Skip to main content
sharethis

ศบค.ประกาศใช้มาตรการล็อกดาวน์ห้ามเดินทางที่ไม่จำเป็นทำงานจากบ้านและเรียนออนไลน์ เคอร์ฟิวส์ 3 ทุ่มถึงตี 4 ของอีกวัน ห้ามรวมกลุ่มตั้งแต่ 5 คนขึ้นไป ให้หน่วยงานความมั่นคงตั้งจุดสกัดและชุดลาดตระเวณหากพบผู้ฝ่าฝืนให้ดำเนินคดีตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินและพ.ร.บ.ควบคุมโรค

9 ก.ค.2564 พญ.อภิสมัย ศรีรังสรรค์ ผู้ช่วยโฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 หรือ ศบค. แถลงผลที่ประชุม ศบค.เรื่องการกำหนดระยะเวลายกระดับมาตรการแก้ไขจากสถานการณ์การระบาดของโควิด-19 โดยมาตรการที่ยกระดับขึ้นครั้งนี้มีเป้าหมายเป้าหมายลดยอดผู้ป่วยภายใน 2-4 สัปดาห์ และที่ประชุมยังให้ขยายพ.ร.ก.บริหารสถานการณ์ฉุกเฉิน 2548อีก 2 เดือนคือ 1 สิงหาคม - 30 กันยายน 2564 ซึ่งการต่ออายุการใช้พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ นี้จะเสนอต่อ ครม.ในวันอังคารหน้า

ผู้ช่วยโฆษกระบุว่าผู้ที่เข้าร่วมการประชุมในครั้งนี้ได้แก่ นพ.กำธร มาลาธรรม นายกสมาคมโรคติดเชื้อแห่งประเทศไทย รศ.นพ.นิธิพัฒน์ เจียรกุล นายกสมาคมอุรเวชช์แห่งประเทศไทย พล.อ.ท.นพ.อนุตร จิตตินันท์ ประธานราชวิทยาลัยอายุรแพทย์แห่งประเทศไทย

พญ.อภิสมัย ระบุว่ามาตรการที่ยกระดับขึ้นมาที่จะเริ่มใช้ตั้งแต่ 12 ก.ค.2564 เป็นต้นไปนี้โดยหลักคือจะเป็นการจำกัดการเคลื่อนย้ายและกลุ่มบุคคล และกำหนดเวลาการออกนอกเคหะสถาน มีการเร่งรัดมาตรการทางการแพทย์และการเยียวยา

มาตรการที่ใช้ในพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด 6 จังหวัด คือกรุงเทพและปริมณฑล ได้แก่ นนทบุรี สมุทรปราการ สมุทรสาคร ปทุมธานี และนครปฐม จะมีมาตรการจำกัดการเคลื่อนย้ายและดำเนินกิจกรรมของบุคคลให้มากที่สุด โดยให้ทั้งราชการ รัฐวิสาหกิจและเอกชนใช้การทำงานจากบ้านให้มากที่สุด ส่วนสถานศึกษายังต้องเป็นเรียนออนไลน์ 100% ระบบขนส่งสาธารณะปิดให้บริการได้ในช่วงเวลา 21.00 น. ถึง 3.00 น.ของวันรุ่งขึ้น

ร้านสะดวกซื้อและตลาดโต้รุ่งให้ปิดเวลา 20.00 น. ถึง 4.00 น.ของวันรุ่งขึ้น ส่วนห้างสรรพสินค้าจะอนุญาตให้เปิดได้เฉพาะซุปเปอร์มาเก็ต แผนกขายยา แผนกอาหาร แผนกสินค้าเบ็ดเตล็ด และสถานที่ฉีดวัคซีนให้เปิดได้ถึง 20.00 น.

ร้านอาหารและเครื่องดื่มห้ามนั่งทานที่ร้านและเปิดได้ถึง 20.00 น. และให้ปิดร้านนวด สปา สถานเสริมความงาม ซึ่งเป็นสถานที่เสี่ยงต่อการติดโรค ทั้งนี้สวนสาธารณะเปิดให้ออกกำลังกายได้ถึง 20.00 น.

นอกจากนั้น ศบค.ยังออกมาตรการห้ามการรวมกลุ่มทำกิจกรรมทางสังคมที่ไม่ใช่การปฏิบัติหน้าที่ การประกอบอาชีพ กิจกรรมทางศาสนาหรือกิจกรรมตามประเพณีที่มีการรวมตัวกันของบุคคลตั้งแต่ 5 คน ขึ้นไป

ส่วนมาตรการที่จะใช้กับทั้งพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด 10 จังหวัดทั้งกรุงเทพและปริมณฑล 6 จังหวัด คือรวมไปถึง 4 จังหวัดภาคใต้ได้แก่ นราธิวาส ปัตตานี ยะลา และสงขลาจะมีมาตราห้ามการเดินทางที่ไม่จำเป็น และห้ามออกนอกเคหะสถานหลัง 21.00 น. ถึง 3.00 น.ของวันรุ่งขึ้นแต่การเดินทางไปโรงพยาบาลเพื่อรับการรักษา แพทย์พยาบาลรวมถึงเจ้าหน้าที่ด้านสาธารณูปโภคที่เดินทางไปปฏิบัติหน้าที่ยังสามารถทำได้ ทั้งนี้ยังให้มีการจำกัดการเดินทางข้ามจังหวัดด้วยโดยจะเริ่มตั้งแต่วันที่ 10 ก.ค.2564

