Skip to main content
sharethis

สปสช.ย้ำมาตรการดูแลกลุ่มผู้ป่วยโควิด-19 อาการไม่หนักที่บ้านและที่ชุมชน เป็นมาตรการเสริมในพื้นที่ที่เตียงผู้ป่วยมีไม่พอ ยังได้รับการดูแลจากแพทย์เสมือนอยู่ในโรงพยาบาล มีค่าอาหารและค่าบริหารจัดการให้โรงพยาบาลที่ดูแลผู้ป่วยวันละ 1,000 บาทและค่าอุปกรณ์ไม่เกินคนละ 1,100 บาท ส่วนผู้ป่วยหนักยังส่งรักษาที่โรงพยาบาล 

9 ก.ค.2564 ทีมสื่อ สปสช. รายงานว่า นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กล่าวถึงมาตรการ Home Isolation หรือการดูแลผู้ป่วยโควิด-19 ที่บ้าน และมาตรการ Community Isolation หรือการดูแลผู้ป่วยโควิดด้วยระบบชุมชนว่า มาตรการดังกล่าวเป็นมาตรการเสริมซึ่งจะนำมาใช้ในพื้นที่ที่เตียงเต็มจริงๆ โดยเฉพาะ กทม. และปริมณฑล ส่วนพื้นที่ต่างจังหวัดยังคงมีเตียงว่างเหลืออยู่และยังคงใช้มาตรการหลักคือการดูแลผู้ป่วยในโรงพยาบาลหรือโรงพยาบาลสนาม

นพ.จเด็จ กล่าวว่า Home Isolation และ Community Isolation ของไทยนั้น กรมการแพทย์จะออกแบบให้เหมือนเปลี่ยนบ้านเป็นโรงพยาบาล หมายความว่าผู้ป่วยที่อยู่ที่บ้านหรือที่ชุมชนก็จะได้รับการดูแลเสมือนอยู่โรงพยาบาล การรักษาพยายามทำให้เหมือนอยู่โรงพยาบาลให้มากที่สุด เพียงแต่เปลี่ยนสถานที่จากโรงพยาบาลสนามไปเป็นที่บ้านหรือที่ชุมชน มีแพทย์ดูแล มีอุปกรณ์ไปให้ มียา มีอาหารไปให้

นพ.จเด็จ กล่าวว่า สำหรับผู้ป่วยที่จะใช้กับมาตรการ Home Isolation จะมีปัจจัยกำหนดความเหมาะสม 3-4 ประการคือ

1.ตัวผู้ป่วยต้องพร้อม อาการคือต้องไม่รุนแรงหรือที่เป็นผู้ป่วยในกลุ่มสีเขียว ไม่มีอาการปอดอักเสบ ไม่มีอาการแทรกซ้อน ไม่เป็นกลุ่มเสี่ยง เช่น ผู้สูงอายุหรือเด็กเล็ก

2.ต้องดูที่พักว่าพร้อมหรือไม่ เช่น ไม่ได้อยู่กันแออัดจนแยกกักตัวไม่ได้ ถ้าอยู่กัน 2-3 คนแล้วนอนรวมกัน แบบนี้ก็ Home Isolation ไม่ได้เพราะจะเกิดการแพร่เชื้อ ต้องเป็น Community Isolation หรือที่ชุมชนจัดให้แทน

3.ตัวผู้ป่วยก็ต้องมีความเข้าใจและให้ความร่วมมือในการกักตัว เพราะคำว่าอยู่ที่บ้านก็คืออยู่บ้านจริงๆไม่ใช่ออกไปเดินนอกบ้านจนทำให้เกิดการแพร่กระจายเชื้อ

4.ตัวโรงพยาบาลต้องพร้อมเข้าไปดูแลด้วยเพราะต้องจัดระบบให้เสมือนอยู่โรงพยาบาลเลย เช่น ต้องมีแพทย์ที่สามารถทำ Video call ติดตามอาการคนไข้ได้ทุกวัน โรงพยาบาลต้องมีอุปกรณ์วัดอุณหภูมิและอุปกรณ์วัดระดับออกซิเจนให้ ที่สำคัญคือต้องมีอาหารให้ 3 มื้อ

"เราเชื่อว่าอาหารเป็นสาเหตุสำคัญที่จะทำให้ผู้ป่วยเดินออกนอกบ้าน ดังนั้นโรงพยาบาลที่จะทำ Home Isolation หรือ Community Isolation ต้องมีความพร้อมที่จะจัดอาหารไปให้ จะจัดเองหรือจะจ้างบริษัทส่งอาหารไปให้ก็ได้" นพ.จเด็จ กล่าว

นพ.จเด็จ กล่าวอีกว่า ในส่วนของ สปสช. ได้เตรียมงบประมาณสนับสนุนไว้แล้ว โดยจะมีการจ่ายรายการต่างๆเหมือนอยู่โรงพยาบาล และยังมีเพิ่มค่าอาหารและค่าบริหารจัดการให้อีกวันละ 1,000 บาท ให้กับโรงพยาบาลตามจำนวนวันที่ผู้ป่วยอยู่ ตรงค่าอาหารนี้ขอย้ำว่าไม่ได้จ่ายให้ผู้ป่วยโดยตรงแต่จ่ายให้กับโรงพยาบาลซึ่งจะไปบริหารจัดการให้ผู้ป่วยอีกที และค่าอุปกรณ์วัดอุณหภูมิและอุปกรณ์วัดระดับออกซิเจนไม่เกินคนละ 1,100 บาท ส่วนยา ถ้าจำเป็นต้องให้ยาก็สามารถจัดส่งให้ได้เลยแล้วแพทย์แนะนำการใช้ยาว่าต้องใช้อย่างไร

"3-4 ประเด็นนี้ถ้ามีความพร้อม ก็สามารถทำ Home Isolation และ Community Isolation ได้ และการทำ Home Isolation หรือ Community Isolation ยังทำได้ 2 แนวทาง คือ เริ่มให้การรักษาที่บ้านหรือที่ชุมชนเลยเมื่อพบว่าติดเชื้อ เช่น เตียงเต็มไม่สามารถหาให้ได้ แทนที่จะรอจนเตียงว่างก็เริ่มการรักษาที่บ้านหรือที่ชุมชนของท่านจัดไว้ได้เลย ส่งยา ส่งอุปกรณ์ไปให้เลย จะช่วยป้องกันไม่ให้อาการแย่ลงได้ดีมาก หรืออีกกรณี คนไข้อยู่โรงพยาบาลจนอาการดีขึ้นแล้ว ก็กลับไปอยู่ที่บ้านพร้อมยาและอุปกรณ์ ก็จะทำให้มีเตียงว่างที่จะรองรับผู้ป่วยรายใหม่ได้มากขึ้น อย่างไรก็ตาม ทั้งหมดนี้หากอาการคนไข้เปลี่ยนแปลงไปในทิศทางที่แย่ลง ต้องพร้อมนำตัวกลับมาอยู่ในโรงพยาบาล สปสช.ก็จะมีค่ารถรับส่งให้อีกด้วย" นพ.จเด็จ กล่าว

นพ.จเด็จ กล่าวทิ้งท้ายว่า สำหรับชุมชนที่อยู่อาศัยหรือคอนโดมิเนียม ก็อยากสื่อสารว่าการดูแลผู้ป่วยที่บ้านไม่ได้อันตราย หรือทำให้ติดกันง่ายดายขนาดนั้น แต่ถ้าไม่สบายใจจริงๆ ก็แนะนำให้ผู้ป่วยกลับมาอยู่โรงพยาบาลดีกว่าเพราะถือว่าเป็นความไม่พร้อมของชุมชน ถ้าไม่พร้อมก็ไม่ควรไปฝืนความรู้สึกของสังคมรอบข้าง หรือไม่ก็ทำ Community Isolation หมายถึงชุมชนดูแลกันเอง อาจเป็นวัดหรือโรงเรียนใกล้บ้าน แล้วจัดเป็นลักษณะคล้ายๆ โรงพยาบาลแล้วย้ายผู้ป่วยในชุมชนมาอยู่ที่นี่แล้วมีโรงพยาบาลไปดูแลให้ ซึ่งแนวทางทั้งหมดนี้ถ้าทำดีๆจะไม่เกิดภาวะเตียงเต็ม ผู้ป่วยก็ได้รับบริการที่พึงพอใจ

"ก็ขอให้มั่นใจว่ามาตรการต่างๆที่ออกมาอยู่บนพื้นฐานของประโยชน์ประชาชนและการควบคุมโรค โรคโควิดเปลี่ยนแปลงเร็ว เราต้องทำงานให้เร็ว มาตรการต่างๆเหล่านี้เราเตรียมไว้แต่อาจไม่ได้ใช้ แต่ถ้าวันที่จะใช้แล้วไม่ได้ใช้จะเป็นปัญหา ดังนั้นการเตรียม Home Isolation, Community Isolation ก็ไม่อยากให้ตกใจว่าทำไมถึงมีมาตรการนี้ แล้วขอให้มั่นใจว่ามีแพทย์ดูแล เพียงแต่ปรับรูปแบบให้เหมาะกับสังคมไทยเพื่อให้สามารถควบคุมป้องกันโรคแล้วผ่านวิกฤตินี้ไปได้โดยเร็ว" นพ.จเด็จ กล่าว

นอกจากนั้น พญ.นิตยา ภานุภาค ผู้อำนวยการบริหารสถาบันเพื่อการวิจัยและนวัตกรรมด้านเอชไอวี (IHRI) กล่าวถึงสถานการณ์ที่ผู้ติดเชื้อโคึวิด-19 ที่ส่วนมากมีอาการเล็กน้อยและไม่มากหรือกลุ่มผู้ป่วยสีเขียว แต่ได้เตียงในโรงพยาบาลที่เต็ม ซึ่งเป็นการใช้เตียงในโรงพยาบาลที่มีค่ากับบุคลากรการแพทย์ที่มีอย่างจำกัดส่วนใหญ่ในการดูแลผู้ป่วยกลุ่มสีเขียว ทำให้ผู้ป่วยกลุ่มสีเหลืองและสีแดงเข้าสู่โรงพยาบาลได้ยาก ในช่วง 2 เดือนที่ผ่านมา

พญ.นิตยา กล่าวถึงสถานการณ์ใน 2 สัปดาห์ที่ผ่านมา ปรากฎว่าสถานการณ์เปลี่ยน เพราะด้วยการรอเตียงที่ใช้เวลานานขึ้นนานเป็นสัปดาห์ ทำให้ผู้ป่วยบางรายหายป่วยแล้วแต่ก็ยังหาเตียงได้ จึงมีการพูดถึงแนวทางสำหรับผู้ป่วยกลุ่มนี้ที่ไม่จำเป็นต้องเข้าโรงพยาบาล แต่ได้รับการติดตามดูแลและติดตามอาการต่อเนื่องจากโรงพยาบาลหรือเครือข่าย หรือระบบการดูแลผู้ป่วยโควิด-19 ที่บ้าน หรือในชุมชน (Home Isolation / Community Isolation) ไม่ใช่แค่นอนรอเตียงเฉยๆ และมีข้อมูลผู้ป่วยกลุ่มสีเขียวราว 20% ที่ติดต่อเข้ามาทาง สปสช.1330 ที่ต้องการเข้าสู้ระบบนี้

พญ.นิตยาเชื่อว่าจะทำให้การครองเตียงในโรงพยาบาลของผู้ป่วยกลุ่มสีเขียวลดลง ทำให้ผู้ป่วยสีเหลืองเข้าถึงการรักษาโดยเร็วก่อนที่จะกลายเป็นผู้ป่วยสีแดง ทั้งนี้การแบ่งเกณฑ์อาการตามกลุ่มสีนี้เธออธิบายว่า กรณีที่ติดเชื้อโควิดแล้วไม่มีอาการและไม่มีโรคร่วม เช่น ภาวะอ้วน ความดันสูง โรคเรื้อรังต่างๆ จะจัดอยู่ในกลุ่มสีเขียว แต่หากพบสัญญาณอาการที่เชื้อจะลงปอด เช่นมีอาการหอบเหนื่อยก็จะอยู่กลุ่มสีเหลือง แต่หากมีอาการหอบเหนื่อยมาก ค่าออกซิเจนต่ำก็จัดอยู่ในกลุ่มผู้ป่วยสีแดง

พญ.นิตยากล่าวว่าผู้ติดเชื้อที่ต้องการเข้าสู่ระบบดูแลผู้ป่วยที่บ้านหรือในชุมชนสามารถติดต่อ ได้หลายช่องทาง เช่น โทร.สายด่วน สปสช. 1330 ซึ่งจะมีการประสานมาที่ทีมคอมโควิด IHRI หรือติดต่อมายังทีมคอมโควิด IHRI แอดไลน์ @comcovid-19 โดยตรง ซึ่งจะมีพยาบาลอาสาคัดกรองอาการก่อน พร้อมประสานไปยังแกนนำชุมชน เพื่อให้ได้รับการดูแลที่บ้านหรือในชุมชนอย่างปลอดภัย ซึ่งหากมีอาการมากขึ้นจะมีการประสานเพื่อให้เข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาล และผู้ที่เข้าระบบจะได้รับปรอทวัดไข้ วัดค่าออกซิเจนปลายนิ้ว และเอกซเรย์ปอดทุกคน เป็นเหมือนการไปรักษาที่โรงพยาบาลหรือโรงพยาบาลสนามแต่ระบบนี้เป็นการนำเครื่องมือแพทย์และยารักษาออกมาให้บริการที่ชุมชนแทน

รายชื่อศูนย์พักคอยที่อยู่ในโครงการ 23 แห่ง

ในกรณีผู้ติดเชื้อโควิด-19 ที่สนใจได้รับการดูแลที่บ้านและในชุมชน แต่ไม่ได้อาศัยอยู่ในชุมชน 23 แห่ง ที่ IHRI ดำเนินการนั้น พญ.นิตยา กล่าวว่า ทาง IHRI จะประสานไปยังแกนนำชุมชน อาสาสมัคร และเครือข่ายที่ผู้ติดเชื้ออาศัยอยู่ เพื่อติดตามดูแล เพียงแต่เบื้องต้นขอให้ติดต่อเข้ามาก่อน ทั้งนี้ด้วยระบบนี้เป็นบริการหนึ่งที่มีความยืดหยุ่นสูง ช่วยตอบสนองและทำให้ผู้ป่วยโควิด-19 ได้รับการดูแลโดยเร็ว เป็นประโยชน์กับชุมชน และคนไทยทุกคน และการที่กรมการแพทย์และสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ให้การสนับสนุนจะทำให้ผู้ป่วยมีความเชื่อมั่นและมีการขยายเครือข่ายชุมชนมากขึ้น  

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net