Skip to main content
sharethis

ไมค์ ระยอง เดินทางไปรายงานตัวที่ สภ.ภูเขียว จ.ชัยภูมิ เพื่อรับทราบข้อกล่าวหา ม. 112 จากเหตุปราศรัยวิจารณ์การสอนเรื่องกษัตริย์ในโรงเรียน ในการชุมนุม #ราษฎรออนทัวร์ นำโดยกลุ่มราษฎร หน้า สภ.ภูเขียว เมื่อวันที่ 1 ก.พ. 64 ทำให้ไมค์ ถูกดำเนิน ม. 112 รวมทั้งสิ้น 9 คดีแล้ว 

ภาณุพงษ์ จาดนอก หรือไมค์ ระยอง ประชาชน และสมาชิกคณะราษฎร รุ่นใหม่
 

7 ก.ค. 64 ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน รายงานผ่านสื่อออนไลน์เว็บไซต์ เมื่อวันที่ 6 ก.ค. 64 ระบุว่า เวลาประมาณ 10.30 น. ภาณุพงศ์ จาดนอก หรือไมค์ ระยอง พร้อมมารดา เดินทางจาก อ.บ้านฉาง จ.ระยอง เข้ารับทราบข้อกล่าวหาที่ สภ.ภูเขียว จ.ชัยภูมิ ตามที่ได้รับแจ้งจาก รองผู้กำกับสอบสวน สภ.ภูเขียว ผ่านทนายความว่า เป็นผู้ถูกกล่าวหาและถูกออกหมายเรียกในความผิดตาม มาตรา 112 จากการปราศรัยวิจารณ์การสอนเรื่องกษัตริย์ในโรงเรียน  ในการชุมนุมหน้า สภ.ภูเขียว ซึ่งจัดโดยกลุ่ม “ราษฎร” เมื่อวันที่ 1 ก.พ. 2564 ซึ่งเป็นคดีเดียวกับ จตุภัทร์ บุญภัทรรักษา หรือไผ่ ดาวดิน และ อรรถพล บัวพัฒน์ หรือ ‘ครูใหญ่’ ที่รับทราบข้อกล่าวหาไปแล้วก่อนหน้านี้ เมื่อวันที่ 11 มิ.ย. 64 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

'ไผ่-ครูใหญ่' ถูกแจ้งข้อหา 112 เหตุปราศรัยปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ที่ภูเขียว

พ.ต.ท.พัชรพล สอนเวียง รอง ผกก.สอบสวน สภ.ภูเขียว จะเริ่มแจ้งพฤติการณ์ในคดี ภาณุพงศ์สอบถามว่าได้ออกหมายเรียกตนหรือไม่ เนื่องจากไม่เคยมีหมายเรียกในคดีนี้ไปส่งที่บ้านใน จ.ระยอง พ.ต.ท.พัชรพล ตอบว่า ออกหมายเรียกไป 3 ครั้ง ภาณุพงศ์จึงขอดูสำเนาหมายเรียกดังกล่าวก่อน พนักงานสอบสวนจึงนำสำเนาหมายเรียกภาณุพงศ์ ออกเมื่อวันที่ 6, 14 และ 26 มิ.ย. 64 มาให้ดู แต่ไม่มีหลักฐานจาก สภ.บ้านฉาง ซึ่งเป็นสถานีตำรวจในพื้นที่ ส่งคืนกลับมาว่าได้ส่งหมายเรียกดังกล่าวไปที่บ้านของภาณุพงศ์แล้วหรือไม่

จากนั้น พนักงานสอบสวนได้แจ้งพฤติการณ์ในคดีให้ภาณุพงศ์ทราบ มีเนื้อหาเช่นเดียวกับที่ได้แจ้งจตุภัทร์ และอรรถพล สรุปได้ว่า เมื่อวันที่ 1 ก.พ.  2564 ภาณุพงศ์ ได้ร่วมกับจตุภัทร์ อรรถพล และกลุ่มคณะราษฎร ประมาณ 20-30 คน ชุมนุมที่บริเวณข้างรั้วโรงเรียนภูเขียว และหน้า สภ.ภูเขียว โดยไม่ได้มีมาตรการป้องกันโรค และไม่ได้แจ้งการจัดกิจกรรมที่สุ่มเสี่ยงต่อการแพร่ระบาดของโควิด มีการนําป้ายผ้าที่มีข้อความว่า “ปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์” และข้อความว่า “SAVE เมียนมาร์” มาติดที่บริเวณป้ายหน้า สภ.ภูเขียว 

จากนั้นมีการผลัดเปลี่ยนกันปราศรัย โดยภาณุพงศ์ได้ขึ้นปราศรัยในเวลาประมาณ 17.40 น. มีเนื้อหาตอนหนึ่งวิพากษ์วิจารณ์กษัตริย์และการศึกษาไทยว่า การสอนให้เด็กนักเรียนเทิดทูนกษัตริย์ที่… (คำวิจารณ์) ถือเป็นการหลอกลวง พนักงานสอบสวนระบุว่า คําพูดดังกล่าวเมื่อผู้คนทั่วไปและประชาชนได้ฟังแล้วเกิดความเคลือบแคลงสงสัยในสถาบันกษัตริย์ และรู้สึกไม่เทิดทูน อีกทั้งเป็นการดูหมิ่นที่ระบุชัดเจนกับการเรียกชื่อ “วชิราลงกรณ์” ซึ่งคนไทยทุกคนทราบว่าหมายถึงผู้ใด

โดยในการจัดกิจกรรมและการปราศรัยได้ทำการไลฟ์สดผ่านเฟซบุ๊กในเพจกลุ่มของผู้ต้องหาตลอดการชุมนุม ซึ่งบุคคลทั่วไปสามารถเข้าถึงได้

พนักงานสอบสวนกล่าวว่า การกระทำของภาณุพงศ์ และพวกดังกล่าว เข้าข่ายเป็นความผิด มาตรา 112 หรือหมิ่นประมาทกษัตริย์ มาตรา 116(2)(3) หรือยุยงปลุกปั่น ฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ พ.ร.บ.ความสะอาด และ พ.ร.บ.ควบคุมการโฆษณาโดยใช้เครื่องขยายเสียง

ภาณุพงศ์ให้การปฏิเสธข้อกล่าวหาทั้งหมด โดยไม่ให้การในรายละเอียด แต่จะยื่นคำให้การเป็นเอกสารภายใน 30 วัน รอง ผกก. (สอบสวน) นัดส่งตัวให้อัยการในวันที่ 9 ส.ค. 2564 พร้อมจตุภัทร์และอรรถพล 

บรรยากาศการชุมนุม #ม็อบ1กุมภา หน้า สภ.ภูเขียว จ.ชัยภูมิ

พ.ต.ท.พัชรพล กล่าวกับไมค์ในระหว่างสอบปากคำว่า ไม่ใช่ตำรวจเห็นเองว่า คำปราศรัยเข้าข่ายผิดมาตรา 112 แต่เป็นความเห็นของนักวิชาการที่พนักงานสอบสวนเชิญมาให้ความเห็น ทำให้ไมค์ตั้งคำถามว่า ทำไมตำรวจให้เขามาตัดสิน ถ้าเขาไม่ชอบหน้าผม เขาก็บอกว่าเข้าข่าย 112

ในการเข้ารับฟังการแจ้งข้อกล่าวหา เจ้าหน้าที่ตำรวจพยายามจำกัดให้เข้าเฉพาะไมค์ แม่ และทนายความ อ้างว่าจะติดโควิดและระบุว่า ตามกฎหมายให้เพียงทนายความและผู้ไว้วางใจ แต่ผู้สังเกตการณ์และนักศึกษาฝึกงานยืนยันขอเข้าร่วม สุดท้าย รอง ผกก.(สอบสวน) ให้เข้าร่วมฟังทั้งหมด เจ้าหน้าที่ตำรวจยังสำทับให้เก็บโทรศัพท์ รวมทั้งไม่ให้ถ่ายรูปและบันทึกเสียง แต่ในระหว่างการแจ้งข้อกล่าวหา ได้มีตำรวจ 2 นาย เดินมาพยายามถ่ายรูปไมค์ จน รอง ผกก.ต้องยกมือห้าม และในขณะที่ไมค์พิมพ์ลายนิ้วมือ ตำรวจก็เดินมาถ่ายรูปอีก ทำให้ไมค์ต่อว่าและให้ลบรูปทิ้งทันที    

หลังพิมพ์ลายนิ้วมือเพื่อนำไปตรวจสอบประวัติอาชญากรรม พนักงานสอบสวนไม่ได้ควบคุมตัวไมค์ไว้ เนื่องจากเป็นการมาพบพนักงานสอบสวนเอง ไม่ได้ถูกจับ ไมค์และแม่จึงเดินทางกลับในเวลาประมาณ 11.30 น. 

คดีนี้นับเป็นคดีที่ไมค์ถูกกล่าวหาตามมาตรา 112 คดีที่ 9 และเป็นการถูกดำเนินคดีที่จังหวัดในภาคอีสานคดีแรก 

การชุมนุมหน้า สภ.ภูเขียว เมื่อวันที่ 1 ก.พ. 2564 กลุ่ม “ราษฎร” จัดการชุมนุมเพื่อเรียกร้องให้ตำรวจ สภ.ภูเขียว ขอโทษ กรณีไปคุกคามนักเรียนที่บ้าน จากการลงชื่อสมัครเข้าร่วมค่าย “ราษฎรออนทัวร์” ในช่วงปลายเดือนมกราคม 2564  หลังการชุมนุม นอกจากผู้ชุมนุมจะไม่ได้รับการตอบสนองข้อเรียกร้องจากตำรวจ สภ.ภูเขียว แล้ว ยังถูกดำเนินคดีรวม 26 ราย โดยเป็นเยาวชนอายุ 15 ปี 1 ราย และ 18 ปี อีก 1 ราย ทั้งหมดถูกดำเนินคดีข้อหา พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ และ พ.ร.บ.ความสะอาดฯ โดยมีจตุภัทร์, อรรถพล และภาณุพงศ์ ถูกดำเนินคดีในข้อหาตามมาตรา 112, 116 และ พ.ร.บ.ควบคุมการโฆษณาฯ ด้วย 

ในส่วนของนักกิจกรรมที่ถูกดำเนินคดี พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ 22 ราย รวมทั้งเยาวชนอีก 1 ราย ปัจจุบันพนักงานสอบสวนสรุปสำนวนส่งอัยการโดยมีความเห็นควรสั่งฟ้องผู้ต้องหาทั้งหมด คดียังอยู่ในระหว่างการพิจารณาของอัยการ โดยอัยการนัดนักกิจกรรม 22 ราย ฟังคำสั่งว่าจะฟ้องหรือไม่ในวันที่ 30 ส.ค. 2564
  

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net