กลุ่มคนจนในสหรัฐฯ ชี้ 'ส.ว. ถ่วงความเจริญของประเทศ' พร้อมลุยจัดม็อบต้านอำนาจ ส.ว. ตลอดเดือน ก.ค. นี้

กลุ่มสิทธิพลเมืองและความเป็นธรรมสำหรับคนจนในสหรัฐฯ (Poor People's Campaign) ประกาศแผนประท้วงตลอดเดือน ก.ค. นี้ เพื่อต่อต้าน ส.ว. สายอนุรักษ์นิยมที่พยายามขัดขวางมาตรการความก้าวหน้าและความเป็นธรรมทางเศรษฐกิจในหลายๆ เรื่อง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องค่าแรงขั้นต่ำ สวัสดิการสุขภาพ สิทธิในการเลือกตั้งอย่างทั่วถึงของประชาชน รวมถึงชี้ปัญหากลไกที่เอื้อต่อการสกัดกั้นความก้าวหน้าเหล่านี้

7 ก.ค. 2564 กลุ่มสิทธิพลเมืองและความเป็นธรรมสำหรับคนจนในสหรัฐฯ (Poor People's Campaign) ประกาศเมื่อวันที่ 5 ก.ค. ที่ผ่านมา ว่าจะจัดการประท้วงโดยสันติวิธีอย่างต่อเนื่องในสหรัฐฯ เป็นเวลาหลายสัปดาห์ถัดจากนี้ โดยการประท้วงของทางกลุ่มมีเป้าหมายเพื่อกดดันสมาชิกสภาซีเนต (Senate) หรือ ส.ว. ของสหรัฐฯ ให้ยกเลิกกระบวนการขัดขวางหรือถ่วงเวลาการผ่านมติต่างๆ ในสภา และเรียกร้องให้คุ้มครองสิทธิการลงคะแนนเสียงเลือกตั้งของประชาชน เพราะก่อนหน้านี้ พรรครีพับลิกันพยายามออกมาตรการขัดขวางการออกไปใช้สิทธิลงคะแนนเสียงเลือกตั้งของประชาชน รวมถึงเรียกร้องให้ทุกมลรัฐต้องกำหนดค่าแรงขั้นต่ำที่ชั่วโมงละ 15 ดอลลาร์สหรัฐฯ อย่างเท่าเทียมกัน เพราะการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำซึ่งเป็นนโยบายสายก้าวหน้าถูกสกัดกั้นจากสมาชิกพรรครีพับลิกันและสมาชิกสายอนุรักษ์นิยมในพรรคเดโมแครตมาโดยตลอดช่วงหลายเดือนที่ผ่านมา

บาทหลวงวิลเลียม บาร์เบอร์ที่ 2 ประธานร่วมขององค์กร Poor People's Campaign แถลงว่า "ไม่เหลือเวลาให้ต้องเสียอีกแล้ว สำหรับการต่อสู้ระหว่างประชาธิปไตยกับเผด็จการในยุคสมัยของพวกเรา"

"พวกเราต้องยกระดับการต่อสู้ทางศีลธรรมด้วยสันติวิธีเพื่อยุคแห่งการฟื้นฟูครั้งที่สาม (Third Reconstruction)" บาร์เบอร์กล่าว ซึ่งคำกล่าวนี้สื่อถึงข้อเรียกร้องต่อนโยบายของรัฐบาลต่างๆ เช่น การรับประกันการจ้างงานจากภาครัฐ ระบบประกันสุขภาพแบบกองทุนเดียว (ประกันสุขภาพที่ประชาชนทุกคนจะได้รับบริการทางการแพทย์โดยมีรัฐบาลกลางเป็นผู้ให้การอุดหนุนงบประมาณ) และการฟื้นฟูกฎหมายสิทธิเลือก ค.ศ.1965 ที่พรรครีพับลิกันเคยชำแหละมาก่อนหน้านี้

การเคลื่อนไหวในตลอดเดือน ก.ค. นี้ของกลุ่ม Poor People's Campaign เรียกว่า "ฤดูกาลแห่งปฏิบัติการทางตรงโดยสันติวิธี" เพื่อต่อต้าน ส.ว. จากพรรครีพับลิกันที่พยายามขัดขวางนโยบายก้าวหน้า รวมทั้งต่อต้าน ส.ว. จากพรรคเดโมแครตที่นิ่งเฉยต่อสิ่งที่เกิดขึ้น จนทำให้นโยบายหลายอย่างของรัฐบาลโจ ไบเดน ไม่สามารถเดินหน้าได้อย่างเต็มที่ โดยในวันที่ 12 ก.ค. ทางกลุ่มจะรมดมโทรศัพท์หา ส.ว. ทุกคนเพื่อ 'ชัตดาวน์' ระบบโทรศัพท์ ต่อมาในวันที้ 19 ก.ค.  ทางกลุ่มจะจัดปฏิบัติการทางตรงโดยสันติวิธีซึ่งมีผู้หญิงจากทั่วสหรัฐฯ เป็นผู้นำ เนื่องจากวันดังกล่าวเป็นวันครบรอบอนุสัญญาสิทธิสตรีเซเนกาฟอลส์ ซึ่งเป็นอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิสตรีฉบับแรกของสหรัฐฯ

ในวันที่ 26 ก.ค. ตัวแทนประชาชนจะจัดกิจกรรมปฏิบัติการทางตรงโดยสันติวิธีที่สำนักงาน ส.ว. ในอย่างน้อย 45 รัฐ โดยไม่สนว่าสังกัดพรรคการเมืองใด และในวันที่ 2 ส.ค. กลุ่มนักบวชและผู้นำทางศาสนา ร่วมกับกลุ่มสมัชชาคนจนและแรงงานจะจัดกิจกรรมโดยเน้นพุ่งเป้าไปที่เหล่า ส.ว. ของสหรัฐฯ

"เราถอยไม่ได้ เราประนีประนอมไม่ได้ เราต้องลงมือทำตอนนี้" บาร์เบอร์กล่าว ทั้งยังระบุว่าประชาธิปไตยของสหรัฐฯ กำลังตกอยู่ในอันตราย หากว่าการกระทำของทางกลุ่มส่งผลให้นักกิจกรรมถูกจับกุมจากระบบที่พวกเขาเชื่อ พวกเขาก็ยอม นอกจากนี้ บาร์เบอร์ยังกล่าวอีกว่า การอารยะขัดขืนถือเป็น "เหรียญตราและธงเกียรติยศ" ที่พวกเขายินดีจะประดับไว้อย่างเต็มภาคภูมิ

เมื่อเดือน มิ.ย. ที่ผ่านมา บาร์เบอร์และผู้นำทางศาสนาคนอื่นๆ รวมถึงนักกิจกรรม ถูกจับกุมขณะประท้วงที่หน้าอาคารวุฒิสภาในช่วงที่พรรครีพับลิกันกำลังใช้กลอุบายสกัดกั้นร่างกฎหมายเพื่อประชาชน (For the People Act) ซึ่งเป็นร่างกฎหมายที่ได้รับความนิยม เพราะเป็นกฎหมายที่ขยายสิทธิให้ประชาชนเข้าถึงการเลือกตั้งได้ง่ายขึ้น รวมถึงสกัดกั้นไม่ให้รัฐพรรครีพับลิกันมีอำนาจนำในการโจมตีสิทธิเลือกตั้งของประชาชน

กลไกหนึ่งในสภาของสหรัฐฯ ที่ถูกมองว่าเป็นการขัดขวางการผ่านญัตติหรือมติในสภา คือ "การประวิงเวลาด้วย 60 คะแนนเสียง" (60 votes filibuster) ซึ่งสื่อคอมมอนดรีมส์ระบุว่ากลไกนี้ให้อำนาจพรรคเสียงข้างน้อยมากเกินไปในการยับยั้งกฎหมาย เพราะกลไกลดังกล่าวอนุญาตให้ ส.ว. ใช้วิธีการอภิปรายประวิงเวลาในสภาไปเรื่อยๆ โดยไม่จำเป็นต้องระบุว่าจะอภิปรายในหัวข้อใด และจะยุติการอภิปรายก็ต่อเมื่อ ส.ว. ลงคะแนนเสียงถึง 60 เสียงเพื่อขอให้ยุติการอภิปราย ทำให้สามารถถ่วงเวลาหรือยับยั้งการผ่านร่างกฎหมายได้

คอมมอนดรีมส์ตั้งข้อสังเกตว่า ส.ว. พรรคเดโมแครต 2 คน คือ โจ แมนชิน และเคียร์สเติน ซีเนมา ต่างก็ปฏิเสธที่จะเปลี่ยนแปลงกลไกนี้ นอกจากนี้ แมนชินและซีเนมา รวมถึง ส.ว. จากพรรคเดโมแครตอีกจำนวนหนึ่งยังโหวตคัดค้านร่างกฎหมายค่าแรงขั้นต่ำ 15 ดอลลาร์ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของแผนการบรรเทาความทุกข์ยากจากการระบาดของโรคโควิด-19 ที่ไบเดนลงนามอนุมัติกฎหมายนี้ไปเมื่อเดือน มี.ค. ที่ผ่านมา

Poor People's Campaign ก่อตั้งขึ้นโดยมาร์ติน ลูเทอร์ คิง จูเนียร์ (Martin Luther King Jr.) ร่วมกับนักเรียกร้องสิทธิพลเมืองคนอื่นๆ ใน พ.ศ.2511 เพื่อผนึกกำลังของคนจนและชุมชนที่ได้รับผลกระทบร่วมกันให้กลายเป็นขบวนการเคลื่อนไหวที่ใหญ่ขึ้น โดยคำนึงถึงเรื่องความอยุติธรรมทางเชื้อชาติสีผิว ปัญหาความยากจน ปัญหาการทำลายสิ่งแวดล้อม และปัญหาลัทธิทหารนิยมกับการทำสงครามทางเศรษฐกิจที่บิดเบือนแนวคิดทางศีลธรรมจรรยา พวกเขาจึงต้องการเปลี่ยนแปลงวาทกรรมเกี่ยวกับศีลธรรมจรรยาดังกล่าวให้เกิดขึ้นเป็นรูปแบบใหม่

ที่มา:

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท