Skip to main content
sharethis

ภาคี #SAVEบางกลอย ยื่นจดหมายเปิดผนึกถึง 3 หน่วยงานรัฐ พร้อมข้อเสนอ 3 ข้อ เร่งรัดให้ทางการช่วยเหลือชาวบ้านบางกลอย หลังเคยเรียกร้องไปแล้วเมื่อ 2 ก.ค.ที่ผ่านมา แม้จะมีภาครัฐลงพื้นที่แล้ว แต่ปัญหายังไม่มีแนวโน้มทุเลา ล่าสุดพบว่าชาวบ้านป่วยเพิ่มขึ้นเป็น 34 ราย 

 

สืบเนื่องจากตัวแทนชาวบ้านบางกลอย และภาคี #SAVEบางกลอย เคยยื่นหนังสือตั้งแต่วันที่ 26 มิ.ย. 64 และ 2 ก.ค. 64 เร่งรัดหน่วยงานรัฐช่วยเหลือเยียวยาชาวบ้านบางกลอย ได้แก่ คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) และอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน 

หลังได้รับรายงานว่า ชาวบ้านบางกลอยเจ็บป่วยทั้งสิ้น 13 ราย คาดเกิดจากภาวะขาดแคลนอาหาร เนื่องจากชาวบ้านไร้ที่ดินเพื่อทำการเกษตร และถูกข้อกฎหมายจากกรมอุทยาน ไม่อนุญาตเข้าไปเก็บของป่าล่าสัตว์ เพื่อประทังชีวิตช่วงโควิด-19 

จนเมื่อวันที่ 6 ก.ค. 64 ปัญหาความอดอยากและความเจ็บป่วยยังมิได้ทุเลาลง และยังทวีความรุนแรงเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ล่าสุด มีรายงานจากในพื้นที่ว่ามีจำนวนผู้ป่วยอาการหนักเพิ่มขึ้นอีก 21 คน ผู้ป่วยหนักสะสมทั้งสิ้น 34 คน 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

'บางกลอย' ยื่น จม.เปิดผนึกถึง กสม. เร่งช่วยชาวบ้าน หลังขาดแคลนอาหารหนัก 

ภาคี #SAVEบางกลอย จี้ 3 หน่วยงานเยียวยากะเหรี่ยงบางกลอย หลังพบ 13 ชาวบ้านป่วยหนัก ‘วราวุธ’ ย้ำ ชงป่าแก่งกระจานขึ้นมรดกโลก 16 ก.ค.

9 ก.ค. 64 ผู้สื่อข่าวประชาไท ได้รับแจ้งวันนี้ (9 ก.ค.) ยื่นจดหมายเปิดผนึกถึง 3 หน่วยงานรัฐ ได้แก่ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) และกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช (อช.) ภายหลังพบชาวบ้านเจ็บป่วยหนักเพิ่มอีก 21 คน รวมเป็น 34 คน โดยมีอาการตั้งแต่ป่วยเมื่อยกล้ามเนื้อ แขนขาอ่อนแรง เบื่ออาหาร เวียนหัว ไมเกรน และความดัน เป็นต้น นอกจากนั้น ยังมีแม่ลูกอ่อนที่ไม่มีน้ำนมให้บุตร 11 คน มีเด็กพิการแรกเกิดอายุ 3 เดือน เข้ารับการรักษาตัวที่โรงพยาบาลแก่งกระจาน 1 คน และพบผู้ติดเชื้อโควิด-19 1 คน มีกลุ่มประชากรที่มีความเสี่ยงสูงที่จะติดเชื้อเพิ่ม 2 ครัวเรือน ประมาณ 10 คน 

จดหมายเปิดผนึกระบุว่า จากการสอบถามชาวบ้านพบว่าขณะนี้ชาวบ้านส่วนใหญ่ยังคงรับประทานอาหารจากการบริจาคเป็นหลัก เช่น ข้าวสาร บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป และปลากระป๋อง ซึ่งมีคุณค่าทางโภชนาการน้อย และชาวบ้านกำลังประสบปัญหาการขาดรายได้จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 จึงไม่มีเงินเพียงพอในการซื้ออาหารที่มีคุณค่าทางโภชนาการรับประทานในครัวเรือน

“ชาวบ้านส่วนใหญ่ยังไม่สามารถผลิตพืชอาหารรับประทานในครัวเรือนได้จากปัญหาที่ดินทำกินที่ไม่เพียงพอและไม่เหมาะสมต่อการทำการเกษตร รวมถึงชาวบ้านยังกังวลในการเข้าไปหาอาหารในป่าตามวิถีชีวิตดั้งเดิม เนื่องจากเกรงกลัวการบังคับใช้กฎหมายที่เข้มข้นโดยอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน อีกทั้งยังไม่ทราบว่าขอบเขตการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรในพื้นที่ป่าของชุมชนอยู่ตรงไหน เพราะที่ผ่านมายังไม่มีการสำรวจพื้นที่การใช้ประโยชน์ในป่าตามมาตรา 65 แห่งพระราชบัญญัติอุทยานแห่งชาติ พ.ศ. 2562 แต่อย่างใด” แถลงการณ์ระบุ

พงษ์ศักดิ์ ต้นน้ำเพชร ชาวกะเหรี่ยงบ้านบางกลอย อ.แก่งกระจาน จ.เพชรบุรี กล่าวว่า หลังจากที่มีการยื่นหนังสือถึงคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) เมื่อเดือนมิถุนายนที่ผ่านมาจนถึงปัจจุบัน มีการลงพื้นที่ของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง แต่ขณะนี้ชาวบ้านก็ยังต้องรับประทานอาหารจากการบริจาคที่ไม่มีสารอาหาร บางคนพอปลูกพืชอาหารในที่ดินตัวเองได้บ้าง เอามาขายในชุมชน แต่จากปัญหาเศรษฐกิจก็ทำให้ชาวบ้านคนอื่นไม่มีเงินเพียงพอจะซื้ออาหารนั้น

“เรื่องเข้าไปหาอาหารในป่าชาวบ้านก็ยังกังวลมาก ทีแรกเราเจอโควิดเราก็คิดว่าเข้าไปหาอะไรกินในป่าก็ได้ พวกปลา พืชผักอะไรต่างๆ แต่ว่าตอนนี้ชาวบ้านก็ยังกลัวมากเพราะอุทยานฯ เขาก็อาจจะลาดตระเวนแล้วมาเจอเรา ตอนนี้ก็ยังกินอาหารเหมือนเดิม เป็นอาหารบริจาค ก็ต้องกินไปเพราะไม่มีอะไรกิน” ชาวบ้านบางกลอยสะท้อน

พชร คำชำนาญ ผู้ประสานงานภาคี #SAVEบางกลอย กล่าวว่า สถานการณ์ความเจ็บป่วยและการอดอาหารของชาวบ้านในพื้นที่บ้านบางกลอยรุนแรงกว่าที่คิดไว้มาก คาดว่าเป็นการสั่งสมปัญหามาหลายปีนับตั้งแต่ถูกอพยพ เพราะชาวบ้านไม่สามารถทำกินได้ ไม่มีอาหารที่ดีกิน ถูกละเลยมาอย่างยาวนาน เป็นเหมือนระเบิดเวลาที่มาปะทุในช่วงวิกฤตโควิดพอดี และขณะนี้ชาวบ้านกำลังจะอดตาย ซึ่งเป็นภาพสะท้อนว่าชาวกะเหรี่ยงในพื้นที่บ้านบางกลอยนั้นถูกมองว่าเป็นอื่นและเป็นเพียงหน่วยนับทางประชากรในสายตาของรัฐไทยมาโดยตลอด

“ตอนนี้มันคือการทิ้งให้ชาวบ้านตายจริงๆ ไม่ใช่การฆ่าด้วยวาทกรรมอีกต่อไปแล้ว พื้นที่นี้เป็นเหมือนคุกคุมขังชาวบ้านจนเกิดเป็นภาวะขาดสารอาหาร มันคือการถูกบังคับให้อพยพ ถูกบังคับให้อดอยาก คำถามคือในเมื่อสถานการณ์มันมาถึงจุดนี้แล้ว เราควรต้องบังคับกดขี่เขาต่อไปจริงๆ ไหม สังคมไทยหรือสังคมโลกจะได้อะไรจากการทำร้ายชุมชนกะเหรี่ยงที่บ้านบางกลอยหรือ เราจะภาคภูมิใจกับมรดกโลกบนความเจ็บป่วยและความตายของชาวบ้านจริงๆ หรือ” พชรกล่าว

ในจดหมายระบุข้อเสนอที่ต้องการให้รัฐช่วยเหลือชาวบ้านบางกลอย 3 ข้อ 

1. ทางภาคีฯ ขอให้กรมอุทยาน เปิดช่องให้ชาวบ้านสามารถใช้ประโยชน์จากพื้นที่ป่าได้ตามวิถีเดิม โดยดำเนินการสำรวจพื้นที่เก็บหาของป่าตามมาตรา 65 พ.ร.บ.อุทยานแห่งชาติ โดยชาวบ้านต้องเข้าไปมีส่วนร่วมในกระบวนการดังกล่าว

ระหว่างนี้ต้องหยุดการข่มขู่ คุกคาม หรือบังคับใช้กฎหมายเข้มข้นโดยปราศจากมนุษยธรรม เพื่อให้ชาวบ้านสามารถเข้าถึงแหล่งอาหารตามธรรมชาติได้ในสถานการณ์ที่ยังไร้ที่ดินทำกิน

2. ทางภาคีฯ เรียกร้องให้ สธ. เข้ามาช่วยเหลือชาวบ้านเรื่องอาการเจ็บป่วย รวมถึงให้มีแนวทางตรวจหาผู้ติดเชื้อโควิด-19 เชิงรุก และจัดหาอุปกรณ์สำหรับป้องกันการติดเชื้อ

3. กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) ต้องเร่งช่วยเหลือเยียวยาปัญหาปากท้องของชาวบ้านโดยเร่งด่วนที่สุด โดยเฉพาะเรื่องการจัดหาอาหารที่มีคุณค่าทางโภชนาการให้เพียงพอต่อการบริโภคของชุมชน

ก่อนหน้านี้เมื่อวันที่ 8 ก.ค. 2564 สมชาย ฝั่งชลจิตร สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล กล่าวในการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ครั้งที่ 10 (สมัยสามัญประจำปีครั้งที่ 1) ยืนยันให้ทั้ง 3 หน่วยงานต้องเอื้ออำนวยในการแก้ไขปัญหาชาวบ้านในเรื่องภัยพิบัติจากโควิด-19 และความอดอยากของชาวบ้าน ย้ำให้มองคนเหล่านี้ให้เป็นคนเท่าเทียมกันกับพวกเรา

“จนวันนี้วิถีชีวิตของพี่น้องก็ยังอยู่ในภาวะไร้ที่พึ่ง ขาดการดูแลจากหน่วยงานของรัฐ เพราะว่าเขาเป็นพี่น้องชายขอบจริงๆ วันนี้วิถีชีวิตเดิมที่เป็นชาติพันธุ์ที่ต้องอาศัยอยู่กับผืนป่า โดยเฉพาะการหากินหรือทำมาหากินกับแหล่งอาหารธรรมชาติที่อยู่ในผืนป่า แต่วันนี้กลายเป็นว่าพี่น้องชาติพันธุ์กลุ่มนี้กำลังป่วยหนักเป็นจำนวน 10 กว่าราย และที่ป่วยหนักที่สุดคือเรื่องการขาดอาหารหรือสารอาหาร ก็ต้องพูดว่าเป็นความอดอยากของพี่น้องจริงๆ เพราะได้ถูกย้ายออกมาจากพื้นที่ที่เขาทำมาหากินโดยธรรมชาติได้” สมชาย กล่าว

ด้าน ธัญญา เนติธรรมกุล อธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช เปิดเผยวานนี้ (8 ก.ค. 2564) ว่ากรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ยืนยันเจตนารมณ์ในการแก้ไขปัญหา “คนกับป่า” อย่างครอบคลุมทั่วถึง โดยคำนึงถึงด้านความมั่นคงของชีวิตในเรื่องที่อยู่อาศัยและที่ดินทำกิน ตาม มาตรา 64 และด้านการพึ่งพิงทรัพยากรธรรมชาติ ตามมาตรา 65 แห่ง พระราชบัญญัติอุทยานแห่งชาติ พ.ศ. 2562 นับตั้งแต่มีปัญหาพิพาท เมื่อต้นปี พ.ศ. 2564 เป็นต้นมา อุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน ไม่เคยมีมาตรการปิดกั้นความช่วยเหลือต่อชาวบ้านบางกลอย มีหน่วยงาน องค์กร ภาคประชาชน เข้ามาประสานให้ความช่วยเหลือในหลายด้านทั้งการบริจาคข้าวสารอาหารแห้ง เครื่องใช้ การพัฒนาพื้นที่เกษตร น้ำดื่ม น้ำใช้ การสาธารณสุข การป้องกันโรคระบาด หรือการช่วยเหลือทางกฎหมาย วิชาการ ข่าวสารสื่อแขนงต่างๆ รวมถึงการพึงพิงทรัพยากรธรรมชาติ เก็บหาของป่า เป็นต้น

ก่อนหน้านี้เมื่อวันที่ 2 ก.ค. 2564 วราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม แถลงความคืบหน้าการนำเสนอพื้นที่กลุ่มป่าแก่งกระจาน เพื่อขอรับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลก โดยชี้ว่ารัฐบาลเน้นแก้ไขปัญหาอย่างบูรณาการร่วมกันและเป็นขั้นตอน ที่ผ่านมารัฐบาล ได้แก่ปัญหาชุมชนบ้านบางกลอยมาอย่างต่อเนื่อง และมีหน่วยงานของรัฐมากกว่า 20 หน่วยงาน เข้าไปดำเนินโครงการต่างในพื้นที่ ไม่น้อยกว่า 88 โครงการ เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตความเป็นอยู่ วิถีชีวิตดั้งเดิมของชาวกะเหรี่ยง รวมทั้งแก้ปัญหาที่ทำกินและที่อยู่อาศัยของชาวบางกลอย

โดยเวทีประชุมทางไกลของคณะกรรมการมรดกโลกสมัยสามัญ ครั้งที่ 44 จะจัดขึ้นระหว่างวันที่ 16-31 ก.ค.นี้ ยืนยันว่า ประเทศไทยมีเรื่องกลุ่มป่าแก่งกระจานเรื่องเดียว ที่ขอรับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลก ซึ่งมั่นใจและเทหมดหน้าตัก เวลานี้มีอย่างน้อย 7-8 ประเทศ ที่ให้การสนับสนุน

 

แถลงการณ์ภาคี #SAVEบางกลอย

เรื่อง เมื่อสถานการณ์ความเจ็บป่วยยังสาหัส รัฐต้องหยุดถ่วงเวลาแก้ปัญหาบางกลอย
     
สืบเนื่องจากเมื่อวันที่ 2 กรกฎาคมที่ผ่านมา ภาคี #SAVEบางกลอย ได้เผยแพร่แถลงการณ์ “สถานการณ์เจ็บป่วยของชาวบ้านบางกลอย และข้อเรียกร้องต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง” หลังได้รับแจ้งว่ามีชาวบ้านป่วยหนัก ต้องได้รับการรักษาโดยเร่งด่วน 13 คน จนเกิดเป็นการลงพื้นที่ร่วมกันของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) และอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน เมื่อวันที่ 6 กรกฎาคมที่ผ่านมา จนถึงขณะนี้ปัญหาความอดอยากและความเจ็บป่วยยังมิได้ทุเลาลง และยังทวีความรุนแรงเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ล่าสุดวันนี้ เราได้รับรายงานจากในพื้นที่ว่า มีจำนวนผู้ป่วยอาการหนักเพิ่มขึ้นอีก 21 คน ผู้ป่วยหนักสะสมทั้งสิ้น 34 คน โดยมีรายชื่อและรายละเอียดอาการเจ็บป่วยดังต่อไปนี้

1.    นายพงษ์ศักดิ์ ต้นน้ำเพชร มีอาการตาซ้ายมองไม่เห็น มีจุดขาวในตา
2.    นางกิ๊ป  ต้นน้ำเพชร มีอาการปวดเมื่อยตามตัว มึนหัว เกลือแร่ต่ำ เจ็บมือเจ็บเท้า แขนขาไม่มีแรง
3.    นายปีกนก ต้นน้ำเพชร มีอาการปวดหัวไมเกรน ความดันสูง ไขมันลอย
4.    นางแก้วใจ ทองเกิด มีอาการปวดหัว มึนหัว ไม่มีแรง มีผื่นขึ้นตามตัว มีลมมากในช่องปอดทำให้หายใจไม่สะดวก ความดันต่ำ
5.    นางแก้ว กว่าบุ มีอาการปวดเอวทำงานไม่สะดวก ปวดหัว ปวดตา ปวดท้องเป็นบางครั้ง
6.    นายจอขละ ต้นน้ำเพชร มีอาการเจ็บเอว เจ็บหัวเข่า ข้อขาบวมบางครั้ง มีอาการไอเป็นบางครั้ง
7.    นายตากินุ กว่าบุ มีอาการหอบ ไอ ไม่มีแรง
8.    นางสาวสุวรรณ กว่าบุ มีอาการปวดท้อง เจ็บท้อง
9.    นายพ้าโมล ลาเดาะ มีอาการไม่มีแรง ไม่สบายเป็นช่วงๆ ปวดเมื่อยตามตัว เจ็บเอว
10.    นางไสน้า บัวศรี มีอาการเจ็บเส้นตามตัวและมีอาการบวมตามมือเท้า มีไข้เป็นบางครั้ง แน่นอก
11.    นายพร บัวศรี มีอาการหลังจากไปผ่าตัดไตมาก็มีอาการบวมที่ท้อง ปวดหัว เจ็บเส้นหัวเข่า
12.    นางรุ่งทิพย์ จีบุ้ง มีอาการหูหนวก หนักหัว ไม่มีแรง มือเท้าสั่น
13.    นางบุตุยมึ บัวศรี มีอาการเจ็บท้อง เจ็บเข่าขวาลามไปถึงหลัง
14.    นางกนกวรรณ บัวศรี มีอาการเหน็บชาตามมือเท้า เจ็บมือและเท้าเวลาทำงาน บางครั้งมีอาการความดันต่ำและปวดหัว
15.    นายจอรุโพ้ รักจงเจริญ มีอาการปวดเอว ปวดท้อง ท้องอืด
16.    นางคุเน ต้นน้ำเพชร มีอาการไอ หายใจไม่สะดวก หอบ และเป็นผู้ป่วยติดเตียง
17.    นางสร้อง มีมิ มีอาการปวดเอว ลามไปถึงซี่โครง กินข้าวไม่อร่อยและรู้สึกไม่อิ่ม มีลมในช่องท้อง
18.    นางธิดาพร ต้นน้ำเพชร มีอาการใจสั่น รู้สึกไม่อิ่มข้าวตลอด เวียนหัว มือเท้าเย็น
19.    นายหมี ต้นน้ำเพชร มีอาการกินข้าวไม่อร่อย ใจสั่น มือเท้าสั่น รู้สึกเหนื่อย ไม่มีแรง มีเสลดติดคอ
20.    นางน่อแคละ พุกาด มีอาการเวียนหัว ไม่มีแรง ปวดหัว มือเท้าเย็น เลือดน้อย
21.    นายทิโจ เจริญสุข มีอาการปวดเอว ปวดเข่า มือเท้าไม่มีแรง มือเท้าสั่น กินข้าวไม่อร่อย ไม่มีแรงลุกเดิน
22.    นายพรึแม ชายา มีอาการกินข้าวดื่มน้ำไม่อร่อย ความดันสูง ไม่มีแรง เวียนหัว
23.    นางสร้อยทอง จีโบ้ง มีอาการกินข้าวไม่อร่อย ไม่มีแรง มือเท้าสั่น ใจสั่น
24.    นางซอแล แครจี มีอาการปวดหัว ไอ ท้องอืดช่วงเย็น เจ็บซี่โครง ไม่มีแรง
25.    นางธณพร ทองเกิด มีอาการปวดหลังมาก กล้ามเนื้ออับเสบ ไมเกรน
26.    นายจอชอ แครจี หลังจากไปผ่าตัดที่ท้องก็มีอาการเจ็บท้องตลอด ปวดหัว เจ็บข้อมือ
27.    นางน่อแม้โฮ้ จีโบ้ง มีอาการกินข้าวดื่มไม่อร่อย ข้อเท้าเมื่อย ต้นขาเมื่อย เวียนหัวเป็นบางครั้ง
28.    นางมึ่ง กว่าบุ มีอาการมือเท้าสั่น ใจสั่น เวียนหัว เมื่อยคอ ไม่มีแรง
29.    นายตุลุ ปานดุก มีอาการไม่มีแรง มือเท้าสั่น กินข้าวไม่อร่อยบางครั้ง
30.    นางอรุณ จันทร์อุปถัมป์ ความดันต่ำ เป็นกรดไหลย้อน กระเพาะอับเสบ กินข้าวไม่อร่อยบางครั้ง,ฃหายใจหนัก เมื่อยข้างลำตัว ปวดหัวบางครั้ง
31.    นางบุซีมึ จันทร์อุปถัมป์ มีอาการเวียนหัว ปวดเมื่อยน่อง กินข้าวไม่อร่อยบางครั้ง,
32.    นายสุนี กว่าบุ มีอาการกินข้าวไม่อร่อยบางครั้ง เจ็บหัว ไม่มีแรง เหนื่อยง่าย
33.    นางปาไซมึ บุญยัง มีอาการมือเท้าไม่มีแรง เหน็บชาตามมือเท้า กินข้าวไม่ลง เวียนหัว ไตไม่ดี
34.    นายจอเหาะ ต้นน้ำเพชร มีอาการเวียนหัว ความดันสูง ไม่มีแรง ไอเป็นบางครั้ง มือเท้าสั่น

นอกจากนั้น ยังมีแม่ลูกอ่อนที่ไม่มีน้ำนมให้บุตร 11 คน มีเด็กพิการแรกเกิดอายุ 3 เดือน เข้ารับการรักษาตัวที่โรงพยาบาลแก่งกระจาน 1 คน และพบผู้ติดเชื้อโควิด-19 1 คน มีกลุ่มประชากรที่มีความเสี่ยงสูงที่จะติดเชื้อเพิ่ม 2 ครัวเรือน ประมาณ 10 คน

ความน่ากังวลคือ จากการสอบถามชาวบ้านพบว่า ขณะนี้ชาวบ้านส่วนใหญ่ยังคงรับประทานอาหารจากการบริจาคเป็นหลัก เช่น ข้าวสาร บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป และปลากระป๋อง ซึ่งมีคุณค่าทางโภชนาการน้อย และชาวบ้านกำลังประสบปัญหาการขาดรายได้จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 จึงไม่มีเงินเพียงพอในการซื้ออาหารที่มีคุณค่าทางโภชนาการรับประทานในครัวเรือน 

นอกจากนั้น ชาวบ้านส่วนใหญ่ยังไม่สามารถผลิตพืชอาหารรับประทานในครัวเรือนได้จากปัญหาที่ดินทำกินที่ไม่เพียงพอและไม่เหมาะสมต่อการทำการเกษตร รวมถึงชาวบ้านยังกังวลในการเข้าไปหาอาหารในป่าตามวิถีชีวิตดั้งเดิม เนื่องจากเกรงกลัวการบังคับใช้กฎหมายที่เข้มข้นโดยอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน อีกทั้งยังไม่ทราบว่าขอบเขตการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรในพื้นที่ป่าของชุมชนอยู่ตรงไหน เพราะที่ผ่านมายังไม่มีการสำรวจพื้นที่การใช้ประโยชน์ในป่าตามมาตรา 65 แห่งพระราชบัญญัติอุทยานแห่งชาติ พ.ศ. 2562 แต่อย่างใด

ภาคี #SAVEบางกลอย ในฐานะกลุ่มประชาชนที่ติดตามสถานการณ์การต่อสู้สู่เส้นทางกลับบ้านของชาวบางกลอยมาอย่างต่อเนื่อง มีความกังวลต่อสถานการณ์ที่เกิดขึ้นในขณะนี้เป็นอย่างมาก เพราะสิทธิในการเข้าถึงอาหารและการรักษาพยาบาลนั้นถือเป็นปัจจัยสี่ ควรจะเป็นสวัสดิการแห่งรัฐที่ให้ชาวบ้านเข้าถึงได้โดยมิใช่การร้องขอ อย่างไรก็ตามเมื่อสถานการณ์เป็นเช่นนี้ เราจึงมีข้อเรียกร้องมายังหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ดังนี้

1.    ให้กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช เปิดช่องให้ชาวบ้านสามารถใช้ประโยชน์จากพื้นที่ป่าตามวิถีชีวิตดั้งเดิม โดยการดำเนินการสำรวจพื้นที่เก็บหาของป่าตามมาตรา 65 แห่งพระราชบัญญัติอุทยานแห่งชาติ พ.ศ. 2562 โดยการมีส่วนร่วมของชุมชนบ้านบางกลอย และระหว่างนี้ต้องหยุดการข่มขู่ คุกคาม หรือบังคับใช้กฎหมายเข้มข้นโดยปราศจากมนุษยธรรม เพื่อให้ชาวบ้านสามารถเข้าถึงแหล่งอาหารตามธรรมชาติได้ในสถานการณ์ที่ยังไร้ที่ดินทำกิน

2.    ให้กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เร่งดำเนินการแก้ปัญหาอาการเจ็บป่วยของชาวบ้าน โดยการลงพื้นที่ตรวจอาการโดยละเอียด อำนวยการเรื่องการรักษาพยาบาล รวมถึงให้มีแนวทางตรวจหาผู้ติดเชื้อโควิด-19 เชิงรุก และจัดหาอุปกรณ์สำหรับป้องกันการติดเชื้อ เช่น หน้ากากอนามัยและเจลแอลกอฮอล์ให้ชาวบ้านชุมชนบ้านบางกลอย

3.    ให้กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) เร่งช่วยเหลือเยียวยาปัญหาปากท้องของชาวบ้านโดยเร่งด่วนที่สุด โดยเฉพาะเรื่องการจัดหาอาหารที่มีคุณค่าทางโภชนาการให้เพียงพอต่อการบริโภคของชุมชน

เรายืนยันว่า การไม่สามารถเข้าถึงอาหารและระบบสาธารณสุขที่ดีนั้นเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างหนึ่ง เป็นความรุนแรงโดยรัฐที่แสดงให้เห็นว่า ชาวกะเหรี่ยงในพื้นที่บ้านบางกลอยนั้นถูกมองว่า “เป็นอื่น” และเป็นเพียง “หน่วยนับทางประชากร” ในสายตาของรัฐไทยมาโดยตลอด สถานการณ์ความรุนแรงภายหลังมีการประกาศอุทยานแห่งชาติแก่งกระจานทับพื้นที่ชุมชนนั้นยังเป็นประวัติศาสตร์บาดแผล ซึ่งได้ตัดตอนวิถีชีวิตของคนในป่าที่ต้องอาศัยและพึ่งพิงทรัพยากรในป่ามาจนถึงวันนี้ รัฐไทยควรเร่งแก้ไขปัญหาด้วยความจริงใจ คำนึงถึงสิทธิของชนเผ่าพื้นเมืองในฐานะพลเมืองไทย มิใช่ไล่คนออกจากป่า เดินหน้ามรดกโลกบนสถานการณ์ความป่วยไข้ของประชาชน

 

หมายเหตุ ประชาไทมีการปรับเนื้อหามาเป็นปัจจุบัน เมื่อวันที่ 9 ก.ค. 64 เวลา 13.39 น. 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net