Skip to main content
sharethis

6 ก.ค. 2564 เครือข่ายร้านอาหารผู้ประสบภัยโควิด จัดกิจกรรม 'Bangkok sandbox' กินข้าวข้างทำเนียบรัฐบาลสะท้อนความเจ็บปวดหลังรัฐบาลนั่งชิลริมทะเล พร้อมเรียกร้องหยุดเก็บค่าเช่า ผ่อนคลายมาตรการให้เปิดร้านได้โดยใช้มาตรการป้องกันโรคอื่นๆ และจัดหาวัคซีนให้แรงงาน โดยเฉพาะแรงงานนอกระบบโดยเร็ว

ไอลอว์ รายงานว่า เวลา 16.00 น. เครือข่ายร้านอาหารผู้ประสบภัยโควิด จัดกิจกรรม 'Bangkok sandbox' จำลองบรรยากาศกินข้าวข้างทำเนียบฯ และยื่นหนังสือแก่สำนักนายกรัฐมนตรี เพื่อเสนอข้อเรียกร้องในการช่วยเหลือร้านอาหาร ที่ได้รับผลกระบทบจากโควิด-19

กิจกรรมนี้สืบเนื่องจาก จากประกาศราชกิจจานุเบกษา วันที่ 26 มิ.ย. 2564 มีคำสั่งห้ามบริโภคอาหารและเครื่องดื่มในร้าน ให้ซื้อกลับบ้านเท่านั้น ซึ่งคำสั่งออกภายหลังการให้กลับมารับประทานอาหารในร้านแบบมีมาตราการ ได้เพียง 5 วัน ทำให้มาตราการดังกล่าวสร้างผลกระทบอย่างหนักต่อร้านอาหารจำนวนมาก เช่น การสต็อกสินค้า, การเรียกตัวพนักงานกลับจากพื้นที่บ้านเกิด หรือบางร้านเตรียมลงทุนเพิ่มเติม ทำให้ผู้ประกอบการร้านอาหารสูญเสียรายได้เป็นจำนวนมาก ทั้งสถานการณ์ที่ยอดผู้ติดเชื้อจากโควิด-19 เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง และตัวเลขผู้เสียชีวิตมากถึง 50 รายต่อวัน แต่กลับมีภาพถ่ายนายกรัฐมนตรีทานอาหารริมทะเลภูเก็ต ในโครงการภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์

ก่อนเวลานัดหมายกิจกรรม ตำรวจจาก สน.นางเลิ้ง กั้นถนน ให้ผู้ชุมนุมอยู่ที่ ถ.พระรามที่ 5 ข้างคลองผดุงกรุงเกษม และตั้งแถวกั้นไม่ให้ผู้ชุมนุมเดินไปทางรั้วทำเนียบรัฐบาล

เวลาประมาณ 15.55 น. ผู้ประกอบการนำโต๊ะและผ้าไปตั้งบนสะพานชมัยมรุเชษฐ ตำรวจที่เคยตั้งแถวอยู่ถอยหลังมา และนำรั้วเหล็กมากั้น มีกำลังตำรวจในเครื่องแบบมาเพิ่ม เพื่อตั้งแถวไม่ให้ผู้ชุมนุมเลยแนวทางลงสะพานไปทางรั้วทำเนียบรัฐบาล

16.00 น. ผู้ชุมนุมเริ่มมาเตรียมสถานที่มีจำนวนไม่ถึง 50 คน ด้านตำรวจและเทศกิจก็ช่วยกันตั้งรั้วเหล็กขวางถ.พิษณุโลก บนสะพานชมัยมรุเชษฐ ปิดการจราจรไปยังทำเนียบรัฐบาล

16.30 น. ผู้ประกอบการเริ่มต้นปราศรัยถึงความเดือดร้อนที่ได้รับผลกระทบ ก่อนจะยื่นจดหมาย โดยมี สมพาศ นิลพันธ์ ที่ปรึกษาสำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี ออกมารับหนังสือและเดินกลับไปโดยไม่ได้กล่าวอะไร

หนังสือที่ยื่น มีข้อเรียกร้องเพื่อช่วยเหลือกลุ่มผู้ประกอบการ ดังนี้

1. ขอให้รัฐบาลช่วยเหลือค่าเช้าร้านของผู้ประกอบการ 6 เดือน โดยสั่งการไปยังเจ้าของพื้นที่ ให้หยุดการเก็บค่าเช่า เริ่มตั้งแต่เดือนกรกฏาคมเป็นต้นไป

2. ขอให้ผ่อนคลายมาตรการ ให้ร้านอาหารสามารถกลับมาเปิดให้นั่งที่ร้านได้โดยมีมาตราการต่างๆ ตามเหมาะสม เช่น การรักษาระยะห่าง, จำกัดจำนวนผู้เข้าใช้ หรือให้ผู้มาใช้บริการแสดงเอกสารการฉีดวัคซีนก่อนเข้าร้าน

