Skip to main content
sharethis

องค์กรผู้สื่อข่าวไร้พรมแดน (Reporters without Borders: RSF) เผย ‘พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา’ ติดโผ “นักล่าเสรีภาพสื่อ” ประจำปี 2021 ร่วมกับผู้นำโลกอีก 37 คน พร้อมชำแหละยุทธวิธีการล่าเสรีภาพ ‘ใช้ ม.112 – ปราบทุกคนที่เห็นต่าง - หมิ่นนักข่าว’

7 ก.ค. 2564 องค์กรผู้สื่อข่าวไร้พรมแดน (Reporters without Borders: RSF) เปิดเผยรายชื่อผู้นำโลก 37 ที่ติดโผ “นักล่าเสรีภาพสื่อ” ประจำปี 2021 โดยระบุว่าส่วนใหญ่แล้วเป็นทรราชย์หน้าเก่า แต่เป็นครั้งแรกที่นักล่าเสรีภาพสื่อหน้าใหม่มีชื่อของผู้นำหญิงติดโผ นั่นคือ แคร์รี ลัม ผู้บริหารเขตปกครองพิเศษฮ่องกง และชีค ฮาซีนา นายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกของบังกลาเทศ รวมถึงมีชื่อของวิคเตอร์ ออร์บาน นายกรัฐมนตรีฮังการี ซึ่งเขาถือว่าเป็นผู้นำในประเทศสมาชิกสหภาพยุโรป (EU) คนแรกที่ติดหนึ่งในรายชื่อนี้ อีกทั้งยังมีชื่อของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีของไทยติดโผด้วยเช่นกัน

วิธีการล่า: ตั้งข้อหาหมิ่นประมาทกษัตริย์ปิดปากสื่อ

องค์กรผู้สื่อข่าวไร้พรมแดนระบุว่า พล.อ.ประยุทธ์ เป็นนักล่าเสรีภาพสื่อตั้งแต่ก้าวแรกที่เข้ามาดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของประเทศไทยจากการรัฐประหารเมื่อวันที่ 22 พ.ค. 2557 พร้อมบอกว่าวิธีการ ‘ล่าเสรีภาพ’ ของ พล.อ.ประยุทธ์ คือ การตั้งข้อหาหมิ่นประมาทกษัตริย์ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 เพื่อปิดปากประชาชนที่วิพากษ์วิจารณ์ตน รวมถึงพวกพ้ององคาพยพ

องค์กรผู้สื่อข่าวไร้พรมแดน อธิบายเพิ่มเติมว่า พล.อ.ประยุทธ์สร้างระบบควบคุมข้อมูลที่เบ็ดเสร็จเด็ดขาดนับตั้งแต่เขาทำรัฐประหารเมื่อ 7 ปีก่อน ในช่วงเดือนแรกๆ ที่ พล.อ.ประยุทธ์ ก้าวเข้าสู่อำนาจ เขากำหนดกฎเกณฑ์อันน่าสะพรึงกลัวและบังคับใช้อย่างไม่ปรานีแก่ใครก็ตามที่ส่งเสียงวิพากษ์วิจารณ์หรือใครก็ตามที่ถูกตราหน้าว่าเป็นผู้สนับสนุนรัฐบาลฝั่งตรงข้าม โดยก่อนที่ พล.อ.ประยุทธ์ จำดำรงตำแหน่งนายกฯ ครบ 1 ปี มีนักข่าวและบล็อกเกอร์มากกว่า 20 คนที่ต้องลี้ภัยไปต่างประเทศเพื่อเลี่ยงการถูกจับกุมและดำเนินคดีตามกฎหมายที่รัฐบาลทหารสร้างขึ้น

องค์กรผู้สื่อข่าวไร้พรมแดนยังระบุอีกว่า พล.อ.ประยุทธ์มีอาวุธที่สร้างขึ้นมาเพื่อเขาโดยเฉพาะ นั่นคือ กฎหมายหมิ่นประมาทกษัตริย์ ซึ่งเป็นที่ทราบกันดีว่ากฎหมายหมิ่นประมาทกษัตริย์ของไทยมีการบังคับใช้อย่างเข้มงวดที่สุดแห่งหนึ่งของโลก และการบังคับใช้กฎหมายดังกล่าวก็ไม่ได้มีจุดประสงค์เพื่อลงโทษคนที่กล่าวหาว่าร้ายสถาบันกษัตริย์เพียงอย่างเดียว เพราะมีความเป็นไปได้ว่าอาจจะมีบทลงโทษอื่นๆ เกิดขึ้นตามมา โดยเจ้าของความคิดเห็นใดก็ตามที่ได้รับการพิจารณาว่าเป็นการให้ร้ายแก่สถาบันกษัตริย์อาจได้รับบทลงโทษที่สูงถึงขั้นจำคุก 60 ปี นอกจากนี้ พล.อ.ประยุทธ์ ยังประกาศขยายการบังคับใช้กฎหมายหมิ่นประมาทกษัตริย์ให้กลายเป็นข้อหาที่เกี่ยวกับ ‘ความมั่นคงแห่งชาติ’ ซึ่งผู้ถูกตั้งข้อกล่าวหาจะต้องขึ้นให้การบนศาลทหาร อีกทั้งขอบเขตการดำเนินคดียังครอบคลุมถึงการวิจารณ์กองทัพ หรือแม้แต่การวิจารณ์สุนัขทรงเลี้ยง

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง:

เป้าหมายที่ชอบ: ทุกคนที่เห็นต่าง

องค์กรผู้สื่อข่าวไร้พรมแดน กล่าวว่า ทันทีที่เข้ายึดอำนาจ พล.อ.ประยุทธ์ ก็สลัดชุดลายพรางของผู้บัญชาการทหารบท เปลี่ยนมาสวมชุดสูทสามชิ้น (three-piece suit) แบบที่นายกรัฐมนตรีทั่วๆ ไปเขาใส่กัน หลังจากนั้นประเทศไทยก็ก้าวเข้าสู่ยุคแห่งการเซ็นเซอร์ตัวเอง (self-censorship) โดยสื่อกระแสหลักทั้งหลายต่างพากันร้องเพลงแซ่ซ้องสรรเสริญตามนโยบายของ พล.อ.ประยุทธ์ กันอย่างถ้วนหน้า ส่วนนักข่าวหัวรั้นที่ไม่ยอมทำตามคำสั่งก็อาจถูกไล่ออกจากงานได้ ในขณะเดียวกัน สื่อที่อยู่ฝั่งตรงข้าม เช่น วอยซ์ทีวี ก็ถูกสั่งปิดช่วงการเลือกตั้งในปี 2562

วาทกรรมทางการ: ดูถูกเหยียดหยาม

องค์กรผู้สื่อข่าวไร้พรมแดนเลือก 3 วาทกรรมเด็ดของ พล.อ.ประยุทธ์ นับตั้งแต่การดำรงตำแหน่งนายกฯ มา 7 ปี โดยเหตุการณ์แรก คือ เหตุการณ์ที่ พล.อ.ประยุทธ์ฉีดสเปรย์แอลกอฮอล์ใส่นักข่าวเพื่อให้นักข่าวหยุดถามคำถามเรื่องการปรับคณะรัฐมนตรี ซึ่งเกิดขึ้นเมื่อวันที่ 9 มี.ค. 2564 เหตุการณ์ต่อมา คือ เหตุการณ์ ‘ถามไอ้คนนี้นะ’ ซึ่งเกิดขึ้นเมื่อวันที่ 8 ม.ค. 2561 โดย พล.อ.ประยุทธ์ เลี่ยงการให้สัมภาษณ์แก่นักข่าวที่ทำเนียบรัฐบาล ด้วยการกล่าวว่า “ใครจะสอบถามปัญหาการเมืองความขัดแย้ง ถามกับไอ้คนนี้นะ” พร้อมชี้ไปที่สแตนดี้ขนาดเท่าตัวจริงของตนเองที่เจ้าหน้าที่ยกมาตั้งไว้หน้าไมค์

เหตุการณ์สุดท้ายที่องค์กรผู้สื่อข่าวไร้พรมแดนเลือกมาเป็นหนึ่งในวาทกรรมทางการที่แสดงออกถึงการดูถูกเหยียดหยามนักข่าวของ พล.อ.ประยุทธ์ คือ การให้สัมภาษณ์ก่อนขึ้นเครื่องบินเดินทางไปเยือนประเทศบรูไนอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 25 มี.ค. 2558 โดย พล.อ.ประยุทธ์ตำหนิสื่อมวลชนด้วยอารมณ์ฉุนเฉียวว่านำเสนอข่าวให้เกิดความแตกแยกขึ้นในบ้านเมือง ผู้สื่อข่าวคนหนึ่งจึงสอบถามว่าจะมีมาตรการลงโทษสื่อที่ไม่ให้ความร่วมมือหรือไม่ อย่างไร ซึ่ง พล.อ.ประยุทธ์ ตอบกลับทันทีว่า “ประหารชีวิตมั้ง” หลังจากนั้น สำนักข่าวต่างประเทศได้เผยแพร่คำพูดดังกล่าวจนเป็นข่าวดังไปทั่วโลก

นอกจาก พล.อ.ประยุทธ์ แล้วยังมีผู้นำชาติอาเซียนอีก 5 คนที่ติดโผ่นักล่าเสรีภาพสื่อ ได้แก่ มินอ่องหล่าย ผู้นำกองทัพพม่า, ลีเซียนลุง นายกรัฐมนตรีสิงคโปร์, ฮุน เซน นายกรัฐมนตรีกัมพูชา, เหงียน ฝู จ่อง เลขาธิการพรรคคอมมิวนิสต์เวียดนาม และโรดริโก ดูเตอร์เต ประธานาธิบดีฟิลิปปินส์ ส่วนผู้นำประเทศในเอเชียที่ติดโผนี้ เช่น สีจิ้นผิง ประธานาธิบดีจีน, คิมจองอึน ประธานาธิบดีเกาหลีเหนือ, วลาดิเมียร์ ปูติน ประธานาธิบดีรัสเซีย และฌาอีร์ โบลโซนาโร ประธานาธิบดีบราซิล เป็นต้น

อนึ่ง ก่อนหน้านี้ องค์กรผู้สื่อข่าวไร้พรมแดนเปิดเผยดัชนีเสรีภาพสื่อประจำปี 2021 โดยประเทศไทยอยู่ที่อันดับ 137 จาก 180 ประเทศ สูงขึ้นจากปีก่อนหน้าซึ่งอยู่อันดับที่ 140 แต่ถ้านับเฉพาะ 10 ประเทศในอาเซียน ไทยถือว่ามีเสรีภาพสื่อสูงเป็นอันดับ 3 รองจากอินโดนีเซีย (อันดับ 113)  และมาเลเซีย (อันดับ 119) ในขณะที่ประเทศอื่นๆ ติดอันดับรองลงมา ได้แก่ ฟิลิปปินส์ (อันดับ 138) เมียนมา (อันดับ 140) กัมพูชา (อันดับ 144) บรูไน (อันดับ 154) สิงคโปร์ (อันดับ 160) ลาว (อันดับ 172) และเวียดนาม (อันดับ 175)

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง:

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net