสู้รบย่อมต้องเจ็บ คนที่เจ็บก็ควรเป็นแกนนำ ไม่ใช่ชาวบ้าน แต่เขาบอกว่ามีการใช้มาตรา 112 ลงไปถึงชาวบ้านที่มาเข้าร่วมการชุมนุมด้วย นั่นทำให้...

“เราก็ต้องกลับมาทบทวนยุทธวิธีที่เราทำไป เดิมทีเวลาเราตั้งเวทีปราศรัยเราก็จะจัดเฉพาะแกนนำที่ปราศรัย พอไม่มีแกนนำปราศรัยปุ๊บ ไปชูป้ายมันก็จับคนชูป้าย วิธีการในการจัดการอาจจะต้องกลับมาปรับปรุงกันมากขึ้นกับเรื่องนี้

“แต่ถามว่า 112 ที่เขาทำกับเรา มันถึงขนาดเป็นการบั่นทอนขบวนไหม ผมคิดว่าไม่ถึงขนาดนั้นเพราะว่าต่อให้ขังแถวหนึ่งมันก็ยังมีแถวสองขึ้นมา แล้วแถวสองไม่ได้หมายความว่าเป็นรองแถวหนึ่ง ผมคิดว่าทักษะในการพูดเท่ากันหมด ข้อมูลที่มีก็เท่ากันหมด คนที่พูดในโซเชียล เน็ตเวิร์คข้อมูลก็เท่ากันหมด มันจึงไม่ได้กระทบมากถึงขนาดนั้น คือขบวนมันยังอยู่ แต่ว่าในความเป็นองค์กรมันอาจจะลดพาวเวอร์ลง แต่ขบวนมันยังอยู่หรือเผลอๆ เท่าเดิมด้วย”

แต่ไม่ได้หมายความว่าการปราศรัยจะลดความดุเดือดลง อานนท์อธิบายว่ามันฟังดูดุเดือดสำหรับสังคมไทย ไม่ใช่กับสังคมประชาธิปไตยที่ถือเป็นเรื่องปกติธรรมดา ความดุเดือดเป็นเพราะเราอยู่ในสังคมที่ถูกสอนว่าการพูดแบบนี้เป็นสิ่งน่ากลัว แต่มันไม่ใช่สิ่งน่ากลัวสำหรับคนรุ่นใหม่ ดังนั้น เพดานการพูดจะไม่ลดลง

“ถามว่าเพดานการพูดจะลดลงได้ไหม เท่ากับเราทำให้คนที่รู้สึกว่าพูดปกติ หุบปาก มันจะไม่ยอม ก็กูพูดของกูธรรมดาไม่ได้พูดรุนแรงในความหมายของเขา การพูด การเจรจา ทั้งการปราศรัยและการสื่อสารในโซเชียล เน็ตเวิร์คมันยังอยู่บนความแรงประมาณนี้และมันลดไม่ได้อยู่แล้ว อาจจะมีการปรับเปลี่ยนถ้อยคำให้มันดูรื่นหูมากขึ้น แต่ผมคิดว่าเนื้อหายังเท่าเดิม แล้วยิ่งถ้าฝ่ายตรงข้ามหรือฝ่ายที่เราเรียกร้องต่อใช้เครื่องไม้เครื่องมืออื่นๆ มากดดันมันก็จะแรงขึ้น คือคุณไปใช้อำนาจกดเด็กไม่ได้หรอกมันยิ่งไปสุมไฟในความคิดเขา

“คุณเอาศาลไปตั้งเงื่อนไขคนรุ่นใหม่ ไม่มีทาง คุณมาตั้งให้กับคนรุ่นเก่าอาจจะกลัว แต่คนรุ่นใหม่ไม่มีทาง มันยิ่งทำให้เขารู้สึกต้องแสดงออก ยิ่งเขารู้สึกว่าเหตุผลของเขาดีกว่าด้วยเขายิ่งแสดงออก ไม่มีทางไปกดทับเขาได้ เราจะได้เห็นคนที่ทั้งโดนคดี ทั้งเคยติดคุกและมีเงื่อนไขแสดงออกอย่างตรงไปตรงมามากขึ้น ผมคิดว่าจะเห็นอย่างนั้น แล้วยิ่งความชอบธรรมในการใช้อำนาจของคุณมันไม่มีอยู่แล้ว คุณยิ่งเสียเปรียบ เอาคนไปเข้าเงื่อนไขว่าห้ามไปชุมนุมมันเป็นไปไม่ได้อยู่แล้ว”

แฟ้มภาพ : ประชาไท

เพิ่มแนวร่วม

“ผมเข้าใจว่าต้องปรับในแง่ของยุทธวิธี แต่เนื้อหามันมีความจำเป็นที่จะต้องตรงไปตรงมาเหมือนเดิม ไม่งั้นเสียหมา แต่ยุทธวิธีอาจจะเปลี่ยนแล้วก็ลดทอนเป้าที่เขาจะมาโจมตีได้ การเคลื่อนไหวในทางโซเชียลให้มากขึ้นกว่าเดิมหรือการลงพื้นที่ไปพูดคุยกับกลุ่มย่อยให้มากกว่าเดิมอาจมีความจำเป็นต้องกลับมาใช้บนเงื่อนไขที่ตอนนี้ชุมนุมใหญ่ไม่ได้เพราะมีโควิด

“ที่สำคัญคือมันต้องสร้างนวัตกรรมใหม่ๆ ในการเคลื่อนไหวซึ่งอันนี้รุ่นเก่าไม่มี ลองนึกภาพแค่ตั้งเวทีปราศรัย แต่คนรุ่นใหม่ไปไกลกว่านั้นมันมีวิธีการ เมื่อวานผมจัดคลับเฮาส์มันมีคนเสนอวิธีคิดใหม่ๆ ซึ่งคนรุ่นเก่าไม่ได้มีเรื่องนี้ การนำนวัตกรรมใหม่ๆ มาใช้อาจจะต้องเพิ่มขึ้น ง่ายๆ เฉพาะหน้าการจัดวงพูดคุยแบบคลับเฮ้าส์ก็ดีอาจจะต้องซีเรียสกับมันในการพูดคุยแลกเปลี่ยนมากขึ้น”

อย่างไรก็ตาม อานนท์รับรู้ถึงจุดอ่อนว่าเครื่องมือสื่อสารที่เขากล่าวมาจับกลุ่มคนเฉพาะชนชั้นกลางที่เข้าถึงเทคโนโลยี ซึ่งเขายอมรับว่าเป็นสิ่งที่ขบวนละเลยไปในขวบปีที่ผ่านมา

“นี่คือประเด็นของมัน เราไม่ได้มองเรื่องนี้อย่างเป็นระบบในปีที่ผ่านมา ในขณะที่ฝ่ายตรงข้ามเขาเจาะชาวบ้านได้ เราเน้นทวิตเตอร์ ยายผมไม่ได้เล่นทวิตเตอร์ พ่อผมเล่นไลน์ เราไม่ได้มีการทำข้อมูลทางไลน์ เรามีสติ๊กเกอร์ด่าประยุทธ์ แต่เราไม่มีสติ๊กเกอร์ที่พูดถึงสถาบันกษัตริย์ ต้องพูดคุยกันอย่างจริงจัง มันมีวงสำหรับคนที่เป็นแกนนำพูดคุยเรื่องนี้กันอยู่เรื่อยๆ คือมันต้องขยายแนวร่วมทุกมิติลงไปและต้องจริงจังกับมัน เวลาเราพูดถึงคนรุ่นใหม่เราไม่ได้หมายความเฉพาะเรื่อง Generation เราหมายถึงความคิดใหม่ ความคิดประชาธิปไตย มันมีกลุ่มบางกลุ่มที่เรายังไปไม่ถึง

