Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

การเยียวยาผลกระทบโควิด-19 ในประเทศทั่วโลกอาจแบ่งเป็น 2 รูปแบบหลักด้วยกันคือ การเยียวยาถ้วนหน้า ซึ่งยึดหลักว่าเป็นสิทธิที่ประชาชนทุกคนจะได้รับการช่วยเหลืออย่างเท่าเทียม กับการเยียวยาเฉพาะกลุ่ม ซึ่งให้แก่กลุ่มผู้มีความเดือดร้อนตามความจำเป็น  

หลายประเทศเลือกใช้แนวทางการเยียวยาถ้วนหน้า เช่น สหรัฐอเมริกา ให้เงินเยียวยาแก่พลเมืองทุกคนโดยไม่ต้องลงทะเบียน  ในขณะที่สหราชอาณาจักร ให้การเยียวยาอย่างทั่วถึงคนทุกกลุ่ม ทั้งภาคธุรกิจ แรงงาน และประชาชน ด้วยหลากหลายมาตรการ[i]   

สำหรับประเทศไทย แม้จะมีข้อเสนอให้ใช้การเยียวยาถ้วนหน้า แต่รัฐบาลได้เลือกใช้การเยียวยาเฉพาะกลุ่มผู้เดือดร้อน ซึ่งไม่มีคำอธิบายว่าทำไมจึงเลือกแนวทางนี้ แต่ก็เข้าใจกันว่า คงเป็นแนวทางที่ไม่สร้างภาระงบประมาณมากเกินไป 

การเยียวยาโควิด-19[ii] แบบเฉพาะกลุ่มของไทย หากพิจารณาองค์ประกอบต่างๆ อาจเรียกได้ว่าเป็นการเยียวยาแบบ “สงเคราะห์นิยม” ด้วยลักษณะสำคัญ 3 ประการ คือ

ประการแรก การเยียวยามุ่งให้แก่ผู้ได้รับผลกระทบ เดือนร้อน สมควรได้รับการช่วยเหลือ ซึ่งเป็นไปตามหลักการสังคมสงเคราะห์ และในการสงเคราะห์ผู้ยากไร้จะมีเครื่องมือทดสอบความจำเป็น (Means-test) ก่อนให้ความช่วยเหลือ[iii] เหตุนี้คือคำตอบว่าทำไมคนไทยต้องพบกับการลงทะเบียนเพื่อยืนยันความเดือดร้อนและความประสงค์จะได้รับการช่วยเหลือ ซึ่งเป็นวิบากกรรมตั้งแต่ความยากลำบากในขั้นการลงทะเบียน ไปจนถึงการรอคอยคำตัดสินว่าสมควรจะได้รับการช่วยเหลือหรือไม่ 

ประการที่สอง ในโครงการเยียวยา โดยเฉพาะในระยะที่ 2 (ม.ค.-มิ.ย.64) ต่อเนื่องมาถึงระยะที่ 3 (มิ.ย.-ธ.ค.64) บัตรสวัสดิการแห่งรัฐ หรือ “บัตรคนจน” มีบทบาทสำคัญอย่างมาก ในฐานะเกณฑ์กำหนดกลุ่มเป้าหมายการเยียวยา และเป็นกลไกส่งมอบการเยียวยาสู่มือคนจน บัตรคนจน เป็นสวัสดิการสังคมประเภทสังคมสงเคราะห์ ซึ่งเป็นนโยบายที่รัฐบาลปัจจุบันให้ความสำคัญเป็นพิเศษ (จะอธิบายข้างหน้า)

ประการที่สาม การเยียวยาโควิด-19 เกิดขึ้นในบรรยากาศที่สังคมไทยวนเวียนอยู่กับการบริจาคช่วยเหลือผู้ด้อยโอกาส ผู้ตกทุกข์ได้ยาก ผู้ขาดแคลน แม้ว่าการช่วยเหลือกันของคนในสังคมมีหลายรูปแบบ และมีความหมายทางสังคมหลายนัย[iv] แต่จะเห็นว่าการบริจาคเป็นวิธีที่สังคมไทยนิยมเป็นพิเศษ แน่นอนว่าการบริจาคช่วยผู้ด้อยโอกาสเป็นประโยชน์แก่ผู้ตกทุกข์ได้ยาก แต่ผลข้างเคียงของวิธีการนี้คือ การตอกย้ำความสัมพันธ์ที่เหลื่อมล้ำระหว่างผู้ให้กับผู้รับ และการเบี่ยงเบนความสนใจไปสู่ความรู้สึกเชิงศีลธรรม แทนที่จะเข้าใจต้นตอปัญหาที่แท้จริง

การเยียวยาเฉพาะกลุ่มหรือการเยียวยาแบบสังคมสงเคราะห์ อาจไม่ใช่แนวทางที่เลวร้าย หากการสงเคราะห์มีประสิทธิภาพ ทั่วถึง และมีมาตรการฟื้นฟูเศรษฐกิจที่ได้ผล แต่การเยียวยาแบบสงเคราะห์นิยมของไทยที่ผ่านมา อาจกล่าวได้ว่า เป็นการเยียวยาเพื่อหวังผลทางการเมือง  มากกว่าต้องการช่วยเหลือผู้เดือดร้อนอย่างจริงจัง

เราจะเริ่มจากพิจารณาหลักเกณฑ์การเยียวยา ในระยะที่ 1, 2 ที่ผ่านมาแล้ว และระยะที่ 3 ที่กำลังดำเนินการอยู่ในขณะนี้

