Skip to main content
sharethis

กลาโหมสหรัฐฯ แถลง การถอนทัพในอัฟกัน ลุล่วงไปกว่า 90% พร้อมยืนยันว่า การถอนทหารทั้งหมดยังเป็นไปตามแผนและจะเสร็จสิ้นภายในเดือน ส.ค.นี้ การถอนทัพครั้งนี้ถือเป็นการเตรียมปิดฉาก สงคราม 2 ทศวรรษ สหรัฐฯ-อัฟกัน หลังบุช คนลูก ให้สหรัฐฯ บุกอัฟกัน เพื่อไล่ล่าบิน ลาเดน หัวหน้ากลุ่ม อัลกออิดะห์ ในปี พ.ศ. 2544

จอห์น เคอร์บี โฆษก กระทรวงกลาโหม แห่งสหรัฐฯ ถ่ายโดย Glenn Fawcett

สืบเนื่องจากเมื่อกลางดึกวันที่ 2 ก.ค.ที่ผ่านมา มีรายงานจากกองทัพอัฟกันระบุว่า กองทัพสหรัฐฯ ไปไม่ลา ถอนกำลังออกจากฐานทัพอากาศ ‘บากรัม’ ในประเทศอัฟกานิสถาน โดยการตัดกระแสวงจรไฟฟ้า และแอบถอนทัพ โดยกองทัพของอัฟกันเพิ่งทราบหลังจากทหารสหรัฐฯ ออกไปแล้วกว่า 2 ชั่วโมง 

7 ก.ค. 64 สำนักข่าวต่างประเทศ รายงานเมื่อวันที่ 6 ก.ค.ที่ผ่านมา ระบุว่า กระทรวงกลาโหมของสหรัฐฯ ออกมาแถลงข่าวว่า กระบวนการถอนกำลังและยุทโธปกรณ์ทางทหารของพญาอินทรี ออกจากประเทศอัฟกานิสถาน ลุล่วงไปแล้วกว่า 90%

เพนตากอน ระบุว่า กระบวนถอนทหารภายในเดือน ส.ค.นี้ ยังเป็นไปตามแผน ก่อนหน้านี้ทางสหรัฐฯ มีการส่งมอบฐานทางทหาร รวมถึงฐานทัพอากาศบากรัม ซึ่งตั้งอยู่ทางเหนือของกรุงคาบูล และเป็นฐานที่มั่นของสหรัฐฯ ที่ใหญ่ที่สุดในอัฟกัน ให้แก่รัฐบาลอัฟกันเรียบร้อยแล้ว

จอห์น เคอร์บี โฆษกกระทรวงกลาโหม สหรัฐฯ สำทับว่า สหรัฐฯ และนาโต้ จะยังคงหนุนกองกำลังอัฟกันในการรบกับกลุ่มตาลีบัน แม้ว่าจะไม่มีทหารประจำการในประเทศอัฟกานิสถานอีกต่อไปแล้ว 

“เรายังมีอำนาจในการช่วยเหลือรัฐบาลอัฟกันในสนามรบ ถ้าพวกเขาต้องการ” เคอร์บี กล่าว พร้อมระบุว่า อาจเป็นในด้านการสนับสนุนการโจมตีทางอากาศ 

เคอร์บี ระบุด้วยว่า กำลังมีการเจรจาเพื่อขอให้ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทาง ซึ่งมีความจำเป็นในการช่วยเหลือด้านการบินของทัพอากาศอัฟกัน ให้อยู่ต่อไปได้   

อย่างไรก็ตาม กองทัพสหรัฐฯ จะถอนทัพทั้งหมดภายในเดือน ส.ค. 

“เราทุ่มเวลา ความพยายาม และทรัพยากรอย่างมากมายไปกับการพัฒนาความสามารถ และประสิทธิภาพของกองกำลังแห่งชาติอัฟกัน และตอนนี้ เป็นทีของพวกเขา เป็นช่วงเวลาของพวกเขาในการปกป้องประชาชนของพวกเขาเอง” เคอร์บี กล่าว 

สำหรับประเด็นที่สหรัฐฯ แอบถอนทัพที่บากรัม โดยไม่ให้ทางการอัฟกันรู้ตัวนั้น จอห์น เคอร์บี ระบุว่าไม่ได้เป็นความลับแต่อย่างใด 

“ไม่สามารถพูดแทนได้ว่าผู้นำของอัฟกันอธิบายกับประชาชนอย่างไร แต่สิ่งที่เราบอกได้คือ มันมีการประสานงานกันในเรื่องการส่งมอบฐานทัพบากรัมระหว่าง นายพล (สก็อต) มิลเลอร์ ทหารระดับสูงของกองทัพอัฟกัน และผู้นำฝ่ายพลเรือนรัฐบาลอัฟกัน มาแล้วก่อนหน้านี้” เคอร์บี ระบุ 

แต่อย่างไรก็ตาม สหรัฐฯ ยังเหลือทหารสหรัฐฯ ที่ประจำการเพื่อปกป้องสนามบินนานาชาติฮามิดคาร์ไซ ในกรุงคาบูล โดยสหรัฐฯ จะทำข้อตกลงร่วมกับประเทศตุรกี ส่งต่อภารกิจป้องกันสนามบินแห่งนี้ต่อไป 

สำนักข่าวสหรัฐฯ New York Times ระบุว่า ทางตุรกีมีเหตุผลส่วนตัวในการเข้ามามีบทบาทในประเทศอัฟกานิสถาน ซึ่งเป็นประเทศที่มีประวัติศาสตร์ร่วมกับตุรกีมาอย่างยาวนาน มีศาสนาร่วมกัน และมีเหตุผลด้านเศรษฐกิจ ตุรกีเข้ามามีบทบาทในอัฟกันอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ พ.ศ. 2544 รวมถึงส่งทหารมาช่วยเหลือ แต่เป็นการช่วยเหลือที่ไม่ใช่ด้านการทหาร อย่างเรื่องการแพทย์ หรือเทคโนโลยีต่าง ๆ ขณะที่ปัจจุบัน มีทหารตุรกี ประจำการในอัฟกานิสถาน ราว 600 นาย ด้วยเหตุผลสำคัญคือเข้ามาพิทักษ์สนามบิน 

สำนักข่าว New York Times ระบุด้วยว่า ข้อตกลงเรื่องการสานต่อภารกิจคุ้มครองสนามบินสำหรับตุรกี ติดอยู่แค่เรื่องรายละเอียดด้านการทำงานเท่านั้น หากเรื่องนี้บรรลุได้แล้ว คาดว่าสหรัฐฯ จะถอนทหารออกอัฟกานิสถานได้อย่างสบายใจ

ทั้งนี้ การถอนกำลังเกิดขึ้นหลัง โจ ไบเดน ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ประกาศเมื่อกลางเดือน เม.ย. สหรัฐฯ จะถอนทหารทั้งหมดราว 2,500-3,500 นาย ออกจากอัฟกันภายใน 11 ก.ย. 64 ซึ่งเป็นวันและเดือนเดียวกับเหตุการณ์ก่อวินาศกรรมครั้งประวัติศาสตร์ 9/11 เป็นชนวนสำคัญที่ทำให้สหรัฐฯ ยกพลเข้าอัฟกัน เพื่อไล่ล่าบิน ลาเดน หัวหน้ากลุ่มนักรบติดอาวุธ “อัลกออิดะห์” อย่างสุดกำลัง อนึ่ง การถอนกำลังนี้ยังเป็นการปิดฉากสงครามยาวนานเกือบ 20 ปี ของสหรัฐฯ อย่างสมบูรณ์อีกด้วย

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง

ย้อนรอยสงคราม 20 ปี สหรัฐ-อัฟกานิสถาน: จาก บุช สู่ ไบเดน 

 

แปลและเรียบเรียง

US military withdrawal from Afghanistan more than 90% complete

US Troop Withdrawal From Afghanistan More Than 90% Complete

As the U.S. Pulls Out of Afghanistan, Kabul’s Airport Is a Final Stand 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net