“สมมติว่าทำไมเราไม่จัดแบบที่ฝ่ายล้มเจ้าที่เขาเคยทำคลับเฮาส์ เขาคือ YouTube สมัยลุงสนามหลวง สมัยอาจารย์สุรชัย ที่คนฟังกันเยอะ อัดเป็นคลิปมาแจกใส่ซีดีแล้วแท็กซี่ก็ยังเปิด เรื่องนี้มันเป็นเรื่องเก่า เหมือนเชย แต่มันท้าทายคนรุ่นใหม่ คุณอาจจะต้องกลับไปใช้กล้องฟิล์มบ้างหรือกลับไปขับรถเกียร์กระปุกบ้าง ซึ่งปีนี้เราจะได้เห็น แทนที่จะส่งเป็นโปสเตอร์นัดชุมนุมกันทางเฟสบุ๊ค เราอาจจะได้เห็นการไปติดโปสเตอร์แบบกาวแป้งเปียกตามป้ายรถเมล์ซึ่งผมคิดว่าเป็นสิ่งที่มันท้าทายเราอยู่ เป็นความท้าทายที่เราจะต้องช้อนเอาคนที่ไม่ได้เท่าทันเทคโนโลยีหรือคนที่มีเครื่องมือเฉพาะของกลุ่มเขา เราต้องช้อนมารวบรวมให้ได้ทั้งหมด”

มั่นใจหรือประมาท?

เราชวนสนทนากับเขาว่า ถึงที่สุดแล้วการจะปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ได้จำเป็นต้องอาศัยกลไกพรรคการเมืองในสภา ชัยชนะบนท้องถนนอาจไม่เพียงพอหรือเปล่า อานนท์ไม่คิดอย่างนั้น

“เรามีตัวอย่างของหลายประเทศว่าพอเราเอาคนบนท้องถนนเข้าไปในสภา มันก็กลายเป็นคนในสภา ผมคิดว่าพลังของคนนอกสภามีพลังในตัวมันเองอยู่แล้ว เต็มเปี่ยมของมันอยู่แล้ว การที่จะไปเปลี่ยนโครงสร้างที่เป็นรูปธรรมในลักษณะของรัฐธรรมนูญหรือกฎหมาย คือถ้าเราชนะบนถนนเราทำได้หมดแหละ ยกเลิกสถาบันกษัตริย์ก็ยังได้เลยถ้าเราชนะบนท้องถนน หรือกลับไปเป็นสมบูรณาญาสิทธิราชย์ก็ยังได้ถ้าคุณชนะบนท้องถนน ดังนั้น ผมคิดว่าเราควรให้ความสำคัญกับพลังของตัวเอง ปลดปล่อยออกมาบนท้องถนน สุดท้ายถ้าเราชนะบนท้องถนน มันจะทำให้สภา เราจะชี้เอาเมื่อไหร่ก็ได้หรือพวกนั้นจะต้องมาซื้อความคิดเราเอง”

เป็นความมั่นใจที่ถึงขั้นประมาทหรือเปล่า

“มันไม่มีทางแพ้เพราะว่าเวลามันเดินไปข้างหน้า โอเค มันก็อาจจะย้อนหลังได้ถ้าคุณมีไทม์แมชชีน แต่ตอนนี้ผมคิดว่าเวลามันเดินไปข้างหน้าและมันไม่ได้มีปัจจัยอะไรที่จะบอกว่าเวลาย้อนหลังได้ ความคิดเก่า คนรุ่นเก่าต้องตาย ในขณะที่คนอายุ 30 มาทางเราแน่ๆ เกิน 95 เปอร์เซ็นต์แน่ๆ จะโตขึ้น แล้วการล้างสมองมันไม่มี เด็กมัธยมที่ไปชู 3 นิ้วปีที่แล้วตอนนี้ขึ้นมหาวิทยาลัย โดย Generation มันขยับไปข้างหน้าแน่ๆ เราจะแพ้แน่ๆ ถ้าเขาประกาศประหารคนอายุต่ำกว่า 30 หมดแล้ว ซึ่งมันเป็นไปไม่ได้อยู่แล้ว ฆ่าผม ฆ่าเพนกวิ้น (พริษฐ์ ชิวารักษ์) มันก็ยังมีคนอยู่