ในการเยียวยาระยะที่ 1 (เม.ย.-ก.ค. 63) รัฐบาลมีหลักเกณฑ์การสงเคราะห์คือให้แก่ “แรงงาน ลูกจ้างชั่วคราว และอาชีพอิสระ ซึ่งไม่อยู่ในระบบประกันสังคม (มาตรา 33) และเป็นผู้ได้รับผลกระทบจากโควิด-19” จะเห็นว่าเป็นการใช้เกณฑ์ “อาชีพ” กำหนดสิทธิผู้ได้รับการช่วยเหลือ  แรกที่เดียวรัฐบาลตั้งเป้าช่วยเหลือ 8 ล้านคน แต่เกิดกระแสการร้องเรียนเป็นข่าวลบ จึงต้องเปิดทบทวนสิทธิ และผ่อนปรนหลักเกณฑ์ จนในที่สุดขยายการเยียวยาเป็น  15.3 ล้านคน ในเวลาเดียวกันได้ให้การเยียวยาเกษตรกรอีก 7.5 ล้านคน (ครัวเรือนละ 1 สิทธิ) รวมเป็นการเยียวยาระยะแรก 22.8 ล้านคน ใช้งบประมาณทั้งสิ้น 3.4 แสนล้านบาท   

ในการเยียวยาระยะที่ 2 (รวมทั้งระยะที่ 3 ที่ใช้หลักเกณฑ์เดียวกัน) มีความเปลี่ยนแปลงที่สำคัญ คือรัฐบาลได้เปลี่ยนมาใช้เกณฑ์ “รายได้” (ความจน) กำหนดสิทธิผู้ได้รับการช่วยเหลือ  โครงการเราชนะซึ่งเป็นการเยียวยาที่สำคัญในรอบนี้  ให้แก่ ผู้มีเงินได้พึงประเมินไม่เกิน 300,000 บาท และมีบัญชีเงินฝากรวมทุกบัญชีไม่เกิน 500,000 บาท  สำหรับผู้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐอยู่แล้ว จะได้สิทธิอัตโนมัติโดยไม่ต้องลงทะเบียน ด้านโครงการ ม.33 เราเรารักกัน  ให้แก่ ผู้ประกันตน ม.33 ที่มีบัญชีเงินฝากรวมทุกบัญชีไม่เกิน 500,000 บาท ทั้งสองโครงการ เยียวยากลุ่มเป้าหมาย 42 ล้านคน ใช้งบประมาณ 2.3 แสนล้านบาท

จะเห็นว่าการปรับหลักเกณฑ์การเยียวยาในระยะที่ 2 เป็นเกณฑ์ด้านรายได้ ทำให้รัฐสามารถขยายจำนวนผู้ได้รับการเยียวยามากขึ้นกว่าเท่าตัว ขณะที่ใช้งบประมาณลดลง การมีผู้ได้รับการเยียวยามากขึ้น แม้ว่าจำนวนเงินที่ได้ลดลงจากระยะแรก เกิดผลทางจิตวิทยา ลดกระแสความไม่พอใจต่อการเยียวยาลง ขณะเดียวกันทำให้รัฐบาลมีสภาพคล่องทางงบประมาณ สามารถจัดสรรเงินไปสู่การใช้จ่ายด้านอื่น

เมื่อพิจารณาผลการเยียวยาที่เกิดขึ้น จากการสำรวจภาคสนาม ได้ข้อค้นพบที่น่าสนใจหลายประการ ซึ่งจะหยิบบางประเด็นมานำเสนอโดยสังเขปในที่นี้ 

ผู้เขียนได้สำรวจข้อมูลในจังหวัดหนึ่งของภาคอีสาน ในช่วงต้นเดือนมิถุนายน 2564[v] ในพื้นที่ชุมชนแออัดในเมืองแห่งหนึ่ง และในหมู่บ้านชนบทที่อยู่ใกล้เมืองแห่งหนึ่ง ประชากรส่วนใหญ่ในพื้นที่แรกซึ่งเป็น “คนจนเมือง”[vi] และ ประชากรส่วนใหญ่ในพื้นที่ประเภทที่สองซึ่งเป็น “ชาวนารายได้ปานกลาง”[vii] ได้รับผลกระทบทางเศรษฐกิจจากพิษโควิด-19 เหมือนกัน แต่คนจนเมืองกระทบหนักกว่า เพราะเป็นกลุ่มเปราะบางทางเศรษฐกิจคือโดยส่วนใหญ่เป็นแรงงานนอกระบบ ประกอบอาชีพที่รายได้น้อย งานหนัก ขาดความมั่นคง และขาดสวัสดิการแรงงาน  ส่วนในหมู่บ้านชนบทใกล้เมือง มีโอกาสในการหารายได้และการยังชีพมากกว่า ทั้งการเกษตร การรับจ้างในและนอกการเกษตร อย่างไรก็ตามในภาวะไม่ปกติ ประชากรทั้งหมดมีรายได้จากการประกอบอาชีพลดลงมาก[viii] กรณีคนจนเมือง มีคนจำนวนมากต้องหันไปพึ่งเงินกู้นอกระบบ และมี “คนจนเฉียบพลัน”[ix] เกิดขึ้นจำนวนมาก   