สำหรับมาตรการป้องกันส่วนบุคคลยังคงให้สวมหน้ากากอนามัย งดการคลุกคลีใกล้ชิดกัน หรือรับประทานอาหารร่วมกัน ทั้งในที่บ้าน และสถานที่ทำงาน

พญ.อภิสมัยระบุว่า มาตรการตามที่กล่าวไป ผู้ที่ทำหน้าที่กำกับดูแลการดำเนินมาตรการเหล่านี้จะเป็นผู้ว่าราชการจังหวัดและนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดร่วมกันหารือและกำกับมาตรการตามที่ ศบค.ประกาศให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ

นอกจากนั้นให้หน่วยงานความมั่นคงจัดตั้งจุดสกัด ชุดลาดตระเวณ เพื่อกำกับการปฏิบัติอย่างเข้มงวดโดยเริ่มดำเนินการตั้งแต่วันที่ 10 ก.ค.2564 เวลา 6.00 น. เป็นต้นไป ทั้งนี้ในสไลด์ที่พญ.อภิสมัยนำมาใช้แถลงข่าวระบุด้วยว่าหากพบผู้ฝ่าฝืนให้บังคับใช้บทลงโทษตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉิน 2548 และพ.ร.บ.โรคติดต่อ 2558

พญ.อภิสมัยกล่าวถึงมาตรการด้านการแพทย์ให้เร่งรัดการเพิ่มโอกาสการเข้าตรวจหาเชื้อและนำระบบการแยกกักที่บ้านและการแยกกักในชุมชนมาใช้และให้ใช้ยาฟ้าทะลายโจรเพื่อเสริมมาตรการรักษาพยาบาลที่มีอยู่ นอกจากนั้นให้เร่งจัดตั้งไอซียูสนามและโรงพยาบาลสนามด้วย ไปจนถึงการเร่งฉีดวัคซีนให้ถึง 1 ล้านโดสภายใน 2 สัปดาห์

ผู้ช่วยโฆษกกล่าวถึงการจัดสรรวัคซีนที่ได้รับบริจาคมาจากต่างประเทศได้แก่วัคซีนไฟเซอร์จำนวน 1.5 ล้านโดส และแอสตราเซเนกา 1.05 ล้านโดสจากญี่ปุ่น โดยแบ่งตามชนิดวัคซีน

วัคซีนไฟเซอร์จะฉีดให้กับคนไทย 1.35 ล้านโดสสำหรับชาวต่างชาติ 1.5 แสนโดสเป็นการฉีด 2 เข็ม ห่างกัน 3 สัปดาห์ โดยมีพื้นที่เป้าหมายในการฉีดคือพื้นที่ควบคุมสูงสุด ได้แก่ กรุงเทพและปริมณทล 6 จังหวัดภาคใต้ 4 จังหวัด รายละเอียดแบ่งเป็น

  1. บุคลากรทางการแพทย์ด่านหน้าที่ดูแลผู้ป่วยโควิด-19 โดยกลุ่มนี้จะเป็นการฉีดบูสต์ภูมิคุ้มกัน 1 เข็ม

  2. ผู้สูงอายุและผู้มีโรคเรื้อรัง 7 โรค

  3. ชาวต่างชาติที่อาศัยในประเทศไทย เน้นผู้สูงอายุและโรคเรื้อรัง

  4. ผู้ที่มีความจำเป็นต้องฉีดวัคซีนไฟเซอร์ก่อนเดินทางไปต่างประเทศ เช่น นักเรียน นักศึกษา นักกีฬา นักการทูต

ส่วนวัคซีนแอสตราเซเนกาจะฉีดเป็นเข็มที่ 1 ให้กับคนไทย 945,000 โดส และชาวต่างชาติ 105,000 โดส พื้นที่การฉีดพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด ได้แก่ กรุงเทพและปริมณทล 6 จังหวัด และอีก 4 จังหวัดได้แก้ ชลบุรี ระยอง ฉะเชิงเทรา และภูเก็ต รายละเอียดกลุ่มเป้าหมาย

  1. ผู้สูงอายุและผู้มีโรคเรื้อรัง 7 โรค

  2. ชาวต่างชาติที่อาศัยในประเทศไทย เน้นผู้สูงอายุและโรคเรื้อรัง

  3. ผู้ที่มีความจำเป็นต้องฉีดวัคซีนแอสตราเซเนกาก่อนเดินทางไปต่างประเทศ เช่น นักเรียน นักศึกษา นักกีฬา นักการทูต

นอกจากมาตรการต่างๆ ผู้ช่วยโฆษกยังระบุข้อมูลสถิติสถานการณ์การระบาดของโควิด-19 ด้วย โดยวันนี้มียอดผู้ติดเชื้อใหม่รวม 9,276 คน ยอดสะสม288,643 เสียชีวิตเพิ่ม 72 คน ยอดสะสม 2,440 คน ปัจจุบันมียอดรวมผู้ที่ได้รับวัคซีนรวมแล้ว 11,975,996 แบ่งเป็นผู้ที่ได้รับเข็มแรกเพิ่ม 305,925 คน ยอดสะสม 8,800,155 คน และมีผู้ที่รับเข็มที่ 2 เพิ่มอีก 50,453 คน สะสม 3,175,841 คน

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net