3. ระดมฉีดวัคซีนให้แก่ผู้ประกอบอาชีพชั้นแรงงาน โดยเฉพาะแรงงานนอกระบบที่มีจำนวนมาก แม้ระบุตัวตนได้ยาก แต่เป็นแรงงานขับเคลื่อนสำคัญของธุรกิจรายย่อยและร้านอาหารต่างๆ

เจ้าของร้านคราฟต์เบียร์ที่มาร่วมกิจกรรม กล่าวว่า เราได้รับผลกระทบมา 2 ปีแล้ว เราพยายามปรับตัว พยายามทำบริการส่งถึงบ้าน (delivery) แต่ยังมีกฎหมายห้ามโฆษณาหรือพูดสรรพคุณเกี่ยวกับเครื่องดื่ม เราก็ไม่สามารรถโปรโมตได้ สินค้าค้างอยู่ในสต๊อกมานานมาก แล้วถ้าไม่ให้เราโฆษณาเลยลูกค้าจะทราบได้อย่างไร พวกเราไม่มีสิทธิแม้พูดถึงสินค้าของเรา แค่พูดคำว่าเบียร์ หรือโพสต์แก้วเบียร์ก็เป็นความผิดแล้ว มันเจ็บปวดมาก เราพยายามทำตามกฎเกณฑ์ที่รัฐตั้งขึ้นมา แต่การเยียวยาอยู่ไหน ถ้าเยียวยาไม่ได้ก็ขอให้เราได้เปิดร้าน เราไม่สามารถใช้ชีวิตอยู่บนความล้มเหลวแบบนี้ได้อีกแล้ว

“เพื่อนของเราที่ทำร้านคราฟต์เบียร์หลายส่วนปิดไปแล้ว จ่ายค่าเช่าไม่ไหว จ่ายค่าพนักงานไม่ได้ รายรับหายไปหมด ตอนนี้ธุรกิจของเรากลายเป็นแพะ ถูกมองว่าเป็นธุรกิจสีดำ ถูกเห็นหัวท้ายสุด เมื่อเราได้รับผลกระทบ น้องๆที่ร้าน ดีเจ นักร้อง ก็ไม่สามารถจ้างได้แล้ว” เจ้าของร้านพูดด้วยเสียงสะอื้น

ด้านเจ้าของร้านยำทะเลดิบ กล่าวว่าหลายคนอาจไม่รู้ว่าการปรับตัวไปขายแบบเดลิเวอรีจะต้องเจอกับอะไรบ้าง นอกจากค่า GP (Gross Profit หมายถึง ค่าคอมมิชชั่นที่ร้านอาหารต้องจ่ายให้แอปพลิเคชั่นสั่งอาหาร) แล้วถ้าเราไม่ซื้อโฆษณาก็แทบไม่มีลูกค้าเห็นร้านของเราเลย ระหว่างที่หน้าร้านโดนปิด แต่รายจ่ายเรายังเท่าเดิม ภาษีป้าย ภาษีใบอนุญาต เราจ่ายต้นทุนซื้อของมาแล้วแต่ถูกสั่งปิด ค่าวัคซีนก็ต้องจ่ายเอง รัฐบาลต้องช่วยแก้ปัญหาเรื่องนี้ด้วย

ส่วนเจ้าของร้านเกาเหลาเนื้อรสดีเด็ดในสยามสแควร์ กล่าวว่า ตอนนี้ธุรกิจไปต่อไม่ได้ ซึ่งไม่ใช่แค่ของเรา สยามสแควร์กำลังเงียบเหงา หลายร้านต้องทยอยออกไป ไม่มีใครอยากให้ธุรกิจที่สร้างขึ้นมาเองตั้งแต่รุ่นพ่อแม่มาเจ๊งด้วยรัฐบาลนี้ เราไม่ได้อยากมาเรียกร้องบ่อยๆ อยากให้ท่านนึกถึงลูกจ้างของเรา พ่อแม่ของเราที่สร้างร้านขึ้นมาที่กำลังนอนร้องไห้ เราอยากได้คำตอบจากท่านว่าจะดูแลประชาชนอย่างไร

ขณะที่เจ้าของบาร์ที่ ถ.สีลม กล่าวว่าเราเป็นกลุ่มแรกที่โดนปิด ไม่ว่ากี่ครั้งก็โยนบาปให้เรา ถ้าหากคิดว่าการกินเหล้ากินเบียร์เป็นสิ่งผิด ก็อย่ากิน แต่รัฐบาลกลับไปนั่งกินริมทะเล ทรัพย์สินสุดท้ายที่มีคือรถ ก็เอารถไปจำนองแล้วเพื่อมาเปิดร้านอาหารอีสานแทน แต่ก็ขายไม่ได้ พอระลอกที่สามมาก็ถูกปิดอีก อยากฝากถึงพี่น้องผู้ประกอบการทุกคนว่า เมื่อเราเจ็บ เราต้องออกมาสู้ ไม่ใช่ปล่อยให้พวกเขาเหยียบหัวเราไปเรื่อยๆ

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net