ในการเข้าถึงการเยียวยา แม้จะมีอุปสรรคอยู่บ้างในการลงทะเบียนออนไลน์ แต่ด้วยการที่รัฐเพิ่มความยืดหยุ่นในการลงทะเบียน โดยขยายเวลาลงทะเบียน เปิดให้ลงได้หลายรอบ เปิดให้มีการทบทวนสิทธิ เปิดให้สามารถใช้วิธียื่นเอกสารโดยตรง รวมทั้งการใช้กลไกช่วยเหลือ เช่น เจ้าหน้าที่ธนาคาร เทศบาล ผู้ใหญ่บ้าน อาสาสมัครสาธารณสุขชุมชน (อสม.) ให้การช่วยเหลือเป็นรายบุคคล ก็สามารถทำให้คนที่เข้าเกณฑ์สามารถได้รับสิทธิได้ โดยแทบไม่มีคนตกหล่น  ผลที่เกิดขึ้นคือ บางครัวเรือนสมาชิกได้รับเงินเยียวยาหลายคน รวมแล้วครัวเรือนหนึ่งได้รับหลายสิทธิ  และสำหรับบางครัวเรือนในชุมชนแออัด เงินเยียวยามีจำนวนมากกว่ารายได้ประจำเดือนเสียอีก[x] ในกรณีหมู่บ้านชนบท นอกจากได้รับเงินเยียวยาหลายโครงการหลายระยะแล้ว ยังได้รับเงินอุดหนุนภาคเกษตร ผ่านโครงการประกันราคาข้าว และโครงการสนับสนุนค่าบริหารจัดการและพัฒนาคุณภาพผลผลิตเกษตรกรผู้ปลูกข้าวนาปี ในช่วงปลายปี 2563 ต่อเนื่องต้นปี 2564 ที่ผ่านมาด้วย[xi]

การได้รับเงินเยียวยาและเงินอุดหนุน ทำให้คนจนเมืองและคนชนบทที่ให้สัมภาษณ์ส่วนใหญ่  บอกว่าพอใจต่อการเยียวยาของรัฐ  ความรู้สึกของพวกเขาที่สะท้อนให้ฟัง เช่น “ดีใจที่เพิ่นมองเห็นเรา เห็นว่าเรากำลังเดือดร้อน” “มีข้าวสารกรอกหม้อทุกวันนี้ ก็เพราะเงินเยียวยานี่แหละ” “ไม่มาก ก็ดีกว่าไม่มี ก็ยังพอแก้ขัดไปได้” “เงินยังอยู่ในธนาคาร ค่อยๆเบิกมาใช้ หากินไปด้วย ถ้าหาไมได้จริงๆ ค่อยไปเบิกมาใช้” “เงินออมสินดี กู้ไม่ยาก ดอกน้อย ผ่อนนาน ไม่ต้องไปเอาเงินนอกระบบ” “ไปรูดของมาไว้ มีข้าวสาร มาม่า ปลากระป๋อง ก็พอได้กิน อันไหนมีมากเราก็ขายไป”  “คิดว่ารัฐบาลนี้ให้เงินถึงมือคนจนจริงๆ”  

สถานการณ์ที่คนจนเมืองและคนชนบทพึงพอใจต่อการเยียวยา (และขยายไปสู่ความพอใจต่อรัฐบาล)  เป็นเรื่องที่เข้าใจได้ เนื่องจากพวกเขาประเมินจากหลักเชิงศีลธรรม แต่ขณะเดียวกันก็แสดงให้เห็นสัมฤทธิ์ผลของการเยียวยาแบบสงเคราะห์นิยมที่ผู้ออกแบบนโยบายคาดหวังไว้ และทำให้เห็นว่า เราควรทำความเข้าใจอานุภาพของการเยียวยาแบบสงเคราะห์นิยมให้ดีขึ้น

ดังได้เกริ่นไว้ว่าบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ หรือ “บัตรคนจน” เป็นกลไกสำคัญในการเยียวยา บัตรสวัสดิการแห่งรัฐเกิดขึ้นในปี 2560 เป็นนโยบายสวัสดิการคนจนที่รัฐบาล คสช. ให้ความสำคัญเป็นพิเศษ[xii] ผู้มีสิทธิถือบัตรนี้คือคนไทยที่มีอายุ 18 ปีขึ้นไป ว่างงาน หรือมีรายได้ส่วนตัวไม่เกิน 100,000 บาทต่อปี ผู้ประสงค์จะถือบัตรต้องลงทะเบียนและผ่านการตรวจสอบข้อมูล บัตรคนจนเป็นช่องทางส่งผ่านความช่วยเหลือแก่คนจนแบบรายบุคคลโดยตรง  คือจะได้วงเงินช่วยเหลือค่าครองชีพเดือนละ 200-300 บาท ค่าโดยสารรถสาธารณะ ส่วนลดค่าซื้อก๊าซหุงต้ม ค่าไฟฟ้า ค่าประปา นอกจากนั้นยังเป็นช่องทางรับเบี้ยคนพิการ และเบี้ยยังชีพคนชรา ในการเยียวยาโควิด-19 ระยะที่ 2 และ 3 ผู้ถือบัตรคนจนทุกคนจะได้รับสิทธิโครงการเราชนะ[xiii]  นอกจากนั้นยังมีโครงการเพิ่มกำลังซื้อให้แก่ผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ เพิ่มวงเงินค่าครองชีพให้เป็นพิเศษจาก 200-300 บาท เป็น 500 บาท (ในช่วงเวลาที่กำหนด) 

การสำรวจภาคสนามพบว่า ผู้ให้สัมภาษณ์ประมาณ 3 ใน 4 บอกว่าตนเองหรือสมาชิกในครอบครัวมีบัตรคนจน ขณะที่บางครอบครัวมีผู้ถือบัตรหลายคน ในการลงทะเบียนคนจนแม้มีความยากลำบากอยู่บ้าง แต่หน่วยงานรัฐได้พยายามช่วยเหลืออย่างดี ด้วยการเปิดให้ลงทะเบียนหลายรอบ มีหน่วยงานและเจ้าหน้าที่ให้การช่วยเหลือเชิงรุกถึงในชุมชน ส่วนการตรวจสอบข้อมูลความยากจน ก็ดูจะไม่ค่อยเคร่งครัด เพราะมีเสียงติฉินนินทากันว่า ใครไปลงทะเบียนก็ได้หมด มีทรัพย์สิน มีคู่สมรสการงานมั่นคงก็ยังได้ กระบวนการนี้เป็นที่มาของข้อมูลที่มีบทสรุปว่าปัจจุบันทั้งประเทศมีผู้ถือบัตรคนจน 13.7 ล้านคน

การเห็นว่าบัตรคนจนเป็นกลไกสวัสดิการที่สำคัญของรัฐบาลไม่ใช่เรื่องใหม่ บทความของ ธร ปิติดล และ วีระวัฒน์ ภัทรศักดิ์กำจร เมื่อไม่นานมานี้[xiv] ได้เสนอบทวิเคราะห์ที่น่าสนใจ บทความเรียกสวัสดิการในยุครัฐบาล คสช. ที่ใช้นโยบายประชารัฐว่า “สวัสดิการประชารัฐ” ในแง่หนึ่งสวัสดิการประชารัฐเป็นปฏิกิริยาต่อแนวทางที่ถูกเรียกว่า “ประชานิยม” ของรัฐบาลก่อนหน้า โดยประชารัฐต้องการลบภาพการอุดหนุนชนบทแบบหวังผลการเมืองเฉพาะหน้า  และต้องการสร้างวินัยทางการคลัง โดยลดการอุดหนุนชนบทอย่างไร้วินัย สวัสดิการประชารัฐมีเครื่องมือสำคัญคือ บัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ซึ่งเป็นโครงการสวัสดิการแรกของประเทศไทยที่นำสวัสดิการแบบเจาะจงที่คนจน (poverty-targeting) ผ่านกระบวนการพิสูจน์ฐานะความยากจน (Means-test) มาใช้ในระดับประเทศ รัฐบาลคาดว่าบัตรคนจนจะเป็นเครื่องมือให้สวัสดิการคนจนที่ตรงเป้า ช่วยลดความยากจนและเหลื่อมล้ำ และกระตุ้นเศรษฐกิจฐานรากได้จากการจับจ่ายของคนจน

 ข้อถกเถียงหลักของ ธร ปิติดล และ วีระวัฒน์ ภัทรศักดิ์กำจร คือสวัสดิการประชารัฐ ได้เปลี่ยนแปลงความสัมพันธ์รัฐกับชนบท จากสภาวะที่คนชนบทมีอัตลักษณ์เป็น “ชาวนาการเมือง” (Political Peasants) ที่เกิดจากภาคชนบท/เกษตรได้รับการอุดหนุนจากรัฐอย่างต่อเนื่อง ทำให้คนชนบทยกระดับฐานะความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น และการเมืองของคนชนบทไม่ใช่การสมยอมหรือต่อต้านรัฐ หากแต่เป็นความพยายามเข้าสัมพันธ์กับรัฐเพื่อต่อรองเอาทรัพยากรและอำนาจมาเป็นประโยชน์ของตน[xv] สิ่งที่สวัสดิการประชารัฐทำให้เกิดขึ้นคือ การย้อนเข็มนาฬิกาของความสัมพันธ์กลับ  โดยลดการอุดหนุนชนบทโดยรวม ส่งตรงความช่วยเหลือไปที่คนจน และใช้กลไกของราชการจัดระเบียบ คัดกรอง และกระจายผลประโยชน์สู่เฉพาะคนจน จึงเท่ากับว่าเป็นการเปลี่ยน “ชาวนาการเมือง” ให้เป็น “คนจน” ภายใต้การควบคุมและอุปถัมภ์ของรัฐ 

 ผู้เขียนเห็นด้วยกับข้อถกเถียงดังกล่าว เพราะเห็นได้ชัดว่าการเยียวแบบสงเคราะห์นิยมกำลังเปลี่ยนคนจนเมืองและคนชนบทให้อยู่ภายใต้การควบคุมและอุปถัมภ์ของรัฐ อย่างไรก็ตามในสถานการณ์ปัจจุบัน ผู้เขียนเห็นว่ายังมีความเปลี่ยนแปลงต่อเนื่องอีก 2 ประการ  