“ด้วยความเป็นคนรุ่นใหม่ที่ผมคิดว่ามีความหวัง ถ้าคุณยัดเรื่องพวกนี้เข้าไป คุณก็จะได้รับการโต้กลับมา คุณเอาทหารไปอบรมเรื่องสถาบันกษัตริย์ก็โดนเด็กยกมือขึ้นถาม ถามว่าลำพังที่เขาเข้าไปแทรกซึมพวกนี้ อย่างเรื่องหลักสูตรการศึกษา เรื่องกล่อมหูคนทุกวัน มันน่ากลัวไหม มันไม่ได้น่ากลัวถึงขนาดนั้น คือมันไม่สอดคล้องกับโลกยุคใหม่ โดยที่มันเป็นความเก่าคร่ำครึความชั่วร้ายอะไรก็แล้วแต่ มันไม่สามารถพิสูจน์ตัวเองว่าอยู่ได้ในสังคมรุ่นใหม่ที่เติบโตมา เราไม่ได้เป็นประเทศปิด แล้วคุณจะไปจัดการกับเด็กเหมือนประเทศปิด ไปฝังหัวเรื่องสถาบันกษัตริย์ คือวิธีการของเขาตอนนี้มันไม่ไปกับโลกสมัยใหม่ ดังนั้น ความน่ากลัวจึงไม่ได้น่ากลัวขนาดนั้น”

แฟ้มภาพ : ประชาไท

คนเท่ากัน

“ผมคิดว่าสิ่งหนึ่งที่จะต้องเกิดขึ้นคือเวลาเราพูดเรื่องปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ เราต้องพูดถึงการเมืองที่เป็นอุดมคติของพวกเราทุกคนควบคู่ไปด้วยว่าเราต้องการระบอบการเมืองแบบไหน เราต้องไม่อยู่ในกรอบของข้อเสนอของความกลัวด้วย โอเค มันอาจจะเป็นไปได้ยาก แต่เราอาจจะต้องนำเสนอเรื่องพวกนี้ขึ้นมาอย่างเป็นระบบมากขึ้น ไม่ใช่ปาระเบิดทีเดียวตูม คนมันจะตกใจ

“และอาจจะต้องปรับปรุงเรื่องท่าที ผมได้ยินมาเยอะมากว่าบางทีเราไม่ได้คิด คือเราไม่ใช่นักการเมืองในความหมายที่เป็นการเมือง ไม่ได้บอกว่านักการเมืองไม่ดี แต่เราไม่ได้เป็นการเมืองในความหมายการสื่อสาร มันไม่ใช่ บางคนพอฟังแล้วมันไม่อยากฟัง แต่ถ้าเราทำให้เขาอยากฟังก่อนแล้วค่อยมาถกเถียงกัน ผมคิดว่าน่าจะเป็นประโยชน์มากกว่า เรื่องการด่าตรงๆ ต้องมี แต่การด่าโดยให้เหตุผลไปด้วยอาจจะต้องเพิ่มขึ้น

“แต่ถามว่าแก้รัฐธรรมนูญอย่างเดียวพอไหม ก็ไม่พอ คือรัฐธรรมนูญมันมีความหมายอยู่ 2 ส่วน หนึ่งคือตัวบท คุณแก้ที่ตัวบทต่อให้มันสวยหรูยังไง ถ้ามันยังไม่เข้าไปในสามัญสำนึกของคน มันก็เหมือนเดิม พอรัฐประหารมาปุ๊บ มันก็ฉีกรัฐธรรมนูญทิ้ง รัฐธรรมนูญที่เราเขียนไว้สวยหรูก็ไม่มีทางบังคับใช้ แต่รัฐที่มันเป็นรัฐประชาธิปไตยจริงๆ คณะรัฐประหารประกาศฉีกรัฐธรรมนูญ ประชาชนบอกมึงฉีกไม่ได้มันอยู่ในใจกู มันยังมีผลอยู่ กูมีสิทธิ์ที่จะต่อต้านการรัฐประหารได้

“อย่างนี้ผมคิดว่ามันต้องสร้าง 2 ส่วน ตอนนี้ราษฎรยังสร้างส่วนที่ 1 อยู่คือสามัญสำนึกของคนในการบอกว่าคนเท่ากัน นัยของเราก็คือกษัตริย์เท่ากับประชาชนธรรมดา ศักดิ์และสิทธิ์คุณก็เป็นสิ่งที่รัฐธรรมนูญกำหนดไว้ว่ามีอำนาจหนึ่งสองสามสี่ตามรัฐธรรมนูญ แต่ว่าศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของคุณเท่ากัน นี่คือสิ่งที่เรากำลังทำให้มันตกผลึกร่วมกันว่ารัฐธรรมนูญที่เป็นนามธรรมที่อยู่ในใจคนควรจะเป็นอย่างไร”

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท