สถานการณ์แรงงานประจำสัปดาห์ 2-8 ก.ค. 2564

บริษัทเอกชนนำร่องรับผู้พ้นโทษ-พักโทษ 1 พันคนทำงาน

นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม แถลงความร่วมมือกับภาคเอกชนรับแรงงานที่อยู่ในการคุมความประพฤติ เข้าทำงานที่ บริษัทเดลต้า อิเลคโทรนิคส์ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) จำนวน1,000 คน โดยบริษัทเดลต้า เป็นบริษัทผลิตชิ้นส่วนจำเป็นของรถยนต์ไฟฟ้าแห่งหนึ่งของโลก มีบริษัทรถยนต์ดังหลายแห่งเป็นคู่ค้า เช่น เมอร์ซิเดสเบ็นซ์ บีเอ็มดับเบิ้ลยู และเจอเนอรัล มอเตอร์ โดยการใช้แรงงานของผู้พ้นโทษและพักโทษที่ติดกำไล EM ซึ่งพ้นโทษแล้วไม่ใช่ผู้ต้องขัง โครงการนี้จะไม่รวมกลุ่มนักโทษ 7 ประเภทร้ายแรงที่อยู่ Watch List ซึ่งบริษัทจะจัดที่พักให้แรงงานเหล่านี้ รวมทั้งการฝึกอบรมต่างๆ ซึ่งทางบริษัทเดลต้าพร้อมที่จะดำเนินการ แต่ในช่วงนี้เป็นวิกฤตโควิด-19 ต้องรอให้สถานการณ์ดีขึ้นก่อน

เบื้องต้นจะรับช่วงแรก 1,000 คน นำร่องและจะทยอยรับเพิ่มเติมอีกหลังการขยายพื้นที่ โครงการนี้ช่วยสร้างงานสร้างอาชีพให้กับผู้พ้นโทษไม่หวนกลับไปทำความผิด ลดความแออัดในเรือนจำ และทำมาตรฐานให้เทียบเท่ากับสากลต่อไป โดยยังมีอีกหลายบริษัทที่ติดต่อเข้ามา เพื่อจ้างงานระยะยาว โดยค่าแรงจะเป็นไปตามกำหนดค่าแรงขั้นต่ำตามกฎหมาย แต่ขึ้นอยู่กับความสามารถ หากใครมีความสามารถสูงค่าแรงก็จะมากตามไปด้วย ผู้ต้องขังทุกคน จึงควรตั้งใจฝึกวิชาชีพและเรียนหลักสูตรต่างๆ ที่ทางกรมราชทัณฑ์ได้บรรจุหลักสูตรไว้ โดยเลือกในสิ่งที่เราชอบ ฝึกฝนให้ชำนาญ เพื่อที่พ้นโทษออกมาแล้วจะได้มีงานทำเลี้ยงชีพและมีรายได้เพียงพอเลี้ยงครอบครัวด้วย

ทั้งนี้ กรมคุมประพฤติจะมีศูนย์ EM เพื่อติดตามผู้พักโทษที่ไปทำงาน รวมถึงมีอาสาสมัครคุมประพฤติคอยช่วยดูแลอีกทาง และทางกรมคุมประพฤติจะร่วมกับกรมราชทัณฑ์ในการคัดกรองผู้พักโทษที่สมัครเข้าร่วมโครงการในเบื้องต้น โดยจะดูประวัติและความประพฤติด้วย จากนั้นจะประสานกับฝ่ายทรัพยากรบริษัทในการรับเข้าทำงาน

ที่มา: สำนักข่าวไทย, 8/7/2564

รัฐผุดมาตรการซื้ออาหารร้านหาบเร่ ส่งแคมป์คนงานก่อสร้าง

นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน กล่าวภายหลังเป็นประธานการประชุมหารือร่วมกับ สมาคมอุตสาหกรรมก่อสร้างไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ ชมรมหาบเร่แผงลอยกรุงเทพมหานคร และสมาคมภัตตาคารไทย เรื่องแนวทางการบริหารจัดการอาหารสำหรับช่วยเหลือแรงงานที่เก็บตัวในแคมป์คนงาน ณ ห้องประชุม ศ. นิคม จันทรวิทุร ชั้น 5 อาคารกระทรวงแรงงาน

รมว.แรงงาน กล่าวว่า จากกรณีที่ทางศูนย์บริหารสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศบค.) มีมติให้ปิดแคมป์คนงานก่อสร้างงดการเดินทาง และเคลื่อนย้ายแรงงานในพื้นที่จังหวัดสีแดงเข้ม (ได้แก่ กรุงเทพมหานคร ปทุมธานี นนทบุรี สมุทรสาคร สมุทรปราการ และนครปฐม) เป็นเวลา 1 เดือน เพื่อควบคุมการแพร่ระบาดของโควิด-19 ในคลัสเตอร์แคมป์คนงาน

และได้มอบหมายให้กระทรวงแรงงานดูแลแรงงานที่ได้รับผลกระทบในครั้งนี้ โดยการจ่ายเยียวยาสิทธิประโยชน์ทดแทนกรณีว่างงาน 50 เปอร์เซ็นต์ของค่าจ้าง และขอความร่วมมือนายจ้างดูแลอาหาร 3 มื้อ โดยกระทรวงแรงงานผุดโครงการปันน้ำใจร้านค้าสู่แรงงาน ซึ่งเป็นมาตรการเสริมในการสนับสนุนช่วยเหลือลูกจ้าง

วันนี้กระทรวงแรงงานได้เชิญผู้แทนสมาคมอุตสาหกรรมก่อสร้างไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ ชมรมหาบเร่แผงลอยกรุงเทพมหานคร และสมาคมภัตตาคารไทย มาเพื่อประชุมหารือเตรียมการ และรับทราบแนวทางการช่วยเหลือเยียวยาแรงงานที่อยู่ในแคมป์ก่อสร้าง ที่สถานประกอบการถูกปิดตามประกาศ

โดยในส่วนของกระทรวงแรงงาน ทางกรมการจัดหางานได้เห็นชอบให้สำนักบริหารแรงงานต่างด้าว จัดทำโครงการให้ความช่วยเหลือด้านอาหารแก่แรงงานต่างด้าวที่ได้รับอนุญาตทำงานในกิจการก่อสร้างใน กทม. ในช่วงที่มีการปิดสถานที่ก่อสร้าง โดยมีเป้าหมายจำนวน 30,000 คน

“ขณะเดียวกัน ผมเล็งเห็นถึงปัญหาของผู้ค้าหาบเร่แผงลอย ที่ประสบปัญหากับสถานการณ์โรคโควิด-19 ทำให้ไม่มีรายได้จากการขายของ จึงได้ให้ผู้ค้าหาบเร่แผงลอย รวมทั้งสมาคมภัตตาคารไทยได้ทำข้าวกล่องเพื่อส่งแคมป์คนงานเพื่อให้มีรายได้”

ที่มา: ประชาชาติธุรกิจ, 7/7/2564

จ.ตาก ประกาศเคอร์ฟิวส์แรงงานต่างชาติห้ามออกนอกที่พัก 2 ทุ่มถึงตี 4

7 ก.ค. 2564 นายพงศ์รัตน์ ภิรมย์รัตน์ ผู้ว่าราชการจังหวัดตาก เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการโรคติดต่อ ครั้งที่ 33/2564 โดยมี นายสมชัย กิจเจริญรุ่งโรจน์ นายวรานนท์ ยิ้มมงคล และนายศักดิ์ชัย โชติมานนท์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดตาก นายสวนิต สุริยกุล ณ อยุธยา ปลัดจังหวัดตาก เข้าร่วมประชุม ขณะที่คณะกรรมการฯ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เข้าร่วมประชุมผ่านระบบ Video Conference ที่ห้องประชุมทีลอซู ชั้น 4 ศาลากลางจังหวัดตาก

โดยที่ประชุมได้รับทราบสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ของจังหวัดตาก ข้อมูล ณ วันที่ 7 กรกฎาคม 2564 พบผู้ป่วยรายใหม่ 66 ราย ผู้ป่วยยืนยันสะสมระลอกใหม่ (1 เม.ย. – 7 ก.ค. 64) จำนวน 1,566 ราย ผู้ป่วยที่อยู่ระหว่างการรักษา 1,129 ราย และเสียชีวิตสะสมระลอกใหม่ 8 ราย โดยการติดเชื้อส่วนใหญ่พบในพื้นที่อำเภอแม่สอด จำนวน 57 ราย ขณะที่อำเภอพบพระ พบผู้ติดเชื้อรายใหม่ 5 ราย , อำเภอแม่ระมาด 1 ราย , อำเภอท่าสองยาง 1 , อำเภอบ้านตาก 1 ราย และที่อำเภอวังเจ้า 1 ราย

จากนั้น ที่ประชุมได้ร่วมกันพิจารณามาตรการควบคุมโรคโควิด-19 ในพื้นที่อำเภอแม่สอด โดยเบื้องต้นเสนอให้มีการยกระดับมาตรการทางด้านสังคมในพื้นที่ที่มีการระบาด ได้แก่ งดดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในร้านอาหาร , ร้านอาหารให้นั่งรับประทานได้ไม่เกินเวลา 20.00 น. ถ้าเกินเวลาที่กำหนดให้นำกลับไปที่บ้าน (รวมถึงร้านจำหน่ายอาหารในห้างสรรพสินค้า) , งดจัดกิจกรรมการรวมกลุ่มตามประเพณีนิยม (ยกเว้นงานบวช,งานศพ คนร่วมงานไม่เกิน 50 คน) , ศูนย์การค้า ห้างสรรพสินค้า เปิดได้ไม่เกิน 21.00 น. , โรงแรม หอพัก บ้านเช่า ให้รายงานข้อมูลผู้เข้าพักให้กับฝ่ายปกครอง , แรงงานต่างชาติห้ามออกนอกเคหสถานในช่วงเวลา 20.00 - 04.00 น. ส่วนประชาชนทั่วไป ขอความร่วมมืองดหรือชะลอการเดินทาง ระหว่างเวลา 23.00 – 04.00 น. , คลินิกและร้านขายยาต้องส่งผู้ป่วยที่มีอาการ ไข้ ไอ เจ็บคอ เข้าตรวจที่คลินิก ARI ทุกราย เป็นต้น โดยจะมีคำสั่งจังหวัดตาก แจ้งให้ทราบมาตรการที่แท้จริง อย่างเป็นทางการอีกครั้ง

ส่วนการบริหารจัดการวัคซีน ล่าสุดจังหวัดตากได้รับวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้า 8,400 โด๊ส เบื้องต้นจะนำไปฉีดในพื้นที่อำเภอแม่สอดที่กำลังมีการระบาดของโรคก่อน 5,000 โด๊ส ส่วนวัคซีนที่เหลือจะกระจายไปตามอำเภอต่าง ๆ โดยจะฉีดให้แก่ผู้สูงอายุที่ลงทะเบียนจองไว้ก่อนตามลำดับ ขณะที่วัคซีนซิโนแวค ล่าสุดได้รับมา 2,720 โด๊ส จะนำไปฉีดเป็นวัคซีนเข็ม 2 ทั้งหมด

ด้านการจัดการโรงพยาบาลสนาม คาดว่า ในอีก 1- 2 วันนี้ จะสามารถเปิดโรงพยาบาลสนาม 5 อำเภอชายแดน ที่อำเภอแม่สอด เพื่อรองรับผู้ป่วยได้ เช่นเดียวกับโรงพยาบาลสนาม มทร.ล้านนาตาก ที่จะสามารถเปิดรับผู้ป่วยคนไทยจากต่างจังหวัด ที่มีภูมิลำเนาจังหวัดตาก และแจ้งความจำนงผ่านศูนย์คนตากไม่ทิ้งกัน ได้เช่นเดียวกัน นอกจากนี้ ยังได้เตรียมจัดตั้งโรงพยาบาลสนามเพิ่มเติมที่มหาวิทยาลัยราชภัฎกำแพงเพชรแม่สอด และที่ มศว.โพธิวิชชาลัยแม่สอด ด้วย

ส่วนการจัดตั้ง Hospital พิจารณาจากเงื่อนไข ต้องมีโรงพยาบาลเครือข่าย และสถานที่ที่อาจเป็นโรงแรม หรือหอพัก ที่มีความสะดวกด้านต่าง ๆ (ต้องมีใบอนุญาตประกอบกิจการ) ซึ่งเบื้องต้นที่ประชุมเห็นชอบการจับคู่ร่วมกันของโรงพยาบาลแม่สอดอินเตอร์ กับเฮือนคำฟ้ารีสอร์ท ที่อำเภอแม่สอด

ขณะเดียวกัน ได้ร่วมกันพิจารณากรณีส่วนราชการขออนุญาตเข้าพื้นที่จังหวัดตาก เพื่อปฏิบัติราชการ ทั้งการขออนุญาตจัดประชุมคณะกรรมการที่ปรึกษาผู้ทรงคุณวุฒิฝนหลวง ครั้งที่ 2/2564 ,การขออนุญาตเดินทางเข้าพื้นที่เพื่อตรวจราชการในจังหวัดตาก ของสำนักงานจเรทหาร กองบัญชาการกองทัพไทย และการขออนุญาตจัดการรับสมัครและรายงานตัวนักศึกษาวิชาทหาร ประจำปีการศึกษา 2564 ซึ่งที่ประชุมเห็นควรให้หน่วยงานดังกล่าว ปฏิบัติตามมาตรการฯ ของจังหวัดตาก ที่กำหนดไว้ก่อนหน้านี้

ส่วนเรื่องอื่น ๆ เป็นการพิจารณาการให้บริการวัคซีนโควิด-19 แก่ผู้พิการ และเจ้าหน้าที่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น รวมทั้งการขอขึ้นทะเบียนสถานที่กักกันประเภท State Quarantine (SQ) ของอำเภอสามเงา สำหรับกักกันบุคคลซึ่งเป็นผู้สัมผัสเสี่ยงสูงด้วย