ประการแรก การลดการอุดหนุนชนบท ซึ่งนโยบายประชารัฐอ้างว่าจะทำ และเป็นเส้นแบ่งระหว่างประชารัฐ/ประชานิยม ปรากฏว่าเส้นแบ่งนี้ลางเลือนเต็มที่ นับจากปี 2562 ซึ่งรัฐบาลพลเอกประยุทธ์บริหารประเทศ ได้มีมาตรการช่วยเหลือเกษตรกรผู้ปลูกข้าวปีการผลิต 2562/63 หลากหลายโครงการ เช่นโครงการประกันรายได้ โครงการสนับสนุนต้นทุนการผลิต โครงการช่วยเหลือค่าเก็บเกี่ยว โครงการสินเชื่อเพื่อจุดประสงค์ต่างๆ รวมใช้งบประมาณ 1.45 แสนล้านบาท[xvi]  ในปีการผลิต 2563/64 ที่ผ่านมาในสถานการณ์โควิด ก็ยังดำเนินไปในแนวทางเดียวกับปีที่ผ่านมา กระทั่ง TDRI ต้องออกมา “จี้รัฐเลิกหว่านเงิน 1.1 แสนล้านบาทอุ้มชาวนา”[xvii]  ดังนั้นหากมีสมมุติฐานว่า การถอนการอุดหนุนชนบท คือเงื่อนไขการเปลี่ยนชาวนาการเมือง ให้เป็นคนจน ตามที่รัฐต้องการ ก็แสดงว่าการเปลี่ยนแปลงนี้ยังเป็นไปอย่างลุ่มๆดอนๆ  ในเวลาเดียวกัน เราจะเห็นว่าตราบใดที่ชนบทยังเป็นฐานการจ้างงาน เป็นแหล่งแรงงานสำรอง และเป็นฐานทางการเมืองที่สำคัญ การอุดหนุนชนบทก็ยังเป็นนโยบายที่รัฐบาลจะต้องให้ความสำคัญต่อไป

ประการที่สอง การลดความยากจนและความเหลื่อมล้ำ ซึ่งนโยบายประชารัฐอ้างว่าจะทำให้สำเร็จ เป็นอีกข้อที่น่ากังขา ลำพังการเติมเงินในบัตรให้คนจนเท่ากับการลดความยากจนหรือไม่ หรือเป็นเพียงเทคนิคทำให้ผู้มีรายได้ต่ำกว่าเส้นความยากจนมีจำนวนลดลง  ตามที่รัฐบาลประกาศว่าจะทำให้คนจนหมดไป  ผู้เขียนเห็นว่า การประเมินความสำเร็จของการลดความยากจน ควรมุ่งไปที่การแก้ไขปัญหาเชิงโครงสร้าง หรือโครงการฟื้นฟูเศรษฐกิจในภาวะวิกฤต หากพิจารณาเฉพาะในช่วงโควิด-19 ที่รัฐบาลกำหนดแผนงานฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคม (ภายใต้ พ.ร.ก. กู้เงินแก้ไขปัญหาโควิด-19 วันที่ 18 เมษายน 2563)[xviii] ในพื้นที่ชุมชนแออัด ผู้เขียนไม่พบกิจกรรมการสร้างงาน สร้างรายได้ แก้ไขความไม่มั่นคงของการประกอบอาชีพ ที่อยู่อาศัย หรือสวัสดิการสังคม ในพื้นที่ชนบทก็เช่นเดียวกัน  นอกจากสถานการณ์ที่แทบทุกครอบครัวหันมาปลูกข้าว ตามแรงกระตุ้นของมาตรการช่วยเหลือชาวนา ก็แทบไม่เห็นความเปลี่ยนแปลงใดๆ[xix] สถานการณ์นี้สอดคล้องรับกับ ปัญหาการเบิกจ่ายงบประมาณตามแผนฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคม ที่ทำได้ล่าช้าและเป็นสัดส่วนไม่มากนักในรอบปีที่ผ่านมา[xx]

กล่าวถึงที่สุด การเยียวยาโควิด-19 ที่ผ่านมา ทำให้คนไทยที่เดือดร้อนกันถ้วนหน้า เสมือนต้องตากหน้าไปขอความช่วยเหลือ แก่งแย่ง แสดงความทุกข์ เพื่อจะถูกคัดกรอง เลือกสรร ให้ได้รับความเมตตา การเลือกแนวทางเยียวยาเฉพาะกลุ่ม สะท้อนความไม่ใยดีต่อหลักสวัสดิการถ้วนหน้าที่ประชาชนถามหา ในการแพร่ระบาดและความยากลำบากที่เพิ่มมากขึ้น  ไม่พบความสัมพันธ์ที่เป็นเหตุเป็นผลระหว่างระดับความเดือดร้อนกับการเยียวยา และหากพิจารณาบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ที่อ้างว่าจะลดความยากจนและเหลื่อมล้ำ  กลับพบว่าเป็นจักรกลเปลี่ยนประชาชนให้กลายเป็นคนจนภายใต้อุปถัมภ์ ในวิกฤตที่คนไทยเดือดร้อนปางตาย สิ่งที่ได้คือ การเยียวยาแบบสงเคราะห์นิยม.

 

อ้างอิง     

[i] ธนาคารแห่งประเทศไทย. (2563).  “สรุปมาตรการเพื่อเยียวยาและลดผลกระทบของ COVID-19 ในต่างประเทศ” สืบค้นจาก https://www.bot.or.th/Thai/FinancialInstitutions/COVID19/Documents/Measure_Foreign.pdf

[ii] “มาตรการดูแลและเยียวยาผลกระทบจากไวรัสโคโรนา (COVID-19) ต่อเศรษฐกิจไทยทั้งทางตรงและทางอ้อม..” ประกอบด้วยมาตรการระยะที่ 1, 2 และ 3 ซึ่งรัฐบาลทยอยประกาศเป็นระยะ นับตั้งแต่ช่วงต้นของการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ (COVID-19) ในช่วงต้นปี 2563 มาตรการฯประกอบด้วยมาตรการย่อยหลายด้าน ทั้งทางด้านการคลังในการกู้เงินเพื่อแก้ไขปัญหาต่างๆ ประกอบด้วยแผนงานด้านสาธารณสุข แผนงานเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบ และแผนงานฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคม นอกจากนั้นยังมีมาตรการให้อำนาจแก่องค์กรต่างๆของรัฐในการช่วยเหลือแก่ภาคเศรษฐกิจต่างๆ

“การเยียวยา” ที่กล่าวในบทความนี้มุ่งหมายเฉพาะแผนงานเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 เนื่องจากเป็นเรื่องที่ส่งผลกระทบต่อประชาชนส่วนใหญ่ สำหรับรายละเอียดของมาตรการฯระยะที่ 2 ดูข่าวกระทรวงการคลัง 24 มีนาคม 2563. shorturl.asia/PBwQM   มาตรการฯระยะที่ 3 ดูข่าวกระทรวงการคลัง.7 เมษายน 2563. https://www.mof.go.th/th/detail/1543205599/2020-04-07-17-19-09.  และการเยียวยารอบใหม่ (จากการระบาดระยะที่ 3)  ดู สำนักข่าวกรมประชาสัมพันธ์  https://thainews.prd.go.th/th/news/detail/TCATG210505191857477

[iii] ระพีพรรณ คำหอม. (2557). สวัสดิการกับสังคมไทย. กรุเทพฯ: สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์. (พิมพ์ครั้งที่ 4). หน้า 18.

[iv] ดู ปิ่นแก้ว เหลืองอร่ามศรี. (2561). “โควิด-19 ปิดเมืองทางเศรษฐกิจ กับการเมืองของการปันส่วนใหม่” สืบค้นจาก https://www.newmandala.org/moral-economies-the-politics-of-donation-in-thailand-under-covid-19/ . และ อานันท์ กาญจนพันธุ์. (2544). “ทุนทางสังคมกับสิทธิชุมชน” ใน มิติชุมชน วิธีคิดท้องถิ่น ว่าด้วย สิทธิ อำนาจ และการจัดการทรัพยากร. กรุงเทพฯ: สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย. 

[v] การสำรวจข้อมูลทำการสัมภาษณ์เชิงลึกประชากรเป้าหมายประกอบด้วย ผู้มีรายได้น้อยในเมือง (ไม่ได้อยู่ในชุมชนแออัด) ซึ่งประกอบอาชีพต่างๆกัน 4 ราย กลุ่มคนจนเมืองในชุมชนแออัด 14 ราย (แรงงาน อาชีพอิสระ ตกงาน ไม่ได้ประกอบอาชีพ และกลุ่มเปราะบาง) และกลุ่มคนในชนบท 8 ราย (เกษตรกร ร้านค้า ซื้อขายของเก่า ช่างก่อสร้าง แรงงาน) รวมทั้งสนทนาไม่เป็นทางการกับประชากรอีกหลายราย และสังเกตการณ์กิจกรรมของชุมชน   

[vi] ผู้เขียนนิยาม “คนจน” ตามแนวทางของ ณรงค์ เพ็ชรประเสริฐ. (2546). บทสังเคราะห์ภาพรวมการพัฒนาระบบสวัสดิการสำหรับคนจนและคนด้อยโอกาสในสังคมไทย. กรุงเทพฯ: ศูนย์ศึกษาเศรษฐศาสตร์การเมือง คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย. ซึ่งนิยามว่าความจนประกอบ 4 มิติคือ จนทรัพย์สิน จนสิทธิและโอกาส จนอำนาจ และจนศักดิ์ศรี คนจนทรัพย์สิน มักจนในมิติอื่นๆด้วย และบางคนอาจไม่จนทรัพย์สิน (รายได้มากกว่าเส้นความยากจน) แต่ก็จนในมิติอื่นๆ ในการศึกษาคนจนเมืองของผู้เขียน ประชากรส่วนใหญ่มีรายได้ใกล้เคียงกับเส้นความยากจน คือต่ำกว่าหรือสูงกว่าเส้นความยากจนไม่มากนัก (เส้นความยากจนภาคอีสานปี 2562 คือ 2479 บาท/คน/เดือน หรือ 82 บาท/คน/วัน)   

[vii] แอนดรู วอล์คเกอร์ (แปลโดยจักรกริช สังขมณี). (2559). ชาวนาการเมือง: อำนาจในเศรษฐกิจชนบทสมัยใหม่ของไทย. กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์ฟ้าเดียวกัน. เสนอว่าคนชนบทส่วนใหญ่มีฐานะเป็น “ชาวนารายได้ปานกลาง” จากการพัฒนาและอุดหนุนชนบท/ภาคเกษตรของรัฐมาอย่างต่อเนื่อง คนส่วนใหญ่ในชนบทมีรายได้เหนือเส้นความยากจน และประชากรส่วนใหญ่มีรายได้สูงกว่าเส้นความยากจนอย่างมีนัยสำคัญ 

[viii] กรณีผลกระทบทางเศรษฐกิจต่อชนบทโดยทั่วไป ดูได้จากงานของสถาบันวิจัยเศรษฐกิจ ป๋วย อึ๊งภากรณ์ โดยโสมรัศมิ์ จันทรัตน์ และคณะ (2563). “ครัวเรือนเกษตรไทยในวิกฤติโควิด-19” สืบค้นจาก shorturl.asia/79Xh2 . ซึ่งศึกษาครัวเรือนเกษตรกร 720 ครัวเรือน ในช่วงเดือนเมษายน 2563 แสดงให้เห็นวิกฤตเศรษฐกิจครัวเรือนชนบทอย่างรอบด้าน จากพืชผลราคาตกต่ำ การรับจ้างในและนอกเกษตรตกต่ำ ตกงาน หนี้สินเพิ่ม ครัวเรือนจำนวนมากอยู่ในสถานะไม่สามารถชำระหนี้ แต่การการศึกษาของผู้เขียนเกิดขึ้นในช่วงเดือนมิถุนายน 2564 หลังจากมีมาตรการเยียวยาและการอุดหนุนภาคเกษตรหลากหลายประการมาแล้วระยะหนึ่ง ทำให้ภาวะเศรษฐกิจครัวเรือนชนบทเปลี่ยนไปในทางที่ดีขึ้น        

[ix] งานวิจัยของสำนักปลัดกระทรวงพัฒนาสังคมและมนุษย์ โดย เสาวลักษม์ กิตติประภัสร์ และคณะ. (2563). ผลกระทบทางสังคมจากการระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 และวิกฤตเศรษฐกิจ. กรุงเทพฯ: กระทรวงพัฒนาสังคมและทรัพยากรมนุษย์.  ศึกษาประชากรในชุมชนแออัด กทม. ระหว่างปลายเดือนสิงหาคมถึงต้นเดือนกันยายน 2563 ภายหลังจาก กทม. มีประกาศปิดเมือง และได้คลายล๊อคแล้ว นำเสนอข้อสรุปวิกฤตการณ์ผลกระทบต่อคนในชุมชนแออัดได้อย่างรอบด้าน พบว่ามีคนจนใหม่เกิดขึ้นจำนวนมาก จากการขาดรายได้ รายได้ลด ตกงาน ทำให้มีรายได้ตกเกณฑ์เส้นความยากจน กรณีศึกษาที่ กทม. นี้อาจใช้เทียบเคียงกับผลกระทบที่เกิดขึ้นในชุมชนแออัดในบทความนี้ได้ แม้จะต่างบริบททางพื้นที่และเวลาไปบ้าง 

[x] การเยียวยาที่ส่งถึงมือคนชุมชนแออัด ระยะแรก ได้แก่ โครงการเราไม่ทิ้งกัน (คนละ 5,000 บาท 3 เดือน) ระยะที่สองและสาม ได้แก่ โครงการเราชนะ (รวม 9,000 บาท) โครงการเพิ่มกำลังซื้อให้แก่ผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ (ให้วงเงินเพิ่มขึ้นเป็นเดือนละ 500 บาท จากเดิมที่ได้ทุกเดือน 2-300 บาท) สำหรับผู้มีประกันสังคมมาตรา 33 ไม่ได้โครงการเราชนะ แต่จะได้โครงการ ม.33 เรารักกัน  (รวม 6,000 บาท) นอกจากนั้นได้รับสิทธิลดค่าไฟฟ้า (ในเดือนที่กำหนด) และยังมีสินเชื่อโควิดธนาคารออมสินในวงเงิน 10,000 บาท ที่สามารถเข้าถึงได้ไม่ยาก สำหรับคนชรา คนพิการ และผู้มีบุตรแรกเกิดจนถึง 6 ขวบ ยังสามารถได้รับเงินอุดหนุนตามปกติ รวมทั้งยังมีบางคนได้สิทธิโครงการคนละครึ่ง (อาจเป็นฝ่ายผู้ซื้อหรือฝ่ายร้านค้า) โครงการคนละครึ่งไม่ได้อยู่ในแผนงานเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบ แต่อยู่ในแผนงานฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคม เป็นมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ (ดูเชิงอรรถที่ 4) 

[xi] ประมาณเดือนพฤษภาคม 2563  ในการเยียวยาระยะแรก ครัวเรือนเกษตรกรได้รับเงินเยียวยาเกษตรกร ครัวเรือนละ 5,000 บาท 3 เดือน (รวม 15,000 บาท) สำหรับสมาชิกครัวเรือนที่ไมได้ระบุว่าทำเกษตร (ขึ้นอยู่กับการให้ข้อมูลของหัวหน้าครัวเรือนตอนขึ้นทะเบียนเกษตรกร) ได้สิทธิโครงการเรารักกัน (15,000 บาท) ในช่วงปลายปีต่อเนื่องต้นปี 2564 กระทรวงเกษตรฯมีโครงการประกันราคาข้าว จ่ายเงินชดเชยส่วนต่างราคาข้าวเปลือกระหว่างราคาตลาดกับราคากลางที่รัฐบาลกำหนด ในช่วงคาบเกี่ยวกันมีโครงการสนับสนุนค่าบริหารจัดการและพัฒนาคุณภาพผลผลิตเกษตรกรผู้ปลูกข้าวนาปี ไร่ละ 500 บาท ไม่เกิน 20 ไร่ (จ่ายให้ 2 รอบ)  สำหรับเงินเยียวยาโควิด-19 ระยะ 2 และ 3 ชาวนาได้รับเช่นเดียวกับคนจนเมือง คือโครงการเราชนะ (รวม 9,000 บาท) โครงการเพิ่มกำลังซื้อให้แก่ผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ (ให้วงเงินเพิ่มขึ้นเป็นเดือนละ 500 บาท) สำหรับผู้มีประกันสังคมมาตรา 33 ไม่ได้โครงการเราชนะ แต่จะได้โครงการ ม.33 เรารักกัน  (รวม 6,000 บาท) นอกจากนั้นได้รับสิทธิลดค่าไฟฟ้า (ในเดือนที่กำหนด) และโครงการพิเศษจากธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธกส.) ในโครงการพักชำระหนี้และโครงการสินเชื่อกรณีพิเศษ

[xii] ความเป็นมาและรายละเอียดของบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ดู https://spm.thaigov.go.th/FILEROOM/spm-thaigov/DRAWER004/GENERAL/DATA0000/00000438.PDF

[xiii] โครงการเราชนะมีผู้ได้รับสิทธิ 32.9 ล้านคน (ณ วันที่ 11 พ.ค.64) โดยประกอบด้วย กลุ่มผู้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ 13.7 ล้านคน กลุ่มที่ไม่ได้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ และทำการลงทะเบียนเพิ่มเติม 16.8 ล้านคน และกลุ่มที่ลงทะเบียนโดยความช่วยเหลือพิเศษ (กลุ่มที่ไม่สามารถลงทะเบียนออนไลน์) 2.4 ล้านคน ดูข่าวกระทรวงการคลัง ความคืบหน้าของโครงการเราชนะ ณ วันที่ 11 พฤษภาคม. https://www.mof.go.th/th/detail/2020-04-03-10-20-57/2021-05-11-16-18-42  

[xiv] ธร ปิติดล และวีระวัฒน์ ภัทรศักดิ์กำจร. (2562). “สวัสดิการประชารัฐกับการเปลี่ยนแปลงความสัมพันธ์รัฐ-ชนบทไทย”. https://prachatai.com/journal/2019/11/85361

[xv] ชาวนาการเมือง (Political Peasants) เป็นข้อเสนอของ แอนดรู วอล์คเกอร์ (อ้างแล้ว).

[xvi] ส่องงบ รบ.เชียงกง บิ๊กตู่ 2/1 ซื้อใจ‘ชาวนา’ แจกสะบัด 8 หมื่นล. แต่ฟันเฟืองศก. ‘ไม่หมุน’  https://www.isranews.org/isranews-scoop/84072-report-84072.html

[xvii]  ทีดีอาร์ไอ ชี้รัฐควรเลิกนำงบอุดหนุนข้าว 1.1 แสนล้าน หว่านช่วยชาวนา แต่ปรับรูปแบบช่วยเฉพาะรายที่มีการปรับตัว    https://www.bangkokbiznews.com/news/detail/926628

[xviii] แผนการฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมจากผลกระทบโควิด-19 และโครงการภายใต้กรอบวงเงิน 4 แสนล้านบาท ตาม พ.ร.ก.กู้เงินฯ 1 ล้านล้านบาท (18 เม.ย. 2563) ได้กำหนดโครงการไว้หลากหลาย เช่น เกษตรทฤษฎีใหม่ หลักทฤษฎีใหม่ประยุกต์สู่ “โคก หนอง นา โมเดล” เกษตรแปลงใหญ่ การสร้างงาน สร้างอาชีพ การพัฒนาอุตสาหกรรมเศรษฐกิจฐานราก เศรษฐกิจชีวภาพ BCG  การท่องเที่ยวเน้นคุณภาพ. shorturl.asia/zyR7g

[xix] อย่างไรก็ตาม ควรกล่าวไว้ด้วยว่า ในสนามยังมีเหตุการณ์ที่แสดงให้เห็นการเป็นผู้กระทำการของคนในชุมชน ในชุมชนแออัด ชาวชุมชนรวมตัวกันทำแปลงเกษตรสร้างความมั่นคงทางอาหารในสถานการณ์โควิด-19 และมีการเคลื่อนไหวที่น่าชื่นชมของเครือข่ายชุมชนแออัด เพื่อผลักดันโครงการจัดการภัยพิบัติโดยชุมชน เนื่องจากชุมชนแออัดประสบปัญหาน้ำท่วมแทบทุกปีชุมชนต้องจึงการมีส่วนร่วมในการจัดการ และต่อรองให้สามารถดึงทรัพยากรจากภาครัฐมาสู่ชุมชน แทนที่จะคอยรับการช่วยเหลือจากรัฐและเอกชน ในกรณีชุมชนชนบท เกิดเหตุการณ์ชาวบ้านหันมาเลี้ยงวัวมาซื้อกันมากขึ้น ซึ่งเป็นรูปแบบการออมที่สำคัญ การซื้อวัวมาเลี้ยงด้านหนึ่งเกิดจากตลาดนัดโคกระบือไม่สามารถเปิดตามปกติ วัวควายราคาตก จึงเป็นโอกาสที่จะซื้อมาเลี้ยงไว้ อีกด้านหนึ่งแสดงว่าเงินเยียวยาและการอุดหนุนของรัฐทำให้ชาวบ้านมีเงินทุน ในช่วงเดือนที่ผ่านมาเกิดโรคระบาดโรคลัมปีสกิน ชาวบ้านไม่รอให้ปศุสัตว์เข้ามาดูแล ได้ร่วมกันสมทบทุนไปซื้อวัคซีนมาฉีดให้วัวเอง     

[xx] งบฯเงินกู้…ละลายแม่น้ำ ? https://www.prachachat.net/columns/news-680793

 

หมายเหตุ: บทความนี้ปรับปรุงจากส่วนหนึ่งของบทความวิจัยที่ผู้เขียนกำลังดำเนินการ ภายใต้ชุดโครงการวิจัย “โควิด-19 กับสังคมไทย: บันทึกวิกฤตและประสบการณ์การรับมือกับไวรัสโคโรนา” โดยศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน) (ศมส.) อย่างไรก็ตามความเห็นในบทความเป็นของผู้เขียน ศมส. ไม่จำเป็นต้องเห็นด้วย 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net