ที่มา: สยามรัฐ, 7/7/2564

สวีเดน-ฟินแลนด์ ต้องการแรงงานไทยไปเก็บผลไม้ป่ามากกว่าปีที่แล้ว 60% เตรียมจัดหาวัคซีนโควิดให้ 8,200 คน ฉีดก่อนเดินทาง ก.ค. 2564 นี้

นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่า ช่วงเดือน ก.ค.-ก.ย. ของทุกปี จะมีคนงานไทยเดินทางไปทำงานเก็บผลไม้ป่าในฟินแลนด์และสวีเดน ระยะสั้น ๆ ไม่เกิน 90 วัน แต่ด้วยสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรน่า 2019 (โควิด-19) ในประเทศไทยที่ยังคงรุนแรง และมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น กระทรวงแรงงานจึงได้กำหนดมาตรการเพิ่มเติมสำหรับคนหางานที่จะเดินทางไปเก็บผลไม้ป่าในฟินแลนด์และสวีเดนฤดูกาลปี 2021

โดยให้คนงานสนับสนุน (staff) และคนงานตามฤดูกาล (seasonal work) ที่จะเดินทางไปทำงานและเก็บผลไม้ป่าจะต้องได้รับการฉีดวัคซีนโควิด-19 ก่อนเดินทางทุกคน ซึ่งกรมการจัดหางานได้ประสานกับกรมควบคุมโรคในการขอรับการจัดสรรวัคซีนโควิด-19 ให้กับคนหางานแล้ว

นายไพโรจน์ โชติกเสถียร อธิบดีกรมการจัดหางาน กล่าวว่า แรงงานไทยที่เดินทางไปเก็บผลไม้ป่าในประเทศฟินแลนด์และสวีเดน ได้สร้างชื่อเสียงและเป็นที่ยอมรับในเรื่องความสามารถ และความเชี่ยวชาญ ส่งผลให้แรงงานไทยเป็นที่ต้องการของบริษัทผู้รับซื้อผลไม้ป่าในฟินแลนด์และนายจ้างในสวีเดนเป็นอย่างมาก

ทั้งในฤดูกาลปี 2021 นี้ ทางการไทย ฟินแลนด์ และสวีเดน ได้มีการหารือและเพิ่มความชัดเจนในการวางมาตรการสำหรับแรงงานไทยที่เดินทางไปเก็บผลไม้ป่าฤดูกาล 2021 โดยคาดว่าจะมีแรงงานไทยเดินทางประมาณ 8,200 คน โดยแบ่งเป็นคนงานเก็บผลไม้ป่าในสวีเดน จำนวน 5,200 คน และฟินแลนด์ จำนวน 3,000 คน

ซึ่งมากกว่าปีที่ผ่านมาในช่วงเวลาเดียวกัน (ฤดูกาลเก็บผลไม้ป่า 2020) ที่มีแรงงานไทยได้รับอนุญาตเดินทางไปเก็บผลไม้ป่าทั้งสิ้น 5,254 คน แบ่งเป็นคนงานเก็บผลไม้ป่าในสวีเดน จำนวน 3,040 คน และฟินแลนด์ จำนวน 2,214 คน

“แรงงานไทยที่เดินทางไปเก็บผลไม้ป่าในฟินแลนด์และสวีเดน ฤดูกาลปี 2021 จะได้รับการอบรมก่อนเดินทาง ณ ศูนย์อบรมคนหางานก่อนไปทำงานต่างประเทศ กองบริหารแรงงานไทยไปต่างประเทศ เพื่อให้มีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับสภาพการทำงาน การปฏิบัติตามมาตรการป้องกันโรคโควิด-19 ของฟินแลนด์และสวีเดน”

“โดยการอบรมผ่านระบบวีดีทัศน์ทางไกล โปรแกรม Zoom เพื่อลดการรวมตัวกันของคนจำนวนมาก และป้องกันการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ตามนโยบายของ ศบค. รวมทั้งต้องได้รับการฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 ก่อนเดินทาง และนำหลักฐานหนังสือรับรองการฉีดวัคซีนมาแสดงต่อเจ้าหน้าที่ก่อนแจ้งการเดินทางไปทำงาน”

ที่มา: ประชาชาติธุรกิจ, 7/7/2564

ส.ส.ก้าวไกล จวก กอ.รมน.ห้ามแรงงานแคมป์ก่อสร้างอพยพ แม้ห่างจุด รง.เพลิงไหม้ไม่ไกล

นายทวีศักดิ์ ทักษิณ ส.ส.บัญชีรายชื่อ สัดส่วนแรงงาน พรรคก้าวไกล ให้ความเห็นต่อการบริหารจัดการสถานการณ์ฉุกเฉิน หลังเกิดเหตุการณ์โรงงานผลิตเม็ดโฟมและเม็ดพลาสติกขนาดใหญ่ ซอยกิ่งแก้ว 21 อ.บางพลี จ.สมุทรปราการ ระเบิดและมีเพลิงไหม้ ว่าสิ่งที่ต้องติงคือคำสั่งประกาศอพยพที่ไม่เป็นไปตามนั้น แม้มีประกาศอพยพในรัศมี 5-10 กิโลเมตร ออกมาในช่วงกลางวัน แต่สิ่งที่พบคือพนักงานจำนวนมากเพิ่งได้ออกจากพื้นที่เสี่ยงในช่วงเย็น หรือหลังเลิกงานไปแล้ว แม้เขาจะรู้ว่ามีคำสั่งจากข่าว แต่บริษัทบอกว่าให้ทำงานไปก่อน บางโรงงานประเมินสถานการณ์ด้วยตัวผู้จัดการโรงงานเองด้วยซ้ำ แบบนี้จะประกาศพื้นที่เสี่ยงเพื่ออะไร เพราะประกาศแล้วไม่ปฏิบัติตามก็ได้

“ที่เลวร้ายที่สุดคือการไม่ให้แรงงานที่ถูกสั่งปิดแคมป์เพราะมาตรการโควิดออกมา ในเวลา 22.00 น. ซึ่งเปลวไฟยังลุกไหม้แรงอยู่ ยังมีถึง 3 แคมป์ที่แรงงานออกมาไม่ได้ บางแคมป์ห่างแค่ 1 กิโลเมตร มีคนเป็นร้อยคนในนั้น เขาแจ้งมายังพวกเราว่าให้ช่วยประสานหน่อย เพราะเขาอยากออกไปแล้ว เขาเห็นควันที่กำลังพวยพุ่งอยู่ไม่สบายใจเลย เมื่อผมประสานไป เขาบอกปล่อยออกไปไม่ได้เพราะเป็นคำสั่งผู้ว่าฯ ถามว่าถ้าไฟคลอกขึ้นมาจะทำอย่างไร นี่คือความกลัวของพวกเขา ระหว่างนาทีวิกฤตกับประกาศมาตรการโควิดอะไรสำคัญกว่ากัน ชีวิตเขาตรงนั้นยังต้องมีอยู่หรือไม่ ระหว่างทหารที่เฝ้าแคมป์กับ กอ.รมน.ที่เราประสานไปโยนกันไปมาว่าใครมีอำนาจในการอนุญาตให้คนงานออกไป

สุดท้ายบางแคมป์แรงงานก็ตัดสินใจหนีออกมาเอง เห็นควันพวยพุ่งแบบนั้นเขาไม่อยู่ เป็นผมก็ไม่อยู่ และเขาไม่ผิดด้วยที่ทำแบบนั้น เขาให้ความร่วมมือกับรัฐกักตัวเองแล้วทุกอย่าง ถ้าจัดการให้ดี พาเขาอพยพมาก็สามารถดูแลเป็นกลุ่มเป็นก้อนได้ แต่พอไม่จัดการเขาก็กระจายกันออกไป แล้วจะติดตามอย่างไร คุณทอดทิ้งชีวิตเขาแบบนี้ไม่ได้ ล่าสุดที่เลวร้ายที่สุดท้ายที่ได้ยินมาคือ กอ.รมน.เป็นผู้ที่ประเมินว่าไฟคงไม่ลุกลามจึงไม่ให้ออก ถามว่าแล้วรู้ได้อย่างไรว่าควันพิษจะไม่ส่งผลกับเขาที่อยู่ตรงนั้นแล้วบอกให้เขาอยู่ต่อ”

นายทวีศักดิ์กล่าวต่อว่า ผลกระทบจากเหตุการณ์นี้ไม่ได้มีแค่รัศมี 5 กิโลเมตรเท่านั้น แต่ส่งผลถึงโรงงานต่างๆ ทั้งหมดด้วย เช่น กลุ่มยานยนต์ขณะนี้หยุดการผลิตทั้งหมดแล้ว 2 วัน มีแรงงานนับพันคนได้รับผลกระทบเรื่องรายได้ จึงอยากฝากไปถึงรัฐบาลว่าการสั่งการในภาวะฉุกเฉินต้องดูแลทุกคนทุกกลุ่ม และต้องไม่เอาใครไปเป็นเครื่องบูชายัญ แรงงานก็มีหัวใจ บางคนพูดว่าแรงงานสร้างชาติ แต่ถามว่าแบบนี้ชาติให้อะไรกับเขา ขณะนี้ยังไม่ทราบว่าแรงงานที่หนีออกไปอยู่ที่ไหนกันบ้าง ผลลัพธ์ของการประกาศล็อกดาวน์โดยไม่ให้แรงงานออกจากพื้นที่เสี่ยงที่สุดแบบนี้จึงหมายถึงมาตรการควบคุมโรคก็ล้มเหลวด้วย

ที่มา: มติชนออนไลน์, 6/7/2564

'ก.แรงงาน' สั่งหน่วยงาน เร่งช่วยเหลือลูกจ้าง 'ไฟไหม้โรงงานกิ่งแก้ว'

นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เปิดเผยถึง กรณีเกิดเหตุเพลิงไหม้โรงงานบริษัท หมิงตี้ เคมีคอล จำกัด ประกอบกิจการเกี่ยวกับเม็ดโฟมและพลาสติกขนาดใหญ่ ตั้งอยู่ที่ ซอยกิ่งแก้ว 21 ตำบลบางพลีใหญ่ อำเภอบางพลี จังหวัดสมุทรปราการ ว่า ก.แรงงาน มีความเป็นห่วงลูกจ้าง 'ไฟไหม้โรงงานกิ่งแก้ว' ที่ได้รับบาดเจ็บ

จึงสั่งการให้หน่วยงานในสังกัด ก.แรงงาน ในพื้นที่ที่รับผิดชอบเข้าไปดูแลและช่วยเหลือลูกจ้าง จากการตรวจสอบของสำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจังหวัดสมุทรปราการ พบว่า ขณะเกิดเหตุมีพนักงานกำลังปฏิบัติหน้าที่อยู่ 9 คน และได้กลิ่นเหม็นและแสบจมูกจึงออกมานอกอาคาร

จากนั้นได้ยินเสียงระเบิดขึ้นที่โกดังเก็บสารเคมีและเกิดเพลิงลุกไหม้อย่างรวดเร็ว แรงระเบิดทำให้พื้นที่โรงงานเสียหายทั้งหมด และขยายวงกว้างไปโรงงานใกล้เคียงและบ้านเรือนประชาชน มีผู้ได้รับบาดเจ็บจากเหตุการณ์ดังกล่าวแล้วกว่า 20 คน

พร้อมกันนี้ได้กำชับ สำนักงานประกันสังคม เข้าไปตรวจสอบสถานะ ผู้ประกันตน ที่ได้รับบาดเจ็บให้ได้เข้ารับการรักษาพยาบาลตามสิทธิประโยชน์ในเรื่องของการรักษาพยาบาล และสิทธิอื่นๆ ที่พึงได้ และให้กรมการจัดหางานเตรียมหาตำแหน่งงานรองรับกรณีนายจ้างไม่สามารถจ้าง ลูกจ้างทำงานต่อไปได้

นายอภิญญา สุจริตตานันท์ อธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน กล่าวว่า ในส่วนของ กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน ได้มอบให้ศูนย์ความปลอดภัยในการทำงานเขต 10 และสำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานงาน จ.สมุทรปราการ เข้าร่วมตรวจสอบสถานที่เกิดเหตุ พบว่าปัจจุบันเจ้าหน้าที่ดับเพลิง สามารถควบคุมเพลิงสถานที่เกิดเหตุได้แล้ว แต่ยังอาจมีการปะทุขึ้นได้

ที่มา: กรุงเทพธุรกิจ, 5/7/2564

สำนักงานประกันสังคม จ่ายเงินชดเชยว่างงานงวดแรก เยียวยาแรงงานในแคมป์ก่อสร้าง

นางสาวลัดดา แซ่ลี้ ผู้อำนวยการสำนักสิทธิประโยชน์ ในฐานะรองโฆษกสำนักงานประกันสังคม กล่าวหลังลงพื้นที่มอบสิทธิประโยชน์กรณีว่างงานเหตุสุดวิสัยให้กับคนงานแคมป์ก่อสร้าง บริษัท อทาโส คอนสตรัคชั่น จำกัด สาขาส่วนต่อขยายสะพานอรุณอมรินทร์ บริเวณถนนอรุณอมรินทร์ เขตบางกอกน้อย กรุงเทพฯ ว่า จากกรณีที่รัฐสั่งปิดแคมป์คนงานก่อสร้าง งดการเดินทางและเคลื่อนย้ายแรงงานในพื้นที่กรุงเทพมหานครและจังหวัดปริมณฑล เป็นเวลา 1 เดือน เพื่อควบคุมการแพร่ระบาดของโควิด-19 ทำให้ลูกจ้างได้รับผลกระทบเพราะไม่ได้รับค่าจ้าง ในส่วนนี้ลูกจ้างจะได้รับการเยียวยาจากสำนักงานประกันสังคม โดยได้รับเงินว่างงานจากเหตุสุดวิสัยในอัตราร้อยละ 50 ของค่าจ้างรายวัน โดยจะจ่ายเป็นเงินสดสัปดาห์ละหนึ่งครั้งในทุกวันจันทร์ ตลอดช่วง 1 เดือนที่มีการปิดแคมป์

การจ่ายนี้นายจ้างต้องรับรองว่าลูกจ้างไม่มีการเคลื่อนย้ายไปไหนและมีการตรวจสอบว่าลูกจ้างต้องอยู่ในแคมป์ก่อสร้างจริง หากไม่อยู่หรือมีการเคลื่อนย้ายที่อยู่จะไม่ได้รับเงินว่างงานดังกล่าว ซึ่งการจ่ายสิทธิประโยชน์งวดแรกวันนี้ได้จ่ายครอบคลุมทุกแคมป์ก่อสร้างที่ขึ้นทะเบียนลูกจ้างเป็นผู้ประกันตนมาตรา 33 โดยลูกจ้างต้องจ่ายเงินสมทบไม่ต่ำกว่า 6 เดือน ส่วนการจ่ายสิทธิประโยชน์มอบหมายให้สำนักงานประกันสังคมกรุงเทพมหานครเขตพื้นที่ทั้ง 12 เขต ที่รับผิดชอบดูแลประสานไปยังนายจ้างแคมป์งานก่อสร้างต่างๆ เพื่อขึ้นทะเบียนรับสิทธิประโยชน์ผ่านทางออนไลน์ ซึ่งขณะนายจ้างทยอยยื่นรับรองรายชื่อลูกจ้างหยุดงานแล้วกว่า 1,800 รายจากลูกจ้างทั้งหมด 26,000 รายในกรุงเทพมหนคร คาดว่าสัปดาห์นี้นายจ้างจะทยอยขึ้นทะเบียนผ่านระบบ e-service บนเว็บไซต์สำนักงานประกันสังคม www.sso.go.th เพื่อรับรองการหยุดงานให้ลูกจ้างได้รับสิทธิครบถ้วน

ด้านผู้แทนฝ่ายนายจ้าง นายราชฤทธิ์ สุวรรณราช ผู้จัดการโครงการส่วนต่อขยายสะพานอรุณอมรินทร์ฯ กล่าวขอบคุณรัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องประสานงานค่าชดเชยต่างๆ ให้กับผู้รับจ้างและแรงงานก่อสร้าง ซึ่งลูกจ้างของบริษัทฯ ที่ได้รับสิทธิว่างงานมีทั้งคนไทยและต่างด้าว จำนวน 49 คน ทั้งนี้ ตั้งแต่มีประกาศปิดแคมป์ก่อสร้างก็ได้มีการปิดแคมป์ให้มีทางเข้าออกเพียงทางเดียว ภายในแคมป์ยังกำชับคนงานให้สวมหน้ากากอนามัยตลอดเวลาและไม่ให้รวมตัวกัน เบื้องต้นได้มีตัวแทนฝ่ายนายจ้างไปจัดหาอาหาร 3 มื้อให้คนงานทุกวัน นอกจากนี้ยังมีผู้ใจบุญต่างๆ หมุนเวียนสนับสนุนสิ่งของอุปโภคบริโภคให้คนงานเป็นระยะ ทำให้คนงานไม่ได้ขาดแคลนสิ่งของดังกล่าว

สำหรับบรรยากาศการจ่ายเงินสดเยียวยาคนที่แคมป์ก่อสร้าง บริษัท อทาโส คอนสตรัคชั่น จำกัด ส่วนต่อขยายสะพานอรุณอัมรินทร์ ได้มีผู้แทนเจ้าหน้าที่สำนักงานประกันสังคมกรุงเทพมหานครเขตพื้นที่ 5 ที่รับผิดชอบ และผู้แทนฝ่ายนายจ้าง ตั้งโต๊ะเตรียมซองเงินสดแจกจ่ายให้กับคนงานทยอยเดินออกมารับซองเงินสดบริเวณหน้าแคมป์ทีละคน โดยเข้าแถวเว้นระยะห่างทางสังคม โดยลูกจ้างรายหนึ่งกวักเงินสดออกจากซองขึ้นมาโชว์กับผู้สื่อข่าวด้วย

ที่มา: สำนักข่าวกรมประชาสัมพันธ์, 5/7/2564

ศบค.ผ่อนคลายข้อกำหนดฉบับที่ 25 คำสั่งห้ามการก่อสร้างในโครงการก่อสร้าง 4 ประเภทและการเคลื่อนย้ายแรงงานข้ามจังหวัดเพื่อโยชน์ในการควบคุมโควิด

พล.อ.ณัฐพล นาคพาณิชย์ เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) ในฐานะผู้อำนวยการศูนย์ปฏิบัติการศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศปก.ศบค.) ได้ทำหนังสือถึง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม ในฐานะผู้อำนวยการศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือ ศบค. เพื่อขอให้พิจารณาอนุมัติในหลักการการให้อนุญาตสำหรับการก่อสร้างโครงการก่อสร้างบางประเภท และเคลื่อนย้ายแรงงานในกรณีที่มีความจำเป็น โดยเสนอขอให้มีการผ่อนคลายข้อกำหนดฉบับที่ 25 กรณีคำสั่งห้ามการก่อสร้างในโครงการก่อสร้างบางประเภท ได้แก่

1.โครงการก่อสร้างซึ่งหากหยุดก่อสร้างในทันที หรือการดำเนินการล่าช้าอาจก่อให้เกิดความเสียหายเชิงโครงสร้างด้านวิศวกรรมจนยากต่อการแก้ไข หรือเกิดอันตรายแก่ประชาชนที่สัญจรไปมา หรือ ชุมชนโดยรอบโครงการก่อสร้างนั้น เช่น โครงการก่อสร้างใต้ดินที่มีความลึกการก่อสร้างชั้นใต้ดินที่ยังไม่ได้เทปูนปิดล้อม

2.การก่อสร้างชั่วคราวซึ่งหยุดการก่อสร้างในทันที หรือดำเนินการล่าช้าจะได้รับความเสียหายจนเกิดอันตรายแก่ประชาชนที่สัญจรไปมา หรือชุมชนโดยรอบโครงการดังกล่าว เช่น นั่งร้าน และแบบรอการเทปูน โดยเฉพาะแผ่นพื้นที่

3.การก่อสร้างที่เกี่ยวข้องกับความปลอดภัยด้านการจราจร เช่น ไฟสัญญาณจราจร แบร์ริเออร์กั้นช่องจราจร แผ่นเหล็กปิดงานก่อสร้างบนผิวจราจร

4.การก่อสร้างในสถานที่ก่อสร้างที่มีความเกี่ยวข้องกับมาตรการควบคุมการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 และเป็นไปเพื่อวัตถุประสงค์ด้านสาธารณสุข เช่น โรงพยาบาลสนาม โรงพยาบาล สถานพยาบาล หรือ สถานที่ก่อสร้างอื่น ๆ ที่ใช้เพื่อประโยชน์ในการควบคุมโรค

นอกจากนี้ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ร่วมพิจารณาขอผ่อนคลายคำสั่งเคลื่อนย้ายแรงงานประเภทก่อสร้างจากสถานที่พักชั่วคราว ทั้งกรณีการข้ามเขตจังหวัด หรือภายในเขตจังหวัด เพื่อประโยชน์ในการควบคุมโรคโควิด-19 เช่น การรักษาพยาบาล การควบคุมป้องกันโรค การตรวจสุขภาพ การตรวจวินิจฉัยและการฉีดวัคซีน ทั้งนี้ ให้ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร หรือ ผู้ว่าราชการจังหวัด ที่ได้รับมอบอำนาจจากคณะกรรมการโรคติดต่อเป็นผู้พิจารณาอนุญาตโครงการก่อสร้างที่เข้าหลักเกณฑ์ทั้ง 4 ประเภทข้างต้นในเขตพื้นที่ของตนเองเป็นกรณีไป

ทั้งนี้ ในที่ประชุม ศปก.ศบค.ได้พิจารณาข้อเสนอดังกล่าวแล้ว และได้ให้ความเห็นชอบในหลักการ ขณะเดียวกัน มีข้อเสนอแนะเพิ่มเติมเพื่อความมั่นคงด้านสาธารณสุข ดังนี้ เห็นสมควรให้ผ่อนคลายคำสั่งห้ามการก่อสร้างในโครงการบางประเภทตามที่ กทม.เสนอ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในโครงการที่แรงงานก่อสร้างนั้นได้รับวัคซีนแล้ว โดยสามารถเคลื่อนย้ายแรงงานก่อสร้างนั้นได้ ขณะเดียวกัน เห็นสมควรให้ผู้ว่าฯกทม. หรือผู้ว่าราชการจังหวัด เป็นผู้พิจารณาอนุญาตโครงการก่อสร้างที่เข้าหลักเกณฑ์เป็นรายๆ ไป และขอให้ กทม.และจังหวัดปริมณฑลกำกับติดตามการดำเนินการก่อสร้างโครงการที่มีความจำเป็นตามที่ได้รับการผ่อนคลายให้ดำเนินการภายใต้มาตรการป้องกันโควิด-19 ที่กระทรวงสาธารณสุขกำหนดอย่างเคร่งครัด

ส่วนกรณีการก่อสร้างขนาดเล็กที่ไม่ถูกห้ามตามข้อกำหนดฉบับที่ 25 ถ้าผู้ว่าฯ กทม.หรือผู้ว่าราชการจังหวัดเห็นว่า หากปล่อยให้การก่อสร้างแล้วอาจเป็นเหตุให้เกิดการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ขอให้ใช้อำนาจตามกฎหมายว่าด้วยโรคติดต่อพิจารณาสั่งปิดสถานที่ก่อสร้างหรือหยุดการก่อสร้างได้ตามอำนาจ

นอกจากนี้ ให้ทาง กทม.และจังหวัดปริมณฑลทำการประชาสัมพันธ์ให้ผู้ประกอบการและประชาชนได้เข้าใจมาตรการตามข้อกำหนดฉบับที่ 25 ที่ไม่ห้ามการก่อสร้างโครงการขนาดเล็กซึ่งไม่มีการเคลื่อนย้ายแรงจำนวนมากอันเป็นเหตุให้เกิดการแพร่กระจายของโรค และให้จัดช่องทางสำหรับประชาชนหรือผู้ประกอบการในการที่จะสอบถามเกี่ยวกับการดำเนินการตามคำสั่งตามข้อกำหนดฉบับที่ 25 ด้วย ทั้งนี้ เมื่อ ศปก.ศบค.เสนอขอให้นายกฯ ในฐานะ ผอ.ศบค. แล้ว จึงได้ลงนามเห็นชอบมาตรการผ่อนคลายดังกล่าวไปเมื่อวันที่ 2 กรกฎาคม ที่ผ่านมาแล้ว

ที่มา: โพสต์ทูเดย์, 4/7/2564

ผอ.สถาบันป้องกันควบคุมโรคเขตเมืองเผย โควิดระลอกใหญ่โจมตีคนชั้นแรงงาน ต้นตออยู่ที่ห้องเช่า ปิดร้าน-ปิดห้าง ไม่ใช่ทางออก

นพ.วิชาญ ปาวัน ผอ.สถาบันป้องกันควบคุมโรคเขตเมือง (สปคม.) กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข โพสต์ภาพและข้อความในเฟซบุ๊กส่วนตัว “มดงานในเมืองหลวง กับโควิดระลอกใหญ่” โดยระบุถึงโควิดระลอกใหญ่นี้ต้องยอมรับเลยว่า โจมตีชนชั้นแรงงานทุกระดับ ต่อเนื่องรัวๆ จากแรงงานในโรงงาน ไปแรงงานในตลาด ไปพนักงานงานบริการสถานบันเทิง แรงงานก่อสร้าง พนักงานร้านอาหาร พนักงานห้างร้าน พนักงานบริษัท พนักงานโรงแรม ฯลฯ ซึ่งบรรดาพนักงานเหล่านี้ เป็นฟันเฟืองสำคัญที่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจในเมืองหลวงขณะเดียวกัน พวกเขาก็ถือเป็นปัจจัยสำคัญที่กำหนดให้เอื้อต่อเกิดการระบาดเป็นวงกว้างด้วยเช่นกัน

เหตุผลนั้นน่าจะเกิดจากหลายด้าน ทั้งเรื่องเศรษฐานะ การจ้างงาน สุขลักษณะที่พักอาศัย สุขลักษณะส่วนบุคคล รวมไปถึงโอกาสและความเท่าเทียมในการเข้าถึงบริการต่างๆ ของภาครัฐ ด้วยเหตุนี้การแก้ปัญหาจึงเป็นโจทย์ยากและซับซ้อนมาก ทำให้การป้องกันควบคุมโรคไม่อาจจะทะลุทะลวงได้ในเวลาสั้นๆ

จากการเฝ้าสังเกตรวมถึงการรวบรวมสถิติจากจำนวนตัวเลขผู้ติดเชื้อและหาความเชื่อมโยงซึ่งนำไปสู่การแพร่กระจายเชื้อพบว่า การติดต่อกันในกลุ่ม แรงงานในโรงงาน แรงงานในตลาด แรงงานในแคมป์นั้น สามารถทำความเข้าใจได้ไม่ยากจากลักษณะการทำงาน หากพบติดเชื้อก็มักจะพบติดเชื้อเป็นกลุ่มคลัสเตอร์ขนาดใหญ่

แต่สำหรับแรงงานกลุ่มพนักงานร้านอาหาร พนักงานห้าง พนักงานบริษัท พนักงานโรงแรม นั้นกลับเป็นเรื่องที่ยากต่อการควบคุม เพราะมักจะกระจัดกระจาย เกิดขึ้นพร้อมกันหลายร้าน หลายแผนก หลายบริษัท และยังเกิดขึ้นในเวลาไล่เลี่ยกัน

ด้วยเหตุนี้การสอบสวนโรคจึงมุ่งเป้าไปที่ที่พักอาศัย ที่ต้องไปดูให้รู้ว่าเป็นอยู่กันอย่างไร จนเมื่อได้ไปเห็นความเป็นอยู่ ที่พักอาศัย รูปแบบการดำเนินชีวิต ก็พอเข้าใจได้ว่า “มดงานเมืองหลวง กลุ่มพนักงานร้านอาหาร พนักงานห้าง พนักงานบริษัท พนักงานโรงแรม อยู่กันในห้องแถว ห้องเช่า ในซอยแคบๆ ขนาดเล็ก แน่นอนว่าส่วนใหญ่ไม่ใช่คนกรุงเทพฯ แต่เป็นแรงงานจากต่างจังหวัดหรือแรงงานชาวต่างชาติ ที่เข้ามาแสวงหารายได้ในเมืองใหญ่ ซึ่งจะหาที่พักอยู่ใกล้ที่ทำงาน อาศัยการเดินไปทำงาน รถเมล์ เพื่อลดค่าใช้จ่ายในการดำรงชีวิต ที่พักอาศัย เป็นแค่ที่ซุกหัวนอน เช่าห้องพักร่วมกันหลายคน เมื่อเกิดโรคติดต่อจึงระบาดง่าย และควบคุมได้ยาก

“ผมคิดว่าการ ปิดร้าน ปิดห้าง ปิดบริษัท ไม่น่าจะใช่ทางออกในห้วงเวลานี้ แต่จะลดการสัมผัส ลดการเคลื่อนย้ายอย่างไร จึงเป็นโจทย์ให้คิดกันต่อในการหาวิธี” เพื่อให้ ผู้ประกอบการ/ เจ้าของร้าน/ห้าง/บริษัท ร่วมรับผิดชอบดูแลพนักงานของตัวเองให้ได้ รวมถึงเข้มงวดห้ามคนมีอาการป่วยไม่ให้มาทำงาน ห้ามไม่ให้พักทานอาหารพร้อมกัน ห้ามรวมกลุ่มสังสรรค์ รวมไปถึงเร่งฉีดวัคซีนให้กับพนักงาน สื่อสารทำความเข้าใจ ไม่ให้แรงงานกลุ่มนี้เอาโรคไปติดคนในครอบครัว

เพราะนี่คือทางรอดของเราในการกดตัวเลขผู้ติดเชื้อให้ลดลงจนสามารถควบคุมได้

“ทั้งหมดทั้งมวลคงหนีไม่พ้นความร่วมมือของทุกฝ่ายที่จะต้องช่วยกัน ศึกครั้งนี้ใหญ่หลวงจริงๆครับ และคงเอาชนะไม่ได้ถ้าขาดการร่วมแรงร่วมใจ นอกจากนี้แล้วหากใครมีความคิดไอเดียดีๆเชิญร่วมแบ่งปันครับ ผมยินดีน้อมรับไปปรับใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด เพราะในเวลานี้เราต้องระดมสรรพกำลัง ทั้งกำลังกาย กำลังใจ กำลังความคิด เพื่อฝ่าวิกฤตโควิดครั้งนี้ไปให้ได้ สู้ไปด้วยกัน” นพ.วิชาญระบุ

ที่มา: ch7.com, 4/7/2564

พนักงานโรงงานผลิตชุดชั้นในสตรี ย่านบางเสาธง จ.สมุทรปราการ รวมตัวเรียกร้องให้ปิดโรงงานชั่วคราว หลังพบผู้ติดเชื้อ COVID-19 แล้วมากกว่า 100 คน

2 ก.ค.2564 พนักงานโรงงานผลิตชุดชั้นในสตรีแห่งหนึ่งใน อ.บางเสาธง จ.สมุทรปราการ เกือบ 1,000 คน นัดหมายรวมตัวกัน เพื่อเรียกร้องให้ผู้บริหารโรงงานสั่งปิดโรงงานชั่วคราว เพื่อทำความสะอาดและฆ่าเชื้อ และให้ทำตามมาตรการควบคุมการแพร่ระบาดของ COVID-19

พนักงานของโรงงาน ยืนยันว่าโรงงานมีพนักงานอยู่ประมาณ 3,800 คน ซึ่งหลายวันมานี้พบผู้ติดเชื้อรวมกันแล้วมากกว่า 100 คน แต่ผู้บริหารโรงงานไม่มีมาตรการใดๆ ที่จะสร้างความมั่นใจว่าพนักงานจะไม่ติดเชื้อ COVID-19 อีก จึงจำเป็นต้องรวมตัวเรียกร้องให้มีการปิดโรงงานชั่วคราว

พนักงานเรียกร้องให้ผู้บริหารสั่งปิดโรงงานชั่วคราวทันที และให้ดำเนินการตรวจคัดกรองหาผู้ติดเชื้อในกลุ่มพนักงานทั้งหมด ล่าสุด มีการส่งตัวแทนพนักงาน เข้าหารือกับผู้บริหารโรงงาน และตัวแทนจากกระทรวงแรงงาน และสาธารณสุข แต่ยังไม่ได้ข้อยุติ

ที่มา: Thai PBS, 2/7/2564

รฟม. ย้ำปิดแคมป์งานโครงสร้างใต้ดินรถไฟฟ้ายังปลอดภัย 100%

รายงานข่าวจากการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) แจ้งว่าตามที่ได้มีประกาศข้อกำหนดออกตามความในมาตรา 9 แห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2558 (ฉบับที่ 25) ลงวันที่ 26 มิถุนายน 2564 และประกาศกรุงเทพมหานคร เรื่อง สั่งปิดสถานที่เป็นการชั่วคราว (ฉบับที่ 34) ลงวันที่ 27 มิถุนายน 2564 โดยสรุปว่า ให้ปิดสถานที่ก่อสร้าง หรือพื้นที่ดำเนินการก่อสร้างหรือสถานที่ก่อสร้าง รวมทั้งให้หยุดงานก่อสร้างและห้ามการเดินทางและเคลื่อนย้ายแรงงาน เป็นต้น

ทั้งนี้ในเวลาต่อมาได้ปรากฏข่าวในสื่อมวลชนและสื่อออนไลน์ต่างๆ ว่า งานขุดระดับลึกในพื้นที่กรุงเทพมหานคร ซึ่งเป็นดินอ่อนและมีระดับน้ำใต้ดินที่สูงเพิ่มมากขึ้น ซึ่งจะต้องมีการควบคุมระดับน้ำใต้ดินในช่วงระหว่างการก่อสร้างอยู่ตลอดเวลา เพื่อให้โครงสร้างใต้ดินมีเสถียรภาพและมีความปลอดภัย หากต้องหยุดงานก่อสร้างอย่างกระทันหัน อาจทำให้เกิดการวิบัติและเป็นอันตรายต่อสาธารณชนได้

อย่างไรก็ตาม รฟม.ย้ำว่าการก่อสร้างโครงการรถไฟฟ้าใต้ดินของ รฟม. มีความปลอดภัย 100% โดยปัจจุบันงานก่อสร้างอุโมงค์ทางวิ่งรถไฟฟ้าใต้ดินได้ดำเนินการแล้วเสร็จทั้งหมดแล้ว ส่วนงานก่อสร้างสถานีรถไฟฟ้าใต้ดินทุกสถานีได้ดำเนินการเทคอนกรีตชั้น Base Slab เสร็จเรียบร้อยแล้ว โดย รฟม. ได้กำชับให้ผู้รับจ้างงานก่อสร้างโครงการรถไฟฟ้าทุกสายของ รฟม. ปฏิบัติตามประกาศข้อกำหนดฯ ฉบับที่ 25 และประกาศกรุงเทพมหานครฯ ฉบับที่ 34 อย่างเคร่งครัด

ทั้งนี้ อาจจะมีงานรื้อย้ายสาธารณูปโภคของโครงการรถไฟฟ้าที่อาจได้รับผลกระทบจากการหยุดงานก่อสร้างบ้าง เช่น งานวางท่อสาธารณูปโภคใต้ดินโดยใช้วิธีขุดเจาะลากท่อในแนวราบ หรือ Horizontal Directional Drill (HDD) ที่อาจจะต้องดำเนินการขุดเจาะใหม่หลังจากที่มีการผ่อนปรนให้สามารถเข้าดำเนินการก่อสร้างได้

ที่มา: สำนักข่าวไทย, 2/7/2564

ส.อ.ท.หนุนจับคู่ธุรกิจ ป้อนแรงงานช่วยส่งออก หลังออเดอร์พุ่งแต่ขาดแรงงาน

นายเกรียงไกร เธียรนุกุล รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยว่า การส่งออกของประเทศไทยเดือน พ.ค.ที่ผ่านมา มีมูลค่า 23,057 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เป็นการส่งออกที่ขยายตัวสูงที่สุดในรอบ 11 ปีตามทิศทางเศรษฐกิจโลกที่เริ่มฟื้นตัว จากการที่หลายประเทศประสบความสำเร็จในการเร่งฉีดวัคซีนโควิด-19 ทำให้ภาคการผลิตเพื่อส่งออกของไทยได้รับอานิสงส์ คำสั่งซื้อ (ออเดอร์) เข้ามาต่อเนื่อง จนส่งผลกระทบให้เกิดภาวะขาดแคลนแรงงานในโรงงานอุตสาหกรรมราว 100,000 คน

ดังนั้น ส.อ.ท.จึงดำเนินมาตรการจับคู่ ธุรกิจหาแรงงาน (Matching) กับผู้ที่เป็นสมาชิก ส.อ.ท. ระหว่างโรงงานที่ต้องการกำลังคนเพิ่มกับโรงงานที่ต้องการลดภาระกำลังคนชั่วคราวในช่วงไม่เกิน 6 เดือนหรือภายในสิ้นปีนี้ “การแพร่ระบาดของโควิด-19 ต่อเนื่องระลอก 2 และ 3 ทำให้แรงงาน ต่างด้าวบางส่วนกลับภูมิลำเนาซึ่งในระลอก 2 หลายโรงงานได้รับผลกระทบ แต่พอระลอก 3 มีโรงงานที่เน้นการผลิตเพื่อส่งออก ได้รับคำสั่งซื้อเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ขณะที่แรงงานต่างด้าวบางส่วนกลับมาไม่ได้ ทำให้มีปัญหาแรงงานขาดแคลนทั้งระบบ 100,000 คน โดยเฉพาะโรงงานที่ใช้แรงงานเข้มข้น”

ขณะที่โรงงานอุตสาหกรรมที่เน้นการจำหน่ายในประเทศ ต้องยอมรับว่ากำลังซื้อของคนไทยยังไม่ดีขึ้น ทำให้เจ้าของโรงงานต้องพยายามประคับ ประคองแรงงานเอาไว้ และอาจไม่สามารถประคองการจ้างงานเอาไว้ได้ จึงอาจนำมาจับคู่ให้กับโรงงานที่มีความต้องการแรงงานเพิ่ม เพื่อทำให้การผลิตเพื่อส่งออกของไทยไม่สะดุด ขณะเดียวกันช่วยไม่ให้โรงงานที่กำลังลำบาก ต้องแบกภาระจนอาจนำไปสู่การปลดคนงาน

นายเกรียงไกรกล่าวว่า แนวทางที่พิจารณาเพื่อการจับคู่ของ ส.อ.ท.จะเป็นทั้งแรงงานต่างด้าวและแรงงานคนไทย โดยมีเงื่อนไขหลักสำคัญคือ 1.ต้องดูประเภทอุตสาหกรรมที่อยู่ในลักษณะหรือเข้าข่ายประเภทเดียวกันเพื่อให้แรงงานสามารถดำเนินงานได้ทันที 2.โรงงานและที่พักแรงงานจะต้องอยู่ไม่ไกลกัน เพื่อสะดวกต่อการทำงานของแรงงาน 3.เป็นสัญญาแลกเปลี่ยนระยะสั้นๆ 3-6 เดือน เพื่อให้โรงงานเดิม เมื่อเศรษฐกิจดียังคงมีแรงงานกลับไปทำงานเช่นเดิม ซึ่งมองว่าหากรัฐบาลฉีดวัคซีนได้ตามแผน เศรษฐกิจก็น่าจะกลับมาค่อยๆฟื้นตัวได้ปลายปีนี้

ขณะที่ภาคการส่งออกของไทยยังมีทิศทางที่ดีตามเศรษฐกิจของประเทศคู่ค้าโดยเฉพาะสหรัฐฯ ที่มีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ ด้วยวงเงินจำนวนมากทำให้เกิดกำลังซื้อในประเทศเพิ่มขึ้น เช่นเดียวกับจีนที่มีกำลังซื้อเข้ามาจากภาวะเศรษฐกิจในประเทศเริ่มฟื้นตัว สำหรับปัจจัยเสี่ยงต่อเศรษฐกิจไทยที่ต้องติดตาม อาทิ การแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่เป็นสายพันธุ์เดลตาที่ระบาดไปแล้ว 92 ประเทศ ส่งผลให้หลายประเทศที่กำลังฟื้นตัว ต้องกลับไปเริ่มต้นใหม่และหลายประเทศทั่วโลกจะรับมือกับสายพันธุ์นี้ได้แค่ไหน หากลุกลามก็จะกระทบต่อการส่งออกของไทย

ที่มา: ไทยรัฐออนไลน์, 2/4/2564

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท